1581
September 20, 2023

เรื่องของหนู

‘นักจับหนูอาชีพ’ จากปัญหาหนูล้นเมืองในยุคกลาง ถึงอาชีพเพาะหนูสวยงาม และต้นกำเนิดหนูทดลอง

ช่วงนี้เราพูดถึงหนูกันเยอะ ยิ่งหน้าฝนเราอาจเห็นน้องหนูออกมาเพ่นพ่าน ตามกองขยะ ตามเสาไฟฟ้า ทุกวันนี้นอกจากเราจะจัดการกับหนูกันเองด้วยกาวดักหนู ไปซื้อกรงมาดัก ในบางพื้นที่เราก็อาจจะใช้บริการบริษัทกำจัดสัตว์รำคาญมืออาชีพ

ถ้าเรามองย้อนไป หนูถือเป็นอีกปัญหาที่ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับพื้นที่เมือง คือมนุษย์เรามีปัญหากับหนูกันมานานแล้ว แต่พอคนมาอยู่รวมกันเยอะๆ มีขยะโดยเฉพาะขยะอาหารจำนวนมาก เกิดการวางระบบท่อระบายน้ำ เมืองที่นอกจากจะตั้งใจออกแบบเพื่อผู้คนแล้ว เจ้าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็แอบเข้ามาอาศัยที่ว่างในมุมมืดของเมืองในการเอาตัวรอด ก่อนจะแพร่ขยายอาณาจักรของตัวเองในเงาของตึกรามบ้านช่อง และออกมาใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางคืนที่ผู้คนส่วนใหญ่หลับใหล

เมื่อมีหนู มีเมือง มีคนหลายชนชั้นเข้ามาอยู่ร่วมกันแล้ว สังคมจึงเกิดอาชีพ 

ธุรกิจที่พอจะนับว่าเป็นกิจการกำจัดสัตว์ชวนรำคาญยุคแรกๆ คืออาชีพนักจับหนู จริงๆ นักจับหนูฟังดูเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยคือทำงานกับสิ่งสกปรก แต่ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง นักจับหนูนับเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่สามัญชนสามารถโดดเข้ามาทำงานได้ แถมเจ้าหนูท่อทั้งหลายที่ผู้คนที่รับมือด้วยเป็นสิ่งมีชีวิตสุดร้าย ดังนั้นนักจับหนูค่อนข้างได้รับการยอมรับ ถ้าทำดีๆ ก็ถือเป็นอาชีพที่รายได้งาม

ในประวัติศาสตร์นักจับหนูเริ่มกลายเป็นอาชีพในสมัยกลาง จนเรื่อยมาถึงยุควิคตอเรีย ยุคที่ลอนดอนท่วมไปด้วยหนู นักจับหนูเริ่มมีความเป็นอาชีพ มีระบบระเบียบ ในยุคนั้นถึงขนาดเกิดนักจับหนูที่ขนานนามว่าเป็น ‘นักจับหนูหลวง’ หรือนักจับหนูของพระราชินีกันเลย ซึ่งนักจับหนูคนดังกล่าวก็เป็นสามัญชนที่กลายเป็นคนดัง 

การจับหนูของนักจับหนูหลวงบางส่วนก็คล้ายกับการทำธุรกิจ มีสไตล์ในการทำงาน แถมที่ย้อนแย้งคือพ่อหนุ่มนักจับหนูคนดังไปๆ มาๆ จากที่จับหนูให้คนร่ำรวยก็ดันเลี้ยงและเพาะหนูสีแปลกๆ กลับมาจนกลายเป็นเทรนด์ของสาวสังคมชั้นสูง กลายเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของวงการหนูสวยงามไปอีก

หนูในฐานะสัตว์มหัศจรรย์ และความสยองขวัญสมัยใหม่

ในมิติทางวัฒนธรรม หนูถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์ ส่วนใหญ่หนูมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ พวกมันมีจำนวนมากมายแต่บางครั้งฝูงหนูก็เหมือนจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว บางครั้งพวกมันเหมือนจะล่วงรู้อนาคต เป็นตัวแทนของลางสังหรณ์ ในบางความเชื่อเช่นเอเชีย หนูเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง ความเฉลียวฉลาด บ้างก็เป็นพาหนะของเทพเจ้า

