Artful Design

ศิลปะการออกแบบธุรกิจของ Touchable ที่ขายเฟอร์นิเจอร์ให้โรงแรม 5 ดาวชื่อดังทั่วเอเชีย

able แปลว่า be able to do something และความสำเร็จของแบรนด์ Touchable ก็มาจากมายด์เซตที่เชื่อว่าสามารถทำได้ทุกสิ่งและอยากสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์ชิ้นสวยที่ใช้งานได้จริง  

จิรพรรณ โตคีรี Designer Director & Founder ของบริษัท Able Interior Workshop Co.,Ltd. หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อแบรนด์ Touchable เรียนจบสายอาร์ตมาแล้วเริ่มจากการลองผิดลองถูกในการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ด้วยตัวเอง ก่อตั้งโรงงานและสร้างบริษัทเองจากศูนย์ตั้งแต่อายุราว 24-25 โดยเริ่มจากมีพนักงานแค่ 1 คน จนวันนี้จิรพรรณในวัย 55 ปีกลายเป็นแม่ทัพหัวเรือใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้กับโรงแรมดังทั้งในไทยและต่างประเทศมากมายอย่าง Mandarin Oriental, Siam Kimpinski Hotel Bangkok, The Okura Prestige Bangkok, JW Marriott Phuket, Sri Panwa Phuket, Avani+ Luang Prabang, THE WAY Dhaka, Nagini Bar at Three Nagas ฯลฯ

เธอบอกว่าดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนมีคาแร็กเตอร์และเชื่อว่าการมีเทสต์ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง ความเชื่อของเธอถูกบอกเล่าผ่านผลงานที่แม้จะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับ luxury แต่แนวทางการดีไซน์ของแบรนด์มุ่งผลักดันการผสานวัสดุท้องถิ่นจากธรรมชาติมาใช้ นำวัสดุเหลือใช้มาดีไซน์ใหม่ ผสานความเป็นไทยและมุ่งสร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์สุดประณีตโดยช่างฝีมือท้องถิ่น 

เส้นทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดนี้เพราะจิรพรรณมีศิลปะในการทำธุรกิจที่ไม่ได้มองว่ากำลังออกแบบแค่เฟอร์นิเจอร์ แต่มองว่ากำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยเธอยังมีศิลปะในการขายไปจนถึงศิลปะในการทำธุรกิจในแบบของดีไซเนอร์ที่น่าสนใจจนอยากชวนทุกคนมาฟังเรื่องราวเบื้องหลังของการปั้นแบรนด์ Touchable กัน

Product
Able to be Original 

“แบรนด์เราชื่อ Touchable แปลว่าอะไรก็ได้ คำว่า able แปลว่า ได้ เวลาไปต่อกับคำอะไรก็ตามมันแปลว่าเป็นไปได้หมด” จิรพรรณย้อนเล่าถึงที่มาของชื่อซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของแบรนด์

สมัยเริ่มธุรกิจใหม่ๆ จิรพรรณลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง เริ่มจากทดลองทำกระเป๋าขาย แล้วหันมาจับงานอินทีเรียร์ รับเหมาตกแต่ง เป็นซัพพลายเออร์เฟอร์นิเจอร์ให้กับโรงแรม 5 ดาวต่างๆ  จน พ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เธอได้ไปเดินงานแฟร์ของตกแต่งบ้านที่โด่งดังในสมัยนั้นชื่องาน BIG+BIH และงานบ้านและสวนแฟร์ ทำให้มองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์ไอเดียในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร 

เธอริเริ่มครีเอตดีไซน์ที่มีความออริจินัลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้งานดีไซน์โดยเริ่มจากโคมไฟวีเนียร์ที่เกิดไอเดียจากการเห็นเศษไม้เหลือในโรงงานไม้อัด ไม้พวกนี้มันมีตา มีความไม่เรียบร้อยที่เขาไม่สามารถจะเอามาทำไม้อัดขายได้ เขาก็จะทิ้ง เราเลยเอามาทำโคมไฟ พอมันมีตาแล้วมันสวยมากเลย” 

