นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับการใช้คุกกี้

บริษัท ทุนดี จำกัด (“บริษัท”) มีความจำเป็นต้องใช้คุกกี้ในการทำงานหลายส่วนของเว็บไซต์เพื่อรับประกันการให้บริการของเว็บไซต์ที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้บริการเว็บไซต์ของท่าน โดยบริษัทรับประกันว่าจะใช้คุกกี้เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลของท่านโดยสอดคล้องกับกฎ หมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีการใช้คุกกี้บางประเภทที่อาจดำเนินการโดยผู้ให้บริการภายนอก ทั้งนี้ เมื่อท่านเข้าใช้บริการเว็บไซต์ บริษัทจะถือว่าท่านรับทราบและตกลงนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้แล้ว โดยบริษัทสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุงนโยบายฉบับนี้ตามแต่ละระยะเวลาที่บริษัทเห็นสมควร โดยบริษัทจะแจ้งให้ท่านทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์นี้... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

LIVE LAUGH LAUGH

A Katanyu Comedy Club ร้านขายขำที่สร้างกำไรด้วยการขยายเสียงหัวเราะ

เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของคลับแห่งหนึ่งทำให้เราได้ยินเสียงหัวเราะของผู้คนจากแถวสามย่านมากกว่าที่เคย

A Katanyu Comedy Club คือคลับเล็กๆ ขนาดเกือบ 50 ที่นั่ง ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของโครงการ Space & Co แถวสามย่าน ในร้านมีเครื่องดื่มและอาหารทานเล่นพร้อมเสิร์ฟตามแบบฉบับของคลับทั่วๆ ไป แต่ที่ไม่เหมือนใครคือโชว์สแตนด์อัพคอเมดี้จากเหล่าคอเมเดี้ยนชาวไทยที่จะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาสร้างความฮาในบางที (หรือความเงียบในบางครั้ง) ให้คุณได้ฟังกันในแต่ละวัน

เรามีนัดกับ ยู–กตัญญู สว่างศรี เพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังของคลับแห่งนี้ หากใครเคยติดตามวงการสแตนด์อัพคอเมดี้ในเมืองไทยอาจจะเคยคุ้นหูกับชื่อของเขามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะคอเมเดี้ยนที่หาญกล้าจัดโชว์สแตนด์อัพคอเมดี้ของตัวเองขึ้นมาเมื่อ 6 ปีก่อน, หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ยืนเดี่ยว’ คอมมิวนิตี้ของผู้รักสแตนด์อัพคอเมดี้ ที่คอยจัดอีเวนต์ให้ผู้เล่นและผู้ชมได้มาเจอกันอยู่เสมอ และล่าสุดคือในฐานะเจ้าของร้าน A Katanyu Comedy Club ที่เรากำลังยืนอยู่ตอนนี้

“พี่ยู ขอถ่ายมุมนี้นิดนึงสิ” ช่างภาพของเราชี้ไปที่เวทีของร้าน

“เอาสิ มา เดี๋ยวพี่ถ่ายให้” ยูตอบกลับน้องช่างภาพ ก่อนที่เราทั้งหมดจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมา

เราแอบคิดว่าการสัมภาษณ์วันนี้จะต้องเหนื่อยแน่ อาจไม่ใช่ด้านเนื้อหา แต่เป็นด้านความฮาที่เราน่าจะได้เจอตั้งแต่เริ่มจนจบ

ร้านที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและความบังเอิญ

“จุดไหนที่ทำให้อยากทำร้านนี้” เราเริ่มต้นคุยกันด้วยคำถามพื้นฐาน

“นี่ จุดนี้” ยูลุกออกจากเก้าอี้ที่เรากำลังนั่งสัมภาษณ์ เดินไปหน้าเวทีแล้วชี้ลงที่ปลายเท้าของตัวเองเพื่อบอกตำแหน่งของจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมสุดๆ ให้เราดู

“เอาจริงๆ มันเป็นความฝันที่ลืมไปแล้ว” หลังจากกลับมานั่ง ยูก็เล่าถึงจุดเริ่มต้นในแบบที่เราหมายถึงในทีแรกให้ฟัง

