คิดแบบจอมยุทธ์ธุรกิจชา ต้องแสวงหา มิใช่รอคอย

ทางหมื่นลี้ของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า กับวิทยายุทธไร้กระบวนท่าที่ทำชามา 108 ปี

ว่ากันว่าคนไทยชอบเดินห้าง แต่คุณเคยเดินห้างใบชาหรือยัง

ณ ห้องแถวซอยเท็กซัส เยาวราช ที่ตรงนี้ย้อนกลับไปในยุคที่เยาวราชเป็นย่านการค้าหลัก คือจุดเริ่มต้นของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า กิจการชายุคแรกเริ่มในไทยที่ประสบความสำเร็จในการค้าปลีกและส่งชาทั่วประเทศตั้งแต่ยุคเสื่อผืนหมอนใบ เป็นต้นตำรับของชาหลายชนิด

หากเคยดื่มชาตราดอกบ๊วย น้ำเต้าเขียวเด็กคู่ ใบทอง ต้าหงเผา ตราสิงห์ นกอินทรีย์ทอง นั่นแปลว่าคุณเคยดื่มชาของห้างแห่งนี้

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ในยุคสมัยที่กิจการห้างใบชาสัญชาติไทยโด่งดังกว่าแบรนด์ชาหรือกาแฟแฟรนไชส์จากเมืองนอก เรื่องราวเบื้องหลังร้านชาแห่งนี้ไม่ใช่แค่ภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับชาแต่เป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจไร้กระบวนท่าที่มีเสน่ห์

ทั้งการทำการตลาดสไตล์กงสีที่แตกต่างจากการทำแบรนด์ยุคปัจจุบัน การขยายกิจการให้โตทั่วประเทศด้วยรถไฟ ขายชาด้วยสิ่งพิมพ์แค็ตตาล็อก ไปจนถึงกำลังภายในของคนทำธุรกิจครอบครัว

แมค–วัชรพงศ์ เหลืองอรุณศิริ และ ออย–ณภัทชา ภามโนดมผล ทายาทรุ่น 5 เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ลงคอร์สในห้องเรียนธุรกิจติดแอร์แต่กลับมาเรียนรู้ศาสตร์ธุรกิจจากครอบครัวและสุดยอดเคล็ดลับคือเอกลักษณ์การอบชาแบบดั้งเดิมที่ทำให้ชาตราสิงห์ม้าไม่เหมือนใครและอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้

มาฟังทั้งสองคนเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปในยุคสมัยของทายาทรุ่นก่อนไปจนถึงรุ่นบุกเบิกว่าการทำกิจการชาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มนั้นเหมือนและแตกต่างจากตำราธุรกิจยังไงบ้าง

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

หนีระเบิด เกิดเป็นห้างใบชา

ในขณะที่นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ยุคนี้เครียดกับวิกฤตเศรษฐกิจและการปรับตัวให้ทันโลกอยู่เสมอ วิกฤตของ young entrepreneur เมื่อร้อยปีที่แล้วคือหนีสงคราม

พ.ศ. 2457 ผู้ก่อตั้งแซ่ลิ้ม หรือเหล่าโจ๋วกงของทายาทรุ่น 5 ชาตราสิงห์ม้าในปัจจุบันต้องบอกลาครอบครัวที่เมืองเจี๋ยหยาง (揭阳/ เก๊กเอี้ย) มณฑลกว่างตง (广东/กวางตุ้ง) ตั้งแต่วัยรุ่น อพยพมาก่อตั้งกิจการค้าใบชาในไทยพร้อมนำวิชาความรู้ติดตัวที่ได้จากตระกูลค้าใบชาที่จีนมาด้วย

Start small! เหล่าโจ๋วกงไม่ได้สอนแต่ทำทิ้งไว้ให้ดู

เริ่มจากหาบใบชาและยาสูบเร่ขายตามชุมชนและถนน เก็บหอมรอมริบจนมั่นใจว่ามีเงินลงทุนและได้กระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า เห็นโอกาสขยับขยายทางธุรกิจ จึงชักชวนญาติพี่น้องมาช่วยกันเปิดหน้าร้าน ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้าจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2475 เปิดร้านแรกที่เสือป่าก่อนย้ายมารุ่งทรัพย์ที่เยาวราช

ต่อมาเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาใน พ.ศ. 2485-2488 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ระเบิดตกที่โกดังทำชา สินค้าและอุปกรณ์ทำชาทั้งหมดเสียหายจึงย้ายร้านมาที่ซอยเท็กซัส เยาวราชซึ่งเป็นตำแหน่งร้านในปัจจุบัน

