The Weekend
จุดเริ่มต้นของการทำงาน 5 วันมาจากไหน ประดิษฐกรรมสมัยใหม่ของวันทำงาน
หนึ่งวันคือการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์
หนึ่งเดือนคือระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก
หนึ่งปีคือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
ทุกวันนี้เรายึดถึงการนับวันในหนึ่งสัปดาห์ที่ 7 วัน และใน 7 วันนั้น เราเองก็กำหนดให้เป็นวันทำงานไป 5 วัน หยุด 2 วัน ยึดถือมาเป็นธรรมชาติหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เราปฏิบัติเหมือนเป็นสัจธรรม ทว่า ก่อนที่ 1 สัปดาห์จะมี 7 วัน อาณาจักรโบราณเช่นโรมันก็เคยแบ่งสัปดาห์โดยมีวันทั้งหมด 8 วัน
แนวคิดเรื่องสัปดาห์ เมื่อเทียบกับการแบ่งวันและช่วงเวลาต่างๆ ที่มักเชื่อมโยงกับท้องฟ้า ดวงดารา และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่อันที่จริงเป็นสิ่งที่กำหนดการใช้ชีวิตของเราอย่างยิ่งยวด กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้น อันที่จริง ที่มาของวันทั้งเจ็ดและการทำงาน 5 วันก็มีที่มาจากศาสนา นั่นคือคริสต์ศาสนาและชาวยิว
จากรากฐานความเชื่อทางศาสนามาจนถึงยุคอุตสาหกรรม การทำงานในยุคนั้นยังสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา จากการหยุดวันที่ไม่ตรงกันของยิวและคริสเตียน ในที่สุดประดิษฐกรรมที่เราเรียกกันว่าวันหยุด (weekend) นอกจากจะเป็นการแก้ไขความเชื่อที่ไม่ลงรอยกันในวัฒนธรรมการทำงานที่เริ่มที่อเมริกาแล้ว การแยกวันหยุดและวันทำงานออกจากกันยังนับเป็นนวัตกรรมสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพการทำงาน และทำให้การทำงานกลายเป็นศาสนาใหม่ของการใช้ชีวิตร่วมสมัย
ในบรรยากาศที่สังคมกำลังมองไปยังอนาคต ไปยังชีวิตที่ดี การทำงาน 5 วันก็นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมจากศตวรรษก่อนหน้า การทำงาน 5 วันเป็นสิ่งที่เริ่มถูกตั้งคำถามว่าเราทำงานน้อยกว่านี้ได้ไหม มีเวลาที่ใช้ไปกับการทำงานน้อยกว่านี้ได้ไหม ในทางกลับกัน บางช่วงของประวัติศาสตร์ที่การทำงาน 5 วันก่อตัว การทำงาน 5 วันอาจสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่ไม่ล้ำสมัยเพียงพอจนต้องใช้แรงมนุษย์ และมีการมองกันว่าในศตวรรษถัดไป มนุษย์ควรจะทำงานน้อยลงได้
และนี่คือที่มาที่ทั้งยืดยาวและแสนสั้น จากอิทธิพลของชาวสุเมเรียน การนับวันของคริสเตียนและวันหยุดศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ตรงวัน การหาวันหยุด ประกาศในโรงงานรถยนต์ของฟอร์ด กฎหมายคุ้มครองเวลาทำงานที่ลดจาก 40 ชั่วโมงเหลือ 32 ชั่วโมงโดยไม่ลดเงินเดือน จนถึงการทดลองปรับสู่ความฝันใหม่ของการทำงาน 4 วันที่กำลังทดลองอย่างแข็งขันทั่วโลก
ศาสนาของสัปดาห์และวันหยุดสุดสัปดาห์
ความสนุกของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน ฟังดูว่าน่าจะเป็นสัจธรรมทั่วไป แต่เมื่อปูทางมาว่าสัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน เป็นการกำหนดของมนุษย์ซึ่งก็เป็นมิติทางวัฒนธรรมล้วนๆ การนับให้ 1 สัปดาห์มี 7 วันก็ค่อนข้างมีที่มาอย่างเก่าแก่ ในยุคโบราณจะมีการนับสัปดาห์ที่ 7 หรือ 8 มองอย่างคร่าวๆ ยุโรปค่อนข้างใช้ระบบ 8 วัน เช่นกลุ่มเคลติก (Celt) อารยธรรมดั้งเดิมแถบอังกฤษหรืออาณาจักรโรมันเองก็นับสัปดาห์ด้วยระบบ 8 วัน
