Gadget Story

Gadget Story ผู้จัดจำหน่ายแก็ดเจ็ตนิชแต่ดี ที่ทำให้คีย์บอร์ด Keychron กลายเป็นปรากฏการณ์ในไทย

ถ้าคุณรู้จักเมคานิคอลคีย์บอร์ด เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่รู้จัก Keychron แบรนด์เมคานิคอลคีย์บอร์ดระดับโกลบอลที่คนไทยนิยมที่สุด

แต่มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจจะยังไม่รู้จัก Gadget Story บริษัทที่พาแก็ดเจ็ต niche แต่ดีจากต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นรองข้อมือ DeltaHub, สายชาร์จ 6 in 1 ยี่ห้อ Rolling Square และที่ขาดไม่ได้คือ Keychron แบรนด์เมคานิคอลคีย์บอร์ดเจ้าของยอดระดมทุนถึง 200 ล้านบาทใน Kickstarter

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นตอนที่เพื่อนสามคนคุยกันว่าอยากได้เมคานิคอลคีย์บอร์ดดีๆ มาใช้ทำงาน แต่ในตลาดเมืองไทย ถ้าไม่ใช่คีย์บอร์ดรุ่นพื้นฐานธรรมดาก็มีแต่คีย์บอร์ดเกมมิ่งหน้าตาฉูดฉาด พวกเขาจึงเริ่มมองหาแบรนด์ที่มีขายในต่างประเทศจนไปจบที่ Keychron แบรนด์ที่โดดเด่นทั้งด้านคุณภาพและดีไซน์ เปลี่ยนภาพลักษณ์แก็ดเจ็ตที่เคยดูเฉพาะกลุ่มชาวเทคให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์เหมาะกับใครก็ได้ที่ชอบของสวยงาม

ด้วยความเชื่อมั่นในแบรนด์และความไม่เชื่อว่าจะมีแค่พวกเขาที่ตามหาแก็ดเจ็ตแบบนี้ ในปี 2019 ทั้งสามคนรวมตัวกันตั้งบริษัท Gadget Story เพื่อขอจัดจำหน่ายคีย์บอร์ดแสนเท่รวมไปถึงแก็ดเจ็ตต่างประเทศแบรนด์อื่นๆ ที่ดีไซน์ดีมีเรื่องเล่าไม่แพ้กัน

ผ่านมา 3 ปี Gadget Story เติบโตจนมีฝันว่าจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมๆ กับที่ได้โอกาสจาก Keychron ให้เปิดบริษัท Keychron Thailand ดูแลแบรนด์สาขาประเทศไทยอย่างเข้มข้นกว่าเดิม

ในวันที่พวกเขากำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ เราขอเวลา ชุติพัทธ์ ตั้งกุศลจิต CEO แห่ง Gadget Story และ Keychron Thailand มาคุยกันถึงเรื่องราวของพวกเขาตั้งแต่การค้นหาคีย์บอร์ดที่ใช่ไปจนถึงความตั้งใจอยากใช้แก็ดเจ็ตยกระดับชีวิตของคนทำงานทุกคน

และนี่คือสตอรีของบริษัทที่เราคิดว่าน่าสนใจไม่แพ้แบรนด์ที่พวกเขาขายเลย

Gadget Story มีแก็ดเจ็ตในพอร์ตมากมาย ชิ้นไหนที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

founder ทั้ง 3 คนของ Gadget Story พูดง่ายๆ ก็คือเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดานี่แหละ เราเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียน พอทำงานก็แยกย้ายกันไป จุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่เรามองหาคีย์บอร์ดดีๆ มาใช้เอง เรามีฟังก์ชั่นที่อยากได้อยู่ในหัวว่าประมาณนี้ๆ ปรากฏว่าหาที่มีขายในไทยแล้วไม่เจอที่ตอบโจทย์ ก็เลยเริ่มหาสินค้าที่มีขายในต่างประเทศจนไปเจอ Keychron ซึ่งเป็นแบรนด์เมคานิคอลคีย์บอร์ดระดับโกลบอล เราสั่งซื้อมาใช้สรุปว่าโอเคเลย มันเจ๋ง มันตอบโจทย์แล้วในไทยยังไม่มีสินค้าตัวนี้ขายเราเลยมองเห็นโอกาส คิดว่าน่าสนใจที่จะเอาเข้ามาจำหน่าย