เปิดห้างยังไงให้ปัง

ยุคสมัยก่อนลูกหลานคนจีนโตมากับชา มีวัฒนธรรมชงชากินเองที่บ้าน ตื่นเช้ามาชงชากาใหญ่ ผู้คนนิยมเดินทางมาซื้อหน้าร้าน ใครอยากซื้อชาต้องนึกถึงเยาวราช ซึ่งถือเป็นใจกลางย่านการค้าสมัยก่อนที่คนเดินทางไปมาสะดวก

Right timing, right location! คือหลักเปิดธุรกิจสุดคลาสสิกที่ใช้ได้ทุกสมัย

บรรยากาศห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ขนาด 2 คูหาที่เปิดถูกที่ถูกเวลาในยุคสมัยที่วัฒนธรรมการดื่มชาเฟื่องฟูแต่ยังไม่มีร้านชาในไทยเยอะมากนัก จึงมีคนแน่นขนัดเหมือนห้างสรรพสินค้าช่วงลดราคาในทุกวันนี้

หากมา ‘เดินห้างใบชา’ จะได้กลิ่นชาหอมอบอวลทันทีที่ย่างก้าวเข้ามา ความหอมของชานี้เป็นเอกลักษณ์ของชาสิงห์ม้า ซึ่งมีชาหลากหลายแบบให้เลือกสมชื่อเรียกกิจการว่าห้างใบชา ทั้งชาไทยสำหรับชงชาเย็น ชามะนาว ชาเขียวไทย ชาดำอย่างชาซีลอนและชาไข่มุก ชาจีนที่แบ่งออกเป็นชาสุ่ยเซียน รสเข้มข้นนุ่มชุ่มคอ ชาทิกวนอิมที่หอมและมีความเข้มข้นหลายระดับ ชาใบทั้งแบบกล่องและถุง ชาหมัก ชาแผ่นสำหรับชงร้อน ชาผงสำหรับชงเย็น

ชาแต่ละแบบยังแบ่งออกเป็นอีกหลายเกรดและรสชาติตามชนิดและกรรมวิธี พร้อมอุปกรณ์ชงชาดั้งเดิมทั้งกาน้ำชา ไก้หว่าน ฯลฯ วางเรียงรายแน่นขนัด เป็นสวรรค์ของคนรักชาที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อเกือบร้อยกว่าปีที่แล้ว

สมัยก่อนพื้นที่ในห้างยังถูกแบ่งเป็นอุตสาหรรมทำชาขนาดเล็ก ในตึกสามชั้นมีโกดังเก็บชา ที่อบชา โรงงานอบชาที่มีเตาอบหลายแบบทั้งเตาไฟฟ้า เตาฟืน เตาถ่าน ซึ่งเป็นความลับที่ทำให้ชาหอมและเข้มข้นชุ่มคอ

โฆษณาให้ดังไกลหมื่นลี้

ด้วยเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องตระกูลลิ้มซึ่งนับเป็นรุ่น 2 ของกิจการร่วมแรงร่วมใจกันทำการตลาด ขายของและหาลูกค้าใหม่ทุกวันด้วยสารพัดวิธีต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี     

แมค ทายาทรุ่น 5 เล่าถึงการตลาดสมัยก่อนว่า “เซลส์ถือกระเป๋าหนึ่งใบ นั่งรถไฟไปต่างจังหวัด เอาแค็ตตาล็อกเข้าไปหาร้านโชห่วย” แยกย้ายกันไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ขยายตลาดค้าส่งในต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว พ่วงด้วยออกโฆษณาโทรทัศน์ ออกงานที่คนเข้าร่วมล้นหลามในสมัยนั้นอย่างงานกาชาดและงานวชิราวุธเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากที่สุด

วิชาการทำแบรนด์ 101 ของคนยุคก่อนคือ แตกแบรนด์เดียวออกเป็นหลายแบรนด์ แม้เครื่องหมายการค้าหลักคือสิงห์ม้าแต่ในแค็ตตาล็อกจะพบแพ็กเกจชาในดีไซน์คลาสสิกหลากหลายแบบภายใต้ชื่อยี่ห้อที่แตกต่างกัน ทั้งดอกบ๊วย น้ำเต้า นกอินทรีย์ทอง ตั้งชื่อตามชนิดและรสชาติของชาที่แตกต่างกันออกไป

