รสชาติ/ชีวิต/โตมร

บทสนทนาระหว่างมื้ออาหารว่าด้วยรสชาติ ชีวิต และสิ่งสำคัญของ โตมร ศุขปรีชา

หลักฐานที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่แน่นอนในโลกนี้คือความไม่แน่นอน คือความเคลื่อนไหวของความคิดคนที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คนมักนิยามคำว่า ‘สิ่งที่สำคัญ’ ที่มีความหมายต่อชีวิตต่างกันไปในแต่ละช่วงแต่ละวัย ตอนเด็กเราเห็นของเล่น ลูกอม ขนมเป็นของมีค่า พอโตมาเราเห็นเพื่อนและคนรักเป็นสิ่งสำคัญ ย่างเข้าวัยทำงานเราอยากมีชื่อเสียงเงินทองที่มากพอจะบันดาลให้ชีวิตเราได้อยู่สบาย พอบั้นปลายเรามักโหยหาความสงบเย็นในชีวิต

วันนี้เรานัดกินข้าวกับ โตมร ศุขปรีชา หรือพี่หนุ่มของน้องๆ ในวงการหนังสือ สื่อ และเหล่านักคิดนักเขียน ก่อนมาพบเขาในวันนี้เราติดตามเขาอยู่เสมอทั้งผ่านตัวอักษรในหนังสือและจากตัวหนังสือบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบทความ บทกวี และความเรียงละเอียดอ่อนแต่คมคายของเขาทั้งเรื่องการใช้ภาษาและเรื่องมุมมองความคิด

จากคุณสมบัติที่ว่ามาทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยากว่าหากจะคุยกับใครสักคนถึงรสชาติของชีวิตผ่านมื้ออาหาร ให้เข้ากับชื่อคอลัมน์ ‘รสชาติชีวิต’ โตมร ศุขปรีชา คือคนแรกๆ ที่เรานึกถึงและอยากค้นหาว่ารสชาติชีวิตของเขาที่ผ่านมาและเป็นอยู่ในตอนนี้มีรสยังไง และอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตของเขายามนี้

เวลาบ่าย 3 โมงในวันศุกร์เดือนตุลาคม เรานัดพบเขาที่ร้าน Lay Low ย่านประชาชื่น ร้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในสวนเล็กๆ ที่มีทั้งต้นไม้ใบสีเขียวกับต้นดอกพุดสีขาวอยู่รายรอบร้าน โดยมีผีเสื้อตัวน้อยโบยบินไปมาตามต้นไม้

ภายในร้านแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างมีบาร์กาแฟและตู้ไอศครีมแคลอรีต่ำ บรรยากาศในร้านไม่จอแจนักเหมาะกับการนั่งคุยและเอนจอยกับอาหาร มีเพียงเสียงเพลงในร้านเปิดเพลงแจ๊สเบาๆ พอให้ได้เงี่ยหูฟัง โตมรในชุดเสื้อเชิ้ตสีดำเรียบง่ายกับเบลเซอร์สีเทาอ่อนพอเป็นทางการเดินเข้ามาในร้านโดยมีเรานั่งรอเขาอยู่ที่ข้างบน

ก่อนจะมาพบกันในวันนี้ สเตตัสในเฟซบุ๊กของเขาทำให้เราทราบว่าเขาเพิ่งผ่านมรสุมด้านสุขภาพจากอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง หรือ Vertigo ซึ่งสันนิษฐานเอาว่าน่าจะเกิดจากการอักเสบของประสาทหูชั้นใน และยังไม่แน่ใจว่าอาการนี้จะหายไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อไหร่ 

การรู้ว่าเขากำลังเผชิญกับอาการป่วย ใจนึงเราก็ยิ่งรู้สึกเกรงใจและขอบคุณที่ยังเดินทางมาพบกันในวันนี้ แต่อีกใจก็อยากรู้ว่าสิ่งที่สำคัญในชีวิตในวัย 54 ในวันที่กำลังป่วยคืออะไร

อะไรคือความหมายของชีวิต

รสชาติ

Beef Ragu, อาหารอิตาเลียน และภูเขาไฟวิซูเวียส

เนื่องด้วยนี่คือครั้งแรกของเราที่มาเยือนร้าน Lay Low จึงต้องใช้เวลาในการเลือกเมนูอาหาร แต่โตมรเหมือนจะรู้ในทันทีที่ก้าวเข้ามาในร้านว่าจะสั่งอะไร

“เอา Beef Ragu ครับ” โตมรเอ่ยเมนูในใจกับพนักงาน ส่วนเราเลือกชอยส์ปลอดภัยอย่างแซลมอนรมควันบนขนมปังบาแก็ตราดด้วยซอสครีมผักชีฝรั่ง

“ทำไมถึงชอบ Beef Ragu ของร้านนี้” เราเริ่มบทสนทนาด้วยความอยากรู้ว่ามันพิเศษยังไง ทำไมหนุ่ม โตมร เลือกกิน Beef Ragu ในคาเฟ่ที่ดูเหมือนจะขายไอศครีมและขนมเป็นหลัก

“เราเป็นคนชอบอาหารอิตาเลียน จริงๆ Beef Ragu มันเป็นอาหารที่เราเองก็ทำได้นะ เราเคยทำตอนไปปาร์ตี้กับเพื่อน เพื่อนก็ชมว่าอร่อย เวลาทำ Beef Ragu เบสของซอสจะคล้ายกับซอสมะเขือเทศ แต่ว่ามันจะหลากหลายมาก เราสามารถทำได้หลายแบบ ทำที่มันเป็นเนื้อแล้วก็เอาส้อมขูดออกมาก็ได้ แต่แบบที่เราทำ เราชอบทำเป็นแบบ Italian sausage เคล็ดลับของเราก็คือให้โยนพาเมซานชีสใส่ลงไปทั้งก้อน ก้อนใหญ่ๆ เลยนะ

“เพราะไอ้ Beef Ragu มันจะต้องอบนานเพื่อให้ทุกอย่างมันนิ่ม นวลเนียน หลอมละลายเข้าด้วยกัน ปกติพอเราใส่พาเมซานชีส เรามักจะขูดมันซะก่อน แต่ว่าการใส่ไปทั้งก้อนเหมือนเป็นก้อนสบู่ให้มันอบอยู่ในเตา 4-5 ชั่วโมง ไอ้ชีสก้อนนั้นมันจะค่อยๆ หลอมละลายและเข้าไปมิกซ์กับทุกสิ่งทุกอย่างจนกระทั่งกลายเป็นรสชาติที่มันนัวมากๆ เลย แต่ว่ามันอาจจะละลายไม่หมดก็ได้นะ ไม่เป็นไร เราก็อาจจะตักชีสที่ละลายไม่หมดเนี่ยออกมา แต่ว่าไอ้ความชีสเป็นก้อนนี่เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ Ragu มันอร่อยมากๆ แต่คนไม่ค่อยทำ อาจจะเพราะแพงมั้ง” สิ้นคำอธิบายถึง Beef Ragu เราแทบอยากจะเปลี่ยนเมนูเป็น Beef Ragu แทน แต่คงจะไม่ทันการ

