What’s Next in ESG
ESG ไม่ใช่แค่กระแสแต่เป็นทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน
โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมที่รุนแรง ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้แนวคิด ESG (environmental, social และ governance) กลายเป็นกติกาในการทำธุรกิจในปัจจุบัน
ซึ่งจริงๆ แล้ว แนวคิด ESG ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไปเพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคธุรกิจเริ่มคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ทำให้คำว่า ESG ถูกพูดถึงมากขึ้น และหันมาให้ความสำคัญกับ ESG มากกว่าที่ผ่านมา โดย ESG ประกอบด้วย 3 มิติคือ
มิติด้านสิ่งแวดล้อม (environment) แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
มิติด้านสังคม (social) แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมด
มิติด้านธรรมาภิบาล (governance) แนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ต่อต้านการทุจริต และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อย่างที่ว่าไว้ ESG ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่คนทำธุรกิจและคนทำงานควรรู้ ณ ตอนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่โลกธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในปี 2024 เราจึงตั้งใจไปพูดคุยกับ ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ซึ่งเป็นเครือข่ายท้องถิ่นขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact) ที่ก่อตั้งในปี 2018 เพื่อรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่ยั่งยืนทั้งระบบ ภายใต้การดำเนินการใน 3 มิติข้างต้น
ดร.ธันยพรอธิบายให้เห็นภาพว่า ภาคธุรกิจคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้น โดยการแสดงความรับผิดชอบ และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยการใช้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับนักลงทุนและลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในกระบวนการดำเนินธุรกิจ สร้างสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งในองค์กร และช่วยให้การปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ซึ่งความรับผิดชอบที่ว่านี้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2000 มีด้วยกัน 4 ส่วน คือ
1. สิทธิมนุษยชน เริ่มตั้งแต่การเริ่มธุรกิจ การสร้างโรงงานโดยไม่กระทบชุมชนรอบข้าง ไปจนถึงการจ้างงาน
2. แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจในประเทศหรือต่างประเทศ ทุกประเทศต่างมีกฎหมายแรงงานควบคุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายหรือมาตรการระหว่างประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องหารือร่วมกัน เช่น บริษัทในไทยที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติจะมีข้อตกลงหรือมาตรการดูแลพนักงานยังไง หรือในกรณีที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศ บริษัทในประเทศนั้นๆ จำเป็นต้องมีมาตรฐานการดูแลพนักงานข้ามชาติยังไง
3. สิ่งแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบในส่วนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงลดการทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
4. ความโปร่งใส เป็นการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
“ความรับผิดชอบทั้ง 4 ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องรับรู้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจในประเทศใดก็ตาม จำเป็นต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก การมีข้อบังคับเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังและมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะกับองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจในต่างประเทศ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการทำ ESG เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ”
สิ่งแวดล้อมคือปัญหาเร่งด่วน ธุรกิจต้องลงมือทำทันที
จะว่าไปแล้วในมุมของการทำธุรกิจ ความรับผิดชอบทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวล้วนเป็นพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องทำอยู่แล้ว ทว่าประเด็นสำคัญที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่การรีไซเคิลขยะ ปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ แต่ในการทำ ESG มีมากกว่านั้น องค์กรต้องรู้ว่าในเวลานี้สิ่งที่ทำอยู่อาจยังไม่พอ สมาคมฯ จึงมีหน้าที่ผลักดันนโยบายภาครัฐ และเป็นเจ้าภาพในการให้องค์ความรู้และคำปรึกษาต่างๆ
ดร.ธันยพรเล่าว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจไม่ใช่เรื่องเล็กที่แกล้งทำเป็นไม่เห็นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งในชุมชนที่มาจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นใช้น้ำในการผลิตมากกว่าที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค แม้โรงงานจะไม่สามารถคืนน้ำทุกหยดให้ชุมชนได้ แต่ก็ต้องมีการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม หรือปัญหาเรื่อง PM2.5 ในเมือง ภาครัฐสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ ในการดูแลได้ เช่น ในโซนที่ค่าฝุ่นสูงเกินกำหนด องค์กรหรือบริษัทในโซนนั้นอาจให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือรถบรรทุกน้ำมันดีเซลที่ขับเข้าเมืองต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น
ก่อนหน้านี้มีการประเมินจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะร้อนในระดับนั้นอย่างน้อย 1 ปี ทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าโลกจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
“ในกรณีนี้ถ้าเราต้องการลดอุณหภูมิของโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส อาจต้องมีข้อตกลงว่าควรหยุดผลิตสินค้าบางส่วน แต่เนื่องจากประชากรเราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่มีปีไหนที่โลกที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง”
ขับเคลื่อนจากบริษัทมหาชน สู่ผู้ประกอบการรายย่อย
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ต้องนึกถึงอุตสาหกรรมพลังงาน (oil & gas) ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจบนโลกใบนี้ เพราะหากวันใดอุตสาหกรรมพลังงานหยุดการผลิต ก็จะส่งผลกระทบทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการศึกษา การก่อสร้าง การขนส่ง หรือการเกษตร
