Hat Studio in the Sun
SUNEV แบรนด์หมวกไทยดีไซน์สวยที่ต่อยอดจากธุรกิจผลิตหมวกส่งออกห้างญี่ปุ่นราคาหลักหมื่น
จากธุรกิจครอบครัวที่ผลิตหมวกส่งออกให้ประเทศญี่ปุ่นกว่า 30 ปีและวางขายตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในญี่ปุ่นในราคาที่สูงถึงหลักหมื่น แบรนด์ SUNEV (ซันอีฟ) เป็นหมวกที่ต่อยอดจากการนำ know-how และศาสตร์การผลิตที่ได้จากญี่ปุ่นมาออกแบบหมวกคอลเลกชั่นใหม่สำหรับกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นและปรับราคาให้เหมาะสมกับตลาดไทยในหลักพัน
วีนัส หาญธนะสุกิจ เป็นผู้สานต่อธุรกิจของครอบครัวที่เริ่มกิจการหมวกด้วยการเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการบริหารให้ที่บ้าน ส่วน เท–Liangbo Zheng คู่รักชาวจีนของเธอเชี่ยวชาญด้านดีไซน์หมวกโดยได้เดินทางไปศึกษาศาสตร์การออกแบบที่โรงเรียนสอนทำหมวกเฉพาะทางในญี่ปุ่นและเล่าให้ฟังว่าที่ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการใส่หมวกที่ลึกซึ้งกว่าไทยมากซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหมวกที่วางขายในญี่ปุ่นถึงมีราคาสูงเฉียดหมื่น
จากธุรกิจรูปแบบ OEM ที่ดีไซน์หมวกให้ลูกค้าอยู่แล้ว ทั้งคู่ตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเองในไทยและอยากสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าทำไมหมวกที่มีคุณภาพและออกแบบอย่างใส่ใจถึงมีราคาแพง
SUNEV มาจากการผสมระหว่าง 2 คำ คือ ‘SUN’ ที่แปลว่าพระอาทิตย์ ซึ่งสื่อถึงความสดใส ส่วน ‘EVE’ คือผู้หญิง พอมารวมกัน ชื่อแบรนด์จึงสื่อถึงผู้หญิงที่สดใส เพราะวีนัสบอกว่าอยากให้ทุกคนใส่หมวกของซันอีฟแล้วรู้สึกถึงความสดใสและมีความมั่นใจมากขึ้นเพื่อให้เข้ากับความหมายของสโลแกนคือ Shining Like the Sun โดยชื่อแบรนด์ตัดตัว ‘E’ ตัวสุดท้ายออกเพื่อที่เวลาอ่านกลับหลังจะกลายเป็นคำว่า VENUS ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าของแบรนด์พอดี
ท่ามกลางหมวกหน้าตาคล้ายกันมากมายที่วางขายในตลาดและแข่งขันกันด้วยสงครามราคา วีนัสและเทบอกว่าความจริงแล้วสามารถเพิ่มมูลค่าหมวกให้สูงขึ้นได้ด้วยการออกแบบและการผลิตที่พวกเขาจะเล่าต่อไปนี้
จุดแข็งที่ทำให้คุณได้เปรียบในการเริ่มต้นธุรกิจหมวกคืออะไร
วีนัส : เริ่มจากมีโรงงานหมวกของครอบครัวที่เริ่มต้นโดยคุณแม่ชื่อ C&H Wear Trading Ltd. ซึ่งมีลูกค้าหลักเป็นห้างญี่ปุ่น เราส่งออกไปญี่ปุ่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทำเป็น OEM (original equipment manufacturer) ที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า ถ้าเข้าไปที่ห้างญี่ปุ่น เช่น ห้าง Takashimaya จะเจอมุมที่ขายร่ม ผ้าเช็ดหน้า และหมวก สินค้าหมวกที่เป็นงาน made in Thailand ตามห้างเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นของเรา