ในบรรดาอาหารหลากหลายชาติ เมื่อโตมรผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารมาหลายต่อหลายเล่มเอ่ยปากว่าชอบอาหารอิตาเลียน เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาหลงใหลอะไรในรส ‘ชาติ’ นี้

“ไม่รู้เหมือนกัน มันง่ายมั้ง ทำก็ง่าย เพราะมันมีแค่เส้นพาสต้ากับอะไรบางอย่างที่มาประกอบกับมัน จะเป็นเนื้อ เป็น fruitti di mare (อาหารทะเล) เป็นมะเขือเทศ เป็นอะไรก็ได้

“แล้วมันมีหนังสือเล่มนึงชื่อ In the Shadow of Vesuvius ที่เล่าถึงการที่แถบทางใต้ของอิตาลีมันรุ่มรวยในเรื่องของอาหารมากๆ เพราะว่าอยู่ใต้ภูเขาไฟวิซูเวียส ซึ่งภูเขาไฟลูกนี้มันใหญ่มาก เวลาปะทุเมืองปอมเปอีนี่พังเลยใช่ไหม แต่ว่ามันทำให้เนื้อดินตรงนั้นเต็มไปด้วยแร่ธาตุสารอาหาร แล้วพอคนอิตาเลียนเลี้ยงวัว วัวก็จะได้กินหญ้าที่ขึ้นมาจากดินภูเขาไฟซึ่งมัน rich ไม่มีที่ไหนเสมอเหมือน เพราะฉะนั้นมะเขือเทศที่โตขึ้นมา วัวที่กินหญ้าบริเวณนั้นแล้วให้นม นมก็จะ rich มาก 

“เราเคยไปกินมอสซาเรลลาหรือบูราตาที่เชฟเขาเอามาจากนาโปลี เชื่อไหมว่าอาหารหนึ่งจานที่มีแค่ชีสกับมะเขือเทศมันอร่อยมาก อร่อยฉิบหายเลย (เน้นเสียง) ทั้งที่มันมีแค่สองอย่างแค่นั้นโดยที่เชฟไม่ได้ทำอะไร คือมันอร่อยมากๆ ก็เลยประทับใจอิตาลี

“เราคิดว่าอิตาลีมันครบ มีไวน์ที่อร่อยมาก ทางเหนือก็อาจจะมี chianti ทางใต้ก็มีของตัวเอง หรือแม้กระทั่งซิซิลีก็มีไวน์เฉพาะของตัวเอง ซึ่งเวลากินกับอาหารมันก็โคตรจะเข้ากัน อีกสาเหตุนึงที่เราชอบอิตาลีก็อาจจะด้วยความที่ว่า สมัยก่อนอิตาลีแต่ละส่วนมันต่างกันมาก มันแบ่งเป็นรัฐเล็กๆ เต็มไปหมดเลย เพราะฉะนั้นแต่ละที่ก็เลยมีเอกลักษณ์ทั้งอาหาร ผู้คน แม้กระทั่งภาษาก็ไม่เหมือนกัน จนกระทั่งเกอเธ่พยายามที่จะรวบรวมภาษาให้เป็นภาษาเดียวกันขึ้นมา เพื่อที่ว่าพ่อค้าจะได้ค้าขายกันได้และคุยกันได้รู้เรื่อง ไม่ใช่เหตุผลทางรัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือจะรวมชาติอะไรทั้งนั้น เป็นเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ต่างหาก อิตาลีก็เลยมีความต่างที่ยังรักษาได้ ไม่ว่าจะไปเมืองทางเหนือหรือเมืองทางใต้ โดยเฉพาะทางใต้นี่สนุกมาก แค่ต่างเกาะกันอาหารก็ไม่เหมือนกันแล้ว”

อาหารคือเนื้อตัว

ในห้วงเวลาที่ตกหลุมรักอิตาลีด้วยเรื่องเล่าของโตมร อาหารอิตาลีอย่าง Beef Ragu ก็มาเสิร์ฟพอดี

เราทั้งสองเริ่มลิ้มรสอาหารตรงหน้า ระหว่างนั้นเราได้แต่สงสัยว่าคนที่ดูรู้จักเรื่องราวของอาหารมากมาย แท้จริงแล้วเขามีความคิดยังไงต่ออาหาร

“อาหารมันก็ทำให้เราไม่ตายใช่มั้ย” โตมรหัวเราะก่อนขยายความ “แต่ถ้ามองในอีกแง่นึง อาหารมันคือตัวแทนของเรา ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมา คือเราอาจจะรู้สึกว่าตอนที่เราอยู่ในท้องแม่ แม่ก็คอยดูแลเรา แต่จริงๆ แม่มีอิทธิพลกับเราในหลายๆ เรื่องตั้งแต่ตอนที่เราอยู่ในท้อง เช่น ถ้าแม่ฟังเพลง เสียงมันทะลุเข้ามาในท้อง เราก็อาจจะมี preference ในการชอบหรืออาจจะเกลียดดนตรีบางอย่างที่แม่ฟังก็ได้นะ 

“แต่ว่าอันนึงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ แม่ชอบกินอะไร อาหารนั้นก็จะส่งผ่านสายสะดือไปให้เราที่ท้อง ถ้าแม่ชอบกินหวาน ก็มีแนวโน้มที่เราจะชอบกินหวานถูกไหม เพราะว่าเราถูกป้อนอาหารรสนั้นมาตั้งแต่ยังไม่เกิด แล้วพอเราเกิดมาแล้ว ถ้าแม่ชอบรสเผ็ดหรือหวานหรือเปรี้ยวหรืออะไรก็แล้วแต่ แม่ก็มักจะทำอาหารรสนั้นให้เรากิน แล้วเราแทบทุกคนเลยในโลกนี้ก็มักคิดว่าอาหารที่แม่ทำมันอร่อยที่สุดในโลก มันแทบจะไม่มีใครบอกว่า แม่ฉันทำอาหารห่วยเลย ทุกคนจะบอกว่าแม่ฉันทำอาหารอร่อยที่สุดในโลก เพราะเราคุ้นกับรสมือแม่แบบนั้น

“เราจึงชอบพูดกันว่าอาหารของแม่ฉันอร่อยที่สุดในโลก ห้ามใครเถียง การพูดแบบนี้เป็นการบอกว่าเราถูกจับโยนมาในโลกที่เราไม่รู้จักและมีใครบางคนเซตสแตนดาร์ดของชีวิตให้เรา ในระดับพื้นฐานที่สุดก็คือผ่านอาหาร ผ่าน preference ในเรื่องรสชาติของอาหาร และทำให้เราคิดว่านั่นแหละคือโลกที่ควรจะเป็น เพราะเราเกิดมาในโลกที่ควรจะเป็น แต่แม่เราไม่เคยเห็นได้มิชลินเลย แล้วเวลาเราดูเขาบอกว่ามิชลินคือโลกที่ควรจะเป็น มาชิมอาหารแม่อีกทีแล้วไปเทียบกับมิชลิน เอ๊ะ ทำไมเขาบอกมิชลินอร่อยวะ แม่เราก็อร่อยอยู่นะ 