สเปกคีย์บอร์ดที่อยากได้ตอนนั้นเป็นยังไงและสิ่งที่ตลาดในไทยมีขายเป็นแบบไหน

เราหาคีย์บอร์ดที่ปุ่มไม่หนามากเพราะเราทำงานออฟฟิศ เวลาใช้คีย์บอร์ดก็อยากได้ฟีลลิ่งคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กหรือคีย์บอร์ดทั่วไป แป้นตื้นๆ หน่อย แต่พอไปหาก็เจอแต่คีย์บอร์ดธรรมดาๆ สีดำฟูลไซส์ทั่วไปซึ่งเป็น rubber dome หรือปุ่มยาง พิมพ์นานๆ ก็อาจจะเมื่อยมือ แต่เราต้องการมากกว่านั้นเมื่อก่อนก็เลยไปใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่ง

มองย้อนกลับไป 3 ปีก่อน ถ้าอยากได้คีย์บอร์ดเมคานิคอลที่ฟีลลิ่งการพิมพ์ดีๆ มีการเชื่อมต่อที่เสถียรคุณอาจจะต้องไปมองหาคีย์บอร์ดเกมมิ่งที่มีแบรนด์เจ้าตลาดในไทยอยู่แล้วหลายแบรนด์ ซึ่งมันจะมาในราคาค่อนข้างสูง ดีไซน์ก็หวือหวา เฟี้ยวฟ้าวมีไฟ อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อยากเอามาใช้ทำงานที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน

เราใช้คีย์บอร์ดเกมมิ่งจนมันพังก็เลยต้องหาคีย์บอร์ดใหม่จนได้มาเจอ Keychron รุ่น K1 ที่เป็นเมคานิคอลคีย์บอร์ดพิมพ์สัมผัสได้ดี ฟังก์ชั่นเทียบเท่าคีย์บอร์ดเกมมิ่งเลยแต่ว่าดีไซน์จะเป็นแบบมินิมอล เรียบง่าย เรียบหรู เหมาะกับคนทำงาน

เมคานิคอลคีย์บอร์ดแตกต่างจากคีย์บอร์ดทั่วๆ ไปยังไง และทำไมต้อง Keychron

สิ่งแรกที่ได้จากเมคานิคอลแน่นอนคือฟีลลิ่ง สัมผัสที่แตกต่างจากคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กทั่วไป อย่างที่สองคือเรื่องเสียง เมคานิคอลคีย์บอร์ดมันจะมีสวิตช์ที่อยู่ใต้ keycap (ปุ่มพลาสติก) หลายประเภท แต่ละสวิตช์ก็จะให้เสียงและสัมผัสที่แตกต่างกันด้วย เรื่องที่สามเป็นเรื่องของดีไซน์ เมคานิคอลคีย์บอร์ดบางตัวจะมี keycap ที่โค้งมนเข้ามาช่วยเสริมเรื่อง ergonomic นิดนึงทำให้เวลาพิมพ์งานมีประสิทธิภาพ โปรดักทีฟมากขึ้น

ที่จริงในตลาดเมคานิคอลก็มีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก Keychron เป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่มีจุดเด่นในเรื่องของดีไซน์ สีต่างๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์ มีฟีเจอร์การเชื่อมต่อไร้สายที่ดี เสถียร และมีหลากหลายเลย์เอาต์ ตอบโจทย์คนหลายกลุ่มซึ่งแบรนด์อื่นๆ อาจจะไม่ได้มีให้เลือกเยอะขนาดนี้

จากที่ซื้อมาใช้เอง อะไรทำให้มั่นใจว่ามีดีมานด์ในไทยมากพอที่จะนำ Keychron เข้ามาจำหน่าย

