Moveable Spaces

หลัก 4P+1 ของชโลชา นิลธรรมชาติ ผู้บุกเบิก TAKANO BANGKOK รถกระบะไฟฟ้าเจ้าแรกที่ผลิตในไทย

หลายคนคงผ่านตามาบ้างแล้วกับการเปิดตัว TAKANO BANGKOK รถกระบะขนาดกะทัดรัดขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนๆ หรือเรียกกันว่า EV (Electric Vehicle) ด้วยหน้าตาและสีสันที่น่ารักเอามากๆ จนหลายคนอยากครอบครอง 

เล่าเท้าความก่อนสักหน่อย TAKANO (ทากาโน่) คือแบรนด์เก่าแก่กว่า 70 ปี ของ TAKANO AUTO ACCESSORIES บริษัทแม่สัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับรถกระบะและรถบรรทุกขนาดใหญ่หลากหลายแบรนด์ เข้ามาสู่ประเทศไทยในชื่อ TAKANO AUTO THAILAND และ TAKANO BANGKOK ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถกระบะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าไซส์มินิ โดยมี ทากาชิ โคบายาชิ ผู้นำทีมของทากาโน่ประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้ง ร่วมกับ พิม–ชโลชา นิลธรรมชาติ และครอบครัว รถกระบะหน้าตาน่าใช้คันนี้จึงเป็นรถกระบะไฟฟ้าเจ้าแรกที่ผลิตในประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานแบบญี่ปุ่น

“ทากาโน่เป็นแบรนด์ที่มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากว่า 70 ปีแล้ว เป็นทั้งผู้ผลิตและออกแบบอะไหล่ของรถบรรทุกและรถกระบะสำหรับส่งของ และซัพพอร์ตให้กับโรงงานรถยนต์แบรนด์อื่นด้วย เพียงแต่ยังไม่เคยผลิตรถยนต์ของตัวเอง” พิมเริ่มต้นเล่าที่มาของทากาโน่ให้ฟัง

เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ในพื้นที่ของ Takano EV x Nahim Cafe ซอยนานา ที่นับจากนี้จะเปิดให้บริการในนามของโชว์รูมรถและคาเฟ่ควบคู่กันไป โดยใช้พื้นที่ของร้าน Nahim Cafe มาปรับโฉมใหม่จนไม่เหลือเค้าเดิม ไม่มากก็น้อยเราอาจคุ้นเคยกับพิมอยู่ก่อนแล้วกับบทบาทเจ้าของคาเฟ่ที่เต็มไปด้วยตุ๊กตาน่ารักและสีสันสดใส หากกำลังสงสัยว่าเธอมามีส่วนร่วมกับรถกระบะไฟฟ้าได้ยังไง 

“ด้วยความที่เราทำร้านนะฮิม คาเฟ่มาสักพัก ซึ่งเราได้เติบโตมาจากจุดเริ่มต้นเมื่อเจ็ดปีที่แล้วมาไกลมาก และกำลังอยู่ในช่วงที่คิดว่าจะรีแบรนด์ยังไง จนมาเจอกับทากาโน่ เลยเกิดความคิดที่ว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะเอารถคันนี้มาเล่าในแบบของเรา เลยกลายเป็น Takano EV x Nahim Cafe ที่ก็ยังเป็นนะฮิม แต่เป็นนะฮิมที่โตขึ้น ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่ยังชอบความกุ๊กกิ๊กน่ารักและดีเทล แต่เป็นไปในทางที่ยั่งยืนขึ้น มีกาแฟ โดนัท และรถกระบะไฟฟ้า”

หลังเกริ่นถึงที่มาของพื้นที่แล้วพิมก็ย้อนเล่าถึงการได้เจอกับ ทากาชิ โคบายาชิ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ TAKONO BANGKOK 

