Livable Districts
ถอดกลยุทธ์พัฒนาย่านราชประสงค์ สีลม บรรทัดทอง เจริญกรุง สู่เมืองแห่งอนาคต
เคยสงสัยไหมว่ากว่าย่านสำคัญในเมืองอย่างราชประสงค์ สีลม บรรทัดทอง หรือเจริญกรุง จะเติบโตและเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ เบื้องหลังต้องผ่านการวางแผนและพัฒนากลยุทธ์ยังไงบ้าง
เพราะเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และการพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของภาคส่วนใดเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน การสร้างย่านในเมืองที่ดีจึงเป็นกระบวนการระยะยาวที่เราควรมีบทบาทอย่างต่อเนื่อง Active City Forum งานฟอรั่มที่ชวนนักออกแบบ นักวางผังเมือง นักพัฒนาเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคลากรจากเครือข่ายสุขภาวะ มาร่วมออกแบบ 𝗛𝗲𝗮𝗹𝘁𝗵𝘆 𝗖𝗶𝘁𝘆 หรือเมืองที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน ซึ่งจัดโดย Wepark จึงเกิดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง และสร้างระบบนิเวศเมืองที่สนับสนุนสุขภาวะของทุกคน
ในเซสชั่น Active Collaboration: พลังภาคเอกชน เปลี่ยนเมืองด้วยการสร้างความร่วมมือ (Private Sector Power: Transforming Cities Through Collaboration) ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาได้มาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการพัฒนาย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคุณชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์, คุณอรฤดี ณ ระนอง นายกสมาคมเรารักสีลม, อาจารย์ ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
เวทีนี้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาย่านในเมืองผ่านการวางวิสัยทัศน์ของย่านในภาพใหญ่ ซึ่งทำให้เห็นว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองต้องอาศัยการวางแผน ชวนฟังแผนและโมเดลการลงทุนของแต่ละย่านไปพร้อมๆ กัน
The Best Downtown : ปั้นย่านราชประสงค์ให้ป๊อป
คุณชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ กล่าวถึงการกำหนดจุดยืนของย่านราชประสงค์ให้เป็น The Best Downtown Lifestyle Destination มาตั้งแต่ราว 20 ปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากย่านช้อปปิ้งระดับโลก เช่น Times Square ในนิวยอร์ก, Oxford Street ในลอนดอน, Champs-Élysées ในปารีส, Ginza ในญี่ปุ่น ฯลฯ พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ให้ราชประสงค์เป็น The Heart and Soul of Bangkok ที่สามารถตอบโจทย์ทุกมิติของไลฟ์สไตล์คนเมือง ครอบคลุมทั้ง eat, pray, stay และ shop
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ราชประสงค์กลายเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกคือการมีโรงแรมลักชัวรีระดับเวิลด์คลาสที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ศูนย์การค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่รวบรวมสินค้าและของที่ระลึกหลากหลาย รวมถึงอีเวนต์และเทศกาลประจำปี เช่น ตลาดช้อปปิ้งช่วงเทศกาล เทศกาลแสงสี และงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังตั้งใจปั้นให้ราชประสงค์เป็นจุดเช็กอินด้านศรัทธาและวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยรวบรวมมหาเทพถึง 9 องค์ ได้แก่ พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี พระตรีมูรติ พระแม่อุมาเทวี ท้าวจตุโลกบาล พระพรหมเอราวัณ ท้าวอัมรินทราธิราช พระนารายณ์ทรงสุบรรณ และพระสทาศิวะ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความเชื่อและศรัทธาของผู้คนที่เดินทางมาสักการะ
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากการวางกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สกายวอล์กที่เชื่อมต่อทุกจุดสำคัญในย่านให้สามารถเดินถึงกันได้ง่าย ทำให้ราชประสงค์กลายเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์และแหล่งช้อปปิ้งที่ทัดเทียมมหานครใหญ่ของโลก

We Love Silom : พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วยสีลมโมเดล
คุณอรฤดี ณ ระนอง นายกสมาคมเรารักสีลม (We Love Silom Association) กล่าวว่า เมื่อเทียบกับย่านราชประสงค์ สีลมยังถือเป็นย่านน้องใหม่ในแง่การพัฒนาเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากเพิ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีการจัดตั้งกลุ่มพัฒนาย่านขึ้นเพื่อผลักดันให้สีลมกลายเป็น livable street หรือถนนที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ ทั้งด้านความปลอดภัย การสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ และการพัฒนาเมืองให้ดีต่อสุขภาวะของทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อม
แนวทางการพัฒนาย่านสีลมมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน ไม่เพียงแต่ในแง่ของคุณภาพชีวิต (human development) แต่ยังรวมถึงการพัฒนาสังคม (social development) การพัฒนาชุมชนเมือง (urban development) และความยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งเป็นเหตุผลที่กลยุทธ์หลักของย่านนี้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและการร่วมมือกันในระยะยาว ตลอดช่วงที่ผ่านมาจึงได้เห็นโครงการต่างๆ ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อคนเมืองมากขึ้น เช่น กิจกรรม Big Cleaning Day โครงการบริจาคสิ่งของเหลือใช้ และโครงการจัดการขยะชื่อ ‘ไม่เทรวม สีลมโมเดล’
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาย่านสีลมให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญในปัจจุบันคือการผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแลนด์สเคปเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น หรือการปรับปรุงกฎหมายที่ดินและโครงสร้างเชิงระบบให้เอื้อต่อการพัฒนาเมืองในระยะยาว ซึ่งสมาคมเรารักสีลมยังคงเดินหน้าผลักดันแนวทางเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สีลมเป็นย่านที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ

Chula SDGs City : สร้างเมืองที่มีกิจกรรมเหมาะกับคนทุกวัย
หลายคนอาจไม่รู้ว่าองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาย่านบรรทัดทองคือสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาในภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการดูแลและพัฒนาย่านในมิติต่างๆ ครอบคลุมทั้งภาคเอกชน เช่น ร้านค้าต่างๆ บนถนนบรรทัดทอง และบริษัทเอกชนในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วยชุมชนในย่าน ตลอดจนภาควิชาชีพและหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน เช่น Big Trees, Urban Ally และสำนักงานเขตปทุมวัน
แม้ว่าการพัฒนาในช่วงแรกจะเริ่มต้นจากโจทย์ที่มีนิสิตและภาคการศึกษาเป็นศูนย์กลาง แต่อาจารย์ ดร.จรัสพัฒน์ พฤกษารัตนวุฒิ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาย่านครอบคลุมทั้งเส้นบรรทัดทองไปจนถึงสยามสแควร์โดยคำนึงให้ผู้เช่าและคนทั้งย่านได้ประโยชน์ ในช่วงหลังจึงเห็นได้ว่าสยามสแควร์มีการจัดกิจกรรมสาธารณะที่เปิดกว้างและเข้าถึงคนเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดนตรีจากเยาวชนทุกวันศุกร์ กิจกรรม Pride Month และโครงการบริจาคเลือด
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้ย่านแห่งนี้เป็น Chula SDGs City ที่พัฒนาสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ Chula Walking Street ในย่านบรรทัดทอง ซึ่งออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ที่ได้ในปีที่ผ่านมาคือสามารถลดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 1,150 ต้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการค้าขายในพื้นที่ให้เติบโตขึ้น โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.9 ล้านบาท

Bangkok Design Week : ครีเอตพื้นที่สร้างสรรค์ให้ย่าน
ย่านสร้างสรรค์ที่หลายคนคุ้นเคยจากกิจกรรมอย่าง Bangkok Design Week มีองค์กรหลักที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา คือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกับผู้ดูแลศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) หลายคนอาจไม่ทราบว่า CEA ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ในกรุงเทพฯ แต่ยังวางกลยุทธ์การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลากหลายพื้นที่
คุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ CEA กล่าวว่าหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของ Bangkok Design Week ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือการออกแบบเสื่อยักษ์ หรือ Mega Mat ซึ่งถูกจัดแสดงในย่านพระนคร เสื่อขนาดใหญ่นี้ไม่เพียงแต่เป็นงานออกแบบที่สะดุดตา แต่ยังสะท้อนวัฒนธรรมร่วมของคนไทยที่คุ้นเคยกับการนั่งบนเสื่อ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนพร้อมใจกันถอดรองเท้าและนั่งพักผ่อนที่เสื่อโดยไม่ต้องอธิบายว่าเสื่อยักษ์นี้ใช้งานยังไง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการเชื่อมโยงคนเมืองผ่านงานดีไซน์และวัฒนธรรมร่วมกัน
นอกจากนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Bangkok Design Week ยังได้มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมในย่านเจริญกรุงจนดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเดินเล่นตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ได้อย่างคึกคัก ไม่แพ้ถนนสายหลัก โดยเฉพาะกิจกรรม Lighting Installation ที่ช่วยเติมชีวิตชีวาให้กับย่านในยามค่ำคืน
อย่างไรก็ตาม โอกาสสำคัญของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในประเทศไทยคือการกระจายความเจริญให้กว้างขวางขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างเชียงใหม่ แต่ขยายไปยังจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพอีกมากมายทั่วประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้ต่อไป

BioFin : ลงทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง
นอกจากการพัฒนาเมืองให้เติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างสมดุลระหว่างความเจริญของเมืองและธรรมชาติ กิจกรรม BioFinance Connect: Biodiversity Matchmaking for Urban Innovators ซึ่งจัดโดย BIOFIN x Refield Lab ได้เชิญผู้ขับเคลื่อนเมืองจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางผลักดันนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เบื้องหลังโครงการ BIOFIN (The Biodiversity Finance Initiative) หรือความริเริ่มทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ คือองค์กรระดับโลกอย่าง UNDP (United Nations Development Programme) ซึ่งตระหนักว่าการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ควรดำเนินไปโดยละเลยระบบนิเวศ BIOFIN จึงทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกร่วมให้การสนับสนุน และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมการขับเคลื่อนนี้
จากการระดมความคิดเห็นในกิจกรรม พบว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องกันว่าหนึ่งในปัญหาที่เมืองควรเร่งแก้ไขคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางน้ำและทัศนียภาพของคลองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง รวมถึงการนำพืชท้องถิ่นและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในเมือง ตลอดจนการส่งเสริมพื้นที่ทางการเกษตรและการลงทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลกับธรรมชาติต่อไปในระยะยาวซึ่งสำคัญสำหรับทุกย่านไม่แพ้มิติเศรษฐกิจเลย

𝗔𝗰𝘁𝗶𝘃𝗲 𝗖𝗶𝘁𝘆 𝗙𝗼𝗿𝘂𝗺: 𝗔𝗰𝘁𝗶𝘃𝗮𝘁𝗲 𝗖𝗶𝘁𝘆 F𝗼𝗿 𝗛𝗲𝗮𝗹𝘁𝗵𝗶𝗲𝗿 𝗟𝗶𝗳𝗲 ปลุกเมืองให้สุขภาพดี ด้วยเราทุกคน!’ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดตั้งต้นที่ดีที่ช่วยให้เรื่องของเมืองเป็นเรื่องของทุกคนยิ่งขึ้น และเราคงจะเห็นอีกหลายมูฟเมนต์จากหลายภาคส่วนที่ร่วมพัฒนาเมืองไปด้วยกัน