ดร.ธันยพรเล่าว่าทางสมาคมฯ จึงหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครอบครอง GDP ส่วนใหญ่ของโลกเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะถ้าธุรกิจเหล่านี้ขยับตัวก็จะสร้างแรงกระเพื่อมเรื่อง ESG ไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ และภาคประชาชนได้กว้างขึ้น หน้าที่ของสมาคมฯ ในเวลานี้จึงอยู่ที่การสื่อสารกับภาคธุรกิจเพื่อสร้าง positive impact ซึ่งปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกในไทยประมาณ 130 ราย โดยอยู่ในกลุ่มองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น บางจาก, บ้านปู, CP Group และเครือ ปตท. เป็นต้น
แต่หากถามว่าการทำ ESG เป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวหรือไม่ คำตอบของ ดร.ธันยพรคือ ไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs เริ่มมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้เรียกสิ่งที่ทำว่า ESG เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องดูแลระบบหลังบ้านให้ดี โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและการจัดการเศษอาหาร เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน การกำจัดเศษอาหารหรือคราบมันต่างๆ จึงต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ทิ้งเรี่ยราดจนส่งกลิ่นเหม็นไปสู่ชุมชนใกล้เคียง
ความแตกต่างของการทำ ESG ระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่อยู่ที่การทำรายงานและวัดผล ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ต้องระบุไปในนโยบายให้ชัดเจน มีตัวเลขวัดผล ที่บอกได้ว่าสิ่งที่บริษัททำสร้างผลกระทบเชิงลบหรือเชิงบวกในแง่ใดบ้าง
ESG เป็นกติกาในการทำธุรกิจยุคใหม่
ปัจจุบันการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ESG ไม่ใช่ว่า ESG คืออะไรหรือทำไปทำไม แต่เป็นคำถามว่าจะทำยังไงและเริ่มทำเมื่อไหร่
ธุรกิจไม่สามารถรีรอได้อีกต่อไป ต้องเร่งลงมือทำทันที เพื่อสร้างโอกาสสู่การเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน และในอนาคต ESG จะกลายเป็นกติกาโลกในการทำธุรกิจในหลายประเทศ รวมถึงเป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและตัดสินใจซื้อสินค้าจากองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่อง ESG มากขึ้น
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว หากธุรกิจที่ต้องการสร้างผลกำไรอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องการทำ ESG จะเกิดอะไรขึ้น
“เวลานี้ ESG กลายเป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจไปแล้ว หากคุณมีเป้าหมายการทำธุรกิจในประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีพาร์ตเนอร์หรือคู่ค้าในต่างประเทศ การไม่ทำ ESG อาจทำให้ธุรกิจสูญเสียโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เสียโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ หรืออาจถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
“ยกตัวอย่างเคสของแบรนด์อาหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดป๊อปอัพสโตร์ในไทย และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารที่เติบเป็นอาหารปรุงสดใหม่โดยเชฟชาวญี่ปุ่น หากแบรนด์อธิบายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ผู้บริโภครู้ความจริงก็มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะไปทานหรือไม่ แต่เมื่อแบรนด์ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในทันที และทางบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นก็ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว”
แล้วการทำ ESG ต้องเข้มข้นแค่ไหน?
ดร.ธันยพรเล่าว่า ปัจจุบันการทำ ESG มีด้วยกัน 4 ระดับ คือระดับที่มีการวัดผลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ระดับที่ทุกคนในองค์กรรับรู้ถึงแผนและนโยบาย ระดับที่ฝังอยู่ใน KPI ของพนักงานทุกคน และระดับที่พนักงานสามารถขยายผลไปสู่คนรอบข้างได้
โดยทั่วไปแล้วระดับการทำ ESG ขององค์กรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร แผนการดำเนินงาน การสื่อสาร และอื่นๆ องค์กรที่ทำได้ดีก็จะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับองค์กรที่ยังไม่เริ่มทำ ESG ถ้าอยากทำตอนนี้จะสายไปไหม
ธุรกิจที่เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ ถ้าในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่คู่แข่งเริ่มทำไปบ้างแล้ว นั่นหมายความว่าคุณกำลังเดินตามหลังคู่แข่ง แต่ถ้าอยากตามให้ทันก็ต้องทำอย่างจริงจัง พัฒนาสินค้าและบริการให้น่าสนใจ เพราะในท้ายที่สุดผู้บริโภคจะรับรู้ถึงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ เนื่องจากเวลานี้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้นำองค์กรคือกุญแจสำคัญ
“ผู้นำองค์กรถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำ ESG ที่รับหน้าที่กำหนดเป้าหมาย โดยเริ่มตั้งแต่วางนโยบาย กระบวนการผลิต ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าไปสู่มือลูกค้า นอกจากนี้ผู้นำองค์กรยังต้องสื่อสารไปสู่พนักงานทุกระดับชั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งในบางครั้งอาจต้องเริ่มจากการเลือกพนักงานที่มีเซนส์หรือแนวคิดเดียวกัน” ดร.ธันยพรกล่าว
แม้ว่าแนวคิดด้านการบริหารจัดการ ESG จะมุ่งหวังไปที่การขับเคลื่อนในภาคธุรกิจ แต่ในรายละเอียดของแต่ละมิติ การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจก็เป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความเข้าใจ
ในภาคธุรกิจ แม้คุณจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นที่หลายคนมองว่ามีอายุการใช้งานน้อย แต่ธุรกิจก็สามารถผลิตเสื้อผ้าให้มีอายุการใช้งานได้เกิน 10 ปี โดยเลือกวัสดุที่ทนทาน ใช้งานได้นาน และในมุมของผู้บริโภคต้องมีการสร้างค่านิยมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก เช่น การซื้อเสื้อผ้า เมื่อไม่ใส่แล้วก็อาจส่งต่อ ดัดแปลง ใช้ซ้ำ หรือซื้อเท่าที่จำเป็น
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน นี่อาจไม่ใช่เวลาที่ทุกภาคส่วนอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง แต่เป็นโหมดที่ต้องลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นในมิติใดมิติหนึ่ง หากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและช่วยกัน แนวคิด ESG ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก