Transformational

คุยเรื่อง digital transformation กับ ‘กนกกมล เลาหบูรณะกิจ’ MD คนไทยคนแรกของ Fujitsu

Fujitsu คือหนึ่งในแบรนด์ญี่ปุ่นที่ชื่อคุ้นหูและอยู่ในใจคนไทยหลายคน แต่ด้วยความที่ทำหลายอย่าง มีผลิตภัณฑ์และบริการหลายชนิด จึงเป็นเรื่องยากที่จะนิยามด้วยประโยคสั้นๆ ว่า Fujitsu ทุกวันนี้ทำธุรกิจอะไร

บริษัทจากแดนอาทิตย์อุทัยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1935 โดยคำว่า ‘ฟูจิ’ มาจากภูเขาฟูจิในญี่ปุ่น และหากแยกเป็นคำๆ ‘ฟู’ หมายถึงความมั่งคั่ง ‘จิ’ เป็นคำพ้องเสียงชื่อต้นของ siemen ที่เป็น siemen เพราะการผลิตคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกของฟูจิตสึนั้นใช้เทคโนโลยีของ siemen เข้ามาช่วย สุดท้ายคือ ‘สึ’ หมายถึงการสื่อสาร ซึ่งสื่อไปถึงธุรกิจในช่วงแรกของ Fujitsu ที่ทำเกี่ยวกับ telecommunication เป็นหลัก จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับมาทำคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ บริการด้านเทคโนโลยีสำหรับใช้ในองค์กรอีกมากมาย มาจนถึงปัจจุบันที่พัฒนาจนมีบริการทำ digital transformation ให้องค์กรต่างๆ

Fujitsu เข้ามาไทยเมื่อปี 1990 ในช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘Japanese Boom’ ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นได้ย้ายถิ่นฐานการผลิตสินค้าออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น จากวันแรกจนถึงวันนี้ Fujitsu ได้ขยับขยายและปรับธุรกิจให้เหมาะกับยุคสมัยจนสามารถยืนระยะในไทยมาได้นานถึง 32 ปี และตอนนี้ธุรกิจของ Fujitsu ในลาวและกัมพูชาก็อยู่ภายใต้การดูแลของ Fujitsu ประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Fujitsu ได้ประกาศเปิดตัว กนกกมล เลาหบูรณะกิจ เป็น Managing Director คนใหม่ของบริษัท 

มองเผินๆ นี่คือการที่บริษัทหนึ่งตั้ง MD ใหม่ แต่ความพิเศษคือ กนกกมลถือเป็น MD คนไทยคนแรกของ Fujitsu ตั้งแต่บริษัทเข้ามาในไทย โดยที่ผ่านมา MD ทุกคนล้วนเป็นคนญี่ปุ่นทั้งสิ้น

โดยหากย้อนสำรวจเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของกนกกมลจะพบว่าเธอคือผู้ที่คลุกคลีอยู่กับบริษัทแห่งนี้มาอย่างยาวนาน

กนกกมลทำงานทั้งในอุตสาหกรรมโรงงาน เทรดดิ้ง ก่อนจะมาเริ่มทำงานกับ Fujitsu เมื่อ 24 ปีที่แล้วในแผนกการขาย จากนั้นค่อยๆ เติบโตเป็น Director, Vice President, Head of Sales ก่อนจะก้าวมาเป็น MD ในปัจจุบัน

Capital จึงถือโอกาสนี้ชักชวน MD คนใหม่มาพูดคุยกันถึงธุรกิจในปัจจุบันของ Fujitsu แนวคิดในการบริหารและการรับมือความเสี่ยงในธุรกิจที่ต้องเผชิญ รวมถึงพูดคุยถึงความท้าทายของ Fujitsu ในวันที่มีบริษัทเทคโนโลยีทั้งจากจีน อเมริกา หรือเกาหลีครองพื้นที่ในใจคนไทยไปแล้วมากมาย แล้ว MD คนใหม่อย่างเธอจะนำพา Fujitsu เดินไปทางไหน

