Dynamic Island
‘Dynamic Island’ ภารกิจเปลี่ยนรอยบากที่เป็นบั๊กเป็นโอกาสในธุรกิจของ iPhone 14 Pro
ทุกครั้งที่ Apple เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทมักได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก การเปิดตัว iPhone สินค้าที่เป็นพระเอกของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2007 ถือว่าเป็นหนึ่งกิจกรรมประจำปีอย่างหนึ่งที่หลายคนตั้งตารอคอย
แต่ต้องยอมรับครับว่าช่วงหลังๆ Apple ไม่ค่อยมีอะไรที่ทำให้รู้สึก ‘ว้าว’ สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เราจะเห็นการอัพเกรดฮาร์ดแวร์กล้อง ชิป แบตเตอรี่ หน้าจอสว่างขึ้น ชัดขึ้น และซอฟต์แวร์นิดๆ หน่อยๆ ตัวเครื่องก็เพิ่มสี ปรับขนาดหน้าจอ เปลี่ยนชื่อเรียก อาจจะมีเปลี่ยนโฉมบ้างอย่างตอน iPhone 3G เปลี่ยนเป็น iPhone 4 หรือ iPhone 11 เปลี่ยนเป็น 12 แล้วก็เอาออกมาวางขาย แต่ถามว่าขายได้ไหม ก็ยังขายได้ เพราะทุกคนทราบดีเรื่องของคุณภาพ iPhone ไม่เป็นรองใคร แต่มันเริ่มซ้ำๆ เดิมๆ วนไปเหมือนเดิมทุกปี (ดีหน่อยที่ปีนี้ประเทศไทยถูกปรับให้เป็นประเทศ Tier 1 วางขายพร้อมกับอเมริกาเลย สามารถจองได้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2022 เป็นต้นไป)
แต่ปีนี้ที่สิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความเจ๋งของ Apple คือฟีเจอร์ที่เรียกว่า ‘Dynamic Island’
หลังจากข่าวลือว่า Apple จะเปลี่ยนรอยบากหรือ notch บนหน้าจอให้กลายเป็นรูรูปเหมือนเม็ดยาออกมาได้สักพัก ตอนแรกก็คิดครับว่าก็คงเหมือนสมาร์ตโฟนยี่ห้ออื่นแหละ ทำให้รอยบากลดลง ใส่กล้องหน้าใส่เซนเซอร์เข้าไปในรูปรูวงรีแล้วก็จบ นอกจากจะไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นแล้ว ยังมาช้ากว่าเพื่อนไปอีกหลายปีด้วย คนอื่นๆ เขาทำกันมาตั้งนานแล้ว ซึ่งหลายคนคิดผิด–ผิดไปมากเลยทีเดียว
ขอพาทุกคนย้อนกลับไปในปี 2018 ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบสิบปีของการเปิดตัว iPhone ตอนนั้น Apple เปิดตัว iPhone X ออกมาสู่ตลาด สร้างเสียงฮือฮาอย่างมาก มันเป็นรุ่นแรกที่ไร้ปุ่ม Home ที่หลายๆ คนรัก (และยังรักอยู่) แนะนำฟีเจอร์ใหม่อย่าง Face ID ที่ใช้ใบหน้าเพื่อปลดล็อกโทรศัพท์และทำธุรกรรมต่างๆ บน iOS (อย่างการซื้อแอพบน AppStore) และแน่นอน รุ่นนี้คือรุ่นแรกที่นำ ‘รอยบาก’ หรือ notch มาสู่ iPhone และคนก็ด่าและแซะกันสนุกปาก
ยกตัวอย่าง Samsung คู่แข่งตลอดกาลของ Apple หลังจาก iPhone X เปิดตัวพร้อมรอยบากก็ปล่อยโฆษณาที่ชื่อว่า ‘Growing Up’ ออกมาแซะทันที ในวิดีโอนี้ก็จะเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมๆ กับ iPhone รุ่นต่างๆ โดยมีเพื่อนที่ใช้ Samsung เติบโตมาด้วยกัน โดยในแต่ละรุ่นก็แสดงว่า iPhone นั้นด้อยกว่าตรงไหนบ้าง เช่น กันน้ำ จดโน้ต หรือชาร์จไร้สาย (ซึ่ง Samsung มักจะออกฟีเจอร์เหล่านี้มาก่อนและ iPhone ตามมาทีหลังเสมอ) จุดพีคคือตอนสุดท้ายครับที่ชายหนุ่มคนนี้เปลี่ยนโทรศัพท์เป็น Samsung แล้วเดินผ่านหน้า Apple Store ซึ่งมีแถวยืนอยู่ ในแถวนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งที่ทรงผมด้านหน้าเหมือนรอยบากของ iPhone X เลยนั่นเอง
