2005
December 12, 2023

Spam War

สแปมกับสงคราม บูเดจิเกและความหรูหราของหมูกระป๋องในวัฒนธรรมอาหารเกาหลี

ในบ้านเราสแปมหรือเจ้าหมูกระป๋องกล่องสี่เหลี่ยมที่ด้านในเป็นหมูน่วมๆ อาจไม่ได้มีบทบาทในวัฒนธรรมอาหารของเรามากนัก โดยทั่วไปบางครอบครัวก็อาจจะชอบกินสแปม ซื้อเข้าบ้านเพื่อเอามาทำแซนด์วิชบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีใครถึงขนาดมอบหมูกระป๋องนี้เป็นของขวัญความห่วงใย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) ไปจนถึงคริสต์มาสไหม

แต่ถ้าเรามองไปที่ร้านอาหารเกาหลีโดยเฉพาะร้านอาหารเกาหลีกะทะร้อนที่มีน้ำๆ เป็นพวกอาหารต้มๆ ที่มักมีมาม่า มีต็อก มีไส้กรอก หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของร้านหม้อๆ เหล่านี้ที่นับได้ว่ามีความหรูหรา หนึ่งในนั้นก็คือเจ้าสแปมหรือหมูกระป๋อง และถ้าเรามองไปที่วัฒนธรรมอาหารเกาหลี เราก็จะเห็นการใช้สแปมนี้เป็นส่วนประกอบเสริมสำคัญ ด้วยความเป็นอาหารกระป๋อง ตัวมันเองเมื่อนำไปปรุงแล้วก็จะช่วยเพิ่มรสชาติหรือเป็นตัวชูรสชาติเช่นเอาไปพันกับสาหร่ายหรือต้มไปกับมาม่า ความนุ่มๆ เค็มๆ นัวๆ ของสแปม (หรือภายหลังมียี่ห้ออื่นๆ แต่เป็นหมูกระป๋องเหลี่ยมๆ เหมือนกัน) ก็จะกลายเป็นรสชาติหลักที่เข้าใจง่าย อร่อยง่ายขึ้นมาทันที

สำหรับเจ้าสแปมตัวมันเองไม่ได้เป็นแค่เครื่องชูรสหรือเนื้อสัตว์หลักของอาหารเกาหลีเท่านั้น แต่สแปม คือเจ้าหมูกระป๋องจากอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์และประวัติศาสตร์ของอเมริกาและพื้นที่เอเชียของโลกใบนี้ เป็นอาหารที่สัมพันธ์กับภาวะสงคราม เป็นหมูกระป๋องที่เดินทางไปกับกองทัพอเมริกัน เป็นแหล่งเนื้อสัตว์สำคัญในยุคข้าวยากหมากแพง กระทั่งกลายเป็นตัวแทนของความใจกว้างของอเมริกาในการแบ่งสันปันส่วนวัตถุดิบอาหาร 

ในที่สุดเจ้าหมูกระป๋องนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหาร ของเมนูและตำรับการปรุงที่ถือได้ว่าเป็นของหรูหรา จากเมนูอาหารของกองทัพในยุคข้าวยากหมากแพงไปจนถึงการกลายเป็นอาหารกระป๋องที่มีสถานะพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เกาหลีที่เกี่ยวพันกับสงครามกับการที่สแปมในฐานะวัตถุดิบจากสงครามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการให้ในวันพิเศษ และการที่สแปมกลายเป็นสูตรโกงของอาหารเกาหลีที่เอาทำอะไรก็อร่อย

หัวไหล่หมูกับประวัติศาสตร์ย่อของสแปม

สแปม (Spam) เป็นผลิตภัณฑ์จากหมู คิดค้นและผลิตโดยบริษัทฮอร์เมลฟู้ดส์ (Hormel Foods Corporation) เจ้าสแปมเป็นหมูกระป๋องที่แต่เดิมผลิตขึ้นเพื่อใช้เนื้อหมูส่วนหัวไหล่ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหมูที่ขายไม่ค่อยดี ประกอบกับการเกิดขึ้นของอาหารแปรรูป เจ้าหมูกระป๋องเป็นการเอาหัวไหล่หมูไปแปรรูป ผสมกับแฮม บดและปรุงรสด้วยเกลือ น้ำ เติมแป้งมัน เจลาตินเพื่อให้เกาะตัวกัน โดยส่วนผสมทั้งหมดจะถูกทำสุกในกระป๋องด้วยสายพานการผลิตของโรงงาน สแปมเวอร์ชั่นแรกถูกขายในนาม Spiced Ham ในปี 1936 และเปลี่ยนชื่อเป็น SPAM ในปี 1937 ชื่อ SPAM เป็นอีกหนึ่งตำนานที่ไม่ชัดเจนว่ามาจากไหน บ้างก็บอกว่าย่อจากชื่อแรก บ้างก็บอกว่าเป็นตัวย่อของคำว่า Shoulder of Pork and Ham

