ทะเลใจ
‘ทะเลใจ’ จากทะเลในฐานะใบสั่งยายุควิคตอเรียน สู่ความเฟื่องฟูของกิจการบ้านพักตากอากาศ
แต่ไหนแต่ไร ทะเลเป็นเหมือนดินแดนแห่งการเยียวยารักษา
ไม่ว่าจะด้วยเสียงคลื่นที่เวียนวนไม่รู้จบ ไอเค็มที่โชยมากับคลื่นลม หรือจะเป็นการบรรจบกันของเส้นขอบฟ้าและผืนทะเลที่สวยงามราวภาพวาด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนตัวยาในแคปซูลที่หมอจ่าย จนไม่ว่าจะเจ็บกายหรือเจ็บใจ มนุษย์เราก็ต้องขอเตร่ไปทะเล
ทว่ากว่าทะเลจะกลายเป็นพื้นที่ของการบำบัดรักษา ทะเลก็เป็นอีกพื้นที่ที่มีความหมายทางวัฒนธรรมของตัวเอง ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ การเกิดขึ้นของเมืองและการเดินทางที่ทำให้เรากลัวธรรมชาติลดลง ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของความเชื่อทางการแพทย์ ทะเลที่เคยเป็นตัวแทนของความตายและดินแดนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจึงค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ของการเยียวยาหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการค้าริมทะเลและกิจการบ้านพักตากอากาศ
ในช่วงปลายฤดูร้อนแบบนี้น่าจะเป็นช่วงท้ายๆ ที่เราจะได้หนีไปนอนโง่ๆ ที่ริมทะเล ต่อให้ชีวิตเราสบายดีแต่การไปทะเลยังมีความหมายในการเยียวยาจากการทำงานและชีวิตจริง คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ขอพาทุกท่านกลับไปยังจุดเริ่มของกระแสการไปทะเลเพื่อบำบัดรักษา
จากใบสั่งแพทย์โบราณที่พาผู้ป่วยไปยังชายหาดเพื่อบำบัดผ่านการจับกดลงน้ำ สู่วันที่องค์ความรู้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นจนการไปทะเลเพื่อเยียวยา (จริงๆ) กลายเป็นภาคปฏิบัติของคนทั่วไป
ทะเลกับพลังเยียวยาอันลึกลับ
มุมมองปัจจุบัน ทะเลเป็นพื้นที่ของความรื่นรมย์และการพักผ่อน แต่ความรู้สึกนี้พัฒนามาจากการที่เรามองธรรมชาติในมุมที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะถ้าพูดกันจริงๆ ในยุคโบราณทะเลเป็นโลกของสิ่งที่เราอธิบายไม่ได้และเป็นพื้นที่ของเหล่าภูตผีและอสูรกาย ทะเลมักเป็นตัวแทนของความบ้าคลั่ง เป็นพื้นที่อันตราย การยืนมองท้องทะเลของมนุษย์หมายถึงความหวาดหวั่น ความเวิ้งว้าง
ในสมัยก่อนการไปชายหาดและทะเลไม่ได้ง่ายแบบปัจจุบัน แต่ต้องดั้นด้นเพื่อออกเดินทางด้วยเรือและพาหนะต่างๆ เพราะชายหาดมักเป็นพื้นที่ห่างไกล เป็นที่อยู่ที่กินของชาวประมงซึ่งไม่ใช่กลุ่มชนที่มีฐานะมากนัก สำนวนของกะลาสีในสมัยก่อนที่ว่า ‘on the beach’ ยังมีนัยของการถูกทิ้งไว้ สะท้อนถึงความยากจนและไม่มีทางไป
การเปลี่ยนแปลงเชิงความหมายของทะเลจึงสัมพันธ์กับบริบทสังคมหลายอย่าง โดยเฉพาะการมาถึงของการแพทย์สมัยใหม่และรถไฟของอังกฤษ จุดเปลี่ยนสำคัญของการไปทะเลเพื่อรักษาเริ่มต้นในราวปลายศตวรรษที่ 18 ในสมัยนั้นเกิดกระแสการรักษาด้วยการ ‘อาบทะเล’ แพทย์อังกฤษในยุคนั้นมีการจ่ายยาให้ผู้ป่วยด้วยการไปอาบน้ำทะเล ด้วยเชื่อว่าคลื่นและน้ำเค็มเป็นเครื่องมือในการรักษาโรคบางชนิด
