ชาจมูกเขียว

สูตรการปั้นธุรกิจให้นุ่มฟูเหมือนครีมชีสของ Nose Tea ร้านที่ปลุกกระแสชาผลไม้ครีมชีสในไทย

“ตอนนั้นรู้สึกว่าชาผลไม้แทบจะยังไม่มีเลยมั้ง เราเลยมองว่าถ้าเราจะเปิดร้านชานม แล้วขายแต่ชานมมันก็ธรรมดาทั่วไป มันเกิดยากแน่ๆ เพราะร้านชาในประเทศไทยเยอะมาก ถ้าเราเล่นต่างไปเลย คิดต่างไปเลย แล้วก็ใส่กิมมิคอะไรให้แตกต่างจากชาวบ้านก็น่าจะโต เราเลยเน้นไปที่ชาผลไม้ครีมชีส ถ้าอยากกินต้องเป็นเราเท่านั้น”

หญิงสาวตรงหน้าเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเปิดร้าน ‘Nose Tea’ ร้านที่ย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อนถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่แปลกใหม่ในวันที่ใครๆ ก็ถือแต่แก้วชานมไข่มุก แต่ Nose Tea เลือกชูเมนูซิกเนเจอร์อย่างชาผลไม้ที่ท็อปปิ้งด้วยครีมชีส จนสร้างปรากฏการณ์มีคนมาต่อแถวรอที่หน้าร้านสาขาสยามเซ็นเตอร์ยาวเหยียด แถมทำคอนเทนต์อะไรก็กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ จนเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก

ทุกวันนี้ชาผลไม้ครีมชีสของ Nose Tea ไม่ได้เป็นแค่กระแสที่มาแล้วหายไป แต่กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่ยืนระยะจนเป็นชาที่หลายคนเลือกดื่มเป็นประจำ

ส่วนหญิงสาวที่เล่าให้เราฟังข้างต้นคือ ไผ่-กชณิชา ฐิติชนาโชติ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Nose Tea ที่วันนี้พาเรามาเยี่ยมชมสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นสาขาใหม่ล่าสุด พร้อมชิมเมนูใหม่ถึงหน้าร้าน ก่อนที่เราจะพูดคุยถึงวิธีคิดเบื้องหลังการปั้นธุรกิจให้นุ่มฟูเหมือนครีมชีส ซึ่งบนเส้นทางการทำธุรกิจที่อาจจะมีหวานบ้าง เปรี้ยวบ้างเหมือนกับรสชาติของชาผลไม้ ถ้าพร้อมแล้วยกแก้ว Nose Tea ในมือขึ้นมาดื่ม และมาดื่มด่ำกับเรื่องราวหลากรสกันได้เลย

ธุรกิจเครื่องดื่มในไทยถือว่าเป็น Red Ocean ที่มีการแข่งขันสูงมาก ทำไมคุณถึงยังเลือกทำธุรกิจนี้ 

เราเป็นคนชอบดื่มชาอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะมาทำ Nose Tea เราขายเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์นึงมาก่อน เป็นแบรนด์ของตัวเองนี่แหละ เราก็บินไปต่างประเทศบ่อย ไปดีลกับโรงงานผลิต แล้วที่โน้นก็มีร้านขายชาผลไม้กับชานมเยอะมาก แต่ละร้านก็อร่อย เรากินแล้วก็ติดใจ

พอกลับมาไทยแล้วอยากกินอีก ก็ไม่มีร้านไหนทำรสชาติแบบที่เราชอบเลย แล้วชาผลไม้ตอนนั้นแทบจะไม่มีใครทำเลยมั้ง ส่วนใหญ่มองไปในตลาดจะเป็นชาไข่มุกเกือบทุกแบรนด์ เราก็เลยคิดว่างั้นทำเองดีกว่า เราไปเรียนวิธีทำเลยว่าต้องต้มชายังไง ใช้วัตถุดิบแบบไหน

พอรู้สูตรที่เขาสอนมามันก็ยังไม่ตรงกับที่เราชอบหรอก ก็มาพัฒนาสูตรต่อ สั่งใบชาหลายๆ แบบมาลองชง แล้วเลือกอันที่เราดื่มแล้วอร่อย ตอนนั้นเราทำเป็นเรื่องเป็นราวเลย ไปเรียนเพิ่ม หาข้อมูล ลองผิดลองถูกเอง จนได้มาเป็นชาผลไม้ครีมชีส ที่ต่างจากเจ้าอื่นในตลาด เพราะอยากให้คนรู้สึกว่าถ้าจะดื่มชาผลไม้ครีมชีสต้องมาหาเราเท่านั้น