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ถ้าเปรียบกับปัจจุบัน สิงห์ม้าเป็นดั่ง house brand หรือสินค้าตราห้างนั่นเอง ส่วนชื่อตราที่แตกออกไปมากมายคล้ายแบรนด์ย่อยภายใต้ห้างหรือบริษัทนั้นๆ ตราดอกบ๊วยเป็นชาจีน ตรานกอินทรีย์ทองเป็นชาซีลอน ตราสิงห์เป็นชาผง เป็นต้น ทำให้ลูกค้าทั้งปลีกและส่งจดจำชื่อและรุ่นชาได้ง่ายจนคงเอกลักษณ์ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อห้างชาเป็นที่รู้จักโด่งดังก็เชิญชวนดารามาเป็นพรีเซนเตอร์ที่ร้าน จัดลดแลกแจกแถมของสมนาคุณและของรางวัล อย่างการแจกแก้วสกรีนลายห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่แถมไปในกระป๋องชา ใครได้แก้วลิ้มเมี่ยกี่ไปใช้ถือเป็นคอชาที่คูล ไม่ต่างกับคอกาแฟยุคปัจจุบันที่นิยมถือแก้วสตาร์บัคส์

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

อบชาให้หอมหมื่นลี้กับสำนักชาสิงห์ม้า

พระเอกที่ทำให้ชาตราสิงห์ม้าอยู่ได้นานกว่าศตวรรษคือ ศาสตร์การอบชาแบบดั้งเดิม 

ออย (ทายาทรุ่น 5) เล่าว่า สมัยก่อนมีแต้ซือ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจีนมาถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกในครอบครัว ทายาทบางรุ่นอย่างอาติ่ง–วีรพล มโนดมผล ทายาทรุ่น 3 ศึกษาชาจนเชี่ยวชาญถึงขั้นเป็นแต้ซือด้วยตัวเอง 

ในขณะที่บุณณดา เตชะกัลยาณิน (ทายาทรุ่น 4) บอกว่าแต่ก่อนศึกษาชาไปเรื่อยๆ จากการช่วยผู้ใหญ่ หัวใจคือคลุกคลีอยู่กับชาจนชำนาญ ทายาทแซ่ลิ้มแต่ละรุ่นต้องฝึกชิมชาซึ่งเป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนเปรียบได้กับการชิมน้ำเปล่าให้รู้รสแตกต่างกัน “เวลาเรากินน้ำเปล่า 10 ขวด ถ้ากินเยอะจะรู้ว่าไม่เหมือนกันทั้งกลิ่นและรสชาติ” ศิลปะของชาก็เช่นกัน แต่ละคนชิมแล้วรสชาติอาจไม่เหมือนกัน จึงต้องชิมให้เยอะแล้วมาคุยกัน 

กรรมวิธีอบชาของสิงห์ม้ามีหลายวิธีทั้งเตาไฟฟ้าและเตาถ่านดั้งเดิม แต่แมคบอกว่าการอบถ่านที่อนุรักษ์มาตั้งแต่รุ่นแรกนั้นเป็นชาเกรดพรีเมียมที่สุด ทุกขั้นตอนใช้คนดูแลซึ่งต้องใช้ฝีมือ

รายละเอียดเล็กน้อยที่ส่งผลต่อรสชาติของชามีทั้งระยะเวลาอบ ความแรงและความร้อนของไฟ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการให้ชาเป็นรสชาติแบบไหน ต้องลองผิดลองถูกจนรู้จริง พิถีพิถันสังเกตวิธีการวางถ่านและฟืน เก็บชาในห้องที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำชาแต่ละแบบเพื่อให้กลิ่นหอมอบอวล คั่วใบชาให้ได้รสชาติใกล้เคียงเดิมที่สุด 

สำหรับชาจีนรุ่นดั้งเดิมจะบรรจงห่อชาด้วยมือที่ฝึกฝนการห่อนานหลายสิบปีจนเชี่ยวชาญ ใช้กระดาษพิเศษจากจีนที่ไม่มีกลิ่น เก็บใบชาที่ห่อแล้วในลังดีบุกเพื่อไม่ให้ชื้นและมีกลิ่นอับ เมื่อเปิดฝาถังชาออกมาจะได้กลิ่นหอมอบอวล

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า
ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

