THE POWER BAND

‘THE POWER BAND’ กรณีศึกษาการทำ CSR ให้ยั่งยืนด้วยการจุดประกายฝันให้เยาวชนผู้รักดนตรี

เมื่อพูดถึงชื่อองค์กรของคนไทยที่สนับสนุนคนไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีโลก หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เจ้าของโครงการ ‘คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย’ ที่พยามยามผลักดันให้คนไทยได้รับโอกาสในการก้าวสู่เวทีระดับโลกอย่างยั่งยืนทั้งในทางด้านกีฬา ด้านชุมชน และด้านดนตรี

THE POWER BAND คือตัวอย่างของการให้โอกาสทางดนตรีที่คิง เพาเวอร์ จัดขึ้นจนประสบความสำเร็จ และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนี่คือเวทีที่ค้นหาสุดยอดวงดนตรีรุ่นใหม่ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศภายใต้คอนเซปต์ ‘THE POWER OF POSSIBILITIES ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้’ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสนับสนุนให้น้องๆ เยาวชนไทยผู้มีความสามารถด้านดนตรีนำความฝันและทักษะมาปล่อยของประชันกันบนเวที แต่ยังผลักดันให้น้องๆ ได้ไปเจอโอกาสที่ไม่ได้หากันง่ายๆ อย่างการขึ้นเวทีไปเล่นดนตรีกับศิลปินในดวงใจ รวมทั้งได้ปูเส้นทางสู่การเป็นศิลปินในอนาคตให้อีกด้วย

หลังจากประสบความสำเร็จกับซีซั่นแรก THE POWER BAND กลับมาในซีซั่นที่ 2 และจับมือกับ 5 ค่ายเพลงดังของเมืองไทย เพื่อคัดเลือกกันอย่างเข้มข้น จนได้ผู้ชนะที่จะได้ออกซิงเกิลของตัวเองกับ BOXX MUSIC ทว่าความปังยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะงานนี้ วงดนตรีร็อกตัวจริงของไทยอย่าง Bodyslam ยังเลือกน้องๆ จำนวนหนึ่งที่มีสกิลการร้อง เต้น เล่นดนตรีที่ไม่ธรรมดา ไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ‘Bodyslam พูดในใจ THE B SIDE CONCERT’ กับวง Bodyslam ตัวเป็นๆ

พวกเรามีโอกาสได้คุยกับ กิ๊ฟซี่–สุทธิดา พันธ์ศรี, น้องฟิล์ม–ปณิชา มณีวรรณ สองสาวชาวเหนือจากวง The PicLic Band และกัส–พัสกร ศรีหะ มือทรัมเป็ตของวงอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี ที่ได้ร่วมจอยคอนเสิร์ตกับ Bodyslam ในเพลง ‘คิดฮอด’ ก่อนน้องๆ จะขึ้นเล่นในรอบสุดท้าย ทั้งสามบอกว่า “การได้ขึ้นเวทีกับศิลปินในดวงใจเป็นเหมือนความฝัน เพราะใครจะคิดว่าวันหนึ่งเด็กมัธยมปลายธรรมดาๆ จะได้เล่นดนตรีกับวงที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ แต่เวที THE POWER BAND ก็ทำให้รู้ว่าเป็นไปได้”

นอกจากการได้รับโอกาสที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้ พวกเขายังเล่าว่าการได้มาแข่งเวที THE POWER BAND เปิดโลกกว้างให้ตัวเอง นั่นก็เพราะแต่ละคนล้วนเป็นเด็กต่างจังหวัดที่อาจไม่มีโอกาสเข้าถึงเวทีแบบนี้เท่ากับเด็กในกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่งนอกจากจะได้เห็นการทำงานของศิลปินตัวจริงแล้วนั้น ก็ยังได้เรียนรู้การทำงานอย่างมืออาชีพ และได้เห็นการซ้อมอย่างจริงจังของพวกพี่ๆ อีกด้วย อีกทั้งพวกเขายังได้เพื่อนใหม่จากการประกวด ได้เห็นความหลากหลาย ความเก่งกาจของเพื่อนๆ จากภาคเหนือจรดภาคใต้ ที่ล้วนเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้อยากเดินทางสายดนตรีนี้ต่อไป แถมยังได้คอนเนกชั่นจากเหล่าผู้คนในวงการดนตรี ซึ่งอาจต่อยอดได้ในอนาคตอีกด้วย

พวกเขายังอยากฝากข้อความถึงเพื่อนๆ ที่อยากมาแข่ง THE POWER BAND ซีซั่นที่ 3 ที่กำลังจะเริ่มในไม่ช้านี้ว่า “อยากให้แสดงสกิลด้านดนตรีออกมาให้เต็มที่ เพราะคำว่าดนตรีไม่มีถูกหรือผิด ไม่ว่าจะเล่นแบบไหน ขอแค่ได้เล่น แล้วจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากมันแน่นอน”

ระหว่างได้ฟังเรื่องเล่าของทุกคน เรามองเห็นประกายความสุขในดวงตาของพวกเขาที่ฉายออกมาอย่างชัดเจน  ในแง่หนึ่ง การจัดเวทีประกวดอย่าง THE POWER BAND เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ประกายความสุขในดวงตาของพวกเขาตอนที่เล่าเรื่องดนตรีนั้นบอกเราชัดเจนว่า เวทีนี้มอบความหวังให้พวกเขา ให้พวกเขารู้ว่าตัวเองก็สามารถเดินทางในเส้นทางศิลปินมืออาชีพได้ ทุกๆ อย่างเป็นไปได้หากพวกเขาลงมือทำ 

บางครั้ง ความหวังอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดที่แบรนด์จะมอบกลับคืนสู่คนในสังคมได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กๆ ที่จะเป็นอนาคตของสังคมต่อไป

Tagged:

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

You Might Also Like