สุราลงกลอน
บาร์ลับ ผู้หญิง และเหล้ารสหนูตาย วัฒนธรรมการดื่มที่เฟื่องฟูในยุคเหล้าต้องห้าม
นึกภาพว่า ถ้าวันพรุ่งนี้แอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เราจะเป็นยังไง
เราอาจจะเลิกดื่มไปโดยปริยาย กลายเป็นดินแดนไร้ความเมา หรือเราจะลงใต้ดินและอาจยิ่งรู้สึกว่าเหล้าเบียร์ยิ่งหอมหวานและการดื่มเป็นสิ่งที่ยิ่งสนุกน่าทดลอง
ถ้าเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ไม่ไกลนัก คำตอบคืออย่างหลัง เหล้าเบียร์เป็นเครื่องดื่มและสันทนาการที่มนุษย์เรารัก รักเกินกว่าที่จะกำจัดพวกมันออกไปจากสังคม ทว่าประเทศที่แสนเสรีอย่างอเมริกากลับเคยทำให้แอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย เกิดการแบนเหล้าเบียร์กันขนานใหญ่ในระดับชาติ
ความน่าสนใจของการออกกฎหมายที่เด็ดขาดนี้กลับทำให้การผลิตและการบริโภคแอลกอฮอล์ในอเมริกายิ่งเฟื่องฟูขึ้น บางส่วนกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมอเมริกันร่วมสมัยในปัจจุบัน บางส่วน การแบนที่ทำให้เหล้าลงใต้ดิน กลับทำให้พื้นที่และวัฒนธรรมอเมริกันเสรีมากขึ้นในยุคที่เรารู้จักกันในนาม Prohibition Era อันเป็นยุคที่ค่อนข้างลักลั่นคือเป็นรอยต่อที่อเมริกันค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ความเป็นดินแดนเสรีและความเท่าเทียม และอันที่จริงการออกกฎหมายแบนและผลักให้พื้นที่การดื่มลงไปอยู่ใต้ดินกลับยิ่งทำให้การผลิตและวัฒนธรรมการดื่มเหล้าแข็งแรงมากขึ้น
กิจกรรมการดื่มกันอย่างลับๆ ในช่วงเหล้าผิดกฎหมายของอเมริกา จากหม้อต้มเหล้าเถื่อนที่ต้องปรุงรสจนกลายเป็นที่มาของค็อกเทล การเปิดพื้นที่เป็นบาร์ลับที่เรียกว่าบาร์ speakeasy บาร์เหล้าที่เมื่อร้านเหล้ากลายเป็นที่ลับ พื้นที่การกินดื่มกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมได้ ภาพบาร์เท่ๆ ที่เต็มไปด้วยหนุ่มสาวสมัยใหม่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพและอิสรภาพของคนสมัยใหม่ที่กลายเป็นรากฐานหนึ่งของวัฒนธรรมของทุกวันนี้
Prohibition Era ยุคสมัยยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ
เวลาเราพูดถึงชาติตะวันตก รวมถึงสมัยของการล่าอาณานิคม ในวัฒนธรรมตะวันตกการผลิตและบริโภคแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในช่วงที่เกิดอาณานิคมขึ้น องค์ประกอบหนึ่งที่คนขาวใช้นำทางในการตั้งถิ่นฐานคือศาสนา หลายส่วนของพื้นที่อาณานิคมเป็นพื้นที่เคร่งศาสนา การดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเมามายนับเป็นเรื่องผิดบาป ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จึงเกิดกระแสของความอดกลั้น (the temperance movement) คือเป็นการเน้นย้ำคุณธรรมเกี่ยวกับการหักห้ามและควบคุมใจและกายของตน ซึ่งแน่นอนว่าการดื่มเหล้าเป็นการละเมิดการควบคุมตนเอง คือไม่ใช่แค่เมาแต่เป็นการพาตัวเองไปสู่ความสุขซึ่งอาจเป็นประตูสู่บาปอื่นๆ ต่อไป
กระแสเรื่องความอดกลั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา กระแสทางศีลธรรมนี้กลายเป็นกระแสใหญ่จนหลายประเทศทั้งในยุโรป คือแถบสแกนดิเนเวียเช่นนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และอเมริกาคืออเมริกาทั้งประเทศ แคนาดา กระทั่งบางส่วนในพื้นที่อาณานิคมในอินเดียออกกฎหมายแบนเหล้ากันในระดับรัฐ สำหรับอเมริกามีการตั้งสมาคม The American Temperance Society (ATS) ความเคลื่อนไหวในการจัดการเหล้าในฐานะศัตรูของความดีค่อยๆ เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1850 คืออเมริกากว้างใหญ่มาก ก็ค่อยๆ ผลักดันกฎหมายบางรัฐก่อนที่หลายๆ รัฐจะทดลองแบนบ้าง
มุมมองของศาสนาที่มีต่อเหล้าในยุคนั้น ค่อนข้างมองว่าเหล้าพวกนี้เป็นตัวร้าย เป็นปีศาจ ชื่อเล่นของกระแสจึงเรียกว่าเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์คือ ‘the dry crusade’ โดยการกลับมาของนักรบคุณธรรมต่อเหล่าเหล้าเบียร์มาชัดเจนขึ้นหลังจากสงครามกลางเมืองจบลงในปี 1865
4 ปีต่อมาก็เกิดพรรคสุราต้องห้าม เป็นพรรคระดับชาติที่ว่าด้วยการแบนเหล้าเป็นแกนหลักในนาม Prohibition Party ในช่วงนี้เกิดกระแสในหลายพื้นที่ทางสังคมมาก เช่น เกิดสมาคมสตรีขึ้น ด้านหนึ่งเป็นการเริ่มพูดเรื่องสวัสดิภาพสตรี มีการยกเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิง อย่างหนึ่งคือการไม่ถูกทำร้ายโดยสามีขี้เมา
กระแสการรบกับเหล้าสัมพันธ์กับการให้ภาพโทษของสุราในฐานะปีศาจ เป็นที่มาของโกงกินทางการเมือง เริ่มเกิดรัฐไร้เหล้า (dry state) ส่วนใหญ่เป็นรัฐทางตอนใต้ หรือมีนักกิจกรรม เช่นมีนักสู้เหล้าเบียร์สาวนามว่า แครี่ เนชั่น (Carrie Nation) คือจะเดินอาดๆ เข้าโรงเหล้า (saloon) พร้อมขวานและเอาขวานจามใส่ขวดเหล้าเพื่อแสดงการต่อต้าน วิธีของคุณแครี่นับว่ารุนแรง เพราะโดยทั่วไปนักต่อต้านหญิงมักจะใช้วิธีรณรงค์โดยสันติ ไปร้านเหล้า ไปร้องเพลง สวดมนต์ และขอให้เจ้าของร้านเลิกขายเหล้า
