Such a Euro Fever!

สำรวจวิธีเกาะกระแสฟุตบอลยูโรผ่านแง่มุมธุรกิจในประเทศไทย

อย่างที่ใครหลายคนกล่าวติดตลกไว้ว่า จะหน้าเทศกาลไหนๆ พี่ไทยก็ขอมีส่วนร่วมเสมอ เฉกเช่นเดียวกับช่วงเทศกาลฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือฟุตบอลยูโร 2024 (UEFA EURO 2024) ที่ ณ เวลานี้กำลังเป็นกระแสฟีเวอร์ หลังรัฐบาลและกลุ่มภาคเอกชนลงขันซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาฉายผ่านฟรีทีวีตลอดทั้งการแข่งขัน แม้ฟุตบอลยูโรจะไม่อยู่ในข่ายหลักเกณฑ์ ‘Must Have/Must Carry’ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

แม้ยังไม่มีการประกาศแน่ชัดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์ครั้งล่าสุดนี้มีจำนวนเท่าไหร่ แต่จากปากของ ‘โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานกรรมการบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด ผู้สนับสนุนหลักในการนำฟุตบอลยูโร 2024 มาเผยแพร่ให้คนไทยดูฟรี ได้เอ่ยปากสั้นๆ ว่า มากกว่า 310 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขเดิมของการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรครั้งก่อน

ด้วยจำนวนตัวเลขหลักร้อยล้านที่ภาคเอกชนยอมลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2 ครั้งล่าสุด ป้ายแบนเนอร์ข้างสนาม ผลิตภัณฑ์ที่วางเด่นขณะนักฟุตบอลกำลังแถลงข่าว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสปอตโฆษณาช่วงพักครึ่งที่ผู้ควบคุมลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสามารถควบคุมการเผยแพร่ได้ สะท้อนให้เห็นว่า เกมกีฬาลูกหนังระดับชิงแชมป์ยุโรปนั้นมีอิทธิพลทางการตลาดมหาศาล ไม่ด้อยไปกว่ามหกรรมลูกหนังอย่างฟุตบอลโลก

ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพว่าฟุตบอลยูโรมีมูลค่าทางการตลาดเพียงใด คงต้องยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ ‘CR7’ คริสเตียโน โรนัลโด้ กัปตันทีมชาติโปรตุเกส ตัดสินใจยกขวดน้ำอัดลมยี่ห้อโคคา-โคล่าออกระหว่างแถลงข่าวหลังเกม ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า เขาไม่นิยมดื่มน้ำอัดลมเพราะเป็นคนใส่ใจเรื่องสุขภาพ ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก แต่ผลลัพธ์คือหุ้นของบริษัทโคคา-โคล่าร่วงลงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ถึงตรงนี้จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักที่บรรดาผู้ประกอบการต่างฝ่ายต่างก็งัดวิธี ‘เกาะกระแส’ ในแบบของตนเอง เพื่อแสดงความเป็นส่วนหนึ่งของทัวร์นาเมนต์ลูกหนังระดับโลกนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไรที่จะย้อนกลับมาสู่แบรนด์ 

เพื่อต้อนรับการมาของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโร 2024 Capital จึงขอชวนไปดูวิธีการเกาะกระแสผ่านแง่มุมธุรกิจในประเทศไทย ที่บางข้อน่าจดจำจนต้องร้องอ๋อ และบางข้อที่ทำได้อย่างแยบยลเสียเหลือเกิน

1. ติดหูแถมติดตลาดกับ music marketing idea โดยแอโร่ซอฟ

เชียร์ยูโร (Aerosoft), เชียร์ยูโร (Aerosoft), เชียร์ยูโร (Aerosoft)!
Aerosoft ทุ่มเทเพื่อคนไทย ขอเป็นกำลังใจ ให้คนไทยทุกคน
ผ่านวิกฤตโควิดที่หมองหม่น ให้คนไทยทุกคน มีความสุขอยู่ที่บ้าน

