ร้านขายของ Chum

Chumchum Grocery ร้านชำที่ชุบชีวิตของสะสมการ์ตูนยุค 90s ให้มีคุณค่าและมูลค่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คุณก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการ์ตูนวัยเด็กอย่างดิสนีย์และการ์ตูนเน็ตเวิร์กใช่หรือไม่

Chumchum Grocery เป็นร้านชำที่รวมของสะสมอย่างนาฬิกา โปสเตอร์ ฟิกเกอร์ และแผ่นเสียง มีทั้งการ์ตูนคลาสสิกอย่าง Mickey Mouse, Cinderella, Beauty and the Beast, Lady and the Tramp, Snow White and the Seven Dwarfs, Winnie the Pooh, The Flintstones, The Simpsons, Garfield and Friends ฯลฯ มีโปสเตอร์การ์ตูนหายากอย่าง Barbapapa, ตุ๊กตาคาแร็กเตอร์เก่าอย่าง Mr.Friendly ไปจนถึงของสะสมการ์ตูนรุ่นใหม่อย่าง Mr.Men Little Miss 

จากวันที่เริ่มสะสมฟิกเกอร์และของเล่นต่างๆในวัยเด็ก เอม–เอมนิกา ยิ้มอำพัน ยังคงสะสมของเล่นยุค 90s ต่อเนื่องมาจนตอนโต ตามหาคอลเลกชั่นลิมิเต็ดของดิสนีย์จากต่างประเทศอย่างนาฬิกาควอตซ์ที่มีลูกเล่นแสนพิเศษ นำโปสเตอร์การ์ตูนยุคเก่ามาชุบชีวิตให้มีชีวิตชีวาอีกครั้งและพรีเซนต์ความน่าสนใจของคาแร็กเตอร์การ์ตูนในแบบของตัวเอง 

ในโอกาสที่ได้เปิดบ้านของฉ่ำฉ่ำครั้งนี้ เราจึงชวนเอมคุยถึงการสร้างแบรนด์ร้านของสะสมจากการขายออนไลน์จนเติบโตมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เป็นพาร์ตเนอร์กับเพื่อนจนมาดูแลร้านเต็มตัวคนเดียว ความเสี่ยงในการลงทุนซื้อของหายากไปจนถึงกำไรที่ได้จากการสร้างพื้นที่ในฝันของตัวเองที่ล้อมรอบด้วยการ์ตูนที่ชื่นชอบ

เสน่ห์นาฬิกาลิมิเต็ดของดิสนีย์   

ก่อนเปิดหน้าร้านที่ซอยปรีดีพนมยงค์ 31 เอมขายของออนไลน์ในนาม Chumchum มาก่อนหน้านั้นเป็นระยะเวลาราวสองปีกว่า เริ่มจากขายของสะสมหลากหลายประเภทตั้งแต่เสื้อผ้ามือสอง รองเท้า นาฬิกาวินเทจ 

ด้วยความชื่นชอบการ์ตูนวัยเด็กเป็นพิเศษทำให้หมวดสินค้าที่โดดเด่นเป็นที่เตะตาอย่างมากจนคนจดจำชื่อร้านได้คือนาฬิกาวินเทจคอลเลกชั่นการ์ตูน เอมอธิบายว่าแบรนด์นาฬิกาที่มีชื่อเสียงมายาวนานอย่าง Fossil, Timex, Lorus, Pedre ล้วนเป็นของสะสมรุ่นเก่าที่ได้ลิขสิทธิ์ออกคอลเลกชั่นพิเศษกับดิสนีย์

“เวลาดิสนีย์ฉลองครบรอบ anniversary ในปีต่างๆ เขาจะทำคอลเลกชั่นลิมิเต็ดร่วมกับแบรนด์นาฬิกาออกมา เอกลักษณ์ของยุค 90s คือกลไกของนาฬิกาแทบทุกเรือนจะมีลูกเล่นยิบย่อยบางอย่างที่สมัยนี้ไม่มีแล้วและเอมชอบมาก มีเข็มวินาทีที่หน้าปัดเลื่อนได้หรือแพ็กเกจที่ลิงก์กับการ์ตูนตัวนั้น” 

นาฬิกา Fossil เป็นแบรนด์โปรดของเอมที่มีวางขายเยอะเป็นพิเศษเพราะเอมชื่นชอบในรายละเอียดที่แบรนด์ใส่ใจทำจึงสะสมไว้จำนวนมาก  

