Taste the Success Story of The Balvenie

กลั่นเหตุผลที่ทำให้ The Balvenie เป็นซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้ที่ครองใจคนทั่วโลก

โดยทั่วไป ‘มอลต์’ เป็นที่รู้จักในฐานะอาหารที่มีส่วนผสมของธัญพืชอย่างซีเรียล แต่ในโลกของนักดื่มมักจะนึกถึง ‘ซิงเกิลมอลต์วิสกี้’ เครื่องดื่มสีอำพันสุดคลาสสิก ที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ด้วยการหมักและกลั่นมาจากมอลต์ของข้าวบาร์เลย์เท่านั้น และทุกหยดในขวดจะมาจากโรงกลั่นเดียวกัน นำมาผ่านกรรมวิธีอันพิถีพิถัน จนขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งความคราฟต์

ซึ่งแหล่งผลิตซิงเกิลมอลต์วิสกี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือสกอตแลนด์ โดยเฉพาะแบรนด์ชื่อดังอย่าง ‘The Balvenie’ ซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้ที่ส่งออกไปทั่วโลก และกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ได้มีโรงกลั่นตั้งอยู่ที่เมืองดัฟฟ์ทาวน์ เขตสเปย์ไซด์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 แหล่งผลิตวิสกี้ของสกอตแลนด์ แต่ถ้าย้อนไปเมื่อปี 1892 โรงกลั่นวิสกี้แห่งนี้เคยเป็นปราสาท Balvenie New House ที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

ก่อนที่วิลเลียม แกรนต์ จะนำประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 20 ปี จากการเคยเป็นผู้จัดการของโรงกลั่น Mortlach Distillery มาก่อตั้งแบรนด์ The Balvenie และเปิดโรงกลั่นเป็นของตนเอง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1893 นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตวิสกี้ส่งออกไปทั่วโลก จนโด่งดังในเรื่องของซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและให้ความรู้สึกเหมือนได้มาดื่มด่ำกับงานศิลปะชั้นเลิศ

Capital List ตอนนี้จึงขอพาทุกคนมาตีตั๋วไปที่สกอตแลนด์ เพื่อสัมผัสกลิ่นอายของซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้ พร้อมจิบเรื่องราวและเหตุผลที่กลั่นให้ The Balvenie ครองใจคนทั่วโลกได้อย่างอยู่หมัด

1. วัตถุดิบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

The Balvenie เป็นโรงกลั่นเพียงแห่งเดียวในที่ราบสูงสกอต ที่ยังคงใช้ข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกเองเพื่อทำวิสกี้ แต่ก็มีความท้าทายในเรื่องของสภาพอากาศของสกอตแลนด์ที่ยากจะคาดเดา และต้องเพาะข้าวบาร์เลย์มาทำเป็นมอลต์เท่านั้น ห้ามมีข้าวชนิดอื่นมาผสมเด็ดขาด แตกต่างจากมอลต์วิสกี้ทั่วไป ที่สามารถผสมข้าวสาลีและข้าวไรย์ได้ ทำให้ต้องใช้ทีมเกษตรกรมืออาชีพในการหว่านเมล็ด ดูแล และเก็บเกี่ยว

2. ใช้กรรมวิธีดั้งเดิมเติมเสน่ห์ให้น่าค้นหา

หลังเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์แล้ว จะนำไปแช่ในน้ำแร่ที่มาจากเนินเขาเหนือโรงกลั่นจนข้าวแตกยอดอ่อน หลังจากนั้นจะเตรียมมอลต์ด้วยวิธีการดั้งเดิมแบบใช้มือ คือให้คนทำมอลต์หมุนข้าวบาร์เลย์ด้วยตนเองจนกว่าข้าวจะกะเทาะออกจากเปลือก ก่อนจะนำไปทำให้แห้งในโรงกลั่น ด้วยการใช้ถ่านหินแอนทราไซต์และพีทที่ควบคุมอุณหภูมิได้อย่างประณีต ซึ่งวิธีนี้เป็นการคงเสน่ห์แบบดั้งเดิมที่ทำให้วิสกี้มีความซับซ้อนน่าค้นหามากยิ่งขึ้น

3. ทีมงานมากฝีมือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้

ด้วยความที่ The Balvenie เน้นความพิถีพิถันในทุกกระบวนการ แม้แต่วัสดุที่ใช้ยังต้องมาจากช่างฝีมือที่มีประสบการณ์ ตั้งแต่ช่างทำถังไม้จะสร้างถังด้วยมือ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมากกว่า 4 ปี ส่วนหม้อกลั่นทองแดงจะได้รับการถูกดูแลโดยช่างเฉพาะตัวให้สมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อมาใช้ในการกลั่นและสร้างสรรค์วิสกี้ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

4. มี malt master ดูแลการผลิตวิสกี้ทุกขวด

เพื่อรักษาคุณภาพและรสชาติให้สมดุลตามสไตล์ The Balvenie ทำให้ตั้งแต่เริ่มกลั่นวิสกี้ขวดแรกมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะมี ‘David C. Stewart’ เป็น malt master ที่ดูแลการผลิตอยากใกล้ชิด จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และในปี 2023 ได้รับการยกย่องให้เป็นทูตกิตติมศักดิ์และปรมาจารย์ด้านวิสกี้ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ลูกศิษย์ฝีมือดีของเขาอย่าง Kelsey McKechnie เข้ามาเป็น malt master คนต่อไป

5. วิสกี้มีความลึกซึ้งและซับซ้อนด้วยการบ่มแบบ cask finishes

ในปัจจุบันการบ่มวิสกี้แบบ ‘cask finishes’ เป็นเทคนิคที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย แต่ต้นกำเนิดมาจากในปี 1983 ที่ David C. Stewart ได้เป็นผู้คิดค้นวิธีการบ่มวิสกี้แบบ cask finishes เป็นคนแรก โดยเป็นการบ่มวิสกี้ในถังหนึ่งเป็นเวลาหลายปี จากนั้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจะทำการย้ายวิสกี้ไปบ่มในอีกถังหนึ่งที่ทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มเลเยอร์ให้วิสกี้มีความลึกซึ้งและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เกิดขึ้นจากวิธีการบ่มแบบนี้เท่านั้น

6. รังสรรค์วิสกี้ที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้เสพงานศิลปะ

The Balvenie ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้ แต่เป็นเหมือน ‘ผู้สร้างงานศิลปะที่น่าหลงใหล’ เพราะในแต่ละรุ่นจะมีซิกเนเจอร์ที่แตกต่างกันออกไป ตามวิธีการคราฟต์กลิ่นและรสชาติ การเลือกถังมาบ่ม ไปจนถึงการกลั่นด้วยความประณีต

อย่างล่าสุดในปี 2023 ได้เปิดตัว ‘The Balvenie 60 Year Old’ เพื่อเฉลิมฉลอง 6 ทศวรรษที่ David C. Stewart เป็น malt master ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การผลิตวิสกี้ โดยใช้เวลาบ่มยาวนานถึง 60 ปี จากถังบ่มเดียวที่บรรจุในปี 1962 จึงให้กลิ่นที่หอมเหมือนอยู่ในฤดูใบไม้ร่วง

และงานศิลปะในรูปแบบวิสกี้ขวดนี้ ยังบอกเล่าเส้นทางอันแสนวิเศษของ David C. Stewart ด้วยขวดวิสกี้ที่ทำจากคริสตัลเป่าด้วยมือ บรรจุอยู่ในกล่องดีไซน์พิเศษถึงห้าชั้น ในแต่ละชั้นก็จะสลักเรื่องราวที่บอกเล่าเส้นทางการทำงานตลอด 60 ปีของเขา ทำให้รุ่นนี้เป็นวิสกี้ที่เก่าแก่และหายากที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยมีมา จึงมีเพียง 71 ขวดทั่วโลก และในไทยมีเพียง 1 ขวดเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวและเหตุผลที่บ่มให้ The Balvenie กลั่นออกมาเป็นซิงเกิลมอลต์สกอตช์วิสกี้เบอร์ต้นๆ ของโลก ที่ครองใจผู้คนมาได้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like