เชื่อว่าหลายคนน่าจะจดจำเพลงโฆษณาข้างต้นจนต้องเผลอร้องตาม เพราะถูกเปิดบ่อยในช่วงที่ฟุตบอลยูโร 2020 กำลังแข่งขัน เพลงโฆษณาดังกล่าวมีที่มาจากบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ ผู้จัดจำหน่ายร้องเท้ายี่ห้อแอโร่ซอฟ ทั้งยังเป็น ‘แม่งาน’ ในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรครั้งนั้นให้คอบอลชาวไทยได้ชมชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด หลังก่อนหน้าไม่มีหน่วยงานหรือภาคเอกชนใดกล้าลงทุนซื้อสักราย เนื่องด้วยสภาวะโควิด-19 ที่ระบาดหนัก พานให้เศรษฐกิจฝืดเคืองทำเอาหลายต่อหลายกิจการตัวเลขติดลบ

เพลงดังกล่าวมีระยะความยาว 1 นาที แต่งโดย ‘ปอ–ณัฐภูมิ รัฐชยากร’ เจ้าของค่ายเพลง KIT MUSIC ขับร้องโดย ‘พล–พลพล พลกองเส็ง’ ในจังหวะสามช่าโจ๊ะๆ ชวนเต้น มีเนื้อหาติดหูและสื่อถึงแบรนด์แอโร่ซอฟที่นำฟุตบอลยูโรมาฉายให้คนไทยดูแบบถูกลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังใจและเรียกรอยยิ้มในช่วงที่โควิด-19 ทำบรรยากาศประเทศเศร้าหมอง

ด้วยการสื่อสารที่จริงใจและสนุกสนานนี้เอง ทำให้คนดูอย่างเราๆ ซึมซับเพลงโฆษณาของแอโร่ซอฟ โดยไม่รำคาญกดเปลี่ยนช่อง และนำไปสู่การต่อยอดเพลง ‘เชียร์ยูโรกับแอโร่ซอฟ’ ในเวอร์ชั่นแรปที่ร้องโดยติ๊ก ชิโร่ พร้อมกับจัดกิจกรรมประกวดร้องเพลงดังกล่าวเพื่อชิงเงินรางวัล 100,000 บาท ไหนจะเปิดพื้นที่โฆษณาระหว่างพักครึ่งให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้โปรโมตสินค้าตัวเองแบบฟรีๆ

หากมองผิวเผินสถานะของแอโร่ซอฟ ณ เวลานั้นคงไม่ต่างจาก ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ คืนความสุขให้คนไทย แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นว่า ทั้งการซื้อลิขสิทธิ์และเพลงเชียร์ยูโรกับแอโร่ซอฟ คือการสร้าง impact marketing ที่ได้ผลยอดเยี่ยมในช่วงที่แบรนด์อื่นๆ กำลังขาลง ชนิดที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

ข้อแรก คือ ‘brand perception’ หรือการทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำจากผู้คน ด้วยการใช้เพลงโฆษณา หรือ music marketing เป็นเครื่องมือหลัก จากเดิมที่ผู้คนไม่คุ้นหูว่าเป็นแบรนด์อะไร แต่เมื่อฟังเพลงบ่อยขึ้นทุกวันชื่อของแบรนด์แอโร่ซอฟจึงเริ่มเป็นที่จดจำ ถูกพูดถึงปากต่อปาก และถูกติดตามบนโลกโซเชียลฯ จากตัวเลขหลักร้อยสู่หลักหมื่นในเวลาไม่กี่วัน ไหนจะการถูกจดจำว่าเป็นแบรนด์ที่ทำเพื่อสังคมจากกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ข้อสอง คือตัวเลขกำไรที่มากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อแบรนด์เป็นที่จดจำ ผู้บริโภคย่อมอยากซื้อผลิตภัณฑ์นั้นมาลองใช้บ้าง ในปี 2021 ซึ่งตรงกับปีที่ฟุตบอลยูโร 2020 เลื่อนมาจัดการแข่งขัน บทสรุปตัวเลขผลกำไรของแอโร่ซอฟจบลงที่ 1,160 ล้านบาท (กำไร 268.76 ล้านบาท) ถือว่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี ตามข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยที่ตัวเลขรายได้ย้อนหลัง 5 ปี คือ