ตัวอย่างเช่น รุ่น Watch Collectors Club Limited Edition, Series II ในปี 1993 เป็นรุ่นที่ทำแพ็กเกจนาฬิกาข้อมือในรูปแบบกล่องหนังสือ โดยเลือกตัวการ์ตูนจากหนังดิสนีย์ 7 เรื่อง นำมาออกแบบเป็นหน้าปัดนาฬิกา 7 รุ่นพร้อมกล่องหนังสือ 7 เล่มที่เข้าคู่กัน ประกอบด้วยเรื่อง Alice in Wonderland, Lady and the Tramp, Sleeping Beauty, Cinderella, The Jungle Book, Pinocchio และ Steamboat Willie ในกล่องหนังสือเขียนเล่าเรื่องถึงฉากในการ์ตูนที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ชวนให้นึกถึงความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องโปรดที่ไม่เลือนรางไปตามกาลเวลา 

ช่วงที่คอลเลกชั่นนี้ออกใหม่ Fossil ใช้กลยุทธ์การขายแบบเอ็กซ์คลูซีฟเพื่อให้นาฬิกาเรือนสำคัญตกไปอยู่กับแฟนคลับดิสนีย์ตัวจริงเท่านั้น ลูกค้าจะสามารถซื้อนาฬิกาเรือนที่ 7 ในคอลเลกชั่นได้ก็ต่อเมื่อซื้อนาฬิกา 6 เรือนแรกของคอลเลกชั่นนี้ที่วางขายก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น เพราะรุ่นที่ 7 คือลาย Steamboat Willie คือพระเอกของดิสนีย์หรือมิกกี้ในเวอร์ชั่น Screen debut (ปี 1982) นั่นเอง  

อีกรุ่นที่มีการพรีเซนต์เรื่องเล่าผ่านนาฬิกาได้อย่างน่าสนใจคือ Cruella de Vil & 101 Dalmatians มีเอกลักษณ์คือการ์ตูนที่อยู่บนหน้าปัดนาฬิกาทั้ง 2 ฝั่งสำหรับพลิกใส่ 2 ด้านได้ ด้านหนึ่งเป็นตัวเอกอย่างดัลเมเชี่ยนอีกด้านเป็นตัวร้ายอย่างครูเอลล่า มาพร้อมแพ็กเกจในรูปแบบฟิกเกอร์การ์ตูนที่มีคาแร็กเตอร์อยู่ 2 ฝั่งเช่นกัน

เอม unbox ให้ดูคอลเลกชั่นลิมิเต็ดอื่นๆ ของ Fossil ที่มีรายละเอียดในการออกแบบทั้งตัวเรือนและกล่องนาฬิกาไม่เหมือนกันเลย รุ่นที่มีกล่องนาฬิกาเป็นกล่องเหล็กสี่เหลี่ยมคล้ายกล่องข้าวสมัยก่อนนั้นจะมีความโดดเด่นแตกต่างออกไป เช่น รุ่น Beauty and the Beast มีแถมพิณรูป Lumière เทียนจากในเรื่อง พร้อมแนบฉลากในธีมเดียวกันมาพร้อมนาฬิกา

ในฐานะคิวเรเตอร์และแฟนคลับดิสนีย์ที่เป็นคนเสาะหาของเหล่านี้มาขายรวมถึงเป็นคนพรีเซนต์ความน่าสนใจส่งต่อไปให้ลูกค้า เอมมองว่านาฬิกาแต่ละแบรนด์มีเสน่ห์แตกต่างกันและตั้งใจเก็บสะสมความเป็นออริจินอลของทุกคอลเลกชั่นไว้ให้ได้มากที่สุดทั้งแพ็กเกจและโมเดลที่แถมมากับนาฬิกา

“ยุคก่อน Seiko ราคาแพงมากราว 300-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อเรือน ทำให้มีแบรนด์ตัวเลือกอื่นยิบย่อยออกมาให้คนเลือก เช่น Lorus เป็นค่ายลูกของ Seiko ส่วนอีกแบรนด์คือ Pedre ที่เน้นความคลาสสิก”