ทีนี้ สแปมหรือแฮมกระป๋อง ทางบริษัทเสนอให้เป็นเหมือนเนื้อสัตว์หลัก คือเอาไปรับประทานเป็นเนื้อสัตว์สำคัญเหมือนพวกเนื้อสไลด์ แฮม ไส้กรอก แต่ในช่วงแรกสแปมยังไม่ได้รับความนิยมมากนักจนกระทั่งเกิดสงครามอันกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาหารกระป๋องแบบสแปมกลายเป็นดาวเด่นและกลายเป็นเนื้อสัตว์หลักในช่วงเวลาที่ยากลำบากและในภาวะสงคราม 

สแปมเริ่มเข้าไปอยู่ในห้องครัวและมื้ออาหารในครัวเรือนสหรัฐฯ คือช่วงปีท้ายๆ ของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Great Depression (สิ้นสุดปี 1939) แต่สแปมกลายเป็นอาหารกระป๋องสามัญประจำบ้านก็เมื่อสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการส่งทหารไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลกนั้น การส่งเนื้อสัตว์ไปยังพื้นที่แนวหน้าเป็นเรื่องยาก ในช่วงนี้เองที่สแปมกลายเป็นอาหารสำคัญที่ร่วมเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับทหารอเมริกัน กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าจากแนวรบ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีตัวเลขว่ากองทัพสหรัฐฯ ซื้อสแปมไปกว่า 70,000 ตัน

ความน่าสนใจของสแปมคือการที่สแปมกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลักในช่วงสงครามและกลายเป็นสินค้าที่กระจายตัวไปพร้อมๆ กับบริบทสงครามโลก นอกจากการกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารของทหารอเมริกันแล้วสแปมยังกลายเป็นเสบียงสำคัญที่กระจายไปสู่ยุโรปจากข้อตกลงในการแบ่งสันปันส่วนเสบียง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เองที่สแปมกลายเป็นอาหารที่บริโภคทั้งในยุโรปคือในสหราชอาณาจักร และทางเจ้าของแบรนด์ก็ได้ขยายฐานตลาดด้วยการส่งสแปมไปเป็นเสบียงช่วยเหลือที่โซเวียตทำให้เกิดคำสรรเสริญและตำนานของสแปมในพื้นที่การรบและพื้นที่สงคราม การเป็นอาหารพิเศษและเป็นอาหารที่ช่วยชีวิตทหารรัสเซีย

จากตลาดอเมริกันและยุโรปเองที่สแปมกลายเป็นอาหารคือเป็นเนื้อสัตว์สำคัญในภาวะสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดียวกันนี้เอง ทหารอเมริกันก็ได้กระจายตัวไปประจำการในหลายพื้นที่ของเอเชียด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้สแปมในฐานะเนื้อสัตว์สำคัญในห้วงเวลาที่เนื้อสัตว์หายากค่อยๆ ซึมซับเข้าสู่วัฒนธรรมอาหารในหลายพื้นที่ของเอเชีย

ทีนี้ การกระจายตัวของสแปมจึงกระจายไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมอาหารกองทัพในสหรัฐฯ มีตัวเลขรายงานว่าระหว่างสงครามสแปมถูกบริโภคไปมากกว่า 70,000 ตัน โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เองที่สแปมค่อยๆ เข้าไปสู่วัฒนธรรมอาหารของพื้นที่ต่างๆ อันเป็นที่มั่นของกองทัพอเมริกันเช่นที่ฮาวาย เกาะกวม โอกินาว่า 

จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯ พาสแปมไปยังพื้นที่ต่างๆ ฮาวายเป็นพื้นที่สำคัญที่รับสแปมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลายของตัวเอง การกินสแปมที่มีชื่อเสียงของฮาวายคือรูปแบบอาหารที่ผสมเข้ากับอาหารญี่ปุ่นคือโอนิกิริ คือการเอาข้าวมาปั้น คาดด้วยสาหร่ายและสแปมซึ่งคล้ายกับการบริโภคสแปมในประเทศเกาหลีซึ่งเราจะพูดถึงต่อไป สำหรับฮาวายเป็นพื้นที่ที่บริโภคสแปมมากที่สุดของสหรัฐฯ คือมีรายงานการบริโภคสแปมสูงถึง 7 ล้านกระป๋องต่อปี 

