100 Capital 100 Entrepreneurs EP.4
100 ทุนสำคัญในชีวิตของผู้ประกอบการและตัวแทนธุรกิจ 100 คน EP.4
สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจคือ ‘ทุน’ หากแต่ทุนที่สำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจและทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเงินเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงทุนอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาในชีวิต แต่ละคนก็แตกต่างกันไป
ด้วยความอยากรู้ว่าทุนที่ว่ามีอะไรบ้าง เราจึงตั้งใจถาม 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ หลากหลายหมวดและขนาด ด้วยคำถามเดียวกัน
“อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้”
ในตำราอาจมีนิยามของคำว่าทุนกำกับไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อได้พูดคุยกับคน 100 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกธุรกิจ คำตอบที่ได้กลับหลากหลาย
บางคำตอบก็ตรงไปตรงมา ในขณะที่บางคำตอบก็ไม่มีตำราเล่มใดเขียนกำกับไว้ บางคำตอบเป็นทุนสำคัญที่ใครหลายคนเห็นตรงกัน ในขณะที่บางคำตอบก็เฉพาะตัวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน
ท่ามกลางคำตอบมากมาย เราคล้ายได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่ควรให้ค่าในการทำธุรกิจ และชวนให้เรากลับมาทบทวนสิ่งเหล่านั้นในชีวิตของตัวเอง
สุนาถ ธนสารอักษร
CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Rabbit’s Tale
“ทุนที่ทำให้ Rabbit’s Tale เติบโตมาได้ตลอด 10 กว่าปี คือพลังคนรุ่นใหม่ เราเริ่มก่อตั้งแรบบิทส์กันตั้งแต่ตอนอายุ 23 โดยตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในวันที่วงการสื่อสารการตลาดมีแต่การทำตามๆ กัน เป็นที่มาของแท็กไลน์ที่เราใช้มาตลอด ‘Break the norm, build the tale.’ พวกเราซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็น digital native ไม่เคยอยู่ในวงการโฆษณา มองกลับเข้ามาในอุตสาหกรรมด้วยสายตาของคนนอก ตั้งใจสร้างงานที่แตกต่าง สร้างเรื่องราวร่วมกับแบรนด์ต่างๆ และสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้มาปล่อยของ เพราะโลกที่หมุนอย่างรวดเร็วตลอดเวลานั้น ต้องมีคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญมาขับเคลื่อนไปข้างหน้า
“จนถึงปัจจุบัน แม้ทีมบริหารจะอายุมากขึ้น แต่เราก็พยายามผลักดันให้ทีมงานรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสปลดปล่อยไอเดีย เราไม่มีการนับวันหยุดพักร้อน เราอนุญาตให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เราพยายามดูแลคนของเราอย่างเต็มที่ ถึงจะยังไม่ใช่บริษัทที่ดีที่สุดและยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกมากมาย แต่เราเชื่อว่า Rabbit’s Tale คือองค์กรที่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ เรียนรู้ และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดองค์กรหนึ่งในประเทศนี้”
ทิพย์ชยา พงศธร
CEO สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม กลุ่มบริษัทพรีเมียร์
“แน่นอนทุนมันเป็นเรื่องของเงินทุนต่างๆ asset ที่เรามีอยู่ สิ่งปลูกสร้างอะไรต่างๆ แต่รินว่า Know-how น่าจะเป็นทุนที่สำคัญที่สุด เป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้เราสามารถแปลงออกมาเป็นทุนอื่นๆ ที่มีมูลค่าได้”
ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์
ผู้ก่อตั้ง Rompboy
“เรื่องที่เป็นทุนที่สำคัญสำหรับผมคืออิสระทางความคิด ตั้งแต่เด็กๆ ที่บ้านผมไม่เคยล้อมกรอบผมเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การเล่นดนตรี ความคิดสร้างสรรค์ในทุกอย่าง การมีอิสระทางความคิดในทุกๆ อย่างทำให้เรากล้าที่จะทำสิ่งต่างๆ
