4 องค์ประกอบคู่ตรงข้ามของ ฌอน ชวนล แห่ง POEM ที่สร้างสมดุลและขับเคลื่อนสังคม จากงาน TEDxBangkok ‘See Sound Seen’

สำหรับใครที่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน TEDxBangkok ปีนี้ น่าจะได้รับพลังทั้งจากกิจกรรมต่างๆ และจากเรื่องเล่าของเหล่าสปีกเกอร์มากหน้าหลายตา โดยปีนี้ธีมของ TEDxBangkok คือ ‘See Sound Seen’ See the Unheard, Hear the Unseen ที่เชื่อว่าทุกเสียงมีความหมาย

หนึ่งในเซสชั่นที่หลายคนเฝ้ารอคือทอล์กของ ฌอน–ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งห้องเสื้อแบรนด์ไทย POEM ที่มาแชร์ถึงการบาลานซ์สิ่งที่เป็นอุดมการณ์และอุดมคติในชีวิตก่อนชีวิตจะมาถึงวันนี้ ไล่ตั้งแต่การเรียน ความชอบ สังคม และธุรกิจ ผ่านการยึดโยงทฤษฎีองค์ประกอบคู่ตรงข้าม เพื่อสร้างสมดุลและขับเคลื่อนสังคมต่อไป

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 1 : เด็กสายวิทย์ และความชอบทางศิลปะ

หลายคนคงรู้จัก POEM (โพเอม) แบรนด์โปรดของสาวๆ ที่หลงใหลความเรียบหรู และตั้งเป้าว่าชีวิตนี้ต้องได้เป็นสาว POEM สักครั้ง กว่าแบรนด์จะเดินทางมาสู่ความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เส้นทางของฌอนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ฌอนเล่าว่า เดิมทีตนเองเป็นเด็กสายวิทย์ที่ชื่นชอบวิชาศิลปะ เพราะเป็นวิชาที่ตนเองทำคะแนนได้ดี และเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ฌอนจับพลัดจับผลูเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานในตอนนี้ 

แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว 2 องค์ประกอบที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างความเป็นเด็กสายวิทย์ที่เรียนสถาปัตย์ กับความชอบทางศิลปะ เป็นองค์ประกอบที่เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในตอนเรียนภาคเช้า ฌอนเรียนสถาปนิกออกแบบ ภาคบ่ายเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ทำให้ฌอนได้เข้าถึงองค์ความรู้ในการบาลานซ์เรื่องความงามและการใช้สอย

ในขณะเดียวกันฌอนได้ค้นพบความสนใจเฉพาะทาง นั่นคือการทำเสื้อผ้าสำหรับละครเวทีสถาปัตย์ ด้วยความที่สนใจเสื้อผ้าเป็นทุนเดิม มีแม่เป็นช่างตัดเสื้อ จึงได้รับโอกาสให้ทำเสื้อผ้าทุกปี และในช่วงปิดเทอมฌอนจะนำเสื้อผ้า ชุดคอร์เซตกลับบ้านเพื่อนำไปศึกษากับแม่ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาได้พบองค์ประกอบคู่ตรงข้ามอย่างหนึ่งในชีวิต คือ แม้จะเติบโตมาในร้านตัดเสื้อของแม่ แต่ฌอนกลับไม่ชอบผลงานของแม่เท่าไหร่นัก

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 2 : ความฝัน และความเป็นไปได้

จากมุมมองความขัดแย้งขององค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่เห็น ทำให้ฌอนตัดสินใจสานฝันสร้างแบรนด์ของตัวเอง ด้วยความคิดเร็วทำเร็วนี้ทำให้เขาตัดสินใจเช่าหน้าร้านที่สยาม นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายก้อนโต 120,000 บาทต่อเดือน และในเวลานั้นก็เป็นยุคฟองสบู่แตก ผู้คนไม่นิยมตัดเสื้อผ้าใส่เอง ถือเป็นความกดดันที่หนักที่สุดของคนอายุ 22

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ฌอนได้นำเสื้อผ้าที่ตนเองออกแบบ โดยมีแม่รับหน้าที่ทำแพตเทิร์นไปฝากขายในร้านต่างๆ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี และมักจะได้รับคำถามว่า “น้องหาช่างจากที่ไหน นี่ฝีมือดีระดับแบรนด์เนมเลยนะ” 

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฌอนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะสร้างแบรนด์ POEM และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นคุณค่าของงานที่แม่ทำ

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 3 : ตัวตนของแบรนด์ กับเทรนด์แฟชั่น

เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างแบรนด์อยู่แล้วว่าทุกแบรนด์ต้องมีเอกลักษณ์และมีตัวตนที่ชัดเจน แต่ความยากของการทำแบรนด์เสื้อผ้าคือ เทรนด์แฟชั่น ที่มักจะทำให้แบรนด์ไม่เป็นตัวของตัวเอง POEM ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน

ฌอน เล่าว่า POEM มีภาพชัดเจนว่าผู้หญิงของเราเป็นยังไง ซึ่งแทบจะไม่ใช่กระแสหลักในเวลานั้น เนื่องจากเทรนด์แฟชั่นที่เห็นส่วนใหญ่จะมาแนวสดใส ผู้หญิงทุกคนแต่งตัวเหมือนตุ๊กตา ในขณะที่ผู้หญิงของ POEM ไม่ใช่แบบนั้น เขาจึงใช้เวลากว่า 6 ปีในการบาลานซ์ความเป็น POEM ให้เข้ากับเทรนด์แฟชั่น โดยไม่ลืมว่ากำลังทำธุรกิจ สินค้าต้องถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์ และที่สำคัญคือต้องขายได้

เมื่อเวลาผ่านไป POEM เริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับมากขึ้น ก็มาถึงความท้าทายใหม่ ด้วยความที่ภาพจำของ POEM คือ ผู้หญิงแบบสุดโต่ง คำถามจากสังคมที่ส่งผ่านมาถึงฌอนจึงเป็นคำถามที่ว่า “คุณจะสร้าง empowering ให้ผู้หญิงอย่างไร”

ในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ ฌอนพยายามปลูกฝังการทำคอร์เซตให้คนเจเนอเรชั่นต่อไป ถือเป็นคุณค่าเชิงวัฒนธรรมที่ต้องการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งคุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงสามารถแต่งตัวยังไงก็ได้ ตราบใดที่รู้จักตัวเอง รู้กาลเทศะ และรู้เรื่องการบริหารการเงิน

องค์ประกอบคู่ตรงข้ามที่ 4 : ความหลากหลาย และอุดมการณ์

หลายคนอาจมองภาพของผู้หญิง POEM ต้องผอมบางหรือมีเอวเอส ทว่า ในปี 2019 โลกได้รู้จักโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนค่านิยมในสังคมไทยและทั่วโลกให้เห็นคุณค่าของความหลากหลาย

สำหรับแบรนด์ POEM ที่สื่อสารเรื่องความงามของผู้หญิงในอุดมคติผ่านเสื้อผ้าแบบคอร์เซตมาตลอด จึงนำไปสู่การสร้างสรรค์เสื้อผ้า Collection Autumn Winter ปี 2022 โดยแบรนด์ได้เลือกใช้น้ำตาล ชลิตา สำหรับพรีเซนต์เสื้อผ้า และในส่วนของ Runway แบรนด์เลือกนางแบบ plus size ที่สวมใส่ชุดเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องกายภาพในเชิงความหลากหลาย 

เพราะความหลากหลายในมุมมองของ POEM ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ ไซส์ สีผิว หรือเชื้อชาติ แต่ยังรวมถึงความหลากหลายเรื่องนามธรรมอย่างการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การบาลานซ์ระหว่างความหลากหลายและอุดมการณ์คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องทำตลอดชีวิต ผ่านการส่งต่อข้อมูลบางอย่างและสร้างความเคลื่อนไหวให้สังคม ฌอนกล่าวทิ้งทายว่า งานแฟชั่นที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าให้ชีวิต แต่เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดี และในอนาคตต้องการให้งานของ POEM อยู่ในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจับคู่ขององค์ประกอบที่แตกต่างกันบางส่วน ยังมีเรื่องรอบตัวอีกมากมายที่ต้องหาให้เจอและบาลานซ์ให้เหมาะสม อย่างเรื่องการทำธุรกิจกับครอบครัว หลายคนอาจมองว่าเป็นได้ไม่ได้ หรือทำแล้วจะมีปัญหา แต่ถ้ามององค์ประกอบคู่ตรงข้ามให้เจอ และหาสมดุลให้ได้ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้เช่นกัน

ลองมองตัวเองว่า ในไทม์เฟรมของชีวิตตัวเองตอนนี้มีอะไรที่ต้องบาลานซ์ให้ได้ บางทีบาลานซ์อยู่ที่การแบ่งเวลา บางทีอยู่ที่การปรับมุมมอง หรือบางทีอยู่ที่การสื่อสาร

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like