WAY-T

‘WAY-T Creation’ ธุรกิจ artist management และความฝันสุดท้ายในชีวิต นิค วิเชียร

ก่อนสัมภาษณ์ ตอนเราเล่าให้ใครฟังว่าจะได้คุยกับ นิค–วิเชียร ฤกษ์ไพศาล มีบางคนบอกว่าเรากำลังจะได้คุยกับหนึ่งใน ‘ตำนาน’

หากพิจารณาจากเครดิตผลงาน ทั้งการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มละครเร่ ‘มะขามป้อม’ เป็นครีเอทีฟควบพิธีกรรายการทีวีในเครือแกรมมี่ เป็นนักเขียนหนังสือ ‘ร็อค-ฐ-ศาสตร์’ เล่าเรื่องการบริหารผ่านศาสตร์เพลงร็อก รวมถึงบทบาทสำคัญคือผู้ก่อตั้ง genie records ค่ายเพลงขวัญใจใครหลายคน ได้บริหารและปลุกปั้นวงดังๆ หลายวงมากว่า 20 ปี 

ไล่เรียงมาเท่านี้ ตำแหน่งตำนานที่หลายคนยกให้ ก็คงพูดได้แบบไม่ขัดเขิน

“เรารำคาญมากนะกับตำแหน่งนี้” เขาบอกในวันที่เราเจอกัน “เพราะเรายังไม่ตาย เราคิดว่าคำนั้นมันเอาไว้พูดกับคนที่จบไปแล้ว แต่เราอยากเป็นปัจจุบันตลอดเวลา และทำตัวให้มีประโยชน์”

เพราะมีธงผืนนี้ปักไว้ในใจ ในวัย 64 วิเชียรจึงเลือกเดินออกมาจากค่ายใหญ่มาเปิด WAY-T Creation บริษัท artist management ของตัวเองเพื่อช่วยซัพพอร์ตคนที่มีฝันอยากเป็นศิลปินให้ได้ฉายแสงในวงการเพลงไทย ในสโคปงานกว้างๆ แต่ครอบคลุมว่า ‘ทำทุกอย่างแบบครบวงจร’

โปรเจกต์นำร่องของ WAY-T คือ The Way Artist Intern Camp แคมป์สานฝันศิลปินรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ วัยมัธยมได้ออดิชั่นเข้ามาเรียนรู้สกิลต่างๆ จากศิลปินรุ่นพี่ตัวท็อปของวงการ ทั้งโอม Cocktail, จ๋าย ไททศมิตร, แว่นใหญ่, แพท Klear และโอ๋ ดูบาดู โดย 8 วงที่ถูกคัดเลือกจะได้ทำเพลงของตัวเองด้วย

อะไรทำให้ชายวัย 64 ยังอยากผลักดันโปรเจกต์นี้ คือคำถามที่พาให้เรามาเจอ ‘พี่นิค’ ของน้องๆ ที่ออฟฟิศบนตึก True Coffee ใจกลางสยามสแควร์

ท่ามกลางเสียงเจ๊าะแจ๊ะของวัยรุ่นในย่าน คลอไปกับเสียงดนตรีบนเวทีที่ตั้งอยู่ไกลๆ บทสนทนาว่าด้วยธุรกิจ การผลักดันคนรุ่นใหม่ และอนาคตของวงการเพลงไทยของเราเริ่มต้นขึ้นตรงนั้น

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าก่อนจะออกจาก genie records ผู้ใหญ่ในค่ายเตรียมจะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นรองประธานบริษัท ทำไมถึงเลือกเดินออกมา

เรารู้สึกว่ามันมี 2 นัยอยู่ในนั้น หนึ่งคือเขาหวังดี อยากให้เราพักผ่อน ในทางกลับกัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องหยุดแล้วเหรอ เพราะมันแปลว่าเราต้องยุติบทบาทของการเป็นผู้สร้าง คนทำ ถอยออกมาเป็นที่ปรึกษามากกว่า ซึ่งเราเคยลองเป็นที่ปรึกษาแล้วรู้สึกว่ามันไม่สนุก เพราะเวลาให้คำปรึกษา สิ่งที่อีกฝ่ายจะเลือกคือทำหรือไม่ทำ และถ้าเขาไม่ทำเราก็​ suffer (ทุกข์) ว่าความคิดเราไม่ถูก implement (นำไปใช้)

