เล่นกับไฟ

Power Grid : ความคุ้มค่าในการลงทุน

ใครๆ ก็ว่าการบริหารธุรกิจเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ในฐานะที่เรียนจบวิชาการเงินและทำงานในแวดวงธนาคารมาหลายปี ผู้เขียนก็เชื่อว่า วิชา ‘การเงิน’ เป็นศาสตร์ที่ขาดไม่ได้ในการจัดการ และวิธีคำนวณ ‘ความคุ้มค่าในการลงทุน’ ก็เปรียบเสมือนมีดอเนกประสงค์ที่พกไว้ไม่เสียเปล่า

บอร์ดเกมที่ช่วยให้คนเล่นเข้าใจหลักคิดทางการเงินมีเป็นร้อยเป็นพัน แต่เกมที่ผู้เขียนเห็นว่าสอนเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนได้อย่างสนุกสนาน โดยที่คนเล่นไม่รู้ตัวว่าได้รับการสั่งสอน หนีไม่พ้น Power Grid เกมเศรษฐศาสตร์ชั้นครูจาก ฟรีเดอมันน์ ฟรีส นักออกแบบชาวเยอรมัน 

ตั้งแต่ออกฉบับแรกในปี 2004 ผ่านมาเกือบยี่สิบปี เกมนี้ก็ยังเป็นบอร์ดเกมที่คนรู้จักเป็นอันดับต้นๆ ในโลก ออกภาคเสริมทางการมา 16 ภาค ไม่นับเกมอื่นในซีรีส์ที่พลิกแพลงระบบเกมอีกหลายเกม

Power Grid ให้เรารับบทเป็นบริษัทพลังงาน ต้องคิดสะระตะทุกมิติตั้งแต่ว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าแบบไหน (ใช้ถ่านหิน น้ำมัน นิวเคลียร์ ขยะ เป็นเชื้อเพลิง หรือพลังงานหมุนเวียนอย่างลม) จากนั้นก็ต้องไปซื้อวัตถุดิบในตลาดโลก ตัดสินใจว่าจะส่งไฟฟ้าให้เมืองใดและขยายเครือข่ายไฟฟ้าไปทางไหน จากนั้นก็ต้องผลิตไฟฟ้าขายเมืองเหล่านั้นได้จริงๆ จึงจะมีรายได้

แน่นอนว่าต้องทำทั้งหมดนี้ระหว่างที่แก่งแย่งกับคนอื่นในโลกทุนนิยม ผู้ชนะคือบริษัทที่สามารถส่งไฟให้เมืองจำนวนมากที่สุด ถ้าเสมอกันค่อยตัดสินกันที่เงิน เริ่มต้นทุกคนมีเงินเท่ากัน คือ 50 อิเล็กโตร (Elektro สกุลเงินในเกม) 

แต่ละตาในเกมแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ช่วงแรกเปลี่ยนลำดับผู้เล่น ลำดับการเล่นในเกมนี้สำคัญมากเพราะการเล่นเป็นคนสุดท้ายในแต่ละตาได้เปรียบกว่าคนอื่น มีโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าที่เทคโนโลยีดีสุดในตลาด ซื้อเชื้อเพลิงได้ในราคาดีที่สุด และมีโอกาสขยายเครือข่ายไฟฟ้าก่อนคนอื่น 

แล้วใครได้เล่นเป็นคนแรก ตำแหน่งที่เสียเปรียบที่สุด? Power Grid ให้คนที่ส่งไฟให้เมืองจำนวนมากที่สุดเล่นก่อนเพื่อน คนที่ส่งไฟให้เมืองจำนวนน้อยสุดเล่นทีหลังสุด กติกานี้เป็นการบังคับให้ผู้เล่นที่มีคะแนนนำ ‘ต่อ’ ให้กับคนที่ตามหลัง เพิ่มโอกาสในการไล่ทันและสร้างสมดุลให้กับเกม (เพราะถ้าปล่อยให้ใครสักคนนำโด่งและทิ้งห่างผู้เล่นคนอื่นออกไปเรื่อยๆ ได้อย่างง่ายดายจนไม่ได้ลุ้น คนอื่นอาจท้อแท้ ไม่รู้สึกสนุกกับเกมและไม่อยากเล่นจนจบ)