หน้าปัดนาฬิการุ่น Snow White and the Seven Dwarfs ของ Pedre มีลูกเล่นไม่แพ้แบรนด์ Fossil โดยมาพร้อมกับกล่องนาฬิกาสีแดงที่ดูหรูหรา และยังมีแบรนด์อื่นอีกหลายรุ่นที่แถมโมเดลมาพร้อมตัวเรือนทั้ง Lilo and Stitch และ Lady and the Tramp 

นอกจากสามารถรวมนาฬิกาหายากมาไว้ด้วยกันแล้ว เอมมองว่าสิ่งที่ทำให้คนรักการ์ตูนจดจำ Chumchum ได้จนมีคนติดตามเยอะและสามารถเปิดหน้าร้านได้ในทุกวันนี้เพราะความเป็นตัวของตัวเอง   

“เชื่อว่าถ้าลูกค้าไปเห็นรูปนาฬิกาของร้าน จะรู้เลยทันทีว่าเป็นของ Chumchum เอมพยายามสร้างคาแร็กเตอร์ของร้านที่เฟรนด์ลี่ เข้าถึงง่ายกับทุกคน เอานาฬิกาออกไปถ่ายข้างนอก ไปโดนแดด วางบนทุ่งหญ้า บนหนังสือ บนของเล่นที่มี เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงว่านาฬิกามันน่ารักมากเลยนะ คิดว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดภาพจำด้วย”

ชุบชีวิตให้การ์ตูนยุค 90s  

ท่ามกลางสินค้าตัวการ์ตูนที่มีมากมาย เอมบอกว่าส่วนใหญ่ลูกค้าแต่ละคนจะเลือกซื้อจากคาแร็กเตอร์โปรดของตัวเอง แต่ตัวการ์ตูนในตำนานที่มีฐานแฟนคลับเยอะที่สุดคือมิกกี้ โดยนาฬิการุ่นมิกกี้เมาส์และมินนี่เมาส์เป็นรุ่นไอคอนิกที่ขายดีตลอดกาลและมีลูกค้าตามหาเยอะมาก

กูรูการ์ตูนอย่างเอมอธิบายที่มาที่ไปเบื้องหลังความฮิตของมิกกี้ว่า เมื่อมิกกี้เป็นตัวการ์ตูนหลักของดิสนีย์ จึงมีการพัฒนาลายเส้นของตัวการ์ตูนอย่างต่อเนื่องมาเรื่อยๆ และออกคอลเลกชั่นใหม่ถี่ตลอดทุกครั้งที่ปรับลายเส้น หากสังเกตจะพบว่าหน้าตาของมิกกี้เวอร์ชั่น 90s นั้นไม่เหมือนกับมิกกี้ในปัจจุบันเลย 

ตั้งแต่ขายของมาเอมยังพบว่าคอลเลกชั่นของมิกกี้มีเกินร้อยแบบทำให้มีตัวเลือกสินค้าเยอะตามไปด้วย ในขณะที่การ์ตูนที่คนรู้จักในวงแคบกว่าก็จะมีสินค้าให้สะสมน้อยกว่าซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบเพราะคอลเลกชั่นเหล่านี้จะตามหายาก

“ตัวการ์ตูนบางตัวจะออกคอลเลกชั่นใหม่เฉพาะทุกสิบปี เช่น Lady and the Tramp จะมีเฉพาะตอนครบรอบ 50 ปีหรือ 60 ปี อย่าง 101 Dalmations ก็มีไม่เยอะเลยเหมือนกัน”

โดยรวมแล้วสินค้าของ Chumchum จะอยู่ในยุค 80s-90s เป็นส่วนใหญ่ “ที่จริงมิกกี้เกิดก่อนหน้ายุคนี้นานมากแล้ว แต่ 90s เป็นยุคทองของการสะสม อย่างนาฬิกาควอตซ์เองก็อยู่ในยุคนี้เยอะเพราะถ้าย้อนเวลาไปก่อนหน้านั้น นาฬิกาจะยังเป็นแบบไขลานอยู่ เวลาค้นข้อมูลและเจอของที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นยุค 90s” 

นอกจากนาฬิกาแล้ว สินค้าเด่นอีกอย่างคือโปสเตอร์การ์ตูนที่เอมบอกว่ามีความแตกต่างจากสินค้าดิสนีย์ในยุคนี้ที่ลายเส้นและวิธีพรีเซนต์เช่นกัน 

