From Shell to Shelf

WASTEMATTERS โปรเจกต์ของสองสาวสถาปนิกที่เปลี่ยนขยะอาหารให้กลายเป็นของแต่งบ้านสุคชิค

ไม่นับความจริงที่ว่า Primary Workshop เป็นสตูดิโอทำงานสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านสุดน่ารักน่าใช้ การมาเยือนสตูดิโอของ พิม–พิมพิพัฒน์ ห้องดุลย์ และ เดียร์–รินทร์ลิตา อุดมทิพยพัฒน์ ก็ยังน่าสนใจสำหรับเราอยู่ดี เพราะที่นี่ใช้ขยะอาหาร ซึ่งหลายคนเบือนหน้าหนีและมองว่าไม่มีประโยชน์–มาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ

ความตั้งใจที่ว่าคือแคมเปญ WASTEMATTERS ที่พิม ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นผู้รับจ้างด้านความคิดสร้างสรรค์ และเดียร์ สถาปนิก เปิดรับสมัครพาร์ตเนอร์ที่จะบริจาคเศษอาหารพร้อมทิ้ง อย่างเปลือกไข่และเปลือกหอย นำมาทำความสะอาดจนพร้อมใช้ และแปลงโฉมให้กลายเป็นของตกแต่งสุดเก๋สารพัดอย่าง มีตั้งแต่ถาดวางจาน แจกัน โคมไฟ ไปจนถึงต้นคริสต์มาส 

ไม่เพียงเท่านั้น สองสาวและทีมยังมอบไอเทมเหล่านี้ให้เหล่าพาร์ตเนอร์เป็นการตอบแทน และสร้างคอมมิวนิตี้สายกรีนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับขยะเศษอาหารให้มากกว่าเดิม

จากธรรมชาติสู่โต๊ะอาหาร

แรกเริ่ม พิมและเดียร์ก่อตั้ง Primary Workshop ด้วยความตั้งใจว่าจะเป็นสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน ก่อนที่จะเจอ pain point สำคัญคือหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ถูกใจได้ยากเหลือเกิน Primary Workshop จึงขยับขยายมาดีไซน์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่มีจริตเดียวกัน

ส่วน WASTEMATTERS คือโปรเจกต์ของแต่งบ้านที่ต่อยอดมาจากงานหลักของพวกเธอ เปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2023 แต่ถ้าถามถึงความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม พิมตอบว่ามันอยู่กับเธอมาเนิ่นนาน ก่อนจะปิ๊งไอเดียโปรเจกต์นี้เสียอีก

“พิมเป็นคนต่างจังหวัด ชอบอยู่กับธรรมชาติ และมองว่าสิ่งของรอบตัวมีคุณค่าที่ทำให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งหมด” พิมเท้าความ “เรามองว่าการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน มีหลายคนที่ทำได้เหมือนเรา แต่ผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่มีคนทำ ทำไมเราไม่เอาความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีอยู่มาทำตรงนี้”

ประกอบกับพิมเป็นคนชอบทำอาหารมาก แถมยังมีเพื่อนและลูกค้าทำธุรกิจร้านอาหารอยู่มากมาย หลายครั้งที่พิมและเพื่อนเข้าครัวแล้วมีเศษอาหารเหลืออยู่ เธอคิดอยู่ตลอดว่ามันน่าจะต่อยอดเป็นอะไรบางอย่างได้ 

แต่ถ้าไม่ลองก็ไม่มีวันรู้ วันหนึ่งที่เธอได้รับเศษเปลือกไข่จากร้านของเพื่อน พิมล้างมันจนสะอาด และลองเอามาดีไซน์เล่นๆ เป็นถาดที่ใช้เศษเปลือกไข่เป็นวัสดุหลัก 

“พิมมองว่าเปลือกไข่คือความสวยงาม มันแค่ไปอยู่ในถังขยะซึ่งผิดที่เท่านั้นเอง”

ทำไปทำมาก็สวยใช่เล่น เป็นโปรเจกต์ส่วนตัวที่หญิงสาวทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ นับจากวันนั้น พิมก็ไม่เคยหยุดผลิตงานดีไซน์จากเศษอาหารอีกเลย

จากขยะอาหารสู่งานออกแบบ

“ออฟฟิศของเราทำงานดีไซน์ แต่เราไม่อยากสร้างแค่งานดีไซน์ที่ดี เราอยากสร้างวัฒนธรรมที่ดีในออฟฟิศ ไม่อยากให้น้องๆ คิดว่างานออกแบบหรืองานสถาปัตยกรรมเป็นงานเชิงพาณิชย์ (commercial work) เพราะจริงๆ แล้วออริจินอลของงานสถาปัตยกรรมเป็น civil work หรืองานเพื่อสังคม” พิมเล่าเหตุผลของการต่อยอดความสนุกส่วนตัวมาเป็นโปรเจกต์ของออฟฟิศ

