924
June 7, 2024

ส่องเทรนด์ affiliate ของธุรกิจยักษ์ใหญ่ โอกาส ‘ป้ายยา’ ของแบรนด์ใหญ่ และจับเสือมือเปล่าของครีเอเตอร์

ทุกวันนี้อาชีพนักรีวิวหรือครีเอเตอร์ที่หารายได้จาก ‘affiliate’ สามารถทำรายได้สูงถึงหลักแสนและไม่ได้รีวิวแค่สินค้าจาก Lazada, Shopee, TikTok Shop อีกต่อไป เพราะธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทยหลายเจ้าต่างหันมาให้ความสนใจกับการปั้นครีเอเตอร์เป็น ‘นักป้ายยา’ 

ที่ผ่านมาเมื่อนึกถึง affiliate marketing หรือการตลาดผ่านตัวแทนขายสินค้าในโลกออนไลน์ หลายคนมักนึกถึงธุรกิจมาร์เก็ตเพลสที่มักนิยมทำการตลาดด้วย affiliate program หลักการของระบบเหล่านี้คือการชักชวนให้เหล่าตัวแทนมาทำคอนเทนต์แนะนำสินค้าในช่องทางโซเชียลมีเดีย เมื่อมีคนกดคลิกลิงก์ขายสินค้าที่แปะในคอนเทนต์ไม่ว่าจะกดเข้าไปดู ลงทะเบียน หรือซื้อสินค้า เหล่าตัวแทนก็จะได้รับค่าคอมมิชชั่นกลับไปแล้วแต่รูปแบบของแต่ละแพลตฟอร์ม

ในยุคที่การอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญ affiliate marketing กลายเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจจากเว็บไซต์ Authority Hacker พบว่ามูลค่าตลาด affiliate ทั่วโลกนั้นสูงถึง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 10% ต่อปี ซึ่งทำให้ธุรกิจหลายประเภทหันมาใช้กลยุทธ์การขายแบบป้ายยามากขึ้น

ส่วนฟากฝั่งของไทยนั้น ปีนี้จะเห็นธุรกิจใหญ่ที่ไม่เคยมีตัวแทนขายออนไลน์มาก่อน หันมาสร้าง affiliate program ของตัวเองมากขึ้น ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ค่ายเพลง และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งย่อมหมายถึงโอกาสทำเงินแบบจับเสือมือเปล่าที่มากขึ้นของเหล่าครีเอเตอร์ด้วยเช่นกัน Recap ตอนนี้จึงขอชวนไปดูกลยุทธ์การขายของธุรกิจต่างวงการว่าแต่ละแบรนด์นำ affiliate มาช่วยในการขายยังไงในโลกยุคดิจิทัล  

1. การชวนครีเอเตอร์รีวิวคอนโดของอสังหาริมทรัพย์แนวหน้

ในวงการอสังหาริมทรัพย์ แสนสิริเป็นผู้บุกเบิก ‘Sansiri Affiliate Program’ ไปครั้งแรกเมื่อปี 2562 และดูเหมือนว่าจะมีทิศทางการตลาดที่ทำแคมเปญ affiliate marketing เป็นระยะควบคู่กับการทำการตลาดออนไลน์เพราะปีนี้แบรนด์ได้กลับมารับสมัครตัวแทนขายอีกครั้ง 

กฎของการเข้าร่วมคือครีเอเตอร์ต้องสร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนต์โดยสามารถเลือกรีวิวคอนโดแสนสิริที่เข้าร่วมโปรแกรม 27 โครงการซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่โครงการใหม่และโครงการพร้อมอยู่ในราคาจับต้องได้ไปถึงระดับลักชูรี ซึ่งหมายความว่าแบรนด์เปิดรับครีเอเตอร์ที่จับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายด้วยเช่นกัน 

ไม่ใช่แค่แสนสิริเท่านั้นที่เล็งเห็นโอกาสจากเทรนด์ affiliate สัมมากรก็เป็นเดเวลอปเปอร์อีกเจ้าหนึ่งที่ริเริ่มโครงการ ‘Affiliate by Sammakorn’ ในปีนี้โดยเปิดให้ครีเอเตอร์เขียนแคปชั่นรีวิวโครงการทุกระดับ ครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮมจำนวน 8 โครงการ ทั้งนี้เพราะสัมมากรมองว่าการทำการตลาดโดยดึงเหล่าครีเอเตอร์เข้ามาช่วยจะสามารถเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัยขึ้นได้ 

เห็นได้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หันมาทำ affiliate ต่างเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญด้านการสร้างแบรนด์และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทั้งแสนสิริที่เคยได้รับรางวัล The Most Powerful Brand in Real Estate 2023 จากกลุ่มเจนฯ Z กับกลุ่มชนชั้นกลาง (รางวัลโดย Terra BKK) และยังเน้นทำการตลาดในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสัมมากรที่กำลังขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านโลกออนไลน์

