ลามปาล์มไปทั่ว
คราฟต์แบรนด์ท้องถิ่นให้คนอินเลิฟ ด้วยมาสคอตสุดโมเดิร์นจากโตนดคราฟต์ x GLISTEN DESIGN
ถ้าพูดถึงจังหวัดเพชรบุรี ภาพแรกที่แวบขึ้นมาในหัวของใครหลายคน คงเป็นเมืองแห่งขนมหม้อแกง มีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมคือหาดชะอำ และเป็นทางผ่านลงภาคใต้ แต่ในสายตาคนท้องถิ่นอย่าง เรย์–กฤศกร ศรีษุภัณฑ์ เขาอยากให้คนจำภาพว่าเพชรบุรีเป็นเมือง 3 รส ที่มีทั้งรสหวานจากน้ำตาลโตนด รสเปรี้ยวจากมะนาวแป้น และรสเค็มจากเกลือของอำเภอบ้านแหลม
จากความตั้งใจเรย์จึงหยิบเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเหล่านั้น มาคราฟต์เป็นเครื่องดื่มน้ำตาลโตนดมะนาวโซดาหรือที่ตั้งชื่อเมนูสะดุดตาว่า ‘ลามปาล์ม’ และเลือกใช้วิธีการไปหาลูกค้าถึงที่ ด้วยการมาออกบูทในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้คนรู้จักและสร้างภาพจำของเมืองเพชรบุรีที่มีเสน่ห์มากกว่าที่หลายคนคิด
และในวันที่โตนดคราฟต์มาออกบูทอยู่โซนฮักไทย ในเซ็นทรัลเวิลด์พอดิบพอดี เราเลยถือโอกาสไปลองชิม พร้อมชวนคุยถึงแนวคิดการปั้นธุรกิจท้องถิ่นให้โมเดิร์นและเข้าถึงง่าย
เมื่อไปถึงที่บูท เรย์ได้ทำเมนูลามปาล์มให้ชิม สิ่งที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์คือรสชาติที่มีทั้งความหวาน เปรี้ยว ซ่าอยู่ในแก้วเดียวกัน พอพลิกดูข้างแก้วก็จะเห็นโลโก้ที่มีหน้าเด็กผู้หญิงผมส้มอยู่ในนั้น และพอหันมาดูข้างบูทก็จะเจอกับคาแร็กเตอร์เด็กผู้หญิงคนนั้นอีก ทำให้เรารู้สึกสะดุดตาและจำภาพคาแร็กเตอร์นี้ได้ทันทีที่เห็น
โดยเป็นผลงานการออกแบบของ GLISTEN DESIGN นำทีมโดย เพชร–อภิรัฐ เรืองอุดม ผู้ก่อตั้ง GLISTEN DESIGN นักออกแบบมือรางวัลที่ได้ไปเฉิดฉายบนเวทีระดับโลกมากมาย อาทิ Milan Design Week งานเทศกาลออกแบบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก Tokyo International Gift Show งานจัดแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดสู่ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้เขายังนำความหลงใหลในเรื่องรถยนต์ มาต่อยอดเป็นผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์จากวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงยังเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์ในหลายอุตสาหกรรม
ทั้งเรย์และเพชรมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือความต้องการยกระดับของขึ้นชื่อในจังหวัดเพชรบุรีให้ดูโมเดิร์นและเข้าถึงง่าย ด้วยการสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแกร่ง และการออกแบบมาสคอตสุดน่ารักมาดึงดูดใจคน
Nature to Nectar
จากของขึ้นชื่อเมืองเพชรบุรี สู่เครื่องดื่มขึ้นห้างในเมืองใหญ่