เห็นว่าเมนูในร้านคุณเป็นคนคิดค้นสูตรเอง ความยากหรืออุปสรรคในช่วงนั้นคืออะไร

ความยากน่าจะเป็นการหารสชาติตรงกลางที่โอเคที่สุด รสชาติที่คนส่วนใหญ่ชอบ  ไม่ใช่ว่าเอาที่ตัวเองชอบคนเดียว เพราะอร่อยเรากับอร่อยของคนอื่นไม่เหมือนกัน เราก็ต้องฟังคนอื่นด้วย ก่อนที่จะออกขายจริง เรามีบริษัทชื่อ Lively Nose ทำสินค้าที่ลอกสิวเสี้ยน ก็จะมีพนักงานจำนวนหนึ่ง ประมาณ 30-40 คน เราก็ให้น้องพนักงานช่วยชิมทดสอบรสชาติให้ แล้วก็ไปให้คนแถวบ้าน ให้พ่อ แม่เราชิม พวกเขาก็ให้ฟีดแบคมา เช่น เค็มไป หวานไป เราก็ฟังหลายๆ ความคิดเห็นแล้วมาปรับหารสชาติตรงกลางที่คนส่วนใหญ่ชอบ และเราก็ชอบด้วย
อีกอย่างคือการควบคุมวัตถุดิบตอนขายจริง ให้ได้คุณภาพตามที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรก แล้วพอขยายสาขาก็ต้องคุมคุณภาพให้เหมือนกันทุกสาขา

ตอนที่เอาโลโก้จมูกเขียวของ Lively Nose มาเป็นโลโก้ของร้าน Nose Tea กังวลไหมว่าลูกค้าจะสับสนหรือไม่เข้าใจ

เอาจริงๆ ไม่กลัวแล้วก็ไม่กังวลเลยว่าคนจะมองไม่ดี หรือจะมองว่าทำไมของกินถึงใช้โลโก้นี้ ต้องบอกว่าเราคิดมาดีแล้ว เพราะถ้ามองในท้องตลาดก็จะเห็นโลโก้เป็นรูปสัตว์น่ารักๆ คล้ายกันหมด พอใช้เป็นรูปจมูกมันชวนให้สงสัยและจดจำง่าย แตกต่างจากแบรนด์อื่นในท้องตลาดแน่นอน

ขนาดคุณยังมาถามเราเลยว่าทำไมถึงใช้โลโก้นี้ ที่หน้าร้านก็เหมือนกัน จะมีคนเห็นแล้วเข้ามาถามพนักงานว่านี่คือร้านอะไร ขายอะไร พอเขาเข้ามาถามแล้วก็ซื้อไปลองชิม พอชิมแล้วชอบเขาก็กลับมาเป็นลูกค้าประจำ เรื่องโลโก้ก็ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเลยว่าอยากให้แบรนด์เราแตกต่าง

อีกอย่างคือที่ลอกสิวเสี้ยน Lively Nose มีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว พอเราเอาโลโก้มาทำการตลาดต่อมันก็ง่าย เราก็เอาที่ลอกสิวเสี้ยนไปวางขายหน้าร้านด้วย แล้วก็ทำการตลาดร่วมกัน คือให้เอา Lively Nose มาเป็นส่วนลดเครื่องดื่ม แบบกล่องลดได้ 15 บาทต่อหนึ่งบิล แบบซองลดได้ 10 บาทต่อหนึ่งบิล ทำให้ลูกค้าของ Lively Nose รู้จักกับ Nose Tea ลูกค้าที่มากิน Nose Tea ก็จะรู้ว่าเรามีที่ลอกสิวเสี้ยนขายด้วย

ช่วงแรกก็มีคนเข้าใจผิดว่าเราไปลอกเลียนแบบโลโก้ของ Lively Nose หรือเปล่า เราก็ทำคลิปมาอธิบายว่าไม่ใช่ ทั้ง 2 แบรนด์นี้มีเจ้าของคนเดียวกัน เลยใช้โลโก้เดียวกัน

ร้านเครื่องดื่มหลายๆ ร้านชอบตั้งชื่อเมนูให้ดูแฟนตาซี แต่ทำไม Nose Tea ถึงเลือกตั้งชื่อเมนูตรงตัว