“แต่พอเราโตมาเรื่อยๆ มันก็จะมีอย่างอื่นมาให้เราลอง เราก็จะพบว่ามันมีบางอย่างที่ เอ๊ะ เริ่มอร่อยกว่าแม่เรา เอ๊ะ หรือว่าแม่เราอายุมากขึ้นแล้ว อาจจะทำไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก็จะเริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ แม่เราอาจจะไม่ได้อร่อยที่สุดในโลก ซึ่งอันนี้เป็นการยอมรับที่อาจจะยากเย็นพอสมควร เพราะตัวเราก็ต้องเปิดกว้างมากขึ้น ได้เห็นรสชาติอาหารที่ต่างออกไป และในเวลาเดียวกันเราก็จะต้องมา re-learn อาหารของแม่เราอีกทีว่ามันเป็นยังไง ต่างกันยังไง

“ซึ่งไอ้เรื่องแบบนี้ บางทีมันก็ขยายออกไป เช่น คนไทยที่ไปต่างประเทศ อาจจะบอกว่าอาหารประเทศนั้นไม่เห็นอร่อยเลย สู้อาหารไทยไม่ได้ หรือว่าภูมิใจในอาหารไทยมากจนอาจจะล้นเกิน แล้วก็ไม่ยอมเปิดรับหรือว่าลองอาหารอื่น ซึ่งไม่ต้องไปไกลถึงขนาดซุปตุ๊กแก หัวแพะเน่า หรือชีสที่เหม็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว แค่กับอาหารทั่วไปของคนอื่น ถ้าเราเปิดใจมันอาจจะอร่อยในแบบนั้นของเขาก็ได้ ความจำเป็นบางอย่าง ภูมิประเทศบางอย่างมันหล่อหลอมเขาและหล่อหลอมรสชาติอาหารเขาให้มันเป็นอีกแบบหนึ่ง 

“เพราะฉะนั้นอาหารมันเลยมีความหมาย ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่ทำให้เรากินกันตายเฉยๆ แต่มันคือเนื้อตัว มันคือตัวตน คืออัตลักษณ์บางอย่างของเราที่เราอาจจะมองไม่เห็นมัน และเราก็คิดว่านี่แหละอร่อย ไอ้นั่นไม่อร่อย”

ชีวิต

ชีวิตที่เป็นอยู่นี่มันยังไง

“ในชีวิตคุณเป็นคนที่อยู่เพื่อกินหรือกินเพื่ออยู่”

“กลางๆ ระหว่างนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าต้องอยู่เพื่อจะกินโน่นกินนี่ โดยเฉพาะเมื่อแก่แล้วก็รู้สึกว่าความอร่อยมันลดลง”

“อร่อยลดลงหมายถึงยังไง” เราถามด้วยความสงสัย

“เพราะว่าเราเคยกินของที่มันอร่อยมาเยอะแล้วไง บางทีเราก็จะแอบผิดหวังนิดนึงว่า อุ๊ย อันนี้เหรอที่เขาแนะนำกันว่าอร่อย แล้วเราก็ตามไปกินแต่มันก็ไม่ได้อร่อยมากนัก แต่เราก็กินเพื่ออยู่ในบางที อย่างเช่นที่เพิ่งป่วยเป็น Vertigo รุนแรง เราอาเจียนอยู่ 3 วัน ก็พยายามกินบ้างเพื่อให้มีสารอาหาร ปัญหาของเราตอนที่ป่วยคือว่าใส่น้ำเกลือเข้าไปแล้วมันเป็นอะไรก็ไม่รู้ มันแสบมาก ทำให้เราให้น้ำเกลือไม่ได้ด้วย ก็เลยต้องทนฝืนกินบ้าง แต่กินแล้วมันก็อาเจียนออกมาอีก 3 วันน้ำหนักลดไป 3 กิโลฯ”

เมื่อโตมรเปิดประเด็นเรื่องความป่วยไข้ขึ้นมา เราจึงอดไม่ได้ที่จะชวนคุยถึงเรื่องสุขภาพอย่างที่เรารับรู้มาแล้วก่อนวันที่พบกัน

“นับถึงวันนี้ก็เดือนนึงแล้ว ยังไม่หายเลย” โตมรตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบเมื่อเราถามถึงจำนวนวันเวลาที่เขาจมอยู่กับความไม่ปกติ

ว่ากันว่าคนที่ป่วยไข้มักจะไม่มีความปรารถนาอื่นใดนอกจากอยากให้ชีวิตกลับคืนสู่สถานะก่อนป่วย เราจึงอยากรู้ว่าเขาในวัย 54 มีความคิดยังไงต่อสถานะของชีวิตยามนี้

“จากการป่วยครั้งนี้มันทำให้คุณได้ทบทวนถึงสิ่งสำคัญในชีวิตไหม” 

“ ไม่ค่อย (หัวเราะ) นอนอ้วกอย่างเดียว คือรู้สึกว่าตัวเองแก่ลง แก่ทางกายภาพ ด้วยความที่มันมึน หลังจากที่เป็น Vertigo รุนแรง 3 วัน 5 วัน พอออกจากโรงพยาบาลการเดินเหินอะไรมันก็จะช้ามาก 

“แต่โชคดีที่สมองและหัวใจไม่ได้เป็นอะไร แต่มันต้องช้าลงเพราะว่าการทำงานของเส้นประสาทหูกับตามันยังไม่ประสานกันดี เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไรเร็วเกินอย่างไปวิ่ง ล้มแน่นอน ก็ต้องทำอะไรช้าลง ทีนี้ช่วงที่ทำอะไรช้าลงมันเลยทำให้ได้ทบทวนว่า แล้วชีวิตเราจะไปยังไงต่อ เราจะเอายังไงกับชีวิตดีนะ ถ้าเราตายไปจะเป็นยังไง เพราะเรามีโอกาสตายได้ มีโอกาสว่าอยู่ๆ เราอาจจะตายขึ้นมา แล้วก็สงสัยว่าอย่างอื่นมันจะมีโอกาสอีกไหม อาจจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า หรืออาจจะมีเส้นเลือดในสมองตีบแตก แล้วเราจะเอายังไงกับชีวิตเราดีนะ ชีวิตที่มันเป็นอยู่นี่มันยังไง มันควรจะยังไง ก็เป็นการทบทวนคำถามแบบนี้ในหัวของตัวเอง 

“แล้วเวลาในชีวิตมันก็คงจะเหลืออีกไม่เยอะมาก ถ้าเราจะตายตอนอายุ 60 เราก็จะเหลืออีกแค่ 6 ปี ถ้าเราจะตายตอน 70 เราก็จะเหลือแค่ 16 ปี ถ้าเราตายตอน 80 เราก็จะเหลือ 26 ปี ซึ่งมันน้อยกว่าครึ่งนึงของชีวิตที่ผ่านมาแล้ว”