ตอนนั้นเราดูการใช้งานของตัวเอง ความต้องการของคนรอบข้าง แล้วก็สิ่งที่มีขายในตลาด ประเทศไทยตลาดคีย์บอร์ดมันก็ไม่ได้กว้างมาก เราพอเห็นอยู่ว่ามีร้านอะไรที่ขายบ้าง พอไปดูสินค้าที่เขาขายในร้านทุกเจ้าก็มีคล้ายๆ กันและมีอยู่ไม่กี่แบรนด์ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเรามองออกไปรอบข้าง แค่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ เราก็จะเจอตัวเลือกที่น่าสนใจเต็มไปหมด เราก็เลยมองว่ามีโอกาสตรงนี้อยู่

ทาร์เก็ตหลักของ Gadget Story ณ ตอนนั้นคือใคร

ทาร์เก็ตแรกคือกลุ่มที่เป็น Mac user เพราะว่าจุดเด่นของ Keychron คือเขามีเลย์เอาต์แบบคีย์บอร์ดแมคร้อยเปอร์เซ็นต์ ซื้อมาปุ๊บ แกะออกจากกล่อง เชื่อมต่อแมคแล้วใช้ได้เลยไม่ต้องลงโปรแกรม ไม่ต้องตั้งค่าอะไรในเครื่องเพิ่ม แล้วเดี๋ยวนี้คนใช้ device มากกว่าหนึ่งเครื่อง ใช้แมคกับวินโดวส์ ใช้แมคกับมือถือ Keychron มันสามารถสลับใช้ระหว่างเครื่องได้ลื่นไหลมาก

3 ปีที่แล้วเมคานิคอลคีย์บอร์ดยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สิ่งนี้เป็นอุปสรรคกับการขายไหม

เรื่องคนไทยไม่ค่อยรู้จักเมคานิคอลคีย์บอร์ดก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่เราในฐานะ Keychron Thailand ต้องใช้เวลาบิลด์ให้คนเข้าใจมันมากขึ้น แต่อุปสรรคเรื่องการขายที่เราเจอคือ Keychron เป็นแบรนด์โกลบอล ดีมานด์มันเยอะมาก ฉะนั้นอุปสรรคคือเรื่องจำนวนสต็อกที่เราได้มาน้อยกว่าดีมานด์ในไทย เราเคย sold out ในชั่วโมงเดียว เร็วสุดที่เคยขายหมดคือประมาณ 10 นาที ยิ่งช่วงโควิดที่มีปัญหาเรื่องชิปขาดแคลนยิ่งทำให้มีสินค้าน้อยลงไปอีก

คิดว่าอะไรทำให้ขายดีขนาดขายหมดในหลักนาทีตั้งแต่ช่วงแรกๆ

ดีมานด์กลุ่ม first adopter (คนที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ) ในไทยค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้วิธีการที่เขาจะหา Keychron มาใช้คือเขาต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งการจัดส่งก็ใช้เวลานานหรือไม่รู้ว่าจะได้สินค้าเมื่อไหร่​ บางทีสินค้าเสียหาย รวมถึงการชำระเงินหรือการติดต่อก็ค่อนข้างยุ่งยาก คนที่เขาเชี่ยวชาญเขาอาจจะซื้อจากต่างประเทศก็จริงแต่ว่ามีคนอีกกลุ่มใหญ่เลยที่เขายังไม่มีโอกาสหรือยังไม่กล้าสั่งเอง ผมมองว่าการที่ Keychron ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีก็เพราะคนกลุ่มนี้เขารออยู่นี่แหละ

เอาจริงๆ เรามั่นใจในสินค้าระดับหนึ่งแต่ไม่คิดว่ามันจะขายหมดเร็วขนาดนี้ (หัวเราะ) พอฟีดแบ็กเกินคาดยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าตลาดตรงนี้มันเป็นอย่างที่เราแพลนไว้

นอกจากการทำให้สินค้าซื้อง่าย เข้าถึงง่ายแล้ว คุณปรับอะไรให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าคนไทยไหม