ประเด็นเรื่องน้ำและการเยียวยารักษาค่อนข้างอยู่ในความเชื่อดั้งเดิมของโลกตะวันตก น้ำถือเป็นตัวแทนและของขวัญจากพระเจ้า เช่น ในยุคก่อนหน้าคือในศตวรรษที่ 16 มีความเชื่อเรื่องเมืองสปา แต่ในยุคแรกของการบำบัดด้วยน้ำค่อนข้างเชื่อว่าน้ำพุหรือน้ำผุดจากผิวดินเป็นตัวแทนของการรักษาจากพระเจ้า ซึ่งบ่อน้ำธรรมชาติเองก็อาจประกอบด้วยแร่ธาตุ สารอย่างกำมะถันซึ่งรักษาอาการบางประเภทได้
การจ่ายยาให้ไปทะเลจึงสัมพันธ์กับความรู้ทางการแพทย์โบราณ ทำนองเดียวกันกับเรื่องธาตุซึ่งตะวันตกอย่างกรีกก็น่าจะได้รับมาจากทางตะวันออก แต่ตะวันตกจะเชื่อว่าความเจ็บป่วยและลักษณะอารมณ์ของผู้คนสัมพันธ์กับสมดุลของน้ำในร่างกาย 4 ประเภท (4 humors) คือเลือด เสมหะ น้ำเหลือง และน้ำดี (blood, phlegm, yellow bile, black bile)
ความเชื่อเรื่องสมดุลของน้ำในอังกฤษรวมถึงการให้ผู้ป่วยไปอาบทะเลยังค่อนข้างสัมพันธ์กับตำรา The Anatomy of Melancholy ของนักคิดนาม Robert Burton เขาเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า Melancholy คืออาการโศกเศร้าที่เชื่อมโยงกับน้ำดีและม้าม เบอร์ตันยังเชื่อว่าการเปลี่ยนบรรยากาศรวมถึงการมองพื้นที่เวิ้งว้างกว้างไกลจะช่วยเยียวยาความเศร้า (ที่ตอนนั้นเชื่อว่ามาจากความไม่สมดุลของร่างกาย) ได้
กว่าจะถึงทะเลใจ ยังมีทะเลคลั่ง
สองร้อยปีต่อมาจากคุณเบอร์ตัน บรรดาแพทย์ในศตวรรษที่ 18 ได้แรงบันดาลใจจากมุมมองทางการแพทย์และแนวทางการรักษา ในศตวรรษนี้เองที่แพทย์เริ่มระบุให้ผู้ป่วยเดินทางไปทะเลในฐานะส่วนหนึ่งของการรักษา แต่การรักษาด้วยทะเลอย่างเป็นทางการในยุคแรกไม่ใจดีกับคนป่วยเท่าไหร่
คำว่าการอาบทะเลหมายถึงการที่ผู้ป่วย (ส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรี) จะมีผู้ช่วยซึ่งจะจับผู้ป่วยกดลงในน้ำทะเล เพื่อแช่ตัว ให้คลื่นซัด และให้อยู่ในภาวะจมน้ำหรือใกล้หมดลมเพราะเชื่อว่าจะช่วยรักษาอาการบางอย่างได้ ส่วนระยะเวลาและการกำหนดอวัยวะที่จะแช่อยู่ในน้ำแพทย์จะเป็นผู้กำหนด
แต่ความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วยจากปัจจัยต่างๆ นั้นเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเกิดการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ เช่น มีการค้นพบออกซิเจนในปี 1778 และการค้นพบเชื้อโรคที่ทำให้เราเข้าใจว่าความเจ็บป่วยมาจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ดังนั้นความเชื่อเรื่องสมดุลของน้ำจึงเริ่มสำคัญลดลง แต่ความคิดเรื่องอากาศบริสุทธิ์และสุขอนามัยก็ยังคงสัมพันธ์กับการไปทะเลเพื่อสุขภาพ การไปตากอากาศดีๆ ที่สะอาดไร้การปนเปื้อนที่ชายหาดจึงตรงกันข้ามกับอากาศสกปรกของเมืองอุตสาหกรรม
จุดนี้เองที่พื้นที่ชายทะเลเริ่มเกิดการพัฒนาถึงขั้นเกิดรีสอร์ตริมทะเลขึ้น การไปทะเลในยุคแรกๆ มีแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปรักษา ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่คนชั้นสูงเท่านั้นที่กระทำได้ เช่น ในทศวรรษ 1780 มกุฎราชกุมารที่ต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ 4 เสด็จไปเมืองไบรตัน (Brighton) ตามคำแนะนำและกล่าวว่าการแช่น้ำทะเลช่วยบรรเทาอาการปวดเกาต์ได้ดี จากนั้นก็เริ่มกลายเป็นกระแสและมีการแข่งขันกันในหมู่ชนชั้นสูง