ส่วนใหญ่เราจะเจอแต่ร้านที่ตั้งชื่อเมนูยาวๆ จำยากๆ ตอนเราไปสั่งก็ชอบถามพนักงานว่าเมนูนี้คืออะไร ใส่อะไรบ้าง ถ้ามีสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็จะไม่กิน แล้วถามรายละเอียดเมนูใหม่ ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา แล้วเราก็เกรงใจพนักงานกับคนที่ต่อแถวรอสั่งจากเรา

พอมาเปิดร้าน Nose Tea ก็ไม่อยากให้ลูกค้าต้องมาเสียเวลาในการสั่งนานๆ เราก็ตั้งชื่อเมนูตรงๆ ตัวไปเลย เข้าใจง่ายดี เช่น ชาพีช ชาส้ม เข้าใจง่ายดี ลูกค้าเห็นชื่อเมนูก็สั่งได้เลย เราก็ปิดการขายได้ง่ายด้วย

พอเมนูหลักเน้นไปที่ชาผลไม้ ที่มีข้อจำกัดเรื่องฤดูกาลและการเก็บรักษา คุณมีวิธีการควบคุมคุณภาพและรสชาติอย่างไรให้ได้มาตรฐานเหมือนเดิม

ตอนที่คิดสูตรเราทดลองกับผลไม้หลายอย่างมากๆ  แล้วตัดสินใจเลือกผลไม้ที่ควบคุมคุณภาพได้ตลอดทั้งปี โดยที่ไม่ต้องมามีปัญหาทีหลังเรื่องวัตถุดิบแล้วเอาเมนูนี้ออก เราก็คอยตรวจสอบคุณภาพตลอดในทุกๆ ล็อตที่เข้ามา อย่างต้นฤดูคุณภาพก็จะดี กลางฤดูนี่มั่นใจได้เลยว่าแซ่บแน่นอน แต่พอปลายฤดูก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียดกว่าเดิม

ผลไม้นอกฤดูกาลส่งผลให้ต้นทุนแพงขึ้นด้วยไหม แล้วจัดการกับปัญหานี้อย่างไร

ผลไม้ก็จะมีช่วงที่ถูกและช่วงที่แพง แต่เราไม่ได้คิดว่าพอแพงปุ๊บจะขึ้นราคา พอถูกปุ๊บเราก็ขายราคาเดิม มันไม่ใช่ เราขายราคาเท่าเดิมตลอด แล้วเอาตันทุนมาถัวเฉลี่ยกัน ก็จะมีช่วงที่ได้กำไรเยอะและช่วงที่ได้กำไรน้อยมาก แต่คิดแล้วยังไงก็ได้กำไร พอเราขายราคาเดิมก็ง่ายต่อการจัดการด้วย

เครื่องดื่มแก้วนึงของ Nose Tea ราคาหลักร้อยขึ้นไป คุณทำยังไงให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าและยอมจ่าย

เราต้องสื่อสารกับลูกค้า บอกเขาว่าเราใช้ของดีมีคุณภาพ อย่างชาจะมีหลายเกรดเป็นทั้งแบบใบชาและเศษชา แต่ของเราใช้ใบชาคุณภาพดีที่นำเข้ามา ส่วนชีสก็นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ไม่ได้ใช้แบบผง ไม่ได้ใช้แบบแผ่น เราใช้ชีสเป็นก้อนเลย แล้วที่เห็นชีสนุ่มฟู บางคนเขาคิดว่าเราใส่ผงฟู แต่ไม่ใช่ เราไม่ได้ผสมอะไรเข้าไป เป็นใช้ชีสแท้ 100% เราตีชีสด้วยมือและตีด้วยเครื่อง ชีสถึงขึ้นฟูสวยแบบนี้ เราทำให้ลูกค้ารู้ว่าหนึ่งแก้วที่เขาซื้อไปมันคืออะไร ใส่อะไรบ้าง เราตั้งใจทำมันจริงๆ แล้วไม่ได้แค่ตั้งใจอย่างเดียว เราใส่ใจในการเลือกวัตถุดิบด้วย

ทำอย่างไรถึงทำให้ชาผลไม้ครีมชีสไม่ได้เป็นแค่กระแสที่มาแล้วหายไป แต่เป็นเครื่องดื่มที่คนเลือกดื่มในชีวิตประจำวัน