ช่วงที่ 2 ผู้เล่นทุกคนประมูลสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้า แต่ละคนประมูลได้อย่างมากหนึ่งโรงเท่านั้นในตานี้ หรือจะไม่ประมูลเลยก็ได้ เวลาประมูลจะต้องเสนอราคาที่อย่างน้อยเท่ากับตัวเลขที่ระบุบนไพ่โรงไฟฟ้า หรือ 1 อิเล็กโตร ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่ตัวเลขต่ำสุดในตลาด ตัวเลขบนไพ่โรงไฟฟ้าสะท้อนระดับเทคโนโลยี ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ายิ่งจ่ายไฟได้หลายเมือง แต่ราคาก็ยิ่งแพงเป็นเงาตามตัว 

ใครเสนอเงินสูงสุดจะได้โรงไฟฟ้านั้นๆ ไป ผลัดกันเลือกโรงไฟฟ้าขึ้นมาประมูลจนกระทั่งทุกคนได้โรงไฟฟ้าคนละหนึ่งโรง หรือตัดสินใจผ่าน เกมนี้ไม่มีการกู้เงิน ดังนั้นถ้าไม่มีเงินสดพอจ่ายค่าประมูล ก็อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากบอกผ่าน 

ผู้เล่นแต่ละคนมีโรงไฟฟ้าได้เพียง 3 โรงเท่านั้นตลอดทั้งเกม ทำให้การกะจังหวะว่าเมื่อไรเราควร ‘อัพเกรด’ โรงไฟฟ้า (ประมูลโรงใหม่มาแล้วทิ้งโรงเก่าไป) เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะถ้าจะเปลี่ยนชนิด (เทคโนโลยี) ของโรงไฟฟ้า เพราะเราไม่สามารถเก็บเชื้อเพลิงได้ นอกจากจะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนั้นๆ

ช่วงที่ 3 ผู้เล่นทุกคนมาซื้อเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้า (ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน) จากตลาดเชื้อเพลิง ในช่วงนี้ไม่ต้องประมูล ซื้อตามราคาตลาดที่พิมพ์บนกระดาน ผู้เล่นคนสุดท้ายได้ซื้อก่อน ซึ่งได้เปรียบมากเพราะตลาดมีเชื้อเพลิงทุกชนิดจำกัด ใครซื้อก่อนซื้อได้ถูก ใครซื้อทีหลังต้องซื้อแพงขึ้นเพราะของมีน้อยลงแล้ว ตามหลักอุปสงค์-อุปทานในโลกจริง 

ไหนๆ ก็พูดถึงโลกจริง เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าใน Power Grid ก็สะท้อนโลกแห่งความจริงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในเกมและมีมากที่สุด ขณะที่เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (แร่ยูเรเนียม) มีน้อยและราคาแพง แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หนึ่งโรงก็มีประสิทธิภาพสูง สามารถส่งไฟให้หลายเมือง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงใดๆ แต่มีราคาแพงและผลิตไฟฟ้าส่งเมืองได้น้อยกว่าโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (เกมนี้ออกในยุคที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนยังไม่ก้าวกระโดดเท่ากับในปัจจุบัน ยังแข่งขันกับฟอสซิลไม่ได้ ควรยกประโยชน์ให้นักออกแบบไป!)

เราไม่สามารถซื้อเชื้อเพลิงได้ไม่จำกัด แต่ซื้อได้ 2 เท่าของจำนวนเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าของเราต้องใช้ เช่น ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีรูปถ่านหิน 2 ชิ้น ก็แปลว่าสามารถเก็บถ่านหินในโรงนั้นได้ 2×2 = 4 ชิ้น กติกานี้ทำให้เราแกล้งคนอื่นด้วยการกักตุนเชื้อเพลิงมากเกินความจำเป็นได้ ถ้าคนอื่นมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวกัน (ซึ่งเราก็อาจประกาศว่าไม่ได้แกล้งใคร ไม่ได้อยากให้ใครไม่มีเชื้อเพลิงใช้หรอกนะ แค่อยากวางแผนเพื่ออนาคตเท่านั้นเอง)

ช่วงที่ 4 ผู้เล่นแต่ละคนจ่ายเงินขยายโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อส่งไฟให้กับเมืองต่างๆ บนแผนที่ ใครเล่นเป็นคนสุดท้ายได้เลือกก่อนเช่นเดียวกับช่วงที่สาม เงินที่ต้องจ่ายในช่วงนี้มีทั้ง ‘ค่าเชื่อมต่อ’ และ ‘ค่าสัมปทาน’ ของเมือง ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ระบุเป็นตัวเลขชัดเจนบนแผนที่ ทำให้วางแผนได้ตั้งแต่เริ่มเกมว่าอยากส่งไฟจากไหนไปไหนบ้าง แต่ก็ต้องแก่งแย่งกันอยู่ดีเพราะจำนวนเมืองบนแผนที่มีจำกัด การตัดสินใจของผู้เล่นคนอื่นอาจบีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแผนที่วาดฝันมาอย่างสวยงาม