Keychron Thailand มีคีย์บอร์ดที่มาพร้อมเลย์เอาต์ภาษาไทย ด้วยความที่เราเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์โดยตรงทำให้สามารถทำตัวอักษรภาษาไทยบนคีย์แคปได้สวยงาม คือคีย์บอร์ดบางยี่ห้อเขาผลิตเป็นภาษาอังกฤษภาษาเดียวขายทั่วโลกแล้วค่อยมาใส่ภาษาไทยลงไป แต่เราคุยกับผู้ผลิตตั้งแต่แรกว่าคนไทย พฤติกรรมยังใช้ฟอนต์ภาษาไทย เราอยากให้มันดูลงตัวสวยงามเพราะกลุ่มลูกค้า Mac user เขาต้องการความเนี้ยบ ความสวย มันก็ตอบโจทย์นี้

แต่จริงๆ ต่อให้เขาสั่งมาใช้จากต่างประเทศผมก็มองว่าไม่ได้เป็นข้อเสียนะเพราะถือว่าเขาก็เป็นลูกค้าของแบรนด์ Keychron อยู่ดี ถ้าเขาใช้แล้วชอบในอนาคตเขาก็อาจจะกลับมาซื้อสินค้ากับเรา ซึ่งเราก็จะมีการรับประกัน มีบริการหลังการขายให้เขา ผมเชื่อว่าไม่มีแบรนด์คีย์บอร์ดแบรนด์ไหนในไทยที่ให้เซอร์วิสลูกค้าขนาดนี้

ยกตัวอย่าง ถ้าคีย์บอร์ดเสียเรามีบริการไปรับเครื่องให้ถึงบ้านแล้วให้คีย์บอร์ดสำรองไปใช้ชั่วคราวระหว่างเคลม อันนี้มันเกิดจากอินไซต์ที่เราเจอว่าลูกค้าหลายคนเขาต้องทำงานส่งวันนี้ ถ้าคีย์บอร์ดเสียเขาจะทำยังไง ดังนั้นเราต้องมีอุปกรณ์สำรองให้เขา

หลังจาก Keychron ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สินค้าที่คุณนำเข้ามาตัวถัดไปคืออะไร

โจทย์ของบริษัทคือเราอยากเป็นผู้จำหน่ายไอทีแก็ดเจ็ตที่ไม่เหมือนใครและช่วยให้คนไทยมีประสิทธิภาพในการทำงานหรือใช้ชีวิตได้ดีขึ้นเราเลยไม่ได้กำหนดว่าสินค้าที่เอาเข้ามาจะต้องเป็น mobile หรือคอมพิวเตอร์ แต่ดู value ที่แบรนด์มอบให้กับลูกค้ามากกว่า

 ช่วงปลายปี 2019 ต้นปี 2020 เราก็เริ่มเอาสินค้าแบรนด์อื่นเข้ามาขายชื่อ DeltaHub เป็นแบรนด์แผ่นรองข้อมือ ergonomic (สรีรศาสตร์) เรามองว่าแผ่นรองข้อมือในปัจจุบันมันก็มีหลายแบรนด์แหละแต่พอมาศึกษาแล้วมันก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เรื่อง ergonomic อย่างแท้จริง เรามองว่า DeltaHub มันมีฟังก์ชั่น มีดีไซน์ที่ตอบโจทย์สุขภาพก็เลยนำเข้ามา

แบรนด์อื่นๆ ที่ตามมาก็จะเป็น Rolling Square แบรนด์สายชาร์จ 6 in 1 ที่พัฒนาให้เชื่อมต่อได้ 6 รูปแบบในหัวเดียว และล่าสุดคือ Nuphy แบรนด์เมคานิคอลคีย์บอร์ดที่มาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ คือเน้นสีสันสดใสไม่ได้มินิมอลเหมือน Keychron

นอกจากเอาสินค้าเข้ามาขายเพิ่มเราก็แยกบริษัทด้วย ตอนแรก Gadget Story เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าทุกแบรนด์รวมถึง Keychron แต่เพราะเราคุยกับเจ้าของแบรนด์ Keychron แล้วเห็นว่าพวกเรามีวิชั่น มองอนาคตตรงกันมากเขาเลยให้โอกาสเราตั้งบริษัท Keychron Thailand โดยเฉพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการตลาด บริหารจัดการแบรนด์ให้โตขึ้นอีก

