คนสร้าง ‘ภาพ’

คุยกับ ‘BVC Asia’ ผู้ใช้ Visual Recording แปลงประเด็นบนเวทีสัมมนาออกมาเป็นภาพสดๆ

ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความสามารถคิดเป็นภาพ 

ก่อนจะมีการคิดค้นอักขระหลายล้านรูปแบบ การใช้ภาพเป็นการสื่อสารแรกๆ ที่มนุษย์รู้จัก จนกระทั่งในศตวรรษที่ 21 ที่เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนไป จึงได้รู้ว่าอักษรเริ่มมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งต้องใช้เวลาในการอ่าน หรือการไม่เข้าใจภาษาอื่นๆ ก็เป็นอุปสรรคที่ก้าวข้ามได้ยาก หลายคนจึงหันมาสนใจ ‘การใช้ภาพ’ มากขึ้น เพราะไม่ได้แค่สื่อสารเนื้อหา แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการจำ ซึ่งให้ความรู้สึกมากกว่าการอ่าน

BVC Asia (Business Visualization Company Asia) คือธุรกิจที่ใช้กระบวนการคิดและสื่อสารด้วยภาพ โดยใช้ visual recording เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ทั้งการจดบันทึกในงานสัมมนา บันทึกการประชุม การสื่อสารกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร ไปจนถึงการใช้ภาพวาดเพื่อเป็นเครื่องมือในการอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย

หากใครเป็นแฟนงานสัมมนาระดับประเทศหลายๆ งานน่าจะเคยเห็นผลงานภาพวาดที่แปลงประเด็นซับซ้อนบนเวทีสัมมนาออกมาเป็นภาพวาดที่ทั้งสวยงามและสื่อความหมายได้อย่างตรงประเด็นของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นงานเทคโนโลยีนานาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Techsauce Global Summit ที่ BVC Asia ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานมากว่า 7 ปี หรืองาน ESG Symposium 2023 ที่บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านการวาดภาพที่สะท้อนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม 

ผลงานแต่ละชิ้นของ BVC Asia ไม่ได้มีแค่ความสวยงาม น่ามอง แต่ยังแฝงด้วยข้อมูลที่มีประโยชน์ จึงได้รับความสนใจจากผู้ชมเสมอ เชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นคงอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้

เราจึงตั้งใจชวน ปุ่น–พนิต ธัญมงคลสวัสดิ์ Co-founder และ แป้ง–อมรรัตน์ สุขสายันต์ OD & Learning consultant แห่ง BVC Asia มาเล่าถึงความคิด ความเชื่อ และความฝัน ในฐานะคนทำ visual recording

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คุณเริ่มทำ visual recordingได้ยังไง

อมรรัตน์ : ก่อนจะมาทำงานด้านนี้จริงจัง เราทำงานด้านพัฒนาองค์กรและบุคลากรมาก่อน ซึ่งในเวลานั้นใช้ visualization หรือภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าการสื่อสารด้วยภาพที่ทำอยู่สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจได้ และในปี 2016 เรามีโอกาสได้เข้าไปทำ visual recording ในงาน TEDxBangkok เป็นครั้งแรกและเป็นงานใหญ่ การได้ไปร่วมงานนั้นก็เป็นเหมือนการเปิดตัว BVC Asia ไปด้วย 

พนิต : ในงาน TEDxBangkok 2016 เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง visual note สรุปประเด็นบนเวที โดยใช้ภาพวาดเพื่อสร้างความเข้าใจในหัวข้อนั้นๆ ทำให้เกิดอิมแพกต์ในวงกว้าง และหลังจากทำมาสักพักเริ่มพบว่าในไทยยังไม่มีธุรกิจลักษณะนี้เท่าไหร่ ทำให้เราเชื่อว่าการทำ visual recording สามารถเป็นอาชีพได้ เราจึงเริ่มทำ BVC Asia ตั้งแต่นั้นมา

ช่วงนั้นในไทยยังไม่ค่อยมีธุรกิจประเภทนี้ อะไรคือความท้าทายในการทำ visual recording