เราเน้นเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบ ให้ลูกค้ารับรู้ในทุกครั้งที่มาชิมว่าเขาได้รับของดีจริงๆ ส่วนเรื่องการตลาดก็สำคัญมาก เราต้องทำให้แบรนด์อยู่ในกระแสตลอดเวลา ทำยังไงให้คนเห็นเราเรื่อยๆ แบบเดี๋ยวก็เห็นเราอีกแล้ว สักพักก็เห็นเราอีกละ แล้วเราก็ออกเมนูใหม่ให้ลูกค้าไม่รู้สึกเบื่อที่จะมาหาเรา ต้องสร้างความแตกต่างให้ตัวเอง ให้ลูกค้าแยกเราออกจากเจ้าอื่นได้ ว่าถ้าอยากกินชาผลไม้ชีสต้อง Nose Tea อยากกินชานมปั่นก็ต้อง Nose Tea การทำให้คนจำได้เราคือสิ่งสำคัญมากๆ

ทำไมถึงเลือกทำการตลาดโดยทำคอนเทนต์ผ่านช่อง TikTok ของคุณไผ่เป็นหลัก

เรามองว่ายุคสมัยนี้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้เยอะ มีคนเล่นหลายวัย กลุ่มลูกค้าเราก็น่าจะเข้าถึงง่าย เลยเลือกใช้ช่องทางนี้ แล้วที่เลือกทำคอนเทนต์ในช่องของตัวเอง เพราะเราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าเข้าถึงง่าย เราเชื่อว่าพอเราทำตัวให้เข้าถึงง่ายแล้ว ลูกค้าจะกล้าฟีดแบคกับเราตรงๆ
ซึ่งเราเป็นคนให้ความสำคัญกับฟีดแบคลูกค้ามาก อย่างเราเคยไปรับบริการร้านนึงแล้วพิมพ์ไปคอมเพลน พอเขาตอบกลับมาและแก้ปัญหาให้ เราก็รู้สึกดีที่เขาให้ความสำคัญกับเรา เราก็อยากให้ลูกค้าเรารู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน แม้จะเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ถ้าเราทำให้ได้ เราก็จะทำให้เลย

สมมติเวลามีใครคอมเพลนอะไรมาใน TikTok เราจะรู้เรื่องไม่เกิน 3 วัน หรือรู้ในวันนั้นเลย เพราะเราจะให้เลขากับ CS คอยดูตลอด ถ้ามีเรื่องด่วนหรือคอมเพลนเยอะมากก็ให้รีบรายงานเรา ถ้ามีคอมเพลนไม่มาให้รายงานเราทุกๆ 3 วัน

ทำไมที่ร้านถึงมีบางเมนูที่เปิดขายแค่หน้าร้าน แต่ไม่เปิดให้สั่งในแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่

ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากขายในเดลิเวอรี่ แต่เมนูที่ลงขายในแอปฯ ต่างๆ เราทดลองหมดแล้ว ทั้งแบบแยกน้ำแข็งและแบบใส่น้ำแข็ง ว่ารสชาติไม่ต่างจากหน้าร้านหรือต่างกันแค่นิดเดียว อย่างเมนู Nose Tea Signature ที่เป็นชานมซิกเนเจอร์ปั่น เราทดลองหลายรอบแล้วยังรู้สึกว่าเดลิเวอรี่ไม่ว้าวเท่าหน้าร้าน เพราะเมนูนี้เราใช้เป็นชาร้อน พอเอาไปปั่นกับน้ำแข็ง ของร้อนโดนของเย็นก็ละลายเร็วกว่าปกติ

