ESG Strategy

บรรทัดฐาน VS กิมมิก? กลยุทธ์ ESG ของภาคธุรกิจจำเป็นแค่ไหน

ในปี 2567 นี้หลายบริษัทในไทยไม่เพียงสร้างกลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายเท่านั้น แต่ยังจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ทั้ง SC Asset ที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปีนี้ และ 25% ภายในปี 2573 ส่วน Central Retail ก็ตั้งเป้าจริงจังกับ ESG มากขึ้น ทั้งยังได้เรตติ้งสูงสุด AAA จากการประเมินผลหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

นอกจากทั้ง 2 บริษัทนี้แล้ว ยังมีบริษัทของไทยอีกหลายแห่งที่ตั้งเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น คำถามสำคัญคือกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นแค่ไหน การตั้งเป้าเหล่านี้เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเช่นเดียวกับการทำโครงการ CSR ที่หลายคนเบือนหน้าหนีหรือไม่ หรือที่จริงแล้ว กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนึ่งทางออกให้ธุรกิจยุคใหม่

กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญยังไง?

1. เพิ่มภาพลักษณ์และชื่อเสียง : กลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมที่จริงจังและจริงใจช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้หันมาสนใจแบรนด์มากขึ้น เพราะตามรายงานของ Sustainable Global Growth and Shopper Expectations โดย ESW บริษัทอีคอมเมิร์ซ DTC ระดับโลก พบว่าจากผู้ซื้อกว่า 16,000 รายใน 16 ประเทศ กว่า 83% มองว่าความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า 54% ของกลุ่มเจนฯ Z ยังยอมจ่ายเพิ่มขึ้น 10% ถ้าสินค้านั้นแสดงถึงความกรีน

ส่วนการวิจัยในไทยเมื่อปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เผยว่าคนไทยกว่า 1,252 คน 74% มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้บริโภค 37.6% เป็นกลุ่มสายกรีนจ๋าจริงๆ ความน่าสนใจคือคนกลุ่ม Baby Boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนสูงสุด เพราะยิ่งอายุมากก็ยิ่งพร้อมจ่ายมากกว่า ตรงข้ามกับผลสำรวจระดับโลก 

2. ลดต้นทุน : แม้ในช่วงแรก การเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือโครงสร้างต่างๆ ของบริษัทเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมนั้นอาจกินเงิน แต่ในระยะยาว การเปลี่ยนหลอดไฟธรรมดาเป็นหลอด LED การติดแผงโซลาร์เซลล์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ หรือวัสดุเหลือทิ้งนั้นกลับสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล 

อย่าง UNILIVER บริษัท FMCG นั้นลดต้นทุนได้มากกว่า 1.27 พันล้านบาทจากกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อม ผ่านการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้คาร์บอนหมุนเวียน ทั้งภายในปี 2568 ยังตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารจากกระบวนการผลิตโดยตรงนับตั้งแต่ที่โรงงานไปจนถึงชั้นวางของในร้านค้า ให้ได้ครึ่งหนึ่งทั่วโลก 

3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี : นอกจากกลยุทธ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบหลายๆ ด้านที่กำหนดโดยรัฐบาลได้แล้ว ในหลายประเทศ รัฐบาลยังสนับสนุนบริษัทที่จริงจังกับกลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมโดยการลดภาษีด้วย

4. ลดต้นทุนการลาออก : กลยุทธ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นยังรวมถึงจริยธรรมในการดูแลพนักงานและสร้างประโยชน์ต่อสังคมเช่นกัน จากข้อมูลของ McKinsey และ NielsenIQ พบว่าบริษัทที่มีแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืนนั้นสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานสูงขึ้นถึง 55% และเพิ่มความรักใคร่ภักดีต่อพนักงานสูงขึ้น 38%  

5. เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น : ภาคการเงินให้ความสำคัญเรื่อง sustainable finance มากขึ้น เราจึงได้เห็นนโยบาย Green Fund และ Green Loan ที่อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น บริษัทที่จะขอแหล่งทุนได้จะต้องมีการประเมินทางสิ่งแวดล้อมถึงจะยอมให้กู้ เนื่องจากเรื่องกรีนๆ หรือ ESG นั้นเป็นเทรนด์โลกที่ถ้าบริษัทไหนไม่สามารถปรับใช้ได้ก็อาจชี้ได้ว่าในอนาคตอาจอยู่ยากในสมรภูมิที่ทุกอย่างมุ่งหน้าสู่ความกรีน 

กลยุทธ์กรีนแบบไหนบ้างที่ธุรกิจรายย่อยก็เริ่มได้

1. ลดการใช้พลังงานหรือเลือกใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น ปิดน้ำ ปิดไฟ เมื่อไม่ได้ใช้งาน  

2. หาพาร์ตเนอร์ที่มีใจรักจะกรีนไปด้วยกัน เพราะการทำธุรกิจกรีนๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การเข้าร่วมคอมมิวนิตี้ชาวกรีนจึงอาจช่วยให้คุณได้ไอเดียใหม่ๆ เช่น ทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์เพื่อดำเนินโครงการรีไซเคิลอย่าง Recycle Day Thailand ที่พร้อมช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการรวบรวมกระดาษ กระดาษแข็ง พลาสติก และวัสดุอื่นๆ ในการนำไปรีไซเคิลต่อ หรือ N15 Technology ที่รับขยะกำพร้าไปเผาเป็นพลังงาน 

3. แปลงข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบดิจิทัล เพื่อลดการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ ทั้งยังประหยัดพื้นที่จัดเก็บได้มาก รวมถึงเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้รวดเร็ว

4. โปร่งใสในทุกกระบวนการ เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันพร้อมปวารนาตนให้กับแบรนด์ที่เชื่อถือได้และเปิดเผย

5. ลดการผลิตที่มากเกินไปและการสต็อกของจนล้นโกดัง ผ่านการรับฟังลูกค้า เคราะห์ความเสี่ยง และประเมินกับซัพพลายเออร์อย่างสม่ำเสมอ เผื่อลดการสร้างขยะ  

6. ตั้งเป้าเพียง 1 ข้อ ที่คิดว่าทำได้และเหมาะสมกับแบรนด์หรือบริษัท แทนการลิสต์สิ่งที่ต้องกรีนหลายๆ ข้อแล้วล้มเลิกเพราะรู้สึกยากเกินจัดการ วิธีนี้จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจค่อยๆ ปรับตัวและคุ้นชินกับเป้าหมายความกรีนได้ทีละข้อๆ โดยไม่รู้สึกท้อไปก่อน

ความยั่งยืนอาจเป็นเรื่องยากในวันนี้ แต่เมื่อได้เริ่มลงมือทำและหาพาร์ตเนอร์พร้อมเดินหน้าด้วยกัน ความยั่งยืนจะเป็นรากฐานที่ดีของทุกธุรกิจในวันหน้า วันที่ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอดและทางออกที่เจ้าของธุรกิจต้องให้ความสำคัญ

อ้างอิง : 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like