อมรรัตน์ : คนส่วนใหญ่มองว่า visual recording เป็นแค่การวาดภาพ ความท้าทายของเราจึงเป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่ามันไม่ใช่แค่การวาดรูปสวยงาม แต่เป็นการถ่ายทอดข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น  เป็นการผสมผสานความคิดและการวาดภาพ เราต้องการให้งานของเราเชื่อมโยงกับธุรกิจ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งวิธีนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ที่จากเดิมใช้แค่ PowerPoint เราต้องการเปลี่ยนมายด์เซตการสื่อสารแบบดั้งเดิม

พนิต : สำหรับในสายงานนี้ ผมมองว่าความท้าทายเป็นเรื่องของข้อมูล ในทุกๆ ครั้งที่เราเข้าไปทำ เราจะได้ความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ที่ต้องอัพเดตให้ผู้ชมอยู่เสมอ เราต้องการถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้ผ่านภาพวาดให้คนเห็นในเวลาอันรวดเร็ว และต้องมีคีย์เวิร์ดที่เห็นแล้วเข้าใจเนื้อหาทันที ความยากจึงอยู่ที่การเป็นคนแรกที่จะ input ข้อมูลเหล่านี้ไปสู่สมองหรือเป็นภาพจำของทุกคน 

เพราะฉะนั้น ในภาพหนึ่งภาพที่เราจับประเด็น จะต้องมีเนื้อหาครบถ้วน มีสีสันหลากหลาย มีสัญลักษณ์หรือภาพที่ทำให้เกิดการจดจำ เห็นแล้วสามารถคิดและต่อยอดในประเด็นนั้นๆ ได้ เช่น มีคนต่างประเทศที่ไม่เข้าใจภาษาไทยดูงานของเรา แม้จะอ่านไม่ออก แต่เขาจะรับรู้ได้ว่าภาพนี้ต้องการสื่ออะไร 

หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า visual recording มีความเหมือนหรือแตกต่างจากอินโฟกราฟิก และ mind mapping ยังไง

พนิต : มีส่วนต่างอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ ประโยชน์ กระบวนการ และคุณภาพ หน้าที่ของอินโฟกราฟิกเป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ มาจัดอยู่ในเลย์เอาต์ที่ทำให้คนจดจำ ส่วน mind mapping มีจุดเด่นในเรื่องความครบถ้วน มองแล้วต้องเห็นองค์ประกอบ เห็นระดับชั้นของความสัมพันธ์ ส่วน visual recording จะมีสตอรีและการอธิบายเรื่องราว อาศัยความสามารถในการอ่านภาพตามธรรมชาติของมนุษย์

องค์ประกอบของงาน visual recording ที่ดีต้องมีอะไรบ้าง

อมรรัตน์ : ทุกส่วนมีความสำคัญหมด ตั้งแต่เลย์เอาต์ การจัดวาง ข้อมูล และการสื่ออารมณ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ visual recording ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของผู้พูดได้ เช่น ในงาน SCG ที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน เราใช้คีย์เวิร์ด ‘โลกเดือด’  ที่สื่อว่าตอนนี้สภาพแวดล้อมของโลกเราอยู่ในภาวะโลกเดือด ไม่ใช่แค่โลกร้อนธรรมดาๆ ในภาพจึงใช้ภาพโลกที่ตั้งอยู่บนกาน้ำร้อน เพื่อทำให้คนสนใจ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น 

พนิต : ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่เราให้ความสำคัญ จริงๆ แล้วอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำ visual recording เช่นกัน เราต้องฟังและจับความรู้สึกให้ได้ว่าผู้พูดกำลังรู้สึกยังไง พูดด้วยอารมณ์ไหน แล้วพยายามถ่ายทอดออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะบางครั้งตัวอักษรก็ไม่เพียงพอ

