From Surin to Soerann
จากเด็กสุรินทร์สู่การทำแบรนด์หรู Soerann ของแพรวา เติมเต็มสตูดิโอที่ทอผ้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน
“เราห่างหายจากการให้สัมภาษณ์ไปนานแล้ว”
แพร–แพรวา รุจิณรงค์ ออกตัวเมื่อเปิดประตูต้อนรับให้เข้าไปในสตูดิโอที่เธอเป็นผู้ก่อตั้ง
ทั้งนี้เพราะเติมเต็มสตูดิโอเปิดมาเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว สำหรับผู้ที่ติดตามงานคราฟต์อยู่เสมอ เติมเต็มสตูดิโอเป็นที่รู้จักกันดีจากการเป็นไม่กี่แบรนด์ในไทยที่ออกแบบลายผ้าเองโดยแพรผู้มีหลายบทบาททั้งนักออกแบบสิ่งทอ อาจารย์สอนวิชาสิ่งทอ และนักขับเคลื่อนที่เข้าไปพัฒนาชุมชนกับชาวบ้าน
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้สนใจผ้าไทยมากนัก เติมเต็มสตูดิโอถือเป็นแบรนด์แปลกใหม่ที่ออกคอลเลกชั่นลายผ้าไทยที่คาดไม่ถึงอย่างลายหัวใจ ดอกเดซี่ สตรอว์เบอร์รี และยังมีไอเทมแฟชั่นจากผ้าไทยที่ใช้เทคนิคการทอพื้นบ้านแต่ดูไม่ไทยจ๋า ทำให้คอลเลกชั่นสินค้าไลฟ์สไตล์ของแบรนด์เป็นที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับคนรุ่นใหม่
Soul of future craftsmanship คือคำบรรยายสตูดิโอทอผ้าที่แพรใส่ไว้ในอินสตาแกรม เพราะเธอรักศาสตร์การทอผ้าท้องถิ่นเป็นชีวิตจิตใจด้วยเติบโตมาในจังหวัดบ้านเกิดอย่างสุรินทร์ ไม่นานมานี้แพรยังเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Soerann ที่ใช้เทคนิคการทอผ้าจากสุรินทร์ทั้งหมดและมีความตั้งใจปั้นให้เป็นแบรนด์หรูระดับ atelier ที่ขายสินค้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้านในราคาสูงได้
ที่ผ่านมา แพรยังยึดหลักการว่าอยากทำลายผ้าที่ผู้คนเข้าใจง่ายและรู้สึกว่าใส่ได้ในโอกาสสำคัญ เธอจึงไม่เคยหยุดนิ่งกับการสร้างสรรค์ลายผ้าและสินค้าใหม่รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจอยู่เสมอ โดยมีการใช้กระบวนการคิดคอนเซปต์และหาแรงบันดาลใจจากหลากหลายรูปแบบที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านลายไทยรูปแบบเดิมๆ
Life Wisdom
โปรดักชั่นเฮาส์ของคนอีสานบ้านเฮา
พื้นเพครอบครัวแพรอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์
คุณปู่และคุณตาของเธอรับราชการทำงานพัฒนาชุมชนในหลายจังหวัดโดยมีบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สนับสนุนให้ชุมชนสร้างรายได้ คุณย่าเป็นคนเชียงใหม่ที่รักการนุ่งผ้าซิ่นของภาคเหนือและชอบเข้าครัวทำอาหารท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนผู้หญิงในชุมชนให้เกิดรายได้ คุณยายของแพรนั้นทำศูนย์ชุมชนขายผ้าไหมที่อุดรธานี ส่วนญาติเปิดร้านผ้าไหมที่สุรินทร์ชื่อเอกอนันต์ไหมไทยโดยมีโรงทอผ้าอยู่หลังบ้าน