โคมไฟวีเนียร์เป็นงานดีไซน์ชิ้นแรกๆ ที่ทำให้แบรนด์แจ้งเกิดเพราะในยุคนั้นไม่ใช่ทุกแบรนด์จะสามารถมาจัดแสดงที่งาน BIG+BIH ได้ง่ายๆ แม้บูทของแบรนด์ตอนไปออกงานแฟร์จะมีขนาดเล็กเพียง 3X3 ตารางเมตรแต่ก็ขายได้ถึงหลักล้านและเป็นดีไซน์ที่ขายได้ทั่วโลกในเวลาต่อมา จิรพรรณบอกว่าแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่อยากเชื่อในฝีมือของตัวเอง

ทุกวันนี้ Touchable ขยับขยายธุรกิจจนเป็นแบรนด์ที่มีเฟอร์นิเจอร์หลากหลายแทบจะครบทุกหมวดทั้งโคมไฟ เก้าอี้ โซฟา โต๊ะ เตียง ฯลฯ เพราะจิรพรรณบอกว่าไม่อยากจำกัดโอกาสของตัวเอง 

“เราอย่าไปจำกัดให้สินค้าเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ พอเราคิดไอเดียแล้วมีทีมที่ค่อนข้างเก่ง เราคิดอะไรเขาก็จะทำได้ เรามีหลักคิดว่าอะไรก็ตามที่เราคิดมา มันต้องทำให้ได้และเป็นสิ่งที่ในตลาดไม่มี เราต้องไม่เหมือนคนอื่น มีความตั้งใจว่าถ้าอยากออกแบบอะไรก็ต้องได้ทำ เช่น อยากทำกระเป๋าขายก็ไปซื้อจักร

“แล้วตัวเองก็เป็นคนพลังเยอะและเป็นคนลงมือทำเองทุกอย่าง เชื่อว่าทุกที่มีสิ่งให้เราเรียนรู้ เราเรียนรู้จากช่างและอยู่กับช่าง เราเป็นดีไซเนอร์ผู้โชคดีที่เรียนอาร์ตมาแล้วเราสามารถออกแบบอะไรก็ได้” 

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าต้นทุนในการออกแบบสินค้าของจิรพรรณคือ can-do attitude ที่เชื่อว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ทำให้สามารถวางรากฐานกระบวนการผลิตที่แข็งแรง มีทีมช่างฝีมือที่มีความประณีตเพื่อพร้อมต่อยอดไอเดียดีไซน์ในการเพิ่มมูลค่าได้

Reimagine Craft 

หากเดินผ่านบูทของ Touchable ในงานแฟร์ต่างๆ จะสะดุดตากับพาเลตสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ที่ฉีกดีไซน์จากแบรนด์อื่นๆ ความโดดเด่นของแบรนด์คือการสร้างสรรค์ของตกแต่งบ้านเสมือนเป็นงานอาร์ตซึ่งเหมาะกับลูกค้ากลุ่มโรงแรมที่อยากสร้างสรรค์คอนเซปต์พิเศษที่ไม่เหมือนใคร 

คอลเลกชั่นโดดเด่นมักมีการจับคู่พาเลตสีสันสดใสและใช้วัสดุเหลือใช้ที่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างเก้าอี้คอลเลกชั่น Zigzag ที่ได้แรงบันดาลใจจากสีสันในธรรมชาติจากทะเล ภูเขา ดวงอาทิตย์และดอกไม้แล้วใช้ผ้าเหลือ 4-5 สีมาสร้างสรรค์เป็นเก้าอี้ หรือคอลเลกชั่น Blossom ที่ชุบชีวิตผ้าเหลือจากโรงงานผลิตผ้ามาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋า bean bag ไปจนถึงเสื้อผ้า 