ฉันควรจะมีเสรีภาพ มีอิสรภาพ
ที่จะเดินไปบนเส้นไหนก็ได้

“พูดถึงอายุ อายุส่งผลต่อหน้าที่การงานที่คุณทำไหม”

“คิดว่าไม่นะ เพราะคนจะชอบคิดว่าเราหน้าเด็ก (ยิ้ม) ซึ่งอายุ 54 มันจะมีคนในออฟฟิศหลายๆ คนที่อายุเท่ากัน มี ผอ. มีรองฯ มีเรา และมีคนที่อยู่ใน ranking ที่เป็นลูกน้อง ก็จะมีหลายๆ คนที่อายุเท่ากัน และคนที่ตำแหน่งสูงก็มีหลายคนที่เขาดูเป็นที่น่าเคารพนับถือ ในขณะที่เราก็จะดูเด็กๆ ซึ่งข้อดีก็คือมันทำให้เราเข้ากับคนที่อายุน้อยๆ ได้ หมายถึงว่าเขาก็ยังอยากที่จะมาคุยกับเราอยู่”

ตำแหน่งงานประจำปัจจุบันของโตมรคือผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ (Chief Creative Director) ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ซึ่งถือเป็นอีกบทบาทที่สำคัญในชีวิตช่วงนี้

“คนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักหรอก” โตมรเกริ่นเมื่อเราชวนคุยถึงงานประจำล่าสุด “OKMD ก็จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลมิวเซียมสยามกับ TK Park ซึ่งจะเห็นว่ามิวเซียมสยามกับ TK Park คือแหล่งเรียนรู้ 

“อันนึงเป็นพิพิธภัณฑ์ อีกอันเป็นห้องสมุด งานของ OKMD ก็คือทำงานจัดการแหล่งเรียนรู้ทั้งหลายอย่างมิวเซียมสยาม กับ TK Park ก็คือต้นแบบ เพราะฉะนั้นงานของ OKMD คือการสร้างต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่า ห้องสมุดสามารถเป็นแบบนี้ได้นะ พิพิธภัณฑ์สามารถเป็นแบบนี้ได้นะ แต่ตัว OKMD เองก็ยังสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในเรื่องของการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งหลายด้วย 

“เช่น เราทำเรื่อง brain-based learning การเรียนรู้ฐานสมอง ซึ่งแค่ชื่อก็ฟังดูเครียดเนอะ คือสมองเราเวลาทำงานมันจะทำงานไปโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วถ้าเราทำให้สมองมันเกิดอยากเรียนรู้ขึ้นมาล่ะ มันก็จะเรียนรู้โดยที่เราสนุก โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ตอนนี้มีงานนึงที่พวกเรากำลังผลักดันอยู่ ก็คือเรื่องของ knowledge-based tourism คือการไปเที่ยวไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย ปกติเวลาเราไปเที่ยวเราก็จะสนุก ถ่ายเซลฟี่สวยงาม ตัวเองอยู่ในภาพแล้วก็จบ เราจะไม่ได้สนใจว่าทำไมน้ำตกข้างหลังมันไหลลงมาแบบนั้น แต่ว่าถ้าเราไปดูเวลาฝรั่งเขาเที่ยว อย่างใน Downton Abbey มันจะมีอยู่ตอนนึงที่บ้าน Downton Abbey ต้องหาเงินแล้วก็ให้คนมาทัวร์ที่บ้าน ปรากฏว่าคนก็มาถามโน่นถามนี่ แม้กระทั่งเจ้าของบ้านอย่างท่านลอร์ด ท่านเลดี้ ยังตอบไม่ได้เลย ตัวเองต้องไปหาความรู้เพิ่มเพื่อมาตอบ ทั้งหมดนี้เป็นการเที่ยวแบบที่เราเรียกว่า knowledge-based tourism แล้วในเมืองไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มันมีลักษณะที่มันเป็น knowledge-based เยอะมาก”

ระหว่างที่ฟังเขาอธิบายถึงความรู้ เราก็สงสัยว่าแล้วคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการในหน่วยงานบริหารความรู้มีความเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งใดบ้างไหม

“ทุกวันนี้คุณมีความเชื่อในสิ่งใดบ้างไหม” เราถามคำถามท้ายๆ สอดคล้องกับปริมาณอาหารบนโต๊ะที่พร่องลงจนใกล้หมด

“เราคิดว่าการเชื่อในสิ่งใด และการไม่เชื่อในสิ่งใดอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูมากๆ มันคลายลง มันลดลง เมื่อก่อนเราอาจจะมีความเชื่อ เช่น สมมติเราเชื่อพระเจ้า เราเชื่อในพรรคการเมืองนี้มาก เราเชื่อในอุดมการณ์นี้มาก หรือเราไม่เชื่อในอันนี้เลย พอเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ไอ้สิ่งที่มันอยู่ตรงนั้นมันค่อยๆ เลื่อนเข้ามาหาเรา แล้วเราก็เห็นว่าโลกไม่ได้มีแค่สองเส้นแต่ว่ามันยังมีเส้นแฉกอื่นๆ อีกเต็มไปหมดเลย แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องไปเลือกว่าฉันจะต้องอยู่ฝั่งไหนหรืออยู่บนเส้นไหน แต่ฉันควรจะมีเสรีภาพ มีอิสรภาพที่จะเดินไปบนเส้นไหนก็ได้ ตรงไหนก็ได้ ฉันจะไปสุดก็ได้ ไม่สุดก็ได้ แต่ฉันอยู่ตรงไหนก็ได้

“และก็ไม่ควรมีใครหน้าไหนจะมามีสิทธิ์บอกว่า แกต้องเลือกแบบนั้น แกต้องเลือกแบบนี้ แล้วถึงจะยอมรับเป็นพวกด้วย หรือแกต้องทำแบบนั้นแล้วแกถึงจะมีความสุข มันไม่จริง”

อาจจะขัดแย้ง แต่ไม่ต้องไปกลัวมัน 

“แล้วมีสิ่งใดไหมที่คุณไม่เปลี่ยนไปจากในอดีต”

“เมื่อก่อนนี้หรือแม้กระทั่งตอนนี้ สิ่งที่ไม่ต่างกันเลยคือการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ สมมติว่าการมาที่ร้านนี้ เราก็จะคิดแล้วว่า ทำไมต้องมีเก้าอี้แบบนี้ Modern Eames อยู่กับอันนี้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์นั้นก็ดูโมเดิร์นแบบ Bauhaus ที่นี่มีหนังสือ Bauhaus อยู่ด้วย แต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ก็ดูเป็นยุค mid-century เพราะฉะนั้นทำไมเขาถึงทำห้องออกมาแบบนี้ ไอ้ฉากนั้นไม่ใช่ (ชี้ไปที่ฉากกั้นห้อง) ฉากนั้นผิด 