ไม่ว่าหนูจะถูกมองยังไงในยุคโบราณ ด้วยพฤติกรรมของพวกมัน หนูก็นับเป็นสัตว์รำคาญที่ก่อความเสียหายให้กับมวลมนุษย์ พวกมันกัดกินสิ่งของ ขโมยอาหาร ทำผู้คนตกอกตกใจ ถ้ามองย้อนไปถึงอารยธรรมต่างๆ ก็มีการรับมือกับหนูอยู่เสมอเช่นสมัยอียิปต์มีการเลี้ยงแมวไว้เพื่อจับหนู ยุคโรมันก็เลี้ยงสุนัขไว้กำจัด ในระดับนิทาน หนูเคยเป็นฝันร้ายที่เกือบทำหมู่บ้านหรือดินแดนล่มสลายเช่นในนิทานเยอรมันที่เล่าถึงหมู่บ้านที่ถูกรุกรานด้วยฝูงหนู จนมีนักดนตรีผู้มีพลังพิเศษสามารถเป่าขลุ่ยและชักนำฝูงหนูทั้งหมดออกจากหมู่บ้านได้ นิทานดังกล่าวก็สะท้อนความกังวลไปจนถึงพวกหนูบ้านและหนูท่อทั้งหลายที่เริ่มเป็นภัยคุกคาม

ทีนี้ ปัญหาของหนู ดังกล่าวว่าเป็นปัญหาของเมือง คือเมืองยิ่งเติบโตคนยิ่งแน่น หนูก็เป็นสัตว์รำคาญที่สุดท้ายอาจไม่ได้แค่รำคาญแต่นำพาความตายมาให้ ดังนั้นจึงเป็นอีกครั้งที่เราจะย้อนกลับไปในยุคกลาง ยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มสร้างเมืองล้อมกำแพง เป็นเมืองที่มีโบสถ์หรืออาจจะปราสาทเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่ายุคกลางเป็นยุคที่เมืองยังโตแบบตามมีตามเกิด แต่ในช่วงนั้นก็เริ่มมีเมืองที่เป็นเมืองเช่นปารีส ลอนดอนในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ก็เริ่มมีครัวเรือนหนาแน่นแล้ว สิ่งที่มากับหนูในท้ายที่สุดก็คือกาฬโรค ฝันร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลักร้อยล้าน

นอกจากการพาเอาโรคร้ายที่เกือบทำลายอารยธรรมมนุษย์ได้มาด้วย นึกภาพในสมัยกลางหรือต่อเนื่องมาจนยุคสมัยใหม่คือราวๆ ยุควิคตอเรีย สมัยนั้นตู้เย็นก็ยังไม่มี การมีหนูวิ่งไปวิ่งมานั้นแสนจะลำบาก หนึ่งในพื้นที่แสนรำคาญใจคือพวกหนูชอบไปอยู่ในกองฟางซึ่งเป็นที่นอนของชาวนาและชาวบ้าน หนูพวกนี้เท่าที่มีบันทึกไว้คือพวกมันไม่ใช่จะน่ารักแต่ดุร้าย ตัวใหญ่ มีเยอะ รับมือยาก

ยิ่งล่วงเลยมาในสมัยวิคตอเรีย ยุคแห่งระเบียบ ความสะอาดและความเจริญ หนูเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับโลกอันเจริญ พวกมันถูกมองว่าตะกละ หิวกระหาย และเลวร้ายขนาดเป็นสัตว์ที่กินพวกเดียวกันเอง กินไม่เลือก แถมยุควิคตอเรียเป็นยุคที่เน้นการสะกดกลั้นเรื่องเพศ หนูจึงยิ่งกลายเป็นศัตรูของสังคม คือมันเป็นตัวแทนของความหิวกระหายทางเพศ การแพร่ขยายสายพันธุ์อย่างไม่หยุดหย่อน