ในที่สุด ความเคลื่อนไหวให้แบนเหล้าอย่างเป็นทางการจึงกลายเป็นวาระทางการเมือง บางส่วนสัมพันธ์กับอิทธิพลที่มีนัยทางศาสนาเช่นการเสื่อมความนิยมของกลุ่มศาสนาที่สนับสนุนกิจการเหล้าเบียร์ เช่นโรมันคาทอลิกที่ร่ำรวยถูกแทนด้วยโปรแตสแตนต์ หรือกลุ่มเยอรมันลูเธอรันที่ลดบทบาทลงในช่วงหลังสงครามโลกหลังเยอรมนีกลายเป็นศัตรู ในภาคประชาชนเอง การรณรงค์ของสตรีขยายตัวเข้าถึงกลุ่มรากหญ้า ช่วงนั้นหลายๆ รัฐเริ่มแบนเหล้า จนในที่สุด ในวันที่ 17 มกราคม 1920 สหรัฐได้ออกกฎหมายใหญ่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ห้ามการผลิต นำเข้า ขนส่ง และขายสุรา ก้าวเข้าสู่ยุคเหล้าต้องห้ามอย่างเป็นทางการ การดื่มเป็นสิ่งต้องห้ามนานถึง 13 ปี
และแน่นอนว่าอย่างที่เรารู้กัน ยิ่งห้ามคือยิ่งยุ การที่เหล้าหนีลงใต้ดิน สปอยล์เลยว่า ด้วยยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นว่าการผลิตและการบริโภคเหล้านั้นยิ่งเฟื่องฟูและแพร่หลายไปในหลากกลุ่มสังคมขึ้น บางส่วนของอเมริกันในฐานะยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมกินดื่มในปัจจุบันก็เป็นมรดกจากยุคแห่งการห้ามปรามนี้เอง
แค่คิดก็ปวดท้อง จากเหล้าเถื่อนสุดโหดถึงแก้วค็อกเทล
พอรัฐแบนเหล้า สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือโรงบ่มเบียร์ โรงกลั่นเหล้า และโรงไวน์ทั้งหมดปิดตัวลงในทันที เมื่อพื้นที่ผลิตสุราหลักหายไป แต่คนไม่หยุดดื่ม ทำให้สิ่งที่เฟื่องฟูขึ้นในยุคแรกคือเหล้าเถื่อน
ในช่วงนั้นมีสองพื้นที่ผลิตเหล้าที่สำคัญคือ เหล้าเถื่อน หรือ bootlegger และเหล้าชุมชน ที่เรียกว่า moonshine สองคำนี้ค่อนข้างซ้อนทับกัน โดยทั่วไปเหล้าเถื่อนจะหมายถึงเหล้าผิดกฎหมายทั่วไป รวมถึงการลักลอบขนและจำหน่ายเหล้าผิดกฎหมายต่างๆ ส่วนมูนไชน์จะหมายถึงการผลิตสุราในความหมายกว้างๆ ที่อยู่นอกกฎหมาย
สำหรับกิจการเหล้าเถื่อน ในช่วงแบนเหล้าระยะแรกๆ เหล้าเถื่อนและคนขายเหล้าเถื่อนเป็นแหล่งค้าสุราที่สำคัญ แต่ในยุคนั้นไม่ใช่แค่การแอบขนเหล้ามาขาย แต่คือการที่พวกคนทำเหล้าเถื่อนโดยใช้วิธีปรับเอาแอลกอฮอล์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น หมึกพิมพ์ น้ำหอม หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ มาทำเป็นเหล้าปลอม การทำเหล้าปลอมคือการทำ denatured alcohol คือการเอาเอทานอลมาแต่งกลิ่นและรสให้พอกินได้ (แต่อันตรายต่อสุขภาพเหมือนเดิม) และดื่มแทนเหล้าจริงแก้ขัด โดยทั่วไปแอลกอฮอล์อุตสาหกรรมจะทำเป็นยิน วิสกี้ปลอมได้ 3 เท่า ในช่วงนั้นประเมินว่า 1 ใน 3 ของแอลกอฮอล์ 150 ล้านแกลลอนที่ผลิตได้ถูกนำไปทำเป็นเหล้าปลอม
