The Ping Pong Effect    

เบื้องหลังการผลักดันนักกีฬาเยาวชนของ “สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู” ให้เป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” 

หากเอ่ยถึงการขับเคลื่อน Soft Power ด้านกีฬา หลายคนมักจะนึกถึงกีฬามหาชนยอดนิยมอย่างมวยไทย วอลเลย์บอล แบดมินตัน ฯลฯ อุตสาหกรรมกีฬาทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐจึงมักเทความสนใจและทุ่มการสนับสนุนให้กีฬายอดนิยมเหล่านี้เป็นหลัก นั่นแปลว่ากีฬาบางประเภทที่คนไทยนิยมเล่นรองลงมาอย่างเทเบิลเทนนิสหรือที่ใครหลายคนคุ้นปาก ในชื่อกีฬาปิงปองมักได้รับการสนับสนุนน้อยกว่าในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ การสร้างทักษะของนักกีฬาให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ การฝึกอบรมผู้ฝึกสอน รวมทั้งการส่งลงแข่งขัน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้คนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสนับสนุนพลังความรู้ (Intellectual Enhancement) ส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Wealth & Wellbeing) สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่ (Earth Betterment) และ ส่งต่อพลังงานที่ยั่งยืน (Energy Sustainability) 

และสำหรับสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู (Banpu Table Tennis Club : BTTC) เป็นหนึ่งในภารกิจที่บ้านปูมุ่งพัฒนา และสนับสนุนการเข้าถึงความรู้และทักษะด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสให้กับเยาวชนไทย 

สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยมีจุดเริ่มต้นจากบริษัทในเครือของบ้านปูในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้สนับสนุนศูนย์ฝึกอบรมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งชาติ ประจำเมืองเจิ้งติ้ง บ้านปูจึงเล็งเห็นโอกาสในการนำเอาความเชี่ยวชาญและเทคนิคด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสของจีนซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มาถ่ายทอดสู่เยาวชนไทย รวมทั้งการสนับสนุนการฝึกซ้อมและส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์สำคัญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเยาวชนไทยให้ทัดเทียมนานาชาติและมาตรฐานสากล

โค้ชต้อม-อาสาฬห์ อมรรัตนสุชาติ หัวหน้าผู้ฝึกสอนสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู เป็นโค้ชที่อยู่กับสโมสรฯ มาตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรฯ ในปัจจุบันสโมสรฯ มีนักกีฬาทั้งหมด 91 คน โดยอยู่ในช่วงวัย 6-20 ปี นอกจากนี้ยังมีโค้ชประจำสโมรสรฯ 6 คน และสมาชิกทั่วไปอีก 13 คน 

สโมสรฯ บ้านปูได้ปั้นเยาวชนทีมชาติเข้าร่วมสนามแข่งขันระดับโลกมาแล้วมากมาย เช่น ซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์

จากอิมแพ็คทั้งหมดที่สโมสรฯ สร้างตั้งแต่ก่อตั้งมา วันนี้จึงขอชวนคุยกับโค้ชต้อม ถึงเบื้องหลังการแข่งขันและความภาคภูมิใจในการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาเทเบิลเทนนิสให้แก่เยาวชนไทย รวมทั้ง ความตั้งใจของสโมสรฯ ที่ต้องสร้างนักกีฬาที่เป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี”

เส้นทางการเป็นโค้ชนักกีฬาเยาวชนให้สโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปู

ผมเริ่มเข้ามาเป็นโค้ชของสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูจากการชักชวนของรุ่นพี่ที่เป็นโค้ชทีมชาติตั้งแต่ ตอนเริ่มก่อตั้งสโมสรฯ ราว 16 ปีก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นโค้ชอยู่แล้วประมาณ 6 ปี รวมแล้วตอนนี้ทำหน้าที่โค้ชมาเป็นเวลาทั้งหมด 20 ปี 

ตอนที่เริ่มเข้ามาดูแลสโมสรฯ บ้านปู ผมไปออกกำลังกายตามศูนย์กีฬาเยาวชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ แล้วไปเห็นน้องๆ ที่เล่นปิงปองอยู่ตามศูนย์เยาวชนเหล่านี้ว่ามีทักษะสูงอยู่แล้ว สามารถลงแข่งขันได้แต่ไม่มีโค้ชที่คอยแนะนำและไม่มีใครพาไปแข่งขัน ก็เลยเริ่มจากชักชวนเยาวชนที่นั่นมาฝึกซ้อมแล้วพาไปแข่ง