สำหรับระบบ 7 วันนักประวัติศาสตร์มักอ้างอิงไปที่อารยธรรมโบราณสำคัญคือชาวสุเมเรียน ในอาณาจักรบาบิโลนซึ่งค่อนข้างแผ่ขยายอยู่แถบตะวันออกกลาง การที่ยุโรปรับระบบ 7 วันก็มาจากการเปลี่ยนระบบนับสัปดาห์ของโรมัน ในสมัยโรมันที่ทางโรมันขยายอาณาจักรมาถึงตะวันออกกลาง นับยุคก็อยู่ที่ราวประมาณ 250 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) ในช่วงนี้เองที่โรมันรับเอาระบบ 1 สัปดาห์ 7 วันอย่างเป็นทางการ มีการให้วันอาทิตย์เป็นประธานและนับต่อโดยมีชื่อเทพเจ้าประจำดวงดาวที่มองเห็นด้วยตาเปล่าตามลำดับ
ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นแสนไกลของวันทั้ง 7 และวันหยุด คือในสมัยคอนสแตนตินนี้เองที่องค์จักรพรรดิรับคริสต์ศาสนา จากความเชื่อเดิมที่ให้วันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้น ก็เลยกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันแห่งการบูชาและเป็นวันสำหรับการหยุดพักผ่อนพร้อมกัน
จากรากฐานในสมัยคริสตกาล ทีนี้ในเรื่องเล่าของคริสต์คือพระเจ้าทรงใช้เวลา 7 วันในการสร้างโลก และทรงถือให้วันสุดท้ายคือวันอาทิตย์เป็นวันพัก ตรงนี้เชื่อกันว่าคริสต์ศาสนารับเอาวิธีคิดทั้งวิธีนับวันและการวางวันหยุดมาจากสมัยโรมันนี่แหละ แต่พอเรื่องเล่าและความเชื่อแบ่งออกเป็นสองทาง คือเล่าเหมือนกันแต่วันสลับกัน ชาวยิวให้วันพักและวันเข้าโบสถ์เป็นวันเสาร์ ส่วนคริสเตียนเป็นวันอาทิตย์
ทีนี้ถ้าเรามองย้อนไป แนวคิดเรื่องการทำงานในยุคก่อนอุตสาหกรรม งานกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน คือการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีการแยกวันหยุดเป็นกาลเฉพาะ แต่ผู้คนจะหยุดทำงานในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธื์ ทีนี้พอเราเดินทางมาถึงยุคอุตสาหกรรม หลักฐานเรื่องการให้วันหยุดสัมพันธ์กับความเชื่อในหลายขั้นตอน
แรกเริ่มสุด เราย้อนไปที่อังกฤษก่อนในฐานะประเทศที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดโรงงานและคนเข้าไปทำงานในโรงงาน ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีบันทึกว่าชาวอังกฤษที่ทำงานในโรงงาน จะหยุดในวันอาทิตย์ตามความเชื่อในพระคัมภีร์ คงด้วยว่างานโรงงานนั้นหนักหนา ในวันอาทิตย์ที่ได้หยุดพัก วันนั้นหนุ่มโรงงานก็จะเที่ยวเต็มที่ ทั้งดื่มกิน เล่นพนันจนเกิดอาการที่เรียกว่า ‘Saint Monday’ คืออาการโดดงานเพราะไปทำงานไม่ไหว ทีนี้โรงงานก็เลยมีการต่อรองว่างั้นจะให้วันหยุดเพิ่ม คือให้หยุดครึ่งวันของวันเสาร์และสัญญานะว่าจะมาทำงานวันจันทร์ได้ (คือให้ไปเละเย็นวันเสาร์แทน)
แนวคิดของฟอร์ด 40 ชั่วโมงและนวัตกรรมของการพักผ่อน
นับจากการให้หยุดครึ่งวันที่อังกฤษ การเริ่มต้นหยุดวันเสาร์ด้วยนั้นต้องย้ายมาที่อเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหม่ แต่ทว่าผู้อพยพที่มีอิทธิพลในยุคนั้นโดยเฉพาะในการกำหนดวันคือคริสเตียน มีการล็อบบี้จนได้ออกกฎหมายให้ไปรษณีย์และกิจการอื่นๆ หยุดในวันอาทิตย์ตามความเชื่อ