แพรยังโตมากับคุณพ่อผู้เป็นสถาปนิกที่ชื่นชอบงานสไตล์ไทยและเคยไปทำงานที่ญี่ปุ่น 2-3 ปี ผลงานของพ่อที่แพรเห็นมาตั้งแต่เด็กไม่ใช่แค่การออกแบบบ้านและอาคารทั่วไปแต่เป็นโจทย์การออกแบบสถานที่ซึ่งมักไม่ซ้ำกัน เช่น พิพิธภัณฑ์ที่อยุธยา ปางช้าง โรงพยาบาล
บทบาทนักขับเคลื่อน นักออกแบบ และความรักในภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงอยู่ในสายเลือดของแพร จากการเห็นวิถีชีวิตของปู่ย่าตายายและพ่อมาตั้งแต่เด็ก
“เราเติบโตมากับสังคมหลายบริบทและวัฒนธรรม พอต้องกลับบ้านทุกๆ ซัมเมอร์ เราก็ติดสอยห้อยตามคุณตาที่ทำงานพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ไปด้วยทำให้ได้ไปต่างจังหวัดและได้เห็นบริบทของชุมชนหลากหลาย”
เด็กหญิงแพรวาได้รับอิทธิพลหลักจากถิ่นบ้านเกิดคือภาคอีสาน นอกจากสุรินทร์แล้วจังหวัดที่ครอบครัวของเธอแวะไปทำงานทั้งนครพนมและอุดรธานีก็ทำให้ซึมซับวัฒนธรรมพื้นบ้านกลับมา โดยเฉพาะจากคุณยายที่เป็นนักสะสมผ้าไทยตัวยง
“ด้วยความที่เขาติดตามคุณตาไปอยู่ภาคอีสาน เพราะฉะนั้นเขาก็จะได้ผ้าจากอุดรธานี เวียงจันทน์ หลวงพระบางที่อพยพมาไทย มีผ้ามัดหมี่ของสุรินทร์สะสมไว้เยอะมาก เราโตมาก็เห็นตู้ผ้า 3-4 ตู้ของยาย เขาก็จะชอบขุดกรุเปิดตู้ออกมา เอาผ้าออกมากางและพับ”
ความชอบสะสมผ้าไทยของคุณยายถูกส่งต่อให้คุณแม่ของแพรและส่งถึงแพรอีกต่อในรูปแบบความหลงใหล
“เราไปที่ร้านผ้าไหมตั้งแต่เด็กจนโตแล้วรู้สึกสนุก เหมือนเป็นวันเดอร์แลนด์ของฉันที่เต็มไปด้วยสีสด แล้วก็อยากเรียนทอผ้าขึ้นมาเองแต่ไม่รู้ว่าได้แรงบันดาลใจมาตั้งแต่ตอนไหน”
รู้ตัวอีกทีแพรก็เรียนคณะออกแบบพัสตราภรณ์ที่ได้เรียนทอผ้าสมใจอยากและจบมาทำงานรับราชการหลายบทบาททั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และนักวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่กรมหม่อนไหมซึ่งมีหน้าที่คือทำโครงการที่ออกแบบลายผ้าไหมร่วมกับชุมชน
“มีน้อยคนที่เรียนสาขานี้และทอผ้าเป็น เพราะฉะนั้นเราจะถูกเรียกตัวไปทุกที่ เดินทางไปเหนือจรดใต้ จากอีสานไปตะวันตก และตะวันออกจนถึงตะเข็บชายแดน เราไปตั้งแต่เวียงเชียงรุ้ง เชียงราย ไปจนถึงใต้สุดคือชุมพร
“ทักษะที่เรามีทุกวันนี้เกิดจากการที่เราแลกเปลี่ยนกับแม่ๆ เวลาลงชุมชนหรือลงพื้นที่แถบอีสาน เราไปฝึกย้อมสีธรรมชาติ วิธีขิด ทำมัดหมี่ เรียนแบบครูพักลักจำแล้วปรับการออกแบบให้เข้ากับวิถีของเขา”