ถ้าจะบอกว่าสไตล์ของ BVC Asia อยู่ที่การถ่ายทอดอารมณ์ของผู้พูดผ่านภาพได้หรือไม่

พนิต : เราไม่ได้ทำแค่ฟังแล้ววาดตาม แต่เราจะดูบริบทโดยรวมทั้งหมด ใช้ทักษะ active listening บวกกับดูว่าผู้พูดต้องการสื่อเรื่องอะไร เช่น ในงานเสวนาที่ผู้พูดแชร์ประสบการณ์ชีวิต กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านความยากลำบากมากมาย ไม่เคยได้รับการสนับสนุน เราเลือกที่จะวาดภาพเขากำลังยืนอยู่บนหน้าผา ที่สื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจ และกล้าลงมือทำ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

หรือบางครั้งถ้าไม่ใช่นักพูดมืออาชีพ ผู้บรรยายเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่เนื้อหาที่นำเสนอดี เราต้องดูว่าเขามี core value อะไรที่ยึดถือ และแกนหลักในการสื่อสารคืออะไร 

ก่อนจะลงมือทำแต่ละครั้งต้องเตรียมตัวยังไง

อมรรัตน์ : อย่างแรกเลยคือต้องดูหัวข้อ แล้วดูว่าสปีกเกอร์เป็นใคร เพราะงานประเภทนี้ส่วนใหญ่เราจะไม่สามารถขอข้อมูล หรือสไลด์ล่วงหน้าได้ จึงต้องทำการบ้านไปก่อนส่วนหนึ่ง ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ สวมวิญญาณนักเรียนหาข้อมูลให้มากๆ อย่างปีแรกที่เราทำงานกับทีม Techsauce ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีหรือบล็อกเชน ซึ่งในเวลานั้นเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็ต้องหาข้อมูลเพิ่ม อย่างน้อยต้องเข้าใจศัพท์เทคนิค หรือคำเฉพาะในวงการบล็อกเชน เพื่อให้เราฟังรู้เรื่อง มีคำที่คุ้นหูบ้าง เพราะถ้าไม่รู้อะไรเลยจะแย่เอา

เตรียมตัวมาดีขนาดนี้ เคยเจอปัญหาหน้างานบ้างไหม

พนิต : เจอบ่อยจนชินครับ (หัวเราะ) ถ้าหน้างานผู้พูดแตกประเด็นใหม่ หรือพูดในเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย เราต้องรีบเสิร์ชหาข้อมูลทันที ทุกอย่างต้องเร็วและมีสติ ดังนั้นอะไรที่เราเตรียมล่วงหน้าได้ เราจะทำไปก่อน เช่น โลโก้บริษัท โลโก้งาน ชื่อวิทยากร หรือชื่อหัวข้อ เป็นต้น

ในการทำงาน เราจะแบ่งหน้าที่กันในทีม เช่น ทีมวางเลย์เอาต์ ทีมฟังและเก็บข้อมูล และทีมวาดและลงสี โดยแต่ละทีมจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป อย่างทีมฟังและเก็บข้อมูลจะรับผิดชอบว่าข้อมูลทั้งหมดไปในทิศทางไหน ซึ่งถ้าเปรียบข้อมูลเป็นทะเลก็มีทั้งข้อมูลที่อยู่ลึกและข้อมูลที่อยู่ผิวน้ำ เราต้องคัดกรองข้อมูล และเลือกข้อมูลที่มีประโยชน์ที่สุด เพื่อให้ผู้ชมได้ข้อมูลที่พวกเขาคาดหวังในเวลาอันสั้น และถ้าเขายกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปงานของเรา เขาต้องได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ไม่ใช่มีแค่ big word หรือ fashion word

ในกรณีที่วาดบนกระดาษถ้ามีการเขียนผิด สะกดผิด มีหลายวิธีในการแก้ไข เช่น ใช้ปากกาที่ใช้ลบคำผิด ถมสีขาวทับลงไป หรืออาจจะแปะกระดาษทับ เรามองว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เราต้องมีสติ แก้ให้เนียนที่สุด มีการรีเช็กตัวสะกด เพราะงานของเราต้องละเอียด เร็ว และถูกต้อง