ดังนั้นหนูจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากของสังคมเมืองในการรักษาความสงบเรียบร้อย สังคมยุโรปจึงเกิดอาชีพใหม่ที่ค่อนข้างมีหน้ามีตาในสังคม เป็นที่ต้องการตัว และไปไหนมาไหนพร้อมเสียงโห่ร้องชื่นชม

บันทึกลับนักจับหนู ไลฟ์โค้ชจากปลายศตวรรษที่ 19

คุณเคยต้องรับมือกับหนูในบ้านมั้ย 

เอาเป็นว่าขนาดเราที่อยู่ในศตวรรษที่ 21 มีวิทยาการก้าวหน้า มีความรู้เรื่องสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีกระทั่งอุปกรณ์ในการจัดการหนูที่ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนาน การต้องจัดการกับหนูพวกนี้ยังเป็นเรื่องที่แสนปวดหัว เป็นฝันร้ายในครัวเรือนอย่างหนึ่ง

ด้วยความยาก และความสยองของหนู นักจับหนูอันเป็นอาชีพที่เริ่มปรากฏในบันทึกหรือภาพวาดในช่วงยุคกลางหลายครั้งจะมีภาพที่ออกจะมหัศจรรย์อยู่บ้าง เอาว่าเบื้องต้นนักจับหนูเหล่านี้ค่อนข้างก่อตัวเป็นอาชีพที่ต้องมีทักษะเฉพาะ สามารถไล่ล่าและจับหนูได้ อาจจะด้วยมือเปล่า แต่อาวุธสำคัญของนักจับหนูคือการใช้สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสุนัขไล่และจับหนู ถ้าเราดูภาพวาดโบราณ นักจับหนูในฝรั่งเศสที่เรียกว่า chasseur de rats มักถูกวาดให้มาพร้อมกับกรงที่เป็นเหมือนไม้ยาว สวมใส่ผ้าคลุม และชูกรงที่มีซากหนูห้อยอยู่ แล้วตะโกนไปตามท้องถนนว่า Mort-aux-rats! หรือความตายจงมีแก่เหล่ามุสิก

จากการเดินเร่ไปตามถนน การทำงานของนักจับหนูก็จะเป็นการรับจ้างไปในพื้นที่ต่างๆ เช่นในบ้าน ในคฤหาสน์ โรงนา สวนสาธารณะ ไปจนถึงปราสาทราชวัง นักจับหนูก็จะทำงานตามชื่อคือไล่จับหนูโดยแลกกับค่าจ้างตามตกลง 

จากสมัยกลาง นักจับหนูกลายเป็นอาชีพที่สำคัญมากๆ ในสมัยวิคตอเรีย ด้วยการขยายตัวของเมือง ในช่วงนั้นอังกฤษ โดยเฉพาะลอนดอนและเมืองใหญ่อื่นๆ จึงเจอกับปัญหาหนูจู่โจมและเกิดอาชีพนักจับหนูที่ค่อนข้างเป็นทางการขึ้นมา ในยุคนั้นเราจะพบนักจับหนูถูกเล่าถึงอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะต่างๆ มีภาพวาด มีเรื่องเล่าที่มีนักจับหนูเป็นตัวเอกหรือถูกพูดถึง มีบทกวีที่เล่าถึงอาชีพนี้เป็นการเฉพาะ ว่ากันว่ามีเกณฑ์ถึงขนาดว่าถ้าจับหนูได้ตามจำนวนจะได้รับสถานะ ช่วงหนึ่งรัฐบาลอังกฤษมีการมอบเงินรางวัลและสถานะให้กับนักจับหนูที่จับหนูได้ 5,000 ตัวต่อปี หรือวันละ 13 ตัว