ด้วยอายุของเราเขาคงอยากให้เราเกษียณด้วย แต่ธรรมชาติของเราเป็นคนที่ต้องเป็นแม่ทัพน่ะ ต้องอยู่ในสนามรบ เราก็อยากใช้โอกาสนี้ move on มาลุยต่อ

ไม่อยากพักบ้างเหรอ อะไรทำให้ยังอยากลุยอยู่ในวัยนี้

เอาจริงๆ เราไม่รู้สึกว่าเราอยู่ในวัยไหน อายุเท่าไหร่เลย จะอึดอัดกับช่วงวัยเพราะอ้วนขึ้นบ้างอะไรบ้าง แต่เรายังเหมือนเดิม อย่างน้อยก็อีกหลายปี เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็แค่ทำงานของเราเท่าที่กำลังจะไหว 

สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำงานที่ genie records แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจใหม่คืออะไร

ตลอดเวลาที่ดูแล genie records เป็นการทำงานบนการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตั้งแต่ Day 1 เพราะเปิดค่ายมาก็เจอ MP3 เลย ตอนนั้นทำอัลบั้มประเทือง ของไท ธนาวุฒิ ประสบความสำเร็จมาก แต่อัลบั้มถูกเอาไปก๊อบปี้เป็นแผ่น MP3 เหมือนเขาเอาความสำเร็จเราไปหากิน

ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่สวิง อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกและการ disrupt มันไม่สเถียร ทำให้เราต้องคิดปรับปรุงกระบวนการเสมอ ตรงนี้ทำให้เราคิดตลอดว่าอนาคตของมันจะเป็นยังไง

ในวันที่ genie ขึ้นถึงจุดสูงสุด เราคิดจุดที่ไปต่อไม่ออก คือ genie อายุจะครบรอบ 20 ปีแล้ว อายุมากพอสมควร ศิลปินเจนฯ ใหม่ก็อาจจะไม่ค่อยเข้ามาที่ค่ายแล้ว เพราะศิลปินของ genie ดูเป็นตัวใหญ่ๆ หมด ตอนนั้นก็คิดถึง 2 ทาง ทางแรกคือการเปิดค่ายใหม่เพื่อไปดักศิลปินเจนฯ ใหม่เหล่านั้น คุยกับโอมวง Cocktail (ปัณฑพล ประสารราชกิจ) แล้วก็ได้เปิด gene lab ในปี 2018 นั่นคือแผนสำรองเพื่อต่ออายุค่าย

อีกทางหนึ่งเป็นแผนระยะยาว เราไม่ได้คิดเพื่อค่ายแล้ว แต่มองข้ามไปที่วงการเพลงว่ามันจะไปต่อยังไง 

ในฐานะคนที่อยู่กับวงการมาชั่วชีวิต เราคิดไปไอเดียของ business model ในยุคหน้าว่าควรจะเป็นยังไง เพราะวัฒนธรรมของวงการเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับโซเชียลมีเดียและการสตรีมมิง วันนี้มันไม่ใช่การทำเพลงที่ขายเพลง แต่ทำเพลงเพื่อขายเป็นสื่อ เป็นกิจกรรม เป็น showbiz เป็นอะไรก็ตามแล้วแต่จะต่อยอด เพราะฉะนั้นธุรกิจเพลงจะใช้วิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว 

นั่นคือเหตุผลที่เราคิดโปรเจกต์ WAY-T Creation ขึ้นมา เพราะมองว่าถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ศิลปินทุกคนต้องการคือโอกาส เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำธุรกิจที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ตลอดเวลา มันน่าจะรันได้

อะไรจุดประกายไอเดียนี้

ตอนปี 2557 เราเคยออกหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ร็อค-ฐ-ศาสตร์ ทำให้เราถูกดูดเข้าไปในแวดวงของคนเรียนหลักสูตรผู้บริหาร เพราะหนุ่มเมืองจันท์อ่านหนังสือเรา แล้วชวนเราไปเป็นสปีกเกอร์ในหลักสูตร ABC ที่หนุ่มเมืองจันท์กับโจ้ ธนา (เธียรอัจฉริยะ) จัดร่วมกัน