“อิสระทางความคิดสำคัญกับการทำธุรกิจ เพราะมันจะทรานส์ฟอร์มเป็นคำว่าครีเอทีฟ เมื่อมีครีเอทีฟแล้ว ไม่ว่าเราจะทำเสื้อผ้า ทำดนตรี หรือทำธุรกิจอะไรก็ตาม งานทุกอย่างจะน่าสนใจ มันจะพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาน่าตื่นเต้น แต่ถ้างานไหนที่ไม่มีครีเอทีฟมันจะเป็นงานที่เรารู้สึกเฉยๆ แค่เราคิดจะขายเรายังไม่รู้ว่าจะขายมันยังไง เพราะมันไม่มีครีเอทีฟ”
วิพุธ จารุธรรมากร
ผู้ก่อตั้งและ Hairstylist, ROOF HAIR salon
“ทุนที่สำคัญของ ROOF HAIR salon คือ ความแน่วแน่ที่จะส่งมอบฝีมือ บริการที่ดี และมีมาตรฐาน แพสชั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก้าวเข้ามาในวิชาชีพนี้ แต่หัวใจของธุรกิจเราจริงๆ คืองานฝีมือ ที่จะเกิดขึ้นจากการฝึกฝนและใช้เวลาขัดเกลาให้เก่งขึ้นในทุกๆ วัน ซึ่งเราอยากส่งต่อมาตรฐานนี้ให้กับรุ่นต่อไป ให้วงการช่างตัดผมไทยสามารถทัดเทียบกับนานาชาติได้
“นอกจากนี้ทุนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ ทีม เราเป็นร้านเล็กๆ ไม่ใช่บริษัทใหญ่ ดังนั้นความเชื่อใจในทีมจึงสำคัญมาก อย่างในตอนเริ่มต้นร้านขึ้นมา ทุกคนเป็นช่างผมที่มีความสามารถ เราก็ต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะร้านไม่สามารถเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือทีม”
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS Group
“มายด์เซตที่เปิดใจกว้าง ยอมรับ และเรียนรู้สิ่งใหม่ คือทุนสำคัญในการทำให้ธุรกิจยั่งยืน
“ผมเชื่อว่าคนทำธุรกิจทุกคนที่อยู่รอดและเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ต้องมีจุดแข็ง จุดเด่น หรือมีความสามารถอยู่แล้ว แต่จะทำให้จุดแข็งและจุดเด่นสามารถต่อยอดไปได้ก็ต้องรู้จักเรียนรู้ ปรับตัว จงทำให้การเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ และปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต”
วิชัย มาตกุล
ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ Salmon House
“สำหรับเราทุนที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเอง คำตอบอาจเหมือนกำปั้นทุบดิน แต่ผมว่าตัวเองในบริบทของการเข้าใจตัวเองและการหาตำแหน่งที่ทางให้ตัวเอง มันสำคัญมากๆ กับองค์กร ถ้าเราวางตัวเองถูกต้อง เป็นประโยชน์สูงสุดขององค์กร เราจะมีความสุขในการทำงาน ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายามทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถูกใจ และสุดท้ายเราจะไม่ทุกข์ใจเวลาความพยายามของเรามันไม่ก่อประโยชน์ เพราะเราพยายามผิดตำแหน่ง
“ถ้าเปรียบบริษัทเป็นทีมบาส เบนซ์ (ธนชาติ ศิริภัทราชัย) อาจจะเป็นการ์ดจ่าย มีหน้าที่ครองบอลและคุมเกม แต่ถ้าผมดันคิดว่าตัวเองก็เป็นการ์ดจ่ายได้ ทำเกมได้ แต่ในความจริง มันไม่เวิร์กเลย เราพยายามผิดจุด การไม่รู้ตำแหน่งของตัวเอง มันทำให้การ์ดจ่ายตัวจริงทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ มันทำให้ผมพยายามอย่างเสียประสิทธิภาพ ไม่สนุก ไม่เอนจอย แย่สุดผมก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเบนซ์ว่าทำไมเขาทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ซึ่งถ้าเราตระหนักรู้ต้นทุนของตัวเอง ซึ่งก็คือตัวเราเอง อย่างถ่องแท้ ว่าเราฟังก์ชั่นกับการเป็นเซ็นเตอร์ อยู่ใต้แป้น รอบอลจากเบนซ์เพื่อทำคะแนนจากวงใน และคอยกันคนให้เบนซ์เพื่อทำแต้มจากวงนอก เท่านี้ตัวผมเองก็จะมีความสุขที่ต้นทุนผมได้ก่อประโยชน์สูงสุดให้องค์กร