ไม่ใช่เพียงแค่คู่แข่งเท่านั้นที่ออกมาแซะ แต่ผู้ใช้งานด้วย หลายคนเรียกมันว่าเป็น ‘บั๊ก’ หรือความผิดพลาดในการออกแบบของ Apple และผิดหวังที่พวกเขาทำได้แค่นี้
รอยบากที่ว่าแบ่งผู้ใช้งานออกเป็นสองกลุ่ม คนที่ใช้ไปแล้วไม่สนใจเลย กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไงก็ไม่ชอบเอามากๆ (ซึ่งหลังๆ มาสมาร์ตโฟนจากบริษัทอื่นๆ ก็ออกมามีรอยบากกันแทบทุกเจ้าเลยนะ)
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราเห็นบริษัทสมาร์ตโฟนอื่นๆ พยายามจะแก้ไขปัญหาเจ้ารอยบากนี้มาโดยตลอด Samsung หลายรุ่นลดขนาดรอยบากลงเหลือเพียงแค่จุดดำๆ ที่เป็นกล้องหน้า Asus ออกรุ่น Zenfone 8 Flip ที่เอากล้องหน้าออกไปเลย แต่ใช้กล้องหลังที่พลิกมาข้างหน้าได้แทน หรือที่ดูจะน่าสนใจสุดอย่าง Xiaomi Mix 4 ที่ซ่อนกล้องหน้าไว้ใต้หน้าจอและแสดงผลเต็มหน้าจอเลย เมื่อเปิดกล้องหน้า ตรงส่วนหน้าจอตรงนั้นจะดับเพื่อให้กล้องสามารถมองทะลุมาได้ แต่เวลาถ่ายภาพด้วยกล้องหน้าที่อยู่ใต้หน้าจอมันก็จะมัวๆ ฟุ้งๆ เหมือนอยู่ในความฝันและไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่
ส่วน Apple เองก็ไม่นิ่งนอนใจ ว่าไปแล้วพวกเขาก็พยายามปรับขนาดรอยบากให้เล็กลงมาเรื่อยๆ แต่มันก็ยังมีอยู่ตรงนั้นแหละ ถามว่าจำเป็นต้องมีไหม ก็จำเป็น เพราะกล้องหน้ายังไงก็ไม่มีทางหายไปไหนได้ ลองดูสถิติผู้ใช้งาน Instagram, BeReal, TikTok หรือ Snapchat ดูก็ได้ มันเติบโตและคนก็ใช้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ด้วย สะท้อนว่ากล้องหน้ายังคงจำเป็น
รอยบากเป็นเหมือน ‘Necessary Evil’ ปีศาจร้ายที่จำเป็นต้องมี เพราะต้องเอากล้องหรือเซนเซอร์ไว้ตรงนั้น แต่มันก็เป็นพื้นที่สีดำอันไร้ประโยชน์บนหน้าจอ ถ้าไม่ชอบก็ต้องทนเอา
จนกระทั่งปีนี้ Apple ได้ทำในสิ่งที่ไม่มีคนคาดคิด
เมื่อมันเอาออกไม่ได้ ก็ใช้ให้มันเป็นประโยชน์
แทนที่จะยอม iPhone ติดบั๊กไปเรื่อยๆ เปลี่ยนรอยบากตรงนี้ให้เป็นฟีเจอร์เลยละกัน เมื่อออกนอกกรอบไม่ได้ ก็ใช้กรอบนี้แหละเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เข้าไปให้มันมีประโยชน์ จนออกมาเป็นฟีเจอร์ที่เรียกว่า ‘Dynamic Island’
ในวิดีโอการเปิดตัวบอกว่า “เป้าหมายของเราคือการออกแบบพื้นที่แจ้งเตือนที่ชัดเจนและสม่ำเสมอและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแบ็กกราวน์ในรูปแบบที่สวยงามและตื่นตาตื่นใจ”
เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นเพียงแค่รูรูปเม็ดยาเหมือนอย่างที่เราคิดกันเอาไว้ Apple ใส่ฟีเจอร์ใหม่เข้าไปให้มันเปลี่ยนแปลงรูปทรงตามฟังก์ชั่นและสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไปเลย ถ้ามีการแจ้งเตือนก็จะขยาย ‘เกาะ’ เล็กๆ สีดำนั้นให้กว้างขึ้นเพื่อแสดงผลสิ่งที่กำลังทำงาน อย่างเช่นเรียก Grab ให้มารับ ก็จะแสดงว่าอีกกี่นาทีรถจะมาถึงระหว่างที่ใช้แอพอื่นอยู่ หรือถ้าอย่างฟังเพลงก็จะโชว์รายละเอียดในช่องนั้น พอมีคนโทรเข้ามาก็จะขยายรูให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้กดรับหรือวางสาย และอื่นๆ อีกมากมาย
แนวคิดของ Apple คือแทนที่จะ ‘แสร้ง’ ทำไม่รู้ไม่เห็นว่ามันมีรูรูปแคปซูลตรงนั้น ก็เอามันมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ไปเลยดีกว่า