“เราเคยทำงานเป็นบาริสต้าอยู่ในต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาทำงานออกแบบคาเฟ่ให้รัฐวิสาหกิจที่หนึ่ง แล้วไปเจอกับคำว่าสืบสาน รักษา ต่อยอด เราชอบคำนี้มาก มันทำให้เรากลับมาคิดว่าควรจะทำอะไรให้บ้านเกิดที่เพรชบุรีได้บ้าง เพราะคนมักรู้จักจังหวัดนี้ในฐานะเมืองรองด้านการท่องเที่ยว ทั้งที่เพชรบุรีเป็นเมืองแห่งอาหารและวัฒนธรรม แต่ถ้าเราไม่พูดตรงนี้ออกมาแล้วใครจะรู้”
เรย์เลือกใช้เครื่องดื่มมาเป็นตัวดักคนให้รู้จักของดีเมืองเพชรบุรีก่อน เพราะเขามองว่าเครื่องดื่มที่แตกต่างและแปลกใหม่ จะทำให้นักท่องเที่ยวและกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเจนฯ Y อยากมาลิ้มลอง ประกอบกับตัวเขาเองมีความถนัดในการคิดค้นเครื่องดื่ม จากประสบการณ์ที่เคยเป็นบาริสต้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“ถ้าพูดถึงเพชรบุรีของขึ้นชื่ออย่างแรกๆ ที่คนท้องถิ่นอย่างเรานึกถึงก็คือน้ำตาลโตนด เราเลยเลือกทำน้ำตาลสดจากน้ำตาลโตนด และทำให้แตกต่างด้วยการคิดค้นเครื่อง sparkling water ออกมาด้วยตัวเอง เพื่อจะได้นำน้ำตาลโตนดไปใส่ในนั้น พอกดออกมาจะได้น้ำที่มีทั้งความหวาน ความซ่า และมีรสชาติเปรี้ยวนิดๆ อยู่ในตัวของมันเองเลย”
ชายผู้เป็นเจ้าของไอเดียเริ่มคิดมาจากอินไซต์ที่ตัวเองเคยไปทำงานต่างประเทศและเห็นคนต่างชาติชอบดื่ม sparkling water และสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ใกล้ตัวเขาก็ชอบน้ำอัดลม บวกกับคนสมัยนี้ชอบดื่มเครื่องดื่มแบบหวานน้อย ซึ่งน้ำตาลโตนดเป็นความหวานจากธรรมชาติที่ไม่หวานจนเกินไป ถ้าวัดดัชนีน้ำตาลหรือที่เรียกว่าค่า GI จะมีความหวานน้อยกว่าน้ำผึ้งด้วยซ้ำ
“ช่วงแรกเราไปซื้อน้ำตาลโตนดจากเกษตรกรที่ทำมาใส่ขวดขายกันข้างทาง แต่ปัญหาที่เจอคือในแต่ละวันน้ำตาลโตนดจะหวานไม่เท่ากัน แล้วเขาไม่ได้ทำน้ำตาลโตนดกันทั้งปี จะทำแค่ช่วงมกราคม-พฤษภาคม ในช่วงที่ว่างจากการทำนาเท่านั้น
“พอเราเป็นคนทำธุรกิจก็คิดแล้วว่าจะทำยังไงให้มีน้ำตาลโตนดใช้ตลอดปี ต้องควบคุมคุณภาพและรสชาติให้คงที่ให้ได้ เราเลยไปหาเกษตรกรถึงสวนตาลเอง ให้เขาสอนวิธีการทำน้ำตาลโตนด แล้วเรานำมาปรับใช้ทำเป็นหัวเชื้อ โดยใช้เครื่องวัดความหวาน เพื่อให้ค่าความหวานคงที่
“แต่ก็เจออีกปัญหาคือเกษตรกรกำลังจะเลิกทำสวนตาลพอดี เพราะโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง พอทำไปแล้วไม่ค่อยสร้างรายได้คนในครอบครัวก็ไม่มีใครอยากสานต่อ แต่เราก็คุยกับเกษตรกรว่าเราจะรับซื้อผลผลิตตามราคาตลาด หมายถึงว่าถ้าในตลาดขายกันกิโลกรัมละ 200 บาท เราก็ซื้อ 200 บาท ถ้าตลาดขายกันกิโลละ 150 บาท เราก็ซื้อ 150 บาท
เขามีเท่าไหร่ก็เอามาขายเราได้ หรือถ้ามีคนอื่นมารับซื้อก็ไปขายให้คนอื่นได้ เราไม่ว่ากัน เพราะไม่อยากไปทำลายตลาดของเรา แล้วเราก็ช่วยซื้อหลายๆ เจ้า เป็นการกระจายรายได้สู่เกษตรกรให้ทั่วถึง พอเขารู้ว่ายังไงก็ขายได้ มีตลาดรองรับ ไม่โดนกดราคาด้วย ทำให้ลูกหลานเขาก็เปลี่ยนใจอยากมารับช่วงต่อ เราก็รู้สึกดีใจที่ได้ช่วยอนุรักษ์การทำสวนตาล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีที่เราไม่อยากให้หายไป”