“คือการตั้งคำถามแบบนี้มันได้มาจากวิชาสัญศาสตร์ เช่น อาจารย์นพพร ประชากุล เคยสอนว่า ไปบ้านทูตฝรั่งเศสแล้วมีภาพที่เป็นรูปสามเหลี่ยม คือปกติภาพที่เห็นๆ กันจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมใช่ไหม เขาก็ตั้งคำถามกันว่า ทำไมมันเป็นรูปสามเหลี่ยมนะ ประชาธิปไตยฝรั่งเศสมันมีหลัก 3 เรื่องใช่ไหม เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ฝรั่งเศสเขาอยากจะสื่ออะไรอย่างนั้นหรือเปล่า 

“คือสัญศาสตร์มันเป็นการตีความยังไงก็ได้แล้วแต่เรา มันจะมีหลักของมันแต่ว่าบางทีคนที่ทำก็อาจจะไม่ได้คิดว่ามันมีความหมายนัยอะไรที่มันซ่อนอยู่ จนกว่าจะมีนักสัญศาตร์มาตีความ ซึ่งเราคิดว่าเรื่องสัญศาสตร์มันน่าสนใจดี เพราะเราสามารถมองอะไรแล้วเราก็ตั้งคำถามกับมันได้ แต่ในแง่ปรัชญา อาจารย์อีกท่านอย่างอาจารย์สุวรรณณาก็บอกว่า คุณก็ไม่ต้องไปตั้งคำถามทุกสิ่งทุกอย่างหรอก เลือกเอาที่สำคัญๆ ก็พอ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคุณจะเป็นบ้า 

“มันก็ช่วยกระตุกเรากลับมาเหมือนกันว่า ก็ไม่ต้องไปตั้งคำถามกับทุกอย่าง อย่างหมอนตรงนั้นที่กำลังจะหล่นลงมาทำไมมันเหมือนพระธาตุเจดีย์อิงแขวนเลย เรื่องอย่างนี้จะตั้งคำถามไปทำไม ก็อาจจะไม่ต้องตั้งก็ได้นะ ก็คือให้เลือกตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นตอนเด็กหรือตอนนี้ก็คือการตั้งคำถาม และเมื่อตั้งคำถามแล้ว มันก็จะช่วยดึงเราให้ไปพยายามหาคำตอบ ทีนี้พอเราพยายามหาคำตอบเราก็จะดึงลิ้นชักความทรงจำบางอย่างออกมาเทียบเคียงกัน ลองเอามาทาบกันดูสิ ไอ้นี่มันสนิทไหม ไอ้นี่มันเหมือนหรือต่างกันยังไง มันเชื่อมโยงกันยังไง การตั้งคำถามนำไปสู่การเชื่อมโยง เชื่อมโยงแล้วอาจจะเปรียบเทียบ อาจจะขัดแย้ง อาจจะอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ต้องไปกลัวมัน คนจะกลัวการเปรียบเทียบ 

“สมมติเราจะเปรียบเทียบสิ่งนี้กับสิ่งนี้ อะไรที่มันยิ่งใหญ่หรือโดยเฉพาะอะไรที่มันศักดิ์สิทธิ์ คนก็มักจะบอกว่า อย่าไปเทียบกันเลย (เสียงสูง) หรืออย่างเช่นนักร้องคนไหนร้องดีกว่ากัน คนก็จะบอกแล้วว่าอย่าไปเทียบกันเลย แต่เราเทียบได้นี่ เราเทียบอยู่ข้างใน เราไม่ได้เทียบเพื่อสร้างความขัดแย้ง แต่เราเทียบเพื่อให้มันเกิดความแตกฉานอะไรบางอย่างที่ใหม่ๆ ขึ้นมาในตัวเรา”

“ที่มาของการกล้าตั้งคำถามของคุณนี่มาจากไหน” เราถามพลางดื่มชากุหลาบดำเพื่อปิดท้ายมื้ออาหาร

“ไม่รู้นะ แต่เราเป็นคริสต์ใช่ไหม เราก็ตั้งคำถามตั้งแต่เด็กๆ เลยว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เช่น เขาสอนกันเรื่องที่ให้ออกจากเมืองโสโดมและโกโมราห์แล้วห้ามหันกลับไปมอง ถ้าหันไปมองแล้วจะตาย เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมล่ะ ทำไมจะต้องตายด้วย ก็แค่หันไปมอง แล้วถ้าให้ลึกไปกว่านั้น คือเมืองโสโดมและโกโมราห์มันมีลักษณะของ homosexual มีการร่วมเพศกันทางเวจมรรค แบบผู้ชายกับผู้ชาย แล้วพระเจ้าก็เลยลงโทษ แต่ว่าในเมืองนั้นก็มีผู้หญิงที่ไม่มีผู้ชายที่จะมาแต่งงานด้วย ก็เลยไม่มีเผ่าพันธุ์ที่จะสืบต่อ ก็เลยต้องไปร่วมเพศกับพ่อ ไปหลอกพ่อ แล้วอะไรมันผิดร้ายกว่ากันล่ะ ระหว่าง incest กับ homosexuality มันก็มีคำถามแบบนี้ที่มันเกิดขึ้น

“พอโตขึ้นมาหน่อยก็อ่านหนังสือมากขึ้น ก็พบว่าไบเบิลนี่จริงๆ แล้วมันเป็นคัมภีร์ที่มาจากหนังสือหลายๆ เล่มที่เอามาเขียน เอามาเรียงต่อกันใหม่โดยที่มีใครบางคนที่มีอำนาจในประมาณศตวรรษที่ 5 ในการที่จะเลือกว่า นี่คือฉบับที่ถูกต้อง อันนี้คัดทิ้งไป เช่น พระวารสารของฉบับนักบุญมารีอา มักดาเลนา เอาทิ้งไป ไม่เอามาใส่ เอาเฉพาะ 4 คน ไอ้ตรงข้างหน้าก็เหมือนกัน บทปฐมกาลช่วงต้นที่เขียนก็มีคนวิเคราะห์ว่ามันเขียนในลักษณะที่ว่าพระเจ้าเป็นเอกเทวนิยม แต่ว่าพอเลยมาอีกสักบทนึง มันมีลักษณะพหุเทวนิยม เช่น ตอนอดัมกับอีฟพระเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุด แต่พอถูกไล่ออกมาจากสวนก็ต้องไปสู้กับพระเจ้าองค์อื่นๆ อีก ซึ่งจริงๆ แล้วด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ด้วยวิวัฒนาการแล้วมันควรจะเริ่มจากพหุเทวนิยมก่อน แล้วถึงจะวิวัฒนาการมาเป็นเอกเทวนิยม เพราะฉะนั้นไอ้บทแรกของปฐมกาลจริงๆ เขียนทีหลัง แต่มันถูกจับมาไว้ข้างหน้า มันก็สนุกดี 