เวลาเลือกของเข้ามามีเกณฑ์ในการเลือกคืออะไร

เรามีเกณฑ์หลักๆ อยู่ประมาณ 4 อย่าง เรื่องแรกคือการเป็น trend leader เราอยากให้สินค้าที่เราจัดจำหน่ายไม่เหมือนใครหรือว่าเอาเข้ามาแล้วมันจะสามารถนำกระแสได้ อย่างเช่น Keychron นี่ก็นำกระแสหรือปลุกกระแสเมคานิคอลคีย์บอร์ดให้กลับมา

เรื่องที่สองคือดีไซน์ ทำให้ภาพลักษณ์แก็ดเจ็ตดูสวยงามมากขึ้น 

เรื่องที่สามคือ productivity ฟังก์ชั่นการใช้งาน คือนอกจากสวยแล้วต้องใช้งานได้จริง มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า 

ส่วนเรื่องที่สี่คือคอมมิวนิตี้ อันนี้อาจจะดูฉีกหน่อยแต่เรามองว่าปัจจุบันสำหรับสินค้าหรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ คอมมิวนิตี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก อย่างเรื่องอาหารก็มีกลุ่มคนรักกะเพราหมูกรอบ คนรักอาหารญี่ปุ่น บุฟเฟต์ กับสินค้าไอทีแก็ดเจ็ตคอมมิวนิตี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน ดังนั้นเกณฑ์หนึ่งที่เราคิดก่อนนำสินค้าเข้ามาคือแบรนด์นี้จะสร้างคอมมิวนิตี้ในไทยได้ไหม จะสามารถก่อให้เกิด value อะไรได้บ้าง สินค้าของเราจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นยังไงจนทำให้เขามาแชร์ มาบอกต่อ มันเป็นเรื่องดีทั้งฝั่งแบรนดิ้งและยูสเซอร์เอง ถามว่าจะเกิดคอมมิวนิตี้ได้ยังไง ผมว่ายิ่งสินค้าอยู่ในชีวิตประจำวันของคนจริงๆ เขาใช้งานจริงๆ ใช้งานทุกวัน ก็จะยิ่งทำให้เกิดคอมมิวนิตี้หรือว่าการพูดคุยกันมากขึ้น

จากชื่อบริษัท Gadget Story แปลว่าสตอรีก็มีส่วนสำคัญในการเลือกสินค้าเข้ามาไหม

ส่วนหนึ่งคือสตอรีของแบรนด์แล้วก็สตอรีของผู้พัฒนา ส่วนใหญ่เราจะไปศึกษาสตอรีเขาว่าที่มาที่ไปเป็นยังไง วัตถุประสงค์ของแบรนด์คืออะไร แล้วก็มาดูตลาดในไทยว่ามันเชื่อมโยงกับสินค้านั้นไหมถึงตัดสินใจที่จะเอาเข้ามา

สตอรีที่คุณสนใจเป็นแบบไหน ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

อาจจะเรียกว่าเป็นสตอรีที่มาที่ไปของแบรนด์ เหตุผลของการทำแบรนด์ที่ฟังแล้วรู้สึกถึงความจริงใจ เห็นถึงความอยากทำให้ชีวิตคนดีขึ้นเพราะเราเองก็อยากให้ชีวิตคนทำงานดีขึ้นด้วยแก็ดเจ็ตที่เราจำหน่าย 

อย่าง Keychron มันเกิดจากเจ้าของที่อยู่ในวงการคีย์บอร์ดมา 20 กว่าปีอยากทำคีย์บอร์ดที่สามารถตอบโจทย์คนทำงานและทุกๆ คน ถ้ามองในมุมสตาร์ทอัพคือเขาอยากจะ distrupt ตลาดคีย์บอร์ดแบบเดิมๆ อยากจะให้ทุกคนมาใช้เมคานิคอลคีย์บอร์ดให้หมด

ส่วนแผ่นรองข้อมือ DeltaHub จุดเริ่มต้นคือเจ้าของเขาเห็นว่าหนึ่งในสิบโรคที่คนยุโรปเป็นมากที่สุดคือ โรคที่ชื่อว่า Carpal Tunnel Syndrome หรือโรคโพรงประสาทข้อมืออักเสบ เขามองว่ามันเป็น pain ที่เกิดจากการทำงาน การใช้เมาส์ที่ไม่ถูกต้อง เขาก็ไปดูแผ่นรองข้อมือที่มีในตลาด มันเหมือนจะดีนะแต่พอวิเคราะห์ด้วยหลักสรีรศาสตร์แล้วมันไม่ได้ดีขนาดนั้น ข้อมือยังต้องเจอแรงกดทับอยู่ เขาเลยเอาเทคโนโลยีมาใช้ มีการรีเสิร์ชร่วมกับนักกายภาพจนออกมาเป็นโปรดักต์ตัวนี้ได้

แต่นอกจากอ่านเรื่องราวของเขาแล้วเราก็ต้องมีการ get in touch กับแบรนด์ ไปดูวิชั่นและมิชชั่นของเขาด้วย ส่วนมากแบรนด์ที่เราเอาเข้ามาเป็นแบรนด์ไม่ใหญ่ เป็นแบรนด์เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นเราจะเข้าถึงเจ้าของได้ง่ายทำให้มีโอกาสได้คุยทำความรู้จักกัน

การเป็นผู้จัดจำหน่ายแปลว่าคุณอาจจะเจอคนที่อยากนำเข้าแบรนด์เดียวกัน อะไรคือจุดเด่นที่ทำให้ Gadget Story ชนะใจเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ทำให้พวกเขาไว้ใจที่จะขายในไทยผ่านคุณ

ด้วยความที่แบรนด์ที่เราเอาเข้ามาจำหน่ายเป็นแบรนด์ใหม่และเป็นสตาร์ทอัพ เขาไม่รู้จักว่าตลาดโลคอลเป็นยังไงใช่ไหมฉะนั้นเราทำหน้าที่ให้เขาตั้งแต่วิเคราะห์ตลาด ดูทาร์เก็ตลูกค้า บริหารจัดการโกดัง ดูแลโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงทำบริการหลังการขายครบวงจร แบรนด์ไม่ต้องทำเองเลยแค่เช็กแบรนด์ดิ้งและรอดูรีพอร์ตอย่างเดียว เรียกว่าเราเป็น end-to-end service บริการครบวงจรให้กับแบรนด์เลย

กับแต่ละแบรนด์เราก็ tailor-made ให้หมดตามแบรนด์ดิ้งของเขา ตั้งแต่โซเชียลมีเดียจนถึงบริการหลังการขาย อย่างถ้าเป็นผู้จัดจำหน่ายทั่วไปเขามักจะใช้ customer service กลางของบริษัทซึ่งมันมีความเป็นโปรเฟสชันนอลแต่เรามองว่าเราอยากเข้าใจลูกค้าของแต่ละแบรนด์จริงๆ ทรีตเขาให้เหมาะสมจริงๆ ก็เลยให้บริการหลังการขายของแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกันตามทาร์เก็ต

ตอนนี้เราขยายธุรกิจไปทางด้านโปรดักชั่นด้วยเพราะว่าสินค้าไอทีที่เราจำหน่ายเป็นของที่มี quality ค่อนข้างสูง ลูกค้าเขาก็คาดหวังและให้ความสำคัญกับโปรดักชั่นในการขายที่มีคุณภาพเช่นกัน

เรามองว่าการทำ end-to-end service แบบนี้เป็นจุด compititive adventage ของเรา แบรนด์เองสามารถขยายธุรกิจได้เร็ว เราก็มีความคล่องตัวในการบริหารแบรนด์ ร้อยเปอร์เซ็นต์ของแบรนด์ที่เราดูแลตอนนี้เป็นสตาร์ทอัพทั้งหมด สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการก็คือการตัดสินใจที่รวดเร็ว พอเราเป็นสตาร์ทอัพทั้งคู่มันก็เลยทำให้แบรนด์ที่เราดูแลโตได้ค่อนข้างไวในไทยผมว่ามันเป็นจุดเด่นของเราที่เจ้าใหญ่ๆ อาจจะทำได้ไม่เท่า เหมือนที่เขาเรียกว่าตัวเล็กต่อยเบาแต่ต่อยรัว (หัวเราะ)