สรุปแล้วทุกวันนี้ Fujitsu ในไทยทำธุรกิจอะไรอยู่บ้าง

เราทำธุรกิจเหมือนกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น จากบริษัท IT พัฒนามาเป็น ICT จนถึงปัจจุบันคือเป็น digital transformation company คือเข้าไปช่วยทำ digital transformation ให้กับองค์กรต่างๆ แล้วก็ทำมีธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ด้าน IT เช่นแอร์

ซึ่งเราดูในฝั่งของ digital transformation company เป็นหลัก ธุรกิจที่ Fujitsu เข้าไปทรานส์ฟอร์มให้ก็มีตั้งแต่ automotive, automobile, manufacturing, retail, finance ไปจนถึงหน่วยงานราชการ 

ทำหลายอย่าง แล้วคุณนิยามธุรกิจที่ Fujitsu ทำว่ายังไง

เราคือบริษัทที่เป็น sustainability transformation service provider หรือการทำ digital transformation ให้กับบริษัทลูกค้าให้ยั่งยืน 

การทำ digital transformation ให้ยั่งยืนที่ว่าเป็นยังไง

การทำ digital transformation ไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวแล้วก็จบ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน คนเราก็มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ องค์กรก็ต้องตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ เราก็เลยจะทำหน้าที่เป็นพาร์ตเนอร์กับลูกค้าในระยะยาว 

การทำหน้าที่ของเราคือให้คำปรึกษากับลูกค้าว่าเขาจะเอาเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจเข้ากับยุคสมัยได้ยังไง แล้วดูว่าเรามีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์อะไรบ้างที่จะเข้าไปซัพพอร์ตการทำ digital transformation ให้กับลูกค้าได้

เพราะเราไม่ได้ก่อตั้งบริษัทมาเพื่อหวังกำไรครั้งเดียวแล้วก็จบ แต่อยากจะอยู่กับลูกค้าไปแบบยั่งยืน อย่างที่บอกว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้บริโภค การทำ digital transformation จึงไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวแล้วก็จบไป 

อะไรคือสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำ digital transformation

การทำ digital transformation ในธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันเลยคือต้องตั้งโจทย์ให้ชัดให้รู้ก่อนว่าการทรานส์ฟอร์มนี้ทำไปเพื่ออะไร อยากได้อะไร เพราะถ้าตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ก็จบแล้ว แต่ถ้าตอบได้ก็มาดูข้อที่สองกันต่อว่าแล้วการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาพที่คุณเห็นไว้มันต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมาซัพพอร์ตบ้าง

เวลาเข้าไปเป็นที่ปรึกษาเรื่องการทำ digital transformation คุณเริ่มต้นจากอะไร

เริ่มจากการดูว่าลูกค้ามี master plan ยังไง สิ่งที่เขาอยากจะเห็นหลังจากการทำ digital transformation เป็นแบบไหน แล้วเราก็จะไปทำความเข้าใจข้อมูลของลูกค้า พอเห็นกลยุทธ์และทิศทางของธุรกิจก็จะดูต่อว่าแล้วเราจะเอาเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เรามีอยู่มาช่วยปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจลูกค้าเปลี่ยนไปตามแผนที่ต้องการไว้ได้ยังไงบ้าง 

หลายคนหลงทาง คิดว่าการทำ digital transformation คือต้องเริ่มจากเทคโนโลยีหรือขอให้มีเทคโนโลยีนี้ก็เรียกว่า digital transformation แล้ว แต่ของ Fujitsu ไม่ใช่แบบนั้น การทำ digital transformation ของเราจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนำ แต่จะใช้ core business เป็นตัวนำ ดูว่าธุรกิจของลูกค้าต้องการไปในทิศทางใด แล้วการเดินทางจากจุด A ไปจุด B ไปจนถึงเป้าหมายที่ลูกค้าวางไว้เราสามารถเอาเทคโนโลยีอะไรมาช่วยให้การเดินทางนั้นดีขึ้นได้บ้าง

ซึ่งต้องบอกว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นภาพคร่าวๆ เพราะแต่ละธุรกิจก็มีรายละเอียดที่ต่างกันออกไป การทำ digital transformation เลยเป็นสิ่งที่มีความ customize มากๆ  