“แล้วเราก็ได้สะท้านเยือกไปถึงว่า เมื่อก่อนเราเชื่อแบบที่เขาเขียนมาจริงๆ เพราะเราถูกสอนมาแบบนั้น”

เพราะเป็นเช่นนี้จึงเป็นเช่นนั้น
เพราะเป็นเช่นนั้นจึงเป็นเช่นนี้

เข้าสู่ช่วงท้ายของมื้ออาหาร เราถามโตมรในวัย 54 ที่เพิ่งผ่านพ้นความเจ็บป่วยครั้งใหญ่ถึงสิ่งสำคัญในชีวิต ซึ่งเราคาดเดาเอาว่าเขาน่าจะเอ่ยถึงบางสิ่ง

แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม

“ไม่มี ไม่มีอะไรสำคัญในชีวิตมนุษย์เลย มีแต่สิ่งที่เราสมมติว่ามันสำคัญทั้งนั้นเลย แต่จริงๆ แล้วไม่มี สุดท้ายเราก็จะตาย เราสมมติเอาทั้งนั้นเลยว่าพ่อแม่เราสำคัญ เราสมมติว่าบ้านของเราสำคัญ เราสมมติว่าเราต้องแต่งตัวแบบนี้เพราะมันสำคัญ อย่างระเบียบราชการเราก็สมมติว่ามันสำคัญ หมดปีราชการแล้วต้องรีบเซ็น หรือคะแนนสอบเราก็สมมติเอาเองทั้งนั้นว่ามันสำคัญ แม้แต่ความรักเราก็สมมติว่ามันสำคัญ แต่พอเรารู้ว่ามันสมมติ เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แล้วในที่สุดมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ไปด้วยเพราะว่าเป็นสัตว์ นอกเสียจากว่าเราจะเป็นแมลงสาบหรือว่าแมงกะพรุนที่มันอยู่ได้หลายร้อยล้านปี มันก็มีอยู่ไม่กี่ชนิดที่มันอยู่ได้นานขนาดนั้น ยิ่งสัตว์ที่มันซับซ้อน มันจะมีอายุขัยของสปีชีส์ของมัน เดี๋ยวมันก็หมด เราอาจจะกลายไปเป็นอย่างอื่น”

“แล้วอะไรหรือเมื่อไหร่ที่ทำให้คุณตระหนักว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราไม่มีอะไรที่สำคัญเลย”

“คำว่า absurd นี่มันมาจากไหน มันมาจากคำว่า existentialism ใช่ไหม สมัยอ่านซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) สมัยอ่านกามูส์ (Albert Camus) มันมีคำว่าสารัตถนิยม เราก็คิดเรื่องนี้ แล้วตอนที่มาอ่านพุทธทาส เราก็จะเห็นว่า ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ก็เพราะสิ่งนี้มันเป็น มันก็เลยส่งผลให้ไอ้สิ่งนั้นมันเป็น สิ่งนั้นมันเป็นอย่างนี้ก็เลยส่งผลให้มันเป็นอย่างนั้น

“แล้วพอสืบย้อนกลับไปมันก็ไม่ได้มีอะไรเลย ความ ‘เป็น’ พวกนั้นมันคือสภาวะ อย่างเช่นโต๊ะ มันเป็นโต๊ะอย่างงี้ เมื่อไหร่มันจะเลิกเป็นโต๊ะอย่างนี้ สมมติว่าเราถอดหมุดออกไป 1 ตัว มันยังเป็นโต๊ะอยู่ไหม มันก็ยังเหมือนจะเป็นอยู่ใช่ไหม แต่ถ้าเกิดว่าเราเอาขาออกไป 1 ขา มันยังเป็นโต๊ะอยู่ไหม บางคนก็บอกว่ามันก็ยังดูเป็นโต๊ะอยู่ ถึงแม้ว่าฟังก์ชั่นมันอาจจะไม่ได้ มันก็ยังมีตั้ง 3 ขา แต่ถ้าถอดไป 2 ขา ถอดไปหมด 4 ขา หรือทุบไอ้กระจกที่เป็นท็อปของโต๊ะนี้ทิ้งเหลือแต่โครง 4 ขา มันยังเป็นโต๊ะไหม

“หลายคนอาจจะตอบไม่เหมือนกัน แล้วแต่คน แต่คำถามคือ ตรงไหนกันแน่ที่มันประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสภาวะของโต๊ะนี้ แต่ละคนมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน แล้วถ้าตัวเราย้อนกลับไป ตรงไหนที่เป็นตัวเรา ตรงไหนที่ไม่ใช่ มีคนบอกว่าใน 7 ปี เราไม่มีเซลล์เดิมของเราเหลืออยู่เลย เราเปลี่ยนมันทั้งหมด แล้วตัวเรายังเป็นตัวเราไหม แล้วอะไรคือตัวเรา แล้วอะไรคือสิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญในเนื้อตัวของเรา เราก็คิดเรื่องเหล่านี้ มันมีแต่ของที่เราสมมติว่ามันสำคัญไง

“แล้วสมมติเราสมมติว่า ชาติสำคัญมาก แล้วเราก็ต้องยอมตายเพื่อชาติ แต่พอเราตายไปแล้ว ทั้งหมดมันก็ตายไปพร้อมเราทั้งนั้น เพราะว่าเราเป็นตัวรู้ ตัวรับ เป็นตัวที่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราทั้งนั้นเลย แต่เมื่อเราตายไปแล้ว ทั้งหมดมันก็ตายไปพร้อมเรา”

ก่อนไม่สำคัญต้องเคยสำคัญมาก่อน

หากไม่มีสิ่งใดสำคัญอย่างที่เขาว่า แล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร คนหนุ่มคนสาวต้องปลงสังขารและความไม่เที่ยงตั้งแต่ยังเยาว์วัยหรือไม่–เราสงสัย

“คือที่พูดไปเมื่อครู่ว่า มันไม่มีอะไรสำคัญเลยในชีวิต ทุกคนก็อาจจะรู้สึกและมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ไปฆ่าตัวตายกันสิ แต่คำถามที่ถามเรา และสิ่งที่เรากำลังจะตอบนี้ มันอาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เราเพิ่งพูดไปเมื่อกี้ 

“คือยิ่งเรารู้ว่าทุกอย่างมันถูกสมมติว่าสำคัญ เพราะฉะนั้น ในวัย 20-30 หรือ 30 ต้นๆ เป็นช่วงวัยที่มีพละกำลังมากที่สุด ช่วยเอาพละกำลังของตัวเองที่มี เอาความสดใหม่ อะไรต่างๆ ที่มีอยู่ไป explore เรื่องสมมติเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ว่ามนุษย์มันสมมติอะไรกันบ้าง 