การถูกเชิญไปพูดทำให้เราได้เจอคนนอกวงการเพลงและนักธุรกิจมากมาย ยิ่งไปกว่านั้นคือถูกเชิญไปเรียนคลาสนั้นด้วย เราได้โอกาสไปเรียนรู้ หลายคลาสที่ดีๆ ช่วยเปิดกบาล มีคลาสหนึ่งเป็นเรื่องสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้เราได้รู้จักเรื่องราวของธุรกิจยุคใหม่ว่า เฮ้ย มันมีธุรกิจที่เราสามารถทำโดยใช้เงินทุนคนอื่นได้ เราคิดโปรเจกต์แล้วเอาไปพิตชิ่งได้ ขายให้นักลงทุนได้ว่าธุรกิจเราแก้ pain point ที่มีอยู่ยังไง แล้วในที่สุด WAY-T ก็เกิดขึ้น 

ถ้าให้นิยาม WAY-T Creation เป็นธุรกิจแบบไหน

WAY-T พ้องเสียงกับคำว่าเวทีในภาษาไทย นัยหนึ่งมันหมายถึงสเตจและแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกัน Way แปลว่าทาง และ T มาจากคำว่า tee off ศัพท์ในกีฬากอล์ฟที่แปลว่าจุดเริ่มต้น เมื่อมารวมกันมันหมายถึงแพลตฟอร์มที่เป็นการเริ่มต้นของคนที่อยากเดินในถนนสายดนตรี เราอยากดูแลและบริหารจัดการตรงนี้ เป็น artist management เพราะมองว่ามีงานอีกหลายอย่างที่ศิลปินทั้งหลายทำไม่ไหว

ซึ่งจริงๆ แล้ว เราได้ซ้อมกับที่ genie มาในระดับหนึ่ง เพราะวิธีทำงานของเรามันจะเป็นการ management มากกว่า dominate (ครอบงำ) เราเชื่อว่าศิลปินทุกคนมีความอิสระ เราแค่ต้องอำนวยความสะดวกเรื่อง infrastructure (ระบบการทำงาน) และ funding (ทุน) ให้เขา WAY-T ก็เจริญรอยตามการทำงานนั้น แต่ครั้งนี้จะอิสระขึ้นเพราะเป็นบริษัทของเราเอง 

pain point ที่คุณมองเห็นในวงการเพลงไทยคืออะไร

เราเห็นว่าสลักของวงการเพลงอยู่ตรงไหน ทำไมวงการเพลงนี้ถึงมีแค่ป๊อป ร็อก รูปแบบไม่ได้หลากหลายไปกว่านั้น เพราะว่าเรื่องธุรกิจและการทำมาหากินมันค้ำคออยู่ มีคนเก่งๆ เท่ๆ เยอะมากแต่ไม่ได้เงิน วงการเพลงไม่แตกแขนง นี่คือ pain point แรกที่มองเห็น

วงการเพลงควรจะมีเพลงหลายๆ แบบ เพราะมันจะเปิดโอกาสให้ทั้งคนฟังและศิลปินเอง ในแง่ศิลปินเองก็มี pain point หลายเรื่อง อย่างเรื่องเงื่อนไขสัญญา ศิลปินบางคนในบางค่ายถูกเงื่อนไขบางอย่างของสัญญาทำให้เขาทำนู่นทำนี่ไม่ได้ บางคนแต่งเพลงแต่ร้องเพลงตัวเองไม่ได้ มันจะมีเรื่องราวแบบนี้เยอะพอสมควร 

แล้ว Way-T จะแก้ pain point เหล่านี้ได้อย่างไร

เราคงไม่สามารถแก้ได้ทุกจุด แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เราเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาและผลักดันวงการเพลงให้ดีกว่าที่คุณทำกันเอง อย่างน้อยเราก็มีประสบการณ์มายาวนาน ต่อเนื่อง มีองค์ความรู้ เราแค่ประกาศออกไปว่าเรามีอยู่นี่แหละ ถ้าคุณคิดว่าเรามีประโยชน์และมีรสนิยมพ้องกับเราก็มาทำงานร่วมกัน

จริงๆ แล้วอะไรที่มีอยู่ในวงการเพลง ตรงไหนเราทำได้เราก็ทำหมด แต่เน้นเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่น่าสนับสนุนมากที่สุด เพราะเราคิดว่ามีคนกลุ่มเบ้อเริ่มเลยที่ต้องการการเริ่มต้นแต่ขาดโอกาสและการชี้นำ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะได้มัน เพราะบางทีโอกาสมีแขวนไว้อยู่แล้ว เขาต้องเป็นคนไขว่คว้าเอง 