ช่วงที่ 5 หรือช่วงสุดท้ายของตา คือช่วงที่เราจะมีรายได้เสียที หลังจากที่จ่ายอย่างเดียวมา 4 ช่วง เกมจะจ่ายเงินสดให้เราตามจำนวนเมืองที่เราส่งไฟได้ ยิ่งส่งได้หลายเมืองยิ่งได้เงินเยอะ ซึ่งก็หมายความว่าเราต้อง 1) ต่อโครงข่ายไฟฟ้าไปถึงเมืองเหล่านั้น และ 2) มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะจ่ายเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นไปได้ที่เราจะไม่มีโครงข่าย หรือมีเชื้อเพลิงมากพอที่จะส่งไฟได้เต็มศักยภาพ เช่น เราอาจมีโรงไฟฟ้า 3 โรง มีศักยภาพที่จะส่งไฟให้เมืองทั้งหมด 12 เมือง แต่ในความเป็นจริงเราสร้างโครงข่ายเชื่อมเมืองได้ 10 เมือง และมีเชื้อเพลิงพอให้โรงไฟฟ้า 2 โรงเดินเครื่อง อีกโรงเดินเครื่องไม่ได้เพราะไม่มีเชื้อเพลิง ทำให้ผลิตไฟฟ้าส่งเมืองได้เพียง 8 เมืองเท่านั้น ในกรณีนี้เราก็จะได้เงินสำหรับการส่งไฟ 8 เมืองที่ทำได้จริง ไม่ใช่ 12 เมืองตามศักยภาพ

ใครก็ตามที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าส่งเมืองไหนๆ ได้เลยแม้แต่เมืองเดียว จะได้เงิน 10 อิเล็กโตรปลอบใจ (เปรียบได้กับ ‘ค่าความพร้อมใช้’ ที่รัฐบาลไทยต้องจ่ายให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าถึงแม้โรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่อง ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของเราแพงเกินควรเพราะใช้ระบบการบริหารจัดการพลังงานที่ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภค) 

ในช่วงท้ายตา ตลาดเชื้อเพลิงและตลาดประมูลโรงไฟฟ้าจะถูกเติม ทรัพยากรทุกชนิดในเกมนี้มีวันหมด ถ้าต้องเติมเชื้อเพลิงชนิดไหนแล้วในกองกลางเหลือไม่พอให้เติม ก็แปลว่าผู้เล่นแต่ละคนกักตุนเชื้อเพลิงชนิดนั้นไว้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง กรณีนั้นตลาดเชื้อเพลิงก็จะมีของน้อยลง (ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็จะแพงขึ้น) 

ช่วงท้ายเกมใน Power Grid เป็นช่วงที่ทุกคนจะได้ลุ้นอย่างตื่นเต้น เพราะคนที่จุดประกายการจบเกมคือคนแรกที่ขยายโครงข่ายเชื่อมเมืองตามจำนวนขั้นต่ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (18 เมือง ถ้าเล่น 2 คน ไปจนถึง 14 เมือง ถ้าเล่น 6 คน) แต่คนที่จุดประกายอาจไม่ใช่ผู้ชนะก็ได้ เพราะเขาหรือเธออาจไม่มีเชื้อเพลิงมากพอที่จะปั่นไฟส่งได้ครบทุกเมือง หรือว่าคนอื่นอาจทุ่มทุนในตาสุดท้าย ขยายเครือข่ายและส่งไฟจนแซงได้สำเร็จ 

ชัยชนะใน Power Grid บ่อยครั้งจึงเป็นชัยชนะแบบเฉือนกันเพียงปลายจมูก ตัดกันเพียง 1 เมืองเท่านั้น หรือส่งไฟได้จำนวนเมืองเท่ากันเป๊ะจนต้องใช้เงินเป็นตัวตัดสิน

กติกาแทบทุกข้อใน Power Grid บังคับให้เราลงทุนเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องคิดคำนวณ ‘ความคุ้มค่าในการลงทุน’ ก่อนการตัดสินใจทุกเรื่อง เพราะเงินเรามีจำกัด ทุกอย่างในเกมต้องใช้เงิน และเราจะได้เงินเพิ่มก็ต่อเมื่อสามารถส่งไฟป้อนเมืองต่างๆ ได้จริง

ยกตัวอย่างเช่น เราต้องคิดตั้งแต่ช่วงแรกในแต่ละตาว่า คุ้มไหมที่จะทุ่มเงินประมูลซื้อโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสูงๆ ในตานี้ ถ้าต้องหมดเงินไปกับการประมูลจนไม่มีเงินพอจ่ายค่าเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าโรงเดิมปั่นไฟ หรือซื้อเชื้อเพลิงได้แต่ไม่มีเงินพอจ่ายค่าเชื่อมต่อ ขยายการส่งไฟไปเมืองอื่น 