ระหว่างของวินเทจที่เราสะสมกับสินค้าดิสนีย์สมัยนี้ที่เจอเวลาไปเที่ยว รู้สึกว่ามันแตกต่างกันมาก โปสเตอร์ยุคก่อนจะใช้ตัวอักษรเยอะและสีสดมาก ถ้าสมัยนี้มู้ดโปสเตอร์จะเป็นอีกโทนหนึ่งแล้ว อีกอย่างคือ new print ในทุกวันนี้จะสามารถเลือกลายและไซส์ที่ชอบได้ เช่น บ้านเรามีพื้นที่เท่านี้ ก็สั่งไซส์ภาพตามต้องการได้ แต่เอมจะชอบให้ภาพเป็นไซส์ออริจินัลที่ดิสนีย์ผลิตมา ของสะสมส่วนใหญ่จะเป็นโปสเตอร์หนัง เช่น ฉายหนังในโรงยุคก่อนแล้วผลิตป้ายแผ่นนี้ออกมา ของแท้ต้องมีรอยพับหรือม้วนเก็บไว้ เราก็จะเอามารีดแล้วใส่กรอบใหม่เอง เหมือนชุบชีวิตให้โปสเตอร์ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่าชอบสไตล์เก่ามากกว่า รู้สึกว่าแบบนี้มีเสน่ห์ดี”

อาจกล่าวได้ว่า Chumchum ไม่ได้ขายแค่สินค้าเกี่ยวกับการ์ตูนหรือสินค้าดิสนีย์เหมือนดิสนีย์ช็อปทั่วไป คุณค่าที่อยากส่งต่อให้ลูกค้าคือความทรงจำเกี่ยวกับการ์ตูนในวัยเด็กที่ถูกแปลงมาเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ

กำไรจากแพสชั่น

แม้ร้านขายของสะสมแนวการ์ตูนแบบ Chumchum ดูเป็นกิจการที่น่าจะมีความชิลล์ในสายตาของใครหลายคนแต่เอมบอกว่ากิจการรูปแบบนี้มีความเสี่ยงตลอดเวลาอย่างการตามหาแหล่งขายของที่เชื่อถือได้ 

“การซื้อของสะสมพวกนี้มันมาพร้อมกับความเสี่ยงนะ คือบางทีเราคุยกับคนขาย เขาบอกว่านาฬิกาเรือนนี้ ‘never worn’ หรือไม่เคยใช้เลยแต่พอซื้อมาจริงๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น บางทีพังหรือไม่เดินเลย แม้แต่ซ่อมแล้วก็ไม่เดิน ช่วงเปิดเริ่มแรกต้องลองผิดลองถูกเยอะมาก แม้กระทั่งสั่งแล้วของไม่มา โดนโกงก็มี เราก็แบกรับความเสี่ยงตรงนั้นจากการซื้อของเก่าเก็บ แต่เพราะเราชอบก็เลยพยายามดื้อในการหาสินค้าและพร้อมเรียนรู้เติบโตไปกับมัน”

สิ่งที่เอมใช้ช่วยบริหารความเสี่ยงในการกล้าลงทุนคือแพสชั่น “เราเลือกสินค้าจากความชอบของตัวเองเป็นที่ตั้งและเริ่มคิดจากตรงนั้นว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าเห็นเหมือนที่เราเห็น คำนึงว่าลูกค้าจะชอบเหมือนเราไหมแต่มันก็มีบางอย่างที่เอามาแล้วก็ขายไม่ได้หรือไม่ค่อยถูกใจลูกค้า ทั้งนี้เราไม่ค่อยมายด์ตรงนั้น เพราะเหตุผลสำคัญคือเราชอบเก็บสะสมเองด้วย รู้สึกว่าถ้าไม่มีใครซื้อเราก็เก็บเอง ทำให้คิดว่าการซื้อครั้งนี้มันไม่มีอะไรเสียเลย”

หากเป็นคนที่ลงทุนเปิดร้านด้วยสินค้าที่ไม่ได้มีแพสชั่นส่วนตัว อาจคำนวณเรื่องกำไรขาดทุนในการซื้อของเข้าร้านอย่างเข้มงวด แพสชั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขยายขอบเขตความกล้าลงทุนให้กว้างขึ้นจนทำให้ซื้อของสำหรับวางดิสเพลย์และตกแต่งร้านแบบไม่กลัวขาดทุนรวมกันมากมาย เกิดเป็นความโดดเด่นน่าสนใจที่ไม่เหมือนใครจนสามารถดึงดูดลูกค้าตัวจริง เกิดกำไรตามมาในที่สุด สำหรับสินค้าบางอย่าง เอมก็ตั้งใจซื้อมาเพื่อสะสมเองโดยเฉพาะเพื่อตั้งโชว์ในร้านเพราะตัดใจขายไม่ลง

