OPPORTUNITIES FROM ESG JOBS 

ส่องสถิติและโอกาสประกอบอาชีพในสายงาน ESG จากเวที SET ESG Professionals Forum 2023

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากับแคมเปญที่ช่วยรณรงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบในเรื่องของ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global warming) กันมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ไม่น่าเชื่อเลยว่าในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานี้ ยุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และตอนนี้พวกเราทุกคนก็กำลังเผชิญอยู่กับยุคของ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global boiling) หรือภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง อ้างอิงจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) กันอีกด้วย

ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากยุคของภาวะโลกร้อนสู่ภาวะโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วม ภัยแล้ง ตลอดจนไฟไหม้ป่าที่พบเห็นได้ถี่และยาวนานขึ้น รวมไปถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้เราต้องคอยอัพเดตข้อมูลทางการแพทย์กับวัคซีนกันอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนวิกฤตความปลอดภัยทางอาหาร (Food security) เป็นต้น ด้วยภาวะโลกเดือดเช่นนี้ ส่งผลให้เราทุกคนต้องปรับตัวและอยู่รอดกันต่อไปให้ได้อย่างยั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงมากมายของโลก สิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คนที่ผันผวน ก็กลับสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะทั้งธุรกิจภายในประเทศหรือธุรกิจต่างประเทศที่ผู้ประกอบการหลายๆ รายสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิม หรือพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก เพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ตลอดจนเปิดตลาดใหม่ที่ตอบโจทย์และแก้ไข Pain Point ให้กับลูกค้าในยุคของสภาวะโลกเดือด ทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่เหล่าผู้ประกอบการที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการปรับตัวของภาคธุรกิจในการหันมาให้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เมื่อยิ่งปรับตัวได้เร็ว ก็ยิ่งเกิดประสิทธิภาพในการแข่งขัน การเข้าถึงแหล่งทุน และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ก่อน สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของเหล่าผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรม รวมไปถึงองค์กรของภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และองค์กรของภาครัฐด้วยนั่นเอง

เมื่อยุคของสภาวะโลกเดือดยังคงดำเนินต่อไป สำหรับภาคธุรกิจและนักลงทุนแล้ว การลงทุนจึงไม่ใช่เพียงแค่การมุ่งหวังผลกำไรเท่านั้น แต่จะยังต้องดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและประณีตมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบ การจัดการด้านสังคม และการจัดการด้านธรรมาภิบาล สอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในปัจจุบัน โดยพิจารณาผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Corporate governance) หรือที่รู้จักกันว่า ‘ESG’ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET ESG Academy ร่วมกับสมาชิก SET ESG Experts Pool เครือข่ายบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการร่วมสร้าง New ESG Professionals และขับเคลื่อนตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน ได้จัดสัมมนาอย่าง SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยภายในงานสัมมนายังเน้นถึงข้อความสำคัญของการจัดงานในปีนี้อย่าง 5 แนวโน้มความท้าทาย (Trends) ที่ภาคธุรกิจควรจะต้องจับตามองและร่วมมือกันทั้งองคาพยพ ได้แก่

  1. การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและจัดการห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain) จากแบบเดิมให้กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain)
  2. การปรับตัวขององค์กรธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือมาตรฐานและกฎเกณฑ์ระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยควรเริ่มตั้งแต่การคำนวณ Baseline Emission ตั้งเป้าหมาย และปรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ 
  3. การสร้างโอกาสจาก Thailand Taxonomy ที่ช่วยสื่อสารว่าการดำเนินการของธุรกิจสร้างผลเชิงบวกจริง ไม่ได้เป็นการบิดเบือน (Greenwashing) 
  4. ทิศทางของเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG รวมถึงประโยชน์ของข้อมูลที่มีคุณภาพเพื่อใช้วิเคราะห์และตัดสินใจลงทุน และการให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่ได้มาซึ่งข้อมูลนั้น เพื่อสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง
  5. ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษาและภาคธุรกิจที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน 

