Net Zero for Business

Net Zero ยังไงให้ไม่ตกขบวน บทสรุปจากงาน ASEW 2024

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโลกในตอนนี้คือการก้าวไปสู่ ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยแผนการเบื้องต้นที่ภาครัฐประกาศออกมาจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Net Zero Carbon ให้ได้ร้อยละ 30-40% ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ฟังดูเป็นแผนงานและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าว 

ภายในงาน ‘ASEAN Sustainable Energy Week 2024’  ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานได้เผยให้เห็นแล้วว่า การลงมือปรับเปลี่ยน ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ ในภาคอุตสาหกรรมไทย คือฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้เป้าหมาย Net Zero Carbon เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่วิธีลงมือปรับเปลี่ยนแบบไหนที่จะทำให้แต่ละองค์กรไม่ตกขบวนเทรนด์ที่ว่า ขอชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกันจาก Key Note ตอนนี้ 

ต้องเรียนรู้และเข้าใจเรื่อง alternative energy 

โจทย์ใหญ่โจทย์แรกคือทำยังไงให้ผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กจนถึงรายใหญ่เข้าใจถึงการใช้พลังงานทางเลือก หรือ alternative energy เพื่อทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งที่เป็นถ่านหินหรือแก๊สธรรมชาติ  ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยปีละ 1.87 พันตัน ที่แม้จะอยู่ในอัตราเฉลี่ยที่น้อยกว่าประเทศแถบยุโรป ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 2.02-3.05 พันตัน ทว่าตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพึงพอใจในระยะยาวสักเท่าไหร่นัก

วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ณ เวลานี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กำลังจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2024) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan: EEP 2024) เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง 

คำถามต่อมาคือพลังงานทดแทนที่เหมาะจะใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีอะไรบ้างนั้น วัฒนพงศ์ได้จำแนกออกมาเป็น 3 ข้อหลักๆ ได้แก่

  1. biomass–แหล่งพลังงานทดแทนจากพืช ที่หาได้จากเศษวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร เช่น เหง้ามันสำปะหลัง ฟางข้าว ปลายไม้ยางพารา ลำต้นปาล์มน้ำมัน แกลบ อ้อย ฯลฯ 
  2. biogas–ไบโอก๊าซ หรือก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ได้จากการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เช่น ก๊าซมีเทน (CH4), ก๊าซออกซิเจน (O2), ก๊าซไฮโดรเจน (H2), ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และก๊าซไนโตรเจน (N2) โดยก๊าซเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งการหุงต้มหรือการให้แสงสว่าง
  3. solar cell–แหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ ที่เปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า เหมาะสำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีกำลังผลิตสูง เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มีทรัพยากรไม่จำกัดและนำไปใช้ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม วิธีปรับเปลี่ยนข้างต้นอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนที่แท้จริงควรเริ่มจากรั้วสถาบันการศึกษา ที่ต้องบรรจุความรู้เรื่องพลังงานทดแทนแก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำงานในอนาคต และยังต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ SME ที่หันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น การให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ติดตั้งอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ 

battery passport รองรับการเติบโตของเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าพูดถึง Net Zero Carbon เรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าย่อมเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทยระบุว่า 2566 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึง 49,952 คัน ขณะที่ไตรมาสแรกถึงไตรมาสที่สองของปี 2567 (ถึงเดือนพฤษภาคม) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 10,789 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเดียวกันราว 34.64% 

ที่น่าสนใจคือเมื่อมีการสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคเอกชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง แล้วแบตเตอรีที่หมดอายุการใช้งานจะมีมาตรการหรือวิธีจัดการใดๆ รองรับหรือไม่ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ได้แนะนำมาตรการที่ภาครัฐและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าสามารถลงมือทำได้ทันที คือการจดทะเบียน ‘battery passport’ ที่ระบุข้อมูลการจดทะเบียน เช่น วันที่ผลิตและวันที่หมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วปลายทางของแบตเตอรีนี้จะถูกส่งไปที่ใด และผู้ผลิตรถยนต์จะนำรีไซเคิลยังไง 

ข้อมูลจากการจดทะเบียนแบตเตอรียังสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้อีกว่า อายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันมีส่วนช่วยลดปัญหาการสร้างคาร์บอนได้มาก-น้อยขนาดไหน และสอดคล้องต่อเป้าหมาย Net Zero Carbon ได้จริงหรือไม่นั่นเอง

เกษตรกรเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยโมเดล BCG

สุดท้ายคือเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่ ดร.นภัส แก้วตระกูลชัย คณะกรรมการจัดงาน และผู้ทรงคุณวุฒิการประชุมนานาชาติ ASEAN Bioeconomy and Bioeconomy Conference 2024 ระบุว่า เป็นโมเดลสำคัญที่ควรนำมาปรับใช้กับภาคการเกษตรเพื่อผลักดันประเทศสู่ carbon economy ในฐานะประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการเกษตร โดยโมเดล BCG แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ 

  1. bioeconomy–เศรษฐกิจชีวภาพที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาต่อยอดสู่ ‘ทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร’ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น การพัฒนาธัญพืชหรือข้าวให้มีสารอาหารมากขึ้น
  2. circular economy–การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมๆ กับการลดปริมาณของเสียจากภาคการผลิต ด้วยการนำมาแปรรูปใหม่ หรือที่เรียกว่า Zero Waste 
  3. green economy–การพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดได้ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น การควบคุมมลพิษ หรือการประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการมุ่งสู่สังคมปลอดคาร์บอนเท่านั้น ยังมีวิธีอีกมากมายที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อไปถึงเป้าหมายดังกล่าว แต่สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจต่อทุกๆ ฝ่ายว่า ประโยชน์ของ Net Zero Carbon ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของเราทุกๆ คนบนโลกใบนี้

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

You Might Also Like