Crafted with Care
คราฟต์ความต่างมาเพิ่มมูลค่าด้วยเมนูลามปาล์ม
“ก่อนที่จะไปเปิดร้านขายจริง เราเอาน้ำตาลโตนดไปแจกให้คนที่มาทำบุญในวัดได้ลองชิมก่อน เพราะเรามองว่าเราเป็นแบรนด์ใหม่ เมนูที่ทำก็ใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก ถ้าไปเปิดขายเลยน่าจะขายยาก แล้วบังเอิญว่าหลวงพ่อที่วัดมีสวนมะนาว ท่านก็แนะนำให้เรานำมาทำเป็นเครื่องดื่ม ตอนแรกเราทำเป็นน้ำผึ้งมะนาวแบบทั่วไปๆ
“แต่พอมีลูกศิษย์ของหลวงพ่อที่เป็นชาวต่างชาติมาชิม เขาก็แนะนำให้เราเอาน้ำตาลโตนดและมะนาวมาผสมรวมกัน พอเราลองทำแล้วได้ชิม ก็รู้สึกว่าเป็นรสชาติที่ต่างจากน้ำตาลสดทั่วไปจริงๆ และเป็นการยกระดับให้เมนูเดิมของเราดูมีอะไรมากขึ้น”
นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเมนูซิกเนเจอร์ของโตนดคราฟต์ นั่นก็คือ ‘เมนูลามปาล์ม’ ที่ผสมผสานความหวานจากน้ำตาลโตนด ความเปรี้ยวจากมะนาว และความเค็มจากเกลือ ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ทำให้ในปี 2564 ยูเนสโก ได้ประกาศให้เพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร และขนานนามว่าเป็นเมือง 3 รส
“ที่มาของชื่อแบรนด์โตนดคราฟต์ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มาจากที่ทุกอย่างเราทำเองหมด ทั้งคิดค้นเครื่องสปาร์กกลิงโซดาและคิดค้นสูตรเอง
“ส่วนชื่อเมนูลามปาล์มก็มาจากที่คนไทยชอบเรียกมะนาวเป็นภาษาอังกฤษว่าไลม์ ไม่ได้เรียกว่าเลมอน แล้วต้นตาลโตนดก็เป็นพืชในตระกูลปาล์ม เราก็เลยเอาชื่อมารวมกัน แล้วเปลี่ยนจากไลม์ เป็นคำว่าลาม เพื่อเล่นคำให้คล้ายกับลามปาม พอฝรั่งได้ยินคำนี้ก็เข้าใจว่าเราขายอะไร คนไทยเห็นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นคำกวนๆ จำง่ายดี พอโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เราก็ติดแฮชแท็ก #ลามปาล์มไปทั่ว ทำให้นอกจากคนจะจำชื่อแบรนด์ได้แล้ว ยังจำชื่อเมนูเราได้อีกด้วย”
พอได้ชื่อแบรนด์ที่สื่อถึงความเป็นตัวเองและได้ชื่อเมนูที่ดูจดจำง่ายแล้ว เรย์เลือกไปออกบูทขายครั้งแรกที่ถนนมีชีวิต พานิชเจริญ เป็นถนนคนเดินที่แรกและที่เดียวที่ยังมีอยู่ในเพชรบุรีในตอนนี้ ก่อนจะทำการตลาดเชิงรุกบุกหลายจังหวัด ด้วยการไปออกบูทในห้างสรรพสินค้า ออกบูทตามงานอาหาร และงานคราฟต์ต่างๆ
“เราเชื่อว่าทำเลเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะบอกว่าร้านเราอร่อยจริง เปิดร้านที่ไหนคนก็มากิน เรื่องนั้นมันก็ใช่ คนมาจริง แต่จะไม่ได้มาบ่อยๆ ถ้าทำเลดีแล้วร้านเราทำอร่อย คนก็จะมาหาได้บ่อยกว่า เราเลยยังไม่ทำหน้าร้านขายประจำ แต่ใช้เป็นการออกบูทแทน ไปยังสถานที่ที่คิดว่าน่าจะมีลูกค้าของเราแทน
“อีกอย่างการออกบูทไม่ได้ส่งผลดีแค่เรื่องยอดขาย แต่ทำให้คนได้รู้จักเรา และเราก็ได้ศึกษาตลาดไปในตัว จากการสังเกตร้านอื่นๆ ว่าเขาทำยังไง ดูว่าไปออกบูทที่ไหนแล้วสินค้าไหนจะขายดี เพราะแต่ละที่กลุ่มลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน
“อย่างตอนนี้เรามาออกบูทที่เซ็นทรัลเวิลด์ แล้วมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เราก็เพิ่มเมนูผลไม้ที่คนจีนชอบกิน หรืออย่างตอนไปออกบูทในงาน Bangkok Design Week ที่คนไปร่วมงานก็ชอบอะไรที่เป็นความคราฟต์อยู่แล้ว ทำให้ในงานนั้นเราขายได้ถึง 1,000 แก้ว เราก็เลยรู้ว่าถ้าที่ไหนมีงานคราฟต์ ที่นั่นคืองานของเรา”
Modern Mascot Design
มาสคอตหนูเหวี่ยงที่ทำให้คนจดจำและหลงรัก
“เราได้ชิมเครื่องดื่มจากโตนดคราฟต์เป็นครั้งแรก ตอนที่เขาไปออกบูทในงาน Bangkok Design Week เรารู้สึกว่าอร่อยและแปลกใหม่ดี ตอนนั้นยังชวนเพื่อนๆ ให้มากินตามเราอยู่เลย” เพชรกล่าว
ตามด้วยเรย์ที่เล่าให้ฟังถึงปัญหา ก่อนที่เขาจะได้ร่วมงานกับเพชร “เมื่อก่อน CI แบรนด์และการตกแต่งบูทของเราจะเป็นแนววินเทจดูเท่ๆ เพราะเราใช้สีดำเป็นหลัก ตัดกับสีส้ม เป็นคู่สีที่เรารู้สึกว่าอยู่ด้วยกันแล้วเด่นดี แต่ก็ทำให้มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเราขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางคนมองแวบแรกก็ไม่รู้ว่าเราขายอะไรกันแน่ เราก็อยากให้แบรนด์ของเราดูเข้าถึงง่าย สื่อสารว่าเราขายเครื่องดื่มน้ำตาลโตนดมะนาวโซดา ซึ่งเป็นของดีเมืองเพรชบุรี”
“เราคิดว่าน่าสนใจดี ถ้าได้ออกแบบและพัฒนาสินค้าชุมชน ที่มีความคราฟต์และมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง เพราะปกติบริษัท GLISTEN DESIGN ของเราจะทำงานหลักๆ อยู่ 2 ส่วน คือการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ไม้ เหล็ก พลาสติก หรือว่าหนัง
“อีกส่วนคือเรามีการทำแบรนด์เป็นของตัวเองในชื่อ GLISTEN โดยนำฟิล์มหุ้มรถยนต์ที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งในแต่ละปีจะมีงานแข่งประมาณ 8 งาน และมีรถยนต์เข้าร่วมแข่งถึง 200 คัน ทุกคันจะมีการหุ้มฟิล์มเอาไว้ และจะมีฟิล์มเหลือในทุกการแข่งขัน ที่ไม่สามารถนำไปทำอย่างอื่นต่อได้ จะเอาไปเผาแล้วก็เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“ด้วยความที่เราชอบทั้งเรื่องรถยนต์และเรื่องธุรกิจ จึงรับซื้อฟิล์มหุ้มรถยนต์ที่เหลือใช้เหล่านั้น มาเติมความคิดสร้างสรรค์ออกแบบเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้เรามีจุดเด่นในเรื่องแนวคิดที่สดใหม่ เราพยายามที่จะคิดอะไรให้แตกต่าง”
เมื่อแบรนด์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ถูกยกระดับให้ดูโมเดิร์น เข้าถึงง่าย ด้วยแนวคิดของนักออกแบบที่มีความคิดสดใหม่ จึงเกิดเป็นมาสคอตสุดน่ารักที่เราเห็นกันในโลโก้ข้างแก้วและในบูทของโตนดคราฟต์
“เรายกบูทเราไปตั้งให้เพชรดูถึงที่บริษัทเลย เพราะเขาจะได้เห็นภาพบูทเราก่อนหน้านี้ ว่าควรจะต้องปรับอะไรบ้าง แล้วแบบไหนจะเป็นไปได้จริง ตอนนั้นก็คุยกันว่าต้องเปลี่ยนบูทใหม่ แต่ถ้าทำใหม่ทั้งหมดก็ต้องใช้ต้นทุนสูง เราก็ไม่พร้อม