“ความเข้าใจตรงนี้มีประโยชน์กับผมมากจริงๆ เพราะเวลาน้องๆ คนไหนไม่ฟังก์ชั่นเท่าที่ควร ผมจะมาคิดก่อนว่า เราใช้งานเขาผิดประเภทอยู่หรือเปล่า จริงอยู่ว่าคนเราควรจะฝึกเพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ๆ กันได้ แต่ผมกลับรู้สึกว่าแต่ละคนจะมี core function ที่ไม่เหมือนกัน ระยะหลังๆ ผมเลยมาตระหนักรู้ว่า หน้าที่ของผมจริงๆ คือ หา core function จากน้องๆ แล้วพยายามทำให้เขาแต่ละคนเจอตำแหน่งที่ถูกต้องของตัวเองให้ได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขจากการทำงาน และเพื่อให้องค์กรเกิด healthy environment แล้วสุดท้ายในวันที่เราต้องการความเป็นโปรเฟสชันนอลที่สุด เราจะไม่ผิดหวังจากทุกคนเลย”
จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND
“ทุนของผมคือ เวลา มาจากที่คุณยายสอนผมเสมอว่า หากเราอยากจะทำอะไรให้ออกมาดี เราก็ควรให้เวลากับมัน”
ลักษิกา จิระดารากุล
Founder, Sculpturebangkok
“เราคิดว่าทุนของ Sculturebangkok คือความกล้า กล้าเสี่ยง กล้าลอง มันน่าจะเป็นความคิดที่ถูกปลูกฝังจากป๊าที่บอกตลอดว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ เราโตมากับการที่ถ้าอยากได้อะไรต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจริงจังกับมันแค่ไหน
“ด้วยความที่เราเป็นช่างภาพ มีอุปกรณ์ถ่ายภาพอยู่แล้ว พออินกับตู้ photoautomat ก็เลยลองทำเลยแล้วกัน ตอนแรกเราลงทุนประมาณ 8,000 บาทเป็นค่าโครงตู้แล้วนั่งถ่ายรูปเองข้างใน ใช้อุปกรณ์ถ่ายรูปของตัวเองมาดัดแปลงให้มันเป็นตู้ถ่ายรูปแบบยัดไส้คนนั่งถ่าย พอความต้องการเยอะขึ้นเราก็เริ่มไปจ้างโปรแกรมเมอร์ทำระบบให้มันออโต้ จริงจังขึ้น คือยังไงก็ได้แต่ขอให้ได้เริ่มทำแล้วค่อยว่ากันต่อ”
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย)
“ทุนของเราคือความคิด ความสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งผลกระทบต่อ ecosystem โดยรอบอย่างยั่งยืน”
มทินา สุขะหุต
ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Sretsis
“ทุนที่สำคัญของธุรกิจเราคือ ความสัมพันธ์ของพี่น้อง จากจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด Sretsis พอเติบโตขึ้น ทุนที่เพิ่มขึ้นก็คือ ผู้ร่วมงาน ที่เติบโตและทำให้ทีมของเราแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ
“เราเชื่อว่า ไม่มีใครทำงานทุกอย่างได้ด้วยคนคนเดียว ทุกคนมีศักยภาพและพรสวรรค์พิเศษในตัวเอง อย่างตอนแรกเรามีคุณแม่ช่วยดูแลการผลิต ซึ่งตอนนี้ก็ยังช่วยดูอยู่ มีพี่อิ๊บ (คล้ายเดือน สุขะหุต) พี่ใหญ่ดูแลการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีพี่เอ๋ย (พิมพ์ดาว สุขะหุต) พี่คนรองที่เป็นกำลังในการออกแบบเสื้อผ้าทั้งหมด มีพี่แอ้ ดูแลเครื่องประดับ เสื้อผ้าเด็ก และอินทีเรียของแบรนด์ มาวันนี้เรามีน้องสาวน้องชายเข้ามาร่วมทีมและเติมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์เรามากมาย
“เรามีน้องชายที่ชอบเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย มีน้องสาวที่ชอบงานคราฟต์มาเติมมิติด้านต่างๆ ให้แบรนด์ มีน้องชายมาเป็นมือขวาช่วยพี่เอ๋ยออกแบบ หรือแม้แต่ผู้ช่วยพี่แอ้ ที่เหมือนกันมาก จากที่เคยเป็นน้องคนเล็กมาตลอด ก็ได้มามีน้องสาวแบบที่พี่แอ้ไม่เคยมี
“ทุกคนใน sretsis มาอยู่ร่วมกันด้วยความสามารถของตัวเอง แล้วรวมกันเป็นหนึ่งเพราะเรารู้ว่ากำลังสร้างสิ่งเดียวกันอยู่ และที่น่ารักคือทุกคนที่ทำงานกับเราบอกว่าที่นี่คือโรงเรียนที่ทำให้เขาเจอเพื่อนที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต ซึ่งมันก็เหมือนโรงเรียนจริงๆ นะ ก่อนที่ทุกคนจะมาทำงานที่นี่ทุกคนก็เลือกเข้ามาเพราะชอบอะไรบางอย่างเหมือนกัน เมื่อทำงานด้วยกันก็ผูกพัน แม้บางคนจะลาจากไปแล้วแต่ความ sisterhood ก็ยังมีอยู่ เรามี sretsis alumni ด้วยนะ”
