ทำธุรกิจด้วยรักไม่ใช่รบ ‘LQ (Love Quotient)’ ทักษะรักตัวเองสำหรับผู้ประกอบการ
แม้วันแห่งความรักจะผ่านพ้นไปแล้วแต่เดือนแห่งความรักยังไม่จบลง นอกจากรักคู่รัก รักครอบครัว รักเพื่อน รักคนรอบตัวแล้ว วันนี้เราอยากเตือนให้ทุกคนนึกถึงอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญคือการรักตัวเอง (self-love) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญมากโดยเฉพาะกับอาชีพที่มีความเครียดสูงอย่างนักธุรกิจ
‘แนวความคิดว่า ‘Business is a Battle’ อาจไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ประกอบการเท่าไหร่นัก’
ภาพจำของผู้ประกอบการในทุกวันนี้คือต้องอดทนต่อความกดดันได้สูง ล้มแล้วพร้อมที่จะลุกขึ้นใหม่เสมอ กล้าเผชิญความเสี่ยงและฝ่าสารพัดปัญหาของธุรกิจทั้งความกังวลว่าจะขาดทุนไหม จะมีเงินพอจ่ายพนักงานท่ามกลางวิกฤตหรือไม่ ผลประกอบการจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า ยังไม่นับการทำงานหนักที่ทำให้เจ้าของกิจการหลายคนมีไลฟ์สไตล์ทำงานแบบอดหลับอดนอน ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ทำให้การทำธุรกิจมักถูกมองเป็นการต่อสู้เอาตัวรอด (Business is a Battle) ทั้งต่อสู้กับโลกภายนอก คู่แข่ง และก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเองเพื่อความอยู่รอด
ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาแล้ว เมื่อคนเรารู้สึกเหมือนอยู่ในสนามรบหรือต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลาจะทำให้เข้าโหมดตอบสนองที่เรียกว่า Fight or Flight กล่าวคือ หากรู้สึกว่าเกิดการคุกคาม บางคนก็จะต่อสู้ด้วยความก้าวร้าว หรือบางคนก็จะสู้โดยการหนี หากเทียบกับสนามธุรกิจให้เห็นภาพ เช่น ถ้าเจ้าของกิจการรู้สึกเครียดมากๆ ก็อาจต่อว่าตัวเองเวลาล้มเหลวอย่างรุนแรง หรือบางคนเวลาเจอความเสี่ยงทางธุรกิจก็อาจเข้าโหมดหนี ไม่แก้ปัญหาไปเลยแต่กดดันตัวเองอยู่ลึกๆ กรอบความคิดที่มองธุรกิจเป็นการสู้รบแบบนี้จึงถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและกดดันดั่งต่อสู้อยู่ในสนามรบตลอดเวลา (fight-based business paradigm)
‘โอบรับแนวคิดใหม่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยรัก (love-based business paradigm) และไม่ได้มองธุรกิจเป็นสนามรบ’
มีแนวความคิดใหม่ที่ healthy มากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการที่รู้สึกว่าเลือดนักสู้ผู้ห้ำหั่นกันไม่ใช่ทางของตัวเอง
นั่นคือการมองว่าเราไม่ได้กำลัง ‘ต่อสู้’ กับคนอื่น แต่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความรัก เริ่มจากรักตัวเองแล้วแผ่ความรักและการสนับสนุนไปยังพนักงานในองค์กร พันธมิตร คู่ค้า ลูกค้าและอุตสาหกรรมของตัวเอง
แม้แต่ Jack Ma นักธุรกิจชาวจีนชื่อดังยังเคยกล่าวไว้เนิ่นนานแล้วในปี 2015 ว่า “ธุรกิจคือการแข่งขันที่สนุก แต่มันไม่ใช่สนามรบที่คุณจะตายหรือผมชนะ บางทีถึงคุณแพ้แต่ผมก็อาจจะไม่ชนะก็ได้” และวิธีที่จะปฏิบัติตามแนวทางนี้คือการเริ่มจากฝึกรักตัวเอง (self-love) นั่นเอง
‘ไม่ใช่แค่ EQ (Emotion Quotien) ที่สำคัญ แต่ LQ (Love Quotient) ก็เป็นรากฐานที่ทำให้สุขภาพใจแข็งแรงเช่นกัน’
สำหรับบทบาทที่ต้องสร้างอิมแพ็คและคำนึงถึงผู้อื่นอยู่เสมออย่างเจ้าของกิจการนั้น มีเกร็ดน่ารู้ที่ควรระวังไว้คือในทุกๆ การให้ของคนเราจะไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่คำนึงถึงสุขภาพใจและกายของตัวเองก่อน ความรักที่ดีที่สุดคือรักตัวเองก่อนเสมอโดยมีคำศัพท์ที่เรียกว่า Love Quotient หรือทักษะในการรักและโอบกอดข้อดีข้อเสียของตัวเองซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการใจดีต่อคนอื่นต่อไป ยิ่งมีทักษะ LQ สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถขยายขอบเขตนิยามการรักตัวเองให้กว้างขึ้นและทำได้หลายรูปแบบมากขึ้นโดยครอบคลุมทั้งการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอซึ่งจะส่งผลให้มีพลังงานเต็มที่ในการฝ่าอุปสรรคต่อไปและยังทำให้ทักษะการจัดการอารมณ์ (EQ) ง่ายขึ้นตามมาอีกด้วย
แล้วเราจะสามารถสร้างเสริมทักษะ LQ ในการรักตัวเองยังไงได้บ้าง ?