แพรบอกว่าเติมเต็มสตูดิโอเกิดขึ้นมาได้เพราะชุมชนเหล่านี้ที่สอนทักษะทอผ้าพื้นบ้านกับเธอ
“สตูดิโอของเราเกิดจากความไม่แม่นในทักษะของเรานี่แหละ เพราะเราต้องมาทดลองพัฒนาทักษะตัวเองก่อนถึงจะไปทำโครงการสอนชุมชนได้ เลยต้องบอกว่าเติมเต็มสตูดิโอไม่ได้ช่วยเหลือหรือชูชุมชนนะ แต่เราทำงานร่วมกันเพราะเขาคือโปรดักชั่นเฮาส์ที่ซัพพอร์ตการผลิตทั้งหมด”
Symbolic Expression
แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับผ้าไทยตั้งแต่เด็ก แต่แพรก็มองว่าลายผ้าไทยดั้งเดิมมีความซับซ้อนและเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป
เช่นผ้ามัดหมี่ในแถบสุรินทร์มี 2 แบบ คือผ้าปูมสำหรับใส่ในงานราชการ ลวดลายประกอบด้วยรูปพญา ขุน ลายขอบ ช่องแทงท้อง กรวยเชิงหลายชั้น ส่วนผ้าโฮล ผ้าปิดานเป็นผ้าสำหรับใช้ทำบุญจึงมีลวดลายทางพุทธศาสนาทั้งรูปคนและช้างม้าวัวควาย ใช้มัดหมี่ในการทอราว 180 ล้านลำซึ่งแพรบอกว่าระยะเวลาหนึ่งปีก็อาจทอไม่เสร็จ
“เราเอาทักษะที่ใช้ในการทอผ้าลวดลายซับซ้อนพวกนี้มาลดทอนให้ทำง่ายขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อทำลายผ้าของเติมเต็มสตูดิโอเป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย มีความเป็นสากลอย่างลายหัวใจหรือดอกไม้ที่กระบวนการทอสั้นลงแล้วคนก็ชอบ
“อย่างลายดอกไม้ที่เป็นรูปดอกเดซี่ เรารู้สึกว่าเด็กก็ยังวาดรูปดอกไม้แบบนี้ได้ มันเป็นรูปทรงที่เข้าใจง่าย ลายน่ารัก จริงๆ เราทำลายหัวใจมาเกือบ 5-6 ปีแล้วแต่เพิ่งมาบูมช่วงนี้ เราก็แฮปปี้นะ มันเป็นสัญลักษณ์เบสิกที่พัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ”
“อีกอย่างหนึ่งคือการเบลนด์สีผ้าของสตูดิโอเราก็ย่อขั้นตอนให้สั้นลงเหมือนกัน มันเกิดจากการที่เรารู้สึกว่ากระบวนการทำผ้ามัดหมี่มีหลายขั้นตอนและใช้เวลาทำยาวนานมาก เราเลยปรับเทคนิคการทอจาก 10 ขั้นตอนให้เหลือแค่ 2 ขั้นตอน”
ทุกวันนี้นอกจากทำเติมเต็มสตูดิโอแล้วแพรยังเป็นอาจารย์สอนวิชาสิ่งทอ และใช้กระบวนการคิดของนักวิจัยจากบทบาทที่เคยทำงานมาในการออกแบบสินค้าของสตูดิโอตัวเอง แพรคิดคอนเซปต์ด้วยหลากหลายวิธี ทั้งเขียนแรงบันดาลใจออกมายาวเป็นพารากราฟ เก็บสถิติจากมุมมองของตัวเอง เช่น ถ่ายรูปท้องฟ้าเก็บไว้ทุกวันแล้วเอามากองรวมกันเพื่อหาสีและรูปทรงบางอย่างที่ชอบ
บางครั้งก็หาแรงบันดาลใจด้วยการทำงานคนเดียวจากการอ่านและเสพข้อมูลเยอะๆ แล้วกลั่นกรองข้อมูลออกมาคล้ายการทำงานวิจัย และบางครั้งก็ทำงานเป็นกลุ่มด้วยการใช้กระบวนการคิดแบบ design thinking และโยนคำถามให้ช่างทอในชุมชน