การเผชิญหน้ากับข้อจำกัดแล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างโอกาสจากข้อจำกันนั้นทำให้นึกถึงเรื่องราวของ Netflix ที่ครั้งหนึ่งตอนที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทได้ไม่กี่ปี ตอนนั้นธุรกิจหลักคือร้านเช่าแผ่นดีวีดีออนไลน์อยู่ ปัญหาหนึ่งที่ลูกค้าบ่นเสมอคืออยากได้ดีวีดีให้เร็วขึ้น เพราะตอนนั้นใช้ตัวกลางเป็นไปรษณีย์ เมื่อดีวีดีออกจากโกดังหลักของ Netflix ก็ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2 วันเพื่อไปถึงบ้านลูกค้า เมื่อลูกค้าดูเสร็จก็หย่อนไปรษณีย์คืนมาใช้เวลาอีก 2 วันกว่าจะมาถึงโกดังหลัก ลูกค้าต้องรอประมาณ 4 วันเพื่อจะได้ดูเรื่องต่อไปซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมาก
Netflix ทราบดีว่าพวกเขาไม่สามารถไปเร่งให้ไปรษณีย์ทำงานเร็วขึ้นได้ และแน่นอนการจะไปสร้างโกดังขนาดใหญ่ตามพื้นที่ต่างๆ มันเป็นเรื่องที่ใช้เงินมหาศาลและไม่อยากทำ มันเป็นข้อจำกัดที่พวกเขาเผชิญหน้าและพยายามหาทางออกมาโดยตลอด
จนกระทั่งวันหนึ่ง มาร์ก แรนโดล์ฟ (Marc Randolph) ซีอีโอของบริษัทในตอนนั้นเห็นสถิติบางอย่างนั่นก็คือคนส่วนใหญ่จะเช่าหนังเรื่องเดียวกันในปริมาณที่เยอะมากในช่วงหนึ่ง เช่นช่วงนั้นแผ่นเรื่อง Jurassic Park เพิ่งออก คนก็จะอยากเช่าเรื่องนี้กันเยอะมาก เพราะฉะนั้นแทนที่จะรอให้ดีวีดีกลับมาถึงโกดังหลักโดยใช้เวลาสองวัน พวกเขาตัดสินใจเช่าห้องเล็กๆ เพื่อเป็นโกดังขนาดจิ๋วในพื้นที่แต่ละแห่ง พอคนหนึ่งดู Jurassic Park จบ หย่อนในตู้จดหมาย มันก็จะมาที่โกดังเล็ก ๆ อันนี้ที่มีพนักงานแค่คนเดียว ใช้เวลาเพียง 1 วันและดีวีดี Jurassic Park ก็จะถูกส่งต่อให้คนอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันเลย ใช้เวลาแค่ 1 วันเช่นกัน
เพราะฉะนั้นดีวีดีเรื่องหนึ่งแทนที่จะใช้เวลา 4 วันเพื่อจะไปถึงลูกค้าอีกคนหนึ่ง มันก็ใช้เวลาแค่เพียงสองวันเท่านั้น แต่ในประสบการณ์ใช้งานจริงๆ มันเร็วกว่านั้นด้วยเพราะส่วนใหญ่แล้วไปรษณีย์จะมาส่งดีวีดีเรื่องต่อไปในวันถัดไปเลย ยกระดับประสบการณ์การใช้งานอย่างมากให้กับลูกค้า และใช้เงินเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
เมื่อเผชิญหน้ากับข้อจำกัด สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือมองหาทางต่อสู้กับมัน เอามันออกไป ใช้เทคโนโลยี ใช้ทรัพยากรมนุษย์ เงิน หรืออะไรก็ตาม บางทีก็แก้ได้ บางทีก็แก้ไม่ได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือต้องใช้พลังงานเยอะมาก ในบางสถานการณ์ก็ถือว่าจำเป็น แต่มันมีอีกอย่างหนึ่งที่เราทำได้เช่นกันก็คือการใช้ข้อจำกัดหรือกรอบที่ถูกวางเอาไว้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้
กลับมาที่ iPhone ถามว่าทำไมคนถึงเกลียดรอยบาก?
เอาเข้าจริงอาจเพราะมันดูไร้ประโยชน์ก็ได้ (แม้จะจำเป็น) แต่ตอนนี้ Apple ได้แก้ไขปัญหาตรงนี้แล้วอย่างสร้างสรรค์ ‘Dynamic Island’ เปลี่ยนรอยบากที่เป็นบั๊กให้กลายเป็นฟีเจอร์ใน iPhone 14 Pro ไปเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าต่อจากนี้สมาร์ตโฟนรุ่นอื่นๆ ก็คงเริ่มหันมามองรอยบากของตัวเองใหม่อีกครั้ง
กรอบหรือรูดำ ๆ ที่มันช่างดูน่าเกลียดบนหน้าจอ ที่จริงแล้วมันมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพียงแค่ยังไม่มีใครคิดในกรอบได้อย่าง Apple เท่านั้น
ต้องปรบมือให้ Apple, อันนี้ ‘ว้าว’ ของจริง