730
November 2, 2023

Get to Know A Solopreneur Trend

ทำความรู้จักเทรนด์ ‘ผู้ประกอบการลุยเดี่ยว’ จากประสบการณ์จริงของวรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง

เคยสงสัยไหมว่าหากมีเพียงตัวเราคนเดียว ไม่มีสมาชิกร่วมกิจการ จะสามารถก่อร่างสร้างธุรกิจจนอยู่รอดประสบความสำเร็จได้หรือไม่

ในยุคก่อน ธุรกิจที่มีรายได้มากมายและประสบความสำเร็จมักต้องเป็นองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่ในยุคนี้
ศัพท์ buzzword ทางธุรกิจที่ถูกพูดถึงบ่อยคือคำว่า solopreneur ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เริ่มทำจากตัวคนเดียวโดยไม่ต้องแบ่งกำไรกับใคร ไม่ต้องบริหารทีมหลายคน และยังสามารถสร้างรายได้ไม่แพ้องค์กรใหญ่ โมเดลธุรกิจแบบนี้สามารถหารายได้มากมายได้ยังไงโดยไม่มีพนักงานประจำ ลองมาฟังเทรนด์ solopreneur จากประสบการณ์จริงในการเป็นผู้ประกอบการลุยเดี่ยวของวรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง

1. solopreneur คือผู้ประกอบการลุยเดี่ยวที่ไม่ได้แปลว่าต้องทำทุกอย่างคนเดียว 

ความหมายของ solopreneur หรือ one person business ในมุมมองของวรวิสุทธิ์คือผู้ประกอบการลุยเดี่ยวที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจด้วยตัวคนเดียว แต่ในความจริงแล้วการลุยเดี่ยวไม่ได้แปลว่าต้องทำงานทุกอย่างคนเดียวเสมอไป แม้รูปแบบการทำงานจะไม่ได้จ้างพนักงานประจำเหมือนองค์กรใหญ่แต่สามารถจ้างฟรีแลนซ์หรือใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยในการทำงานได้ โดยมีข้อดีคือตัดปัญหาเรื่องบริหารคนในองค์กรออกไป 

2. ข้อดีคือแบกรับต้นทุนในการลงทุนและความเสี่ยงต่ำ

วรวิสุทธิ์​ให้ความเห็นว่าในยุคนี้การทำธุรกิจก็นับว่ามีความเสี่ยงสูงแต่การเริ่มด้วยตัวคนเดียวสามารถค่อยๆ เริ่มจากทำเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยขยับขยายได้และยังไม่จำเป็นต้องเป็น full-time solopreneur เสมอไป สามารถทำเป็นงานที่ 2 หรือที่ 3 ระหว่างทำงานประจำไปด้วยได้ หากทำแล้วเจ๊งก็มีความเสี่ยงไม่สูง

3. โมเดลที่ไม่ต้องมีสินค้าของตัวเองคือการทำ ‘affiliate marketing’ หรือการเป็นตัวแทนรีวิวสินค้า

หนึ่งในโมเดลที่ลงทุนต่ำที่สุดคือ affiliate marketing การเอาสินค้าและบริการของคนอื่นมาโปรโมทหรือรีวิวโดยแนบลิงก์ขายของไปกับคอนเทนต์ เช่น ลิงก์ใน e-marketplace อย่าง Shopee, Lazada โดยเมื่อลูกค้ากดคลิกซื้อแล้วเราก็จะได้ค่าคอมมิชชั่น วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องลงทุนทำสินค้าของตัวเองซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาทำได้ง่ายๆ ซึ่งเทรนด์การทำ affiliate marketing นี้มาพร้อมกับความนิยมในการอ่านรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ด้วย

วรวิสุทธิ์​แชร์ประสบการณ์ว่าหากนำความชอบของตัวเองที่สนใจอยู่แล้วมารีวิวก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าคอนเทนต์ เช่น การทำบล็อก การทำคอนเทนต์ให้ติดอันดับเสิร์ชในกูเกิล โดยมีประสบการณ์ส่วนตัวคือการรีวิวซอฟต์แวร์จากต่างประเทศที่ได้ค่าคอมมิชชั่นถึง 30-40% ต่อการสมัครหนึ่งครั้ง ยิ่งซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบ subscription ทำให้มีรายได้ต่อเนื่องทุกเดือนจนกว่าบริษัทต้นทางจะยกเลิกบริการและยังเคยรีวิวแท็บเล็ตขายได้ถึงหลักแสนเครื่อง หรือสินค้าราคาถูกทั่วไปอย่างเฮลบลูบอย วรวิสุทธิ์ก็เคยลองรีวิวขายเล่นๆ จนสำเร็จมาแล้ว เมื่อมีการรีวิวสินค้าไว้หลายอย่างการรีวิวก็เป็นรายได้ที่ยั่งยืนในช่องทางหนึ่ง 

4. ตัวอย่างสินค้าที่ลงทุนต่ำ ขายซ้ำได้เนิ่นนาน ขยายช่องทางการขายได้ง่าย คือ digital product