“สมมติว่าเราอยากทำคอนเซปต์เรื่องเฟมินิสต์ เราก็จะโยนคำถามให้ช่างทอว่าจากคำนี้นึกถึงภาพอะไร รู้สึกถึงสีอะไร แปะไอเดียในโพสต์-อิทแล้วเอาคำมากองรวมกันและตีความเป็นภาพทางองค์ประกอบศิลป์ ตัวอย่างผลงานเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วคือเราตีความเฟมินิสต์ว่าเราเบื่อที่จะต้องมานั่งพับเพียบแล้ว เราก็ทอผ้าเป็นตัวอักษรใหญ่ๆ ว่า equality, dignity และ respect มาจากความรู้สึกที่อยากถือป้ายตะโกนว่า เคารพฉันด้วยค่ะ ฉันเป็นคนทอผ้าค่ะ”
แพรบอกว่าถึงแม้ลายผ้าของเติมเต็มสตูดิโอจะเต็มไปด้วยสีสันสดใส บางลายมีความน่ารัก แต่ความจริงแล้วเธอเป็นคนกวน แค่ชอบสื่อสารผ่านสัญญะแทนการสื่อสารออกไปตรงๆ และผลงานผ้าทอบางชิ้นก็เป็นดั่งงานศิลปะที่ระบายอารมณ์ส่วนตัวลงระหว่างทอผ้า
“สมัยรับราชการเราเจอบริบทบางอย่างที่ถูกกดทับก็เลยเอาอารมณ์นี้มาทำงานศิลปะและเราก็เป็นคนเขียน dark diary ตั้งแต่เด็ก ก็เลยหยิบสิ่งนี้มาเป็นกระบวนการในการทำงาน อย่างงานชิ้นหนึ่งตอนปี 2020 เป็นงานที่จัดการกับความเกรี้ยวกราดของตัวเอง เราเอาแผ่นใยไหมที่หนอนไหมตายแล้วมาย้อมด้วยครั่งที่เป็นสีแดงเลือดแล้วก็ใช้เทคนิคบาติกให้เป็นลายออกมา”
“แต่พอผลงานเข้าสู่ตลาดการขายแล้ว เราก็คงไม่เอาอารมณ์เกรี้ยวกราดของเราไปขายลูกค้าแล้ว” ไม่ว่าแรงบันดาลใจในการทอผ้าจากต้นทางของแพรจะเริ่มด้วยอารมณ์กุ๊กกิ๊กจนออกมาเป็นลายหวานใสอย่างหัวใจและดอกไม้ หรือเป็นสีแดงก่ำจากความเกรี้ยวกราด ผ้าของเติมเต็มสตูดิโอก็ล้วนมีความโดดเด่นแบบร่วมสมัยที่ลูกค้ารู้สึกร่วมได้จากสัญลักษณ์และคอนเซปต์ที่สื่อสารออกมาผ่านลวดลาย
Business Wisdom
หาโอกาสใหม่ในวันที่ธุรกิจแขวนอยู่บนเส้นด้าย
แต่เดิมเติมเต็มสตูดิโอของแพรมีโมเดลธุรกิจที่รับรายได้จาก 3 ช่องทาง
หนึ่งคือเวิร์กช็อปสอนวิชาสิ่งทอสำหรับผู้ที่สนใจพัฒนาผ้าทอ สองคือรับผลิต OEM สำหรับลูกค้าที่อยากนำลายผ้าสวยๆ ไปตกแต่งภายในหรือผลิตเป็นสินค้า สามคือส่วนที่เรียกว่า textile lab ซึ่งรับทำงานวิจัยสำหรับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ ที่อยากต่อยอดภูมิปัญญาและสินค้าผ้าทอของชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม
วิกฤตโควิด–19 ทำให้รายได้จากสามช่องทางหลักนี้หายไปเกือบทั้งหมดและธุรกิจแขวนอยู่บนเส้นด้าย จากที่แพรมองตัวเองเป็น textile designer ที่ออกแบบลายผ้าก็ต้องหันมาทำสินค้าของตัวเองเพื่อปรับตัวตามปัญหาเศรษฐกิจและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