ถึงแม้ ESG จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายๆ คน แต่ภายในงาน SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ครั้งนี้ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดสัมมนาเอาไว้อีกด้วยว่า ‘ “คนทำงาน” เป็นฟันเฟื่องสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบุคลากรทุกคนต้องเข้าใจและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจริง ไม่ว่าทำงานอยู่ในส่วนไหนหรือมีความรับผิดชอบอะไร ล้วนต้องมีความเข้าใจในประเด็น ESG เพราะ ESG เป็นเรื่องของทุกคนไปแล้ว’

ทุก ๆ หน้าที่ในองค์กรล้วนมีความสำคัญกันทั้งหมด แต่การที่จะเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานในสายงาน ESG ได้นั้น เราเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามอยู่ภายในใจกันไม่น้อย Capital จึงอยากชวนทุกคนเข้ามาส่องสถิติและโอกาสประกอบอาชีพในสายงาน ESG บทสรุปจากเวที SET ESG Professionals Forum 2023 ผ่าน photo album นี้ไปพร้อมกัน

งาน SET ESG Professionals Forum เป็นเวทีระดมความร่วมมือของ ESG Professionals ที่ใหญ่ที่สุดในไทยโดยจัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/set.or.th

5 อาชีพในสายงาน ESG ที่เปิดรับตำแหน่งมากที่สุดในไทย

แม้ ESG จะถูกหยิบนำมาพูดถึงกันในวงกว้างมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อมั้ยว่าเทรนด์อาชีพหรือตำแหน่งงานด้าน ESG เองก็มาแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงปี 2015 มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่ออ้างอิงจาก Global Green Skills Report ในปี 2023 ของ LinkedIn แล้ว จะพบว่าตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกนั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 12.3% ในปี 2021 เป็น 24.4% ในปี 2023 และยังนับได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตเกือบ 2 เท่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอีกด้วย

นอกจากบริษัททั่วโลกกำลังต้องการบุคลากรทางสายงาน ESG แล้ว ข้อมูลจากแพลตฟอร์มหางานอย่าง LinkedIn ปี 2022 พบว่า มีตำแหน่งอาชีพด้าน ESG เปิดรับกว่า 700 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

  1. Environment, Safety and Health หรืออาชีพที่ว่าด้วยเรื่องของการบริหาร-ดูแลสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพภายในองค์กร
  2. Environmental Engineer หรืออาชีพวิศวกรสิ่งแวดล้อม
  3. ESG Advisor and Consultant หรือที่ปรึกษาทางด้าน ESG ในองค์กรเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
  4. Sustainability Manager and Executor หรือกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการด้านการจัดการอย่างยั่งยืน
  5. Sustainability Branding and Communication หรืออาชีพที่ว่าด้วยเรื่องของการสื่อสารแบรนด์และภาพลักษณ์ธุรกิจด้านความยั่งยืน

โดยบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงาน ก็จะขึ้นอยู่กับประเภทของบริษัท องค์กร และโรงงานที่เปิดรับสมัครอาชีพนั้นๆ

ESG เป็นที่ต้องการของตลาดและจุดประกายอาชีพใหม่ๆ

นอกจาก Global Green Skills Report ในปี 2022 ของ LinkedIn ที่เคยบ่งบอกว่าตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกเติบโตขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาแล้ว ในช่วง 5 ปีผ่านมานี้ ตำแหน่งงานใน LinkedIn ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านความยั่งยืนสูงขึ้นปีละกว่า 8% อีกด้วย ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ที่มีทักษะทางด้านนี้กลับมีเพิ่มขึ้นแค่ปีละ 6% เพียงเท่านั้น

และเนื่องจากภาคเอกชนยังขาดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสายงานด้าน ESG อันเนื่องมาจากผลสำรวจจาก 50 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่พบว่ามีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพียงแค่ 15 หลักสูตรจาก 8 มหาวิทยาลัยเท่านั้น

สิ่งนี้จึงส่งผลให้อาชีพในสายงาน ESG เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น จนถึงขั้นสามารถจุดประกายออกมาให้เป็นอาชีพใหม่ๆ เพื่อการร่วมงานกับภาคเอกชนขนาดใหญ่ในปัจจุบันได้ก่อนด้วย เช่น ผู้ทวนสอบข้อมูล (verifier) อย่างผู้ทวนสอบคาร์บอนฟุตปรินต์, อาชีพตัวกลางที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ดูแลแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอน (Carbon Market) และอาชีพด้าน ESG ในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาทางด้านสังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