นอกจากงานที่ลูกค้าสั่งทำซึ่งเราผลิตตามวัสดุของลูกค้าแล้ว เราจะเป็นกึ่งๆ ODM (original design manufacturer) ด้วย คือดีไซน์หมวกด้วยโรงงานของเราเอง ทั้งหาผ้าและวัสดุบางชนิดเอง ผลิตและขึ้นแบบดีไซน์ให้ลูกค้า เราจะออกแบบหมวกดีไซน์ใหม่ในทุกปีเพื่อทำเสนอโชว์รูม จะออกเป็นคอลเลกชั่นหน้าร้อนกับหน้าหนาวซึ่งเป็นซีซั่นที่คนญี่ปุ่นนิยมซื้อหมวก ลูกค้าญี่ปุ่นก็จะมาดูว่ามีวัตถุดิบอะไรใหม่บ้าง มีแพตเทิร์นอะไรใหม่แล้วสั่งผลิตโดยปรับเปลี่ยนเป็นสไตล์ของแบรนด์เขา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ทำมาตั้งแต่ตอนแรก
อะไรที่ทำให้ธุรกิจหมวกของครอบครัวประสบความสำเร็จในการขายส่งออกให้ห้างญี่ปุ่นมายาวนาน 30 กว่าปี
วีนัส : จุดแข็งคือคุณภาพของสินค้า เรามีเทคนิคพิเศษเฉพาะของเราที่แตกต่างกับโรงงานจีน
สินค้าส่งออกญี่ปุ่นไม่ใช่แค่ผลิตได้เฉยๆ แต่ต้องเนี้ยบ ประณีตและมีความสม่ำเสมอด้านคุณภาพ ด้วยความที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการใส่หมวกมาก หมวกที่ขายจะต้องไม่ใช่แค่สวยแต่จะต้องมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ด้วย เช่น สามารถซักได้ แอนตี้แบคทีเรีย มีความเบา ใส่สบาย เป็นต้น สินค้าทุกชิ้นต้องผ่านมาตรฐานของญี่ปุ่นเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ
มีลูกค้าญี่ปุ่นบางเจ้าที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เปิดโรงงานเป็นระยะเวลา 20-30 ปี คือไม่ใช่ทุกบริษัทจะทำส่งออกญี่ปุ่นได้ เพราะมีโรงงานเยอะแยะมากมาย ลูกค้าจะไปสั่งผลิตกับเจ้าไหนก็ได้ สิ่งสำคัญคือทำยังไงเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าไว้ให้ได้นานที่สุด ทำยังไงลูกค้าถึงยังอยากอยู่กับเรา ดังนั้นเราต้องซื่อสัตย์และรักษาคุณภาพของสินค้า เน้นแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้า ไม่เน้นผลิตจำนวนเยอะในราคาถูกและแข่งสงครามราคา ทำให้สามารถรักษามาตรฐานคุณภาพของสินค้ามาอย่างยาวนาน
คุณมองเห็นโอกาสอะไรในการแตกแบรนด์ใหม่ในไทย
วีนัส : C&H Wear จะมีฐานลูกค้าเป็นคนญี่ปุ่นวัยกลางคนอายุ 40-60 ปี เราอยากขยายกลุ่มลูกค้าไปยังกลุ่มคนอายุ 20-30 จึงนำวัสดุบางอย่างที่เราใช้ผลิตหมวกส่งออกญี่ปุ่นอยู่แล้วมาต่อยอดและปรับดีไซน์ให้ทันสมัยขึ้นสำหรับวัยรุ่นในชื่อแบรนด์ SUNEV จากการรีเสิร์ชตลาดในไทย พบว่าหมวกส่วนใหญ่จะมีแค่หมวกแก็ป หมวกบักเก็ต ที่เป็นแบบเรียบๆ วัสดุส่วนใหญ่เป็นผ้าแคนวาส ผ้ายีนส์ ที่เป็นแบบเบสิกจริงๆ เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการลองทำแบรนด์ที่แตกต่างจากหมวกในตลาดที่มีอยู่
ตลาดหมวกที่ญี่ปุ่นและไทยแตกต่างกันยังไง
เท : ตอนแรกเราคิดว่า ในเมื่อประเทศไทยร้อนก็น่าจะมีคนใส่หมวกกันเยอะ แต่พอได้เริ่มทำแบรนด์จริงๆ กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะถึงเมืองไทยจะร้อนก็จริง แต่คนไม่ได้ชอบออกมาเดินข้างนอกทำให้ใส่หมวกน้อย แตกต่างกับคนญี่ปุ่นที่มีไลฟ์สไตล์ชอบเดินเยอะอยู่แล้วทำให้หมวกเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน
คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการใส่หมวกที่ลึกซึ้งกว่าคนไทยมาก ทั้งเรื่องของฟังก์ชั่นหมวกที่ไม่ได้เป็นแค่หมวกเพื่อใส่เท่านั้น แต่ต้องมีกิมมิกด้านแฟชั่นหรือฟังก์ชั่นเพิ่มเติมด้วย ราคาของหมวกในห้างญี่ปุ่นเริ่มต้นก็ประมาณ 6,000-10,000 ครับ
ถ้าตลาดหมวกที่ญี่ปุ่นมีความพรีเมียมและขนาดตลาดใหญ่กว่าไทยมาก ทำไมเลือกทำแบรนด์ซันอีฟโดยเจาะตลาดวัยรุ่นในไทย
เท : วัยรุ่นญี่ปุ่นจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีกำลังซื้อมากนัก คนที่มีกำลังใช้จ่ายสูงส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคนขึ้นไป เพราะเป็นสังคมที่พึ่งตนเองเป็นหลัก วัยเริ่มต้นทำงานจะต้องเลี้ยงดูตัวเองซึ่งต่างกับกลุ่มวัยรุ่นไทยที่ยังมีครอบครัวคอยซัพพอร์ต ทำให้มองว่าสำหรับตลาดหมวกวัยรุ่นเหมาะจะเริ่มต้นที่ไทยมากกว่า
วีนัส : แต่สำหรับแบรนด์ซันอีฟ เราก็พยายามดีลกับลูกค้าญี่ปุ่นอยู่ว่าอยากลองไปเปิดตลาดญี่ปุ่นดูด้วยว่ามันพอจะเป็นไปได้ไหม ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองอยู่ค่ะ
ในการพัฒนาดีไซน์หมวกให้มีความวัยรุ่นขึ้น คุณศึกษาศาสตร์การออกแบบหมวกมาจากไหน
เท : เรียนออกแบบหมวกที่โรงเรียนสอนทำหมวกที่ญี่ปุ่นซึ่งน่าจะเป็นเจ้าเดียวในโลกที่เป็นการสอนเรื่องหมวกโดยเฉพาะ เนื้อหาก็จะสอนตั้งแต่การหาฐานลูกค้า การหาวัตถุดิบ การทำแพตเทิร์นหมวก เรียนทำหมวกตั้งแต่ต้นจนจบว่าหมวกหนึ่งใบจะต้องออกแบบยังไงบ้าง เดี๋ยวนี้การทำแพตเทิร์นส่วนใหญ่จะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ทำอย่างเสื้อผ้าที่ขึ้นแบบเป็นแพตเทิร์นขนาดใหญ่และตรง สำหรับแพตเทิร์นการทำหมวกที่เป็นทรงกึ่ง 3D จะมีความยากกว่า เราต้องเรียนทำมือร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงเย็บเองด้วย ก่อนที่เราจะมีโอกาสได้ไปเรียนด้วยตัวเอง เราคิดว่าหมวกเป็นทรงเรียบง่ายที่น่าจะออกแบบง่าย แต่พอได้เรียนจริงๆ ถึงได้เห็นว่ามันมีรายละเอียดอยู่ในนั้น ทั้งเรื่องของทรงหมวกแบบไหนที่จะเข้ากับทรงหัวแบบไหน หมวกก็มีหลายทรงทั้งทรงโครเชต์ ปีกกว้าง นากาโอริ มิกกี้แฮต โลว์แค็ป ฯลฯ รวมถึงต้องคำนึงถึง curve และแพตเทิร์น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำหมวกให้สวยด้วย
หมวกพรีเมียมคุณภาพส่งออกแตกต่างจากหมวกราคาถูกที่เห็นทั่วไปในท้องตลาดยังไง
เท : ถ้าคนที่ไม่รู้แล้วมองหมวกจากแค่ภายนอกจะรู้สึกว่าหมวกราคาแพงกับถูกเหมือนกัน แต่ที่จริงมันแตกต่างกันด้วยน้ำหนัก ความละเอียด และวัสดุ วัสดุที่เราใช้นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดซึ่งแทบไม่มีแบรนด์ไหนในไทยทำและเป็นมาตรฐานเดียวกับสินค้าที่ส่งออกญี่ปุ่น เราใช้วัสดุที่มีคุณภาพสอดคล้องกับราคาขาย เพราะหมวกในตลาดที่เราเจอบางใบ เราจะเห็นว่าราคาแพงมากแต่พอพลิกดูวัสดุแล้วกลับไม่สอดคล้องกับราคา