“เรากับคุณพ่อได้เจอกับคุณโคบายาชิ เรียกว่าคุณลุงละกัน เขาเป็นอดีตนักแข่งรถและเจ้าของทากาโน่ที่ญี่ปุ่น คุณลุงเดินทางมาแล้วทั่วโลกจนถึงวันนึงก็อยากจะเกษียณตัวเองมาอยู่ที่ไทย เพราะอายุค่อนข้างมากและชอบที่นี่ พอเรามาเจอกันและได้คุยกัน เหมือนเราคุยกันถูกคอ คิดเห็นเป็นไปในทางเดียวกันเลยตกลงเป็นพาร์ตเนอร์กัน เขาเป็นคนระดับผู้ใหญ่ทั้งหน้าที่การงานและช่วงวัย แต่เขามานั่งฟังเรา และพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยกันกับเรา แถมทุกครั้งที่ออกแบบรถทากาโน่ร่วมกัน คุณลุงจะเอากล่องดินสอสีไม้ขึ้นมาวางและเริ่มวาดรูประบายสี 

“โปรเจกต์นี้เริ่มในช่วงที่มีข่าวเรื่องฝุ่น PM2.5 ช่วงแรกๆ เราเองก็รู้สึกว่าท็อปทรีของปัญหาฝุ่นมาจากรถที่ใช้น้ำมัน ด้วยตัวคุณลุงเองก็เป็นนักแข่งรถมาตลอดชีวิต เขารู้สึกว่าตัวเองได้ปล่อยมลพิษออกไปเยอะ และอยากจะรับผิดชอบบางอย่าง คนญี่ปุ่นเขาใช้ชีวิตแบบอิคิไกอยู่แล้ว เขาเกิดคำถามว่าก่อนที่จะจากโลกนี้ไป ฉันอยากจะทำอะไร ฉันเชี่ยวชาญอะไร ฉันจะคืนอะไรสู่สังคมได้บ้าง งั้นเรามาผลิตรถไฟฟ้ากันดีกว่า”

Product
รถกระบะไซส์มินิที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์

จากบทสนทนาวันนั้นจึงเกิดเป็นรถกระบะ TAKANO TTE 500 ถึง 3 รุ่นด้วยกัน รุ่นแรกคือ Plain ที่คงความดั้งเดิมเอาไว้ครบ รุ่นถัดมาคือ Plus ที่ปรับที่นั่งให้สบายขึ้น เพิ่มระบบรีโมต และรุ่นสุดท้ายคือ Play ที่เพิ่มฟังก์ชั่นสนุกๆ เข้าไปด้วยการปรับโฉมทั้งภายนอกและภายในให้แตกต่างไปจากทั้งสองรุ่นข้างต้น โดยทากาโน่ทุกรุ่นอยู่ภายใต้คอนเซปต์เดียวกันคือ ‘Make Beautiful Sky’ หรือ ทำให้ท้องฟ้ากลับมาสดใส

“คุณโคบายาชิบอกว่าถ้าเราอยากจะมี beautiful sky จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่ตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่ง EV ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้พลาสติกไฟเบอร์เป็นโครงสร้างรถและมีอายุการใช้งานจำกัด และใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย ต่างจากทากาโน่ที่เป็นเหล็กทั้งคัน เพื่ออายุการใช้งานที่ไม่ต่ำกว่า 20 ปี เมื่อหมดสภาพหรือใช้ไม่ได้แล้วก็สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ด้วยการหลอมใหม่

“เรากับโรงงานพัฒนามาร่วมกันมาเรื่อยๆ เริ่มจากเปลี่ยนให้เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมที่น้ำหนักเบา อายุการใช้งานนาน ให้พลังงานคงที่ และไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายกับธรรมชาติ (โดยปกติรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากบางประเทศใช้แบตเตอรี่ตะกั่ว) บางชิ้นส่วนก็ยังมีการนำเข้ามาอยู่บ้าง แต่จะคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก” 