ในระหว่างฟังทำยังไงไม่ให้ประเด็นตกหล่นหรือหลุดหายไป

อมรรัตน์ : ทุกงานที่เราทำต้องมีสติขั้นสุด และต้องทำการบ้านมาก่อน ต้องรู้ว่าแต่ละเซกชั่นที่พูดมีกี่นาที จะมีข้อมูลประมาณไหน ทุกอย่างต้องเป็นระบบ ช่วงแรกๆ ที่ทำงานนี้เรากดดันมาก เพราะเป็นงานที่ยาก ต้องใช้ทุกวินาทีให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ดูนาฬิกาตลอดเวลา หรือถ้าเวลากระชั้นจริงๆ เราจะโน้ตไว้ก่อนว่าบริเวณนี้จะเป็นภาพประมาณไหน แล้วค่อยๆ วาดเก็บทีละส่วนจนเสร็จ

พนิต : เรามีแพตเทิร์นในการทำงานอยู่ครับ เราแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกของการบรรยายเราจะเริ่มจับทิศทางและอารมณ์ของผู้พูดว่าเขาพูดเรื่องอะไร เมื่อได้ประเด็นเราจะจดใส่โพสต์อิทไว้ประเด็นละ 1 แผ่น เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 2 เราจะรู้แล้วว่าข้อมูลเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นไหน และเมื่อเข้าสู่ช่วง 3 และ 4 เป็นช่วงที่เราต้องวาดและลงสีแล้ว ในระหว่างนั้นทีมฟังก็จะเก็บข้อมูลไปด้วย 

ในแต่ละงานที่เข้าไปทำก็มักเจอปัญหาใหม่เสมอ เช่น ผู้พูดแตกประเด็นใหม่มาเรื่อยๆ ทำให้เราต้องรื้อความคิดใหม่ และฟังว่าจะนำข้อมูลแบบไหนมาใช้ อีกหนึ่งเรื่องคือ พูดจบแต่ภาพไม่จบ คือ ผู้พูดจบแล้ว กางประเด็นครบแล้ว แต่ภาพยังไม่เสร็จ มีข้อมูลไม่พอสำหรับลงกระดาษ ทำให้ในภาพยังมีพื้นที่ว่างอยู่ ถ้าเจออย่างนี้เราต้องดูว่าผู้พูดสื่อสารด้วยอารมณ์ไหน แล้วค่อยเติมสัญลักษณ์หรือไอคอนที่สื่ออารมณ์เข้าไปแทน 

ภาพที่วาดยากที่สุดคือภาพไหน

อมรรัตน์ : ภาพแรกตอนเช้าจะยากที่สุด (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นสมองยังไม่ตื่น เครื่องยังไม่ติด ภาพแรกจะเป็นเหมือนการวอร์มสมองก่อน พอถึงภาพที่ 2 และ 3 จะเริ่มเข้าที่แล้ว ทุกอย่างโฟลว์ตามปกติค่ะ

คิดว่าอะไรเป็นทักษะที่จำเป็นของการทำ visual recording

พนิต : สำหรับมือใหม่ ทักษะหลักๆ ที่ต้องมีคือ ‘รับ คิด วาด’ หมายถึง การรับฟัง คิดตาม และลงมือวาด แต่ถ้าแอดวานซ์ขึ้นมาหน่อย ‘รับ ตรึกตรอง สังเคราะห์ และวางโครงสร้าง’ แต่ถ้าอยากเริ่มต้นทำจริงๆ ผมแนะนำว่า ให้เริ่มคิดเป็นภาพก่อน