ยกตัวอย่างงานที่ Fujitsu เคยเข้าไปช่วยทรานส์ฟอร์มให้เห็นภาพหน่อยได้ไหม

อย่างเช่นถ้าโจทย์ของลูกค้าคืออยากลดพื้นที่ในการวางเซิร์ฟเวอร์ เราก็จะเสนอว่าถ้าอย่างนั้นก็ต้องเอาทุกอย่างขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ไหม ไปดูว่าเซิร์ฟเวอร์มันมีจำนวนเท่าไหร่  แล้วก็ประมาณการว่าถ้าจะเอาข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดขึ้นคลาวด์จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้เงินเท่าไหร่ ใช้คนจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็ทำออกมาเป็นแผนให้ลูกค้าดู ถ้าลูกค้าโอเคทั้งหมดเราก็จะสามารถทำแบบ Big Bang หรือทรานส์ฟอร์มทีเดียวไปได้เลย 

แต่ถ้าลูกค้ายังติดเรื่องค่าใช้จ่าย หรือยังไม่มั่นใจว่าจะเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในรวดเดียว เราก็จะทำแบบที่เรียกว่า Quick Win คือค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด เริ่มทำจากสเกลเล็กๆ ก่อนแล้วพอเห็นว่าโอเคก็ค่อยๆ ขยับไปทำสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยใช้กระบวนการ design thinking มาช่วยสื่อสารและขับเคลื่อนการทำ Quick Win ในแต่ละสเตปไป

ผู้บริหารหลายคนแม้จะมี Big Bang ที่อยากจะทำอยู่ในใจ แต่ก็เลือกที่จะทำแบบ Quick Win เพราะมันเป็นวิธีการทรานส์ฟอร์มที่ให้คนได้เห็นภาพทีละนิด ให้คนในองค์กรได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อค่อยๆ เห็นภาพก็จะเริ่มมีความเข้าใจและทำให้พนักงานค่อยๆ เคลื่อนที่ไปกับองค์กรได้

ตั้งแต่ทำ digital transformation มา บอกเลยว่าเรื่องคนนี่เป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุดแล้ว แม้พนักงานบางคนจะรู้ดีว่าการทรานส์ฟอร์มมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอถึงเวลาจะทรานส์ฟอร์มจริงๆ ก็มีพนักงานอยู่หลายคนเหมือนกัน ที่แม้จะไม่ได้ต่อต้านแต่ก็ดื้อเงียบ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่เกิดขึ้น 

ทำไมคุณถึงคิดว่าเรื่องคนเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำ digital transformation ในธุรกิจ

ยกตัวอย่างของเราเองแม้จะเป็นบริษัท IT แต่คนที่ทำงานอยู่ในนั้นคือมนุษย์ แล้วถึงยังไงมนุษย์ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ดี ซึ่งคนเรานั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงกันง่ายๆ แต่งานที่เราทำมันบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นที่นี่เราก็เลยมีการทำสิ่งที่เรียกว่า change management ทั้งในองค์กรของเราเองและองค์กรของลูกค้า คำว่า change management นี้ที่หมายถึงการทำกิจกรรมบางอย่างที่ให้พนักงานได้ฝึกการเปลี่ยนแปลง เปิดรับทักษะใหม่ๆ อย่างถ้าเป็นของลูกค้าพอเราวางระบบให้กับลูกค้าเสร็จ ก็จะมีการเข้าไปเทรนพนักงาน ซึ่งไม่ใช่การเทรนครั้งเดียวแล้วจบ เพราะการทำครั้งเดียวไม่อาจทำให้พนักงานใช้เทคโนโลยีเป็นจริงๆ ดังนั้นพอเทรนเสร็จก็มีการเวิร์กช็อป แล้วจะมีกระบวนการที่ให้ผู้บริหารได้มาใช้ด้วย พอพนักงานเห็นแบบนี้ก็จะกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกว่าขนาดหัวหน้าเรายังใช้เลย แล้วเราจะไม่ใช้เทคโนโลยีนี้ให้เป็นได้ยังไง 