พิมบอกว่า แม้ Make Beautiful Sky จะเป็นประโยคที่ฟังดูเรียบง่าย แต่มันหมายรวมถึงทุกอย่างแล้ว ทั้งการผลิต การบำบัดน้ำเสียในโรงงาน การกรองอากาศก่อนออกจากโรงงาน ทั้งการขับขี่ การปล่อยมลพิษ และการกำจัดขยะ โดยมีหัวหน้าของทุกฝ่ายเป็นคนญี่ปุ่นทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และทุกอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย เลยอุ่นใจได้เรื่องอะไหล่ที่ไม่ว่าชิ้นไหน ผู้ซื้อจะไม่ต้องรอนานถึงหลักเดือนหรือปี

“เราขับทากาโน่มาประมาณปีกว่า นับจากวันแรกถึงวันนี้ มันถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งเครื่องยนต์ เครื่องเสียง การปรับโฉมภายใน เลือกใช้วัสดุ สมมติอยากได้เบาะหนัง ควรจะใช้หนังแบบไหนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราคิดทุกดีเทลเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นและความสนุกลงไป ส่วนคุณโคบายาชิเขาชอบดีไซน์เดิม เพราะเชื่อว่ามันคลาสสิกและอยู่ได้นานกว่า เป็นความตั้งใจของเขาที่จะผลิตเฉพาะรถกระบะและพัฒนาโปรดักต์ชิ้นเดียวนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิธีคิดทั้งหมดบวกกับดีไซน์วินเทจของรถมีความน่าสนใจอยู่แล้ว ทางทากาโน่มีคอนเซปต์ที่แข็งแรง แต่อาจจะไม่ได้เติมความครีเอทีฟเข้าไปมากนัก พอมาเจอกัน เราเลยอาสาเป็นฝ่ายครีเอทีฟ หยิบรถคันนี้มาเล่ายังไงให้คนรักเหมือนกับที่เรารัก” 

เมื่อถูกถามว่าแล้วเลือกเล่ามันยังไง พิมยิ้มก่อนตอบว่า “เราพยายามหาตรงกลางระหว่างเรากับเขา สำหรับเราทากาโน่เป็นมากกว่าแค่ยานพาหนะหรือรถขนของ เรามองไปถึงว่าคนที่ซื้อไปสามารถทำให้เป็น second job ได้ด้วย สมมติคุณขับไปทำงานตอนกลางวัน ตกเย็นขับไปเปิดท้ายขายของ รู้สึกว่าทากาโน่ยังไปได้อีกเยอะในจุดที่เขามองไม่เห็น 

“การซื้อทากาโน่ไม่ใช่แค่หนี้สิน แต่คุณสามารถเล่นกับมันได้ สนุกกับมันได้ทุกกิจกรรม และมันสามารถทำเงินให้คุณได้ด้วย”

พิมกำลังชี้ให้เห็นว่ากระบะไฟฟ้าคันนี้สอดรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ได้ทำงานประจำอย่างคนรุ่นก่อน และประกอบหลายอาชีพในเวลาเดียวกัน

“เราทำธุรกิจร้านอาหารมาบ้าง รู้สึกว่าทำไมทุกครั้งที่ไปเจอโลเคชั่นสักที่มันมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งค่าเซ้งจากผู้เช่าเดิม ค่าเช่ารายเดือน ค่ารีโนเวตอะไรต่อมิอะไรตามมา สำหรับเราธุรกิจของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ต้องการพื้นที่ใหญ่โตเหมือนสมัยก่อนที่หน้าร้านต้องเป็นห้องแถวสามห้องเรียงติดกัน เราเลยคิดว่าถ้าลดสเกลให้เล็กลง ค่อยๆ ทำธุรกิจโดยที่ยังไม่ต้องลงทุนเยอะ ถ้ามันไปต่อได้ ค่อยต่อยอดดีกว่า” 

จากสิ่งที่พิมเล่าอาจเข้าใจได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจทากาโน่คือคนรุ่นใหม่ แต่พิมกลับส่ายหน้าปฏิเสธ และบอกกับเราว่ากลุ่มผู้ใหญ่ไปจนถึงผู้สูงอายุให้ความสนใจทากาโน่อย่างมาก ซึ่งเธอเองยอมรับว่านึกไม่ถึง 