โค้ชนำมาตรฐานจากต่างประเทศมาพัฒนาให้นักกีฬาในสโมสรฯ อย่างไรบ้าง 

ผมมีโอกาสไปดูการฝึกซ้อมที่ประเทศจีนซึ่งปกติสโมสรฯ บ้านปูจะส่งนักกีฬาแต่ละรุ่นไป หลังจากไปแล้วก็เห็นภาพว่าประเทศมหาอำนาจในวงการเทเบิลเทนนิสซ้อมกันยังไง มีเทคนิคอะไรบ้างแล้วก็นำตรงนั้นกลับมาสอนให้น้องๆ ในสโมสรฯ ตัวผมเองเรียนการโค้ชนักกีฬามาจากสหพันธ์การโค้ชนานาชาติด้วยก็นำเอาทั้ง 2 ศาสตร์นี้มาใช้ร่วมกันในการสอนน้องๆ จนถึงทุกวันนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานนักกีฬาไทย

เวลาพาน้องๆ ของสโมสรฯ ไปแข่งในรายการทัวร์นาเมนต์แบบเวิลด์ทัวร์ก็เพื่อให้ได้เจอชาติมหาอำนาจของกีฬา น้องๆ จะได้เห็นภาพใหญ่ว่านักกีฬาเยาวชนทีมชาติของแต่ละประเทศเขาเตรียมตัวในการแข่งอย่างไร ฝึกซ้อมในวันแข่งอย่างไร มีระเบียบวินัยในการซ้อมยังไงบ้าง ทำให้เห็นภาพการทำงานที่มีความเป็นมืออาชีพซึ่งแตกต่างจากบ้านเรามาก

บ้านปูพานักกีฬาเยาวชนเก็บสะสมชั่วโมงบินและประสบการณ์จากประเทศไหนมาบ้าง 

ทัวร์นาเมนต์ที่บ้านปูเคยส่งเยาวชนไทยไปก็มี World Table Tennis หรือ WTT เป็นการแข่งขันกีฬาเทเบิลเทนนิสที่รับรองโดยสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (The International Table Tennis Federation: ITTF) นอกจากนี้ก็มีจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย

สโมสรฯ บ้านปูจะผลักดันให้น้อง ๆ ลงแข่งทั้งเวทีในประเทศและเวทีนานาชาติ เพื่อเก็บประสบการณ์จากการแข่งขัน เพื่อให้เรียนรู้เทคนิคของคู่แข่งให้มากที่สุด 

การสร้างนักกีฬาที่เป็น คนดี ของสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูมีการขยายอิมแพ็คยังไงบ้าง 

กิจกรรมที่ทางสโมสรฯ บ้านปูภาคภูมิใจ คือกิจกรรม “ค่ายสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเยาวชนไทย” (Remote camp) เพราะกิจกรรมนี้ช่วยปลูกฝังให้นักฬาของเราเป็นทั้ง “คนเก่ง” และ “คนดี” ที่ได้นำเอาความรู้ ความสามารถที่มี ไปส่งต่อเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในหลายจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค ที่ทั้งยะลา ปัตตานี สตูล อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุตรดิตถ์ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่สโมสรฯ จะเลือกไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ห่างไกลที่เยาวชนยังขาดแคลนโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านกีฬา หรือในบางปีก็มีให้นักกีฬาของเราไปสอนผู้สูงอายุตีปิงปอง เพื่อสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา

การไปจัดกิจกรรมในแต่ละจังหวัด นอกจากเป็นโอกาสที่ปลูกฝังความเก่งความดีให้กับนักกีฬาในสโมสรฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสที่สโมสรฯ จะได้ค้นพบเยาวชนที่มีศักยภาพเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม มาร่วมพัฒนาศักยภาพนักกีฬาของสโมรสรฯ ที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค โดยในแต่ละภูมิภาคก็จะโค้ชประจำศูนย์ฝึกซ้อมในพื้นที่อยู่แล้ว น้องๆ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาฝึกซ้อมที่ศูนย์หลักในกรุงเทพฯ 

