Pollution is the new black

‘Air-Ink’ หมึกดำจากมลพิษทางอากาศ เปลี่ยนสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง

ทุกๆ ปีมีคนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 8.7 ล้านคนทั่วโลก สถิติที่โหดร้ายและไม่มีท่าทีว่าจะหยุด สาเหตุหลักมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจล้มเหลว มลพิษทางอากาศถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกและยังไม่มีทางแก้ไขที่สามารถสร้างผลกระทบระดับใหญ่พอจะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของการสร้างมลพิษที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดได้

แต่ในความมืดมิดและเลวร้ายของมลพิษที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ยังมีชายคนหนึ่งที่เห็นประโยชน์จากมันและเชื่อว่าเขาสามารถนำสิ่งเลวร้ายที่ฆ่าคนเป็นล้านๆ ในแต่ละปีกลับมาสร้างบางอย่างที่มีประโยชน์ได้อีกครั้ง

ระหว่างเดินทางอยู่ในประเทศอินเดียในปี 2012 อนิรุธ ชาร์มา (Anirudh Sharma) สังเกตเห็นบางอย่างบนเสื้อสีขาวของเขาระหว่างที่กำลังเดินอยู่ข้างถนน มันเป็นผงเล็กๆ ที่เป็นผลพลอยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเบนซินและถ่านหิน (ในบ้านเราอย่างเชียงใหม่ก็จะเกิดจากการเผาป่าและเผาไร่ข้าวโพด) กำลังก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ตอนนั้นเขายังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology’s Media Lab) แต่รู้สึกเลยว่ามันเป็นปัญหาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสารสีดำที่อยู่ในอนุภาคมลพิษที่ฟุ้งกระจายในอากาศเหล่านั้น

เขม่าควันที่สวยงาม

ชาร์มากลับไปที่มหาวิทยาลัยแล้วเริ่มทดสอบไอเดียบางอย่างที่ติดอยู่ในหัวของเขาตั้งแต่กลับมาจากอินเดีย ในการขึ้นพูดบนเวที ​TED Talks เดือนตุลาคม 2018 เขาเอาภาพหนึ่งที่ถ่ายมาจากการเดินทางไปอินเดียครั้งนั้นขึ้นให้ผู้ฟังดู มันเป็นภาพผนังสีขาวที่เปื้อนคราบสีดำเข้มด้านขวามือและท่อไอเสียที่กำลังพ่นควันดำจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลทางด้านซ้าย ภาพนี้ทำให้เขาย้อนกลับไปคิดว่าเขม่าที่อยู่บนผนังเหล่านั้นคือสิ่งที่มีคุณลักษณะเหมือนกับ ‘หมึกสีดำ’ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในปากกาหรือเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต ศัพท์เทคนิคสำหรับสารนี้คือ ‘Carbon Black’ ซึ่งเป็นผงที่หลงเหลืออยู่หลังจากการเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน หลังจากนั้นถูกนำไปผสมกับพอลิเมอร์และตัวทำละลายเพื่อเปลี่ยนเป็นหมึกโรลเลอร์บอลสีดำที่ไหลลื่นในปากกาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ชาร์มาอธิบายต่อว่า

“แล้วถ้าใช้เขม่าได้ เราจะทำแบบเดียวกันกับมลพิษทางอากาศได้ไหมล่ะ ปากกาสีดำที่คุณใช้นั้นเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อทำหมึก แต่คุณไม่จำเป็นต้องเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่เพื่อทำหมึก เชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาอยู่ตลอดเวลา”

ถ้าเขาสามารถหาวิธีดักเก็บอนุภาคที่สร้างรอยเปื้อนบนผนังในภาพของเขาได้ ไม่เพียงแต่มันจะลดปริมาณมลพิษที่ปล่อยสู่อากาศเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนเขม่าควันเหล่านั้นให้เป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าและสวยงามได้อีกด้วย ชาร์มาอธิบายต่อว่า “หมึกเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์ที่ทรงพลัง หนังสือมีหมึกสีดำ ในงานศิลปะมีหมึกสีดำ แฟชั่นและสิ่งทอใช้หมึกสีดำ” 

ที่ผ่านมาเขามักจะพูดถึงประโยคของ บัคมินสเตอร์ ฟุลเลอร์ (Buckminster Fuller) สถาปนิก นักออกแบบ นักประดิษฐ์ และนักเขียนชาวอเมริกันผู้รุ่งเรืองแห่งศตวรรษที่ 20 ที่บอกว่า “มลพิษไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากทรัพยากรที่เราไม่ได้เก็บเกี่ยว เราปล่อยให้มลายหายไปเพราะไม่รู้คุณค่าของมันต่างหาก”