ทีนี้ในปี 1908 โรงสีในนิวอิงแลนด์ถือเป็นหมุดหมายของการได้เริ่มหยุดสองวัน คือที่โรงสีมีคนทำงานทั้งชาวยิวและชาวคริสต์ วิธีการของโรงสีในตอนนั้นคือให้ชาวยิวหยุดวันเสาร์แล้วมาทำงานชดเชยวันอาทิตย์ ในการนั้นเอง ชาวคริสต์ที่ถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แม้แต่พระเจ้ายังหยุดก็ไม่พอใจ โรงสีก็เลยให้ชาวยิวหยุดไปเลยสองวัน หลังจากนั้นโรงงานอื่นๆ ก็เลยทำตามเรื่อยมา
จากปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 การค่อยๆ เกิดวันหยุดนับว่ายาวนานและยากลำบาก โดยสถิติในช่วงทศวรรษ 1890 ตัวเลขการทำงานในโรงงานสามารถสูงได้ถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
จากทำงาน 100 ชั่วโมง ในที่สุดโลกอุตสาหกรรมก็เรียนรู้ถึงพลังของการลดชั่วโมงการทำงานลง จุดเริ่มของการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วันละ 8 ชั่วโมง 5 วัน มาจากเฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าพ่ออุตสาหกรรมยานยนต์และหนึ่งในผู้ปฏิวัติโลกสมัยใหม่ผ่านล้อและสายพานโรงงาน
เฮนรี่ ฟอร์ด เป็นผู้วางระบบการทำงานแบบสมัยใหม่ที่ยังส่งอิทธิพลมาในทุกวันนี้ คือการวางชั่วโมงการทำงานที่ให้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์พร้อมระบบการจ่ายค่าจ้างรายวันที่คิดเป็นชั่วโมง ยุคอุตสาหกรรมก่อนนี้เชื่อเรื่องประสิทธิภาพ การทำงานเต็มระบบ ทุ่มเวลาให้การทำงานเป็นแนวทางสำคัญ แต่โรงงานรถยนต์ของฟอร์ดที่เปิดในปี 1922 โรงงานรถยนต์นี้มาพร้อมนวัตกรรมระบบการทำงาน 40 ชั่วโมงพร้อมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จึงนับเป็นโมเดลทดลองที่ล้ำสมัยมาก
แน่นอนว่ากระแสของนายจ้างคือช็อก หนังสือพิมพ์ก็บอกว่าโรงงานของฟอร์ดเหมาะมากกับคนที่อยากจะลดเวลาการทำงานลง ทำนองว่าจะขี้เกียจกัน แต่ฟอร์ดเองชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานในชั่วโมงที่น้อยลงกลับได้ผลงาน (productivity) เท่าเดิม
อันที่จริงฟอร์ดเองยังไม่เชิงว่ามีแนวคิดเรื่องสุขภาวะหรือสวัสดิภาพของคนทำงานเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ฟอร์ดคิดเป็นนวัตกรรมของชีวิตสมัยใหม่อย่างลึกซึ้งผ่านการคิดแบบทุนนิยม คือฟอร์ดมองในฐานะผู้ผลิตว่า โลกการผลิตก็ต้องมีผู้ซื้อ การให้วันหยุดกับแรงงาน แรงงานก็จะไปใช้เวลาว่าง ไปพักผ่อน ต้องมีช่วงเวลาผ่อนคลายจากการทำงานเพื่อไปใช้เงิน โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ของเขาก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องไปในท้ายที่สุด ตรงนี้เองถือเป็นจุดเริ่มอย่างเป็นทางการของวันทำงานและวันหยุด ของวันหาเงินและวันใช้เงินที่กลายเป็นโลกสองใบ เป็นศาสนาใหม่ของชีวิตเราๆ ท่านๆ ที่หมุนเวียนของวันทั้งสองวนไป
อย่างไรก็ตาม โรงงานต่างๆ และกิจกรรมการทำงานในโลกสมัยใหม่รับเอาการทำงาน 5 วัน ส่วนเวลาทำงานก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป เช่นยุคหลังสงครามกลางเมือง มีแรงงานจากคนผิวดำเพิ่มขึ้น ก็เริ่มปรับให้ 8 ชั่วโมงเป็นมาตรฐาน หรือยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) รัฐก็ใช้นโยบายลดวันและเวลาทำงานลงเพื่อให้อัตราการว่างงานลดลง นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว การออกกฎหมายแรงงานเช่น Fair Labor Standards Act ในปี 1938 มีเนื้อหาแบนแรงงานเด็กรวมถึงเริ่มมีการวางกรอบการทำงานที่ 44 ชั่วโมง ถ้าเกินต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไปจนถึงการก่อตัวและการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน
เราทำงานมากไปไหม การทดลองของการทำงาน 4 วัน
ประเด็นเรื่องทำงาน 5 วันและวันหยุด จากจุดเริ่มในโรงงานของฟอร์ด ในตอนนั้นฟอร์ดทำให้เราเห็นว่าการลดเวลาทำงานลงอาจนำไปสู่ผลดีในมิติอื่นๆ อันที่จริงนักคิดในยุคนั้นมองเห็นว่าการทำงานคือการเป็นแรงงานในภาคการผลิตเป็นความจำเป็น การทำงานมากๆ เกิดจากเทคโนโลยีที่ยังไม่ดีพอ ในอนาคตถ้าวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้น มนุษย์ก็ควรเป็นอิสระจากการทำงาน ใช้เวลาไปกับการทำงานน้อยลง
ในปี 1928 ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ John Maynard Keynes เขียนไว้ว่าความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมจะทำให้เราลดเวลาการทำงานเหลือเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ภายใน 100 ปี หรือในปี 1965 คณะกรรมาธิการวุฒิสภา (Senate Subcommittee) ทำนายว่าชาวอเมริกันจะทำงานลดลงเหลือเพียง 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตรงนี้เลยน่าคิดว่า แรงงานและการทำงานในยุคหนึ่งทำจากข้อจำกัด ในยุคปัจจุบันเราเองกลับรู้สึกกลับกันคือเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนเราว่างงาน การไม่มีงานทำฟังดูเป็นเรื่องน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์การทำงานจากร้อยชั่วโมงเมื่อร้อยปีก่อน
จากการย้อนดูประวัติศาสตร์ อันที่จริงเวลาการทำงานค่อยๆ ถูกลดลง นักคิดมากมายต่างพูดถึงการเป็นอิสระจากการทำงาน การเปลี่ยนตัวเองจากเฟืองในโลกการผลิตสู่ความหมายของการมีชีวิตที่ไม่ใช่แค่การทำงานแล้วตายจากไป ในปี 1956 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) รองประธานาธิบดีในขณะนั้นให้คำมั่นกับอเมริกันชนว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นอนาคตที่อยู่ไม่ไกล และถ้าเราดูความเคลื่อนไหวในรอบสิบปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเกือบทุกที่ทั่วโลกได้ลงมือทดลองการทำงาน 4 วัน ลดการทำงานลงเหลือราว 32 ชั่วโมง รูปแบบการหยุดก็หยืดหยุ่นแล้วแต่ว่าจะหยุดวันศุกร์หรือวันพุธ ทว่าโดยรวมแล้วผลการทดสอบเป็นไปในเชิงบวก คนทำงานตึงเครียดน้อยลง ทำงานได้ผลดีขึ้น จัดสรรเวลาพักและทำงานได้ดีขึ้น
การทดลองทำงาน 4 วันค่อนข้างทำในหลายพื้นที่ทั่วโลก มีการทดลองจากในระดับบริษัทและค่อยๆ มีกลุ่มทดลองที่ใหญ่ขึ้น จากกลุ่มทดลองในไอซ์แลนด์ในปี 2015 และปี 2019 ผลการทดลองได้ผลอย่างน่าประทับใจ กลุ่มตัวอย่างเครียดน้อยลง เบิร์นเอาต์น้อยลง กลุ่มทดลองของไอซ์แลนด์ถือเป็นการทดลองขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มตัวอย่างร่วมสูงถึง 2,500 ราย บางส่วนมีการต่อรองลดเวลาการทำงานอย่างถาวรในเวลาต่อมา นอกจากนี้ในปี 2019 ไมโครซอฟต์เจแปนทดลองให้พนักงานหยุดโดยได้รายได้ปกติในวันศุกร์ รวมถึงลดเวลาการประชุมเหลือครึ่งชั่วโมงและลดจำนวนผู้ร่วมประชุมลง ผลพลอยได้ที่น่าสนใจคือต้นทุนการดำเนินการลดลงคือค่าไฟฟ้าลดลง 23% แต่ยอดขายต่อหัวของพนักงานเพิ่มขึ้น 40%