  • ปี 2016 รายได้ 1,500 ล้านบาท กำไร 66 ล้านบาท
  • ปี 2017 รายได้ 1,200 ล้านบาท ขาดทุน 209 ล้านบาท
  • ปี 2018 รายได้ 982 ล้านบาท ขาดทุน 159 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้ 1,000 ล้านบาท ขาดทุน 2.1 ล้านบาท
  • และปี 2020 รายได้ 663 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท

เพลงเชียร์แอโร่ซอฟถือเป็นไวรัลและโมเมนต์น่าจดจำร่วมกับทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 ของคนไทย ในวาระที่แอโร่ซอฟยอมควักกระเป๋าสตางค์ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรให้คนไทยดูฟรีในปีนี้ จึงหนีไม่พ้นที่เทคนิค music marketing จะถูกนำมาใช้อีกครั้ง พร้อมกับเสียงร้องของพลพลที่คุ้นเคย

2. ไปรษณีย์ไทยกับกิจกรรม ‘ทายแชมป์ลุ้นรวย’

ว่ากันตามตรงนิสัยเสี่ยงโชคของคนไทยถ้าไม่ใช่ลอตเตอรีหรือหวย ก็มักปรากฏให้เห็นผ่านการทายผลเกมกีฬา ที่จะให้ดีก็ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการพนันผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่ใช่การพนันในทำนองที่ว่าแล้วจะเป็นอะไรไปได้ ถ้าไม่ใช่การส่ง ‘ไปรษณียบัตร’ ชิงโชค

การส่งไปรษณียบัตรทายผลว่าใครจะเป็นแชมป์ คืออีกหนึ่งการเกาะกระแสสุดคลาสสิกที่อยู่คู่กับคนไทยและทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโรมาช้านาน เพราะไปรษณีย์ไทยได้ปล่อยกลยุทธ์ดังกล่าวครั้งแรกตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ยูโร 1960 ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ก่อนจะดำเนินถึงปี 2024 ที่เป็นครั้งที่ 17  

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสไปรษณียบัตรทายแชมป์ได้รับความนิยมล้นหลาม คงหนีไม่พ้นการลงทุนแค่ 2 บาท ต่อการซื้อไปรษณียบัตรทายผล 1 ใบ โดยที่สามารถส่งกี่ใบก็ได้ตามสะดวก เพื่อแลกกับการลุ้นเงินรางวัลทายผลจำนวนหลักแสนถึงหลักล้าน ดังนั้นต่อให้มีทีมรักในดวงใจมากกว่าสอง หรืออยากส่งช่วงโค้งสุดท้ายก็ยังทำได้

วิธีเรียกกระแสแบบนี้ยังเข้าถึงคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ถนัดส่ง SMS หรือเล่นโซเชียลฯ ขอแค่มีปากกากับไปรษณียบัตรสักใบก็เพียงพอ นับเป็นวิธีการอันชาญฉลาดของไปรษณีย์ในการใช้สินค้าและบริการที่ตัวเองมีอยู่ เพื่อเกาะกระแสสำคัญของโลกและเรียกรายได้เข้าองค์กร ท่ามกลางยุคสมัยที่ความสำคัญของไปรษณีย์ลดน้อยถอยลง จนเปลี่ยนสถานะจากวิธีติดต่อสื่อสารอันดับหนึ่งสู่สิ่งของสะสมแทน เช่น ตราไปรษณียากร (แสตมป์)

ตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ยูโร 2004 เป็นต้นมาจะเห็นว่า รายรับของไปรษณีย์ไทยมีตัวเลขเติบโตมากกว่า 10-15% ในปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร ซึ่งมากกว่าปีที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร (หรือฟุตบอลโลกเองก็ตาม) 1-2 เท่า วัดจากจำนวนผู้ร่วมส่งไปรษณียบัตรมาชิงโชคแตะหลักร้อยล้านฉบับ ขณะเดียวกันยังมีการจับมือกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ซื้อหนังสือพิมพ์ตัดชิ้นส่วนเพื่อเขียนทายผลได้เช่นกัน นับเป็นการใช้ sport marketing ดึงดูดผู้คนให้หวนกลับมาหาสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในจุดซบเซา

ในปี 2024 นี้เอง ไปรษณีย์ไทยก็เปิดให้คนไทยได้ร่วมทายผลแชมป์ยูโรเช่นกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม หรือจนถึงหนึ่งวันสุดท้ายก่อนนัดชิงชนะเลิศ โดยที่ครั้งนี้มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการซื้อไปรษณียบัตรทายผลผ่านแอพพลิเคชั่น Prompt Post 

ใครที่สนใจอยากสนุก อยากลุ้น แต่ไม่อยากพึ่งพาการพนัน ทายผลแชมป์กับไปรษณีย์ไทยน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในทัวร์นาเมนต์ยูโรครั้งนี้

3. สวนสัตว์เชียงใหม่กับการใช้ ‘สัตว์นำโชค’ ทำนายผล

นับตั้งแต่ที่ ‘พอล’ ปลาหมึกยักษ์แห่งซีไลฟ์อควาเรียม ในเมืองโอเบอร์เฮาเซิน (SEA LIFE Oberhausen) โชว์อภินิหารทายผลการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2008 ของทีมชาติเยอรมนีถูกต้องรัวๆ ก็กลายเป็นธรรมเนียมของสวนสัตว์ทั่วโลก ที่ต้องนำดาวดังประจำสังกัดออกมาทายผลการแข่งขันฟุตบอลแมตช์สำคัญ 

เช่นเดียวกับกรณีของสวนสัตว์เชียงใหม่ที่นำ ‘เจ้าไทเกอร์’ แพนด้าแดงเพศผู้ ออกมาเรียกรอยยิ้มแก่ผู้เข้าชม ด้วยการทายผลการแข่งขันระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส ในรอบแบ่งกลุ่มกลุ่ม F นัดแรก วิธีการทายผลของสวนสัตว์เชียงใหม่ คือการเตรียมแอปเปิลแดงใส่ถาดไว้จำนวนสองใบ ถาดทั้งสองใบมีการแปะภาพธงชาติของทีมนั้นไว้ และหากเจ้าแพนด้าแดงกินแอปเปิลถาดไหน ก็เท่ากับเป็นการทำนายว่าทีมนั้นคือผู้ชนะนั่นเอง

การทำนายครั้งนั้น เจ้าไทเกอร์เลือกเดินตรงไปกินแอปเปิลในถาดที่แปะป้ายทีมชาติเยอรมนีทันที อย่างไรก็ตาม ผลการแข่งขันนัดดังกล่าวกลับสวนทางกับคำทำนาย เมื่อทีมชาติฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเฉือนเอาชนะทีมชาติเยอรมนีไปด้วยสกอร์ 1-0 

แต่ถึงแม้จะเปิดหัวด้วยการทำนายผิด ทว่าความน่ารักของเจ้าไทเกอร์ได้ทำให้บรรยากาศของสวนสัตว์เชียงใหม่ ณ เวลานั้นกลับมามีชีวิตชีวาและเรียกนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง หลังต้องปิดทำการนานกว่า 2 เดือนเพื่อหลีกหนีการระบาดของโควิด-19 

นอกจากจะเป็นการเกาะกระแสยูโรฟีเวอร์แล้ว อีกมุมนึงยังเป็นการโปรโมตแพนด้าแดงสุดหล่อตัวนี้ ในฐานะ ‘มาสคอต’ ประจำสวนสัตว์เชียงใหม่ หลังที่ผ่านมาผู้คนจดจำแค่ ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ สองแพนด้ายักษ์ที่สวนสัตว์เชียงใหม่นำมาเลี้ยงดูเพื่อเป็นทูตสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับจีน 