วินชนะ พฤกษานานนท์
หนึ่งในเจ้าของแบรนด์ SUNNE Voyage
“ทุนที่เราให้คุณค่าสูงสุดสำหรับการทำ SUNNE Voyage คือ การให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับชุมชน ตั้งแต่งานออกแบบเรือที่ต้องทำร่วมกับช่างต่อเรือประมงท้องถิ่น นอกจากนี้พวกเราตั้งใจที่จะสร้างงานและทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญ
“ภายใต้จุดขายของพวกเราในด้านความสวยงามของเรือ คุณภาพการบริการ การเคารพทรัพยากร หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลไม่สามารถมองข้ามได้คือความปลอดภัยของลูกค้า ซึ่งทุกองค์ประกอบล้วนส่งผลต่อประสบการณ์และความทรงจำที่ดีให้กับลูกค้า
“พวกเราเชื่อว่าไม่มีใครที่จะรู้จักพื้นที่ได้ดีกว่าคนในพื้นที่เอง ภาพของท้องทะเลที่สงบ น้ำทะเลสีเขียวใส อาจเป็นภาพที่ทุกคนนึกถึงอยู่เสมอ ในอีกแง่มุมหนึ่งของธรรมชาติ ท้องทะเลก็มีมุมเกรี้ยวกราดอยู่เช่นกัน อ่าวมะขามป้อม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่พวกเราอยู่นั้น เป็นชุมชนประมงพื้นบ้านเก่าแก่ ที่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของ ‘คนทะเล’ การเติบโตมากับท้องทะเล ผ่านพายุ ผ่านลม ผ่านฝน และประสบการณ์ที่ส่งผ่านมาหลายชั่วอายุคน เป็นสิ่งที่พวกเราเคารพและให้คุณค่าจากใจจริง
“จุดหมายของ SUNNE Voyage ในแง่การดำเนินธุรกิจ จึงไม่ใช่เพียงความสุขของลูกค้าแต่เป็นความสุขของชุมชนด้วยเช่นกัน การมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชน การอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยโดยนำสิ่งที่เราทำได้ดีอย่างในเรื่องของการออกแบบ การทำการตลาด มาบูรณาการให้เข้ากับอัตลักษณ์และทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างจุดขายและกระจายรายได้อย่างยั่งยืน”
ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TANACHIRA
“ทุนสำคัญที่ทำให้ธนจิรามีวันนี้คือ การไขว่คว้าหาความรู้ ผมให้เครดิตการศึกษาที่เปิดโลกทัศน์ทำให้เรากล้าคิดกล้าทำธุรกิจ แต่คนเราอยู่เฉยๆ แล้วรอให้ระบบมายื่นไม่ได้
“ตั้งแต่เป็นนักเรียน ผมตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า ‘จุดที่เป็นอยู่นั้นมีอะไรที่ดีกว่านี้ไหม’ ทำให้ผมไขว่คว้าและพาตัวเองไปอยู่ในระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสนั้น สิ่งที่เรียนรู้คือ คนเก่งๆ ที่เป็นไอดอลทั้งหลายอย่าง บิล เกตส์ และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ไม่ได้เรียนจนได้ปริญญา แต่พวกเขาไม่เคยหยุดอ่านและไม่หยุดเรียน
“อย่างการทำธุรกิจและขยายกิจการในวันนี้ ซึ่งการเป็นเจ้าของกิจการไม่ได้แปลว่าจะทำมาค้าขายเก่ง แต่คือการเปิดโอกาสให้เราสร้างคนให้ทำอะไรได้หลายอย่าง
“ช่วงแรกของการทำบริษัท พนักงานจะบอกว่าที่นี่ไม่มีระบบ ผมก็เข้าใจ แต่อยากถามกลับว่า ‘ระบบที่ดีในความคิดของคุณคืออะไร’ ไม่มีใครตอบได้ ผมเองก็ไม่รู้ เพราะเรามีความรู้เท่าๆ กันเพราะทำมาด้วยกัน จะเอาเราไปเปรียบกับบริษัทใหญ่ที่ก่อตั้งมาหลายปีแล้วไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ critical thinking การมองเห็นปัญหาและแก้ไขอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทสัญชาติตะวันตกเขามีมาตลอด หน้าที่ของคนทำงานคือแก้ปัญหาที่เกิด หน้าที่ของ CEO คือไปแสวงหาความก้าวหน้าให้องค์กร ทำนโยบายที่จะสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่ CEO เท่ากับเจ้าของที่รักษาผลประโยชน์ตัวเอง แล้วตอบแทนคนที่ทำงานใกล้ชิด การศึกษาทำให้ผมเห็นเรื่องแบบนี้”
ธัญรดี (ธรรมมณีวงศ์) พลาฤทธิ์
Board of Directors, Thai Rent A Car
