น้ำแข็งใส

‘ไสใส’ ร้านน้ำแข็งไสที่ใช้วัตถุดิบไทยหากินยาก เพื่อสร้าง demand ผักผลไม้ท้องถิ่นให้เกษตรกรไทย

*กรุณาตอบคำถามด้านล่างก่อนอ่านบทความนี้*

คุณเคยกินวัตถุดิบใดต่อไปนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก)

1. ดอกดาหลา – ไม้ดอกพื้นถิ่นทางใต้รสอมเปรี้ยว

2. มะแป่มแป๋ม – ผลไม้ป่าที่ออกผลเฉพาะฤดูร้อน

3. ข้าวกล้องก่ำน้อย – ข้าวเหนียวที่นำมาสีแบบข้าวกล้องเทกซ์เจอร์หนึบ

4. กระบก – เมล็ดพืชที่ถูกเรียกว่าอัลมอนด์ไทย

5. นมควาย – จากฟาร์มควายไทยที่คนไทยไม่ค่อยรู้ว่ามี

ไม่ต้องตกใจถ้าไม่เคยลิ้มลองสักข้อ หรือไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อมาก่อนเพราะคนไทยอีกมากก็ไม่เคยได้รับรส รับรู้ถึงวัตถุดิบพื้นถิ่นเหล่านี้

แต่ถ้าอ่านแล้วน้ำลายสอ อยากขอลองชิมสักครั้ง ไสใส รอคุณอยู่ที่ย่านประตูผี

ไสใส

ไสใส คือร้านน้ำแข็งไสที่หยิบสอยพืชผัก ผลไม้ วัตถุดิบพื้นบ้านจากทั่วประเทศมาแปรรูปเป็นท็อปปิ้งน้ำแข็งไสอย่างถึงรส​ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งไสท็อปด้วยฟักทองสามสายพันธ์ุและสาคูต้น น้ำแข็งไสซอสดอกดาหลาโรยหอมเจียว หรือน้ำแข็งไสรสเค็มๆ หวานๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเคยและน้ำเชื่อมดอกจาก

เปลี่ยนของเข้าถึงยากให้เข้าถึงง่ายเพียงตักเข้าปาก แนะนำวัตถุดิบพื้นถิ่นผ่านความอร่อย เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติและฤดูกาล และทำให้เกษตรกรกินอิ่ม นอนหลับ มีชีวิตที่ดี

มากกว่าความอยู่รอดทางธุรกิจ เป้าหมายของไสใสเป็นเรื่องเหล่านี้

Nature just got tastier! สโลแกนของร้านบอกเอาไว้แต่พอเห็นความตั้งใจที่จะแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้กับลูกค้า พาร์ตเนอร์ และสิ่งแวดล้อม เราก็อยากเพิ่มสโลแกนให้อีกหนึ่งอันว่า

Business just got better!

ไสใส

พันพันธุ์

ก่อนจะเป็นไสใส ฌา–ฬิฌฌา ตันติศิริวัฒน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมีธุรกิจในมือเป็นแบรนด์ข้าวออร์แกนิกชื่อว่า HATCH goodies 

ในโลกที่การเกษตรเชิงเดี่ยวช่วงชิงพื้นที่เพาะปลูกไปเรื่อยๆ สายพันธุ์ข้าวจากร้อยพันพันธุ์ก็ลดน้อยลง ฌาจึงอยากเก็บรักษาข้าวพันธุ์พื้นเมืองเอาไว้ด้วยการทำแบรนด์ดิ้งให้คนรู้จักและอยากกิน หลักการง่ายๆ คือเมื่อมีดีมานด์เกษตรกรก็อยากปลูกข้าวเหล่านี้เพิ่มขึ้น ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

