สร้างธุรกิจกับคนนอนน้อย
‘Sleep Economy’ เจาะตลาดคนไม่หลับไม่นอน กับช่องว่างธุรกิจที่หอมหวาน
เชื่อว่าหลายๆ คนที่กำลังอ่านประโยคนี้คงเคยผ่านประสบการณ์ตี 2 ยังนอนไม่หลับด้วยหลากเหตุผล ก่อนจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้างกายมาเสิร์ชหาวิธีให้ตัวเองนอนหลับ
แม้ตลอดชีวิตของเรา ใช้เวลา 1 ใน 3 ไปกับการนอน แต่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีคืนที่นอนยังไงก็ไม่หลับ ข่มตาตั้งแต่ 4 ทุ่มก็ไม่หลับสักที แน่นอนทุกคนทราบดีว่าควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน หากน้อยกว่านั้นอาจส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน อารมณ์ ความจำ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่คนนอนไม่หลับก็ยังคงมีมากมายทุกแห่งหนด้วยหลากเหตุผล
มีงานวิจัยของ Mintel ระบุว่า 8 ใน 10 ของคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาด้านความเครียด 46% ตามด้วย นอนไม่หลับ 32% และวิตกกังวล 28% และสภาพจิตใจคนไทยแย่ลงไปอีกจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ รวมถึงสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลวิจัยยังบอกอีกว่า คนไทยทุกวัยต้องประสบกับความเครียดในชีวิต โดยเฉพาะเจนฯ Z และมิลเลนเนียล ที่ 35% ประสบปัญหาการนอนไม่หลับ เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ที่อัตราการนอนไม่หลับหลังจากเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้น 55% และนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน 28% ถือได้ว่าอยู่ในภาวะที่คุณภาพการนอนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด
ในขณะที่ผู้คนกำลังต่อสู้กับการอดนอน Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น
สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก Sleep Economy หมายถึง ธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนอน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ แอพพลิเคชั่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2024 มูลค่า Sleep Economy จะสูงถึง 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้คนเริ่มสนใจสุขภาพการนอนมากขึ้น ทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อเยียวยาจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ พัฒนาธุรกิจหรือสินค้าเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ เช่น วิตามินที่ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น เครื่องนอนเพื่อสุขภาพ เครื่องหอมผ่อนคลายอารมณ์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงคอนเทนต์ ASMR ต่างๆ ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 950 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสินค้าในกลุ่มนี้ถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หนึ่งในตัวอย่างสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวเราคือนม ที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องการนอนหลับ และตั้งแต่เด็กๆ เรามักได้ยินประโยคที่ว่า กินนมก่อนนอนแล้วจะหลับฝันดี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะในนมมีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาททางสมองที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้หลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
การนอนไม่หลับไม่ได้กระทบแค่ร่างกาย แต่ยังสะเทือนไปถึง GDP ประเทศ RAND Corporation ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐฯ ได้ประเมินผลกระทบต่อการนอนหลับไม่เพียงพอว่า ประเทศที่ประชากรมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน จะสูญเสีย GDP ไปไม่น้อย
- สหรัฐอเมริกา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 411 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.28% ของ GDP
- ญี่ปุ่น สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.92% ของ GDP
- เยอรมนี สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.56% ของ GDP
- สหราชอาณาจักร สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.86% ของ GDP
- แคนาดา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.35% ของ GDP
จากข้อมูลข้างต้น บ่งชี้ว่าหากต้องการเพิ่มมูลค่า GDP เศรษฐกิจประเทศ ควรทำให้ประชาชนได้รับการพักผ่อนเพียงพอและนอนเต็มอิ่ม หากผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาศาล เช่น จากที่เคยนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ต้องการนอน 7 ชั่วโมง การจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลานอนเพิ่ม 1 ชั่วโมง คุณอาจได้ที่นอนใหม่ วิตามินกระปุกใหม่ ชุดนอนผ้าไหมแสนสบาย ฯลฯ
เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนอน ทำให้ระบบนิเวศของ Sleep Economy เปลี่ยนไป จากการศึกษาของ McKinsey ได้แบ่งผลิตภัณฑ์และบริการด้านการนอนออกเป็น 3 ประเภท
- การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน เครื่องนอน แสงไฟ เสียง หรืออุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ
- การปรับกิจวัตรประจำวัน เช่น ชาสมุนไพร นาฬิกาปลุกอัจฉริยะ เครื่องวัดการนอนหลับ การทานอาหารเสริม ฯลฯ
- การบำบัดรักษา เช่น การรักษาแบบชีวิต เครื่องช่วยนอนหลับ การปรึกษาแพทย์ การรักษาอาการนอนกรน นอนหลับไม่สนิท หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยขณะนอนหลับ ฯลฯ
ในทางกลับกัน Sleep Economy ไม่ได้มีแค่ธุรกิจที่เชิญชวนให้นอน แต่ยังมีธุรกิจที่เหมาะกับคนใช้ชีวิตกลางคืน ต้องการพื้นที่สงบเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา นั่นคือคาเฟ่ ร้านอาหาร Drive Thru ฟิตเนส หรือ co-working space ที่เปิด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่อ่านหนังสือ ทานอาหาร และเครื่องดื่ม ในบรรยากาศเงียบๆ ซึ่งมีงานวิจัยจากสแตนฟอร์ดบอกว่า การทำงานนอกสถานที่ ที่หลุดออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้มากขึ้น ทำให้ในช่วงสอบของนักศึกษา เราได้เห็นหนุ่มสาวเหล่านี้จับจองพื้นอ่านหนังสือโต้รุ่งใน co-working space มากมาย
จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งหากมองในมุมธุรกิจถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าจับตามอง และมีโอกาสเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของความหลากหลายทางธุรกิจ หากเข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ Sleep Economy สว่างไสวท่ามกลางความมืดยามค่ำคืน
อ้างอิงข้อมูล
- rand.org/randeurope/research/projects/the-value-of-the-sleep-economy.html
- bloomberg.com/opinion/articles/2023-02-19/sleep-economy-brands-want-a-piece-of-your-dreamland?leadSource=uverify%20wall
- mintel.com/press-centre/sleep-matters-less-than-a-third-japanese-consumers-are-satisfied-with-their-sleep/
- economictimes.indiatimes.com/news/international/business/world-sleep-day-the-sleep-industry-is-waking-up/articleshow/98738699.cms?from=mdr