นอกจากเหล้าปลอมที่อันตรายที่ระบาดขึ้นในช่วงนั้น เหล้าทำเองที่เรียกรวมๆ ว่ามูนไชน์ก็เฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กัน พอไม่มีเหล้าขาย ก็เริ่มต้มเหล้ากันเองเป็นพื้นที่เล็กๆ ทีนี้ในการทำเหล้ากันเองที่บ้าน แน่นอนว่ารสเหล้าค่อนข้างแย่ ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคการทำหรือการที่คนทำเหล้าไม่สามารถเสี่ยงบ่มเหล้าในถังตามเวลาได้ ความอ้วกแตกจากการหนีอาการตาบอดจากเหล้าปลอมจึงแลกมาด้วยการที่คนทำเหล้าลองแต่งรสและกลิ่นของเหล้าที่ทำขึ้น สิ่งที่เพิ่มในตอนนั้นสุดหลอนด้วยการใส่ซากหนูตายหรือเนื้อเน่าลงในถัง ย่นระยะการบ่มของเน่าในเหล้าเป็นไม่กี่วันเพื่อให้รสคล้ายเบอร์เบิน นอกนั้นก็มีสูตรสยองอื่นๆ เช่นทำยินด้วยการผสมน้ำมันจูนิเปอร์ลงในแอลกอฮอล์ ปรุงเหล้าสก็อตด้วยน้ำมันรักษาเนื้อไม้
ด้วยหลายสาเหตุ ช่วงแบนเหล้านี้สุรากลุ่มเหล้า (spirit) เป็นเหล้าประเภทที่วงการเหล้าเถื่อนนิยมมากกว่าเบียร์หรือไวน์ สัดส่วนราคาของยินและวิสกี้มีราคาสูงกว่าในการขนและขายในแต่ละครั้ง ในช่วงนั้นเหล้าสำคัญๆ คือยินและรัมจึงเฟื่องฟูขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ยินเป็นเหล้าที่เรียบง่ายที่สุด ผสมง่าย ทำได้ไว บางครั้งผลิตขึ้นแบบโกงๆ คือเอาแอลกอฮอล์ น้ำมันจูนิเปอร์ กลีเซอรีน เจือน้ำนิดหน่อย เขย่าเข้าด้วยกัน นอกจากยินแล้ว รัมเป็นอีกหนึ่งเหล้าลักลอบขนเข้ามาจากประเทศแถบแคริบเบียน ในยุคนั้นจึงเกิดสูตรค็อกเทลยอดนิยมจากยินและรัมเช่น Bee’s Knees คือการเอาน้ำผึ้งไปช่วยกลบรสแรงๆ ของยิน
ในช่วงนี้เองที่ค็อกเทล กลายเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญของชาวอเมริกันในยุคเหล้าผิดกฎหมาย ตัวเหล้าที่ได้มาอาจจะเป็นทั้งเหล้าลักลอบขนที่คนขายเติมน้ำลงไปให้ขายได้เยอะๆ เหล้าเถื่อนจากผู้ผลิตที่ทำกันเองคือพวกมูนไชน์ ไปจนถึงเหล้าปลอม ด้วยรสและเหล้าเท่าที่หาได้ทำให้การดื่มในยุคนั้นเน้นการผสมเหล้าด้วยสิ่งปรุงอื่นๆ ใส่โคคา-โคล่าลงไป เจือด้วยเลมอน โซดา จินเจอร์เอลหรือมินต์ นำไปสู่การเปิดพื้นที่ลับและพื้นที่บ้านเป็นพื้นที่กินดื่ม จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นบาร์ลับ หรือ speakeasy ที่กลายเป็นที่มาของบาร์ค็อกเทลยุคใหม่ในทุกวันนี้
บาร์ลับ และการเข้าวงการของผู้หญิง
ก่อนที่เราจะเข้าไปสู่บาร์ลับ อันเป็นพื้นที่ดื่มเหล้าลับๆ ในหลายรูปแบบของยุคนั้น ประเด็นสำคัญหนึ่งคือยุคแบนเหล้าเป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคสมัยใหม่ ในแง่ความคิด เราจะเริ่มเห็นบทบาทที่เปลี่ยนไปในแง่ความเท่าเทียมในหลายด้าน ทั้งผู้หญิง และการที่ยุคต้องห้ามเป็นยุคร่วมกับยุคที่เราเรียกว่ายุคแจ๊สเอจ ย้อนไปในสมัยก่อนแบนเหล้า การแบนเหล้ามีมานานแล้ว