“มนุษย์ทำการเกษตรกับข้าวหรือพืชพันธุ์อื่นๆ มานานแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ การเกษตรพวกนี้มันคือภูมิปัญญา คือวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกับสิ่งนั้นๆ คือความรู้ที่ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี เช่น รู้ว่าฤดูกาลที่เหมาะสมคืออะไร หรือรู้ว่าต้องเก็บเกี่ยวยังไง

“ความสำคัญอีกแง่หนึ่งคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดก็มียีนที่เก่งในด้านที่ต่างกัน เช่น พันธ์ุนี้ต่อสู้แมลงได้ดี พันธุ์นี้ทนน้ำท่วมได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติผ่านกาลเวลา ฉะนั้นถ้าพันธุ์ข้าวหายไปก็เหมือนมรดกบางอย่างหายไปด้วย และมันไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ความสำคัญแบบนี้ทำให้เราสร้าง HATCH goodies ขึ้นมา” ฌาย้อนเล่า

ไสใส
ไสใส

การทำ HATCH goodies ทำให้ฌาต้องขึ้นเหนือลงใต้ไปเจอเกษตรกรพาร์ตเนอร์และพบว่านอกจากข้าว รอบๆ นาข้าวก็มีของพื้นถิ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

“เมืองไทยไม่ได้มีผลผลิตแค่ข้าว เวลาเราเดินทางไปหาเกษตรกรหรือไปหาข้อมูลเราก็จะเห็นมุมอื่นๆ ด้วยเราเลยอยากมีพื้นที่ที่เล่าเรื่องวัตถุดิบอื่นบ้าง

“ประเด็นของวัตถุดิบพื้นถิ่นเองก็คล้ายกับข้าว เอาแค่เรื่องน้ำตาลก็ได้ สิ่งที่ให้ความหวานในเมืองไทยมีเยอะมากไม่ใช่แค่อ้อย แต่มีโตนด ต้นจาก มีต้นเหนา แต่การเข้ามาของโรงงานมันสนับสนุนให้เกิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น มีการให้ incentive ที่ดีกว่า คนก็เลยลดการปลูกพืชที่ให้ความหวานอื่นๆ ลงและหันไปสนใจพืชอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

“มันก็เชื่อมโยงมาสู่เรื่องดีมานด์-ซัพพลาย เป็นธรรมชาติอยู่แล้วว่าถ้ามีดีมานด์อะไร ซัพพลายก็จะสร้างสิ่งนั้น ฉะนั้นถ้าวันนึงคนไม่รู้ว่าสับปะรดมีสายพันธุ์หลากหลายเขาก็ไม่กิน พอคนไม่กินซัพพลายปลูกแล้วไม่รู้จะขายใครเขาก็เลิกปลูก ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราคิดว่าถ้าคนยังปลูกสิ่งที่หลากหลาย ความหลากหลายเชิงนิเวศ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ก็จะยังคงอยู่

“แล้ว ไสใส ก็เกิดขึ้นเร็วมาก”

ไสใส

หวานหวาน

“โจทย์มันเริ่มจากเรามีที่อยู่ในย่านประตูผีเลยคิดว่าเราอยากเล่าเรื่องวัตถุดิบพื้นถิ่นนี่นา อยู่ๆ เราก็คิดว่ามันต้องเป็นน้ำแข็งไส”

ฌาอธิบายเหตุผลหลักๆ ที่ต้องเป็นน้ำแข็งไสมา 2 ข้อ

หนึ่ง–ประตูผีเป็นย่านที่เต็มไปด้วยของกินอร่อยๆ และคงไม่มีอะไรเหมาะสำหรับการกินตบท้ายมื้ออาหารมากไปกว่าน้ำแข็งไสอีกแล้ว

“แถวนี้มีของคาวเยอะแล้ว เราจะทำเหมือนคนอื่นคงไม่ไหว แต่เรารู้ว่า journey ของคนที่มากินส่วนมากต้องตบท้ายด้วยของหวานแน่ๆ เมืองไทยเองก็อากาศร้อน ฟังแล้วมันถูกต้อง อยู่ใน sweet spot ของมันพอดี”