สมมติศิลปินเอางานมาให้เราฟัง เราก็ถามต่อว่าอยากได้อะไร ถ้าสิ่งที่เขาอยากได้กับสิ่งที่เขาทำอยู่มันไม่เกื้อหนุนกัน เราก็จะบอกเขาในสิ่งที่ไม่เคยมีใครบอก คนบางคนเขียนเพลงมาทั้งปี เขาหลงรักมัน แต่พอหยิบให้อีกคนฟังก็ได้ฟีดแบ็กว่า “เหรอ แล้วยังไง” เรื่องนี้เป็นไปได้ถูกไหม สำคัญว่าพอมีคนบอกมาบอกอย่างนี้แล้วเขาพร้อมจะแก้ไขมันไหม

หนึ่งในโปรเจกต์ย่อยของ Way-T คือ The Way แคมป์ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นได้มาเรียนรู้กับศิลปินตัวจริง การเรียนรู้ในค่ายนี้ต่างจากการปั้นศิลปินในค่ายเพลงปกติยังไง

ถ้าอยู่ในค่าย ทุกคนที่เข้ามาเป็นศิลปินแล้ว แต่ในแคมป์นี้เรากำลังพูดกับคนที่ยังไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นจึงมีอีกหลายเรื่องที่เขายังไม่รู้ โดยยึด core คือการทำเพลงและ performance

ทำไมเพลงคุณไม่น่าฟัง ทำไมคุณเล่นแล้วคนไม่สนใจเลย คำถามเหล่านี้ก็จะมีกูรู มีคนที่เขาเก่งมาคอยแนะนำวิธีแก้ไข การวางวง บล็อกกิ้งการยืนบนเวที คุณจะมูฟไปทางไหนโชว์มันถึงจะสนุก พูดยังไงให้คนสนใจ มันมีวิธีที่จะโค้ชเขา 

นอกจากเรื่องหลักๆ ก็จะมีเรื่องธุรกิจเพลง ทั้งการทำแบรนด์ดิ้งตัวตน การดูแลตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมีอยู่ ChatGPT จะช่วยคุณแต่งเนื้อได้ไหม รู้จักการใช้ดาต้า สิ่งเหล่านี้เราไม่ปิดกั้นเลย 

คนที่มาแคมป์นี้คาดหวังอะไรได้บ้างหลังจากเรียนจบ

หวังว่าจะต้องกลายเป็นศิลปินให้ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจไม่ได้ในเร็ววันแต่คุณจะอยู่ในเส้นทางแล้ว ไม่เลี้ยวไปทางอื่น ศิลปินกับนักดนตรีก็ไม่เหมือนกันแล้วนะ  นักดนตรีไปเล่นตามโรงเรียน เล่นแล้วมีคนฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่ศิลปินคือเล่นเพื่อคอนเสิร์ต เล่นเพื่อคนดูที่ตั้งใจฟัง

นิยามคำว่าศิลปินมืออาชีพของคุณเป็นยังไง

ศิลปินมีความชัดเจนในตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว แต่คำว่ามืออาชีพมัน beyond ไปมากกว่านั้น ศิลปินคือคนที่มีอารมณ์สร้างงานศิลปะ แต่บางทีฟุ้ง ไม่ได้ถูกคอนโทรล บางทีขาดความรับผิดชอบ บางทีอารมณ์เสียเขวี้ยงไมค์ตึงตัง ทีมงานดูแลอย่างดีก็ไปวีนไปเหวี่ยงเขา อย่างนี้เรียกว่าไม่มืออาชีพ ถามว่าเป็นศิลปินไหม เป็น แต่ก็อาจจะโดนวิจารณ์ได้ว่าศิลปินคนนี้แม่งไม่น่าทำงานด้วยเลย

พี่เต๋อ (เรวัต พุฒินันทน์) แกเคยสอนเราไว้ว่านิยามสั้นๆ ของศิลปินมืออาชีพคือคนที่ทำงานเสร็จตรงเวลาและมีคุณภาพ นัด 7 โมงก็มา 7 โมง มาก่อนด้วย นี่แค่คุณสมบัติข้อหนึ่งนะ เราว่าความเป็นมืออาชีพมันมีคำว่า responsibility เยอะ ต้อง active รับผิดชอบ และมีวิธิคิดที่เป็นบวก มองเป้าหมายเป็นหลัก

เอาจริงๆ ในชีวิตเราเจอคนที่เป็นมืออาชีพไม่ค่อยเยอะหรอก แต่เขาก็พยายาม คำว่ามืออาชีพต้องอดทนอดกลั้น ไม่ใช้อารมณ์เป็นหลัก นี่แหละคือความแตกต่างระหว่างศิลปินกับมืออาชีพที่เราพยายามโค้ชชิ่งให้เด็กๆ เข้าใจ