“ก่อนหน้าที่จะทำคอลเลกชั่นพวกนี้ ปกติเราก็เป็นคนไม่ค่อยได้ทำงานที่ใช้สีถึงขนาดนี้ แต่พอเน้นสีแล้วเราจะเป็นคนที่ทำให้สุด เราเป็นคนสนุก เราคิดว่าการใช้สีมันมีความสนุก แล้วทำไมไม่สนุกไปกับมันล่ะ” หลักการดีไซน์ให้สวยของเธอคือไม่ละเลยสิ่งที่เป็นหลักการพื้นฐานอย่างทฤษฎีสี 

“ถ้าพื้นฐานเรียนสายอาร์ตหรือดีไซน์มา สิ่งแรกที่ต้องเรียนคือทฤษฎีสี แต่เด็กสมัยนี้มักไม่เรียนกัน ซึ่งน่าเสียดาย อันนี้คือหัวใจสำคัญในการทำอะไรก็แล้วแต่ เราควรรู้ว่าสีนี้ควรจะอยู่กับสีอะไร ไม่ใช่สะเปะสะปะ ถ้าเราจะเน้นความ colorful เราจะทำยังไงให้มันมีรสนิยม อันนี้มันสอนกันไม่ได้จริงๆ เราก็คอยปรับแล้วสินค้าเราก็ได้รับการตอบรับทั้งลูกค้าจากเอกชนและรัฐบาลให้เราพัฒนาตรงนี้ต่อไป”  

ดีไซน์ที่แตกต่างเกิดจากการคิดค้นเทคนิคในการผลิตที่แตกต่าง เช่น การนำไหมพรมมาพันกับไม้ ชวนช่างจักสานมาทำงานร่วมกับช่างไหมพรมทำให้เกิดเฟอร์นิเจอร์ที่มีการผสมผสานของสองวัสดุ การนำนวัตกรรมวัสดุใหม่อย่างกัญชง (hemp) มาผสมกับวัสดุเดิมทำให้วัสดุที่ใช้ในการผลิตมีคุณภาพ

“เราก็ลองมาเรื่อยๆ ปรับดีไซน์อยู่นาน อย่างไอเดียที่ใช้ไหมพรมพันไม้ข้างในเพราะไม้อัดที่บ้านเรามีเยอะมาก เราเอามาตัดเป็นทรงกลมเป็นรูโดนัท เพราะถ้าตัดเป็นทรงกลมเฉยๆ มันพันเชือกไม่ได้ แล้วก็เอามาเรียงยาวเป็นหน้ากระดาน”

จิรพรรณบอกว่าปัจจุบันเธอเพิ่งเริ่มแตกแบรนด์ภายใต้แบรนด์ Touchable ชื่อแบรนด์ touché ที่จะหันมาเน้นเรื่องการนำวัสดุ upcycling มาใช้ร่วมกับวัสดุท้องถิ่นมากขึ้นและดีไซน์งานคราฟต์เหล่านี้ให้มีความโมเดิร์น ความตั้งใจในการสนับสนุนความยั่งยืนของเธอเริ่มขึ้นตอนช่วงโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

“ตอนโควิดโรงงานเพื่อนจะเจ๊งก็เลยไปดู ไปดูเสร็จแล้วก็ยังคิดไม่ออกในตอนนั้นเลย แต่เอาเศษไหมพรมมาก่อน พอมาลองทำดูก็สนุกดี ตอนนี้วัสดุพวกนี้กลายเป็น leftover ที่เป็นสีสันของเราในการทำเรื่องความยั่งยืน คำว่า sustainable ในความหมายของเราคือต้องใช้ได้จริงและต้องนำเสนอตัวตนของแบรนด์ได้ด้วย เราไม่ได้รักโลกแบบไปเก็บขยะ ในมุมเรารู้สึกว่าถ้าแค่ย้ายขยะ สุดท้ายทุกคนก็ไม่ได้สัมผัสมัน ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน” จิรพรรณบอกว่าเธออาจจะคิดไม่ถูกก็ได้ แต่ในบทบาทของดีไซเนอร์ หน้าที่ของเธอคือการนำวัสดุที่คนไม่สนใจแล้วกลับมาให้คนสัมผัสได้อีกครั้งในฐานะของตกแต่งบ้านดีไซน์สวย  