สอง–น้ำแข็งไสเป็นเมนูที่เรียบง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ แถมสามารถใส่ท็อปปิ้งอะไรก็ได้เหมาะกับวัตถุดิบอันหลากหลายจากทั่วประเทศที่ฌาอยากนำเสนอ

“น้ำแข็งไสมันยืดหยุ่นมาก จะเป็นอะไรก็ได้ สมุนไพร ผลไม้ รากไม้ เคยยังอยู่ในน้ำแข็งไสได้เลย ฉะนั้นมันยังมีพื้นที่ให้เรา twist ได้ตลอด”

ไสใส

ดูฤดู

นอกจากฌา ไสใสยังมีสมาชิกคนสำคัญอีกคนคือ มิ้นท์–เสาวลักษณ์ กิจวิกรัยอนันต์ เชฟและที่ปรึกษาด้านอาหารผู้ออกแบบเมนูทั้งหมดในร้านอย่างละเอียด

“องค์ประกอบพื้นฐานของน้ำแข็งไสคือน้ำแข็ง เราทำน้ำแข็งเองด้วยน้ำกรองสะอาดอัดแร่แมกนีเซียม เราอยากให้น้ำแข็งเป็นเหมือนกระดาษขาว เป็นแคนวาสที่สามารถชูวัตถุดิบให้โดดเด่น” ฌาเล่ากระบวนการคิดเมนูร่วมกับมิ้นท์ให้ฟัง

“ถัดจากเรื่องน้ำก็เป็นเรื่องเกล็ดน้ำแข็ง แบบเช็งซิมอี๊ก็เป็นเกล็ดที่ใหญ่หน่อย บิงซูเป็นเกล็ดบาง ใช้เครื่องอัตโนมัติทำ แต่เราอยากได้ฟีลเครื่องทำน้ำแข็งไสสมัยเด็กๆ ที่มันอารมณ์ความตั้งหน้าตั้งตารอระหว่างเขาทำน้ำแข็งไสให้เรา ข้อดีคือเครื่องนี้มันสามารถปรับเกล็ดขนาดน้ำแข็งได้ ดังนั้นในหนึ่งถ้วยเราจะมีเกล็ดน้ำแข็งสองแบบ ด้านล่างจะหนาหน่อยพอกรุบๆ ส่วนด้านบนจะบางเพื่อให้เวลากินแล้วน้ำแข็งไม่กวนรสวัตถุดิบ ยกเว้นบางเมนู เช่น ฟักทองที่มีซอสเข้มข้นมาก น้ำแข็งด้านบนก็ต้องใช้เกล็ดใหญ่นิดนึงเพื่อให้อุ้มซอสได้ดี

“ส่วนท็อปปิ้งคือแล้วแต่เลยว่าวัตถุดิบไหนจะมาเมื่อไหร่ เกณฑ์ของเรามีแค่เป็นวัตถุดิบไทย ไม่มีสารเคมีซึ่งเราได้มาจากทุกที่เลย เริ่มจากเกษตรกรที่เรารู้จักแล้วเขาก็เชื่อมโยงเราต่อไปเรื่อยๆ เวลาได้วัตถุดิบมาเราก็จะมาโยนไอเดียว่าช่วงนี้มีของแบบนี้ มิ้นท์เขาก็จะหยิบไปเล่นดูว่าอันไหนอยู่ด้วยกันแล้วเวิร์ก

“เราเปลี่ยนวัตถุดิบไปตามฤดูกาล ตามใจธรรมชาติ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารกับลูกค้าถ้าวัตถุดิบหมดจริงๆ เราก็เคารพตรงนั้นแล้วจบ เดินหน้าต่อ หาของใหม่”