“บางอย่างเพื่อจะเก็บเอามาหัวเราะเยาะมันทีหลังก็ได้ บางอย่างเก็บเอามาบอกว่า โอ๊ย เรื่องสมมตินี้มันช่วยให้ฉันมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ได้ หรือเรื่องสมมติบางเรื่องมันช่วยชุบชูใจฉันก็ได้ ใช่ไหม เช่น อาหารอร่อย จริงๆ แล้วมันอร่อยเพราะมันถูกปากเรา คนอื่นอาจจะไม่อร่อยก็ได้ แต่ว่ามันก็เป็นความสมมติว่าเราอร่อยที่เราสมมติขึ้นเอง ทำให้เราชื่นใจที่ได้กินมัน 

“หรือถ้าเราชอบเทคโนโลยี เราก็ต้องใช้เงินไปเรียน ไปซื้อหามาตอนที่เราอายุยังน้อยอยู่ หนึ่งก็คือ เราทำผิดได้เรื่อยๆ เลยนะ เพราะเรามีเวลา และมีกำลังที่จะแก้ไขมัน ตอนที่อายุ 54 เราทำผิดพลาดได้น้อยลงมาก เพราะว่าหากผิดพลาดสักครั้งที่มันเป็นครั้งใหญ่ๆ เราอาจจะไม่มีทางแก้ตัวได้อีกแล้ว เราจะไม่มีวันลุกขึ้นมาทำอะไรได้อีกแล้ว เราจะรู้สึกว่าเราเหนื่อยมาก และเราก็จะกลายเป็นขมขื่นกับสิ่งสมมติเหล่านั้นที่เราคิดว่ามันไม่สำคัญหรอก

“แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเห็นว่ามันเป็นของสมมติและก็อยู่กับมันอย่างแฮปปี้ได้ไง แต่ว่าตอนเด็กๆ หลายคนอยากจะไขว่คว้าแต่ความสำเร็จ แต่ไม่ได้ไขว่คว้าความผิดพลาดด้วย แต่ความผิดพลาดต่างหากที่เป็นตัวทำให้เรารู้ว่ามีสิ่งที่ผิดมันผิดยังไง คืออาจจะมีบางคนที่ทำอะไรก็ถูกตลอดเวลา แล้วก็ไต่บันไดขึ้นไปจนอายุ 50 60 70 แล้วพอถึงตอนที่เขาเป็นคนแก่ แล้วเขาทำอะไรที่ผิดพลาด แล้วพอเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่บนโลกนี้ซึ่งเป็นโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว ไปบอกเขาว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดนะ เขาก็จะเถียง เขาก็จะบอกว่าไปดูประวัติศาสตร์ชีวิตฉันสิ ฉันไม่เคยทำอะไรผิดเลย ความที่เขาไม่เคยทำอะไรผิดนั้นของเขามันทำให้เขามองอะไรไม่เห็น 

“แต่ถ้าเราโตมาด้วยความผิดพลาดบ้าง ประสบกับความสำเร็จบ้าง แล้วเราเก็บได้ทุกอย่าง พอเราโตขึ้นไปเราก็จะเห็นว่า อ๋อ นั่น ตรงนั้น มันเป็นความผิดที่แก้ได้นะ มันก็จะมีความเข้าใจในโลกที่มันกว้างขึ้น กว้างกว่าคนที่ถูกต้องมาทั้งหมดทั้งชีวิต ก็เลยอยากให้คนรุ่นใหม่สะสมความผิดพลาดด้วย เก็บมันไว้ ไม่ต้องไปรังเกียจ ไม่ต้องไปพยายามปิดบังมัน

“เวลาที่เราโต เวลาที่เราอายุมากแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ในชีวิตเรามันคือเรื่องเล่าของชีวิต ทีนี้ไอ้เรื่องเล่านี่เรากำหนดได้นะ แต่ว่ามันต้องกำหนดตั้งแต่ตอนที่อายุน้อยๆ ว่ามันจะเป็นยังไง เราสะสมความผิดพลาดเอาไว้ เราจะได้เอามาเล่าให้คนอื่นฟัง เป็นเรื่องเล่าใหญ่ในชีวิตเราว่ามันเป็นแบบไหน ยังไง แต่ถ้าเกิดว่าเราเต็มไปด้วยการหลอกลวง แล้วเราจะไปเล่ายังไง เหมือนอยู่แต่ในอินสตาแกรม มีแต่ภาพสวยๆ อย่างเดียว ชีวิตแบบนั้นมันจะเป็นยังไง บางคนก็จะบอกว่าก็ชีวิตมันเป็นเรื่องสมมติไง

“แต่เราจะสมมติแม้กระทั่งตัวตนของเราเลยใช่ไหม”

สิ้นคำตอบ เรา โตมร และ Beef Ragu กับขนมปังแซลมอนรมควัน ของร้านไอศครีมแคลอรีต่ำย่านประชาชื่นก็ลาจากกันแบบเรียบง่ายหลังบทสนทนาที่พูดคุยถึงรสชาติ ชีวิต และสิ่งสำคัญที่อาจจะเพียงแค่สมมติมันขึ้นมา

ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย


รสชาติชีวิต

รสหวาน

“น่าจะเป็นช่วงที่ทำงานใหม่ๆ นี่แหละ ซึ่งรสหวานของเรามันอาจจะไม่ใช่หวานแบบหวานแหวว ซาบซึ้ง แต่มันคือความสนุก รสชาติหวานที่ว่ามันเหมือนเราได้เด็ดดอกไม้แล้วมาดูดน้ำหวานจากมัน แล้วตอนทำงานใหม่ๆ ทุกอย่างมันคือดอกไม้เต็มไปหมดเลย นี่ก็ดอกใหม่ นั่นก็ดอกใหม่ โน่นก็ดอกใหม่ แล้วฉันก็ได้ทั้งดมทั้งดูดน้ำหวานจากมัน มีรุ่นพี่คนนั้นคนนี้ที่ชั้นจะต้องนั่งไปคุยด้วย ขอความรู้ ตามเขาไปสัมภาษณ์ หรือบางเรื่องเราต้องกระโดดลงไปทำเอง โดยที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ เช่นการทำสารคดีอะไรอย่างนี้ เพราะไม่ได้เรียนมาโดยตรง เราเรียนวิทยาศาสตร์มา เพราะฉะนั้นช่วงนั้นแหละ ช่วงทำงานใหม่ๆ มันสนุกมากเลย แล้วก็สมัยนั้นนิตยสารมีสัก 30 คอลัมน์ เราทำไปแล้ว 15 คอลัมน์ ใน 1 เล่ม”

รสขม

“ขมที่สุดก็เป็นเรื่องทำงานเหมือนกัน หลังจากที่เราทำงานไปเรื่อยเราก็ไม่ได้คิดอะไร คือเคยมีคนสัมภาษณ์ว่า ทำยังไงถึงได้เป็น บ.ก. วางแผนยังไงถึงจะได้เป็นบรรณาธิการบริหาร สมัยก่อนเราเป็นบรรณาธิการนิตยสารผู้ชายอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งก็คือ GM มันก็เป็นอะไรที่คนเขาจะมองว่ามันใหญ่ แต่ว่าเราไม่รู้สึกอะไรอย่างนั้นเลย เราแค่รู้สึกว่าเราทำงานเพราะเราอยากทำ เราก็ทำไปเรื่อยๆ แต่พอเราไปถึงตรงนั้นแล้ว มันถือว่าเป็นที่สุดของงานแล้วมั้งของการทำนิตยสาร แล้วเราตอนอายุ 30 กลางๆ ก็จะมีคำถามนึงที่ผุดขึ้นมาว่า ‘แล้วไงต่อวะ’ 