ที่ต้องทำขนาดนี้เพราะเรารู้สึกว่านอกจากเทคโนโลยีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือคนที่มาใช้เทคโนโลยีนั้น เพราะถึงเทคโนโลยีนั้นจะดีจะล้ำแค่ไหน แต่ถ้าขาดคนใช้มันอย่างต่อเนื่องมันก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก ก็อาจจะเหมือนกับที่พี่โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยบอกว่าการทำงานที่ดีต้องทำงานให้สำเร็จไม่ใช่แค่ทำงานเสร็จ

ทุกวันนี้ธุรกิจที่ทำ digital transformation มีการแข่งขันกันมากน้อยแค่ไหน

ถ้าพูดถึงภาพรวมของตลาดยังมีคนที่ทำ digital transformation ในเชิงการเป็นคอนซัลต์เหมือนเราไม่เยอะมากนัก แล้วแต่ละรายก็จะมีความชำนาญที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงยังไม่เกิดการแข่งขันกันในเชิงห้ำหั่นตัดราคา และการตัดสินใจของลูกค้าจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องราคาเป็นหลัก แต่จะดูว่าบริษัทที่จะเลือกมาทำ digital transformation ให้มีคุณภาพไหม มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ผลงานที่ผ่านมาสามารถตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าได้ไหม มีโซลูชั่นหรือบริการที่ส่งเสริม business plan ของเขาหรือเปล่า ทำให้รายได้ของธุรกิจโตได้กี่เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายหรือพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นเหตุผลแนวนี้มากกว่า 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าต้องเลือก Fujitsu มาเป็นคนช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้

ลูกค้าของ Fujitsu ส่วนใหญ่คือคนที่เคยทำธุรกิจกับเราอยู่แล้ว เป็นคนที่เข้าใจในคุณภาพของเรา หรือเป็นลูกค้าที่ได้มาจากการบอกต่อๆ กัน ซึ่งลูกค้าก็ล้วนกลับมาปรึกษาเราตลอดเพราะ jouney ของการทำ digital transformation มันไม่เคยหยุด มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามโลกที่หมุนตลอดเวลา อีกอย่างด้วยความเป็น global company เราก็สามารถแชร์ know-how ข้ามประเทศกันได้ด้วย สมมติเช่น Fujitsu ที่อเมริกาเคยเจอแบบนี้มา แล้วมีลูกค้าที่ไทยเจอปัญหาคล้ายๆ กันเราก็สามารถเอาความรู้ที่เคยแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่อเมริกามาแก้ปัญหาให้ลูกค้าที่ไทยได้ อีกอย่างคือในวงการ Fujitsu มีชื่อเสียงของการเป็นพาร์ตเนอร์แบบระยะยาวกับลูกค้า เพราะเราไม่ได้แค่เอาซอฟต์แวร์ไปวางให้กับลูกค้าแล้วก็จบ แต่มีการทำสิ่งที่เรียกว่า change management ให้กับลูกค้าเหมือนอย่างที่ได้เล่าไป

เมื่อเป็นองค์กรที่ต้องไปทรานส์ฟอร์มให้กับคนอื่น แล้ว Fujitsu ทรานส์ฟอร์มตัวเองยังไง 

ด้วยความเป็นธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนก่อนลูกค้า เราเลยมีโปรแกรมที่เรียกว่า Fujitra ซึ่งมาจากคำว่า Fujitsu + Transformation ที่เอาไว้คอยเทรนพนักงาน ซึ่งการเทรนที่ว่าไม่ได้มีแค่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น เพราะอย่างล่าสุดเรามีการเทรนที่เรียกว่า Purpose Craving คือให้พนักงานมาหาเป้าหมายชีวิตของตัวเอง

ที่ต้องเทรนเรื่องนี้ก็เพราะว่าการทำ digital transformation ไม่ใช่แค่มีเทคโนโลยีอย่างเดียวแล้วจะทำได้ แต่ต้องอาศัยเรื่องคนและวัฒนธรรมในองค์กรด้วยเช่นกัน 

แล้วตัวคุณเองที่อยู่กับ Fujitsu มา 24 ปีมีวิธีการทรานส์ฟอร์มตัวเองยังไง เพราะการเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย

ใช่ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองมันไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย แต่ดีที่ Fujitsu เป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ตลอด บริษัทเขาก็จะมีอะไรใหม่ๆ มาให้เราได้เรียนรู้เสมอ เช่นถ้ามีเทรนอะไรใหม่มาเขาก็จะบอกว่ายูไปเรียนตรงนี้สิ ยูต้องไปเทรนตรงนี้นะ ต้องไปรับรู้ว่าโลกมันเป็นแบบนี้แล้ว พออยู่ในองค์กรแบบนี้มันก็เลยเป็นการผลักดันให้เราต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาไปโดยอัตโนมัติ

แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ความรู้ในอดีตหลายๆ อย่างก็ยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับเรื่องคนเพราะแม้โลกจะหมุนไปยังไงคนก็ยังมีความเป็นคน มีรักโลภโกรธหลงอยู่ดี ส่วนสิ่งใหม่ๆ เราก็ต้องยิ่งเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเราทำงานที่ต้องเปลี่ยนและรู้ก่อนคนอื่น และคนทำงานแบบนี้คงไม่มีใครเอาสิ่งที่ล้าหลังไปนำเสนอให้กับลูกค้า

ด้วยงานที่ทำและธุรกิจที่บริหาร คุณเองปกติเป็นคนหลงใหลในเทคโนโลยีอยู่แล้วหรือเปล่า 

เราหลงใหลในการแก้ปัญหาธุรกิจให้กับลูกค้ามากกว่า เพียงแต่การแก้โจทย์ธุรกิจให้กับลูกค้าทำให้เราต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีไปด้วย อย่างเช่นถ้าเราจะขายระบบ ERP ให้ลูกค้าก็ต้องมานั่งศึกษาแล้วว่า ERP คืออะไร เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ยังไงบ้าง 

โจทย์ไหนที่แก้ให้กับลูกค้าแล้วคุณรู้สึกภูมิใจบ้าง 

จะมีลูกค้าทำน้ำมันปาล์มอยู่รายหนึ่งที่เขากำลังจะเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วเขาต้องเร่งวางระบบเตรียมระบบอะไรต่างๆ มากมาย แต่ระหว่างทางในการเตรียมตัวของเขาก็เจอกับอุปสรรคเยอะมาก เช่นมีคนออกเยอะบ้าง ข้อมูลบางอย่างไม่พร้อมบ้าง แต่สุดท้ายเราก็มีส่วนช่วยวางระบบช่วยเตรียมข้อมูล เราไปเก็บข้อมูลจากแผนกต่างๆ ในบริษัทของลูกค้า พอได้ข้อมูลต่างๆ จากลูกค้ามากองรวมกันแล้วก็เอาไปใส่ในซอฟต์แวร์ที่เรามีอยู่ แล้วก็ถามลูกค้าว่าเขาอยากได้ outcome แบบไหนที่จะทำให้เขาได้ไอเดียในการทำ Strategic decision

ยกตัวอย่างความหมายของคำว่า outcome ที่ว่านี้ให้เห็นภาพมากขึ้นก็อย่างเช่น บางครั้งน้ำมันปาล์มในต่างจังหวัดก็จะมีราคาขึ้น-ลงแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เราก็ต้องดีไซน์ระบบที่ทำให้ลูกค้าสามารถทำนายได้ว่าราคาแต่ละช่วงมีแนวโน้มเป็นยังไง ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มช่วงไหนสูงหรือต่ำ พอลูกค้าเห็นแนวโน้มจากข้อมูลบนระบบที่เราทำขึ้นมา ก็ทำให้ลูกค้าสามารถทำ Straegic Decission Making หรือตัดสินใจได้ในตอนทำแผนการผลิตว่าถ้าเห็นข้อมูลแบบนี้จะสั่งลดหรือเพิ่มกำลังการผลิตดี

จนสุดท้ายเราก็ช่วยแก้ปัญหาจนเขาสามารถจบโปรเจกต์ได้ทันเดดไลน์ มันก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ

แล้วโจทย์ไหนท้าทายที่สุดตั้งแต่ทำงานที่ Fujitsu มา 

คือบางครั้งลูกค้าก็จะมีความ aggressive จะต้องได้สิ่งที่ต้องการภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็กลายเป็นแรงกดดันให้กับคนที่อยู่หน้างาน