“ทั้งหมดนี้เราทำได้เพราะทำด้วยกันกับทีม คือถ้าเราคิดขึ้นมาแล้วช่างทำไม่ได้ มันก็ไม่เกิด ไปคนเดียวไปได้ไว แต่การไปด้วยกันทำให้ไปได้ไกล แล้วก็ไม่มีเคล็ดลับการดีไซน์อะไรเป็นพิเศษ ใช้เทคนิคส่วนตัวล้วนๆ เลย เราทำอะไรไม่เคยซ้ำกัน ลูกน้องตามเราไม่ค่อยทัน เพราะเราไปไวมาก เราก็สนับสนุนและให้โอกาสทีมทุกคนเดินทาง อย่างน้องในทีมเราก็สนับสนุนให้เขาไปฝรั่งเศส อินเดีย เพื่อที่จะให้เขาดูว่าคนอื่นเขาเป็นยังไง ทำยังไง แล้วหันกลับมาย้อนดูตัวเราเองว่าเราพร้อมที่จะออกไปรบกับพวกเขาไหม นี่คือกุศโลบายของเรา”  

Price  
Broad Shades of Luxury 

ภายใต้บริษัท Able Interior Workshop Co.,Ltd. ที่มี 2 แบรนด์คือ Touchable และ touché
นั้นประกอบไปด้วยช่วงราคาที่หลากหลาย แม้จะมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นธุรกิจโรงแรมเหมือนกันแต่ทั้งสองแบรนด์ก็มีคอนเซปต์ดีไซน์และ positioning ของแบรนด์ที่แตกต่างกันเล็กน้อย

positioning ของ Touchable คือเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้สอยทั่วไปที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกระดับตั้งแต่รีสอร์ตไปจนถึงโรงแรมหรู “ไม่ใช่ว่ารีสอร์ตไม่มีความ luxury นะ คำว่า luxury ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นวัสดุจากทอง ทองแดงเสมอไป การใช้วัสดุพื้นถิ่นที่ราคาถูกแล้วนำมาทำให้สวยเนี้ยบก็เป็น luxury ได้ เราซัพพลายให้กับโรงแรม 5 ดาวหลายที่ ทำตามไบเบิลของแบรนด์นั้นๆ”  

ส่วน touché ที่มีคอนเซปต์ดีไซน์มีความเป็นศิลปะมากกว่าและเน้นผสานวัสดุคราฟต์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนจะมีของชิ้นเล็กหลายหมวดมากกว่า จึงมีช่วงราคากว้างกว่าและมีหลักการตั้งราคาที่ยืดหยุ่นกว่าตามสไตล์ของงานศิลปะ  

“touché ก็จะเป็นราคาน่ารักที่ยังซื้อได้ เป็นงานอาร์ตแบบที่นำเสนอตัวตนของโรงแรม เราเริ่มต้นที่ราคา 500 บาทถึงล้านหนึ่ง ราคามันน่ารักนะ แปลว่าแบรนด์สามารถแสดงถึงความเป็นแบรนด์เล็กหรือหรูหราก็ได้ แล้วแต่โจทย์ที่เราจะได้รับมาหรือคอนเซปต์ที่เราจะนำเสนอให้ลูกค้าไป”  