ซึ่งจะต่างจากเมนูปั่นที่เราขายในเดลิเวอรี่ เช่น ชาลิ้นจี่ปั่น อันนั้นเราใช้ชามะลิแบบเย็นมาปั่นกับน้ำแข็ง พอของเย็นเจอกับของเย็น แล้วใส่ไว้ในถุงเก็บความเย็นอีก เวลาเดลิเวอรี่จะละลายช้า รสชาติก็ไม่ต่างจากหน้าร้านมาก
แต่ชานมซิกเนเจอร์ปั่นเราเคยทดลองใส่ในถุงเก็บความเย็น แล้ววางทิ้งไว้ 30-45 นาที เพราะคิดว่าถ้าส่งเดลิเวอรี่น่าจะใช้เวลาประมาณนี้ พอชิมเทียบรสชาติกันระหว่างชานมที่เพิ่งปั่นกับวางทิ้งไว้ รสชาติมันต่างกันเกินไป แบบที่กินทันทีจะเนื้อเนียนนุ่ม แต่พอกินอันที่ละลายแล้วเหมือนกินชานมธรรมดา
สำหรับคนที่เคยลองเมนูนี้ที่หน้าร้านแล้ว อาจจะรู้สึกว่ารับได้กับรสชาตินี้ แต่สำหรับคนที่เพิ่งลองชิมเป็นครั้งแรก เฟิร์สอิมเพรสชั่นเขาอาจจะรู้สึกว่าไม่อร่อย แล้วไม่ชอบเลยก็ได้ เราก็คุยกับทีมว่าเอามาทำเป็นกิมมิคเลยดีกว่า ว่าใครอยากกินเมนูนี้ให้มาที่หน้าร้านเท่านั้น มันอร่อยแน่ๆ สมกับที่เขายอมเดินทางมาหาเราแน่นอน

Nose Tea ถือว่าเป็นร้านที่มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ในมุมมองของคุณคิดว่าการขยายสาขาเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง

มองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ High Risk, High Return เป็นเรื่องปกติ ถ้าเรากลัวก็จะไม่ได้อะไรกลับมา แต่ถ้าเรามองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าและเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขาย เพิ่มทางรอดให้กับแบรนด์ เวลามีโอกาสเข้ามาเราก็คว้าไว้

อย่างปีนี้ (ปี 2567) ตอนแรกคิดว่าจะหยุดที่สาขาที่ 12 แต่พอลูกค้าเรียกร้องเยอะๆ ว่าอยากให้มาเปิดใกล้บ้าน เราเลยแพลนไปถึงสิ้นปีว่าจะเปิดเพิ่มอีกเดือนละสาขา ปี 2567 ก็น่าจะจบที่ 16-17 สาขา ปีหน้าก็มีแผนขยายสาขาต่อเรื่อยๆ

แล้วการขยายสาขาใหม่ ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่คนไปต่อแถวบางสาขายาวๆ อย่างสาขาสยามช่วงแรกโดนคอมเพลนทุกวัน มีทั้งคอนเพลนจากร้านข้างๆ ว่าลูกค้าเราไปบังหน้าร้านเขา และมีคอมเพลนจากลูกค้าเรื่องรอคิวนาน บางทีพนักงานก็ลืมใส่ครีมชีสไปให้ ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการจ้างพนักงานเพิ่ม จนพนักงานเบียดกันเต็มร้าน ต้องแบ่งคนไปรันคิว พอขยายสาขาก็ลดปัญหานี้ได้

อะไรที่คุณให้ความสำคัญเมื่อขยายสาขา 

เราต้องเลือกห้างที่เราจะไป สถานที่ที่เราจะอยู่ให้ดี ทราฟฟิกหรือจำนวนคนที่เดินผ่านมีผลกับเรามาก บางคนอาจจะไม่รู้จักร้านเรา แต่พอเดินผ่านก็มีโอกาสที่จะมาซื้อ อย่างทำเลใกล้บันไดเลื่อนคนเดินผ่านตลอดเวลา แล้วเราก็ดูว่าชั้นไหนมีร้านอะไรเป็น magnet ดึงคนเข้ามา เราดูถึงขนาดนั้นเลย ไม่ใช่แค่เราเอาตัวเองมาอยู่ในห้างนี้ก็พอ แต่เราดูทำเลในห้างด้วย

อย่าลืมว่าวันธรรมดาคนเดินไม่เยอะเท่าวันเสาร์ อาทิตย์ บางชั้นไม่มีคนเดินเลยด้วยซ้ำ เวลาเราไปดูสถานที่ที่ไหน ก็ชอบไปซื้อของร้านข้างๆ แล้วถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง วันธรรมดามีคนไหม เราต้องเก็บข้อมูลไว้ก่อน

อย่างสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ที่เราคุยกันอยู่ตอนนี้ ตอนแรกเราอยากได้ชั้นล่างสุดที่คนเดินเยอะๆ แต่ขนาดพื้นที่ร้านจะเล็กไปหน่อย พอเรามาเห็นตรงนี้ที่ชั้น 2 มันมีสเปซโล่งๆ ดี พื้นที่ก็กว้าง เราที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่หน้าร้านเหมือนกัน แล้วร้านเราคนต่อแถวเยอะ เลยเลือกที่ตรงนี้แทน อันนี้เราคิดแล้วว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