Pain Point ขอกีฬาในไทยที่โค้ชมองเห็นคืออะไร

ความจริงนักกีฬาไทยมีศักยภาพสูงมากในแทบจะทุกชนิดกีฬาเลยนะ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในกีฬาที่ไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยม บ้านเราจะเทความสนใจไปที่กีฬายอดนิยมที่มีคนดูเยอะ เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล พอองค์ประกอบต่างๆ ในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดโอกาสมีน้อย การพัฒนาก็เลยหยุดนิ่งทั้งๆ ที่ความจริงแล้วบ้านเรามีนักกีฬาที่มีความสามารถสูง สามารถสู้กับนานาชาติได้

แล้วการสนับสนุนสโมสรกีฬาของต่างประเทศที่ทำให้นักกีฬามีข้อได้เปรียบคืออะไรบ้าง

ตัวอย่างประเทศที่มีจำนวนประชากรเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและมีนักกีฬาเทเบิลเทนนิสเยอะกว่าทุกชาติในโลกนี้คือจีน เมืองหนึ่งของเขามีจำนวนนักกีฬาเท่ากับนักกีฬาไทยทั้งประเทศ แล้วเขาสามารถเอานักกีฬาทุกเมืองมารวมกันเพื่อคัดเลือกคนที่ยอดเยี่ยมที่สุดมาเป็นทีมชาติทำให้มีโอกาส ชนะสูงกว่าบ้านเรา

เทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาประจำชาติที่คนจีนรู้สึกว่าจะแพ้ชาติไหนไม่ได้ในโลกนี้ และแทบจะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติ ของจีนเลยก็ว่าได้ ดังนั้นประเทศเขาจะทุ่มกับการแข่งขันกีฬาประเภทนี้มากและวิธีการฝึกซ้อมจะต่างกับไทยอย่างเห็นได้ชัด เด็กจีนจะซ้อมวันละ 3 รอบต่างจากเด็กไทยที่มีเวลาซ้อมแค่ 1 รอบหลังเลิกเรียน นักกีฬาจีนยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์ เวลาฝึกซ้อม สนับสนุนแม้กระทั่งการเลือกโรงเรียนที่เอื้อในการซ้อมของนักกีฬา 

ในขณะเดียวกันถ้าไปฝั่งยุโรป หลักสูตรการศึกษาของฝั่งตะวันตกก็ให้เรียนแค่ครึ่งวันทำให้นักกีฬามีเวลาเหลือในการซ้อม 2 รอบ ส่วนไทยเรามีหลักสูตรการศึกษาที่ให้เรียนตั้งแต่เช้าจรด 5 โมง เผลอๆ น้องบางคนยังต้องเรียนพิเศษต่ออีก 2 ชั่วโมงถึงจะมีเวลามาซ้อม ทำให้เวลาซ้อมกีฬาเต็มที่ก็มีแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นในแต่ละวัน ด้วยลักษณะของระบบการศึกษาและการสนับสนุนก็ทำให้ประเทศอื่นซ้อมได้มากกว่าบ้านเรา

ทุกวันนี้มีกลยุทธ์ในการโค้ชเยาวชนทีมชาติไทยอย่างไร 

ณ ตอนนี้ เราพยายามผลักดันให้เยาวชนทีมชาติไทยไปสู่ระดับนานาชาติมากขึ้นซึ่งน้องๆ กลุ่มนี้ก็จะซ้อมกับแชมป์ทีมชาติอย่างเข้มข้นวันละ 2-3 รอบ ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน พัก 1 วัน 

สำหรับการซ้อมในวงการกีฬาเรามักจะได้ยินคำว่า ‘เอาที่ซ้อมไปใช้แข่ง’ หรือ ‘ซ้อมให้เหมือนแข่ง แข่งให้เหมือนซ้อม’ อยู่บ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่เวลาแข่งขันมันต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนซ้อมเลยว่าจะซ้อมแบบไหนเพื่อไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ไหน

ยกตัวอย่างการวางแผนการซ้อม เราจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ช่วงแรกคือเรื่องของร่างกายและพละกำลังทั้งหมด การตี ความแม่นยำที่ต้องเตรียมให้พร้อมไว้ก่อน ช่วงที่ 2 ก็จะเริ่มวางโครงสร้างเทคนิคในการตี เช่น ตีไปทางซ้าย ตีไปทางขวา จะตีเข้าตัวหรือเสิร์ฟแบบไหน เป็นต้น ช่วงที่ 3 จะเป็นการวางกลยุทธ์ล้วนๆ ว่าจะใช้เทคนิคไหนในตอนไหน 