ถ้าเป็นวัสดุจากจีนที่ใช้ทำหมวกซึ่งขายกันในราคาใบละ 200-300 บาท จะเป็นวัตถุดิบเลียนแบบ ทำให้บางทีลูกค้าไม่เข้าใจว่าทำไมหมวกของเราถึงราคาหลักพัน เราก็ต้องพยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจในความแตกต่างของวัสดุแล้วก็คุณภาพ ทำหมวกที่อยากให้ลูกค้าสัมผัสแล้วรู้ได้เลยว่า คุณภาพวัสดุของหมวกเราแตกต่างกับของเจ้าอื่น ไม่เหมือนกับหมวกจากจีนที่ใช้ผ้าบาง อยากให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินแล้วได้รับความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้า
วัสดุพิเศษที่ทำให้หมวกของคุณแตกต่างจากที่อื่นมีอะไรบ้าง
เท : ที่ญี่ปุ่นจะมีกระดาษวาชิ (Washi) ซึ่งเป็นกระดาษที่ดังมาก นิยมเอามาใช้ผลิตเสื้อผ้า ถุงเท้า เพราะมีความเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบกัน พอมีวัสดุเลียนแบบจากจีน มันก็จะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะน้ำหนักจะไม่เบาเหมือนกระดาษวาชิ คนญี่ปุ่นจะไม่ชอบใส่หมวกหนักเลย ตลาดญี่ปุ่นน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำหนักหมวกและความพอดีกับทรงหัว คือใส่ออกมาแล้วต้องรู้สึกเบาสบาย
หมวกของเราจะเน้นใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นงาน natural fiber ซึ่งสามารถซักมือได้ ถ้าเป็นงานผ้าก็จะใช้ผ้าลินินเป็นวัตถุดิบหลัก ถ้าเป็นงานสานก็จะเป็นกระดาษวาชิทั้งหมด บางชิ้นจะผสมหญ้าลาเฟียซึ่งเป็นหญ้าจากมาดากัสการ์ เรียกว่า straw hat มีการนำต้นข้าวมาถักเปียออกมาเป็นงานแฮนด์เมด ซึ่งกระบวนการถักตรงนี้จะใช้เวลานานมาก เขาจะขายมาเป็นมัดซึ่งแค่มัดเดียวก็ราคาหลักพันบาท ถ้ายิ่งเส้นเล็กก็จะใช้เวลาถักนานและยิ่งแพง วัสดุถักจะมีหลายเกรด แต่ละเกรดจะมีความถี่ ความห่าง และความละเอียดแตกต่างกัน
การออกหมวกคอลเลกชั่นใหม่ในไทยแตกต่างกับในญี่ปุ่นยังไง
วีนัส : ตลาดญี่ปุ่นจะออกคอลเลกชั่นเป็นสองซีซั่นคือหน้าร้อนและหน้าหนาวเพราะอากาศของที่นั่นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละฤดู หน้าร้อนก็จะเป็น Spring/Summer หน้าหนาวก็จะเป็น Autumn/Winter เช่นหมวกจากวัสดุขนที่ใส่กันหนาวได้ แต่ของแบรนด์ซันอีฟเราจะไม่ได้อิงกับฤดู แต่จะมีคอลเลกชั่นพิเศษที่อิงกับซีซั่นบ้าง เช่น มีรุ่นที่เอาวัตถุดิบสำหรับใส่หน้าหนาวอย่างขนอัลปาก้ากับขนแกะมาผสมกัน
คุณอยากให้คนไทยใส่หมวกในโอกาสไหนบ้าง
เท : คนไทยมักจะมองว่าใส่หมวกแล้วต้องไปเที่ยวหรือไปทะเลซึ่งเราไม่อยากให้มองแค่นั้น เราเลยพัฒนาสินค้าให้มีคอลเลกชั่นที่ใส่ใน everyday look ได้ เผื่อวันนี้ผมยุ่ง ไม่อยากสระผมก็ยังสามารถเอาหมวกของเรามาปรับใส่กับลุคในวันนั้นได้ เราอยากให้สามารถใส่หมวกได้ไม่ใช่แค่ตอนรู้สึกร้อน แต่อยากให้หมวกเป็นสิ่งที่เสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง อย่างในยุโรปกลุ่มชนชั้นสูงก็ใส่หมวกเพื่อเสริมบุคลิกเหมือนกัน