“เราคิดว่าทุนที่สำคัญที่ทำให้ Thai Rent A Car เติบโตมาถึงทุกวันนี้คือครอบครัว ที่บ้านเรา ทุกคนแยกออกไปทำธุรกิจอย่างอื่นๆ ของตัวเองด้วยแต่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะไปทำธุรกิจอื่นแล้วไม่ทำ Thai Rent A Car เลย กลับกัน มันแทบจะเป็นเหมือนเซนเตอร์สำหรับพวกเราเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าใครจะแยกไปทำอะไร สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่เราคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน
“เราคิดว่าทุกคนรักมันเพราะอยู่กับมันมานาน อยู่กับมันทุกวันจริงๆ เรากับพี่ชายโตมาในออฟฟิศเลย ตอนที่เราเด็กๆ บริษัทจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้ พ่อแม่เราก็มาถามว่าชอบอันไหน เรากลับมาจากออฟฟิศมานั่งกินข้าวยังคุยกันเรื่องโลโก้อยู่เลย เหมือนมันอยู่ในเลือดไปแล้ว เป็นธรรมชาติไปแล้วว่านี่คือของพวกเรา
“ดังนั้นถ้าพูดถึงเรื่องต้นทุน เราคิดว่าคือคนในครอบครัวที่รักมัน ทำมันมาสามรุ่นตั้งแต่รุ่นอากง พ่อเรา รุ่นเราเป็นรุ่นที่สาม เราดีใจที่พ่อเรายังเลือกทำรถเช่า พี่เราหรือเราเองก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับการทำ และเราก็หวังว่ารุ่นลูกของเราจะยังอินกับ Thai Rent A Car อยู่”
นิรัติศัย บุญจันทร์
ผู้ก่อตั้ง The Paper Tee
“ความจนคือทุนอันประเสริฐ ส่วนความอดทนคือทุนสำรองที่ดี เพราะมันเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เราดิ้นรนในการหาเงิน ครั้งหนึ่งเรารู้สึกว่าการมีแบงก์ยี่สิบหรือแบงก์ร้อยเป็นเรื่องพิเศษได้ นั่นคือทุนแรกที่เป็นเหมือนพลังงานในการขับเคลื่อนหลักจนถึงทุกวันนี้
“ที่เราเริ่มทำ The Paper Tee แบรนด์เสื้อยืด เพราะเรามองที่ปัจจัยสี่ เป็นของที่ใช้งานได้จริง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่จุดเปลี่ยนคือการ collaboration ที่สร้างแรงดึงดูด และการสนับสนุนจากลูกค้าทุกท่าน ซึ่งเรารู้สึกว่าโชคดีมากที่มีลูกค้าที่น่ารักและให้การตอบรับอย่างต่อเนื่อง ถึงเราจะบอกว่าเริ่มมาด้วยความจนและความอดทน แต่ทุนที่ทำให้เราโตขึ้นได้จริงๆ คือลูกค้าที่ยอดเยี่ยม ทุกท่านคือเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน”
ภาณุศักดิ์ ซื่อสัตย์บุญ
ผู้จัดการทั่วไป The Pizza Company
“เราอยู่ใน people business ที่ส่งมอบความสุขผ่านอาหารและการบริการที่ยอดเยี่ยม ที่ The Pizza Company บุคลากรและทีมเวิร์กเป็นทุนที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจ”
ดร.อัญชลิน พรรณนิภา
ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“เริ่มต้นผมคิดว่าทุนที่สำคัญที่สุดคือมายด์เซต ถ้าจะย้อนหลังไป TQM ปีนี้เราย่างเข้าปีที่ 69 เจเนอเรชั่นที่ 3 ผมเกิดมาก็อยู่ในธุรกิจของตระกูลคนขายประกัน เป็นนายหน้าขายประกันแห่งแรกๆ ด้วยซ้ำ แต่ผมกลับไม่ได้ชอบเรื่องของธุรกิจประกันเลย เพราะว่าทัศนคติตอนเป็นเด็กหรือแม้กระทั่งโตขึ้นเป็นวัยรุ่นผมมีความรู้สึกว่าคนขายประกันเป็นอาชีพที่มันไม่น่าภูมิใจ มันเป็นมายด์เซตที่มีความรู้สึกว่า เราไปขายประกันเหมือนต้องไปขอร้องไปตื๊อเขา ตอนแรกก็ทำแบบเสียไม่ได้ เพราะเป็นลูกชายคนเดียว แต่พอมาลงมือทำ ศึกษาจริงจัง ก็พบว่ามันเป็นธุรกิจที่ดี มันไม่ใช่เป็นการไปตื๊อ แต่เป็นการเอาความรู้ เรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยง ให้เหมาะกับผู้คน ให้เหมาะกับลูกค้า ซึ่งลูกค้าแต่ละคนก็มีความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน เราเลยพบว่า จริงๆ เราอยู่ในธุรกิจที่ดี พอผมเปลี่ยนมายด์เซตก็ทุ่มเทกับมัน พอทุ่มเทกับมันธุรกิจก็เจริญเติบโตมาด้วยดี ฉะนั้นสำหรับผมมายด์เซตเป็นตัวเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด เหมือนกระดุมเม็ดแรก