“สินค้าแรกที่เริ่มทำเองคือย้อมเส้นด้ายขายเป็นเซต DIY เพราะเป็นทักษะเริ่มต้นของเราตอนที่ก่อตั้งสตูดิโอมา ช่วงโควิดก็เอาเศษผ้าที่เหลือมาทำแมสก์ แล้วเริ่มขยับมาทำเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหู ผ้าโพกหัว ผ้าพันคอ”
เส้นทางธุรกิจของเติมเต็มสตูดิโอค่อยๆ เติบโตจากการลองผิดลองถูก ปรับโมเดลธุรกิจมาหลายแบบ ทั้งเคยลองขายแบบพรีออร์เดอร์ให้กลุ่มข้าราชการและอาจารย์ที่ใส่ผ้าไทยทำงาน ปรับสินค้าให้มีวัสดุหลากหลายขึ้นตามต้นทุนที่ผันผวน เช่น เมื่อไหมขึ้นราคาสูงก็ขยับมาทำสินค้าที่ใช้ผ้าฝ้ายมากขึ้น ทำพรมจากวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช้ไหมไปจนถึงลองทำเส้นใยผสมจากไหมและฝ้าย
ความสนุกในการทำธุรกิจยังเป็นการกระโจนเข้าหาโอกาสแม้ยังไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน แต่พอลองไปเรื่อยๆ แพรก็เริ่มจับทางถูกว่าลูกค้าน่าจะชอบแบบไหน เช่น เมื่อครั้ง ICONCRAFT แผนกรวมสินค้างานคราฟต์ของไอคอนสยามชักชวนให้แพรลองทำคอลเลกชั่นอะไรก็ได้มาฝากขาย
“ตอนนั้นเริ่มทำหมวดเสื้อผ้าแล้วแต่เป็นจังหวะที่ยังงงๆ ทิศทางอยู่ จะทำเสื้อมัดย้อมก็ขายยากเพราะตอนนั้นแฟชั่นมัดย้อมเป็นตลาดแดงเดือด ลองเอาผ้าไหมมาปรับเป็นสินค้าใหม่ก็ยังขายไม่ได้ แต่พอลองทำลายหัวใจเท่านั้นแหละก็ขายดิบขายดี เราก็เริ่มเห็นภาพว่า อ๋อ มันต้องเป็นแบบนี้”
ประกอบกับช่วงนั้นแพรรีแบรนด์เติมเต็มสตูดิโอเป็นลุคใหม่ ทั้งเปลี่ยนโลโก้ สร้างแบรนดิ้งให้คนจดจำในสโลแกน Termtem the weavery ทำให้แบรนด์เติมเต็มเป็นที่จดจำว่าทำลายผ้าร่วมสมัยในลายที่แตกต่าง ยิ่งมีสินค้าทั้งหมวดผ้าผืนและแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้เลือกช้อปก็ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงผ้าไทยได้มากขึ้น
นิยามแฟชั่นในหมวดเสื้อผ้าของเติมเต็มสตูดิโอคือชุดที่เหมาะใส่ตามโอกาส เช่น งานพิธีการ งานแต่งงาน โดยสามารถสั่งทำตามออร์เดอร์ในโอกาสพิเศษได้ ซึ่งแพรเล่าถึงความประทับใจว่าเธอเคยทำชุดสำหรับพิธีหมั้นแบบไทยในสไตล์แฟชั่นตะวันตกโดยใช้ผ้าไทยกับเทคนิคการทอมัดหมี่ และยังเคยทำชุดแต่งงานให้เจ้าของแบรนด์ละมุนละไมที่มีคอนเซปต์ชุดล้อมาจากฟอร์มของเซรามิก
“ความจริงเราไม่เคยให้คำจำกัดนิยามและสไตล์ของเต็มเติมสตูดิโอเลย แค่รู้สึกว่าอยากทำสตูดิโอที่ทำให้คนรู้ว่า textile designer ก็สามารถทำในรูปแบบที่ไม่ต้องออกมาเป็นลายไทยแต่ยังใช้ทักษะไทยได้”
แพรบอกว่าชุดงานแต่งงานและลายผ้ารูปหัวใจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดว่าความเป็นไทยไม่ได้หมายถึงแค่ลายเท่านั้นแต่ยังรวมถึงกระบวนการเบื้องหลัง มองแวบแรกอาจเห็นแฟชั่นตะวันตกแต่เบื้องหลังใช้วัสดุและเทคนิคการทอแบบไทยจากช่างทอชุมชนไทยก็ได้