ขณะเดียวกัน ในช่วงทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโร 2020 สวนสัตว์เชียงใหม่ยังจัดกิจกรรมสัตว์นำโชคทำนายผลตัวอื่นๆ อย่างลุงแซม อุรังอุตังเพศผู้ และไชโย ช้างพังเพศเมีย ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดยรวมแล้วมีทำนายถูกบ้างผิดบ้าง แต่ก็ทำให้สวนสัตว์เชียงใหม่ถูกจัดอยู่ในโมเมนต์น่าจดจำของฟุตบอลยูโรครั้งนั้น

สวนสัตว์เชียงใหม่ยังจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022 โดยที่เจ้าไทเกอร์ยังเป็นดาวดังเหมือนเดิมด้วยการทำนายผลคู่ชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินากับฝรั่งเศส ซึ่งผลปรากฏว่า เจ้าไทเกอร์ยังทำผลงานได้คงเส้นคงวาด้วยการทายผิด เมื่อมันเลือกฝั่งฝรั่งเศสที่เป็นผู้แพ้ในเกมนั้น  

สำหรับยูโร 2024 ต้องมารอติดตามกันว่า สวนสัตว์เชียงใหม่จะเปิดโอกาสให้เจ้าไทเกอร์ล้างอาถรรพ์ทำนายผิด 100% หรือไม่ หรือจะมีดาวดังดวงใหม่รับหน้าที่นี้แทนกันแน่ ใครที่อยู่ใกล้ก็อย่าลืมไปทักทายล่ะ 

4. ยูโรมา ตลาดค้าทีวีครื้นเครง

ถ้าจะกล่าวว่าผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภททีวี มักอาศัยช่วงกระแสฟุตบอลยูโรเป็น ‘หมุดหมายสำคัญ’ ในการเปิดตัวโปรดักต์ และเป็น ‘เวทีประลองศักยภาพ’ เทคโนโลยีใหม่ๆ คงไม่เกินจริงสักเท่าไหร่นัก

ยกตัวอย่างกรณีของโตชิบา ที่อาศัยช่วงฟุตบอลยูโร 2012 บุกตลาดทีวีประเทศไทย ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทีวี 3 มิติ และทีวี LED หรือในกรณีของซัมซุง ที่อาศัยช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 สร้างเซกเมนต์ทีวีจอโค้ง หรือ curved TV หนึ่งในนวัตกรรมที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมทีวี ด้วยขนาดจอโค้งถึง 42 องศา ช่วยให้สร้างภาพได้ลึกและลื่นไหลยิ่งกว่าเดิม

ถ้าถามว่า เหตุใดตลาดซื้อ-ขายทีวีถึงครื้นเครงในช่วงฟุตบอลยูโร? จุดนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘พฤติกรรม’ และ ‘ความรู้สึก’ ของผู้บริโภค ที่มักถือโอกาสเปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องใหม่ เพื่อดูการถ่ายทอดสดการแข่งขันสำคัญๆ ที่นานทีปีหนจะเวียนมาสักครั้งในระบบภาพคมชัด

ในช่วงที่ผู้บริโภคต้องการอะไรใหม่ๆ ผู้ผลิตจึงอาศัยจังหวะยูโรฟีเวอร์เปิดตัวโปรดักต์เพื่อสนองความต้องการในตลาด รวมไปถึงการจัดโปรโมชั่นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นกรณีของ Power Buy ที่จัดโปรโมชั่นผ่อน 0% ร่วมกับแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำต่างๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้ซื้อทีวีสักเครื่องนั่นเอง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ฟุตบอลยูโร 2008 เป็นต้นมา ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททีวีมีตัวเลขไม่เคยต่ำกว่าระดับ 2,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงฟุตบอลยูโร 2024 จึงมีการคาดการณ์ว่า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททีวีจะมีการใช้จ่ายสะพัดมากถึง 2,300 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนในฟุตบอลยูโรปีนี้ ผู้ผลิตโทรทัศน์แต่ละรายจะงัดเทคโนโลยีไหนมาดึงดูดผู้บริโภคคงต้องรอดูกันต่อไป แต่เท่าที่พอทราบข่าว คือเทรนด์โทรทัศน์ที่สั่งการด้วยเทคโนโลยี AI น่าจะมาแรงอยู่ไม่น้อย

