วิกฤตประกันภัยสหรัฐฯ เมื่อไฟป่า LA อาจทำให้บริษัทประกันภัย เสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์ 

ช่วงเวลานี้ คงไม่มีข่าวคราวใดน่าสนใจไปกว่าข่าวไฟป่า ทั้งในประเทศไทยเองที่เกิดไฟป่าที่เขาลอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเสียดอ้า ห่างจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 10 กิโลเมตร ปัจจุบันเสียหายไปแล้วกว่า 1,700 ไร่ และอีกข่าวไฟป่าที่ถูกพูดถึงระดับโลกอย่างลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจากรายงานของ Euro News นอกจากพบผู้เสียชีวิตแล้วยังมีสิ่งปลูกสร้างกว่า 1,000 หลัง ที่ถูกไฟไหม้ราบเป็นหน้ากลอง ส่งผลให้ประชาชนราว 130,000 คน ยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งอพยพ 

สำหรับกรณีสหรัฐอเมริกาที่ไฟป่าลุกลามมายังพื้นที่อยู่อาศัย หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือประเด็นประกันภัยบ้านเรือน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่การประกันภัยเฟื่องฟูไม่น้อย ชนิดที่ประชาชนคนใดไร้ซึ่งประกันภัยก็อาจหมดตัวไปกับค่ารักษาพยาบาล และสารพันปัญหาจากเรื่องพื้นฐานต่างๆ ในชีวิต การทำประกันสุขภาพ ไปจนถึงประกันให้ทรัพย์สินของตนเองอย่างบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น

แม้ไฟป่ารอบนี้จะไม่ได้ส่งผลต่อพื้นที่ขนาดใหญ่เท่าไฟป่า Camp Fire ปี 2018 แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหายคือเขตชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น ทั้งความเสียหายยังกระจุกอยู่ที่โซนคนมีสตางค์อย่าง Pacific Palisades ความน่าขนลุกคือ AccuWeather ระบุว่าประกันอาจไม่คุ้มครองโซนดังกล่าวซึ่งเคยเกิดไฟไหม้ใหญ่ไปแล้ว ทั้งยังติด Top 5 พื้นที่ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ที่เสี่ยงไฟป่าที่สุด รวมถึงยังมีทรัพย์สินราคาสูงมาก 

การเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ ซากๆ เหล่านี้ส่งผลให้บริษัทประกันภัยวิกฤต อย่างในฤดูไฟป่าเมื่อปี 2017-2018 อุตสาหกรรมประกันภัยในแคลิฟอร์เนียยังสูญเสียผลกำไรสะสมนานถึง 20 ปี นั่นทำให้ในปี 2023 บริษัทประกันภัยรายใหญ่ 7 ใน 12 แห่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในแคลิฟอร์เนีย หยุดหรือจำกัดการออกกรมธรรม์ใหม่ หนึ่งในนั้นคือบริษัทใหญ่อย่าง State Farm ที่เมื่อหยุดให้บริการประกันภัยสำหรับบ้านและอพาร์ตเมนต์กว่า 72,000 แห่ง ตามรายงานของ San Francisco Chronicle กล่าวว่าบริษัทเสียส่วนแบ่งการตลาดใน Pacific Palisades ไปเกือบ 70% 

ไม่เพียงเรื่องไฟป่า แต่ในรัฐอื่นๆ อย่างฟลอริดา และลุยเซียนา ที่เกิดเฮอริเคนบ่อยก็ประสบปัญหาตลาดประกันภัยไม่มั่นคง ชนิดที่รัฐลุยเซียนาต้องใช้เงินสนับสนุนจากรัฐหลายล้านดอลลาร์เพื่อดึงดูดบริษัทประกันภัยกลับมา

สำหรับไฟป่าครั้งนี้ JPMorgan คาดว่าความเสียหายที่ครอบคลุมโดยประกันภัยอาจเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่านั้นหากยังไม่สามารถควบคุมไฟได้ มากกว่าไฟป่า Camp Fire ที่อยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงอย่างนั้นประชาชนก็ควรได้รับความคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน นั่นทำให้รัฐบาลและบริษัทประกันภัยต้องปรับปรุง ต้องออกกฎเฉพาะกิจในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวคือต้องรื้อโครงสร้างราคาประกันให้สอดคล้องกับความเสี่ยง  

ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีไฟป่าที่ไทยหรือลอสแอนเจลิส คาดว่าน่าจะเกิดจากฝีมือมนุษย์มากกว่าการระอุขึ้นมาเอง นอกจากการจริงจังกับการควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงไปมากกว่านี้เพื่อลดอัตราการเกิดไฟป่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งจำเป็น

อย่างในแคลิฟอร์เนียได้มีการออกกฎระเบียบ เช่น การห้ามสร้างบ้านในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า การใช้หลังคาที่ทนไฟ หรืออย่างในยุคที่ AI พัฒนารวดเร็ว ภาครัฐและเอกชนสามารถติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยคาดการณ์ไฟป่า 

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟป่าที่ใด ทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเรื่องสภาพอากาศและระบบนิเวศ ไปจนถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ สำหรับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ เหตุการณ์ไฟป่าเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญจำเป็นในการเร่งเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้กรีนมากขึ้น ทั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย และเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการค้าเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวิกฤต

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like