“เราเถียงกับที่บ้านยับเลยว่าต้องการอินสไปร์คนรุ่นใหม่ แต่พอใช้งานทากาโน่จริงๆ คนที่เข้ามาหาหรือให้ความสนใจกลับเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้นึกถึงมาก่อนเลย ในฟากของคนรุ่นพ่อแม่กลับถูกใจมากที่ทากาโน่บรรทุกสังฆทานได้ตั้ง 12 ถัง (หัวเราะ) หรือขับไปใส่บาตรได้ หาที่จอดก็ง่าย กลายเป็นอีกมู้ดที่เราไม่ได้คาดคิด และไม่ต้องใช้ความพยายามในการโชว์ให้เห็นฟังก์ชั่น แต่เหล่านี้มันมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริง

“ด้วยความที่ทากาโน่วิ่งได้สูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรจุของได้ 300 กิโลกรัม กลุ่มผู้ใหญ่ที่จังหวะชีวิตช้าลง และมองเห็นศักยภาพของรถที่จะซัพพอร์ตเขาได้ แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อรถเขาจะดูเรื่องความเร็วเป็นหลัก ถ้าภายในเร็วๆ นี้ทากาโน่สามารถวิ่งได้เร็วขึ้น หรือชาร์จแบตฯ ได้ไวขึ้น มันอาจกลับมาที่กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรก ซึ่งมันมีอยู่นะ ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ยังมีไม่มากอย่างที่คิด” 

Price + Promotion
หัวใจของการขายคือราคาที่จ่ายไหวและบริการที่ดี

นอกจากการใช้งานและวิถีชีวิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งราคาและการส่งเสริมการขายมีผลอย่างแน่นอนต่อการตัดสินใจซื้อรถสักคัน 

“ราคาของเราอยู่ตรงกลางคือ 499,000 บาท มีรถไฟฟ้าที่ราคาสูงกว่านี้ก็จะสูงเด้งไปเป็นหลักล้าน ส่วนราคาที่ต่ำกว่าเราทั้งหมดคือรถที่นำเข้าจากจีน เป็นพวงมาลัยซ้ายและขอทะเบียนไม่ได้ หมายความว่าคุณสามารถขับเล่นในหมู่บ้านได้ ขับในโรงแรมได้แบบรถกอล์ฟ แต่ไม่สามารถบรรทุกของหรือขับออกถนน จุดเด่นของทากาโน่เลยอยู่ที่การใช้บรรทุกและขับออกถนนได้จริงๆ เพราะสามารถจดทะเบียนป้ายสีเขียวสำหรับบรรทุกสินค้าขนาดเล็กได้เลย และพวงมาลัยอยู่ฝั่งขวาตามความเคยชินของคนไทย

“ค่าภาษีรายปี 225 บาท เพราะการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ (การเสียภาษีไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคารถ แต่คำนวณจากขนาดของเครื่องยนต์ น้ำหนัก และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา)  

“การชาร์จเต็มหนึ่งครั้งใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง คิดง่ายๆ เลยเราต้องนอนเท่าไหน รถคันนี้ก็ต้องนอนเท่านั้น ส่วนค่าไฟต่อหนึ่งการชาร์จเต็มอยู่ที่ประมาณ 60 บาท รถวิ่งได้ 120 กิโลเมตร ตกกิโลเมตรละ 50 สตางค์เท่านั้นเอง เราขับจากโชว์รูม (ซอยนานา) กลับบ้าน (ย่านรัชดาภิเษก) ระยะทาง 20 กว่ากิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายไม่ถึงยี่สิบบาท”
สิ่งที่พิมเล่าล้วนมาจากประสบการณ์จริงของตัวเอง แม้กระทั่งกลยุทธ์การส่งเสริมการขายก็มาจากสิ่งที่เธอซึมซับมาตั้งแต่วัยเด็ก

“เราโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจรถยนต์ สิ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมธุรกิจนี้ถึงอยู่ได้ยาวนาน เราตอบได้เลยว่าบริการหลังการขายที่ดีเท่านั้นที่ทำให้อยู่ได้ยาวกว่าคนอื่น เมื่อผลิตภัณฑ์ของเราไม่ใช่การซื้อมาขายไปแล้วจบ ทากาโน่มีบริการ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 ปี ถ้าในระยะการรับประกันเกิดมีอะไหล่ตัวไหนเสียหาย เราสามารถให้ช่างไปดูถึงที่บ้านและเปลี่ยนให้ได้เลย ด้วยความที่ชิ้นส่วนมีพร้อมอยู่แล้ว เพราะเราผลิตในประเทศ จึงไม่มีระยะการรอ 

“สิ่งที่ส่งเสริมการขายของเราคือความอุ่นใจในการใช้งานที่เรามีให้ เราค่อนข้างลงทุนกับบริการหลังการขาย เพราะเรื่องนี้ต่างหากที่ทำให้แบรนด์ยั่งยืน เราไม่อยากมุ่งไปเล่นเรื่องการลดราคาหรือแข่งขันด้วยสิ่งนั้น เพราะทากาโน่ไม่ได้ทำโปรดักต์หลายชิ้น เราทำสิ่งนี้แค่ชิ้นเดียว และอยากพัฒนามันให้ดีที่สุดต่อไป”  

Place
เมื่อที่ไหนๆ ก็เป็นพื้นที่ของทากาโน่ได้

พิมเล่าว่าทากาโน่สำหรับเธอไม่ใช่รถที่เป็นแค่รถ เธออยากให้มันไปสู่สถานที่ที่จัดงานมาร์เก็ตต่างๆ ที่สนับสนุนโลคอลหรืออีเวนต์ของสายแคมป์ปิ้ง ด้วยความที่รถ EV ยังเป็นเรื่องใหม่ ทุกวันนี้เธอจึงต้องออกแรงตอบคำถามค่อนข้างมาก พร้อมกับสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้คนไปด้วย แต่หากพาทากาโน่ไปยังกลุ่มที่มีความสนใจและเข้าใจเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เป็นทางลัดที่ง่ายและเร็วกว่าการไปจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์

“ฝั่งของ TAKANO AUTO ซึ่งเป็นโรงงาน ต้องขายให้กับคู่ค้าแบบ B2B (business-to-business) ก็ยังมีความจำเป็นต้องไปมอเตอร์โชว์เพื่อหาลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ แต่ฝั่งที่เราดูเป็น D2C (direct-to-customer) เราเข้าไปทำความรู้จักกับคนที่เข้าใจสิ่งนี้อยู่แล้วดีกว่า เราไม่จำเป็นต้องไปพร้อมสิบเหตุผลที่คนต้องเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า เพราะคนกลุ่มนี้รู้อยู่แล้วว่าทำไมเขาอยากเปลี่ยน เขาอยากเปลี่ยนเพราะโลกมันแย่ไปหมดแล้ว เพราะราคาน้ำมันขึ้นทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับช่วงวัยเสมอไป อย่างที่เราบอกว่ากลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนเหล่านั้นค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดรับและเข้าใจโลกปัจจุบัน”

พิมเล่าต่อถึงอีกหนึ่งสถานที่สำคัญสำหรับธุรกิจรถยนต์ นั่นก็คือโชว์รูมที่เลือกใช้พื้นที่ในร้าน Nahim Cafe ของเธอเอง ตบแต่งอย่างเรียบง่ายที่สุดด้วยพื้นไม้และผนังโล่ง ต่างจากภาพจำของโชว์รูมรถที่ห้อมล้อมด้วยบานกระจกแบบที่คุ้นเคย