คนที่มีทักษะการวาดภาพเป็นศูนย์ทำได้ไหม

พนิต : ทำได้ ขอแค่มี visual thinking (กระบวนการคิดเป็นภาพ) เพราะตั้งแต่เด็กจนโตเรามักถูกสอนให้จด ไม่ได้ถูกสอนให้วาด และวิชาวาดรูปเราก็ทำได้แค่ในชั่วโมงศิลปะเท่านั้น ผมอยากให้ทุกคนมีมายด์เซตว่า ทุกอย่างวาดได้ ไม่จำเป็นต้องจดอย่างเดียว ตอนนี้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายท่านก็เริ่มให้นักศึกษาส่งการบ้านด้วยการทำ mind map หรืออินโฟกราฟิก ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการคิดด้วยภาพและวางระบบทางความคิด

จริงๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องวาดสวยเหมือนศิลปิน แค่วาดให้ตัวเองเข้าใจ และจัดกลุ่มข้อมูลก็พอ เช่น วาดวงกลมแทนบ้าน แล้วค่อยๆ ลากเส้นไปสู่ประเด็นต่างๆ เป็นการฝึกทักษะการจัดกลุ่มข้อมูล หรือจะลองเลือกสินค้ามาสักชิ้น แล้วเล่ากระบวนการผลิตสินค้านั้นด้วยภาพ เล่าให้เป็นเรื่องให้ได้ 

การทำ visual recording เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก มีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำไหม

พนิต : สำหรับคนที่ยังไม่เคยวาดภาพ หรือไม่ถนัดวาดบนกระดาษ แค่มีไอแพดก็ทำได้แล้ว คำแนะนำที่ผมอยากให้คือ อย่ามุ่งมั่นกับการจดมากเกินไป ตอนนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบันทึกเสียง คุณแค่ตั้งใจจดในประเด็นสำคัญ ฟังให้ละเอียด เก็บอารมณ์ผู้พูดให้ได้ แล้วจึงค่อยๆ ฝึกวาดไป

เราเชื่อว่าใครเห็นผลงานของ BVC Asia ก็ต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป สำหรับคุณแล้วได้รับฟีดแบ็กยังไงบ้าง 

อมรรัตน์ : ส่วนใหญ่ที่เจอทุกคนจะชื่นชม และตื่นเต้นที่ได้เห็นผลงานของเรา หลายคนชอบถามว่ารู้ข้อมูลมาก่อนไหม เพราะว่าเราวาดสดทุกภาพ ทุกคนมายืนดูตอนเราทำได้เลย เขาจะได้เห็นกระบวนการทำงานทั้งหมด ตั้งแต่การวาดภาพไปพร้อมกับการคิดและฟัง และถ้าเป็นคนที่แม่นเรื่องข้อมูล เขาจะอ่านงานของเราอย่างละเอียด บางครั้งเราก็ขอเช็กความถูกต้องของข้อมูลจากคนดูงานนี่แหละ

พนิต : ทั่วโลกมีนักจับประเด็นภาพ หรือทำงานแบบเราประมาณ 1,000 คนเท่านั้น ทำให้งานของเราได้รับความสนใจจากต่างชาติจำนวนมาก ถือเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ได้รับการยอมรับ ผมมองว่าเอกลักษณ์เด่นของงานเราอยู่ที่ความประณีต และมีความเป็น craftsmanship

ไม่ใช่แค่งานสัมมนา ปัจจุบันหลายองค์กรในไทยก็ต้องการภาพวาดของเราไปสื่อสาร เช่น การวาดภาพวิสัยทัศน์องค์กรเพื่อสื่อสารภายในองค์กร หรือภาพวาดที่บอกเล่าจุดเริ่มต้นขององค์กร เป็นต้น

ลูกค้าที่ต้องการร่วมงานกับคุณ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทไหน

อมรรัตน์ : มีครบเลยค่ะ ทั้งการเงิน ธนาคาร ค้าปลีก ภาครัฐ วิสาหกิจ อสังหาฯ ขั้นอยู่กับสินค้าและบริการของบริษัทนั้นๆ เพราะการทำ visualization ไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ทุกองค์กรสามารถสื่อสารด้วยภาพได้