“แล้วทุนอีกอันที่ทำให้ยืนหยัดธุรกิจได้จนถึงวันนี้คือการปรับตัว ผมชอบโควตของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่ได้บนโลกใบนี้ มันไม่ใช่ใครที่แข็งแรงที่สุด แต่ต้อง adapt to change ปรับตัวได้ตลอดเวลา ประโยคนี้หลายร้อยปีแล้วแต่ผมว่าก็ยังใช้ได้จนทุกวันนี้ เราเองก็ต้อง adapt to change ตลอดเวลา ทั้งเรื่องวิธีการต่างๆ เรื่อง know-how เราไม่สามารถเป็นน้ำเต็มแก้วหรือพอใจอยู่ในคอมฟอร์ตโซนได้
“ถัดมา หัวใจสำคัญอีกอย่างสำหรับผมคือมนุษย์ หรือ human capital มีปรัชญาของญี่ปุ่นเรียกว่าริเน็นที่ฝังรากลึกอยู่ในองค์กร ในการทำธุรกิจ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริษัท องค์กร หรือร้านค้าที่อายุเกินหนึ่งร้อยปีเยอะที่สุดในโลก คนก็ไปถอดรหัสว่าเพราะอะไร เขาบอกว่าสิ่งสำคัญเลยคือริเน็นที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน สร้างให้พนักงานเป็นคนเก่งเป็นคนดี ถ้าเป็นปรัชญาตะวันตกเขาให้ความสำคัญที่ลูกค้า customer is king ที่เราเคยได้ยิน โฟกัสไปที่ลูกค้า ซึ่งไม่ผิด แต่ญี่ปุ่นกลับมองอีกทางหนึ่งว่า ถ้าพนักงานของคุณเป็นคนเก่งและเป็นคนดีด้วย พนักงานก็จะส่งมอบบริการและทุ่มเทให้กับองค์กร ลูกค้าก็จะเข้ามาหาองค์กรหรือมาใช้บริการเอง อันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ และเมื่อองค์กรใหญ่มีคนเก่งๆ เยอะๆ มีคนหลายเจนฯ เรื่องทีมเวิร์กก็สำคัญมาก การเบลนด์คนแต่ละเจนฯ เข้าด้วยกันโดยมีความเป็นหนึ่งเดียว เห็นทิศทางหรือเป้าหมายก็ไปในทางเดียวกัน
“สุดท้ายทุนอีกตัวหนึ่งคือ ความใส่ใจ อันนี้สำคัญมากๆ ญี่ปุ่นมีคำนึงเรียกว่า Omotenashi มันเหมือนกับการใส่ใจการให้บริการแบบหยั่งรากลึก เหนือความคาดหมาย ตั้งแต่การผลิตสินค้าหรือการให้บริการ เขาใส่หัวจิตหัวใจเข้าไปในงานที่ทำ”
อริยะ พนมยงค์
CEO & Founder, Transformational Co.,Ltd
“ทุนที่สำคัญของผมคือ Be a learner. Be a leader. Be a builder.
“Be a learner, คติประจำใจในการเรียนรู้ชีวิตของผมคือ ‘เข้าใจว่าเราทำไม่ได้ ไม่ถนัด’ ตอนผมกลับมาประเทศไทยครั้งแรกในปี 2544 ผมไม่รู้จักใครในไทย ไม่เคยเรียนหรือทำงานในไทย ทัศนคตินี้ช่วยให้ผมได้เจอพี่ๆ และคนที่เต็มใจช่วยผม โค้ชผม สอนผม ในโลกของเทคโนโลยีมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันและตลอดเวลา ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด เราต้องเรียนรู้
“Be a leader, คนคือผู้สร้างปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้น ผมลงทุนกับคน ผมสร้างทีมที่ไม่ต้องการผมอีกต่อไป ผมไม่มี Ego ทีมของผมประสบความสำเร็จ ผมก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน
“Be a builder, ไม่ว่าผมจะทำอะไร ผมต้องการสร้างสิ่งที่จะส่งผลดีต่อผู้ใช้และคนจำนวนมาก ผมไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งเดิมสิ่งเดียว เหมือนกันในทุกๆ วัน ผมชอบสร้างบริการใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ที่จะส่งผลดีต่อชีวิตของผู้ใช้และคนจำนวนมาก และผมเชื่อในการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ ผู้บริหารที่ผมทำงานด้วย หรือทำงานให้ ผมจะทำให้ดีที่สุดเพื่อหากลยุทธ์ แนวคิด นวัตกรรม ธุรกิจที่จะช่วยพวกเขาและธุรกิจของพวกเขา เพราะถ้าพวกเขาชนะ ผมก็ชนะเช่นกัน”
วิทิต จันทามฤต
เจ้าของร้านหนังสือ Vacilando Bookshop
“ทุนที่สำคัญของเราคือ ประสบการณ์ สำหรับเราเงินไม่ใช่ทุนตั้งต้นธุรกิจเลย เราเริ่มจากขายหนังสือมือสองอาจจะใช้เงินทุนแค่หลักพัน แต่ใช้ประสบการณ์ต่อยอดร้านหนังสือ ซึ่งสั่งสมมาจากความรู้ที่มี ความชอบ คอนเนกชั่น และโชคชะตา