ในปี 2013 โปรเจกต์ของชาร์มากับเพื่อนอีกสองสามคนจึงเริ่มต้นขึ้นที่ห้องแล็บของ MIT เริ่มจากการดัดแปลงตลับหมึกของเครื่องปรินต์ให้สามารถใช้เขม่าควันที่มาจากเทียนไขจนสำเร็จ ต่อมาหลังจากจบปริญญาโทจาก MIT เขากลับมาที่อินเดียอีกครั้งหนึ่งเพื่อลุยกับแนวคิดนี้อย่างเต็มตัว จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า AIR-INK หมึกดำเชิงพาณิชย์ตัวแรกที่ทำจากมลพิษทางอากาศทั้งหมดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ดักจับมลพิษ

เขากับทีมเริ่มต้นจากการพิสูจน์ไอเดียทีละนิด ใช้เขม่าจากมลภาวะในอากาศมาทำสี เมื่อผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ จึงตัดสินใจสร้างห้องทดลองในโรงรถเล็กๆ ในเมืองบังกาลอร์เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่สามารถดักจับมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งก็คือจากเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรในโรงงาน ในช่วงหกเดือนต่อมาก็พัฒนาเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้นเพราะแหล่งที่มาของมลพิษสำหรับการทดลองไม่ใช่เรื่องยากเลยในประเทศอย่างอินเดีย

ในประเทศที่พัฒนาแล้วในฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกา มีกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับบริษัทต่างๆ ให้กำจัดอนุภาคคาร์บอนอย่างถูกต้อง แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างอินเดียไม่มีกฎบังคับอะไรแบบนั้น ข้อบังคับมักจะหลวมๆ บริษัทต่างๆ มักไม่ได้มีการจัดการที่ดี ขยะถูกเผา ถูกฝัง บางทีหลุดลงสู่แม่น้ำ พวกเขาเลยเริ่มประกาศหาบริษัทที่สร้างมลพิษเหล่านี้ ปรากฏว่ามีคนติดต่อกลับมาเยอะมาก

อุปกรณ์ชิ้นแรกที่พวกเขาสร้างขึ้นมีชื่อว่า Kaalink (มาจากคำศัพท์ภาษาฮินดู ‘Kaala’ ที่แปลว่าดำ) ที่มีอุปกรณ์กรองมลพิษอยู่ข้างใน Kaalink สามารถขยับขยายขึ้นเพื่อกรองมลพิษจากที่ไหนก็ได้ อาจจะเป็นท่อไอเสีย ปล่องควันบนเครื่องจักรขนาดเล็ก หรือแม้แต่จากอากาศโดยตรงเลยก็ได้เช่นกัน เปลี่ยนมลพิษที่กรองมาเป็นเขม่า จากนั้นก็ผสมของเหลวเข้าไปเพื่อสร้างเป็นหมึกสีดำเและนำไปใส่ในปากกาและมาร์กเกอร์ของ AIR-INK ในแต่ละแท่งจะบรรจุหมึกประมาณ 30 มล. เทียบเท่ากับมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลนาน 45 นาที

Anirudh

โลกของหมึกดำ

หลังจากได้ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว ชาร์มากับทีมเลยก่อตั้งบริษัทชื่อ Graviky Labs ขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการด้านการธุรกิจของตัว Kaalink และ AIR-INK ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรกที่พวกเขานึกถึงคือเหล่าศิลปิน เพราะเชื่อว่า ‘ข้อความ’ หรือความตั้งใจที่พวกเขาอยากส่งต่อให้โลกเห็นผ่านหมึกดำจากมลพิษนั้นจะได้รับการตอบรับที่ดีเมื่อถูกพูดถึงโดยศิลปินที่มีกลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่น

ในปี 2016 พวกเขาร่วมมือกับศิลปินชาวเอเชีย 9 คนเพื่อสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังในย่านเชิงหว่านของฮ่องกงโดยใช้หมึก AIR-INK โดยได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัท Tiger Beer ในสิงคโปร์เพื่อโปรโมตงานนี้ด้วย ชาร์มาอธิบายถึงเหตุการณ์นั้นว่า

“ศิลปะไม่ใช่เรื่องของการหารายได้สำหรับเรา แต่มันเป็นวิธีสร้างชุมชนให้มาอยู่ด้วยกัน ศิลปินทั้งหลายเอาไอเดียของตัวเองมาสร้างผลกระทบที่มากกว่าแค่วิทยาศาสตร์”

ชื่อเสียงของปากกา AIR-INK ถูกพูดแบบปากต่อปาก ด้วยคุณภาพของหมึกที่ดำเข้ม สีติดแน่น ไม่ส่งผลเสียต่อผู้ใช้งาน นอกจากจะช่วยลดมลพิษในอากาศแล้ว มันยังช่วยลดการสร้างสาร ‘Carbon Black’ ในวงจรการผลิตหมึกสีดำแบบเดิมด้วย ทำให้สินค้าของพวกเขาเป็นที่ต้องการของตลาดแทบจะทันที