กรรมวิธีเหล่านี้ โดยเฉพาะการอบชา คือประสบการณ์กว่าร้อยปีที่สะสมบ่มเพาะจนสามารถสร้างสรรค์รสชาติเอกลักษณ์ที่ทุกวันนี้ยังคงรายละเอียดดั้งเดิมไว้ได้ เป็นตำราสืบทอดจากบรรพบุรุษที่ยากจะบันทึกเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 ไว้ได้ทั้งหมด 

ศาสตร์ชาเหมือนวิชากระบี่ไร้กระบวนท่าที่ต้อง ‘รู้ทุกท่าจนคิดวิธีแก้ทางได้ทุกอย่าง’ แต่เดิมชามีเป็นร้อยชนิดที่แมคและออยบอกว่าคงจำไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อรู้หลักการทำชาโดยคร่าวก็สามารถปรับแต่งรสชาติชาได้ตามใจชอบ เพิ่มรสเปรี้ยวนิดหวานหน่อยได้ตามต้องการ 

หากกระบี่ไร้กระบวนท่าเพราะต้องปรับไปตามคู่ต่อสู้ จะเก่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในศาสตราและอาวุธที่หลากหลาย ชาก็ไร้กระบวนท่าเพราะปรับไปตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการเช่นกัน การเรียนรู้ทั้งศาสตร์ชาไทยที่เติมน้ำแข็งให้หอมเข้มข้นสดชื่นและการชงชาจีนที่หอมกลิ่นควันจากการคั่วให้รสเข้มข้นชุ่มคอจึงเหมือนเรียนวิทยายุทธของชาครบจบทั้งหยินและหยาง 

แมคบอกว่าเข้ามาเริ่มศึกษาธุรกิจครอบครัวเพราะ “ถ้ายังไม่ทำอะไร อีกหน่อยเรื่องนี้จะหายไป  ต้องเรียนจากทุกทาง” คือหน้างานและผู้คน ไม่เหมือนเรียนหนังสือแต่เหมือนเรียนวิทยายุทธในสำนักชา

“คนที่รู้เรื่องชาตั้งแต่ต้นและให้เราสัมภาษณ์ได้เหลือน้อยลงทุกที เราไปคุยกับอาเจ็ก คนรุ่นก่อน แลกเปลี่ยนกับหลายคนเพราะเรายังรู้ไม่เยอะ ต้องรักษาความรู้เหล่านี้ให้สืบทอดต่อไป” แม้จะเรียนแล้วยาก แต่อยู่ที่ใจ “ถ้าใส่ใจและให้เวลากับมันเพียงพอ ก็ไม่เกินความสามารถ”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

วิทยายุทธตั้งชื่อชา    

สำหรับคนนอกวงการชาอาจรู้สึกว่าร้านชาเข้าถึงยาก เฉพาะชาจีนสุ่ยเซียนก็แบ่งชาออกเป็นหลายเกรดที่ชื่อคล้ายกันมากมายอย่าง ต้นเก่า เก่าจริง เก่าเกรดที่หนึ่ง เกรดดี ชื่อในภาษาจีนก็ออกเสียงคล้ายกัน มีทั้ง เจี้ยจี่ เกาจี่ หยีจี่ ปิ่งจี่ เจินจี่ 

แมคที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงหาทางเล่าเรื่องชาให้เข้าใจง่ายมากขึ้นด้วยการทำเมนูที่เรียงสเกลความเข้มข้นของรสและความหอมของชาเพื่อให้ลูกค้าเลือกได้ง่ายขึ้น

รวมทั้งแปลชื่อชาจีนบางชนิดจากภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นชื่อไทยที่คนจำง่าย “สมัยก่อนไม่มีคำพวกนี้ เราเอามาแปลเป็นไทยตรงตัวอย่างกุญแจทอง น้ำเต้าเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” 

การตั้งชื่อชาเป็นทั้งวิธีการบรรยายสรรพคุณและการตลาดของคนจีนตั้งแต่โบราณแล้ว คนสมัยก่อนมักนำเรื่องเล่าและนิทานมาตั้งเป็นชื่อชา การเข้าใจความหมายของคำจึงทำให้เข้าใจที่มาของชาไปด้วย

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ตัวอย่างเช่น ชาจักรพรรดิมาจาก ในอดีตจักรพรรดิจีนไม่สบายเลยไปเด็ดชาจากยอดเขา พอดื่มแล้วร่างกายหายเจ็บป่วย ทำให้ชาเป็นที่เลื่องลือว่าสามารถดื่มเพื่อล้างพิษหรือรักษาสุขภาพได้ หากเลือกชาจากยอดเขาโดยเฉพาะก็จะยิ่งมีมูลค่าสูงที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ดั่งได้ดื่มชาเหมือนจักรพรรดิ