แม้จิรพรรณจะเพิ่งแตกแบรนด์ย่อยเป็น touché ได้ไม่นานนักแต่ความจริงแล้วเธอได้ทำ art consultancy หรือให้คำปรึกษาลูกค้าในการออกแบบงานอาร์ตอยู่เบื้องหลังมานานกว่าสิบปีแล้วเช่นกัน เธอบอกว่าหากเป็นสินค้าที่ทำเพราะอยากทำด้วยตัวเองไม่ใช่งานของลูกค้า เธอจะคิดตั้งแต่ต้นว่าจะผลิตยังไงให้ง่ายและอยากขายในราคาเท่าไหร่เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้ช่างฝีมือได้ 

“เราสั่งเสื่อปีหนึ่งเป็นพันผืน เพราะว่าเราเอามาทำให้โรงแรม งานอาร์ตและเฟอร์นิเจอร์ก็เกิดจากเสื่อชาวบ้าน แต่เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เขายังไง ก็ต้องเปลี่ยนสี อันนี้คือ taste ละ สิ่งที่เขาทออยู่ทุกวันก็สวยแต่เราอยากมีความหลากหลาย เราก็มาตบกับทีมอีกทีนึงว่าสีควรเป็นประมาณไหน เฟดสีนี้ลงอีกนิด เพิ่มอีกสีนึงนิดหน่อย เราเป็นเหมือนคนคุมเกม อยากให้เห็นปุ๊บแล้ว Touchable”

Promotion & Place
Touchable Sale 

นอกจากเป็นดีไซเนอร์ที่มีรสนิยมแล้ว จิรพรรณยังเป็นนักขายมือฉมังที่มีเทคนิคการขายง่ายๆ คือความใส่ใจทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าที่เป็นโรงแรมห้าดาวชื่อดังระดับโลกทั้งในไทยและต่างประเทศได้ 

“ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงเราได้ เราเป็นคน touchable เหมือนชื่อแบรนด์เลย เข้าถึงได้ เราเป็นมิตร เรา sharing for caring ในเวลาที่เรารู้สึกว่าเราอยากให้ ที่นี่ไม่เคยทำการตลาด แต่คุณมาหาเราแล้วคุณเห็นของจริง คุณเห็นเราและการผลิตทุกอย่างแน่ๆ เห็นผู้หญิงคนนี้นั่งอยู่ตรงนี้แน่ๆ เมื่อไหร่ที่ลูกค้าถาม เราตอบได้ทุกคำถาม แต่เวลาที่คนไม่ได้ถาม เราก็ไม่ได้ตอบและไม่เคยไปข้างนอกเพื่อที่จะไปของานใคร การใส่ใจสำคัญ พอใส่ใจและซื่อสัตย์กับความคิดตัวเองแล้วทุกอย่างก็จะเข้ามา”  

หลักการตลาดง่ายๆ อีกอย่างคือการทำดีไซน์ให้แข็งแรงทำให้ลูกค้าวิ่งเข้าหาแบรนด์เองด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น “ถ้าไปออกบูทก็ต้องทำบูทให้สวยเพื่อที่จะเรียกคน เขาเรียกว่าให้ภาพมันเล่าเรื่อง ดูเป็นหลักการที่เรียบง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่ายหรอก เกิดมาก็ไม่ง่ายละ” 

นอกจากเจอ Touchable ได้ที่งานแฟร์ต่างๆ ตามโอกาสแล้ว สามารถแวะเข้าไปหาแบรนด์ได้ที่โชว์รูม 2 สาขา ที่กรุงเทพฯ และสาขาใหม่ที่เพิ่งเปิดคือภูเก็ต ซึ่งตั้งใจเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 

“ตรงนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขึ้นเยอะ คอนโดขึ้นเยอะมากเพื่อที่จะมารองรับการเปลี่ยนแปลง ชาวต่างชาติที่มีตังค์หน่อยก็กำลังย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านเรา พอมีดีมานด์แปลว่าต้องมีซัพพลายเป็นของคู่กัน อย่างเราขายงานอาร์ตด้วย ขายเฟอร์นิเจอร์ด้วย ก็ค่อนข้างครบ คิดว่ามันน่าจะตอบรับโจทย์ในตลาดตรงนั้นได้ดี”