“ก็เลยมองว่าอะไรที่ทำได้ก่อน ตอนนั้นเพชรแนะนำให้ทำมาสคอตก่อน เพื่อให้ดึงกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลง และเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น ก็เลยให้โจทย์กับเพชรว่าออกแบบเป็นเด็กผู้หญิงดีไหม มาจากที่เราเห็นพนักงานผู้หญิงในร้านเราชอบดื่มน้ำอัดลม ทำให้เรามาคิดว่าอยากให้เขาเปลี่ยนจากน้ำอัดลม มาดื่มน้ำตาลโตนดของเราที่เป็นความหวานจากธรรมชาติและยังได้ความซ่าจากเครื่องสปาร์กกลิงโซดาอยู่” เรย์บอกให้เราฟัง
เพชรเล่าเสริมว่า “เราก็นำโจทย์นี้ไปบรีฟกับทีมงาน ซึ่งจะมีฝ่ายรีเสิร์ช เขาก็หาข้อมูลว่าอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ของเพชรบุรี ก็ได้ออกมาเป็นเด็กผู้หญิงที่มีผมเป็นพุ่มๆ คล้ายต้นตาล ผมข้างหน้าก็มีลักษณะคล้ายกับลูกตาล
“ตอนแรกเราใช้ลายเส้นแบบเปิดๆ ให้ดูเป็นงานคราฟต์ แต่ก็จะดูน่ารักเกินไป ขัดกับคาแร็กเตอร์เจ้าของแบรนด์ที่มีความเท่ๆ เราเลยปรับลายเส้นให้หนาขึ้นและเป็นลายเส้นแบบปิดทึบ
“ส่วนเรื่องสีช่วงแรกเราเลือกใช้สีเขียว เพราะอยากสื่อถึงความรักษ์โลกและรักสุขภาพ ด้วยเครื่องดื่มจากธรรมชาติ แต่หลังจากพูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ก็คิดว่ากลับไปใช้สี CI เดิมดีกว่า เพราะเป็นสีที่ลูกค้าเดิมจดจำได้แล้ว”
จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นมาสคอตเด็กผู้หญิงผมสีส้ม ชุดสีขาว และมีชื่อว่าหนูเหวี่ยง มาจากเด็กที่ร้องกระจองอแง อยากกินอะไรต้องได้กิน โตนดคราฟต์เลยทำเครื่องดื่มแสนอร่อยมาเสิร์ฟให้น้องหนูเหวี่ยงกิน และชื่อนี้ยังทำให้รู้สึกถึงความซ่าของสปาร์กกลิงโซดาที่อยู่ในเครื่องดื่มอีกด้วย
“พอนำไปใช้งานจริง เราก็ออกแบบให้ใช้หนูเหวี่ยงตามจุดต่างๆ ของบูท เพื่อให้คนเห็นแล้วสะดุดตา จดจำง่าย เรามีการออกแบบดิสเพลย์ ป้ายเมนู และนามบัตรเพิ่มเติมให้ด้วย
“เราก็มีโอกาสไปเยี่ยมโตนดคราฟต์เวลาออกบูทอยู่บ่อยๆ ก็จะเห็นมีคนมาถ่ายรูปคู่กับหนูเหวี่ยง ลูกค้าเด็กๆ เห็นแล้วก็ชอบใจ
“เราคิดว่ามาสคอตทำให้สื่อสารง่ายขึ้นในเชิงภาพจำ สมมติว่าคนเขาเดินผ่านไวๆ เขาอาจจะไม่ค่อยเห็นตัวหนังสือ หรือคนต่างชาติก็อาจจะอ่านไม่ออกถ้าเป็นภาษาไทย แต่เขาจะจำได้ว่าเป็นมาสคอตผู้หญิง ดูซ่าๆ มีผมสีส้ม เราคิดว่าเป็นเรื่องของการ communicate ที่ทำให้มันชัดเจนขึ้น สื่อสารให้เคลียร์ขึ้น” เพชรเล่าให้เราฟัง
ฝั่งเรย์เองก็ได้มีการนำมาสคอตไปต่อยอด นอกจากจะใช้ในโลโก้และใช้ตกแต่งบูทแล้ว ยังมีการปรินต์หนูเหวี่ยงขนาดใหญ่ไปวางให้คนถ่ายรูป มีการทำเป็นสติ๊กเกอร์แจกลูกค้า ในอนาคตจะทำเป็นตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ให้เด็กๆ มาระบายสี และมีความตั้งใจอยากผลักดันให้หนูเหวี่ยงกลายมาเป็นมาสคอตประจำจังหวัดเพชรบุรี
Crafted Content
คราฟต์คอนเทนต์ให้เห็นถึงทุกความใส่ใจ