แต่สิ่งที่เราจะไม่เอาเลยคือ ถ้าห้างเอาร้านเราไปอยู่หลบมุม เพราะอยากให้เราเรียกคนไปที่มุมนั้น ต่อให้ลดราคา เราก็ไม่เอา เพราะเราไม่ได้อยากได้ที่ถูก แต่อยากได้ที่ที่ดี

พอมีสาขาเยอะขึ้น คุณมีวิธีควบคุมคุณภาพให้เหมือนกันทุกสาขาอย่างไร

ถ้าเป็นเรื่องของคุณภาพเราควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบ ให้ได้มาตรฐานเหมือนกันหมด และมีการเทรนพนักงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าพนักงานคนนี้จะไปอยู่สาขาไหน ก็ต้องชงรสชาติให้เหมือนกันทุกสาขา บางทีเราก็ไปสุ่มตรวจแต่ละสาขาด้วย โดยเฉพาะสาขาที่มีคอมเพลนเยอะ เราก็จะไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้หาต้นตอของปัญหาถูกและหาทางแก้ไข

แล้วเราไม่ได้ดูคุณภาพแค่เรื่องของรสชาติ แต่หน้าตาของเครื่องดื่มก็สำคัญ เพราะเราเป็นคนชอบถ่ายรูปของกิน อย่างเรื่องที่เราเอาไปทำคอนเทนต์ใน TikTok แล้วกลายเป็น talk of the town คือเมนู Nose Tea Signature มีไข่มุกลอยขึ้นมาไม่ได้อยู่ก้นแก้วทั้งหมด เพราะเวลาพนักงานเทเครื่องดื่มลงแก้วแรงๆ จะดันให้ไข่มุกลอยตัวขึ้นมา ซึ่งจริงๆ เขาต้องค่อยๆ เท คือไข่มุกที่ลอยขึ้นมาก็กินได้ รสชาติอร่อยเหมือนเดิม แต่เวลาถ่ายรูปจะไม่สวย เราก็อยากให้ลูกค้าที่อุตสาห์ต่อแถวมารอได้ถ่ายรูปเครื่องดื่มสวยๆ

ทำไมพอเปิดสาขาใหม่ ถึงเลือกออกเมนูพิเศษที่มีเฉพาะสาขานั้นๆ ออกมา

เราอยากสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า เวลามาหาเราที่ร้าน ว่ามาสาขานี้จะได้เจอกับอันนี้นะ มันไม่น่าเบื่อที่จะมาหา Nose Tea  ถือเป็นกิมมิคการตลาดอย่างหนึ่ง ถ้าอยากกินชานมมะลิครีมชีสงานดำต้องมาที่เมกะบางนา ถ้าอยากกินเมนูที่ Nose Tea X BOOBUN ก็มาที่แฟชั่นไอส์แลนด์

หรืออย่างสาขาเซ็นทรัลชิดลมก็จะพิเศษตรงที่เรามีเมนู Soft Serve รสชานม ซึ่งต่อยอดมาจากเมนู Nose Tea Signature ที่เราชอบกินไปครึ่งแก้ว แล้วเอาไปแช่ช่องช่องฟรีซสัก 2 ชั่วโมง พอเอาออกมากินจะเป็นเหมือนเนื้อไอศกรีม เราทำอย่างนั้นอยู่พักนึงจนคิดว่าทำไอศกรีมรสชานมออกมาเลยดีกว่า ตอนนั้นเราไปศึกษาเรื่องเครื่องทำไอศกรีม แล้วทดลองอยู่นานเหมือนกันกว่าจะได้สูตรนี้ที่เนื้อเนียนยิ่งกว่า Nose Tea Signature และละลายช้า ซึ่งสูตรนี้เราจะต้องทำ Soft Serve สดใหม่ทุกวัน เพราะเคยทดลองทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วรสชาติจะหวานเกินไป

สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์เป็นครั้งแรกที่เปิดตัวเมนูเบเกอรี่ที่คอลแล็บกับ Boobun ทำไมถึงเลือกคอลแล็บกับแบรนด์นี้