เมนูที่เรากินวันนี้จึงบอกไม่ได้ว่าจะมีขายถึงเมื่อไหร่ ถ้าโชคดีก็อาจจะมีให้กินทั้งปี แต่ถ้าโชคร้ายหน่อย กลับมาพรุ่งนี้ก็อาจไม่มีแล้ว

“อย่างเมนูหวานจากเค็มเคยที่มีลูกจากกับเคยเป็นส่วนประกอบหลัก ตอนแรกคิดว่าจะอยู่ไม่นานเพราะว่าลูกจากที่บางปะกงเริ่มหมดปรากฏว่าลองหาดู เอ้า ไปได้ที่ตรัง พอที่ตรังเริ่มจะหมด เอ้า บางปะกงมาอีกแล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าเมนูหนึ่งมันมีหลายองค์ประกอบ เช่น ข้าวเม่ามันได้ปีละครั้ง พอมันเริ่มหมดเราก็เลยลองยกหูถามคนผลิตว่าพี่มีซุกตู้เย็นไว้บ้างมั้ย เขาก็ไปหาให้ที่ร้านนู้นร้านนี้ ปรากฏว่าไปคุ้ยตู้เย็นเจออยู่สามกิโลฯ เราก็เอา ดังนั้นบอกไม่ได้เลยว่าแต่ละเมนูจะขายนานแค่ไหน

ไสใส

“หรือเมนูน้ำแข็งไสเปรี้ยวหวานดาหลา อันนี้สนุกมากเพราะว่าผลไม้มาบ้างไม่มาบ้าง ที่เราเขียนลงไปในเมนูว่าจะมีสับปะรด เงาะ ส้มโอก็ถูกเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ส้มโอไม่มางั้นเอาสละที่วางอยู่หน้าร้านมาใช้แทนแล้วกัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้จักวิธีการเก็บรักษาวัตถุดิบ สมมติสับปะรดขายไม่หมด หรือกระท้อนเสียเร็วเอามาวางหน้าร้านได้ 3 วันเริ่มช้ำแล้ว เราก็ลองเอามาทำแยม

“พื้นที่นี้มันไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เรียนรู้ของลูกค้าแต่เป็นการเรียนรู้ของเราด้วย ทุกวัตถุดิบที่เราเอาเข้ามา เราเรียนรู้ใหม่หมด ถามว่าต่อไปเมนูของไสใสจะเป็นอะไรเราก็ยังไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าวันหนึ่งที่วัตถุดิบเราหมดแล้วเราโทรหาเกษตรกร เดี๋ยวเขาก็จะบอกเราเองว่าฤดูนั้นมีผลผลิตอะไร”

ฟังแบบนี้ ลูกค้าจะเป็นพระเจ้าในร้านไหนบ้างไม่รู้ แต่ที่นี่ธรรมชาติคือพระเจ้าเท่านั้น

เอร็ดอร่อย

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่คนมีต่อไสใส คือการเข้าใจว่านี่คือน้ำแข็งไสแสนเฮลตี้

“เราไม่ได้ตั้งใจทำให้เฮลตี้นะ เราทำให้อร่อย” ฌาแก้ข่าว

“คนจะมีภาพจำว่าของธรรมชาติ ของออร์แกนิกรสชาติต้องจืดๆ มีแต่คนรักสุขภาพเท่านั้นที่กิน เราเลยอยากทำให้มันอร่อย ทำให้สนุก แบบสโลแกน Nature just got tastier! 