2. การผลักดันให้ดาราเป็น ‘นักป้ายยา’ ของ RS 

ในฝั่งธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์อย่าง RS (อาร์เอส กรุ๊ป) ได้เล็งเห็นโอกาสนำจุดแข็งที่มีธุรกิจหลายประเภทมาต่อยอดด้วย affiliate marketing ก่อนหน้านี้ RS พัฒนาสินค้าสุขภาพและความงามภายใต้กลุ่มธุรกิจ RS LiveWell ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์หลากหลาย เช่น well-u, Vitanature+, CAMU C, และยังมีสินค้ากลุ่มสัตว์เลี้ยงภายใต้ RS Pet All และแบรนด์พาร์ตเนอร์อีกมากมาย รวมแล้วมีสินค้าทั้งหมดกว่า 500 SKUs (รุ่นสินค้า) ซึ่งจำหน่ายที่แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อ RS Mall X (อาร์เอส มอลล์ เอ็กซ์)

RS เลือกใช้ข้อได้เปรียบจากการมีเครือข่ายของศิลปินและดาราในธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์มาช่วยในการขายสินค้าเหล่านี้ โดยเรียกกลยุทธ์นี้ว่า star commerce ในโมเดลธุรกิจนี้ศิลปินและดาราซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้วในโลกโซเชียลมีเดียจะเป็นคน ‘ป้ายยา’ สินค้าให้แฟนคลับผ่านการทำ affiliate marketing นอกจากนี้ RS ยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ TikTok, Shopee, Lazada, Facebook, Instagram และเชื่อว่ากลยุทธ์การขายตรงนี้จะช่วยสนับสนุนทั้งศิลปินในสังกัดและสร้างการเข้าถึงสินค้าของ RS Mall X ที่ครอบคลุมหลายช่วงอายุและไลฟ์สไตล์ บริษัทยังคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ รายได้จากเหล่าศิลปินในสังกัดและคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะสูงถึง 400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% จากรายได้ทั้งหมด 

3. การเปิดตัว ‘All Online Affiliate’
เพื่อโตตามอีคอมเมิร์ซของ 7-Eleven  

สำหรับ 7-Eleven ร้านสะดวกซื้อเบอร์หนึ่งที่มีแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ‘All Online’ เป็นของตัวเองอยู่แล้วนั้นมีข้อได้เปรียบที่มีฐานสมาชิก All Member สูงถึง 18 ล้านราย โดยมีลูกค้าที่ใช้บริการที่หน้าร้านและออนไลน์เฉลี่ย 13 ล้านคนต่อวัน ในปี 2566 ช่องทางอีคอมเมิร์ซของ 7-Eleven ทั้ง 7Delivery และ All Online เติบโตขึ้นถึง 11% และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยยอดการจับจ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันที่สูงนี้เองทำให้ 7-Eleven มองเห็นโอกาสและเปิดตัว ‘All Online Affiliate’ ซึ่งมีสินค้าที่เข้าร่วมโปรแกรมรวมทั้งสิ้นกว่า 1 แสนรายการ โดยแต่ละหมวดจะได้ค่าคอมมิชชั่นไม่เท่ากัน หมวดที่ได้รายได้สูงที่สุดคือ สินค้าสุขภาพ, สินค้าบ้านและสวน, สินค้าความงาม ซึ่งได้ค่าคอมมิชชั่น 5% ส่วนหมวดอื่นๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ไอที, สินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ จะได้ค่าคอมฯ ลดหลั่นกันลงมา

แม้โมเดลการนำ affiliate มาใช้ในแต่ละธุรกิจจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่สิ่งที่เหมือนกันสำหรับครีเอเตอร์ทุกวงการ คือการขายด้วยวิธี ‘ป้ายยา’ นั้นลงทุนต่ำ แค่ลงทุนสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพและฐานผู้ติดตามที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ต้องปวดหัวด้านการลงทุนพัฒนาสินค้า อีกทั้งยังไม่ต้องแพ็กและจัดส่งสินค้า สามารถเริ่มลงมือทำได้ด้วยตัวคนเดียวและเป็นช่องทาง passive income ที่ทำควบคู่กับงานอื่นได้ ยิ่งธุรกิจใหญ่หันมาเปิดโปรแกรม affiliate กันมากขึ้น เหล่าครีเอเตอร์ก็ย่ิงมีโอกาสเลือกรีวิวสินค้าและบริการที่อยู่ในความสนใจ
.
ทั้งนี้ผลสำรวจจาก Authority Hacker จากทั่วโลกได้ระบุว่าอุตสาหกรรมที่ได้กำไรจากการตลาด affiliate มากที่สุด คือการศึกษาและ e-learning, การท่องเที่ยว, บิวตี้และสกินแคร์ หากสังเกตจะเห็นได้ว่าเป็นวงการที่มีบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลเป็นอันดับแรกๆ และยังเป็นสินค้าและบริการที่ต้องการการรีวิวสูง 

เป็นที่น่าจับตาว่าธุรกิจใดจะหันมาใช้โมเดล affiliate และชักชวนครีเอเตอร์ให้เข้ามาเป็นนายหน้าออนไลน์เป็นรายต่อไป แบรนด์ที่มีฐานแฟนคลับแน่น สินค้ามีคุณภาพจริง และผู้บริโภคมี brand love อยู่แล้วจะได้เปรียบ เมื่อลูกค้าและคนทั่วไปสามารถเป็นนักรีวิวได้ ธุรกิจก็ได้ประโยชน์จากการมี ‘นักขาย’ มากขึ้นและทำให้โอกาสในการขายของธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้นตามมา 

อ้างอิง 

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like