ก่อนจะมี WASTEMATTERS ออฟฟิศ Primary Workshop พยายามออกแบบของตกแต่งให้สามารถลด waste ตั้งแต่ต้นน้ำที่สุด มากกว่านั้น พวกเธอยังขยันส่งงานดีไซน์ที่ทำจากขยะอาหารไปประกวด จนได้เป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week 

แต่พวกเธอก็คิดว่าสนุกและจริงจังได้กว่านั้นอีก

“ลูกค้าของเราเป็นร้านอาหารทั้งนั้น ทุกวันเขามีขยะอาหารเกิดขึ้นมากมาย เราอยากนำขยะเหล่านั้นมาทำอะไรต่อ แต่เราจะทำโครงการอะไรให้มีอิมแพกต์ ทำให้ร้านอาหารที่บริจาคเศษอาหารให้เราได้ประโยชน์ด้วย” พิมเล่าต่อ

“เราเห็นโมเดลของขวดพลาสติกที่เมื่อก่อนคนอาจจะไม่เห็นค่าเลย แต่ตอนนี้ไปไหนใครๆ ก็อยากเก็บอยากขาย ถ้า food waste เป็นแบบนั้นได้บ้างล่ะ”

นั่นคือที่มาของ WASTEMATTERS โปรเจกต์ที่อยากส่งเสริมให้คนทำธุรกิจและคนทั่วไปได้หันมาเห็นความสำคัญของการแยกขยะ ตระหนักว่าเศษอาหารที่ตนเองสร้างและทิ้งทุกวันนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนในตอนนี้

จากพาร์ตเนอร์สู่สตูดิโอ

เดียร์เล่าให้เราฟังว่า สิ่งที่ WASTEMATTERS ทำคือการเปิดรับพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยบริจาคเศษอาหารเพื่อนำมาทำเป็นของตกแต่งบ้านแฮนด์เมด และเมื่อสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานเสร็จเรียบร้อย WASTEMATTERS ก็ส่งต่องานชิ้นนั้นให้พาร์ตเนอร์ได้ใช้งานต่ออีกที นอกจากนี้พวกเธอยังเป็นหน่วยกระจายเศษอาหารที่ทำความสะอาดแล้วไปให้กับดีไซเนอร์ต่างๆ หากพวกเขาต้องการเศษอาหารไปทำงานของตัวเองบ้าง 

เพื่อตอบแทนกัน WASTEMATTERS สร้างแมปพิเศษบนเสิร์ชเอนจิ้นและปักหมุดร้านต่างๆ ของพาร์ตเนอร์เอาไว้ เพื่อให้เหล่าฟู้ดดี้และคนสายกรีนได้เข้าไปสนับสนุนพาร์ตเนอร์เหล่านั้น ทีม WASTEMATTERS ยังทำตรา (badge) และสติ๊กเกอร์พิเศษให้กับร้านอาหารต่างๆ นำไปติดบนเมนู เพื่อบอกลูกค้าว่านี่คือร้านค้าที่ตระหนักถึงเรื่องการแยกเศษอาหาร และเศษอาหารในบางเมนูจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ 

มากกว่านั้น พวกเธอยังสร้างคอมมิวนิตี้ที่ให้ความรู้และทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับ food waste เพื่อให้การตระหนักรู้ขยายวงกว้างมากขึ้น

จากก้อนกลมสู่ของสวยงาม

เอกลักษณ์ของงานดีไซน์แบบ WASTEMATTERS คือ modular หรือไอเทมที่มีลักษณะเป็นก้อน (disc) สามารถถอดแยกชิ้นและประกอบใหม่ได้ ผู้ใช้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจ 

เดียร์ยกตัวอย่างแจกันดอกไม้ให้เราดู มันเป็นวัตถุทรงกลมที่ทำจากเปลือกไข่และฝาหอยหลากหลายขนาด ต่อกันจนกลายเป็นแจกันดอกไม้สุดชิค ซึ่งขนาดและความมินิมอลของแจกันจะขึ้นอยู่กับก้อนโมดูลที่ปรับเพิ่มและลดได้ 

นอกจากแจกัน พวกเขายังมีที่รองจาน ที่รองแก้ว ที่ใส่นามบัตร diffuser ถาดวางไข่ โคมไฟ ต้นคริสต์มาส และไอเทมอื่นๆ ที่พวกเขาไปคอลแล็บกับลูกค้าแบบเฉพาะกิจอีกมากมาย อย่างล่าสุด WASTEMATTERS คอลแล็บกับร้าน Baan Tepa ของเชฟตาม–ชุดารี เทพาคำ เพื่อทำเชิงเทียนของร้าน 

มากกว่านั้นคือจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อทำสินค้าร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น Qualy, Asia Hotel, Gigi, Electric Sheep และอีกมากมาย