แม้รายชื่ออาชีพใหม่ๆ ที่กล่าวมานั้นอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูหรือผ่านตาใครหลายๆ คนกันสักเท่าไหร่นัก แต่งานด้าน ESG จะไม่ใช่แค่อาชีพที่เป็นเพียงแค่เทรนด์ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะด้วยคำกล่าวของวิทยากรจากเวที SET ESG Professionals Forum ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปีที่แล้ว ว่า “จากเป้าหมายในด้านต่างๆ ของภาคธุรกิจ อย่างน้อยแนวคิด ESG ก็จะเติบโตไปจนถึงปี 2050 แต่จะไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะอย่างไรทางภาคธุรกิจเองก็ยังคงจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันต่อไปเรื่อยๆ” 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ภาคธุรกิจไทยในปัจจุบันยังมีกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีและมีการทำ ESG ไปแล้วมากกว่า 70 กองทุน นับว่าเป็นมูลค่ารวมกว่า 52,451 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลให้บริษัทในประเทศไทยหลายๆ แห่ง มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

งานใหม่ ‘ทักษะสีเขียว’ ในยุคคาร์บอนต่ำ

แม้งานด้าน ESG จะเป็นกระแสก็จริง แต่บริษัททั่วโลกต่างก็ต้องการบุคลากรผู้ซึ่งมีทักษะสีเขียวและบุคลากรในสายงาน ESG อยู่จำนวนมากในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะมีความต้องการบุคลากรเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนตำแหน่งงาน หรือต้องการที่จะ shift จากสายงานเดิม รวมไปถึงน้องๆ คนไหนที่จบใหม่และต้องการที่จะประกอบอาชีพในสายงาน ESG เอง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา อัพสกิล รีสกิล และเพิ่มพูนทักษะสีเขียว (Green skills) หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองให้ดี (Sustainability) โดยทักษะสีเขียวนี้เองก็ยังสามารถก่อให้เกิดเป็นงานใหม่สีเขียว (Green jobs) ในยุคคาร์บอนต่ำหรือในยุคที่ภาคธุรกิจก็ต่างร่วมด้วยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง

ยกตัวอย่างสายงานเดิม เติมทักษะสีเขียว (Green Enhanced Skills Job) ได้แก่

  1. สายงานด้านวิทยาศาตร์ ที่จะต้องเติมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและ Climate change เชิงลึกควบคู่ไปด้วยกัน เช่น อาชีพนักวิทยาศาตร์ด้านสิ่งแวดล้อม นักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมือง เป็นต้น
  2. สายงานด้านการเกษตร ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้มาช่วยปรับปรุงดูแลภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    มากขึ้น อาทิ อาชีพนักเทคนิคการเกษตร (Agricultural Specialist) เป็นต้น
  3. สายงานด้านการวางแผนและสถาปัตยกรรม ต้องสนใจองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร ฟังก์ชั่นที่สามารถก่อให้เกิดอากาศหมุนเวียน เทคนิคการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความรู้เรื่องกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย รวมไปถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่กระทบกับชุมชมรอบข้าง เช่น อาชีพสถาปนิกและนักออกแบบ ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นสถาปนิกและนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน (ESG Architecture & Design) ได้ เป็นต้น
  4. สายงานด้านวิศวกรรม ที่จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเฉพาะตัว โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบพลังงานสะอาด การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ อาชีพวิศวกรด้านความปลอดภัย ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นวิศวกรที่ปรึกษาและตรวจสอบความยั่งยืนด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Safety, Health, and Environment Consultant) ได้เช่นกัน 
  5. สายงานด้านการรักษาความยุติธรรม ที่นอกจากเชี่ยวชาญเรื่องข้อกฎหมายและธรรมมาภิบาลแล้ว ยังจะต้องเข้าใจถึงประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อมให้ได้อีกด้วย อาทิ อาชีพที่ปรึกษาด้านกฎหมายขององค์กร ก็สามารถเปลี่ยนอาชีพมาเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนขององค์กร (ESG Consultant) ได้อีกด้วย 