“การที่เอาโชว์รูมเข้ามาอยู่ตรงนี้ เพราะเรามองให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนหนึ่งของคาเฟ่เราก็จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์หรืออะไรก็ตามที่ย่อยสลายได้ คุณไม่จำเป็นต้องมาเพื่อกินกาแฟอย่างเดียว แต่มาเพื่อซัพพอร์ตความ Eco บางอย่างที่ไม่ต้องสุดโต่งเกินไปก็ได้ อย่างดาดฟ้าตอนนี้ที่ว่างอยู่ในอนาคตเราอาจทำเป็นสวนผักคนเมืองที่สามารถซัพพอร์ตบาร์หรือร้านอาหารแถวนี้เพื่อลดการขนส่งจากระยะทางไกล การสนใจสิ่งแวดล้อมมันทำได้ง่ายแค่ในชีวิตประจำวัน 

“ลูกค้าที่มาคาเฟ่อาจไม่ใช่กลุ่มที่มาซื้อรถก็ได้ แต่มันทำให้เขาเห็นและนึกภาพออกได้ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง เราคำนวณคร่าวๆ ให้เห็นภาพว่าถ้าบรรจุวัตถุดิบตั้งต้นเข้าไปด้วยท้ายรถไซส์นี้ สามารถขายกาแฟได้ประมาณ 50 แก้วต่อวัน ขายโดนัทได้หนึ่งร้อยชิ้นต่อวัน” พิมพาเราเดินดูพื้นที่ท้ายรถที่เธอมองว่าสามารถดัดแปลงเป็นร้านค้าขนาดย่อมได้ 

“เราต้องการแนะแนวธุรกิจรวมถึงการใช้ชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน อยากให้ที่นี่มีเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นมากกว่าการเป็นแค่ร้านกาแฟหรือโชว์รูม”

Play
ให้การเล่นสนุกเป็นส่วนหนึ่งของงาน

หลักสำคัญข้อสุดท้ายในการทำธุรกิจที่พิมบอกกับเราคือ ‘การเล่น’ แน่นอนว่าไม่ใช่การทำงานแบบเล่นๆ แต่เป็นการใช้ความสนุกเข้าไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน

“ไม่ว่าคุณจะลงมาอยู่ในสนามอะไรก็ตาม งานอดิเรก งานหาเงิน ทุกอย่างจำเป็นต้องมีคำว่า play อยู่ในนั้นเสมอ มันคือความเอนจอยกับสิ่งที่ทำ ถ้าทำอะไรออกไปด้วยความไม่สนุก ทุกคนจะดูออกและรับรู้ว่ามันน่าเบื่อทันที

“เจ้าของแบรนด์ต้องรู้จุดสนุกของตัวเองด้วยเหมือนกันว่าเราจะสนุกกับมันได้ที่ตรงไหน และเราก็ควรจะอยู่ตรงนั้น มันทำให้แบรนด์เราอยู่ได้นานกว่าและทำได้ดีกว่า เพราะเรายังอยากเล่นกับโปรดักต์ อยากรู้จักมันมากขึ้น และพยายามศึกษาใฝ่รู้ตลอดเวลา

“คำว่า play เลยสำคัญมากๆ สำหรับเรา ทุกคนต้องหาจุดสนุกของตัวเองให้เจอ และลงไปเล่นกับมัน” 

เมื่อไม่ได้มองทากาโน่เป็นรถ คุณมองทากาโน่เป็นอะไร เราโยนคำถามสุดท้ายให้กับพิม “เรามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสเปซที่ทำให้ได้ครีเอตหรือนำไปทำอะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย สามารถสนุกกับมันได้ตลอดเวลา ถ้าวันนี้เราเบื่อกล่องสเปซนี้แล้ว ก็ปรับเปลี่ยนโยกย้ายมันได้ เหมือนเป็นห้องห้องหนึ่ง” พิมสรุปให้เราฟัง ก่อนทิ้งท้ายว่า

“ทากาโน่เป็นสเปซที่เคลื่อนที่ได้”

Tagged:

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like