ในวันแข่งเราแทบจะแนะนำนักกีฬานิดเดียวเพียงแค่ว่าคู่ต่อสู้มีจุดอ่อนตรงไหน ที่เหลือให้นักกีฬาเป็นฝ่ายครีเอตเทคนิคเข้าไปแล้วนำสิ่งที่ซ้อมและวางแผนตั้งแต่ต้นออกมาใช้

ความภาคภูมิใจที่ได้พานักกีฬาไทยโกอินเตอร์คืออะไร 

เริ่มตั้งแต่ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาดูเยาวชนทีมชาติ ประเทศไทยเคยได้เป็นเจ้าอาเซียนคือได้เหรียญทองทั้งหมด 11 เหรียญในการแข่งขัน 11 ประเภทจากทั้งหมด 13 ประเภท เราชนะทั้งในรุ่นอายุ 15 ปี, 19 ปี, ประเภทเดี่ยว-ทีม-คู่ผสม, ชนะทั้งการแข่งประเภทหญิงและชาย ชนะเยอะมากจนได้เป็นเจ้าอาเซียน ซึ่งเป็น ความภูมิใจแรกๆ เลยตอนที่เริ่มทำ

จากนั้นผมก็เขยิบมาเป็นโค้ชทีมชาติทีมใหญ่ ดูแลนักกีฬาที่ไปซีเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ ตอนเริ่มทำครั้งแรกได้ไปแข่งที่เวียดนาม นักกีฬาของเราได้ 4 เหรียญทองกลับมา และได้เป็นเจ้าอาเซียนอีกเหมือนกัน ส่วนซีเกมส์อีกสมัยที่กัมพูชา ทีมเราได้ 3 เหรียญทอง อีกหนึ่งมหกรรมกีฬาคือเอเชียนเกมส์ พอผมมาคุมทีมก็ทำให้ได้เหรียญทองแดงในรอบ 53 ปี ที่ไทยไม่เคยได้เหรียญเลย 

ส่วนโอลิมปิกครั้งล่าสุด ทีมเราไม่เคยได้เข้าร่วมแข่งขันประเภททีมมาก่อนและเราก็ทำผลงานได้ในที่สุดว่า “ได้ไปแข่งแล้วถึงแม้จะยังไม่ชนะก็ตาม”

ทุกครั้งก่อนไปทั้งนักกีฬาและทีมงานทั้งหมดก็จะกดดันเพราะคนไทยทั้งประเทศไทยจับตามองอยู่ว่า เราจะทำผลงานออกมาเป็นยังไง แต่เราก็ประทับใจหมดทุกรายการที่ลงแข่ง เวลาที่เราได้รางวัลแล้วธงชาติไทยถูกชักขึ้นสู่เสา มันเป็นภาพที่ทำให้รู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว

ปัจจุบันนี้กีฬาเทเบิลเทนนิสไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชีย ส่วนอันดับ 1-4 ของโลกนั้นอยู่ในแถบเอเชียทั้งหมด ในขณะที่ยุโรปจะอยู่ราวอันดับที่ 5-8 ของโลก เพราะฉะนั้นขีดความสามารถและศักยภาพของนักกีฬาเทเบิลเทนนิสไทยก็ถือว่าทัดเทียมกับนานาชาติ

ความภาคภูมิใจในฐานะโค้ชตลอด 16 ปีที่ดูแลเยาวชนในสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูคืออะไร   

คิดว่าหนึ่งในความสำเร็จที่สุดของบ้านปู คือ การจัดกิจกรรม “ค่ายสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเยาวชนไทย” (Remote camp) นี่แหละ เวลาเยาวชนทีมชาติของเราไปค่ายเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เขาจะได้ความภาคภูมิใจกลับมามากๆ เพราะนักกีฬาที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกลติดตามพวกเขาอยู่ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เกิดภาพการขอลายเซ็น การขอเสื้อก็ทำให้น้องๆ เยาวชนทีมชาติเกิดความภูมิใจที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบเจอ สิ่งนี้เป็นข้อหนึ่งที่บ้านปูปลูกฝังให้นักกีฬาตลอดเลยว่า เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเป็นคนดีด้วย

You Might Also Like