ส่วนชาไม่รู้ฤดูใบไม้ ผลิมาจากเรื่องเล่าว่าชาชนิดนี้จะงอกหลังฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ต้องสังเกตจุดสิ้นสุดของฤดูแล้วเก็บให้ทัน

เพราะชามีความหมาย ผู้คนจึงนิยมให้ชาเป็นของขวัญกันตั้งแต่ยุคก่อน ด้วยห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่สืบสานการห่อชาแบบดั้งเดิมมานาน แมคจึงทำห่อชาเป็นเซตของขวัญที่ผูกกับหลักฮวงจุ้ย จับคู่ชาแต่ละคาแร็กเตอร์กับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่ออวยพรคนทั้ง 5 ธาตุ ตั้งชื่อว่าเซต 5 มงคล

ชาจักรพรรดิแทนธาตุดิน ชากุญแจทองที่มีรสหนักสีเข้มแทนธาตุทอง ชาขาวเข็มเงินที่รสเบา กลิ่นหอม ดื่มง่าย แทนธาตุน้ำที่เป็นคนสบายๆ ส่วนชามังกรดำมีกลิ่นคั่วจากถ่านไม้แทนธาตุไม้

การตั้งชื่อและเล่าเรื่องชาเหล่านี้สามารถทำเองง่ายๆ สไตล์ธุรกิจขนาดเล็ก แต่กว่าจะจรดจดคำเป็นชื่อชาและรวบรวมเป็นคอนเซปต์ให้เป็นเรื่องง่ายแบบนี้ได้ต้องศึกษาจนรู้จริงอย่างละเอียดให้ได้ก่อน

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

มาตรฐานในวันวานและวันนี้  

ความท้าทายของธุรกิจเก่าแก่กว่าร้อยปีคือการคงมาตรฐานเดิมและสร้างมาตรฐานใหม่  

มาตรฐานเดิมคือทำยังไงให้ดีเท่าเดิม

ออยบอกว่ากาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คุณภาพชาจากต้นทางไม่เหมือนเดิม 

“ชาแต่ละตัวที่มาจากจีนไม่เคยเหมือนกันเลย การคงสิ่งเดิมให้คุณภาพเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมก็เป็นเรื่องยากมากแล้ว”

พอดินฟ้าอากาศเปลี่ยน ผลผลิตและรสชาติย่อมเปลี่ยนตามแต่ลูกค้าที่ดื่มชามายาวนานย่อมคาดหวังชาสเปกเดิม “ความยากคือความดั้งเดิม ถ้าเป็นเครื่องจักร เรากดสั่งได้ แต่ของเราเป็นศาตร์และศิลป์ เราเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทำ เลยกำหนดธรรมชาติไม่ได้ว่าจะต้องเป็นแบบเดียวกันทุกครั้ง” สิ่งที่ทำได้คือพยายามทำให้ใกล้เคียงแบบเดิมที่สุด 

มาตรฐานใหม่คือทำยังไงให้ปรับไปตามโลกได้  

โลกต้องการสร้างมาตรฐานใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน เช่น มีกฎหมายควบคุมความสะอาดเพิ่มเติมจากยุคเสื่อผืนหมอนใบ ลูกค้าโรงงานเจ้าประจำอยากได้คุณภาพที่มั่นคงซึ่งแมคบอกว่า

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สิ่งที่ปรับมาเยอะคือ มาตรฐานการผลิต เราไม่เหมือนสมัยก่อนในเรื่องมาตรฐานแต่กระบวนการยังคงแบบเดิม”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

ทั้งนี้แพ็กเกจของห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ตราสิงห์ม้ายังคงชื่อแบรนด์และกลิ่นอายดีไซน์จากสมัยก่อนด้วย แต่ปรับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในบางรุ่น จากกระป๋องชาไทยยุคดั้งเดิมที่ทำให้ขนส่งยากและราคาแพงในยุคปัจจุบัน ก็เปลี่ยนเป็นซองเพื่อให้ขนส่งปริมาณเยอะได้สะดวกขึ้น

มาตรฐานใหม่ยังรวมถึงการสร้างสิ่งใหม่ที่ต้องปรับไปตามยุคสมัยด้วย จากฐานกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่ขายมายาวนานจนเป็นที่รู้จักแล้วก็ขยายมาโปรโมตในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ตามยุคสมัย เพิ่มสินค้ารุ่นใหม่  