ก่อนที่เราจะพูดถึงนักจับหนูคนดัง ในช่วงปลายยุควิคตอเรียมีบันทึกเล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนตีพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราว งานเขียนนั้นชื่อว่า ความลับของนักจับหนู ประสบการณ์จาก 25 ปี โดย ไอค์ แมตทิวส์ (Full Revelations of a Professional Rat-Catcher, after 25 Years’ Experience by Ike Matthews) ถ้าพูดอย่างติดตลกหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 1898 คงคล้ายกับหนังสือว่าด้วยอาชีพ เคล็ดลับไลฟ์โค้ช ที่เราหาอ่านได้บนชั้นเบสต์เซลเลอร์ในยุคปัจจุบัน

สำหรับบันทึกลับนักจับหนูเป็นงานเขียนจากนักจับหนูของอังกฤษ ด้านหนึ่งนักจับหนูคงเป็นหนึ่งในอาชีพที่เฟื่องฟู ความสนุกจากหนังสือคือผู้เขียนเองได้เสนอแนะเคล็ดลับ หลายส่วนเป็นความเข้าใจเชิงพฤติกรรมของหนู ในบันทึกจะมีการพูดถึงการจัดวางกับดักที่แนะนำให้ลองทำเส้นทางเดินของหนูก่อนด้วยผงขี้เลื่อย พอทำได้สักสี่คืนก็จะเกิดเส้นรอยหนู หลังจากนั้นค่อยวางกับดัก ซึ่งผู้เขียนบอกว่า พอเราดักหนูหลังจากวางขี้เลื่อยแล้วหนูจะเรียนรู้และไม่เข้าใกล้ขี้เลื่อยอีก เราก็ต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่ไปใช้ขี้เถ้าแทน ตรงนี้นับเป็นองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังมีการอธิบายการสังเกต การไล่จับหนูในพื้นที่ต่างๆ

ในสมัยกลางและวิคตอเรีย อาวุธหลักของนักจับหนูคือมือและการใช้สัตว์เลี้ยง ในคู่มือเล่มนี้พูดถึงการฝึกและใช้สัตว์จับหนูที่มีคุณสมบัติต่างกันออกไป เช่น พูดถึงการใช้ตัวเฟอร์เร็ตเพื่อไล่และจับหนูซึ่งผู้เขียนบอกว่าก็ดี แต่อาจเหมาะกับบางพื้นที่เช่นบ้านชั้นเดียว ฟาร์มขนาดใหญ่แต่อาจไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีหลายๆ ชั้นโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้ยังพูดถึงการฝึกพังพอนซึ่งแกว่าก็ประสิทธิภาพเท่าๆ กับสุนัขที่ปราดเปรียว แต่พังพอนตัวใหญ่กว่าเฟอร์เร็ต เลยอาจเข้าไปไม่ได้ทุกที่ แต่พังพอนมีจุดดีคือมันจะพาซากหนูกลับออกมาด้วยเสมอคือหมดปัญหาหนูตายคาพื้นที่และเหม็นไปหลายวัน

นอกจากรายละเอียดและความรู้แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังค่อนข้างครุ่นคิดและพูดถึงความเป็นอาชีพของนักจับหนู คือพูดเรื่องตำแหน่งแห่งที่ เช่น นักจับหนูมีสถานะที่แปลก คือคนก็รัก ทำรายได้ก็ดี แต่ก็อาจจะถูกดูถูกบ้างเพราะทำงานในที่สกปรก นอกจากลักษณะงานแล้วผู้เขียนยังพูดถึงจรรยาบรรณซึ่งสอดคล้องกับความเป็นอาชีพที่คนจะให้เกียรติด้วย คือนักจับหนูอาจจะไม่มีจรรยาบรรณได้ ควรรักษาจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ไว้เพื่อทำอาชีพนี้อย่างมีเกียรติได้ต่อไป 