เหตุการณ์หนึ่งตอนที่เราเป็น Head Of Sales มีลูกค้าเจ้าหนึ่งที่เขาดีลมากับเรา 10 กว่าปี แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่เขาทรีตกับทีมเราไม่ดี ก็เลยเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจเหมือนกันว่าเราจะดีลกับลูกค้ารายนี้ยังไง ถ้าเราเลือกทีมก็มีสิทธิ์ที่จะเสียลูกค้าที่ดีลมาสิบกว่าปีนี้ไป แต่ถ้าเลือกลูกค้าทีมก็ไม่อยู่กับเราเหมือนกัน 

สุดท้ายเราก็เลยเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าคือเลือกทีม เพราะหลักการทำงานของ Fujitsu คือ Put People First

แต่สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องที่จบแบบ happy ending นะ เราก็เข้าไปคุยกับลูกค้าในรายละเอียดว่าทำไมถึงต้องพูดกันขนาดนี้ เราร่วมงานกันก็ไม่จำเป็นต้องพูดด้วยวาจารุนแรงขนาดนั้น ไปทำให้ลูกค้าเข้าใจในจุดยืนของเรา และทำให้เขาเห็นว่าเราอยากเป็น long term partnership กับเขาอย่างจริงใจ

โจทย์สำคัญของการเป็น MD ในตอนนี้ของคุณคืออะไร

เนื่องจากเราเป็นบริษัทที่ทำด้าน service provider ก็เลยอยากจะทำให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากฝั่งของเซอร์วิสเพิ่มมาเป็น 60-70% ของยอดขายทั้งหมดภายในอีก 3 ปีข้างหน้า แล้วก็คิดว่าอยากจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันเรื่องของ green economy ด้วย อยากให้โซลูชั่นของเรามันเป็นสิ่งเดียวกับที่เรา provide ให้กับลูกค้าได้เลย เช่นโซลูชั่นที่เป็น green manufacturing เป็นต้น 

เพราะไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในตอนนี้ Fujitsu ระดับโลกก็กำลังผลักดันให้การทำงานขององค์กรมี sustainability ด้วยเช่นกัน

อะไรที่ทำให้อยู่ในองค์กรนึงมายาวนานกว่า 24 ปี

เพราะเขาให้โอกาสเรา โอกาสที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของตำแหน่ง แต่หมายโอกาสให้เรียนรู้และลองทำสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ภาพของ Fujitsu คือบริษัทที่เน้นบุกบริษัทที่เป็นญี่ปุ่นด้วยกัน ถึงจุดนึงเราเห็นโอกาสว่าน่าจะลองไปลุยในบริษัทที่ไม่ใช่ญี่ปุ่นดูบ้าง เขาก็บอกแล้วแต่ยูเลย อยากจะทำอะไรอยากจะตั้งสาขาก็ทำได้เลย อะไรที่ดูแล้วเป็นประโยชน์กับบริษัทไม่ว่าผลลัพธ์มันจะดีหรือไม่ดีเขาก็ให้เราลองทำ เลยรู้สึกว่าที่นี่เป็นบริษัทที่ให้โอกาสจริงๆ

อีกอย่างคือเขายอมรับความหลากหลายมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว มีคัลเจอร์ที่เป็นแบบ global company มานานแล้ว โอบรับความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเพศหรือเชื้อชาติไหนก็ได้รับโอกาสเท่ากัน พออยู่ในองค์กรแบบนี้มานาน ตอนขึ้นมาเป็น MDใหม่ๆ แล้วคนบอกว่าเราคือ MD ผู้หญิงคนแรกของ Fujitsu ประเทศไทย ก็เลยไม่ได้ไปขีดเส้นใต้ตรงนั้นไปมากกว่าการเป็น MD คนไทยคนแรก ของ Fujitsu ประเทศไทย 

เพราะคัลเจอร์ของที่นี่ไม่ได้ไฮไลต์เรื่องเพศหรือเชื้อชาติไปมากกว่าความสามารถที่เคยทำมา

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like