บูเดจิเก ซุปของกองทัพ และสแปมที่มีค่าดั่งทอง

ความนิยมของสแปมค่อนข้างเดินทางไปกับการเป็นวัตถุดิบล้ำค่าของทหารสหรัฐฯ ในที่สุดสแปมเดินทางมาถึงเกาหลีพร้อมๆ กับการตั้งค่ายและฐานที่มั่นของทหารอเมริกันในเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นส่วนหนึ่งของการสู้รบในสงครามเกาหลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

ถ้าเรามองย้อนไปที่เกาหลี หนึ่งประเทศที่บอบช้ำจากภาวะสงครามและการถูกปกครองมาอย่างยาวนาน ในช่วงสงครามเกาหลี ในช่วงนั้นเนื้อสัตว์ทั้งเนื้อวัวและปลานับเป็นของหายาก ในพื้นที่ที่มีค่ายทหารอเมริกันจึงเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างทหารอเมริกันและอาหารการครัวของเกาหลี คือเริ่มมีการใช้สแปมในฐานะเนื้อสัตว์หายากในการแลกเปลี่ยน ทั้งมีการบริจาคให้จากทหารอเมริกันออกมาสู่พื้นที่พลเรือนเกาหลีไปจนถึงการลักลอบซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนเจ้าแฮมกระป๋องเหล่านี้ในฐานะสิ่งของมีค่า

เมนูสำคัญที่เกิดขึ้นซึ่งเราอาจจะยังได้ยินและคุ้นหน้าพวกมันในปัจจุบันคือบูเดจิเก ซุปบูเดจิเกเป็นเมนูอาหารที่เกิดจากการนำเอาวัตถุดิบราคาถูกมารวมกันคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาผสมกับวัตถุดิบสำคัญคืออาหารกระป๋องต่างๆ คำว่าบูเดจิเกแปลได้ว่าซุปของกองทัพซึ่งเจ้าซุปนี้เป็นซุปรสเผ็ดที่ต้มของสำเร็จรูปต่างๆ ตั้งแต่ถั่ว หมูกระป๋อง และเส้นบะหมี่ผสมกับกิมจิเพื่อปรับรสชาติ แน่นอนว่าบูเดจิเกมีประวัติศาสตร์การดิ้นรนและการเข้ามาของวัฒนธรรมและสินค้าอเมริกันยุคสงคราม แต่ปัจจุบันบูเดจิเกก็เป็นหนึ่งในอาหารไอคอนของวัฒนธรรมอาหารเกาหลีไปอย่างแนบเนียน

เจ้าสแปมนับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจและสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประวัติศาสตร์สงคราม นักวิชาการเกาหลีชี้ให้เห็นว่าสแปมกลายเป็นตัวแทนของความใจกว้างและความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่มีต่อพื้นที่สงครามคือประเทศในแถบเอเชีย สแปมกลายเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ (คือเป็นเนื้อสัตว์ที่มอบให้ในบริบทของความอดอยาก ) และเป็นตัวแทนของความแข็งแรงจากการเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหาร

สำหรับบริบทของประเทศเกาหลี เกาหลีนับว่าบอบช้ำจากสงครามอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง สแปมเองก็ยังคงสถานะและเป็นวัตถุดิบอาหารสำคัญในยุคหลังสงครามของเกาหลี และเมื่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของเกาหลีเองเติบโตพร้อมๆ กับสแปมที่เข้าสู่ตลาดคือสามารถซื้อหาได้ง่ายขึ้น ในช่วงทศวรรษ 1980 สแปมก็ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมของชาวเกาหลีที่ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมอาหาร

หนึ่งในตัวอย่างตัวอย่างสำคัญของสถานะของสแปมที่เจ้าแฮมกระป๋องกลายเป็นสินค้าหรูหรา คือการที่เจ้าสแปมกลายเป็นของขวัญที่ผู้คนจะมอบให้กันเช่นในเทศกาลชูซอก เทศกาลที่ได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของเกาหลี (มีขึ้นในช่วงเดือน 10 ใกล้ๆ วันไหว้พระจันทร์บ้านเรา) ในช่วงเวลาที่ครอบครัวกลับไปรวมตัวกันนี้ สแปมกลายเป็นของขวัญสำคัญที่ชาวเกาหลีจะนำกลับไปมอบให้กันในฐานะของขวัญพิเศษ เป็นตัวแทนของความปรารถนาดี เป็นตัวแทนของของขวัญที่แสดงถึงความเคารพ การมอบความมั่งคั่งที่พิเศษให้แก่กัน ในเทศกาลหรือในโอกาสนี้เองที่เกาหลีจึงมีการขายสแปมเป็นชุดขนาดใหญ่ มีการห่อของขวัญและประดับด้วยริบบิ้นสวยงาม

ปัจจุบันเกาหลีเป็นประเทศที่บริโภคสแปมมากที่สุดของโลก เป็นรองแค่สหรัฐฯ แต่ถ้าเราเทียบกับสัดส่วนประชากร เกาหลีบริโภคสแปมเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของคนอเมริกัน แต่ว่าประชากรของเกาหลีน้อยกว่าอเมริกาในฐานะบ้านเกิดสแปมถึงหกเท่า ดังนั้นถือว่าคนเกาหลีค่อนข้างเป็นผู้บริโภคหลัก สแปมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารที่อาจจะเข้มข้นกว่าในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ

การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารเกาหลีของเจ้าสแปมค่อนข้างชัดเจน แม้แต่บ้านเราเองก็จะเจออาหารเกาหลีที่มีสแปมเป็นส่วนประกอบได้–อันที่จริงคือแทบทุกอย่าง เช่น คิมบับ ข้าวห่อสาหร่ายใส่กิมจิและสแปม เห็นการที่สแปมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเช้า เป็นส่วนผสมของออมเล็ต เป็นเนื้อสัตว์กินคู่กับไข่ดาวขนมปัง ถูกใส่ในรามย็อน หม้อไฟ เป็นเครื่องเคียงที่เสิร์ฟเป็นส่วนหนึ่งของกิมจิ ใส่ในต็อก อันที่จริงด้วยพลังของสแปม เจ้าสแปมนี้เป็นหนึ่งในอาหารกินง่ายที่ใส่ลงไปในอะไรก็อร่อยได้และค่อนข้างเป็นส่วนผสมวิเศษที่ใส่ลงไปในไหนก็ทำให้อาหารนั้นๆ อร่อยได้ง่ายขึ้น

สำหรับตัวเลขการบริโภค มีรายงานว่าเฉพาะในเกาหลี ในปี 2022 สแปมมียอดขายในเกาหลีสูงถึง 1.9 พันล้านกระป๋อง คือเกือบ 2 พันล้าน และคาดว่ายอดขายจะขยับไปเกิน 2 พันล้านในปี 2023 ถ้านับเป็นสัดส่วนต่อประชากรคิดคร่าวๆ คือชาวเกาหลีหนึ่งคนจะบริโภคเจ้าสแปมนี้ราว 40 กระป๋องต่อปี

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สำหรับเราเองที่คุ้นเคยกับอาหารเกาหลี และหลายคนคงเริ่มชอบและอาจได้เอาเจ้าหมูกระป๋องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารการกินของเราผ่านอิทธิพลอาหารเกาหลีในไทย เจ้าหมูกระป๋องสแปมจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ตัวมันเองเติบโตไปพร้อมๆ กับความขาดแคลนของสงคราม จากวัตถุดิบยามยากสู่การมีสถานะหรูหราจนกระทั่งตัวมันเองมีสถานะเป็นสิ่งของพิเศษ เป็นของที่ผู้คนมอบให้กันเพื่อส่งความหมายอันลึกซึ้ง จากหมูกระป๋องธรรมดาที่ราคาไม่แพง จากชิ้นเนื้อส่วนที่ขายยากคือหัวไหล่หมูสู่การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากของไม่มีราคาสู่การเป็นอาหารประจำบ้าน

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าเดินผ่านชั้นของกระป๋อง เราอาจติดมือเจ้าแฮมกระป๋องมาสักกระป๋อง ต้มรามย็อนเกาหลี ใส่ชีส ใส่ไส้กรอกสักหน่อย เท่านี้เจ้าหมูกระป๋องก็อาจกลายเป็นอาหารเทศกาลของช่วงวันหยุดยาวที่ทำให้วันหยุดปลายปีของเราอบอุ่นขึ้นมาอีกหน่อยและทำให้รามย็อนของเราอร่อยขึ้นมาอีกนิด

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like