นอกจากทักษะสีเขียวที่เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนกันแล้ว ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สกิลของการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับตัว ตลอดจนการคิดในเชิงออกแบบ และการมีประสบการณ์-ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในด้านวิศวกรรมและเทคนิค วิทยาศาสตร์ การจัดการดำเนินงาน หรือการติดตามงานเอง ก็ถือเป็นทักษะที่สร้างรายได้สูงที่สุดในยุคนี้อีกด้วย 

โดยทักษะเหล่านี้นับได้ว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการก่อให้เกิดงานใหม่สีเขียว (Green New and Emerging Jobs) หลากหลายตำแหน่งในสายงานด้าน ESG 

ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของงานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น 

  1. ช่างเทคนิค เช่น ช่างเทคนิคกังหันลม, ช่างติดตั้งแผงโซลาร์ และช่างเทคนิคเชื้อเพลิงชีวภาพ 
  2. นักวิชาชีพ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรน้ำ, นักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืน, ผู้เชี่ยวชาญด้านรีไซเคิล และผู้ทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินต์ 
  3. ผู้บริหาร เช่น ผู้จัดการพลังงานหมุนเวียน และผู้บริหารด้านความยั่งยืน เป็นต้น

บริษัททั่วโลกเปิดรับบุคลากรในสายงาน ESG เพิ่มมากขึ้น

นอกจากบทสรุปของเวที SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ที่อ้างอิงข้อมูลจาก Global Green Skills Report ในปี 2023 ของ LinkedIn ระบุเอาไว้ว่าสัดส่วนของตำแหน่งงานด้าน ESG ทั่วโลกมีการเติบโตมากขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 8% ขึ้นมาเป็น 22.4% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกที่ภาคธุรกิจมีความต้องการจัดจ้างบุคลากรในตำแหน่ง ‘ผู้จัดการด้านความยั่งยืน’ (Sustainability manager) เพิ่มขึ้นกว่า 40% ในประเทศสิงคโปร์, 33% ในประเทศจีน และ 24% ในประเทศออสเตรเลียอีกด้วย

โดยเมื่ออ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีการจัดจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างปี 2017-2022 กว่า 237% ขณะที่สัดส่วนของการจัดจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซธรรมชาติ กลับเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 19% เท่านั้น 

แม้ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำงานด้าน ESG ได้

มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนคงทราบกันดีแล้วว่า การจะเข้ามาทำงานในสาย ESG ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้อง shift สายการทำงานในตำแหน่งเดิมๆ เสมอไป แต่ไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมา ทำงานอะไรอยู่ก็สามารถเติมทักษะ ESG ให้ตนเองเป็นที่ต้องการของตลาดงาน ESG ได้ ไม่ว่าจะเป็น

  1. วุฒิปริญญาตรีด้านบัญชี ที่เพียงแค่เพิ่มทักษะสีเขียวหรือความรู้ทางด้าน Greenhouse gas (GHG) หรือ ESG ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นนักบัญชี GHG/ESG ได้
  2. วุฒิปริญญาตรีด้านวิศวะ ที่เพียงแค่เพิ่มความรู้เกี่ยวกับแหล่งพลังงาน-การบูรณาการระบบพลังงาน ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นผู้จัดการด้านพลังงานทดแทนได้
  3. วุฒิปริญญาตรีด้านการเงิน ที่เพียงแค่เพิ่มทักษะความรู้ด้าน ESG Bond ก็สามารถทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ถูกมอบหมายงานตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนได้
  4. วุฒิปริญญาตรีด้านอื่นๆ ที่เพียงแค่เพิ่มความรู้ด้านคาร์บอนเครดิตและการซื้อ-ขายผ่าน Carbon Market ก็สามารถเบนสายอาชีพมาเป็นโบรกเกอร์ค้าคาร์บอน (Carbon broker) ได้
  5. วุฒิอาชีวะ ก็ยังสามารถเพิ่มพูนความรู้ในด้านระบบไฟฟ้าพลังงานลม -ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อเข้าสู่อาชีพในสายงานด้าน ESG อย่างช่างเทคนิคพลังงานลม ได้เช่นกัน

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like