คนที่ไม่ไทยแลนด์ ทำแบรนด์ชื่อไทยก็ได้

รวมมิตร 7 แบรนด์ต่างชาติหัวใจไทย กับแรงบันดาลใจที่ใช้คำไทยตั้งชื่อ

หากจะพูดถึงแบรนด์ที่เลือกใช้ชื่อข้ามประเทศข้ามภาษา มั่นใจว่าทุกคนคงจะคิดถึงแบรนด์ไทยแท้ในนามแฝงอินเตอร์อย่างฮาตาริ ไซโจเด็นกิ หรือยัสปาล

แต่ถ้าจะเล่าถึงชื่อแบรนด์ที่คนส่วนใหญ่รู้ที่มาที่ไปกันดีอยู่แล้ว หรือแนะนำแบรนด์ไทยที่ใช้ชื่อต่างประเทศนั้นหลายคนก็อาจจะพอรู้ข้อมูลกันมาบ้าง เพราะฉะนั้น คอลัมน์ Brand Name จึงอยากชวนมองมุมกลับ ปรับมุมมอง ไปเยี่ยมชม 7 แบรนด์ต่างชาติ (และแบนด์ต่างชาติ ที่ในแง่หนึ่งก็นับเป็นแบรนด์ในแวดวงอุตสาหกรรมดนตรีเช่นกัน) ที่เลือกใช้ชื่อภาษาไทยแทน

คำไทยๆ ที่ว่าจะเป็นคำว่าอะไร มีแรงบันดาลใจการตั้งชื่อมาจากไหน แล้วทำไมภาษาไทยถึงตอบโจทย์ เชิญทุกคนหาคำตอบกันได้

ตุ๊กตา (TUKATA)

ตุ๊กตา แบรนด์สัญชาติเกาหลีที่ขายสินค้าตรงตัวตามชื่อ แรกเริ่มเดิมทีเป็นที่รู้จักจากตุ๊กตาหน้าตาน่ารักในรูปทรงผักหลากสี จนตอนนี้แตกแขนงเป็นตุ๊กตาลายสัตว์ กระเป๋าผ้า แก้วน้ำ พรมเช็ดเท้า พวงกุญแจ และสารพัดของกุ๊กกิ๊กอีกหลายอย่าง ภายใต้การดูแลของ จอง ฮายอง (Jeong Ha Young) และ อี ฮโยจิน (Lee Hyo Jin)

ถ้าจะพูดถึงที่มาของชื่อภาษาไทย คงต้องย้อนกลับไปในปี 2556 ตอนฮายองมาเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมบริจาคตุ๊กตาให้กับเด็กกำพร้าที่จังหวัดเชียงราย เมื่อได้ยินเด็กๆ พากันดีใจร้องเรียก “ตุ๊กตา! ตุ๊กตา!” ราวกับได้เห็นสิ่งล้ำค่า เธอจึงเกิดแรงผลักดันให้ก่อตั้งแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาด้วยชื่อดังกล่าวในปี 2561 โดยทั้งฮายองและฮโยจินตั้งใจให้ตุ๊กตาของพวกเขาเป็นเพื่อนยามเหงา และเป็นตัวช่วยในการค้นหาความสงบสุขประจำวันจากสิ่งของเรียบง่ายรอบตัว

ซึ่งนอกจากแบรนด์จะใช้ชื่อตุ๊กตาเป็นภาษาไทยแล้ว สิ่งที่ล้ำยิ่งกว่าคือตุ๊กตารูปพริกก็ยังไม่วายมีชื่อว่า TUKATA PRIK GREEN และ TUKATA PRIK RED ไปอีก!

สนุก (SANUK)

แบรนด์รองเท้าที่อยากให้ทุกๆ เท้าสนุกสนานสมชื่อ ด้วยวัสดุจากธรรมชาติอย่างยางพารา ผ้าแคนวาสจากฝ้าย และผ้าใยกัญชง แปรรูปเป็นรองเท้าแฮนด์เมดที่เจ้าของแบรนด์เคลมแรงว่าจะใส่แบบไหนก็แล้วแต่ศรัทธา หุ้มส้นก็ได้ เหยียบส้นก็ดี เรียกได้ว่าเอาที่คนใส่สบายใจ

สนุก ก่อตั้งขึ้นทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2540 ใต้หลังคาโรงรถของ เจฟ เคลลี (Jeff Kelley) และรองเท้าแตะที่ทำจากพรมอเนกประสงค์สีเขียวอีกหนึ่งคู่ ด้วยความสะดวกสบายยามสวมใส่ ไม่นานสนุกจึงขยับขยายตลาดออกไปทั่วสหรัฐอเมริกาและส่งออกอีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แถมพ่วงด้วยตำแหน่งผลิตภัณฑ์รองเท้ายอดเยี่ยมแห่งปี 2553 จากเวที SIMA (The Surf Industry Manufacturers Association)