“เราทำหน้าที่เอาวัตถุดิบมานำเสนอในรูปแบบที่เราคิดว่าอร่อย แต่เมนูของเราก็จะมีออพชั่น บางเมนูอาจจะแอดเวนเจอร์หน่อย ใช้วัตถุดิบที่คนไม่รู้ค่อยรู้จัก บางเมนูก็เข้าถึงง่ายหน่อย อย่างพวกเมนูผลไม้ เมนูมะม่วง แต่ถ้าเป็นมะม่วงเราก็ไม่ได้อยากใช้มะม่วงสวน เราจะไปเอามะม่วงหน้าบ้านเกษตรกรเพราะเรารู้ว่าพวกนั้นมันขึ้นเอง หรือเขาปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีแน่ๆ”

ไสใส

จากประสบการณ์การทำงานกับอาหาร สำหรับฌา ความอร่อยคือเครื่องมือแสนทรงพลังที่สามารถพาคนไปรู้จัก ไปรักความหลากหลายของธรรมชาติได้แบบเข้าถึงง่าย

“เวลาคุยกับผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเห็นว่ามันอร่อยก่อน ถ้ามันอร่อยเขาก็จะเปิดใจว่าโลกมีสิ่งนี้ด้วยเหรอ แล้วที่มาของมันคืออะไร

“บางทีลูกค้าไม่รู้จักวัตถุดิบนะแต่กินแล้วอร่อยเขาก็มาถามว่าที่มาของวัตถุดิบมันคือที่ไหน เราก็ถือโอกาสเล่าให้เขาฟัง เช่น น้ำเชื่อมดอกจากมีรสชาติแบบนี้เพราะว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศป่าชายเลนที่มีทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด เสตปต่อมาเราชวนคุยได้ว่าความสำคัญของลูกจากที่มีต่อระบบนิเวศคืออะไร

“เรื่องดีอย่างนึงคือตอนนี้คนไทยค่อนข้างเปิดรับของโลคอล มันเป็นช่วงที่เราค่อยๆ appreciate กับภูมิปัญญา อาจจะเพราะช่วงหลังๆ มีกลุ่มที่ผลักดันเรื่องงานโลคอลเยอะ เวลาลูกค้ามาที่ร้าน ต่อให้เจอของแปลกๆ เขาก็ไม่ได้ตัดสินว่ามันไม่ดี”

ไสใส
ไสใส

ทันทีที่เมนูหวานจากเค็มเคยถูกยกมาเสิร์ฟ เราถึงเห็นว่านอกจากน้ำแข็งไสเกล็ดละเอียด ลูกจากหนุบหนับ น้ำเชื่อมดอกจากหวานหอม และเคยกรุบๆ ภายในถาดยังแนบการ์ดใบเล็กมาด้วย

ด้านหน้าเป็นรูปวัตถุดิบหลัก ด้านหลังเป็นแผนที่ประเทศไทย ระบุว่าวัตถุดิบที่อยู่ในถ้วยลูกไหนคือพันธุ์อะไร เดินทางมาจากไหนบ้าง

“ทุกคนไม่ได้เป็นนักวิจัย ลูกค้าทุกคนไม่ได้พร้อมที่จะฟังข้อมูล หลายคนก็แค่อยากมาอร่อยซึ่งเราก็โอเค ไม่ยัดเยียด มากที่สุดที่เราทำได้คือการ์ดที่เขาหยิบขึ้นมาดูได้ว่าวัตถุดิบเด่นๆ ในถ้วยมาจากไหนบ้างแล้วถ้าเขาสนใจตอนนั้นเขาจะอยากฟังเอง แต่ถ้าไม่ อย่างน้อยๆ แค่เขากินแล้วอยากกินอีกก็สร้างดีมานด์ให้เกษตรกรแล้ว”

คนกินคนกรุง

ถ้าอยากรู้ทาร์เก็ตของไสใส ดูจากหน้าตาของร้านก็พอเก็ต

ที่นี่มีกำแพงสีสดใส ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามากำลังสวย ตรงกลางเคาน์เตอร์มีเครื่องไสหน้าตาวินเทจที่ลงเรือเดินทางมาจากญี่ปุ่น มองไปทางไหนก็น่ารักไม่ต่างจากคาเฟ่สวยๆ สักแห่ง