ตรงนี้เริ่มมีนัยของธุรกิจ ในหนังสือถึงขนาดมีคำคมว่า ‘Honesty is the best policy.’ จุดท้าทายสำคัญที่ในหนังสือยกตัวอย่างคือ เวลาไปจับหนู ในบ้านเศรษฐีสมัยก่อนจะมีป่า และมีพื้นที่สำหรับกีฬาล่าสัตว์ด้วย ทีนี้ถ้านักจับหนูไปเห็นกระต่ายซึ่งมีมูลค่าตัวละหนึ่งชิลลิ่ง ก็อาจจะแอบจับกลับมาขายด้วย แต่ในทางกลับกัน หนู 12 ตัวได้ราคาสี่ชิลลิ่ง ฟังดูน้อย แต่การที่เราไม่แตะต้องกระต่ายหรือสัตว์เพื่อการล่าเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ ในบ้านหรือพื้นที่เดียวกัน นักจับหนูอาจสามารถกลับไปจับหนูได้ถึง 500 ตัวต่อปี

นอกจากเรื่องจริยธรรมการทำงาน ในชีวิตนักจับหนูค่อนข้างได้รายได้ค่อนข้างดี บ้านหลังหนึ่งอาจจับหนูได้เป็นร้อยๆ ตัว ลูกค้าหลายคนก็ให้ความเคารพ เชื่อใจกลายเป็นมิตรสหายกัน แต่คุณไอค์ผู้เขียนก็พูดถึงความขัดแย้งบ้าง เช่นให้ไปจับหนูแล้วได้จำนวนมาเท่าไหร่ เจ้าของพื้นที่ก็อาจจะเกิดไม่ยอมจ่าย เขาบอกว่า นักจับหนูไม่ต้องทำอะไรมาก แค่บอกว่าจะปล่อยคืนที่ไป พูดไปเท่านี้ส่วนใหญ่ก็จะยินยอมจ่ายค่าดำเนินการตามตกลง

ประเด็นการจับหนู นอกจากการจับ และสังหารแล้ว นักจับหนูยังมีหลายการงานที่เกี่ยวข้อง บางส่วนอาจจะเป็นมุมมืดหน่อยเช่นการเกิดขึ้นของสังเวียนหนูหรือ rat pit สังเวียนหนูบางที่ทำหน้าที่เป็นความบันเทิง กับบางส่วนเป็นที่ที่นักจับหนูจะเอาหนูไปฆ่า การจับหนูหลายครั้งที่มีการจับหนูเป็นๆ ได้ ไปจนถึงได้รับหนูเป็นๆ มา การกำจัดหนูก็เป็นอีกภาระที่สุดท้ายคนเราก็หาทางไปได้ เจ้าสังเวียนบางครั้งเป็นเหมือนเกม คือมีการปล่อยสุนัขเข้าไปแล้วดูว่าสุนัขของใครจะสังหารหนูได้มากกว่ากัน บ่อนหนูนี้จึงกลายเป็นปัญหาทั้งว่าเป็นการทรมานสัตว์ที่ไม่ได้หมายถึงหนู แต่หมายถึงสุนัข กับกลายเป็นว่านักจับหนูก็เลยมีการเก็บหนูเป็นๆ ไว้ รอป้อนให้กับบ่อนกัดหนูเหล่านี้ กลายเป็นว่าแทนที่จะกำจัดหนูได้ หนูที่นักจับหนูจับมาได้ก็แพร่พันธุ์เยอะขึ้นไปอีก 

แจ็ค แบล็ค นักจับหนูในพระองค์

จากบันทึกของคุณไอค์ที่เป็นภาพรวมของนักจับหนู ถ้าเราพูดถึงอาชีพหรือกิจการจับหนู เราต้องพูดถึงนักจับหนูคนดังผู้ขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ทำลายเหล่าหนูและเชื้อชาของพระราชินี (rat and mole destroyer to her Majesty)’ หรือในนามของ ‘นักจับหนูสูงสุด (supreme rat catcher)’ ชื่อแสนเท่เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในงานเขียนชื่อ London Labour and the London Poor เป็นรวมบทความที่กลายเป็นสารานุกรมของนักหนังสือพิมพ์ชื่อ Henry Mayhew โดยเขาออกไปรวบรวมเรื่องราวของคนทำงานในกรุงลอนดอน เป็นคนทำงานในช่วงทศวรรษ 1840 เป็นอาชีพต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็มีนักจับหนูคนดังคือคุณแจ็ค แบล็ค ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักจับหนูหลวงกันเลยทีเดียว