“ของที่สะสมเอง ไม่ได้ขายคือแผ่นเสียง เป็นบทพูดผสมเพลงสไตล์มิวสิคัล ดึงฉากฮิตของเรื่องนั้นมาไว้ในแผ่นเสียง อย่าง Lady and the Tramp จะมีฉากกินสปาเก็ตตี้ มีเสียงหมาเห่าอยู่ห้านาทีได้  พินอคคิโอก็จะมีฉากร้องเพลงกับตัวเอก”

ในส่วนของการคำนวณกำไรอย่างจริงจังทางธุรกิจนั้น เอมมีหลักการตั้งราคาในการซื้อมาขายไปคือการบาลานซ์ระหว่างราคาตลาดกับราคาที่ลูกค้ารับได้

“สมมติเอมได้รุ่น Lady and the Tramp มาก็จะหาราคาตรงกลางที่คนไทยโอเคและเสิร์ชข้อมูลว่าตอนนี้ราคาส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศเขาขายกันในราคาเท่าไหร่ บางทีตอนแรกเอมขายรุ่นนี้ในราคาสามพันกว่าบาท แต่ตอนนี้มันขึ้นราคาไปถึง 7,900 บาทแล้ว เพราะว่าแทบหาซื้อทั่วไปไม่ได้แล้วจริงๆ บางรุ่นราคาก็พุ่งจาก 40 ดอลลาร์สหรัฐไปถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐแบบนี้” 

สำหรับตลาดของวินเทจและของสะสม เอมมองว่า “ทุกวันนี้ถือว่ามีร้านวินเทจเยอะมากแต่ไม่อยากมองว่าร้านอื่นเป็นคู่แข่งทางธุรกิจเพราะที่จริงเราอยู่ด้วยกันได้ เราต่างสะสมในสิ่งที่แต่ละคนชอบและไม่อยากแข่งกันขายแบบกดราคา รู้สึกว่าของวินเทจมีค่ามากเกินกว่าที่จะมาแข่งขันกัน ถ้าชอบเหมือนกันก็แลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้” 

เนื่องจากของวินเทจส่วนใหญ่มักมีจำนวนจำกัด เอมจึงมองว่าแต่ละร้านต่างมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางของตัวเองและอยากโฟกัสที่การส่งต่อคุณค่าให้ลูกค้าที่รักในสิ่งเดียวกัน “คำว่าของวินเทจแปลว่ามีชิ้นเดียวหรือน้อยมาก อาจไม่เจอคอลเลกชั่นนี้อีกแล้ว การที่ได้สินค้าชิ้นหนึ่งมามันอาจเป็นความบังเอิญหนึ่งในร้อย อยากให้คนที่ได้ไปเห็นค่าของสิ่งนั้น” และการได้ครอบครองของที่หายากคือกำไรแฝงของเอมที่ได้จากการลงทุนเปิดร้านด้วยแพสชั่น  

Chum แปลว่า เพื่อน  

คำว่า Chum ในภาษาอังกฤษแปลว่าเพื่อนซี้ เอมบอกว่าการตั้งชื่อร้านว่า Chumchum grocery มีที่มาจากการเคยทำกิจการร่วมกับเพื่อนในช่วงแรก 

“เริ่มทำกันสองคนกับเพื่อนที่สนิทที่สุดในชีวิตเลยตอนนั้น เลยคิดว่าชื่อ Chumchum ไหมล่ะ แต่มันยาก บางทีพอเราได้บางสิ่งมา ก็ต้องเสียบางอย่างที่เรามีไป สุดท้ายก็ไม่ได้ทำด้วยกันและไม่ได้คุยกันอีกแล้ว”

สำหรับใครที่อยากทำธุรกิจกับเพื่อน เอมแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่าการเป็นพาร์ตเนอร์กับเพื่อนอาจมีปัญหาจุกจิกเล็กน้อยที่อาจขยายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้ หัวใจสำคัญจึงเป็นความจริงใจต่อกัน