“เมื่อเร็วๆ นี้มีน้องคนนึงมาบอกว่าเมื่อสัก 5 ปีก่อนเราเคยเล่าให้มันฟังว่าเราอยากทำคอเมดี้คลับ อยากทำร้านจริงจังที่มีการแสดงสแตนด์อัพคอเมดี้ทุกวัน แต่ด้วยหน้าที่การงานและจังหวะชีวิตหลายๆ อย่างทำให้เราลืมเรื่องนี้ไป จนกระทั่งวันนึงร้านกาแฟ Katanyu Coffee ที่เราเคยทำมันมีเหตุให้ต้องหาสถานที่ใหม่ในการเปิดร้าน เราเลยลองมาดูพื้นที่ตรงนี้เพราะเห็นว่าไม่ไกลจากโลเคชั่นเก่า ก็เดินเข้ามาหยุดตรงจุดเมื่อกี้แหละ พอหันหน้ามองมุมตรงนั้นอยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า เชี่ย! ตรงนี้มันเป็นเวทีได้นี่หว่า”

เมื่อความฝันที่เคยมีเวียนกลับมาอีกครั้ง คราวนี้เขาลงมือทำมันให้กลายเป็นจริงทันที ด้วยการเปลี่ยนโปรเจกต์ย้ายร้านกาแฟให้กลายเป็นคอเมดี้คลับแบบที่เคยคิดไว้ แต่ก็ใช่ว่าสิ่งที่มาจากความฝันครั้งนี้จะเกิดขึ้นด้วยแพสชั่นอย่างเดียว ยังมีความเป็นไปได้อีกหลายอย่างที่ยูใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการเปิดร้านครั้งนี้ ซึ่งบางสิ่งในนั้นก็เกิดจากสิ่งที่ยูได้ลงมือเพาะปลูกเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน

“ถ้าย้อนมองเทียบกับเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เราว่าคนสนใจสแตนด์อัพคอเมดี้กันมากขึ้น ในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น มันมีช่องทางสตรีมมิงต่างๆ ที่นำเสนอคอเมเดี้ยนที่มีคุณภาพ ทำให้คนสามารถจับต้องคอเมเดี้ยนที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นบางคนก็จะชอบ Ronny Chieng (รอนนี เฉียง) มากๆ บางคนอาจจะเจอวิดีโอของ Uncle Roger (อังเคิล โรเจอร์) แล้วก็ไปดูสแตนด์อัพของเขาต่อ หรือว่าคนดังๆ อย่าง Dave Chappelle ก็มีให้ดูมากขึ้น เรียกว่าคนดูเก็ตขึ้นและมีจำนวนมากกว่าตอนแรกแน่นอน

“อีกส่วนคือมันมีความถึงพร้อมบางอย่างของคอเมเดี้ยนที่เกิดจากยืนเดี่ยว ถ้าลองไปดูในออนไลน์ คอเมเดี้ยนที่มีคุณภาพคนดูหลักแสนหลักล้านก็มีนะ ซึ่งถ้าเป็น 6 ปีก่อนไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้แน่นอน ไม่มีโชว์ของคนที่ไม่เคยมีชื่อเสียงแล้วมาเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้แน่นอน นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ

“และส่วนสุดท้ายคือความรู้สึกของเราเอง ด้วยโลกที่มันเริ่มเปิดหลังสถานการณ์โควิด-19 มันเป็นจุดที่เราต้องการอะไรบางอย่างมาชุบชูตัวเองหลังจากเหี่ยวเฉามานานในช่วงนั้น ก็เลยคิดว่าที่นี่อาจจะเป็นสิ่งชุบชีวิตเราได้ บวกกับความพร้อมด้านการเงินที่พอไหวด้วย คือมันก็เป็นความฟุ่มเฟือยของคนที่ไม่ได้มีตังค์เท่าไหร่แต่ก็อยากจะฟุ่มเฟือยอะนะ” พอพูดจบยูก็หัวเราะออกมา

อยู่กับความเป็นไปได้ ที่ไม่ใช่แค่สแตนด์อัพคอเมดี้

เมื่อมีร้านแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็ต้องเริ่มดำเนินเพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ โดยคอนเซปต์ของ A Katanyu Comedy Club ในตอนเริ่มต้นนั้นไม่มีอะไรที่ซับซ้อน คือเป็นสถานที่ที่มีคอเมเดี้ยนมาเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาดูและใช้จ่ายกับอาหารเครื่องดื่มในยามค่ำคืน ง่ายๆ แบบนี้

“ตอนก่อนจะเปิดผู้จัดการร้านมาถามว่า พี่ไดเรกชั่นของร้านเราคืออะไรพี่ คำถามแม่งโคตรเท่เลยนะ เราตอบไปว่า กูก็ไม่รู้ เล่นตลกก่อนแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากัน” ซึ่งแน่นอนว่าความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น 