จากการเข้ามาของแพลตฟอร์ม marketplace หลากหลายเช่น Etsy, Gumroad, Amazon ฯลฯ ทำให้เกิดกระแสความนิยมในผู้ประกอบการลุยเดี่ยวมากขึ้นเพราะเปิดโอกาสให้มีช่องทางการขายโดยไม่ต้องมีหน้าร้านและสินค้าที่ขายออนไลน์ได้โดยไม่ต้องลงทุนกับโอเปอเรชั่นเยอะคือ digital product (สินค้าดิจิทัล) หมายถึงสินค้าทุกอย่างที่สามารถดาวน์โหลดทางช่องทางดิจิทัลได้ เช่น รูปภาพ เทมเพลต e-Book ต่างๆ วิธีนี้ต้องใช้ทักษะการออกแบบหรือความรู้เฉพาะทางของแต่ละคนเพิ่มขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น สินค้าของวรวิสุทธิ์​คือเทมเพลตในการเขียนบันทึกสำหรับ Notion (ซอฟต์แวร์ productivity) ที่สามารถให้คนอื่นก๊อบปี้ไปใช้และ ChatGPT Prompts ต่างๆ จากความเชี่ยวชาญในความรู้ด้าน AI โดยเน้นขายต่างประเทศ

5. โอกาสสำเร็จสูงถ้าเจาะตลาด global + niche (ตลาดเฉพาะกลุ่มในตลาดต่างประเทศ)

ในการทำธุรกิจตัวคนเดียวโดยเฉพาะจากโมเดลที่วรวิสุทธิ์ได้ลองทำจริงด้วยตัวเอง หากอยากขยายธุรกิจได้ง่ายควรเน้นตลาดต่างประเทศที่มีคนติดตามจำนวนมาก (global) จะทำให้มีโอกาสได้ฐานลูกค้าจำนวนมากกว่าทำเฉพาะตลาดในไทยอย่างมหาศาล ส่วนการจับกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากๆ (niche) ทำให้เพิ่มโอกาสการขายสินค้าหรือบริการที่ไม่เหมือนใครในตลาดที่มีคู่แข่งน้อย
.
ตัวอย่างผู้ประกอบการเหล่านี้ที่น่าสนใจ เช่น Eric Barone ผู้สร้างเกม Stardew Valley ที่สร้างรายได้กว่า 300 ล้านดอลลาร์, Dylan Jacob ผู้ผลิตเบียร์และไวน์กระป๋องที่เก็บความเย็นได้ถึง 24 ชั่วโมง โดยทั้งคู่ไม่มีพนักงานประจำเลยแม้แต่คนเดียว

6. ทักษะสำคัญที่ควรมีคือการเขียนเพื่อขายและใช้เครื่องมือทุ่นแรง

สุดท้ายแล้วทักษะที่วรวิสุทธิ์แนะนำว่าผู้ประกอบการลุยเดี่ยวควรมีคือทักษะการเขียนซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนมืออาชีพแต่ควรสามารถเขียนโปรโมตให้น่าดึงดูดและรีวิวให้น่าสนใจ คนอ่านอยากกดซื้อ และการรู้จักใช้เครื่องมือทุ่นแรงหลายรูปแบบ เช่น ใช้ AI ในการทำคอนเทนต์หรือออกแบบก็จะช่วยในการทำการตลาดต่างๆ ด้วยเช่นกัน

7. การสร้าง personal brand เป็นกูรูผู้รู้จริงจะช่วยให้ขายของง่ายขึ้น

สำหรับผู้เริ่มต้น วรวิสุทธิ์​แนะนำว่าหากทำคอนเทนต์ในหัวข้อหนึ่งเพียงหัวข้อเดียว 21 วันติดต่อกัน ณ วันที่ 22 คุณจะกลายเป็นกูรูและฟอลโลเวอร์ ทุกคนจะมองคุณเป็นเทพในด้านนั้น ทำให้เกิดการจ้างรีวิวหรือภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือตามมาซึ่งส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้าในภายภาคหน้าเมื่อทำสินค้าปล่อยออกมาในช่องทางนั้นๆ

สำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการลุยเดี่ยว คำแนะนำจากวรวิสุทธิ์​คือต้องมีความรับผิดชอบสูงและมีวินัยสูงรวมถึงในช่วงแรกอาจจะต้องทดลองทำหลายอย่างถึงจะเจอสินค้าและแพลตฟอร์มที่เหมาะกับตัวเอง การทำธุรกิจคนเดียวไม่ได้หมายความว่ากำลังคนจำกัดทำให้ไม่สามารถขยายให้โตได้แต่กลับมีข้อดีคือสามารถปรับตัวได้ไวและขยายให้โตได้เรื่อยๆ ด้วยเครื่องมือทุ่นแรงและแพลตฟอร์มที่เหมาะสม 

นอกจากเรื่องราวของผู้ประกอบการลุยเดี่ยวแล้ว หากใครสนใจเรียนรู้เคล็ดลับการประยุกต์ใช้ AI กับธุรกิจไม่ว่าจะทำธุรกิจคนเดียวหรือเป็นบริษัทหลายคน ตอนนี้ Capital เปิดคอร์ส ‘An AI Complete Guide for Entrepreneur’ อยู่ด้วย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/3SvYmIa

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like