งานรวบรวมอาชีพนี้เลยน่าสนใจเพราะให้ภาพกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังดิ้นรนและทำมาหากินในเมือง สำหรับแจ็ค แบล็คเอง แม้จะเป็นหนึ่งในแรงงานและคนทำงานยากจนคนหนึ่ง แต่จริงๆ ตัวเขาเองด้วยการเป็นนักจับหนูถือว่าเป็นทักษะพิเศษที่สนองความต้องการของเมือง แถมอย่างย้อนแย้งคือเขาเองค่อนข้างมีมุมมองทางธุรกิจและทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการจับหนูนี่แหละ แต่ไม่ได้ได้เงินแค่จากการจำกัดหนูเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการขายหนูเพื่อการกีฬา และที่แปลกกว่านั้นคือกลายเป็นเจ้าพ่อสัตว์แปลกแบบมาก่อนกาล

ย้อนไปสมัยเด็ก แจ็ค แบล็ค เป็นเด็กชาวบ้านที่ตัวแกเองมีความสามารถในการจับหนู เขาเล่าให้นักหนังสือพิมพ์ฟังว่าตอนเด็กเขาก็ไปจับหนูที่สวน Regent’s Park อวดฝีมือให้พวกชนชั้นสูงที่ไปหย่อนใจในสวนชม จนเมื่ออายุสิบขวบ แจ็ค แบล็คในวัยนั้นก็ได้รับการว่าจ้างและค่าจ้างให้จับหนูอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกและเริ่มอาชีพนักจับหนูมาตั้งแต่ตอนนั้น

จุดเด่นของแจ็คเราอาจพูดได้ว่ามาจากความเป็นแบรนด์ของเขา แจ็คเป็นคนสนุกสนาน เป็นคนที่ค่อนข้างฉูดฉาด แจ็คมีชื่อเสียงในช่วงอายุประมาณ 40 ปี มักปรากฏตัวในเครื่องแบบที่เขาคิดขึ้นเอง เป็นชุดแสนเก๋ที่สร้างสีสันให้ผู้พบเห็น คือแจ็คจะใส่กางเกงหนังสีขาว คลุมด้วยเสื้อคลุมสีม่วงและมีสายสะพายลายหนูคาดคล้องไหล่เอาไว้ แจ็คเองเป็นหนี่งในต้นตำรับในการฝึกสัตว์เพื่อจับหนู แน่นอนว่าตัวเฟอร์เร็ตดูเข้าท่าที่สุดเท่าๆ กับสุนัข ตัวเฟอร์เร็ตจะเคลื่อนที่ไปในพื้นที่แคบๆ ได้เหมือนกับงู นอกนั้นเขาเองยังทดลองฝึกสัตว์อีกหลายชนิดที่เขาว่าไม่ค่อยเวิร์ค เช่น ลิง ตัวแบดเจอร์ ไปจนถึงแรคคูน

จากคำบอกเล่าของแจ็คซึ่งสอดคล้องกับบันทึก 25 ปีนักจับหนู แจ็ค แบล็ค บอกว่ารายได้หลักในการจับหนูจริงๆ ไม่ได้มาจากการกำจัดหนูได้ แต่คือการที่เขานำหนูที่ยังมีชีวิตไปขายให้กับบ่อนกัดหนู ซึ่งบ่อนกัดหนูมักจะอยู่ในผับทั่วทั้งลอนดอน เป็นการปล่อยฝูงหนูไว้แล้วคนที่ไปผับจะนำสุนัขไปและให้พวกมันแสดงความสามารถสังหารหนูให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งฟังแล้วเวรี่หลอน