ยุควิคตอเรียน รถไฟ และเก้าอี้ผ้าใบ
ความเฟื่องฟูของเมืองริมทะเลสัมพันธ์กับบริบทสังคมในยุคต่อมาหรือยุควิคตอเรียน (เริ่มต้นในปี 1830) ด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดกลุ่มคนชั้นกลางหรือกลุ่มคนที่มีเงินและมีเวลาว่าง
ในยุคนี้ ผู้คนยังเชื่อเรื่องความสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ พื้นที่ริมทะเลจึงยังคงมีมนตร์ขลังและเป็นกิจกรรมพักผ่อนเพื่อการเยียวยา โดยเฉพาะการหลบหนีออกจากเมืองอันสกปรกวุ่นวายจากโลกอุตสาหกรรม
จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของการท่องเที่ยวและกลุ่มรีสอร์ตริมทะเลคือการขยายตัวรางรถไฟในทศวรรษ 1820-1830 รถไฟที่ทอดจากเมืองใหญ่ไปถึงพื้นที่ริมทะเลเปิดโอกาสให้คนชั้นกลางสามารถนั่งรถไฟไปพักผ่อนบนชายหาดได้ รถไฟทำให้การเดินทางไปถึงพื้นที่ริมทะเลราคาถูกลง ใช้เวลาน้อยลง ทะเลเป็นพื้นที่ที่ให้ความหมายใหม่จากการทำงานในระบบที่จำเจน่าเบื่อหน่าย
กลางศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่การไปทะเลกลายเป็นกิจกรรมที่แทบจะหมายถึงคำว่า ‘วันหยุดพักผ่อน’ ชายหาดในยุควิคตอเรียนเต็มไปด้วยผู้คน มีตลาดนัดวันหยุด มีบริการลาตัวเล็กๆ ให้ขี่ มีขนมหวาน สายไหม และกิจกรรมเพลินใจอื่นๆ ชายหาดมักจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนตามการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมที่เริ่มมีเวลาว่างและมีกำลังซื้อ
หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์สำคัญของกิจกรรมเที่ยวทะเลของชาววิคตอเรียนคือการจดสิทธิบัตรเก้าอี้ชายหาด (deck chair) เป็นสิ่งประดิษฐ์ของ John Thomas Moore ซึ่งขึ้นทะเบียนในปี 1886 เก้าอี้ผ้าใบยุคแรกสุดทำขึ้นด้วยผ้าใบสีเขียวมะกอกก่อนที่จะมีสีสันอื่นๆ ในท้ายศตวรรษ
ชนชั้นกับการเปิดพื้นที่บริโภค
การไปเที่ยวทะเลและกิจการริมทะเลค่อนข้างเติบโตขึ้นตามความแมสและบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การไปทะเลเริ่มต้นที่การไปบำบัดรักษาของชนชั้นสูงที่อาจต้องดั้นด้นไปด้วยรถม้า พร้อมด้วยข้าวของต่างๆ ที่ชายทะเลซึ่งขนส่งไปอย่างยากลำบาก จนมาถึงยุครถไฟที่ขยายการไปทะเลไปยังเหล่าชนชั้นกลาง แรงงานคอปกขาว เจ้าของกิจการและผู้จัดการของกิจการต่างๆ
ทว่าชายทะเลจะแมสไม่ได้เลยถ้าคนชั้นแรงงานที่มีจำนวนหลักล้านยังไม่เข้าร่วมกิจกรรมการไปทะเล
ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 การไปทะเลเริ่มขยายตัวไปสู่ชนชั้นแรงงาน จากการปรับลดค่ารถไฟในช่วงปี 1844 ทำให้การท่องเที่ยวชายหาดแบบวันเดียวเป็นไปได้ แรงงานส่วนใหญ่อาจมีวันหยุดได้วันเดียวหรือมีเงินไม่เพียงพอในการพักค้างคืน การเกิดขึ้นของวันหยุดไม่ว่าจะเป็นการหยุด 1-2 วันของโรงงาน และการเกิดขึ้นของวันหยุดพิเศษ (วันหยุดธนาคารครั้งแรกในปี 1871) จึงเป็นวันที่แรงงานจะเก็บเงินเพื่อไปพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดนักขัตฤกษ์