วีนัส : เราเลยพยายามทำสินค้าที่ไม่ใช่แค่หมวกด้วย อยากให้แบรนด์ของเราเป็น hair accessories ที่ลูกค้าสามารถหยิบเอามาใส่ได้ในทุกวัน เลยมีสินค้าอย่างอื่น เช่น ที่คาดผม ให้สามารถใส่ไปเดินห้างได้ ใส่เป็นพร็อพได้
นอกจากการสวมหมวกเป็นแฟชั่นไอเทมแล้ว หมวกแบรนด์คุณเป็นฟังก์ชั่นไอเทมยังไงบ้าง
วีนัส : สำหรับแบรนด์ของเรา ฟังก์ชั่นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับหนึ่งเลยคือต้องใส่สบาย ต้องมีน้ำหนักเบา สามารถซักมือได้ บางไอเทมเราทำให้สามารถถอดสายได้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับการสวมใส่ให้เข้ากับลุคของตัวเองได้
เท : เรื่องของการใส่สบาย เราทำให้ทุกแบบสามารถปรับไซส์ได้ทั้งหมดเพื่อให้กระชับกับทรงหัวของลูกค้า สำหรับบางรุ่นจะใช้ผ้าที่มีคุณสมบัติ UV Cut 99.99% หรือตัดแสงยูวีได้จริงๆ เวลาใส่กันแดด
วีนัส : อย่างในคอลเลกชั่นหน้าของเรา จะนำผ้าซับในที่มีคุณสมบัติแอนตี้แบคทีเรียมาใช้ เพราะเราได้ประสบการณ์ว่า พอใส่หมวกไปนานๆ แล้วเหงื่อออกทำให้อาจเกิดกลิ่นอับและแบคทีเรียหมักหมม ซึ่งผ้านี้จะป้องกันแบคทีเรียแล้วก็ช่วยไม่ให้เกิดกลิ่นอับได้
เท : สิ่งที่เรากำลังพัฒนาต่อจากนี้คือการใช้วัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่ายซึ่งจะเหมาะกับผู้หญิง เช่น เวลาผู้หญิงแต่งหน้าแล้วหมวกเลอะเครื่องสำอาง ก็สามารถใช้มือตบคราบสกปรกออกได้เลย เราทำหมวกที่ไม่ใช่แค่กันแดดได้แต่จะต้องมีฟังก์ชั่นมากกว่านั้นและอยู่ในราคาที่ลูกค้าจับต้องได้
มีความท้าทายยังไงในการสร้างแบรนด์หมวกพรีเมียมในตลาดไทยที่ลูกค้าไม่คุ้นเคยกับหมวกราคาสูงเหมือนในญี่ปุ่น
วีนัส : ต้องบอกว่าเป็นความท้าทายมากๆ เพราะว่าแต่เดิมตลาดหมวกที่ไทยไม่ได้มีราคาแพง เป็นหมวกธรรมดา เช่น หมวกแก็ป หมวกบักเก็ต ดังนั้นเมื่อเราเข้ามาแล้วก็อยากจะนำเสนอสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า ที่มีดีไซน์และคุณภาพมากขึ้น พยายามสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าคุณภาพสอดคล้องกับราคาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ตั้งราคาสูงเพื่อขายแล้วจบ แล้วพอลูกค้าเข้าใจก็จะมีฐานลูกค้าตามมาเอง เพราะก็มีลูกค้าหลายคนเหมือนกันที่เป็นแฟนคลับ ซื้อไปใส่แล้วหลายรอบ แล้วก็กลับมาซื้อหมวกของเราอีกหลายครั้ง
เท : ส่วนหนึ่งเพราะเราเป็นโรงงานที่ผลิตเองด้วย เราเลยทำราคาให้ลูกค้าคนไทยจับต้องได้ในหลักพัน เพราะถ้าหมวกคุณภาพระดับนี้ไปอยู่ในตลาดญี่ปุ่น ราคาจะโดดไปถึงประมาณหนึ่งหมื่นเลย
คุณเลือกช่องทางการขายยังไงให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า