ในยุคที่ทุกคนทำเพลงได้ ค่ายเพลงยังสำคัญอยู่ไหม

มี แต่อยู่ที่คุณได้ทำให้มันสำคัญจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือการอำนวยความสะดวกอีกต่อไป แต่ศิลปินทุกคนมองหาอะไรล่ะ ความสำเร็จถูกไหม เพราะฉะนั้นคำว่าค่ายอาจจะถูกปรับรูปแบบ และมีวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป อาจจะเหลือเป็นค่ายเล็กๆ แล้วบทบาทอำนวยความสะดวกอาจจะถูกรวมศูนย์อยู่กับบริษัท artist management อย่างของเราก็ได้

ค่ายใหญ่ๆ ทุกวันนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะใหญ่ได้จริง เพราะมันโดน direct  ด้วยความเป็น artist independent (อิสระของศิลปิน) ศิลปินเองก็อยากมีพื้นที่ของตัวเอง เราก็เพียงแต่บาลานซ์ให้ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้นมันไม่มี one for all อยู่แล้ว มันต้องครีเอตวิธีทำงานร่วมกัน อย่าง Way-T เอง ถ้าศิลปินเห็นว่าเรามีประโยชน์สำหรับเขาไม่ว่าด้านไหนก็ได้ เราก็สามารถตกลงมาทำงานด้วยกันได้

จากที่เคยทำงานร่วมกับศิลปินมาแล้วหลายคน จุดร่วมของศิลปินในยุคนี้ที่คุณมองเห็นคืออะไร

ศิลปินทุกคนอยากนำเสนอตัวตนและผลงานออกมาให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดนะครับ คำว่าอินดี้คือคำที่ใช้แก้เก้อ เพราะไม่มีศิลปินอินดี้คนไหนอยากเล่นดนตรีแล้วมีคนฟังน้อยๆ หรอก คำว่าอินดี้คือเกราะป้องกันตัวเองว่าเขาอยากมีอิสระทางความคิด แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องเข้าถึงคนได้แค่นิดเดียว นึกออกไหม น้องบางคนอาจเข้าใจผิดเพราะคนไปตีความอินดี้แปลว่าไม่ป๊อป ซึ่งไม่จริง อินดี้ก็ป๊อปได้ ถ้าทำเพลงอินดี้แล้วฟังกันเอง ตรงนี้มันก็ไม่เกิดผลสำเร็จอยู่แล้ว 

ที่สุดแล้วดนตรีสร้างมาเพื่อคนหมู่มาก มากที่สุดเท่าที่จะมากไหว ไม่ต้องทั้งประเทศหรือทั้งโลก แต่มากในกลุ่มที่มีรสนิยมเดียวกันก็ยังดี สมมติคุณทำแจ๊ส คุณสามารถดึงดูดคนฟังแจ๊สได้หมดพอจะรันธุรกิจ มีแฟนฮาร์ดคอสัก 2,000-3,000 คน วงแจ๊สของคุณก็เกิดได้ มันอาจจะไม่รวยมากนะ แต่คุณสามารถทำสิ่งที่คุณรักและสร้างแนวทางของคุณได้ โดยที่ไม่ต้องฝืนใจไปทำอย่างอื่น

The Way คือโปรเจกต์หนึ่งของ Way-T แล้วในระยะยาว คุณมองอนาคตของธุรกิจไว้ยังไง

ถ้าอนาคตระยะสั้น เราอยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว มีศิลปินในการดูแล ให้เขาได้มีเพลง มีงาน มีกิจกรรมต่อเนื่อง อนาคตเราก็อยากให้เป็นบริษัทหนึ่งที่อยู่ในวงการเพลงที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุน และในอนาคตอันไกลโพ้น เรามีคำว่า global อยู่แล้ว เราอยากผลักดันศิลปินไทยสู่สากลแบบสากลจริงๆ เป็นที่ยอมรับในเมืองนอก ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมามันก็มีบ้างแล้วนะ แต่มันไม่ได้ตั้งเป็นเป้าหมายหลักแต่ทำเป็นงานงานหนึ่งมากกว่า

จริงๆ โกอินเตอร์เนี่ยพยายามทำมาตั้งแต่สมัยแกรมมี่แล้ว แต่มันยาก เพราะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน พูดตรงๆ ว่ามันต้องอยู่ในวาระแห่งชาติ ประเทศไทยต้องส่งออกวัฒนธรรมถึงจะมีโอกาส เหมือนอย่างเกาหลีที่เขาทำจนสำเร็จแล้ว