ไสใส

เหล่าคนที่ไปคาเฟ่ คนที่ไม่ได้อินของไทยเป็นพิเศษนี่แหละคือลูกค้าของพวกเขา

“ถ้าเราลองนึกภาพตาม จะมีคนกลุ่มที่ชอบกินของออร์แกนิก ถือถุงผ้า ใส่เสื้อม่อฮ่อม ชอบเดินงาน farmer’s market คนกลุ่มนี้เขาสนับสนุนเกษตรกรอยู่แล้วดังนั้นไม่ใช่ทาร์เก็ตหลักของเรา ถ้ามองด้วย psychographic (พฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ) ทาร์เก็ตของเราคือคนทั่วไปที่มีศักยภาพ เป็นฟู้ดดี้ที่ชอบกินของอร่อยและมีกำลังซื้อ สามารถสร้างดีมานด์ให้เกษตรกรได้ คนกลุ่มนี้เวลาเขาเจอของที่อร่อยเขาก็ appreciate และบอกต่อโดยที่ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องชอบหรืออินกับของไทย รูปแบบร้านเราเลยอิสระมากๆ ไม่ต้องมีความไทย แค่คงความเป็นธรรมชาติเอาไว้

“ตอนนี้ลูกค้าส่วนมากจะเป็น first jobber แล้ว first jobber ก็พาครอบครัวมาเพราะคิดว่าแม่น่าจะชอบ ผู้ใหญ่เขาไม่ได้ชอบของหวานที่หวานมาก เราเลยเหมือนเจอช่องว่างของตัวเองพอดี”

ไสใส

การทำไสใสไม่ได้มีแค่พาร์ตที่สดใส

ความท้าทายแรกคือการพยายามไม่ใช้ผลผลิตจากอุตสาหกรรมแต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับผลผลิตตามฤดูกาลซึ่งมีจำนวนซัพพลายไม่แน่นอน

ความท้าทายที่สอง คือการสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจเมสเซจที่ลึกซึ้งกว่าเรื่องรสชาติ

และเรื่องแสนคลาสสิกของการทำธุรกิจคือการดีลกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นคน

โจทย์สำคัญของไสใสคือการใช้วัตถุดิบปลอดสารเคมี ฌาจึงต้องมั่นใจว่าเกษตรกรที่ส่งวัตถุดิบมานั้นไว้ใจได้ แรกเริ่มเธอจึงทำงานกับเกษตรกรที่เคยร่วมงานกับ HATCH goodies และค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปจากการแนะนำแบบปากต่อปาก

“สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้มาจากการทำ HATCH goodies คือคนสำคัญมาก ตั้งแต่ตอนที่เราคุยกับเกษตรกรพาร์ตเนอร์เราต้องทำความเข้าใจไปถึงมายด์เซตของเขาเลยว่าทำไมเขาถึงทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ส่วนมากที่เราเจอ ย้ำว่าส่วนมากนะไม่ใช่ทั้งหมดจะมี turning point เช่น คนที่บ้านป่วยเพราะเคมี ได้เห็นว่าการทำเคมีส่งผลอะไรบ้าง หรือการที่ระบบนิเวศเจ๊งทำให้เกิดอะไรขึ้น พอมันมีเรื่องพวกนี้อยู่ในจิตใต้สำนึกแล้วยังไงเขาก็ไม่กลับไปทำเกษตรแบบใช้สารเคมี เราอยากร่วมงานกับคนที่มีมายด์เซตแบบนี้เพราะเราเชื่อใจได้ว่าเขาจะดูแลทั้งธรรมชาติและของที่คุณภาพให้เราแน่ๆ

“ความเชื่อใจสำคัญ เราไม่สามารถไปหาทุกคนได้ในเวลาเดียวกัน เราเลยต้องทำให้เขาเข้าใจว่าเราทำอะไร ทุกครั้งที่โทรไปคุยกับเกษตรกรเราก็จะอธิบายกับเขาว่าร้านเราอยู่ตรงนี้ จุดประสงค์ของร้านเราคืออะไร บางคนมาหาเราที่ร้านเราก็อยากให้เขาชิมว่าของของเขามันออกมาเป็นอาหารแบบนี้ เขาจะได้ภูมิใจ เข้าใจ และพร้อมดูแลวัตถุดิบให้เรา”