สมัยก่อนพื้นที่ดื่มเหล้าเป็นพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น นึกภาพร้านเหล้าที่เราเรียกว่าซาลูน มีบาร์ มีคาวบอย พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ของผู้ชาย บางช่วงของอเมริกามีกฎหมายแบนผู้หญิงออกจากร้านเหล้าทั้งการเข้าถึงและการทำงาน ทำให้ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากทั้งพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์ไปโดยปริยาย
ความสนุกคือ ผู้หญิงเองเป็นแกนนำหนึ่งในการผลักดันกฎหมายแบนเหล้า แต่เมื่อกิจการและการดื่มเหล้าลงใต้ดิน ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเช่นช่วงนั้นผู้หญิงเริ่มได้สิทธิต่างๆ เช่นการเลือกตั้งไปจนถึงการศึกษา พื้นที่เหล้าที่ลงไปลับตาคนจึงเป็นโลกที่ผู้หญิงเป็นทั้งผู้ผลิตและเป็นผู้บริโภคอย่างเป็นทางการ
วงการเหล้าเถื่อนเป็นพื้นที่แรกๆ ที่พอเหล้าลงใต้ดินกลายเป็นว่าผู้หญิงเป็นผู้ช่วยสำคัญของวงการ จากต้มเหล้าเองในครัว ช่วงแอบขาย ไปจนถึงลักลอบขนย้าย กระทั่งเข้าไปอยู่วงการอาชญากรรมระดับลึกๆ ที่ลงมือฆ่าแกงกัน เช่น มีรายงานจากศาลเมืองดีทรอยต์ว่ามีการไต่สวนและกล่าวหาคุณแม่วัยสาวที่ขึ้นศาลพร้อมลูกอ่อนเพราะแอบขายไวน์ให้กับแขกที่มาที่บ้าน
หรือมีรายงานตัวเลขบัญชีของบ้านพัก (boarding house) ในเดนเวอร์ของหญิงคนหนึ่งพบว่าเธอแอบขายแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าและมีรายได้จากการขายเหล้าเล็กๆ น้อยๆ ได้วันละ 150 ดอลลาร์สหรัฐ ในสมัยนั้นผู้ชายผิวขาวทำเงินได้ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่าพวกเธอสามารถหาเงินได้อย่างงาม บางคนก็ใช้เป็นหนทางในการมีชีวิตที่ดี พื้นที่ครัวของผู้หญิงจึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญหนึ่งที่ทั้งผลิตและใช้บริการเหล้าได้ในยุคเหล้าขาดแคลน
การแบนเหล้า ส่วนหนึ่งทำได้แค่แบนในพื้นที่สาธารณะ ในยุคนั้นพื้นที่ครัวเรือน บ้าน และห้องครัวจึงกลายเป็นพื้นที่ทั้งเพื่อการผลิตแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ในระดับครัวเรือนเช่นการจัดเลี้ยงที่บ้านก็มีหลักฐานว่าอเมริกันที่มีฐานะยังคงภาคภูมิใจในการเลี้ยงอาหารพร้อมแสดงฝีมือและหัดผสมค็อกเทลเพื่อสร้างความบันเทิงในครัวเรือน ความบันเทิงที่บางครั้งกิจกรรมการดื่มน้ำชายามบ่ายกลายเป็นการจิบเหล้าเล็กๆ น้อยๆ หนึ่งในเครื่องครัวใหม่ที่มาคู่กับถาดน้ำชา คือกาน้ำชาที่หน้าตาเหมือนกับเชคเกอร์