แนวคิดการปรับเรื่องการทำงานกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อวิถีการทำงานของเราเปลี่ยนไปในยุคโควิด-19 ในปี 2022 สหราชอาณาจักร มีความตื่นตัวเรื่องการทำงานยุคใหม่และชีวิตที่ดีในช่วงโรคระบาด ที่สหราชอาณาจักรมีการรวมตัวกันของภาคเอกชนกว่า 60 บริษัทจากแทบทุกกลุ่มธุรกิจและทุกขนาดกิจการ จากร้านอาหารเล็กๆ ถึงบริษัทใหญ่ ในการทดสอบการทำงาน 4 วันซึ่งก็คือการลดเวลาการทำงานลงเหลือ 80% โดยได้ค่าจ้างเท่าเดิม การทดสอบนี้ได้รับการบันทึกว่าเป็นการทดลองที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีคนทำงานร่วมโครงการมากถึง 3,300 คน
ผลการทดสอบในระยะเวลา 6 เดือน ในมุมของลูกจ้างรายงานผลเป็นที่น่าพึงพอใจ นอนหลับ ความเครียด สุขภาพใจ และชีวิตส่วนตัวดีขึ้น ข้อที่น่าสนใจคือภาพรวมผลกำไรหรือผลประกอบการของบริษัทและห้างร้านไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทั้งยังมีรายงานว่าในช่วงทดลองทำงานน้อยลงกลับมีผลประกอบการที่ดีขึ้นราว 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า รายงานตัวเลขการลาออกลดลง จากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมจนจบการทดสอบทั้งหมด 61 บริษัท มี 56 บริษัทจะดำเนินการให้การทำงาน 4 วันจากการทดสอบกลายเป็นนโยบายหลัก, 2 บริษัทเลือกจะยืดการทดลองออกไป มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ
สำหรับเราที่เกลียดวันจันทร์ รักวันศุกร์ ทำงาน เรียนหนังสือ 5 วัน หยุด 2 วันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก จินตนาการสู่โลกใหม่ที่ทำงานแค่ 4 วันก็อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ ที่อันที่จริงก็พอจะจินตนาการได้ไม่ยากนักและน่าจะดีกับชีวิต แน่นอนว่าอุดมคติใหม่เป็นเรื่องที่ต้องทดลอง การทำงาน 4 วันอาจจะไม่เหมาะกับบางกิจการ อาจกระทบกับบางพื้นที่การทำงานที่ทำงานหนัก ขาดแรงงาน
แต่ถ้าเรามองวัฒนธรรมการทำงานไม่ว่าจะเป็น 6 วันโดยมีเงื่อนไขการทำงานจากความเชื่อทางศาสนา การค่อยๆ ได้หยุดเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นข้อบังคับจำนวนชั่วโมงทำงานเพื่อให้เราในฐานะแรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเงื่อนไขและคำมั่นที่มนุษย์เราเชื่อว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้เราเป็นอิสระมากขึ้น ทำงานน้อยลง การย้อนดูอดีตที่นับว่าไม่ยาวนานนักเมื่อเทียบกับอารยธรรมของเราคือราวร้อยปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนจากการทำงาน 5 วันให้สั้นลง การหาทางให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ก็อาจจะเป็นอนาคตใหม่ที่ไม่ไกลจากวันนี้นัก
อ้างอิง
- britannica.com/science/week
- academia.edu/49161712/The_Origins_of_the_Seven_Day_Week
- nationalgeographic.com/history/article/american-workweek-history-explained
- theatlantic.com/business/archive/2014/08/where-the-five-day-workweek-came-from/378870
- firmspace.com/theproworker/from-strikes-to-labor-laws-how-the-us-adopted-the-5-day-workweek
- washingtonpost.com/wellness/2023/02/21/four-day-work-week-results-uk
- breathehr.com/en-gb/blog/topic/employee-performance/the-four-day-work-week-productive-or-pointless