นอกจากโตนดคราฟต์จะเกิดจากความคิดต่างและคราฟต์ทุกอย่างด้วยตัวเองของเรย์ ประกอบกับการคราฟต์มาสคอตที่ทั้งน่ารักและโมเดิร์น จากความคิดสร้างสรรค์ของเพชรและทีม GLISTEN DESIGN แล้ว ยังมีส่วนประกอบที่ทำให้กลมกล่อมจากน้องๆ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เข้ามาคราฟต์คอนเทนต์ เพื่อนำเสนอความน่าสนใจของโตนดคราฟต์ในหลายแง่มุม
เพชรเล่าให้เราฟังถึงการร่วมงานระหว่างทีมออกแบบและน้องๆ นักศึกษาที่เข้ามาช่วยนำเสนอคอนเทนต์ให้เป็นการสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ชัดเจนยิ่งขึ้น
“ตอนแรกคอนเทนต์ของโตนดคราฟต์ จะเน้นถ่ายภาพและวิดีโอบรรยากาศตอนคนมาซื้อเครื่องดื่มที่หน้าร้าน แต่พอคนดูแล้วจะยังไม่เก็ตว่าคืออะไร เราก็ต้องสื่อสารให้คนเห็นภาพมากขึ้น
“เราก็บรีฟกับน้องๆ ไปว่าอยากได้คลิปที่ไม่ยาวมาก แต่ตอนเปิดและตอนปิดคลิปต้องน่าสนใจ สุดท้ายก็ออกมาเป็นไอเดียว่า เราอยากนำเสนอความสดชื่น น่าดื่มของเมนูลามปาล์ม น้องๆ ก็ถ่ายวิธีทำในทุกขั้นตอน พร้อมพูดแนะนำเบื้องต้นให้คนเข้าใจและเห็นถึงความใส่ใจ
“แม้แต่การปั่นเกล็ดน้ำแข็ง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นขั้นตอนที่โดดเด่น แต่เป็นสิ่งที่ดึงดูดคนให้เข้ามาดู เพราะมันดูสดชื่น มีการถ่ายตอนกดน้ำตาลโตนดออกมาจากเครื่องสปาร์กกลิงโซดา และใส่มะนาวสดๆ ลงในแก้ว ทุกขั้นตอนเห็นแล้วต้องทำให้คนอยากกิน
“การร่วมงานกันในครั้งนี้ เราจะขาดใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย ทุกหน้าที่สำคัญหมด ผู้ประกอบการก็วางแบรนดิ้งมาชัดเจนว่าอยากนำเสนอของดีเมืองเพชรบุรีแล้วเล่าความต้องการของเขาให้เราฟัง
“เราก็มีหน้าที่ไปทำให้เป็นจริง ด้วยการออกแบบมาสคอตที่มีผมเหมือนต้นตาลและลูกตาล ให้คนจดจำและรู้สึกเข้าถึงง่าย น้องๆ นักศึกษาที่มาดูเรื่องวิดีโอก็พยายามถ่ายทอดคอนเทนต์ที่ทำให้เห็นถึงความน่าสนใจของโตนดคราฟต์ออกมา งานนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ช่วยชุมชน ช่วยส่งต่ออัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีสู่สายตาทุกคน”
เบื้องหลังที่ทำให้การร่วมงานกันระหว่างโตนดคราฟต์ และทีม GLISTEN DESIGN หอมหวานและกลมกล่อมไม่ต่างจากรสชาติของน้ำตาลโตนดคราฟต์โซดา เกิดจากโครงการ ‘CHANGEx2: Greater Together ผนึกกําลังสุดครีเอต อัปเกรดธุรกิจโลคัล’ ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ให้คำแนะนำผู้ประกอบการและครีเอเตอร์ในการพัฒนาสินค้าร่วมกัน ทำให้ได้รับทักษะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในส่วนธุรกิจและการตลาด การทำการตลาดดิจิทัล การวางแผนทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย การทำพีอาร์ การคำนวณต้นทุน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำด้านการออกแบบมาสคอต ที่เสริมแบรนดิ้งของโตนดคราฟต์ให้ชัดเจน และชูจุดเด่นเรื่องการเป็นของขึ้นชื่อเมืองเพชรบุรีได้อย่างแท้จริง