Soerann No.1
Soerann มาจาก ‘ซเร็น’ ซึ่งเป็นคำเขมรที่แปลว่าสุรินทร์ เป็นคำที่ชาติพันธุ์เขมรในจังหวัดสุรินทร์ใช้เรียกตัวเอง แพรเลือกใช้คำนี้เป็นชื่อแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้และแตกออกมาจากเติมเต็มสตูดิโอเพราะต้องการแยกโพซิชั่นของทั้งสองแบรนด์ให้แตกต่างกัน
“เติมเต็มสตูดิโอเคยเป็น atelier ที่ราคาสูงมาก่อน แต่พอเจอบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มลูกค้าของเราแมสมากขึ้น คนที่ติดตามเราและลูกค้าเราไม่ใช่คนที่อยากซื้อผ้าราคาแพงเมตรละ 5,000–6,000 บาทอีกต่อไปแล้ว
“ด้วยลายหัวใจ ลายดอกไม้ที่เข้าถึงคนได้มากขึ้นทำให้โพซิชั่นแบรนด์ของเติมเต็มและราคาขยับไปอยู่ที่ระดับกลาง แต่เรายังอยากดันให้มีหมวดผ้าทอที่ราคาสูงและจับกลุ่มลูกค้าระดับท็อปเหมือนเดิม”
อีกเหตุผลสำคัญที่แยกแบรนด์ออกมาคือผ้าทอของแบรนด์ Soerann นั้นจะใช้เทคนิคการทอจากสุรินทร์ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการทอจากบ้านเกิดเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดที่แพรใช้คำว่ามีความซับซ้อนที่สุดในสามโลกและต้องใช้ทักษะการทอที่ยากกว่าการทอผ้ามัดหมี่ของเติมเต็มสตูดิโอเยอะ โดยมีโครงสร้างการทอเป็นรูปเบสิกคือสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลมที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนและความประณีตสูง และยังต้องทอออกมาเป็นพื้นผิวลักษณะพิเศษที่แสดงถึงความฟูและความนุ่ม
“ผ้าของเติมเต็มสตูดิโอยังมีสีเคมีผสมแต่สินค้าของ Soerann จะใช้สีย้อมธรรมชาติทั้งหมด และเมื่อไหร่ก็ตามที่ความยากในกระบวนการทอเกิดขึ้น ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น ทำนานขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่างกันนี้เองเพราะฉะนั้นผ้าแก๊งนี้เลยแพงกว่า”
แพรบอกว่าไม่ได้ตั้งชื่อให้ผ้าคอลเลกชั่นใหม่แบบจริงจัง แต่อยากให้ลายผ้าที่เปิดตัวใหม่สื่อถึงความคลาสสิก เป็นลาย Soerann no.1 คล้าย Chanel no.5
ทั้งนี้โมเดลธุรกิจของ Soerann นั้นเหมือนกับเติมเต็มสตูดิโอตรงที่ขายทั้งผ้าผืนและสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์และแตกต่างกันตรงที่เติมเต็มสตูดิโอจะรับผลิต OEM ด้วยแต่แบรนด์ Soerann จะทำเฉพาะลายที่อยากทำแบบจำกัดเท่านั้น