แมคสังเกตเห็นว่า “คนที่ชอบดื่มชาดอกบ๊วยก็ยังมีอยู่มาก แต่มีคอชากลุ่มใหม่ขึ้นมาอย่างวัยรุ่นที่ชอบชาผลไม้ รุ่นเราเลยทำชาพีชออกมา เราผสมใบชาเอง คั่วชาเอง ทำได้เองหมดเลย ทำให้พัฒนาชารสใหม่จากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วได้” การทำชาขึ้นอยู่กับคนผลิต ส่วนความต้องการสินค้าต้องสังเกตจากลูกค้า

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

กำลังภายในของทายาทบู๊ลิ้ม
ที่ทำธุรกิจอยู่กับปัจจุบัน

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เคยทำงานประจำในบริษัทมาก่อนทำธุรกิจครอบครัว แมคบอกว่า

“เราเคยคิดว่าเราเก่งจนพอมาทำธุรกิจถึงพบว่ามันต่างกัน ในแง่ความทุ่มเทและใจที่เราลงไป เราเคยคิดว่าเราทำได้แค่นี้ แต่ความจริงเราทำได้มากกว่านั้นเยอะ ไม่มีใครบอกว่าให้ทำยังไง เราต้องดูแลทั้งหมด ทุกอย่างเกิดจากใจ ลงมือลงแรงด้วยตัวเอง ไม่ได้มีหลักสูตรเรียน”

“บางทีเรามองว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมันเก่า แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เก่า มันมีคุณค่า สิ่งที่เขาทำคือ the best at that time แล้วในตอนนั้น สิ่งที่เราทำ คือ the best ของเราในเวลานี้เหมือนกัน เราจะเอาสิ่งที่มีมาใช้ยังไงให้เหมาะกับเวลาและพื้นฐานของเรามากกว่า”

กาลเวลาผ่านไปกว่า 100 ปีจากวันที่เหล่าโจ๋วกงของทายาทรุ่น 5 ก่อตั้งกิจการชา บุณณดาบอกว่า “ไม่ค่อยกังวลกับกิจการชาที่เปิดใหม่เพราะค้าขายกันคนละแนว  ชามีหลายชนิดและปรุงแต่งได้หลายแบบ เป็นทางเลือกหลากหลายให้คนดื่มชาได้หลายแนว”

นอกจากต่อยอดจากคนรุ่นก่อน หนุ่มสาวทายาทรุ่น 5 ยังบอกว่าอยากต่อยอดกับกิจการอื่นในเยาวราชแถวนี้ด้วย “เรามองว่ากิจการเรามีเรื่องเล่าและความเชี่ยวชาญด้านชา ธุรกิจและคาเฟ่อื่นๆ ก็มีความเชี่ยวชาญในวัตถุดิบที่ต่างกัน มองว่าสามารถแลกเปลี่ยนให้เกิดเมนูใหม่ร่วมกันได้” 

ศาสตร์ของชาไม่ใช่แค่ปลายทางที่ได้ดื่มชาแต่รวมถึงกระบวนการชงที่แมคบอกว่า “เวลาดื่มชาเหมือนได้กลับมาอยู่กับตัวเอง” คล้ายการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ปลายทางแต่เป็นเรื่องระหว่างทางที่มีความหมาย 

จิบชาแล้วจดบทเรียนจากแมค ทายาทรุ่น 5 ในวันนี้ไว้ว่า 

“เราเรียนรู้ว่าคนรุ่นก่อนทำอะไรมาเยอะกว่าที่เราคิด การที่เขาไม่ได้พูดไม่ได้หมายความว่าไม่ได้ทำ แต่ให้โอกาสเราทำ ถ้ายังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงทันที ยังไม่พร้อมลงทุนมาก ลองไปดูก่อนว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมา เขาทำไปเพื่อจุดประสงค์อะไรและจะปรับกับเราได้ยังไงบ้าง แล้วใช้สิ่งที่เรามีสู้กับปัจจุบัน”

“ลองเข้าไปดูแล้วจะรู้ว่าผ่านอะไรมา”

ห้างใบชาลิ้มเมี่ยกี่ ตราสิงห์ม้า

Writer

Craft Curator, Chief Dream Weaver, Lifestyle Columnist, Editor-in-Cheese, Design Researcher 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like