จากนักจับหนูสู่ฟาร์ม และอาจรวมถึงหนูทดลอง

นอกจากความหลอนแล้ว แจ็คยังนับเป็นคนที่มีหัวการค้ามากๆ คนหนึ่ง ด้วยความที่เขาทำงานจับหนูให้พวกผู้ดี แถมด้วยอาชีพนักจับหนูจึงมีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากตั้งแต่สุนัข นก ตัวเฟอร์เร็ต รวมถึงหลายครั้งเขาก็จะจับหนูหน้าตาแปลกๆ สีสันแปลกๆ มาเลี้ยงไว้ ตรงนี้เองเลยเกิดอาชีพใหม่ขึ้นคือการเป็นเจ้าพ่อสัตว์สวยงาม หนูที่เคยจับมาฆ่าก็ถูกนำไปเลี้ยงดูและผสมพันธุ์จนเกิดเป็นหนูสีแปลกๆ นอกจากหนูสีแปลกๆ แล้วแจ็คยังทำการเลี้ยงและฝึกหนูของตัวเอง มีการนำมาเปิดแสดงและขายสินค้าที่เกี่ยวกับการกำจัดหนูอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่ามีโชว์พร้อมขายตรง

สำหรับการเติบโตของนักจับหนูสู่ฟาร์มสัตว์สวยงามถือเป็นก้าวอันประหลาด สุดท้ายกลายเป็นว่าเหล่าสตรีชั้นสูงเองก็กลับนิยมเลี้ยงหนูสวยงาม (fancy rat) ที่แจ็คจับและพัฒนาสีสันขึ้นผ่านการเลี้ยงและผสมพันธุ์ขึ้น ทีนี้จากนักทำลายหนูของพระราชินี แจ็คเลยเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เลี้ยงหนู ในช่วงทศวรรษ 1840-1860 กระแสนิยมเลี้ยงหนูสวยงามท่ีมาจากหนูของแจ็คก็ได้รับความนิยม หนูเหล่านี้กลายเป็นหนูในกรงทอง เลี้ยงไว้ในกรงที่ประดับประดาและปิดด้วยทองคำ กระทั่งพระราชินีวิคตอเรียเองก็ซื้อและเลี้ยงหนูสวยงามจากแจ็ค ต่อมาในปี 1901 จึงได้เกิดสมาคมเลี้ยงหนูขึ้นคือ National Mouse Club มีการประกวดและให้รางวัลระดับชาติ

นอกจากกิจกรรมการจับหนูที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงจากฝีมือของแจ็คแล้ว ในกิจการโหดร้ายเช่นการเลี้ยงหนูทั้งเพื่อป้อนให้กับสนามพนันหรือหลายคนก็เชื่อว่าแจ็คเองก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและพัฒนาจนเกิดหนูสีขาวตาแดงขึ้น การเพาะเลี้ยงหนูตรงนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นรากฐานหนึ่งที่อาชีพเกี่ยวกับการจับหนูมีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ คือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและป้อนหนูขาวให้กับการทดลองต่างๆ โดยเฉพาะการทดลองทางการแพทย์ซึ่งแน่นอนว่าเป็นรากฐานของวิทยาการและความก้าวหน้า รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยของเราในทุกวันนี้ ซึ่งบางคนเชื่อว่าแจ็ค แบล็คอาจเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงและส่งต่อหนูทดลองให้กับโลกสมัยใหม่ด้วย

ประเด็นเรื่องนักจับหนู การจับหนูเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวและอาชีพในประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบริบท เกี่ยวข้องกับเมืองและปัญหาของเมือง นอกจากนั้นอาชีพนักจับหนูยังสัมพันธ์กับการทำมาหากิน การประกอบอาชีพที่เปิดโอกาสให้คนชั้นล่างได้มีพื้นที่และได้ไต่เต้าทางสังคม และกิจการการจับหนูยังพัฒนาไปสู่พื้นที่แปลกประหลาด 

จากการจับเพื่อแก้ไขปัญหาสู่ความบันเทิงที่อาจโหดร้ายสักหน่อย กลายเป็นการเพาะเลี้ยง เป็นธุรกิจ และบางส่วนในกิจการที่ดูสกปรกนั้นสัมพันธ์กับการสาธารณสุขในภาพรวม จนกลายเป็นรากฐานหนึ่งของการทดลองเรื่องยาและนวัตกรรมอื่นๆ ด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like