พนิต : ปัจจุบันผู้บริหารหลายคนมีแนวคิดที่ดี ต้องการให้พนักงานทุกคนเห็นภาพเดียวกัน เพราะฉะนั้นการนำภาพเข้ามาช่วยจะทำให้พนักงานเห็นสิ่งที่อยู่ในหัวของผู้บริหาร หรือสิ่งที่อยู่ในหัวของกันและกัน เช่น ในโรงเรียนแพทย์ที่มีหลายภาควิชา ถ้าให้อาจารย์หมอทุกคนนั่งคุยกัน อาจคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีภาพก็จะคุยกันได้ง่ายขึ้น แทนที่จะต้องใช้ PowerPoint ที่มีสไลด์หลายหน้า แต่ถ้าใช้ภาพวาดทุกคนจะเห็นภาพเดียวกัน

ในกรณีที่เข้าไปทำงานในองค์กร คุณต้องทำอะไรบ้าง

อมรรัตน์ : ส่วนใหญ่เราเข้าไปจัดเวิกร์กช็อปกับพนักงานในบริษัท ขึ้นอยู่กับโซลูชั่นขององค์นั้นๆ ถ้าทำเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเราก็ต้องคุยกับพนักงานทุกระดับ หรือถ้าเป็นเชิงกลยุทธ์ก็อาจคุยกับหัวหน้าทีมเป็นหลัก ในทุกองค์กรที่เข้าไป เรามีเทมเพลตที่ใช้ในแต่ละสถานการณ์ทางธุรกิจ 

พนิต : บางองค์กรมีคนหลายเจเนอเรชั่นที่ทำงานร่วมกัน การใช้ภาพวาดก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวความยากลำบาก จุดเริ่มต้น ปัญหา อุปสรรคทางธุรกิจได้ ทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ลดความขัดแย้งในองค์กร มีความเคารพกันและกัน และอยู่ร่วมกันได้

อะไรคือความแตกต่างของการวาดภาพเพื่อสารสารกับคนในองค์กร กับวาดในงานสัมมนา

อมรรัตน์ : ในส่วนของการวาดอาจไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ ปัจจุบันทุกหน่วยงานมองว่าการสื่อสารด้วยภาพเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารภายในองค์กร หรืองานสัมมนาต่างๆ เป้าหมายหลักจะเหมือนกันคือ ต้องการถ่ายทอดเรื่องที่เข้าใจยาก ให้ง่ายขึ้น และต้องสื่อสารกับคนจำนวนมาก 

กว่า 7 ปีที่ BVC Asia ให้บริการลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตมาจนถึงวันนี้

อมรรัตน์ : เราค่อนข้างไม่ compomise กับทุกมิติของงานที่ทำ เราไม่ได้มองว่าลูกค้าคือลูกค้า แต่ลูกค้าเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา รู้ว่าเขาต้องการอะไร  ไม่ว่าจะเป็นงานภายในองค์กร หรืองานสัมมนานอกสถานที่ เราคุยโจทย์กับลูกค้าค่อนข้างเยอะเพื่อให้งานมีคุณภาพที่สุด เราอาจไม่ใช่บริษัทที่ทำการตลาดเยอะ งานของเราส่วนใหญ่จึงเป็นการบอกต่อจากลูกค้าสู่ลูกค้าด้วยกัน

พนิต : ผมว่าความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ผมเชื่อมาตลอดคือ เชื่อว่างานของเรามีประโยชน์จริงๆ สามารถแก้ปัญหาและลดช่องว่างในการสื่อสารได้ ที่สำคัญในอนาคตงานของเราจะกลายเป็นคลังความรู้ที่ดี

ผมเชื่อว่าเราเป็นทีมที่ศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรืออีเวนต์เยอะ เพราะเรามองว่า ถ้าลูกค้าต้องการให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานเราต้องทำเต็มที่ และต้องการให้ทุกคนรู้ว่าศาสตร์แขนงนี้มีคุณภาพแค่ไหน ถ้าเราไม่ตั้งใจหรือทำผ่านๆ ก็คงไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีขนาดนี้ และตัวเราเองอาจไม่พอใจกับงานที่ทำด้วย เราจึงพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like