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างไสใสกับเกษตรก็เป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน ไสใสได้วัตถุดิบปลอดสารพิษมานำเสนอ ในขณะที่พยายามทำให้เกษตรกรพาร์ตเนอร์มีชีวิตที่ดีขึ้น

“เราอยากให้การทำงานร่วมกันมีนัยที่ดี เช่น เราไม่ส่งเสริมให้เขาใช้สารเคมี หรืออย่างป้าเอี้ยงที่ส่งลูกจากมาให้เราเขามีวิถีชีวิตกับแม่น้ำบางปะกง เราก็รู้ว่าถ้าเราได้ทำงานกับเขาแปลว่าเขาก็มีแรงเลี้ยงชีพกับแม่น้ำบางปะกงต่อไปได้ ถ้าไม่ใช่เกษตรกรเดี่ยวเราก็ชอบทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรโดยไม่ต้องเป็นกลุ่มใหญ่ก็ได้ เราจะได้โตไปพร้อมๆ กัน

“ชื่อไสใส ไส ไม้มลายคือน้ำแข็งไส ส่วนใสไม้ม้วนมันคือความ honest โปร่งใสที่เรามีให้กับลูกค้าว่าของที่เราเอามามันมาจากที่ไหนบ้าง มันปลอดสารเคมี คือความโปร่งใสที่เรามีให้เกษตรกร เราเคารพในความพยายามของเขาฉะนั้นเราให้เขากำหนดราคาสินค้าเอง ถ้าเรารับได้เราก็ไปต่อ หรือบางอย่างที่เขาให้มาในราคาไม่สูงเราก็บอกเขาตรงๆ ว่าถ้าไม่ไหวพี่ต้องบอก อย่าทำแล้วรู้สึกว่ามันกินตัวเอง

“สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ทำงานกับวัตถุดิบธรรมชาติและเกษตรกรคือเราต้องเข้าใจเขา เขาไม่ใช่อุตสาหกรรม หลายครั้งมากที่อยู่ๆ ของหมด ในใจเราคือ เฮ่ย ทำไมเขาไม่บอกเราก่อนล่วงหน้าสักสองอาทิตย์ แต่ว่าบางทีเขาก็ไม่รู้ไง มันหมดแล้วอะ เรื่องพวกนี้เราต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้ แล้วแก้ปัญหา เช่น อาจจะให้เขาช่วยหากลุ่มเกษตรกรที่ไว้ใจได้คนอื่นๆ หรือของบางล็อตมาแล้วมันไม่ดีเท่าที่ต้องการ เราจะส่งกลับไปก็ได้แต่มันก็ไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย ถูกไหม แต่ถ้าเราบอกเขาว่าพี่ ล็อตนี้มันมาไม่โอเคแต่ไม่เป็นไรนะ ล็อตใหม่ช่วยดูให้หน่อยเราก็จะได้พัฒนาทั้งคู่

“ฌาว่ามันจะยากในปีแรกๆ เพราะว่าเรายังพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจเกษตรกรแต่ถ้าทำงานไปสักพักเราก็คงรู้ว่าช่วงไหนมีวัตถุดิบอะไร การวางแผนก็จะง่ายขึ้น ระหว่างนี้เราก็ให้ลูกค้าเข้าใจไปพร้อมกับเรา หมดก็คือหมด ไม่มีก็คือไม่มี”

จะมีร้านไหนอีกที่วัตถุดิบหมดแล้วยังเล่าเมสเซจของร้านได้

ตอนนี้เรานึกออกแค่ร้านเดียว

ไสใส ประตูผี ยินดีต้อนรับ

ไสใส

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like