วีนัส : เราขายที่ร้านมัลติแบรนด์ตามห้างสรรพสินค้าอย่าง The Selected ไอคอนสยาม, The Wonder Room สยามเซ็นเตอร์, Another Story เอ็มควอเทียร์ และช่องทางออนไลน์ โดยเราเลือกมัลติแบรนด์ที่อยู่ในห้างใหญ่ เพื่อให้สามารถโปรโมตแบรนด์ได้เยอะและมีฐานลูกค้าที่ไม่ใช่แค่คนไทย ต้องมีชาวต่างชาติด้วยเพราะอยากให้ชาวต่างชาติเห็นสินค้าแล้วรู้สึกว่าสินค้าของเราแตกต่างและมีขายแค่ที่นี่เท่านั้น ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะชอบซื้อที่หน้าร้านเพราะได้ลองหมวกว่าเหมาะกับตัวเองไหม ถ้าขายเฉพาะช่องทางออนไลน์ลูกค้าอาจจินตนาการตอนสวมหมวกจากแค่ภาพที่นางแบบใส่ไม่ได้
การขายสินค้าในห้างไทยกับห้างญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันยังไง
วีนัส : ค่อนข้างแตกต่างมากค่ะ ด้วยความที่ญี่ปุ่นใส่หมวกเป็นวัฒนธรรมดังนั้นพนักงานขายที่ญี่ปุ่นก็จะมีความรู้เกี่ยวกับหมวกที่สามารถแนะนำลูกค้าได้เยอะกว่า เช่น การจับหมวก พนักงานจะไม่จับที่หัวหมวกแต่จะจับที่บริเวณปีกหมวกเพราะจะทำให้หมวกเสียทรงได้ พนักงานที่ญี่ปุ่นจะได้รับการเทรนมาให้สามารถอธิบายถึงจุดเด่นของสินค้าทั้งวิธีการใช้หมวกที่ถูกต้อง ฟังก์ชั่นต่างๆ ของหมวก การทำความสะอาด การใส่หมวกที่ถูกวิธีไปจนถึงวิธีการเก็บรักษาหมวก รวมทั้งสามารถแนะนำหมวกที่เหมาะกับทรงหัวของลูกค้าเพื่อให้เจอหมวกที่ใช่สำหรับเขา ก็จะแตกต่างกับในไทย อย่างแบรนด์ของเราตอนนี้ที่ยังไม่ได้เป็นร้านใหญ่ ยังอยู่ในมัลติแบรนด์ก็อาจจะยังไม่ได้มีพนักงานของตัวเองที่ได้รับการเทรนมา แต่ในอนาคตเราก็มีแผนที่จะเปิดร้านของตัวเองที่มีการเทรนพนักงานเพื่อส่งต่อข้อมูลให้ลูกค้าได้รู้ว่าจริงๆ ว่าการใส่หมวกที่ถูกต้องเป็นแบบไหน
เท : การขายหมวกในห้างญี่ปุ่นก็จะมีการคุมมาตรฐานเข้มงวดกว่า ต้องมี label เหมือนป้ายเสื้อผ้าที่ระบุว่าแบบไหนซักได้หรือไม่ได้ ใช้วัสดุอะไร ซักแบบไหน ซักมือหรือซักเครื่อง ทุกอย่างต้องผ่านการเทสต์หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างในไทย สินค้าบางอย่างจะระบุแค่ว่าสินค้านี้คืออะไร ไว้สำหรับทำอะไร แต่ของญี่ปุ่นจะเป็นกฎหมายเลยว่าต้องทำการเทสต์และต้องคงสแตนดาร์ดของเขา
นอกจากแบรนด์ซันอีฟที่ทำหมวกสำหรับผู้หญิงแล้ว คุณมองว่ามีโอกาสอะไรอีกในตลาดหมวกที่อยากทำ
เท : ความจริงเรามีทำหมวกสตรีทแฟชั่นด้วย ชื่อแบรนด์โยชินามิ ที่เน้นกลุ่มยูนิเซ็กซ์ อย่างหมวกแก็ปหรือบักเก็ต เราก็จะใส่รายละเอียดให้แตกต่างจากหมวกที่มีอยู่ในตลาด เช่น การเดินเส้น ใส่ซับใน มีดีเทลประดับด้วยดิ้นให้ดูแตกต่างจากหมวกแก็ปและบักเก็ตทั่วไป อนาคตอยากทำหมวกไฮเอนด์อีกแบรนด์หนึ่งสำหรับผู้ชายที่โตขึ้นหน่อย ให้เป็นหมวกที่สามารถใส่กับสูทได้ เช่น พวกปานามาแฮต เจาะกลุ่มลูกค้าอายุ 30-40 ปี
คุณได้เรียนรู้อะไรในการทำงานกับชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกัน
วีนัส : สำหรับการทำงานกับญี่ปุ่น เรามีกุนซือที่คอยให้คำแนะนำคือคุณแม่ ทำให้เราพอรู้แล้วว่าตลาดญี่ปุ่นและลูกค้าญี่ปุ่นเป็นแบบไหน อะไรทำได้ไม่ได้ ความซื่อสัตย์คือที่หนึ่งของญี่ปุ่น ห้ามโกหกลูกค้าเด็ดขาด เพราะถ้าลูกค้าญี่ปุ่นเสียความเชื่อมั่นแล้ว จะเสียแล้วเสียเลยและสร้างความเชื่อใจกลับมายาก ต้องบอกตรงๆ ได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ ไม่พยายามหมกเม็ด นี่คือการทำงานกับคนญี่ปุ่น ถ้าคนญี่ปุ่นไว้ใจเราแล้วก็จะทำงานกับเรายาวๆ เป็นสายสัมพันธ์ที่ยาวนานจริงๆ ถึงทำให้เรามีทุกวันนี้ได้ อย่างช่วงโควิด-19 ที่ถึงมันจะหนักขนาดไหน แต่พอหมดผ่านไปแล้วลูกค้าก็กลับมา
สำหรับการทำงานกับคนรักซึ่งเป็นคนจีน ช่วงแรกเราจะทะเลาะกันบ่อยมาก เพราะต่างคนต่างมีความคิดของตัวเอง คิดว่าไอเดียของตัวเองดีแล้ว ความคิดก็ชนกันแล้วก็ทะเลาะกัน แต่สุดท้ายพอมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคืออยากทำให้บริษัทโตขึ้นก็มานั่งปรับความเข้าใจกัน ก็โชคดีที่ว่าพื้นฐานเราเป็นครอบครัวคนจีนเหมือนกัน ก็ยังมีความใกล้เคียงกันและปรับกันง่าย
ในการต่อยอดธุรกิจครอบครัวและทำงานกับคนรัก คุณมีเคล็ดลับบริหารความสัมพันธ์ยังไงให้ราบรื่น
วีนัส : สิ่งที่สำคัญมากคือต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้องมีการแบ่งหน้าที่และให้ power ซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเก่งกว่าใคร เคารพการตัดสินใจของกันและกัน ถ้าในมุมของวีนัสที่เติบโตมา 30 ปีพร้อมๆ กับบริษัท ได้เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าบริษัทเป็นยังไง ซึ่งพอมาทำต่อจริงๆ เราได้เรียนรู้ว่า เราจะคิดว่าเราเป็นลูกเจ้าของธุรกิจไม่ได้เพราะการทำงานในแต่ละขั้นตอน มีคนที่เก่งกว่าและทำมามากกว่าเรา เราต้องรับฟังเขาแล้วเอามาปรับจูนกันเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
อย่างเช่นในช่วงแรกเราก็ทะเลาะกับคุณแม่บ้างเพราะด้วยความเป็นครอบครัวเดียวกัน ความเกรงใจก็จะน้อยกว่า แต่เมื่อผ่านการทำงานมาแล้ว ก็ต้องปรับมุมมองการทำงานว่า จริงๆ มันคือเจ้านายกับลูกน้อง แม่เป็นเจ้าของธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมากกว่าเรา เชี่ยวชาญกว่าเรา เราต้องเคารพทุกการตัดสินใจและการบริหารของเขา ความเป็นครอบครัวยังมีอยู่เหมือนเดิมเมื่อตอนเรากลับบ้าน แต่ถ้าอยู่ในที่ทำงานเราต้องให้ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในบทบาทการทำงานด้วย
What I’ve Learned
1. Diversification พัฒนาสินค้าใหม่ในตลาดใหม่โดยใช้จุดแข็งเดิมของโรงงานหมวกที่โดดเด่นอยู่แล้วในด้านการผลิต
2. Focus on Quality, Not War Price เน้นคุณภาพทำให้ไม่ต้องกระโดดไปแข่งในสงครามราคา
3. Know-How from the Best Sources อิงความรู้และมาตรฐานจากประเทศที่เป็นสุดยอดของสินค้าหมวดนั้น