เราเป็นคนชอบกินขนมปัง ชอบเบเกอรี่อยู่แล้ว มีวันนึงไถ TikTok เจอร้าน Boobun รู้สึกว่าร้านนี้ดู unique ตั้งแต่การตกแต่งร้าน ไปจนถึงแพคเกจจิ้ง ก็เลยสั่งขนมปังของเขาอันที่เป็นก้อนสีแดงมาชิม คือมันดีมาก มีทั้งความนิ่มและเหนียวนุ่ม อร่อยทั้งที่ไม่มีไส้อะไรเลย วันแรกที่ได้กินเราก็ให้ R&D โทรหา โตน-ณัฐกิตติ์ พุทธยากูล เจ้าของ Boobun ว่าสนใจมาคอลเล็บกับเรามั้ย เพราะเราไม่เคยทำเบเกอรี่มาก่อน ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย

พอได้คุยกับเขาทำให้เรารู้สึกเหมือนคุยกับตัวเองเลย ความคิดเขาคล้ายเรามาก แล้วเขาเป็นคนคิดต่างจากคนอื่นจริงๆ ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องแบบนี้แหละที่จะมาคอลแล็บกับเรา เพราะถ้าธรรมดาๆ คงไม่เกิด พูดถึงแล้วก็ขนลุก

เขารู้จริงเรื่องเบเกอรี่ รู้หมดเลยว่าต้องใช้เนยอันนี้ ต้องทำขนมปังแบบนี้ แล้วเขาทำเองหมด ไม่ได้จ้าง outsource ตอนที่เราคิดเมนูด้วยกันก็จะให้เขาคิดในส่วนของขนมปังที่เขาถนัด เลยออกมาเป็นขนมปังไส้ชาอัสสัมที่ไม่หวานน้อย แต่อร่อยมาก ส่วนเมนูน้ำเราก็เอาจุดเด่นของเขาคือชาไทย มาท็อปปิ้งด้วยครีมชีสช็อคโก เพื่อให้ลูกค้าเอาขนมปังมาจิ้มกินคู่กัน

ส่วนแก้วน้ำกับกล่องใส่ขนมปัง เราก็ให้กราฟิกออกแบบใหม่ เอาสี CI Boobun มาใช้ให้มันเด่นและเห็นเลยว่าอันนี้แตกต่างจากเมนูอื่นที่เราขายปกติ แล้วทำเป็นหลอดยาวที่เสียบขนมปังลงไปได้ จะได้ดูดน้ำไป กัดชิมขนมปังไป ทั้งหมดนี้ตรงกับภาพที่เราสองคนอยากเห็นเลย

ถ้าให้ย้อนทบทวน อะไรคือบทเรียนสำคัญ 3 ข้อที่ได้จากการปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมา

หนึ่งคิดว่าจะเป็นเรี่องความใส่ใจในคุณภาพ วัตถุดิบ และการบริการของเรา สำคัญมากๆ คือทุกสาขาต้องให้ได้มาตรฐานเดียวกัน

สองฟังฟีดแบคจากลูกค้าเยอะๆ มันดีแน่นอนถ้าฟังแล้วเอามาปรับปรุงตามที่เขาบอก อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ยึดหลักตรงกลางระหว่างเรา และระหว่างลูกค้าเยอะๆ ดีหรือไม่ดีรับไปก่อน ไม่ใช่ลูกค้ามาคอมเมนต์แล้วเราเถียงมันก็ไม่ได้

สามน่าจะเป็นความคิดที่แตกต่าง ทำยังไงให้เขาจดจำเราให้ได้ ให้เขาจดจำแบรนด์ให้ได้ ให้เราไปอยู่ในใจเขาให้ได้ ถ้าทุกวันนี้เราเอารูปชาเขียวหรือเอาใบชาใบเดียวมาเป็นโลโก้ คนน่าจะจำเราไม่ได้ ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะทำ เรามองการณ์ไกลเลยว่าทำไปตามแผนที่วางไว้ อะไรที่ทำไม่ได้ เราเอามาเป็นบทเรียน แก้ไข ปรับปรุงไปตามขั้นตอน ทุกอย่างมันมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่เรามองว่าจะแก้ไขยังไงให้ผ่านมันไปได้ แล้วเราเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าเจออุปสรรคแล้วเหนื่อยจังเลย มันไม่ได้ช่วยให้เราดีขึ้นเลย ถ้าเรามองว่ามันต้องผ่านไปได้ ปัญหามีไว้ให้แก้นี่ อะไรที่ไม่รู้ก็ลองให้รู้คำตอบไปเลย


Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like