แม้คนไทยจะเข้าใจวัฒนธรรมของสแตนด์อัพคอเมดี้มากขึ้น แต่การดึงคนให้มาที่ร้านในช่วงที่เพิ่งเปิดก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งไม่ใช่แค่คนดู แต่รวมไปถึงคนเล่นด้วย “โอ้โห หาเหนื่อยเลย ช่วงนั้นเจอใครก็ชวนมาเล่นสแตนด์อัพกันหมด ตลกไม่ตลกก็ชวน ถามก่อนเลยว่ามีคิวว่างไหม บางทีลงบ้านมาเจอแม่ก็ชวน แม่ๆ อยากเล่นสแตนด์อัพฯ ปะ”

หลังจากเหนื่อยอยู่สักพัก สุดท้ายแล้วยูก็สามารถชวนเพื่อนพ้องในวงการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่มาเล่นประจำที่ร้านได้ในทุกๆ วัน (แม้จะเสียดายนิดหน่อยที่แม่ไม่ยอมมาขึ้นเล่นด้วย) แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ยังต้องแก้คือการชวนคนดูมาที่ร้านให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดของธุรกิจ

ยูจึงต้องคิดแผนการเพื่อความอยู่รอด แผนแรกคือการจัดอีเวนต์และโปรเจกต์ออนกราวนด์ต่างๆ ขึ้นในร้านแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์สนุกๆ ของตัวเอง หรืออีเวนต์ของเพื่อนฝูงที่มาติดต่อขอใช้สถานที่

“เรามีการจัดโชว์พิเศษยาวสัก 1-2 ชั่วโมงของคอเมเดี้ยนรุ่นใหม่ที่เด่นๆ ขึ้นมาแล้วก็ขายตั๋ว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วคือโชว์ของลินิน หรือสัปดาห์ก่อนเราก็เพิ่งจัดงาน Speed Dating ที่พาคนโสดมานั่งจีบกันและดูสแตนด์อัพคอเมดี้ด้วยกัน ก่อนหน้านั้นก็มีจัดงานเสวนา เป็นงานเปิดตัวหนังสือ Hamlet ของเชคสเปียร์ ซึ่งคนทำก็เป็นเพื่อนกันนี่แหละ เราก็ดึงลูกค้ามาแล้วก็เล่นสแตนด์อัพเสริม ขายอาหารเครื่องดื่มกันไป หรือจะจัดงาน pre release การ์ด Magic The Gathering ก็มีคนมาเล่นการ์ดที่นี่กันสนุกสนาน แล้วเราก็เล่นสแตนด์อัพไปด้วย

“คือเรายังให้แกนของสถานที่นี้เป็นคอเมดี้อยู่เหมือนเดิมนะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันเพิ่มเติมขึ้นมาจากความสนใจของเราซึ่งมันไม่ได้มีแค่สแตนด์อัพคอเมดี้อย่างเดียว ถ้ามันไหลไปตรงจุดไหนได้เราก็พามันไปจุดนั้น แล้วเสริมด้วยเนื้อตัวของเราที่มันมีความตลกอยู่ ก็อาจจะไม่ได้เป็นแค่สแตนด์อัพคอเมดี้ เรามองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ มากขึ้น”

จากหน้าเวทีสู่หน้าจอ

อีกหนึ่งแผนที่น่าสนใจของยูคือการตั้งทีมเพื่อทำคอนเทนต์ออนไลน์ในอนาคต เพราะยูมองว่า A Katanyu Comedy Club นั้นไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือเรื่องเล่าและผู้คนที่รวมกันอยู่ที่นี่

“สุดท้ายแล้ว A Katanyu Comedy Club เองก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่เราคิดว่ามันสามารถต่อยอดไปสู่งานคอนเทนต์ได้ด้วย เราสามารถเอาคอเมเดี้ยนไปทำอย่างอื่นได้อีก จริงๆ เราอยากทำรายการประเภท late-night talk show ซึ่งก็ทำได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มใหม่ๆ ก็อยากทำ อยากมี TikTok อยากเล่นละครคุณธรรมแบบตลกๆ ติงต๊องๆ ซึ่งการทำคอนเทนต์ออนไลน์แบบนี้ก็จะนำไปสู่โมเดลของการหาสปอนเซอร์ได้ ก็ฝากลงประกาศขายตรงนี้ด้วยเลยแล้วกัน เผื่อใครอยากซื้อนะครับ