“มันอาจมีบางอย่างที่เราไม่เคยรู้เลยเพราะอีกฝั่งไม่พูด หรือเขาไม่รู้เลยเพราะเราไม่เคยพูด ในขณะเดียวกันอะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ควรเก็บไว้ในใจบ้าง ต้องรู้จักบาลานซ์วิธีพูดโดยไม่ทำร้ายจิตใจกันและเข้าใจอีกฝ่าย”  

ทั้งนี้มิตรภาพยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของเอม ร้านชำแห่งนี้เป็นพื้นที่รวมตัวกันของคนรักการ์ตูนที่เอมบอกว่ามองผู้เยี่ยมเยียนเหมือนเพื่อนที่มาเยี่ยมบ้าน ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่มาซื้อของ

“ลูกค้าหลายคนของเอมกลายเป็นเพื่อน บางคนคุยกันทางออนไลน์แบบไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน พอวันเปิดร้านก็เอาของขวัญมาให้ หลายคนเอาของแต่งร้านมาให้ บางคนก็ยกทั้งครอบครัวและเพื่อนมาอุดหนุน เหมือนได้คุยแลกเปลี่ยนความชอบจนเข้าใจกัน” 

การเปิดร้านของเอมจึงมีบรรยากาศความเป็นกันเองคล้ายการเปิดบ้านให้คนเยี่ยมชมของสะสม ทั้งนี้ธรรมชาติของร้าน grocery ที่ขายของและเป็นคาเฟ่ด้วยแบบ Chumchum นั้นต้องพูดคุยกับลูกค้า เหมือนคุยกับเพื่อนเวลาเปิดบ้านเพื่อต้อนรับแขก ซึ่งเอมบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดที่สุดในการทำกิจการ  

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่แล้วตอนเริ่มแรก เอมเป็นคนอินโทรเวิร์ตมากๆ ไม่ถนัดคุยกับคนอื่น รู้สึกทำตัวไม่ถูก เอมเคยเป็นคนคนนั้น สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำร้านคือเปิดใจคุยกับคนอื่นมากขึ้น เพราะที่จริงแล้วความรู้อยู่รอบตัวเรา เช่น ลูกค้าบางคนมาเล่าว่าสมัยก่อนดิสนีย์เคยมีตัวการ์ตูนแบบนี้นะหรือมีคนเล่าว่า
ตอนเขาเป็นเด็ก ที่สยามเคยมีตัวการ์ตูนชื่อ Mr. friendly ตั้งอยู่นะ ตอนนี้คาแร็กเตอร์ตัวนี้ไม่มีที่ไทยแล้ว มีเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยุคที่เราไม่ทันได้เห็น การได้มิตรภาพใหม่แบบนี้เป็นสิ่งที่ดี รู้สึกดีใจที่ตัวเองโตขึ้น” 

ทุกวันนี้การสร้างความเฟรนด์ลี่ในคอมมิวนิตี้คนรักการ์ตูนเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดเพื่อนใหม่ให้มาเยี่ยมที่ร้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีคาเฟ่ที่เสิร์ฟขนมและเครื่องดื่ม การจัดมุมฉายหนังในบรรยากาศที่รายล้อมด้วยโปสเตอร์การ์ตูน การเปิดบ้านเป็นที่จัดเวิร์กช็อปให้แขกมาเช่าบ้านสำหรับแลกเปลี่ยนงานอดิเรกที่สนใจนอกเหนือจากการ์ตูนด้วยกัน เป็นร้านของชำที่สร้างพื้นที่แห่งมิตรภาพสมกับชื่อ ‘ฉ่ำฉ่ำ’

พื้นที่แห่งความชอบของตัวเอง 

การทำกิจการคนเดียวในรูปแบบ solopreneur อย่างเอมนั้นอาจดูเป็นเรื่องเรียบง่ายแต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ สำหรับผู้ที่อยากเริ่มตั้งตัวแบบลงทุนไม่เยอะ เอมแชร์คำแนะนำในฐานะผู้ประกอบการเดี่ยวให้ฟังว่า 