“นึกออกไหม เวลาเราทำนิตยสารไปเรื่อยๆ มันจะซ้ำ ประเทศนี้ โลกนี้ มันไม่ได้มีเนื้อหาใหม่เอี่ยมอะไรให้เราทำตลอดเวลาหรอก มันจะซ้ำ และมันจะถึงวันที่ไม่ว่าใครเสนออะไรมา เราก็เคยทำแล้วทั้งนั้น นับตอนทำนิตยสารก็ 10 ปี แล้วถ้าจะย้อนกลับไปอีก 10 ปีที่นิตยสารนี้ก่อตั้งขึ้นมา มันก็ต้องเคยทำมาแล้วเหมือนกัน 

“พอถึงตรงนั้นเราคิดว่า แล้วยังไงวะ ตรงนั้นคือช่วงชีวิตที่มันขมมากเลยว่า แล้วยังไงต่อ ทำยังไงต่อ แต่ก็ไม่มีทางเลือก เราไม่รู้จะทำยังไง มันก็ต้องทำต่อ แต่ว่ามันก็โชคดีที่ก็มีงานใหม่ๆ เข้ามา เช่นไปเป็นคอลัมนิสต์ให้ที่ต่างๆ เขียนรายสัปดาห์บ้าง เขียนโน่นนั่นนี่ ไปทำบทรายการโทรทัศน์บ้าง ก็เลยทำอย่างอื่นไปด้วย ก็หาทางไป พอผ่านไปได้ระยะหนึ่งมันก็เริ่มคลี่คลาย เหมือนกับว่ามันอยู่มือแล้วก็ทำๆ ไปเถอะ”

รสเปรี้ยว

“ถ้าเปรี้ยวตีนก็น่าจะเป็นช่วงที่เขียนคอลัมน์ Genderism ใน a day weekly เพราะว่ามีแต่อะไรเปรี้ยวๆ ตีนทั้งนั้นเลย เขียนด่าคนอะไรอย่างนี้ หรือว่าใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ก็เหมือนกัน ก็วิพากษ์การเมือง วิพากษ์สถานการณ์บ้านเมือง วิพากษ์คนที่ปากว่าตาขยิบ เช่น มีดาราโป๊ถ่ายคลิปโป๊ แล้วทุกคนก็บอกว่า อี๋ อีนี่มันชั่วมันไม่ดี แต่ก็ถามกันว่าดูคลิปมันหรือยัง

“หรือบางทีก็เขียนด่าสาดเสียเทเสียว่า หน้าไหว้หลังหลอก ปากว่าตาขยิบ นี่คือสันดานแบบไหนของสังคมไทยที่มันสร้างคนแบบนี้ขึ้นมา แล้วมันก็เต็มสังคมไปหมดเลย ซึ่งอันนั้นลงไปแล้ว คุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เขียนจดหมายมาหาเลยบอกว่าเขียนตรงกับที่อาคิดทุกคำ แต่ว่าบทความที่เราเขียนด่า ต้องมี disclaimer ไว้ข้างหน้าเลยนะว่า บทความต่อไปนี้จะเต็มไปด้วยคำหยาบ เพราะจำเป็นจะต้องด่าจริงๆ แล้วก็เขียนด่า

“เราไม่กลัว ไม่สนใจ จะกลัวอะไรล่ะ กลัวคนที่เขาจะมาเขียนตอบด่าเราน่ะเหรอ มันเคยมีใน Trendy Man นะ เราก็เคยเขียนบทความเรื่อง ‘เกลียดเมืองไทย’ ซึ่งเกลียดเมืองไทยในที่นี้ก็คือว่าเราเอามาจากบทความของหลานเสรีไทย คือเธอเขียนคอลัมน์ข้างหลังโปสการ์ด แล้วเธอก็เขียนว่า เกลียดเมืองไทยมันคืออาการข้างเคียงของความรักเมืองไทย และอยากให้เมืองไทยมันดีขึ้น แต่มันไม่ดี มันเหี้ยลงเรื่อยๆ เราก็เลยเกลียดมัน แต่มันเป็นการเกลียดที่เป็นอาการข้างเคียงจากความรัก แต่พอเขียนแบบนี้ลงไป ก็มีคนเขียนมาบอกว่า คุณจะใช้คำว่าเกลียดเมืองไทยไม่ได้

“ได้ (ลากเสียงยาว) เราก็เลยเขียนจดหมายตอบกลับไป เขาเขียนเป็นโปสต์การ์ดมา เราก็เขียนเป็นจดหมายตอบกลับไป 3 หน้ากระดาษ เพราะสมัยนั้นมันไม่มีโซเชียลฯ เราก็เขียนตอบกลับไปอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทั้งหมดนี้มันคืออะไร เราไม่กลัว 

“แต่ทุกวันนี้ไม่ชอบเรื่องทัวร์ลง เพราะว่าถ้าอยากรู้ ถ้าอยากเถียง ถกเถียงให้ได้ปัญญาจริงๆ อะ คุณมาหาเรา มานั่งคุยกัน ไม่ใช่เขียนลงไปในนั้นทั้งที่ยังอ่านไม่แตก แล้วพอเวลาอ่านไม่แตกแล้วเขียนไปในประเด็นอีกทางนึง มันมีคนที่มาจากไหนไม่รู้มาอ่านคอมเมนต์ของคุณ แล้วเอาไปเถียงอีกทางนึง แล้วมีอีกคนมาใหม่ก็ไปอีกทางนึง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่เราแล้วที่จะมาช่วยช้อนพวกเขา สิ่งที่ทำได้ก็คือ ถ้าแซะก็แค่ hide ถ้าหยาบคายก็แค่ block จบ”

รสกลมกล่อม

“คิดว่าเป็นตอนนี้ เพราะว่าแก่ (หัวเราะ) คือปกติถ้าเรารู้สึกว่าตัวเราไม่กลมกล่อม เราต้องไปหารสนั้นรสนี้มาเติมใช่ไหม แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าไม่เห็นต้องมีอะไรมาเติมเลย มันก็อยู่ของมันได้เรื่อยๆ แม้กระทั่งป่วยอยู่ก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันทุกข์มาก ก็ปกติ พยายามอยู่กับมันให้ได้ และก็เดินหน้าไปเรื่อยๆ 

“เรารู้สึกว่าความกลมกล่อมมันคือความปกติสุข คือมีความสุขเป็นปกติ หรือว่ามีความปกติเป็นความสุขก็ได้”

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like