อันที่จริงความตึงเครียดของการแบนเหล้าในทศวรรษดังกล่าวก็ออกจะแปลกๆ คือผิดกฎหมาย แต่ก็รับรู้ว่ามี เช่น การบริโภคเหล้าในครัวเรือน ในปี 1924 มีข้อความในหนังสือพิมพ์เขียนว่า ไม่มีบ้านไหนในฝั่งตะวันตกของประเทศที่แม่บ้านของครอบครัวมีอันจะกินจะไม่เชี่ยวชาญการชงค็อกเทล และอันที่จริงร้านแบบ speakeasy จริงๆ ก็ลับแบบไม่ลับเท่าไหร่
บาร์ลับ ลูกค้าผู้หญิงยุคใหม่ ไปจนถึงการเดต
พื้นที่สำคัญเมื่อแบนแอลกอฮอล์คือการเกิดขึ้นของร้านลับที่เรียกว่า speakeasy คำนี้เป็นคำกว้างๆ หมายถึงพื้นที่ขายเหล้าในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องกระซิบ ต้องบอกพาสเวิร์ดที่ถูกต้องถึงจะเข้าไปใช้บริการได้ ตัวบริการมีลักษณะตั้งแต่ห้องลับในร้านอาหาร พื้นที่เต้นรำ บาร์ที่มีดนตรีสดเล่น พื้นที่ร้านลับแบบนี้ถือเป็นจุดตัดของหลายความเปลี่ยนแปลงและมิติทางวัฒนธรรมสมัยใหม่หลายอย่างมาก ในช่วงนี้ผู้หญิงเริ่มได้สิทธิต่างๆ และแน่นอน จากซาลูนแบบคาวบอย ในร้านลับเหล่านี้ด้วยความที่เป็นพื้นที่นอกกฎหมายแต่ต้น ดังนั้นการจำกัดพื้นที่ของผู้หญิงจึงไม่มีผลในพื้นที่ ทั้งหลายที่ยังเปิดพื้นที่โดยมีลูกค้าสุภาพสตรีเป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ
นึกภาพเหล่าผู้หญิงยุคใหม่ ตัดผมบ็อบ คีบบุหรี่ ถือแก้วค็อกเทลเป็นรูปแบบไลฟ์สไตล์การหย่อนใจช่วงค่ำคืนที่เฟื่องฟูขึ้น พวกร้านลับเหล่านี้จึงมีบริการที่หลากหลายมาก จากบริการจัดเลี้ยงที่บ้านที่ออกแบบอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุภาพสตรีโดยเฉพาะ ไปจนถึงร้านอาหารอิตาเลียนที่เสิร์ฟอาหารและบริการไวน์เป็นการส่วนตัวให้กับสาวงาม หนึ่งในภาพสำคัญคือการที่พื้นที่กินดื่มลับๆ เหล่านี้มักจะมีห้องแต่งตัวหรือ powder room ห้องผัดหน้าที่ว่าคือคำสวยๆ ของห้องน้ำหญิง ส่วนหนึ่งสัมพันธ์ทั้งกับการแต่งกายและการแต่งหน้าของผู้หญิงที่ลดความเคร่งครัดลง ในพื้นที่หย่อนใจคือในพื้นที่กินดื่มลับจึงมีห้องบริการทั้งสำหรับเติมหน้าดูผม และที่สำคัญคือเป็นสุขาที่แยกเป็นพื้นที่เฉพาะในพื้นที่กินดื่มที่เคยมีแต่ห้องน้ำชาย
พื้นที่ร้านลับเหล่านี้ไม่ได้มีภาพสยดสยองหรือนอกกฎหมาย ส่วนใหญ่มองว่าเป็นพื้นที่ของรสนิยม เป็นพื้นที่ของความเป็นอิสระ หลายที่เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างทั้งภาพที่ชายหญิงพบปะ ไปจนถึงการเริ่มปะปนกันในหลายระดับ พื้นที่นอกกฎหมายเหล่านี้จึงแทบจะพ้นจากทุกกฎเกณฑ์ พื้นที่สำคัญๆ เช่นแจ๊สบาร์ที่เล่นดนตรีแจ๊สที่ผิดกฎหมาย ในสมัยนั้นเหล่าหนุ่มสาวที่แม้จะเป็นคนผิวขาวก็สวมชุดหรูหรา คลุมขนมิงค์ และสร้อยมุก เพื่อเดินทางไปยังย่านฮาเรมเพื่อสนุกไปกับการดื่มและดนตรีในดินแดนของคนผิวดำ