“แต่ว่าการทำคอนเทนต์แบบนี้ก็ต้องใช้ศักยภาพค่อนข้างเยอะเหมือนกัน มันอยู่ในจุดที่เรากำลังหาทางบาลานซ์ว่าจะทำยังไงให้งานมันได้เงินและมีเวลาพอและมีคุณภาพงานที่ดี ซึ่งอันนี้มันเป็นจุดยากมาตลอด ที่ผ่านมาเราทำบริษัทเอเจนซี เราก็พยายามเอาเอเจนซีมาทำคอนเทนต์ให้ A Katanyu Comedy Club แต่คนที่เอเจนซีเขาเป็นสายครีเอทีฟ เขาไม่ใช่คนที่จะมาทำสายขำได้ตลอดเวลา มันจึงยากที่เขาจะมาใช้เวลาหรือจะมาใช้แพสชั่นกับมัน 

“ส่วนทีมงานของร้านที่เรารับมาตอนนี้มันก็ไม่ใช่คนทำคอนเทนต์ แต่เป็นคอเมเดี้ยนบ้าง หรือเป็นคนที่ทำร้านอาหารมาบ้าง มันก็ไม่ได้มีพื้นฐานของการทำคอนเทนต์หรือโซเชียลมีเดีย ก็ต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ ทำกันไป ก็ฝึกจากทำคอนเทนต์ง่ายๆ ในเฟซบุ๊กร้านไปก่อน”

Comedian Center

ถึงวันนี้ A Katanyu Comedy Club เปิดทำการมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว มีผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาหาความสุขและเสียงหัวเราะมากมาย แต่หนึ่งในกลุ่มคนที่ยูต้องการให้มาที่นี่มากที่สุดนอกจากลูกค้า ก็คือเหล่าคอเมเดี้ยนด้วยกันเอง

“คือประเทศนี้มันไม่ได้มีพื้นที่มากนะ ถ้าพูดแบบเป็นจริงเป็นจังคือปกติแล้วคอเมเดี้ยนบ้านเราทุกคนก็จะรออีเวนต์ที่จะให้ขึ้นเล่นหรือได้ไปเจอกัน โมเมนต์นั้นเขาถึงจะได้เป็นคอเมเดี้ยนนะ แต่โมเมนต์อื่นเขาก็ต้องกลับไปเป็นพนักงานธรรมดาหรืออาชีพอื่นๆ เราเลยอยากคอเมเดี้ยนในประเทศไทยมีพื้นที่ของการใช้ชีวิตเป็นสแตนด์อัพคอเมเดี้ยนมากขึ้น ให้ที่นี่เป็นที่ของพวกเขา จะมาเล่น จะมาดู จะมาแลกเปลี่ยนคอมเมนต์เรื่องมุกตลกกันก็ทำได้ เป็นที่ที่ทุกคนสามารถมาเอาจริงเอาจังกับความเป็นสแตนด์อัพคอเมเดี้ยนของตัวเองได้ เราลงทุน เพราะอยากสร้างคัลเจอร์นี้ขึ้นมา ซึ่งเวลาพูดเรื่องนี้มันก็จำเป็นที่ต้องมีพื้นที่ที่เราเอาไว้ใช้เวลาและใช้ชีวิตกับมันจริงๆ

“แล้วพอมี A Katanyu Comedy Club มันก็ช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ มากมายให้เกิดขึ้นกับทั้งตัวเราและตัวคอเมเดี้ยนด้วย อย่างเราตอนนี้กลับมาเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้มันก็มีคนพูดถึง มันก็ส่งผลดีกับตัวเราอยู่แล้วในเรื่องการงาน มีพี่คนนี้คนนั้นมาชวนทำนั่นทำนี่ ได้รับโอกาสใหม่ๆ เข้ามา หรือน้องๆ ที่มาเล่นสแตนด์อัพฯ เองอย่างน้อยก็ได้โอกาสฝึกซ้อมและแสดงออกถึงแพสชั่น ได้แสดงฝีมือ ได้ต่อสู้กับความเงียบบ้าง บางทีก็คนน้อยบ้าง แต่พอคนเยอะมันก็จะเริ่มเอาอยู่เพราะมันเชี่ยวชาญขึ้น มันได้มานั่งพูดคุยเรื่องมุกตลก มาชงมุกตลก มันพูดคุยกันนู่นนี่นั่น ไอ้มัดกล้ามของการเล่นมุกมันก็จะแข็งแรงขึ้น

“คือเราอยากให้มันเป็นพื้นที่ของเด็กหนุ่มสักคนนึงอาจจะมาเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้ เล่นแล้วก็อาจจะไม่ค่อยตลกหรอกแต่ก็ห้าวมาอีก ก็เล่นไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็ได้ไปขึ้นยืนเดี่ยว แล้ววันหนึ่งก็ได้มีโชว์เป็นของตัวเอง ซึ่งเคสแบบนี้มันมีจริงๆ