ส่วนที่มาของชื่อสนุก เจฟอธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ว่าทุกวันนี้ชื่อธรรมดาๆ นั้นถูกหยิบไปใช้หมดแล้ว ดังนั้นเขาจึงมองหาคำที่จะมั่นใจได้ว่าแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร และทันทีที่เพื่อนของเจฟเสนอคำไทยอย่าง ‘สนุก’ ให้ เจ้าตัวจึงรีบรับไอเดียนั้นไว้ และเริ่มออกแบบโลโก้หน้ายิ้มที่ใช้มาจนปัจจุบันในทันที

นอกจากนี้ เจฟยังบอกอีกว่าในวินาทีที่ค้นพบคำว่า ‘สนุก’ นั้น เขาเหมือนได้เจอกับคำที่สามารถอธิบายเนื้อแท้ของแบรนด์ที่เขาอยากจะสร้างเลยทีเดียว

เครื่องบิน (KHRUANGBIN)

“เราตกหลุมรักเพลงของดาว บ้านดอน, สุดรัก อักษรทอง, ดอน สอนระเบียบ, ฉันทนา กิติยพันธ์, ชาย เมืองสิงห์, อรอุมา สิงห์ศิริ, พิมพา พรศิริ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงดิอิมพอสซิเบิ้ล”

มาร์ค สเปียร์ (Mark Speer) เล่าถึงบล็อก Monrakplengthai และเพลงลูกกรุงในยุค 60s ที่เขาชื่นชอบ จนนำพามาซึ่งแรงบันดาลใจในการทำเพลงวงตัวเอง มาร์คเป็นมือกีตาร์ประจำ วงเครื่องบิน วงทรีโอ้จากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีซาวนด์จัดจ้านจากการผสมสานทั้งแนวคลาสสิกโซล, ดั๊บ และร็อก วงเครื่องบินประกอบไปด้วยสมาชิกอีก 2 คน ได้แก่ โดนัลด์ จอห์นสัน (Donald Johnson) มือกลอง และลอร่า ลี (Laura Lee) มือเบส

คำว่า ‘เครื่องบิน’ ถูกนำมาใช้เป็นชื่อวงในงานเล่นสดครั้งแรกโดยลอร่า ซึ่งในขณะนั้นกำลังเรียนภาษาไทยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Rosetta Stone ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าเธอชอบการออกเสียงของคำคำนี้ ถึงอย่างนั้น มาร์คก็ยังแอบเสริมว่าถ้ารู้ล่วงหน้าว่าวงจะดัง คงไม่เลือกใช้ชื่อวงที่ออกเสียงยากขนาดนี้หรอก (อ้าว!)

อร่อย (AROI)

ชื่อนี้ไม่บอกก็รู้ว่าต้องเป็นแบรนด์เกี่ยวกับอาหารอย่างแน่นอน ซึ่งถูกต้อง แต่ที่พิเศษขึ้นมาอีกหน่อยคือ อร่อย ไม่ใช่แค่ร้านอาหารไทยในต่างแดนที่มักจะตั้งชื่อภาษาไทยกันเป็นปกติ แต่เป็นร้านอาหารเอเชียนฟิวชั่นที่มีให้เลือกสรรตั้งแต่สตรีทฟู้ด อาหารมังสวิรัติ ไปจนถึงเมนูปราศจากกลูเตน โดยมีที่ตั้งอยู่ในเมืองคิลเคนนี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไอร์แลนด์

ฟาดีลาห์ มอกห์ตาร์ (Fadilah Mokhtar) หัวหน้าเชฟประจำร้านอร่อยยืนยันความอร่อยของตัวเองด้วยรางวัลการันตีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Most Authentic Asian Fusion Restaurant Ireland ในปี 2561 Best Asian Fusion Chef Ireland และ Best Asian Fusion Restaurant Ireland ในปี 2562 แถมยังเข้าชิงรางวัล Restaurants Association of Ireland ถึง 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2562

กิมมิกอีกอย่างของร้านคือทุกๆ วันอังคารจะเป็นวัน Movie Night ซึ่งแขกสามารถสั่งเซตอาหารจานหลัก ไอศครีมเจลาโต แถมตั๋วเข้าชมภาพยนตร์หนึ่งใบได้ในราคา 18 ยูโร ยังไม่หมดเท่านั้น ในวันพฤหัสบดีที่ร้านอร่อยคือค่ำคืน Ladies Night ที่เมื่อสุภาพสตรีสั่งเมนูเรียกน้ำย่อยคู่กับจานหลัก ทางร้านจะมอบโปรเซคโก้ เครื่องดื่มสปาร์กกลิงไวน์ให้ไปนั่งจิบกันสวยๆ แบบไฮซ้อไฮโซอีกหนึ่งแก้ว

หมวก (Muak)