การเปิดแบรนด์ใหม่หลังจากเปิดสตูดิโอมา 8 ปีทำให้เห็นว่าแม้ธุรกิจจะจับทางถูกแล้วแต่ก็ยังต้องปรับตัวเพื่ออนาคตอยู่เสมอ ดังที่แพรบอกว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำสตูดิโอของตัวเองคือการอยู่รอด “วัฏจักรของธุรกิจมีขึ้นแล้วก็มีลงซึ่งต้องเข้าใจและทำใจ วันนี้เราอาจจะมีลูกค้าที่รวยเป็นพันล้านมาซื้อเรา วันพรุ่งนี้เศรษฐกิจอาจจะแย่มากจนไม่มีลูกค้า เราก็ต้องเป็น survivor ที่ทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดให้ได้”
นอกจากเรื่องกำไรแล้ว การได้ทอผ้าเป็นสิ่งที่เติมเต็มชีวิตและจิตใจของแพรเพราะเธอมีผ้าเป็นแรงบันดาลใจอยู่ในทุกช่วงชีวิต จากผ้าสุรินทร์ที่เห็นยายสะสมในวัยเด็กสู่ลายผ้าของ Soerann ที่ออกแบบเองในวันนี้คลี่ให้เห็นถึงเรื่องราวการถักทอชีวิตของแพรที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันและสวยงามไม่แพ้ผ้าผืนไหน
“พอมาถึงจุดนี้จนอายุจะเข้าเลข 4 แล้วก็รู้ว่าการทอผ้าคงเป็นดีเอ็นเอของเราที่ทำจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แต่ก่อนมันมีเป้าหมายที่อยากพิสูจน์ว่าอยากประสบความสำเร็จ อยากให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักระดับโลก แต่วันนี้รู้สึกว่าแค่เราเป็นหนึ่งใน textile designer ที่อยู่รอดในวงการนี้ในประเทศไทย เป็นตัวอย่างให้เด็กที่เรียนจบสายนี้เห็นลู่ทางว่ามันมีอาชีพที่ทำได้ก็ดีมากแล้ว”
Editor’s Note : Wisdom from Conversation
ความโมเดิร์นของเติมเต็มสตูดิโอและ Soerann คือการสื่อสารผ่านสัญญะ (symbolic) ที่ร่วมสมัย
ลายผ้าไทยในอดีตเต็มไปด้วยสัญญะและเรื่องเล่าที่คนในสังคมรู้สึกเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นลายทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม เมื่อถึงวันที่บริบททางสังคมเปลี่ยนไป การหยิบจับเอาสัญญะที่ใกล้ตัวคนรุ่นใหม่อย่างหัวใจและดอกเดซี่มาทำลายผ้าทำให้คนยุคปัจจุบันรู้สึกเชื่อมโยงได้
การออกแบบความเป็นไทยที่ร่วมสมัยอาจหมายถึงการลืมภาพจำเก่าๆ ไปว่าความเป็นไทยในอดีตคืออะไร ลืมข้อมูลเก่าในวันวานและเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ในวันนี้ ทั้งจากความรู้สึก ความคิด มุมมองของชุมชนและคนในสังคมปัจจุบัน ออกมาเป็นลายผ้าที่หน้าตาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นลายไทยแต่มาจากความคิดและทักษะของคนไทย
การทำแบรนด์ Soerann ของคนสุรินทร์ยังทำให้เห็นว่าแม้จะออกเดินทางไปไกลยังทิศเหนือใต้ออกตก แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ผลงานจากภูมิปัญญาพื้นบ้านมีเอกลักษณ์คือการหวนกลับมายังรากของตัวเองที่มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่สามารถถักทอเรื่องเล่าจากภูมิลำเนาของเราได้ดีที่สุด