บางพื้นที่ของนิวยอร์กร้านลับเหล่านี้เป็นพื้นที่ของเหล่าคนดัง เริ่มเกิดวัฒนธรรมเซเลบ ร้านเหล่านี้เป็นที่รวมของคนที่บางครั้งเรียกตัวเองว่าเป็น gintellecia มีนักคิด นักเขียน เริ่มเกิดคอลัมน์ซุบซิบและข่าวตำรวจบุกบาร์และมีคนดังของเมืองอยู่ในพื้นที่ ในช่วงนั้นคติของการกินดื่มเปลี่ยนไปและทำให้เห็นบรรยากาศรวมๆ จากการกินดื่มแบบก่อนคือ wine, woman and song ไปสู่ gins, janes and jazz
ตรงนี้เองเราจะเห็นว่าประเด็นเรื่องสิทธิสตรี บรรยากาศของวัฒนธรรมความบันเทิงที่ตัดเข้าหากันทั้งการดื่ม ดนตรี และแนวคิดเสรีที่เติบโตขึ้นในพื้นที่ลับเหล่านี้กำลังเฟื่องฟูและก่อร่างเป็นรากฐานของวัฒนธรรมในปัจจุบันทั้งบาร์ โรงเต้นรำ การชงเหล้า ในพื้นที่ลับๆ ที่ผู้คนมาหย่อนใจกันในขณะนั้นมีอีกจุดตัดที่ถูกพูดถึงคือการมาถึงของรถยนต์
รถยนต์และพื้นที่บาร์ลับร้านลับนี้กลายเป็นอีกเงื่อนไขของวิถีสมัยใหม่ของหนุ่มสาว คือในสมัยก่อนผู้ชายและผู้หญิงไม่พึงใช้เวลาร่วมกัน การเดินไปด้วยกันหรือกระทั่งผู้หญิงที่เดินตามลำพังจะถูกเพ่งเล็ง การมาถึงของรถยนต์ทำให้รูปแบบการจีบกันสะดวกจากสายตาผู้คนได้ง่ายขึ้น ด้วยผับ บาร์ลับ ไนต์คลับที่เฟื่องฟูขึ้นในยามราตรี ในทศวรรษ 1920 เป็นห้วงเวลาแห่งความหวือหวาฉูดฉาด กิจกรรมใหม่ของหนุ่มสาวที่เกิดในยุคนั้นคือการไปเดต คือการที่หนุ่มสาวเลือกและลอบพบปะสานสัมพันธ์กันโดยลับสายตาจากพ่อแม่
สำหรับประวัติศาสตร์อันยาวนาน ระยะเวลาการแบนแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ในที่สุดก็สิ้นสุดลง ส่วนหนึ่งการต่อต้านแอลกอฮอล์ถดถอยและจบสิ้นลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (the Great Depression) ในช่วงปลายทศวรรษ 1920 ในที่สุดการแบนเหล้าถูกยกเลิกไปในปี 1933 หลังจากยกเลิกแล้วร้านเหล้าลับนอกกฎหมายก็ค่อยๆ หายไป แต่พื้นที่การกินดื่ม ลานเต้นรำ บาร์แจ๊ส วัฒนธรรมค็อกเทล และการไปเดตก็ยังคงดำรงอยู่ในฐานะวิถีชีวิตสมัยใหม่
