ไม่ต้องโตไว แต่โตนาน และโตพันล้าน
สูตรการทำธุรกิจขนมหวานให้ยืนระยะได้ของ After You จากงาน The Secret Sauce Summit 2024
สารพัดแบรนด์ขนมหวานผุดขึ้นใหม่เป็นดอกเห็ด บ้างล้มหายไปจากสมรภูมิ บ้างยังคงอยู่ หนึ่งในผู้เล่นที่ยืนอยู่ในสมรภูมิขนมหวานได้อย่างมั่นคงแข็งแรงก็คือ After You ผู้เล่นสำคัญที่ไม่ว่าจะทำโปรดักต์ไหนอออกมาก็ได้รับการตอบรับที่ดีเสมอ
ย้อนกลับไป 17 ปีก่อนตอนที่แบรนด์ After You ก่อตั้งขึ้น ตลาดขนมหวานในวันนั้นยังมีคู่แข่งเพียงไม่กี่ราย และคากิโกริยังเป็นสินค้าใหม่ในหมู่คนไทย มาวันนี้ในวงการขนมหวานมีผู้เล่นมากหน้าหลายตา ทว่า ผ่านมา 17 ปี After You กลับยังคงยืนระยะมาได้มาได้อย่างแข็งแกร่ง
คอลัมน์ Keynote ตอนนี้จะพาไปถอดสูตรลับความสำเร็จ ที่ ‘เมย์-กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) ได้มาแบ่งปันไว้ในเวที The Secret Sauce Summit 2024 โดยเฉพาะวิธีคิดเบื้องหลังการพาแบรนด์ขนมหวานสัญชาติไทยไปโกอินเตอร์ ไปจนถึงการสร้างยอดขายหลักพันล้านและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รักยาวนานมาถึงขวบปีที่ 17
1. คิดค้นโปรดักต์ให้ถูกใจตลาด
เริ่มคิดจากสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำในสิ่งที่อยากกินและหาไม่ได้ เพราะเมื่อได้คำตอบของสิ่งที่ชอบ หรือรู้ว่าหาของที่ต้องหาไม่ได้ แปลว่าสิ่งนั้นคือช่องว่างทางตลาดที่เราเข้าไปได้ และเป็นโอกาสในการลงมือทำ ยกตัวอย่างเช่น เมนูโทสต์ที่เริ่มจากความคิดง่ายๆ คืออยากทำให้คลาสิกและเพิ่มความน่าสนใจด้วยการทำขนาดให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ลูกค้าประทับใจและอยากแบ่งปันให้คนอื่นได้เห็น ส่วนเมนูคากิโกรินั้นรังสรรค์จาก pain point ที่ว่าหาทานไม่ได้ จึงตัดสินใจลงมือทำเอง
นอกจากนั้น After You ยังมีโปรดักต์จำนวนมากเก็บไว้ในลิ้นชัก และพร้อมนำมาผลิตขายทุกเมื่อ แต่การเลือกสินค้าใดสินค้าหนึ่งออกมาขาย ไม่ได้อาศัยแค่สูตรที่พร้อม เพราะเรื่องไทม์มิ่งที่เหมาะสมก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่นล่าสุดกับเมนู Baby Eclair แบรนด์เลือกที่จะเกาะกระแสเอแคลร์จือปากด้วยการออกโปรดักต์เอแคลร์รสเมร่อน ว่าง่ายๆ คืออะไรที่ตลาดทำ After You จะไม่ทำ แต่อะไรที่ตลาดไม่ทำ After You จะลุย
2. ทำ R&D และระบบหลังบ้านให้แข็งแรง
ที่ After You มีสูตรขนมเก็บไว้ในคลังมากมายฃจากการเก็บดาต้า และทำ R&D โดยเริ่มทำจากสิ่งที่ชอบ คิดค้นและพัฒนาจากของที่อยากกิน และเก็บมันเข้าคลังไว้รอจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน After You มีทีม R&D ทั้งหมด 5 คน และในทุกสัปดาห์การทำงาน ทีมจะคิดค้นเมนูใหม่ๆ ออกมาให้เมย์ชิม เมนูไหนถูกใจก็เก็บเข้าลิ้นชัก ถึงเวลาต้องลุยก็พร้อมงัดออกมาเฉิดฉาย
นอกจากคิดค้นและพัฒนาสินค้าให้ดีงามและพร้อมใช้อยู่เสมอ After You ยังให้ความสำคัญกับการสร้างระบบหลังบ้านที่แข็งแรง เนื่องจากในระยะแรกที่ทำแบรนด์เลือกขายสินค้าหลากหลายแบบจนเกินไป ทั้งอาหารเช้า คัพเค้ก ฯลฯ ทำให้บริหารจัดการร้านได้ยาก ก่อนตัดสินใจปรับสเกลใหม่ให้เล็กลงเพื่อสร้างระบบร้านที่ดีและมั่นคง ใน 3 ปีแรกของแบรนด์ เมย์จึงเลือกขยายสาขาเพียงแค่ 3 สาขา เพื่อทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3. อยากขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าลูกค้าอยากซื้อรึเปล่า
นอกจาก timing ที่เหมาะสม อีกข้อสำคัญคือความต้องการของตลาด เพราะหากความต้องการขายกับความต้องการซื้อไม่ไปในทางเดียวกัน จากที่คิดว่าโปรดักต์ดี ขายได้แน่นอน ก็อาจจะร่วงไม่เป็นท่า ซึ่งการจะรู้ดีมานกับซัพพลายของลูกค้าได้จะต้องสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เช่น เช็กยอดขาย จำนวนลูกค้า ไปจนถึงสถานการณ์ร้านที่ต้องดูว่าลูกค้าแต่ละสาขาต้องรอคิวหรือเปล่า ดังนั้น การสร้างระบบที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ และสังเกตดีมานให้ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน
4. ‘คน’ คือหัวใจสำคัญของงานบริการ
อาฟเตอร์ยูเริ่มต้นจากการมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเป็นคนในครอบครัว ทั้งน้องชาย คุณแม่ คุณพ่อ ลูกพี่ลูกน้อง ฯลฯ แม้ปัจจุบันจะขยายองค์กร แต่ยังคงดูแลและปฏิบัติกับคนทำงานเหมือนครอบครัว
มากกว่านั้น ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมาชิกขององค์กร อาฟเตอร์ยูจะเทรนพนักงานอยู่เสมอ และหากคนทำงานเจอกับปัญหา เมย์ในฐานะผู้นำจะดำเนินการแก้ปัญหาทันที ไม่ปล่อยผ่าน ด้วยเชื่อว่าคนทำงานสำคัญที่สุดของงานบริการ ดังนั้น คนทำงานต้องได้อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุด ถ้าพนักงานมีความสุข ก็จะส่งต่อความสุขสู่ลูกค้าได้
ก่อนจบเซสชั่น เมย์ได้ทิ้งท้ายวิธีคิดสำคัญที่ทำให้อาฟเตอร์ยูอยู่ยั้งยืนยงมาได้ถึงขวบปีที่ 17 และเป็นอาฟเตอร์ยูที่ไม่เก่า แถมยังคงเก๋าและสดใหม่ตลอดกาล นั่นคือ ‘รู้ว่าตัวเองเป็นใคร’ คือรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร แค่ไหน และสิ่งนั้นเหมาะกับตัวเรารึเปล่า
ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ ทุกครั้งที่อาฟเตอร์ยูออกโปรดักต์ใหม่ เราจึงมักได้เห็นความสดใหม่หวานหอมจากแบรนด์อยู่เสมอ