ความเปลี่ยนแปลงทำให้พื้นที่กิจการริมทะเลเต็มไปด้วยบริการที่แทบจะตรงข้ามกัน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือทศวรรษ 1870 เป็นต้นมาถือเป็นช่วงที่แรงงานกลายเป็นผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวหลักของเมืองและพื้นที่ริมทะเล การไปเที่ยวทะเลของกลุ่มแรงงานสัมพันธ์กับหลายมิติทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อมต่อของเมืองอุตสาหกรรม ด้วยระยะทางที่เหมาะสมทำให้เกิดเมืองชายทะเลยอดนิยมขึ้น
หนึ่งในนั้นคือเมืองไบรตัน แต่เดิมไบรตันเป็นเมืองแนวหน้าของการพักผ่อน เมืองเต็มไปด้วยรีสอร์ตหรู ร้านค้า ท่าเรือที่สวยงาม การมาถึงของแรงงานที่อาจจะเดินทางไปและกลับ หรือแรงจับจ่ายที่มีเพียงพอในการนอนค้างทำให้กิจการของเมืองต้องรับมือกับการจับจ่ายใหม่ๆ ที่อันที่จริงมีกำลังซื้อเป็นจำนวนมาก
ด้วยความที่ชายทะเลเป็นดินแดนที่ตรงข้ามกับเมือง เป็นดินแดนของการเยียวยารักษาโรคสำคัญที่เราทุกคนรู้จักดี คือโรคของความเบื่อหน่ายจากชีวิตในเมือง ชายหาดของไบรตันจึงกลายเป็นพื้นที่ผสมผสานเพื่อบริการคนทุกชั้น ในแนวชายฝั่งเดียวกันเราจะพบรีสอร์ตและร้านรวงแสนเก๋ไก๋และมีราคาแพงในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ไบรตันจะขึ้นชื่อเรื่องพื้นที่สนุกสนาน มีคาร์นิวัล มีการแสดงแปลกๆ ภาพบางส่วนของการพักผ่อนชายทะเลจึงเริ่มมีนัยของความแปลกประหลาด ความสนุกของพื้นที่ริมทะเลจึงขยายตัวไปในทำนองของพื้นที่ประหลาด มีอาหารแปลกๆ การแสดงแปลกๆ
ถ้าเป็นบ้านเรา เราก็อาจจะมองเห็นพื้นที่สำคัญ เช่น หัวหินที่เติบโตขึ้นตามทางรถไฟในช่วงรัชกาลที่ 5 การขยายตัวของกิจการและเมืองชายหาดที่สัมพันธ์กับถนนและการขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เช่น พัทยา ไปจนถึงย่านอื่นๆ เช่น แสมสาร ปราณบุรี เรื่อยไปจนถึงการท่องเที่ยวในเกาะที่ไกลออกไปด้วยมีพาหนะใหม่ๆ ตามยุคอย่างการบินในประเทศและบริการเรือรับ-ส่ง
สุดท้ายแม้แต่กิจกรรมการนั่งโง่ๆ ริมทะเลให้ลมและคลื่นเยียวยาหัวใจก็อาจมีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ไม่ไกลจากทุกวันนี้นัก คราวหน้าการนั่งโง่ๆ ของเราอาจมองเห็นภาพสุภาพสตรีในศตวรรษที่ 18 ถูกทุ่มตัวลงน้ำตามใบสั่งแพทย์ด้วยก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- smithsonianmag.com/history/inventing-beach-unnatural-history-natural-place-180959538
- washingtonpost.com/news/wonk/wp/2016/07/03/the-weird-origins-of-going-to-the-beach
- rcpe.ac.uk/heritage/bathing-prescription-brief-history-treatment-water
- ironbridge.org.uk/learn/museum-collections/stories-from-the-collections/victorian-seaside
- nationalgeographic.com/travel/article/guide-to-brighton-uk-beach-town
- bbc.co.uk/history/british/victorians/seaside_01.shtml