อันที่จริงบรรยากาศของการกินดื่มในยุคต้องห้ามนับเป็นเสน่ห์และรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมเช่นค็อกเทลบาร์ ไปจนถึงบาร์ลับทั้งเพื่อการเต้นรำและฟังดนตรีในหลายรูปแบบ ในช่วงปี 1980 ที่อเมริกาก็มีกระแสเปิดบาร์ลับในตีม speakeasy เป็นการเปิดร้านที่เน้นค็อกเทลที่ปรุงขึ้นพิเศษในดินแดนที่เราต้องเสาะหาทางเข้ากระทั่งพูดภาษาอย่างเฉพาะเจาะจง บาร์เหล่านี้จะเสิร์ฟค็อกเทลคุณภาพสูง เหล้าประเภทต่างๆ ที่อาจนำไปบ่มกับส่วนผสมพิเศษ การรวบรวมยิน รัม หรือเหล้าใดๆ จากทั่วโลกเข้าผสมผสานกับไซรัปหรือวัตถุดิบที่เหนือจินตนาการไปจนถึงบาร์ที่ตั้งใจเสิร์ฟเฉพาะค็อกเทลคลาสสิกจากยุคต้องห้าม
ในยุคก่อนและหลังโควิดเป็นต้นมา ด้วยการสื่อสารผ่านออนไลน์ ความที่เราอยากได้ความรู้สึกพิเศษๆ เราจึงเริ่มเห็นร้านในนามบาร์ลับ ร้านลับที่เราอาจจะต้องผลักชั้นหนังสือ เดินขึ้นบันไดอันแปลกประหลาด หรือยกหูตู้โทรศัพท์เพื่อขอทางเข้าไปในร้านต่อไป
การห้ามและการแบนนับเป็นกระบวนการที่มักให้ผลอย่างประหลาด กรณีของอเมริกาการแบนเหล้ากลับกลายเป็นความเฟื่องฟู ในภาพรวมอาจมีงานวิจัยชี้ว่าอัตราการบริโภคแอลกอฮอล์ลดลงในช่วงที่มีการแบน นอกจากนี้ในวัฒนธรรมใหม่ที่ดูฉูดฉาดจากการดื่มเหล้ากันในพื้นที่ลับ พื้นที่บันเทิงยามค่ำคืนและที่ลับๆ เป็นรากฐานของอาชญกรรมในระดับเมือง เช่น ย่านราตรี การมีแก๊งมาเฟียไปจนถึงธุรกิจมืดอื่นๆ
นอกจากผลทางสังคม ประเด็นการแบนเหล้าชะงักอย่างที่สุดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การทำให้การกินดื่มกลายเป็นเรื่องต้องห้ามทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล เม็ดเงินอันเป็นกิจกรรมธรรมดาออกไปอยู่นอกระบบและนอกสายตาของรัฐ
ที่สำคัญคือการแบนกลับวางรากฐานวัฒนธรรมการกินดื่มและสันทนาการที่กลายเป็นตัวตนสำคัญของวัฒนธรรมอเมริกันร่วมสมัย วัฒนธรรมที่เราเองก็มีร้านลับ บาร์ค็อกเทลที่รับมรดกจากทศวรรษที่คนต้องกระซิบเพื่อสั่งเหล้าสักแก้ว เสี่ยงกับอาการตาบอดจากการกินเหล้าปลอมจิบเหล้าที่ปรุงรสด้วยหนูตาย ไปจนถึงพื้นที่หรูหราที่อาบไปด้วยแสงวิบวับ สาวงาม และดนตรีของคนผิวดำ
อ้างอิง
- theconversation.com/the-prohibition-era-origins-of-the-modern-craft-cocktail-movement-109623
- artdeco.org/cocktail-culture
- coloradoencyclopedia.org/article/women-during-prohibition
- differencebetween.info/difference-between-moonshiners-and-bootleggers
- britannica.com/topic/speakeasy
- nymag.com/nightlife/features/65625
- nancyfriedman.typepad.com/away_with_words/2010/12/how-prohibition-changed-branding-and-language.html
- prohibition.themobmuseum.org/the-history/the-prohibition-underworld/the-speakeasies-of-the-1920s