เช่นเดียวกับแบรนด์ตุ๊กตาที่ขายตุ๊กตา ร้าน หมวก เองก็ขายหมวกตามชื่อ ง่ายๆ ซื่อๆ ไม่อ้อมค้อม 

หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้างเนื่องจากหมวกมีหน้าร้านในกรุงเทพฯ ถึงสี่สาขา ไม่ว่าจะเป็นที่สยามดิสคัฟเวอรี่, เอ็มโพเรียม, เซ็นทรัลชิดลม และไอคอนสยาม แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วแบรนด์หมวกมีจุดเริ่มต้นมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ณ ถนนนิมมานเหมินทร์ซอย 9 โดยดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น ซาโตชิ อาซาโนะ (Satoshi Asano) และเอมิ อาซาโนะ (Emi Asano) ที่ตัดสินใจย้ายบ้านมาลงหลักปักฐานในประเทศไทย

จากความสนใจในศาสตร์หัตถกรรมท้องถิ่นทางภาคเหนืออันละเอียดลออพิถีพิถัน พวกเขาจึงจุดประกายอยากทำหมวกที่รวมทั้งแฟชั่นและการใช้งานได้จริงเข้าด้วยกันขึ้นมาบ้าง

ด้วยวัสดุท้องถิ่นและวิธีการถักทอที่ทั้งคู่เรียนรู้มาจากช่างฝีมือในจังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นภายใต้แบรนด์หมวกจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการใช้งานในประเทศไทย เพราะทั้งน้ำหนักเบา พกพาง่าย แถมยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย

สยามมิส แคทส์ (Siamese Cats)

ไม่ใช่แค่ชื่อภาษาไทยเท่านั้น แต่ชื่อพันธุ์ไทยแบบนี้เราก็นับ!

สยามมิส แคทส์ คือวงดนตรีอินดี้ป๊อปจากเมืองอุรายาสุ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่มัธยม 4 คน ได้แก่ โทโมยูกิ นัตสึเมะ (Tomoyuki Natsume) นักร้องนำและกีตาร์, ชินอิจิ สุกาวาระ (Shinichi Sugawara) มือกีตาร์ ร้องประสาน และแต่งเพลง, โทโมยูกิ โอตสึกะ (Tomoyuki Otsuka) มือเบส และโยริมาสะ ฟูจิมูระ (Yorimasa Fujimura) มือกลอง ซึ่งถ้านับจนถึงปัจจุบัน แมวสยามทั้งสี่ชีวิตนี้ก็เดินบนเส้นทางสายดนตรีมาแล้วร่วม 13 ปี พร้อมผลงานถึง 5 อัลบั้มเต็ม 2 มินิอัลบั้ม และซิงเกิลอีกมากมาย

ในส่วนของชื่อวงที่แปลว่าแมววิเชียรมาศนั้น นัตสึเมะกล่าวว่าเป็นเพราะแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวพันธุ์ไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหลายประเทศ เปรียบเสมือนเสียงดนตรีที่สามารถหลอมรวมคนจากทุกถิ่นทุกพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน

ถึงตรงนี้ ฟูจิมูระยังเล่าอีกว่าพวกเขามีตัวเลือกชื่อวงมากมาย แต่สุดท้ายชื่อที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุดก็คือสยามมิส แคทส์นั่นเอง

หมีน้อย (meenoi)

เห็นชื่อแล้วถึงกับขมวดคิ้วสงสัยว่าทำไมบี้ต้องฝืนตัวเองขนาดนี้ เพราะจริงๆ แล้วหมีน้อยไม่ได้ชื่อหมีน้อย แต่หมีน้อยชื่อว่ามีโนอิ ซึ่งมีชื่อจริงแบบจริงๆ ว่าพัค มินยอง (Park Min Young) อีกที ส่วนชื่อหมีน้อยนั้นเป็นชื่อเฉพาะที่แฟนคลับชาวไทยใช้เรียกกันเองด้วยความเคยชิน

ชื่อ มีโนอิ จดสูจิบัตรแจ้งเกิดในวงการเพลงเกาหลีครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในฐานะนักร้อง แรปเปอร์ และโปรดิวเซอร์ ครบจบในตัวคนเดียว ปัจจุบันเธอสังกัดอยู่กับ 8BallTown ซึ่งเป็นค่ายลูกของ AOMG ค่ายฮิปฮอปตัวท็อประดับต้นๆ ของเกาหลีใต้

และถึงแม้จะเพิ่งเดบิวต์ได้ไม่ถึง 3 ปี มีโนอิก็ผลิตผลงานออกมาแล้ว 1 อัลบั้มเต็ม, 1 อีพี, 9 ซิงเกิล พร้อมผลงานฟีเจอริงอีกมากมายชนิดที่เรียกได้ว่าทั่วฟ้าเมืองโซล

อ้างอิงข้อมูล

Writer

daughter, reader, writer, filmmaker, snack eater

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like