มายด์เซตแบบไหนที่จะช่วยผลักดันศิลปินไทยให้ไปสู่ระดับโลกได้

ทำงานหนัก เราต้องเข้มข้นกับมัน มันต้องสักไว้ที่หน้าผากเลยว่า global ถนนทุกสายต้องรู้ว่าปลายทางคือตรงนี้ ศิลปินต้องมองว่าเงื่อนไขสู่ global ก็ต้องมี international look (ลุคอินเตอร์) หรือสกิลที่อินเตอร์ ภาษาก็ต้องได้ด้วย ในขณะเดียวกัน คุณภาพของศิลปิน เพลง เครือข่ายที่สนับสนุน คอนเนกชั่น เงินทุน หรือแม้แต่คนที่พร้อมจะซัพพอร์ตก็ต้องมี เพราะฉะนั้นถามว่าอยู่ดีๆ พวกนี้จะลอยมาเหรอ ไม่ มันต้องมาจากการทำงานหนักอยู่แล้ว

การได้ทำ WAY-T มีความหมายกับตัวคุณยังไง

WAY-T เป็นมิชชั่นหนึ่งและอาจเป็นมิชชั่นสุดท้ายในชีวิตเลยก็ได้ มันเป็นโซนสุดท้ายที่เราอยากเข็นให้สำเร็จ ใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตมาทุ่มเทเต็มที่ ถึงแม้เราจะมองไม่เห็นวงการเพลงชัดมากว่าจะไปทางไหน แต่ต้องบอกว่าไม่มีใครเห็นวงการนี้ชัดมากหรอก แต่สิ่งที่ชัดคือเราเชื่อมั่นในเพลง เพราะทุกคนฟังเพลงหมด เพราะฉะนั้นในเมื่อเพลงยังเป็นหนึ่งปัจจัยที่หล่อเลี้ยงคน มีความหมายและมีความสำคัญกับคน เรามีหน้าที่แปรมันออกมาให้เป็นธุรกิจ เป็นเงินทอง เราอาจไม่ต้องรวยมากก็ได้ แต่ขอให้คนทำงานอยู่ได้ ธุรกิจเดินได้  เอาจริงๆ เราก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว แต่ที่มาทำตรงนี้เพราะมันน่าจะเป็นฝันท้ายๆ ในชีวิตเราแล้ว เราก็อยากทำให้มันดีที่สุด

อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องจบชีวิตแบบเป็นอดีต แค่นั้นเอง ถึงวันนี้จะถูกคนเรียกเยอะแยะว่าเป็นตำนงตำนาน ซึ่งเรารำคาญมากนะกับตำแหน่งนี้ เพราะเรายังไม่ตาย (ยิ้ม) เราคิดว่าคำนั้นมันเอาไว้พูดกับคนที่จบไปแล้ว แต่เราอยากเป็นปัจจุบันตลอดเวลา และทำตัวให้มีประโยชน์

เป้าหมายในวันนี้ของคุณคืออะไร

ธุรกิจเสถียรและมั่นคง ไม่ต้องมั่งคั่งก็ได้ แต่ความมั่นคงสำคัญกว่า การทำธุรกิจเหมือนการล่องเรือ แน่นอนทะเลแม่งต้องมีคลื่นลมอยู่แล้ว เรารู้ว่าอุปสรรคมันเยอะแต่ก็จะล่องไปท่ามกลางพายุนี่แหละ แต่ขออย่าให้พายุพัดแรงเกิน เดี๋ยวตาย (หัวเราะ) ก็พยายามจะสู้ไปเรื่อยๆ โดยที่เรือไม่ล่ม เราหวังแค่นั้น

สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ง่ายหรอก ไม่ค่อยมีใครสนุก แต่บางทีถ้ามันง่ายมันก็มีคนทำสำเร็จไปเยอะแล้ว ตัวเราเองก็มีอดีตมาค้ำคออยู่ว่าเคยทำสำเร็จมาแล้ว แล้วครั้งนี้จะยังไง ถ้าถามเรา เราจะบอกว่าช่างหัวมัน อันนี้แค่ได้เริ่มก็สำเร็จแล้ว

ติดตามโปรเจกต์ The Way Artist Intern Camp และโปรเจกต์อื่นๆ ของ WAY-T Creation ได้ทางโซเชียลมีเดีย

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

You Might Also Like