“ทั้งหมดนี้มันไม่ได้มาง่ายๆ ยกตัวอย่างเรื่องโชคชะตา หนังสือบางเล่มเราเจอจากการเดินทางไปต่างจังหวัด ความรู้และประสบการณ์ที่มีทำให้เรารู้ว่าควรเลือกเล่มนั้นกลับมาเพราะอะไร มันจะเหมาะกับใคร ทำไมเราไม่ควรพลาด ซึ่งมันก็ตามมาด้วยความเสี่ยงนะ เพราะเราก็ยังไม่รู้ว่าจะขายได้ไหม แต่เรารู้สึกอยากลองเสี่ยงดู
“นอกจากนี้ประสบการณ์ยังทำให้เรารู้ช่องทางการเข้าถึงหนังสือใหม่ๆ รู้ว่าจะเชื่อมต่อหนังสือเล่มนั้นไปสู่คนอ่านอย่างไร และการทำร้านหนังสือของเราแม้จะขายผ่านช่องทางโซเชียลเป็นหลัก ก็ทำให้เราเห็นว่าหนังสือเองก็สร้างประสบการณ์ร่วม สร้างบทสนทนา เมื่อเทียบกับหน้าร้านที่วางหนังสือตั้งไว้เฉยๆ การขายออนไลน์นำพากลุ่มคนที่สนใจและอาจจะสนใจในเรื่องนั้นมาเจอกันได้ง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดหลายๆ อย่าง”
ต่อพงศ์ จันทบุบผา
นักดนตรี, ผู้บริหารค่ายเพลง What The Duck
“ทุนที่สำคัญของธุรกิจเพลง ในความเห็นส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับสองเรื่องหลักๆ
“หนึ่ง ศิลปินและผลงานของเขา ทั้งในแบบที่จับต้องได้และไม่ได้ รวมถึงธรรมชาติของตัวศิลปิน ในการนำเสนอผลงานต่อแฟนเพลง (artist & passion)
“สอง ทีมงาน เป็นการผสมผสานทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากรในแต่ละหน้าที่ ผ่านความหลากหลายของคนแต่ละรุ่น ออกมาเป็นแผนงานและกลยุทธ์ในการผลักดันให้ผลงานของศิลปินเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ (teams = values)”
กล้า ตั้งสุวรรณ
CEO, Wisesight
“ทุนที่สำคัญของ Wisesight และในทุกๆ ธุรกิจมีเหมือนกันคือ ข้อมูล (data) ธุรกิจไหนที่มีข้อมูลมากกว่าย่อมมีโอกาสวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อ วางกลยุทธ์ได้แม่นยำ และได้เปรียบในการแข่งขันได้มากกว่า
“ในอดีตเรายังมีข้อมูลไม่มาก ผู้บริหารอาศัยการจดจำ สะสมจนกลายเป็นประสบการณ์ แล้วละเลยการให้ความสำคัญในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
“ในปัจจุบัน ข้อมูลต่างๆ มีปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่บนโซเชียลมีเดีย ด้วยปริมาณที่เกินความสามารถของมนุษย์ที่จะจดจำและจัดการได้ การใช้เทคโนโลยีมาประมวลผลข้อมูลมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกๆ ด้าน”
กรินทร์ พิศลยบุตร
Creative Director และผู้ก่อตั้ง Yarnnakarn
“ทุนที่ทำให้ธุรกิจเราอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ อาจจะเป็นเรื่องความไม่มั่นใจในตัวเองและความกลัวของเรา เราไม่ได้รอบรู้ไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ ส่วนใหญ่เราจะหาข้อมูลจากประสบการณ์จริงของคนที่เคยผ่านมาก่อน หรือหาตัวช่วยให้งานออกมาได้อย่างที่เราตั้งใจเอาไว้
“เวลาที่เราทำงานกับใคร เราจะพยายามเข้าใจความถนัดของแต่ละคน จากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ศึกษาจุดแข็งของกันและกัน เราจะได้อะไรจากเขา แล้วเขาจะได้อะไรจากเรา และอะไรที่เสริมเติมกันได้ แล้วนำสิ่งนั้นมารวมกับสิ่งที่เราเชื่อ นั่นทำให้เราเปิดรับสิ่งรอบตัว ไม่ปฏิเสธโอกาส รับฟังคำติชม แม้จะไม่ได้เชื่อในเรื่องเดียวกันทุกเรื่อง แต่จะเอามาวิเคราะห์แล้วปรับให้เหมาะกับธรรมชาติของเรา
“โดยรวมๆ ก็อยากให้ทั้งทีมงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า เดินไปด้วยกันโดยหาจุดร่วมที่ทุกคนจะไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย”
สมเดช เหลืองทวีบุญ
ผู้ก่อตั้ง Yellow Stuff