“ตอนนี้คนที่มาร้านส่วนมากก็เลยจะเป็นคอเมเดี้ยนนี่แหละ ลูกค้ายังไม่ค่อยมีจนถึงวันนี้” ยูเล่าให้เราฟังพร้อมระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอีกหนึ่งที

รอดได้ถ้าใจเชื่อ

แม้จะดูเป็นธุรกิจที่ยากในการสร้างกำไรเป็นเม็ดเงิน แต่ยูก็บอกเราว่าเมื่อเทียบกับโอกาสต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาสำหรับวงการสแตนด์อัพคอเมดี้แล้ว นี่ก็เหมือนเป็นกำไรอย่างหนึ่ง และทั้งหมดที่เล่ามานี้มันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

“ปลายทางเราก็อยากให้มันเป็นธุรกิจที่มีกำไรแหละ เพียงแต่ว่าจุดเริ่มต้นมันคือการลงทุนเพื่อสร้างคัลเจอร์ ซึ่งระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้มันก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ เราประเมินไว้อยู่แล้วว่าเรื่องขาดทุนต่างๆ มันคือการลงทุน แล้วระหว่างนี้อะไรที่เราสามารถสร้างโอกาสได้เราก็ลุยไป

“คือตั้งแต่ทำมามันก็มีแต่คนพูดว่าที่นี่มันจะไม่รอดนะ ซึ่งเราไม่เคยกลัวเลย เพราะถ้ามันไม่รอดมันก็ไม่รอดไง (หัวเราะ) เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อที่จะประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่อยู่แล้ว มันมีความเสี่ยงที่จะไม่รอดสูงอยู่แล้วที่นี่ แต่ว่าเราเคยดูสารคดี ไมเคิล จอร์แดน เขาบอกว่าเวลาเขาชู้ตบาส สิ่งที่เขาโฟกัสคือการเอาลูกบาสลงห่วง เขาไม่เคยโฟกัสว่ามันจะไม่ลงเลย ผมก็เลยไม่สนใจว่ามันจะไม่รอด ถ้าเราอยากทำ

“เราอยากลอง เราก็ต้องเอาใจไปผูกกับความคิดที่ว่าทำยังไงเราถึงจะสำเร็จสิ ก็หาวิธีเอาตัวรอดไปเรื่อยแหละ เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ยังต้องไปรับงานพิธีกรเพื่อเอาเงินมาจ่ายเงินเดือนพนักงานอยู่เลย” ยูยอมรับกลั้วเสียงหัวเราะ

ไหนๆ ก็มาถึง A Katanyu Comedy Club แล้ว แม้ช่วงที่นั่งคุยกันจะยังไม่ใช่เวลาทำการของร้าน แต่เราก็ไม่อยากพลาดความฮา (แม้จะหลุดเสียงหัวเราะออกมาหลายครั้งแล้วระหว่างสัมภาษณ์ก็ตาม) เลยขอให้ยูลองเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้เกี่ยวกับร้านนี้ให้เราฟังสักเรื่อง

หลังจากใช้เวลาคิดอยู่แวบนึง ยูก็เล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง

“ตอนแรกที่จะทำร้าน Stand Up Comedy เราก็เปิดรับสมัครพนักงาน โดยคนแรกที่ได้มาชื่อเชฟแมน เป็นพนักงานที่ครบเครื่องมาก ทำได้หมดทั้งเก็บสต็อก ทำอาหารทุกอย่าง ขึ้นเล่นสแตนด์อัพคอเมดี้เองก็ได้นะ ล่าสุดถึงขั้นไปขึ้นเล่นยืนเดียวมาแล้วด้วย ซึ่งเจ๋งมาก มีแต่คนถามว่าพี่ยูไปได้คนนี้มาจากไหนวะ โคตรเจ๋ง เราก็บอกว่าตอนเรียกสัมภาษณ์พนักงานเราเรียกมา 3 คน แต่มีมันมาแค่คนเดียว ก็เลยได้มันมานี่แหละ เพราะกูไม่มีตัวเลือกไง

“ที่เหลือเล่าผ่านตรงนี้ก็ไม่ค่อยตลกหรอกต้องมาฟังที่ร้านเอา”

Writer

อยากไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เลยลงสมัครวิ่งมาราธอนที่ญี่ปุ่นไป แล้วมาคิดได้ทีหลังว่าไปญี่ปุ่นเฉยๆ แบบไม่ต้องวิ่งก็ได้นี่

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like