การขายแก็ดเจ็ตในไทยต่างจากการขายแก็ดเจ็ตในตลาดอื่นๆ ไหม

ผมยกตัวอย่างจากสิ่งที่ไม่ใช่แก็ดเจ็ตก่อนแล้วกัน พวกงานศิลปะ  งานแฮนด์เมดที่จะเห็นว่าต่างประเทศ เช่น ประเทศในยุโรปค่อนข้างให้คุณค่างานดีไซน์ ไอเดีย งานทำมือ มันจะมีราคาค่อนข้างสูงและคนก็รับได้ที่จะจ่ายในราคานั้น

กับสินค้าไอทีแก็ดเจ็ตผมมองว่าตลาดโลกเขาก็ใส่ใจและให้คุณค่าเรื่องดีไซน์และฟังก์ชั่น เขาดูว่ามันตอบโจทย์ไหม ฟังก์ชั่นในการใช้งานเป็นยังไง ราคาอาจจะไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจขนาดนั้นแต่ว่าถ้าเป็นลูกค้าไทย ส่วนใหญ่จะถามก่อนว่าสินค้าราคาเท่าไหร่ เรื่องราคามาเป็นอันดับแรก ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายว่าถ้าเราอยากส่งมอบสินค้าที่มีฟีเจอร์  มีดีไซน์สวยงาม ราคาสูง เราจะทำยังไง

คุณทำยังไงให้คนเข้าใจและเปิดใจรับราคาสินค้าได้

เราพยายามทำให้ลูกค้าเห็นถึงข้อดี เห็นว่าฟังก์ชั่นของสินค้าของเรามันจะมาช่วยเหลือเรื่องการทำงานหรือช่วยให้ใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้ยังไง ให้คุณค่ากับสตอรีกับแบ็กกราวนด์ของสินค้า

ยกตัวอย่าง Keychron สมมติลูกค้าบอกว่าปกติเขาซื้อคีย์บอร์ดตัวละ 900 ทำไมเขาต้องเปลี่ยนมาซื้อคีย์บอร์ดตัวละ 3,000 ด้วย ถามว่ามันใช้พิมพ์งานได้เหมือนกันไหม มันก็ได้ แต่เราก็ชวนเขาดูเรื่องฟังก์ชั่นที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากการพิมพ์ การเชื่อมต่อทำได้เหมือนกันไหม เสถียรเหมือนกันไหม วัสดุ ดีไซน์ต่างๆ กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีลูกค้ามาถามว่าทำไมแพงซึ่งเราแฮปปี้มากนะที่จะอธิบายเพราะถือว่าเราได้โอกาสในการพูดคุย สร้างความเข้าใจกัน

อีกเรื่องคือการสื่อสารแบรนด์ดิ้ง เดี๋ยวนี้คนซื้อไอทีแก็ดเจ็ตเพราะว่ามันบ่งบอกถึง personality มันมีความหมายสำหรับบางคนซึ่งสินค้าเราก็ตอบโจทย์ตรงนี้ เมคานิคอลคีย์บอร์ดเดี๋ยวนี้มันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะในหมู่เกมเมอร์หรือว่า expert user แล้วแต่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ฉะนั้นการสื่อสารให้เห็นไลฟ์สไตล์ ดูเข้าถึงง่ายเป็นสิ่งสำคัญ เราเลยเน้นทำโปรดักชั่นต่างๆ ให้ดูดี อันนี้ก็เป็น key factor นึงที่จะทำให้คนมาสนใจ 

จากตอนเปิดบริษัทจนถึงตอนนี้กลุ่มลูกค้าที่คุณเจอแตกต่างกันไหม

ถ้าช่วงแรกต้องบอกว่าลูกค้าของเราเป็นกลุ่ม tech savvy เป็นคนที่ชื่นชอบสินค้าไอทีจ๋าๆ อยู่แล้วแต่ว่าตอนนี้ก็ถือว่ามันแมสขึ้น กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มทั่วไปค่อนข้างเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราถือว่ามาถูกทาง

คิดว่าทำไมสินค้าไอทีแก็ดเจ็ตที่ niche ขึ้น มีดีไซน์มากขึ้น ไม่ดูไอทีจ๋าถึงแมสขึ้นเรื่อยๆ ในไทย

ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจังหวะ ช่วงที่กระแสสินค้าพวกนี้กำลังมามันเป็นช่วงโควิดที่คนกำลังเวิร์กฟรอมโฮม จะเห็นว่ากลุ่มนึงที่ดังขึ้นมาคือกลุ่มจัดโต๊ะคอมพ์เพราะเหมือนคนอยู่บ้านแล้วเห็นว่าสเปซที่นั่งทำงานเป็นเรื่องสำคัญ อยากทำให้มุมทำงานมันดีขึ้น

นอกจากเรื่องเวิร์กฟรอมโฮมก็มีกระแสเวิร์กไลฟ์บาลานซ์หรือเรื่องความสุขในการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย เดี๋ยวนี้การทำงานเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น ดีเทลมากขึ้น บางคนเขาไม่ได้อยากทำงานจนตายแต่อยากทำงานอย่างมีความสุข ฉะนั้นเพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดี ทำให้ตัวเองมีความสุขกับการทำงานเขาก็พยายามหาอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาเสริม เช่น คีย์บอร์ด

อย่างถ้าพูดถึง Keychron มันไม่ได้มีแค่ฟังก์ชั่นแต่มันบ่งบอกไลฟ์สไตล์ มันสวย มินิมอลก็เลยได้รับความนิยมมาก บางคนซื้อเพราะว่าดีไซน์ การใช้งานเป็นของแถมด้วยซ้ำ แล้วเขาถึงได้สัมผัสฟีลลิ่งการพิมพ์ว่ามีคีย์บอร์ดแบบนี้ด้วยเหรอ เจ๋งดี  เขาก็หันมาสนใจเมคานิคอลคีย์บอร์ดมากขึ้น พอมันเป็นกระแส ไม่ว่าจะเป็น tech savvy หรือคนทั่วไปก็เข้าถึงสินค้าแก็ดเจ็ตได้หมด โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่เขากำลังหาอุปกรณ์ทำงานพอดี

รู้มาว่าเป้าหมายของ Gadget Story คือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ คุณมีแผนการยังไงในการพาบริษัทไปให้ถึงจุดนั้น

ด้วยความที่แบรนด์ที่เราดูแลอยู่ตอนนี้เป็นแบรนด์สตาร์ทอัพ อยู่ในมาร์เก็ตใหม่ เรามองว่ามันมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่านี้ใน 5 ปี 10 ปีอยู่แล้ว แต่การเพิ่มยอดขายอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ มันยังมีเรื่องของพาร์ตเนอร์ชิปที่เราเริ่มมองหามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ชิปในฝั่งดีลเลอร์ พาร์ตเนอร์ธุรกิจต่างๆ เช่น ด้านธุรกิจการเงิน royalty program ต่างๆ มีนักลงทุน หรือแม้แต่ดีไซเนอร์

ถามว่าทำไมมีดีไซเนอร์ เพราะเราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้เทรนด์การคอลแล็บกำลังมา ในกลุ่มสินค้าแก็ดเจ็ตก็ด้วย พอเรามีคอนเนกชั่นกับทางแบรนด์โดยตรงเราก็สามารถมีโปรเจกต์ที่แมตช์แบรนด์ดิ้งของแบรนด์เข้ากับดีไซเนอร์คนไทยที่มีชื่อเสียงได้ อันนี้เป็นอีกกลยุทธ์ที่บริษัทเราก็มองไว้เพื่อที่จะพาเราให้เป็นที่รู้จักแล้วก็เติบโตมากขึ้น

แล้วเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ล่ะ ภาพ Gadget Story ในอนาคตที่คุณมองเห็นเป็นแบบไหน

เราต้องการเป็นบริษัทผู้นำที่ส่งมอบสินค้าไอทีแก็ดเจ็ตทันสมัยใหม่ล่าสุดจากทั่วโลกเพื่อรองรับการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนหน้าที่ของเราคือการเฟ้นหาและนำสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้นมาส่งมอบให้ลูกค้าด้วยวิธีการและบริการที่ดีที่สุด นี่คือวิชั่นหลักของ Gadget Story

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like