“ความสวยงามไม่ได้ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วงานออกแบบจะสวยหรือไม่สวยนั้นอยู่ที่สายตาคนมอง แต่การที่เราดีไซน์เพื่อลด waste มันเป็นอิมแพกต์ที่จับต้องได้” พิมสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอด 5 ปีของ Primary Workshop และเกือบ 2 ปีที่อยู่กับ WASTEMATTERS มา

“การที่เราสร้างบางสิ่งขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะไม่ใช้วัสดุจากสิ่งแวดล้อมเลย แต่เราจะลดอะไรให้เขาได้ นี่คือคุณค่าของงานออกแบบจริงๆ มันทำให้เรารู้สึกว่างานของเรามีคุณค่าอีกครั้ง” พิมบอก

จากออฟฟิศสู่ชุมชน

ฟังแค่นี้ หลายคนอาจคิดว่าโปรเจกต์รักษ์โลกของเธอทำได้ง่ายดาย เพียงแค่รอให้คู่ค้าโดเนตวัตถุดิบมาเท่านั้น แต่เหมือนกับทุกธุรกิจที่ย่อมมีอุปสรรค 

“ปัญหาที่เจอคือมีคนส่งเศษอาหารมาให้เยอะมาก ซึ่งมีเยอะกว่างานออกแบบที่เราทำ เราจึงคิดหาทางด้วยการทำเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้อง ไมซีเลียม ซึ่งพัฒนากับนักวิจัยที่มีความสนใจเดียวกัน” พิมมองว่านั่นคือข้อดี 

“โปรเจกต์นี้ทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น และได้ร่วมกันพัฒนาคอมมิวนิตี้ของเราให้ดีขึ้น”

คำว่า ‘คอมมิวนิตี้’ ของเธอนับรวมไปถึงคนในองค์กร ที่เมื่อมีโปรเจกต์นี้เข้ามาอยู่ในชีวิต สาวๆ ในออฟฟิศก็หันมาใส่ใจกับสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวอย่างการแยกขยะ หลายคนตั้งใจมีไลฟ์สไตล์สีเขียวมากขึ้น และบางคนก็บอกให้ครอบครัวตระหนักเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ถึงอย่างนั้น เราก็สงสัยอยู่ดีว่าสิ่งที่พวกเธอทำนั้นคุ้มค่าไหม ในฐานะคนทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ‘กำไร’ จากการทำโปรเจกต์นี้คืออะไร

“คำว่ากำไรของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองว่ากำไรคือเงิน แต่สำหรับพิม กำไรในโปรเจกต์นี้คือการได้รู้จักคนที่เขาแคร์โลก ความรู้ที่เราได้จากพวกเขา และโอกาสที่ได้เจอคนมากขึ้น ทำให้เราสนุกและมีกำลังใจ แค่นี้คือกำไรแล้ว” พิมยิ้ม

“จุดมุ่งหมายของ WASTEMATTERS คือการทำให้เศษอาหารมีค่า และวันหนึ่งเราก็อยากทำกำไรที่เป็นเงินจริงๆ เพื่อให้อย่างน้อยพาร์ตเนอร์ที่คัดแยกเศษอาหารมาให้เขาจะได้เงินบ้าง เราอยากให้อนาคตโปรเจกต์นี้เป็นเหมือนขวดพลาสติก ถึงจะสร้างรายได้ไม่เยอะ แต่เขาก็เก็บนะ”

จนถึงตอนนี้ การได้ทำโปรเจกต์ WASTEMATTERS มีความหมายต่อพวกเธอยังไง–เราถามคำถามสุดท้าย

“ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เราเลยอยากเอาเอเนอร์จี้ตรงนี้มาทำบางสิ่งที่เติมเต็มเราได้ เป็นสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเท่านั้น แต่ทำเพื่อขอบคุณสังคมด้วยเหมือนกัน” พิมตอบ ก่อนเดียร์จะเสริมต่อ

“การมี WASTEMATTERS ช่วยส่งเสริม Primary Workshop ด้วย ในตลาดตอนนี้มีบริษัทสถาปนิกมากมาย การมีโปรเจกต์นี้ก็ทำให้เราไม่เหมือนที่อื่น บางทีเราติดอยู่กับกรอบของงานสถาปัตย์เกินไป แต่การใช้วัสดุของ WASTEMATTERS มาประยุกต์กับดีไซน์ที่ออกแบบจะทำให้งานมีคุณค่ามากขึ้น”

3 คำแนะนำสำหรับคนทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจาก WASTEMATTERS

  1. “ไม่ว่าจะทำอะไร เราทำให้มันยั่งยืนได้หรือเปล่า คุณต้องคิดในระยะยาวว่ามันจะเป็นยังไงในอนาคต”
  2. “ทำธุรกิจจากสิ่งที่รักจริงๆ เพราะเมื่อเรามีใจกับอะไร เราจะอยู่กับมันไปได้นาน”
  3. “ทีมสำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่เขาเชื่อเหมือนกัน มีพลังงานเดียวกัน พวกเขาจะเป็นแรงผลักดันที่ดีมากๆ”

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like