วิธีที่ 1 : คำนึงถึงตัวเองในสมการการตัดสินใจของธุรกิจ
หลายครั้งที่บทบาทผู้ประกอบต้องตัดสินใจภายใต้ความกดดันโดยคำนึงถึงความต้องการของคนอื่นและปัจจัยภายนอก เช่น ลูกค้า พาร์ทเนอร์ สิ่งสำคัญคือย่าลืมนึกถึงตัวเองด้วยในทุกๆ การตัดสินใจ เช่น การตัดสินใจในธุรกิจครั้งนี้จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไหม สนับสนุนให้เราเติบโตตามคุณค่าของเราไหม การรักตัวเองจะทำให้เราหันกลับมามองคุณค่า พันธกิจ และอิมแพ็คทางสังคมที่เราอยากสร้างแล้วตัดสินใจด้วยความกล้าและความรักมากกว่าความกลัว
วิธีที่ 2 : ยอมรับจุดอ่อนด้วยการมี self-talk หรือบทสนทนาที่ดีกับตัวเอง
เมื่อรู้สึกท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ลบทั้ง เศร้า ผิดหวัง กลัว โกรธ การมีบทสนทนาที่ดีกับตัวเองด้วยคำพูดง่ายๆ อย่างเรารู้สึกยังไงบ้างในวันนี้ รู้จักขอโทษและให้อภัยตัวเองที่ทำผิดพลาดจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง วิธีนี้ยังทำให้เราได้กลับมาคุยกับตัวตนในวัยเด็กที่มีบาดแผลอยู่ในตัว (inner child) และยอมรับจุดอ่อนตัวเองได้เก่งขึ้น ยิ่งมี LQ สูงเท่าไหร่ มุมมองที่มีต่อจุดอ่อนของตัวเองก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น จากที่เคยมองว่าจุดอ่อนคือความอ่อนแอก็จะสามารถพลิกมุมมองมาหาข้อดีในจุดอ่อนและพร้อมแชร์สิ่งนั้นให้เกิดความเชื่อมโยงที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างในทีมมากขึ้นได้
วิธีที่ 3 : สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีทักษะ LQ
เมื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองได้แล้วก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีตามไปด้วย มีคำกล่าวว่าผู้นำที่มีทักษะ LQ หรือรักตัวเองได้ดีจะยิ่งสามารถ ‘Lead with Love’ หรือสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานรักตัวเองและแฮปปี้ได้ตามไปด้วยในระยะยาว จะเห็นตัวอย่างได้จาก CEO ที่นำกิจกรรมใส่ใจดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันมาสอดแทรกเป็นกิจกรรมขององค์กรด้วย เช่น Marc Benioff CEO ของ Salesforce ที่นั่งสมาธิเป็นประจำได้สร้างโซนและกิจกรรมฝึกฝนสมาธิให้องค์กรของเขาด้วย
เรื่องที่มักเข้าใจผิดกันคือ self-love หรือการรักตัวเองเท่ากับการเห็นแก่ตัวหรือตัดสินใจตามใจตัวเองโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น หรือบางคนก็มองว่าการใช้ไม้อ่อนอย่างการรักตัวเองอาจทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้มีกำไรหรือบริหารองค์กรได้อย่างเด็ดขาดเท่าการมองธุรกิจเป็นสนามรบ ความจริงแล้วผู้ประกอบการสามารถรักตัวเองโดยยังคงความเด็ดขาด แน่วแน่ และมุ่งมั่นในการทำธุรกิจได้ แนวคิดการรักตัวเองจะทำให้อยากมอบสิ่งดีๆ ให้คนอื่นมากขึ้นซึ่งเป็นหัวใจในการทำธุรกิจที่จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อเมื่อคำนึงถึงผู้อื่นได้อย่างแท้จริงนั่นเอง
อ้างอิง
- https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2022/01/19/the-role-of-love-quotient-in-developing-and-sustaining-high-performance-teams/?sh=6b83dc34d251
- https://www.inc.com/magazine/201309/jessica-bruder/psychological-price-of-entrepreneurship.html
- https://thelovequotient.org/ending-the-war-in-business/
- https://wiseprofits.net/love-yourself-love-your-business/