การแจ้งเกิดจากโคมไฟวีเนียร์ทำให้ได้สะสมคอนเนกชั่นเป็น distributor จากหลายประเทศที่ยุโรป สิงคโปร์ เวียดนาม ฯลฯ โดยประสบความสำเร็จในการส่งออกไปหลายประเทศและยังได้ร่วมออกงานแฟร์ด้านดีไซน์กับงาน Maison&Objet และงานแฟร์ที่มิลานมานับสิบปีแล้ว

จิรพรรณแนะนำว่านักธุรกิจหรือดีไซเนอร์ที่อยากไปออกงานแฟร์ระดับโลกจะต้องมีทั้งดีไซน์และแบรนด์ที่แข็งแรงพ่วงกับศักยภาพในการขาย

“ขายแล้วก็ต้องคำนึงว่ามีบริการหลังการขายไหม ต้องคุยกับลูกค้าเป็น เขาอาจจะบอกว่าเก้าอี้ตัวนี้ฉันชอบนะ แต่อยากจะขอเปลี่ยนดีเทลตรงนี้ได้ไหม มันก็ต้องเกิดการพูดคุย เวลาไปออกงานแฟร์ ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยเล่าเรื่องงานโดยตรง เราจะเล่า shortcut ไปเลยว่าที่มาที่ไปของการทำโปรเจกต์นี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร”  

Preparing 
Great Things Take Time 

องค์ประกอบที่ทำให้จิรพรรณสร้างสรรค์งานดีไซน์ชิ้นเยี่ยมและตั้งธุรกิจได้สำเร็จคือการเตรียมตัว

ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เตรียมใจ เตรียมกาย เตรียมสมอง มันต้องมีความพร้อม ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีการเตรียมตัว อยู่ๆ มีความฝันแล้วอยากให้เป็นจริงขึ้นมาเลย มันก็ยาก” 

หากสรุปสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ทำงานคือการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกขณะก้าวที่เดิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับช่างฝีมือ ลูกค้า การเดินหน้าทำงานและใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการเรียนรู้

“จริงๆ ถ้าอยากประสบความสำเร็จแบบเราก็ต้องไม่เหนื่อยที่จะเรียน เราชอบประโยค ‘งานหนักไม่เคยฆ่าใคร’ เพราะเราเป็นคนทำงานหนัก แต่ก็ต้องสนุกกับมันนะ ไม่ใช่ทำงานหนักแล้วเอาแต่เครียด  

“ไม่ว่าจะเครียดหรือสนุก เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เวียนเป็นวงกลม ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอนเราเสมอว่า วงกลมชีวิตคนเราจะมี 2 วง มันจะหมุนซ้อนกันไปเรื่อยๆ บางจุดที่เรารู้สึกดาวน์ พอเจอเรื่องที่ทำให้ดาวน์ลงอีกซ้อนกัน มันก็จะแย่ลงดำดิ่งเลย แต่มันจะอยู่กับเราไม่นาน แล้วมันก็จะหมุนออกไป พอจุดที่เราแข็งแรง มันก็จะมีช่วงที่ดีแบบพุ่งปรี๊ดเลย แต่มันก็จะอยู่กับเราไม่นานอีก ก็ต้องทำใจให้เป็น

“อย่าดีใจเกินไปเวลาสำเร็จ และอย่าทุกข์ใจเกินไปเวลาที่เราแย่ หลักการมีอยู่แค่นี้ และทำให้เราเดินทางมาได้จนถึงวันนี้ เราไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเองและนี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องมี”


ข้อมูลติดต่อ
Facebook :
Touchable Bangkok 
Instagram : @touchablebkk

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like