5. เสื้อบอล ‘super value’ ที่มีมากกว่าแค่เรื่องแฟชั่น

สุดท้ายนี้ ถ้าจะไม่พูดถึง ‘เสื้อบอล’ เห็นทีคงจะแปลก เพราะในช่วงเทศกาลฟุตบอลสำคัญระดับโลกอย่างยูโร แบรนด์สปอร์ตแวร์ต่างๆ มักออกแบบชุดแข่งใหม่เพื่อสนับสนุนแต่ละชาติที่ลงแข่งขัน พร้อมกับดูดเงินในกระเป๋าจากแฟนบอลไปพร้อมกัน

แน่นอนว่าเสื้อบอลคือไอเทมชิ้นสำคัญที่แค่สวมใส่ก็รู้ได้ทันทีว่าคุณคือแฟนบอลทีมใด ไหนจะสตอรีและลูกเล่นดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ยิ่งทำให้เสื้อบอลเป็นมากกว่าแค่เรื่องของกีฬา แต่ยังยกระดับไปถึงวงการแฟชั่น เห็นได้ชัดจากยุคสมัยนี้ที่ผู้คนมักหยิบเสื้อบอลยุคปัจจุบันหรือแนววินเทจมามิกซ์แอนด์แมตช์ในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ดี มูลค่าของเสื้อบอลยังครอบคลุมไปถึงธุรกิจ เพราะประเทศไทยนี่แหละคือฐานผลิตเสื้อฟุตบอลจากแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยได้กล่าวว่า ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโร 2024 ประเทศไทยจะมียอดส่งออกเสื้อผ้ากีฬามากกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท 

ส่วนทางอ้อม เสื้อบอลยังเป็น ‘คอนเทนต์’ เรียกกระแสชั้นดี ยกตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้จัดงานนิทรรศการแสดงเสื้อบอลยูโร 50 ปี พร้อมไฮไลต์พิเศษกับการนำเสื้อแข่งของ ‘แฟรงค์ เดอ บัวร์’ กองหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เคยใส่ในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลยูโรปี 1976 และ 1980 มาโชว์

หรือจะในกรณีของ ‘ซูเปอร์สปอร์ต’ (Supersports) ผู้ค้าปลีกสินค้ากีฬาเบอร์ต้นในประเทศไทย ที่จัดแสดงงานแฟชั่นโชว์เกี่ยวกับเสื้อแข่งของแต่ละชาติที่จะลงฟาดแข้งในยูโร 2024 ที่ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดีไม่แพ้กัน

จากทั้งกรณีของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์หรือซูเปอร์สปอร์ตจะพบว่า นี่ไม่ใช่การเร่ขายเสื้อฟุตบอลแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้เสื้อบอลเป็นคอนเทนต์เรียกแขกให้เข้ามายังพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้คนจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยสินค้า โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อบอลก็ได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเกาะกระแสฟุตบอลยูโรแบบไทยๆ ที่ทาง Capital หยิบมาเล่าให้ผู้อ่านได้นึกถึง แต่ถ้าใครมีเรื่องราวนอกเหนือจากนี้ก็อย่าลืมมาแชร์กันล่ะ

ขอให้สนุกกับการดูยูโร 2024 ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์นี้ แล้วอย่าหักโหมดูเพลินจนลืมรักษาสุขภาพนะ

Writer

นักเขียนผู้หลงใหลโลกของฟุตบอล สนีกเกอร์ และกันพลา

You Might Also Like