“อาจดูเหมือนว่ามีคนที่สามารถเอาความชอบมาเป็นอาชีพจริงได้น้อยแต่ไม่ใช่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ วันหนึ่งมันอาจเป็นเราก็ได้ที่ได้ทำสิ่งเหล่านั้น ถ้ารู้ว่าตัวเองชอบอะไรอาจเริ่มจากการทำเป็นงานอดิเรกก่อนก็ได้ เพราะเอมก็เริ่มขายของจากการหาเงินไปเที่ยวเหมือนกัน สุดท้ายแล้วมันคงเป็นโชคหรือโอกาสที่ยื่นเข้ามาให้เรา ที่สำคัญคือจะต้องเชื่อว่าเราสามารถทำได้” 

หากย้อนกลับไปในวันที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เอมบอกว่าคนรอบตัวก็เคยตั้งคำถามว่าถ้าลาออกมาเปิดร้านแล้วจะเสี่ยงไหม หลักคิดที่เอมใช้ประเมินความพร้อมในการลงทุนเปิดหน้าร้านคือการทดลองขายออนไลน์
เป็นปีจนมั่นใจว่ามีตลาดที่คนพร้อมซื้อแน่นอน

“เราคุยกับลูกค้าทุกวัน รู้ว่ามีคนที่ชอบแบบเราเยอะนะ การ์ตูนดิสนีย์ก็มีแฟนคลับอยู่แล้ว แค่พูดชื่อก็เชื่อว่าไม่มีใครในโลกนี้ไม่รู้จัก

“สำหรับอนาคตอยากให้ Chumchum มีสาขาสอง สาม สี่ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหม แต่ตอนนี้ก็พยายามทำตรงนี้ให้ดีก่อน” 

พอเป็นร้านชำกึ่งคาเฟ่ที่ไม่ได้ขายแค่ของสะสม เอมจึงบอกว่าอยากเติมความรู้ในมุมอื่นๆ อย่างความเข้าใจในการทำคาเฟ่ให้ลึกซึ้งมากขึ้นเหมือนที่เข้าใจการ์ตูน เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ให้เพื่อนที่มาเยี่ยมบ้าน 

เอมทิ้งท้ายว่าการได้เปิดร้านจากแพสชั่นคือความสุขหนึ่งของเธอเพราะมีความฝันอยากมีเสปซเป็นของตัวเอง แม้จะเป็น solopreneur แต่ไม่เหงา เพราะมีเพื่อนมาเยี่ยมเยียนตลอดและล้อมรอบด้วยการ์ตูนที่เป็นเหมือนเพื่อนตั้งแต่ครั้งวัยเยาว์ 

“เวลาลูกค้ามาร้านแล้วเขารู้สึกว่าของชิ้นนี้น่ารักจัง นั่นแหละคือความสำเร็จสำหรับเราแล้ว ดีใจที่ลูกค้ามาแล้วได้นึกถึงวันเก่าๆ การ์ตูนที่เคยดู ของที่เขาเคยมี เอมอยากให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าในของที่เมื่อก่อนเราเคยเห็นแต่อาจเผลอลืมมันไป ได้เอามันกลับไปตั้งใหม่ ไปตั้งในตู้โชว์หรือวางตัวการ์ตูนอยู่ในมุมที่ไม่ต้องโดดเดี่ยว แค่นั้นก็โอเคแล้ว”

  1. Most Expensive : นาฬิกา Alice in wonderland ของ Fossil ราคาหลักหมื่น
    มีราคาแพงเพราะอลิซเป็นตัวการ์ตูนที่หายาก ทำคอลเลกชั่นออกมาน้อย 
  2. Functional with Unique Gimmick : นาฬิกาที่โชว์ตัวการ์ตูนหน้า-หลังได้ 2 ฝั่ง
    ในคอนเซปต์ตัวร้ายกับตัวดี อย่างครูเอลล่ากับดัลเมเชี่ยน ปีเตอร์แพนกับกัปตันฮุก
  3. Hot : โปสเตอร์ไซส์แกรนด์จากฉากคลาสสิกของ Lady and the Tramp เป็นไซส์โปสเตอร์ที่ขายดีและ Lady เป็นการ์ตูนที่คนชอบอย่างมากในตอนนี้
  4. Souvenir : โปสต์การ์ดการ์ตูนไซส์เล็กที่อยากเป็นส่วนเล็กๆในการแต่งบ้านและเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยากสะสมได้ 
  5. Hidden Item : ของที่คนไม่รู้ว่ามีขายที่นี่คือ หนังสือศิลปะอย่าง Magritte เป็นหนังสือเก่าที่เป็นของสะสมหนึ่งของเอมเช่นกัน 

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like