Power Grid บังคับให้เรามอง ‘ความคุ้มค่าในการลงทุน’ ผ่าน ‘กรอบเวลา’ ที่เหมาะสมด้วย บางครั้งเราต้องวางแผนการลงทุนเพื่อรายได้ในอีก 2-3 ตาในอนาคต ครุ่นคิดว่าเราจะกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงด้วยการเพิ่มหรือเปลี่ยนชนิดของโรงไฟฟ้าหรือไม่ ถ้าทำจะทำเมื่อไรดี และเมื่อไรที่เราควรขยายโครงข่ายการจ่ายไฟ 

การตัดสินใจเหล่านี้เราจะใช้เวลาคิดนานก็ไม่ได้ เพราะคู่แข่งคนอื่นๆ ก็คิดเรื่องเดียวกันตลอดเวลา คนอื่นอาจทุ่มเงินประมูลโรงไฟฟ้าที่เราอยากได้ หรือเชื่อมต่อเมืองตัดหน้า บังคับให้เราเปลี่ยนแผนไปทางอื่น บ่อยครั้งเราต้องพยายามเดาใจคู่แข่ง เช่น เขาอยากได้โรงไฟฟ้านี้จริงไหมนะ หรือเพียงแต่มาดันราคาประมูลสูงๆ เพื่อกลั่นแกล้งเรา เขาจะขยายโครงข่ายไปเมืองที่เรากำลังเล็งอยู่หรือเปล่า หรือจะพยายามขยายแบบต่างคนต่างอยู่ 

กลยุทธ์ที่ปูทางสู่ชัยชนะใน Power Grid ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งนั่นก็คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของเกมนี้ที่ทำให้เล่นแล้วเล่นอีกได้เรื่อยๆ ไม่รู้เบื่อ เราจะเลือกเส้นทางแนว ‘อย่ามายุ่งกับข้า’ บวก ‘ช้าแต่ชัวร์’ ใช้โรงไฟฟ้าแต่ละโรงอย่างคุ้มค่า เลือกเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่คนอื่นไม่สนใจ ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ขยาย แลกกับความเสี่ยงที่จะโดนคนอื่นแซงเข้าวิน หรือว่าจะเลือกเส้นทางแบบ ‘ใครใหญ่ใครอยู่’ กีดกันคู่ต่อสู้ทุกวีถีทาง แกล้งปั่นราคาประมูลโรงไฟฟ้าไปสูงๆ แกล้งกักตุนเชื้อเพลิงเพื่อบีบให้คนอื่นไม่มีใช้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่เราจะต้องควักเงินซื้อโรงไฟฟ้าที่แกล้งปั่นราคาเอาไว้เอง ทั้งที่ไม่ได้อยากได้ หรือมัวแต่แกล้งคนอื่นจนไม่มีเงินขยายเครือข่ายของตัวเอง

การตัดสินใจยากๆ ที่บังคับให้เราต้องคิดคำนวณ ‘ความคุ้มค่าในการลงทุน’ ทุกครั้งก่อนจ่ายเงินหรือขานราคาประมูล ทำให้ Power Grid เป็นเกมเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในโลกของบอร์ดเกม ใครเล่นเกมนี้บ่อยๆ ผู้เขียนเชื่อว่าจะได้เรียนรู้และซึมซับหลักการเงินที่สำคัญข้อนี้โดยไม่รู้ตัว ระหว่างกำลังรู้สึกเพลิดเพลิน สะใจ ตึงเครียด หรือลุ้นตัวโก่งบนกระดาน

Writer

นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจที่ยั่งยืน การเงินเพื่อสังคม และสิทธิเสรีภาพออนไลน์ สฤณีเรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่า “เกมเมอร์” โดยเล่นเกมมาแล้วหลายพันเกมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งเกมตู้ เกมคอมพิวเตอร์ และบอร์ดเกม ช่วงทศวรรษ 1998-2008 สฤณีมีชื่อเสียงระดับโลกในวงการเกมเมอร์ในฐานะผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์ Home of the Underdogs กรุเกมเก่าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น ซึ่ง ณ จุดสูงสุดมีเกมให้ดาวน์โหลดมากกว่า 4,000 เกม ส่องประสบการณ์การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของเธอได้จากเพจ Fringer on Computer Games และบอร์ดเกมได้จากเพจ Fringer on Board Games

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like