“ทุกความสัมพันธ์คือทุนที่สำคัญของ Yellow Stuff ตั้งแต่ครอบครัวที่ให้อิสรภาพในการตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจ และทำให้เราเชื่อในคุณค่าของการทำสิ่งที่ซื่อสัตย์และคิดถึงคนอื่น เพื่อนอย่างเต้ (วรัตต์ วิจิตรวาทการ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Roots Coffee) ที่เปิดโลกและทำให้เราสนใจเกี่ยวกับกาแฟ ไปจนถึงพี่ๆ ช่างในโรงงานที่อินสไปร์ให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อคนทำงานคราฟต์ หรือแม้แต่ทีมทุกคนในตอนนี้ที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา
“Yellow Stuff เกิดและเติบโตขึ้นมาได้ไม่ใช่จากแค่ตัวผม แต่จากทุกคนรอบตัวที่มอบประสบการณ์ชีวิตให้กับผม มันจึงเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ของเราอยากมอบอินสไปร์กลับไปให้ทุกคนรอบตัวมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่ดีและได้ทำสิ่งที่มีความสุขในทุกๆ วัน”
บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์
Creative Director, Youngfolks 1952
“ทุนที่สำคัญของธุรกิจคือ ‘ครอบครัว’ ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีเรา
“ทุกคนคือคนในครอบครัวของเรา นี่คือต้นทุนของธุรกิจที่อากง อาป๊าได้ให้พวกเราไว้ เพราะสิ่งที่เราทำคืองานคราฟต์ คราฟต์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่คราฟต์ในงานฝีมือ แต่มันคืองานคราฟต์ใจของคนให้เติบโตไปด้วยกัน เพราะงานฝีมือไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ภายในวันเดียว แต่มันคือทุกๆ วันที่เราต้องฝึกและต้องทำให้ดีกว่าเดิม วันนี้ยังทำไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องทำให้ได้ วันนี้ที่ว่าทำสวยแล้วก็ต้องทำให้สวยและประณีตกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้หัวใจของคนในครอบครัวเราแข็งแรงและเติบโตไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าขาดแรงใจแรงกายของคนใดคนหนึ่งไป งานฝีมือที่ต้องถูกส่งผ่านรุ่นสู่รุ่นก็คงจะไม่เกิดขึ้น และถ้าต่างคนต่างอยู่ต่างทำก็คงจะไม่มีพวกเราที่เป็นทายาทรุ่น 2 รุ่น 3 และงานฝีมือก็คงจะหายไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นคำว่า ‘ครอบครัว’ ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราสามพี่น้องแต่มันคือ ทุกชีวิตในโรงงาน พวกเรามีวันนี้เพราะทุกคน ไม่มีเขาก็ไม่มีเรา”
บุญยง ตันสกุล
CEO, ZEN
“ทุนในการทำธุรกิจในมุมมองผมคือ องค์กรและพนักงาน ถ้าไม่มีพนักงาน องค์กรก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมาย ไม่มีองค์กร พนักงานก็ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ
“ดังนั้นองค์กรที่ดีมีชื่อเสียง พนักงานในองค์กรที่เก่งและมีความสามารถ เปรียบเสมือนทุนที่มีความมั่นคง แข็งแรง เหมือนเสาหลักเมืองที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมือง และเป็นสัญลักษณ์อยู่คู่กับเมืองตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต”
ปาลีรัตน์ ดำรงค์กิจการ
2nd Generation, Zequenz
“สำหรับเรา ต้นทุนทางธุรกิจที่สำคัญที่สุดของแบรนด์ ZEQUENZ คือ know-how ในที่นี้คือความรู้ที่ไม่สามารถเสิร์ชหาหรือเรียนจากมหาวิทยาลัยได้แต่เป็นความรู้ที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นความรู้จากประสบการณ์ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ทักษะการทำสมุด การเข้าเล่ม การจัดเรียงกระดาษ ทุกๆ ขั้นตอนมีรายละเอียดมหาศาลซึ่งพ่อแม่คิดค้น ทดลอง ศึกษา ลองถูก ลองผิด ลองถูก ลองผิด มานับไม่ถ้วนจนเป็น ZEQUENZ แบบทุกวันนี้
“พอมาถึงเฟสของเรากับปราง (ณิชมน ดำรงค์กิจการ ทายาทรุ่นที่สองแบรนด์ ZEQUENZ) เราจึงสามารถไปเน้นการสานต่อให้ดีได้เลย เน้นพัฒนาโปรดักต์ให้ดีขึ้น เข้ากับสมัยมากขึ้น นำเทคโนโลยีบางอย่างมาใช้ และเน้นทำการตลาดในด้านที่เราถนัดอย่างโลกออนไลน์หรือเข้าสู่ E-commerce ได้เลย”