Anirudh

ในปี 2017 พวกเขาเริ่มขยับขยายมากขึ้นโดยการสร้างแคมเปญระดมทุนบนแพลตฟอร์ม Kickstarter และได้รับเงินสนับสนุนมากว่า 41,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าเอาไว้กว่าสามเท่า โดยเงินตรงนี้ถูกนำไปผลิต AIR-INK ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อกระจายสู่ศิลปินในวงกว้าง กลายเป็นงานศิลปะในเมืองต่าง ๆ อย่างลอนดอนและสิงคโปร์

คริสโตเฟอร์ โฮ​​ (Kristopher Ho) หนึ่งในศิลปินจากฮ่องกงที่เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ของ AIR-INK เล่าว่า “ตอนแรกผมคิดว่ามันเป็นแค่เทคนิคทางการตลาด แต่หลังจากที่ลองมาร์กเกอร์ ผมรู้เลยว่ามันดีมาก” มันเป็นมาร์กเกอร์ที่ดำลึกกว่าหมึกทั่วไป เหมาะมากสำหรับการวาดภาพ

สิ่งที่ทีมของชาร์มายังต้องทำต่อไปคือการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตหมึกของ AIR-INK ให้ต่ำที่สุดเพื่อจะขยายไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างหมึกของเครื่องปรินต์ที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าขนาดมหาศาล แต่พวกเขาก็ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเลยทีเดียว เพราะมันต้องใช้ความร่วมมือกันหลายด้าน อย่างการเก็บมลพิษจากโรงงานก็ต้องมีพนักงานคอยไปเก็บกลับมา เช่นเดียวกับรถยนต์ทั้งหลายที่ติด Kaalink ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตทางทีมของ Graviky ก็คิดว่าอยากจะสร้างระบบนิเวศที่มีการร่วมมือกันทุกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มของบริษัทรถบรรทุกบนท้องถนนรวมตัวกันเพื่อติดตั้ง Kaalink แล้วมีศูนย์กลางสำหรับมลพิษจากควันดำมาฝากไว้เป็นประจำเหมือนธนาคารคาร์บอน (Carbon Bank)

งานหนักยังรออยู่ข้างหน้าสำหรับทีมของชาร์มา แต่เขาเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นได้สร้างผลกระทบในทางบวกแก่โลกใบนี้และยังมุ่งหน้าที่จะทำต่อไป เรื่องรายได้อาจจะไม่ได้เติบโตเหมือนสตาร์ทอัพทั่วไปนัก

“ถ้าคุณทำบางอย่างที่มันสมเหตุสมผลกับคนอื่น เงินจะตามมาเอง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือเราจะอยู่กับไอเดียนี้ได้นานแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของเงิน”

ก้าวต่อไปของ AIR-INK คือการขยายออกไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทั้งเครื่องปรินต์ หมึกพิมพ์หนังสือพิมพ์ หนังสือเล่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และแฟชั่น แม้ว่าหมึกสีดำนี้จะไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหามลพิษของโลกใบนี้หมดไป แต่แรงบันดาลใจที่ได้รับจากโปรเจกต์นี้อาจจะส่งผลให้คนอื่น ๆ และเด็กรุ่นใหม่ได้เห็นถึงโอกาสที่มองข้ามมาตลอด

“มันเป็นจุดเริ่มต้น และมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นมองขยะที่อยู่รอบๆ ตัวใหม่อีกครั้ง นำมันกลับมาใช้ประโยชน์ก็ได้”

โลกยังเต็มไปด้วยมลพิษ ควันดำ PM2.5 ที่โหดร้าย AIR-INK คงไม่สามารถกำจัดมลพิษของโลกนี้ทั้งหมดได้ แต่พวกเขาทำให้เห็นแล้วว่าสิ่งเลวร้ายเหล่านี้สามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ เพียงแค่ลองปรับมุมที่มองใหม่อีกครั้ง

อ้างอิง

smithsonianmag.com/innovation/ink-made-air-pollution-180972212

nationalgeographic.com/science/article/chasing-genius-air-ink-carbon-pollution-graviky

stirworld.com/see-features-recycling-air-pollution-into-inks-air-ink-by-graviky-labs

theguardian.com/artanddesign/2017/apr/06/carbon-air-ink-pollution-vehicle-emissions-anirudh-sharma-graviky-labs-london-black-cabs

businessinsider.com/air-ink-graviky-labs-kickstarter-ink-pollution-2017-2

ted.com/talks/anirudh_sharma_ink_made_of_air_pollution

ourworldindata.org/data-review-air-pollution-deaths

youtube.com/watch?v=W4SAVqLFeY8

britannica.com/science/carbon-black

vimeo.com/sparsh/sootprinter

Writer

คุณพ่อลูกหนึ่งจากเชียงใหม่ที่รักการเขียน การอ่าน และการดองหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ หลงใหลเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายการทำงานที่เป็นมากกว่าแค่ผลกำไรและทำงานหนักจนลืมความหมายของการมีชีวิตอยู่

You Might Also Like