The Writer in Residence

‘Secret Window Residency’ โครงการนักเขียนพำนักในกระท่อมนักเขียน ท่ามกลางโอบล้อมของธรรมชาติ

โดยปกติในวงการศิลปะจะมีโครงการที่เรียกว่า artist-in-residence หรือศิลปินพำนัก ที่หน่วยงานองค์กร หรือสถาบันต่างๆ เชื้อเชิญให้ศิลปินเข้าไปพำนักในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อเข้าไปพักอาศัย ใช้ชีวิต และทำงานสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่อ้างอิงหรือสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่เหล่านั้นอย่างมีนัยสำคัญ และนอกจากวงการศิลปะ ก็ยังมีวงการสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ทำโครงการในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นวงการภาพยนตร์ วงการดนตรี หรือแม้แต่วงการเขียน

ล่าสุด มีโครงการหนึ่งที่เชื้อเชิญนักเขียนให้เข้าไปพำนักในบ้านพักสไตล์รีสอร์ตอันเงียบสงบ ที่รายล้อมด้วยเนินเขาและต้นไม้ ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการนั้นมีชื่อว่า ‘Secret Window Residency’ โดยเชื้อเชิญเหล่าบรรดานักเขียนและนักสร้างสรรค์ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ผู้มีผลงานโดดเด่นในวงการจำนวน 12 คน ได้แก่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อุทิศ เหมะมูล, วีรพร นิติประภา, นัฐวุฒิ พูนพิริยะ, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, ศิลปี กอบกิจวัฒนา, กิตติพล สรัคคานนท์, พวงสร้อย อักษรสว่าง, นัทธมน เปรมสำราญ, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท, วิภาส ศรีทอง และอินทรชัย พาณิชกุล ให้เข้าไปพำนักในกระท่อมนักเขียน และร่วมสร้างสรรค์งานเขียนเรื่องสั้นหรือข้อเขียนคนละ 1 ชิ้น ให้กลายเป็น 12 เรื่องเล่า จาก 12 นักเขียนขึ้นมา

เรามีโอกาสได้พูดคุยสนทนากับสองบุคคลผู้ก่อตั้ง อย่าง บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับดาวรุ่ง ผู้เคยฝากผลงานภาพยนตร์อันโดดเด่นอย่าง เคาท์ดาวน์, ฉลาดเกมส์โกง และ One for the Road กับ แมวน้ำ–ศิลปี กอบกิจวัฒนา ศิลปิน ครีเอทีฟ และกราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันโครงการนี้ขึ้น

ขอชวนล้อมวงฟังเรื่องราวเบื้องหลังของโครงการนี้จากพวกเขากันเถอะ

ทำไมพวกคุณจึงคิดทำโครงการ Secret Window Residency ในบ้านเรา

บาส : จริงๆ Secret Window Residency มาทีหลัง ตอนแรกก่อนหน้านี้ ผมทำบ้านพักให้เช่าแบบ Airbnb ที่หัวหินหลังหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่าสนุกดีเหมือนกัน ในการทำบ้าน ตกแต่งภายใน คิดคอนเซปต์ ทำงานสถาปัตยกรรมต่างๆ รู้สึกเพลิดเพลินกับการทำสิ่งนี้ หลังจากทำบ้านเช่าหลังที่หัวหินเสร็จ ก็ไม่ได้วางแผนว่าจะทำหลังที่สอง แต่ว่ามีช่วงหนึ่งไปเชียงใหม่ เกิดจับพลัดจับผลูได้เห็นที่ดินแปลงหนึ่ง แล้วเรารู้สึกเห็นภาพขึ้นมา เมื่อเราได้ไปยืนเห็นลำธาร เห็นสันเขา เห็นป่า เห็นบ้านหลังเดิมที่ตั้งอยู่ในที่ดิน เป็นบ้านไม้เก่าๆ หลังเล็กมาก ตอนนั้นเรานึกถึงคำว่า writer’s cabin ขึ้นมาเป็นคำแรก

กระท่อมนักเขียน?

บาส : ใช่ คือเมื่อก่อน ก่อนที่ผมจะมาเป็นคนทำหนัง ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือมาก ส่วนมากจะเป็นนิยาย ผมเป็นแฟนคลับสตีเฟน คิง ความเป็นกระท่อมนักเขียน หรือคีย์เวิร์ดของโครงการนี้ อย่างคำว่า Secret Window ก็มาจากเขานี่แหละ (Secret Window, Secret Garden เป็นชื่อของเรื่องสั้นในหนังสือ Four Past Midnight ของสตีเฟน คิง) ก็เลยตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้เพื่อทำบ้านพักอีกหลังภายใต้คอนเซปต์นี้ คือถ้าบ้านหลังแรกเป็นบ้านของ filmmaker (คนทำหนัง) บ้านหลังนี้ก็เป็นบ้านของ writer (นักเขียน) ซึ่งเป็นความพยายามผสมสิ่งที่ผมสนใจทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน 

แล้วจากการทำบ้านเช่า กลายเป็นโครงการ writer-in-Residence (นักเขียนพำนัก) แบบเดียวกับ artist-in-residence (ศิลปินพำนัก) ได้ยังไง

บาส : เรื่องนี้ตอนแรกไม่เคยมีอยู่ในหัวผมเลย ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าคำว่า artist-in-residence คืออะไร ตอนแรกผมตั้งใจทำเป็นบ้านเช่า เหมือนบ้านพักรายวัน แต่มีคอนเซปต์ writer’s cabin ครอบอยู่ จนกระทั่งการมาถึงของแมวน้ำ คือตอนนั้นเราขึ้นโครงสร้างบ้านแล้ว ผมก็เปิดรูปให้แมวน้ำดู แล้วก็เล่าคอนเซ็ปต์ให้เขาฟัง แล้วเขาก็พูดคำหนึ่งออกมาว่า เราทำเป็น  Artist in Residence ได้เลยนะ ผมก็ถามแมวน้ำว่า Artist in Residence คืออะไร แล้วแมวน้ำก็เล่าให้ผมฟัง

แมวน้ำ: พี่บาสเล่าให้ฟังว่า เขากำลังทำบ้านพักที่หัวหิน เราก็คิดว่า ในประเทศไทยเรามี Airbnb เยอะมากอยู่แล้ว เราเลยอยากจะทำอะไรให้สนุกมากขึ้น เราก็คิดถึง artist-in-residence แต่เอาจริงๆ แล้ว artist-in-residence ก็ไม่ใช่อะไรใหม่ในประเทศไทยเลย มันมีเยอะมาก เราก็คิดว่าสิ่งที่เมืองไทยไม่ค่อยมีก็คือ writer-in-residence คือการที่เราไปคัดสรรนักเขียน หรือเปิดรับสมัครให้นักเขียนมาพำนักและทำงานในบ้านพักของเรา แล้วสิ่งที่พี่บาสคิดเป็นคอนเซปต์เบื้องต้น ก็จับพลัดจับผลูลงตัวกันพอดี เพราะถ้าเราจะทำอะไรที่เป็น writer’s cabin แล้วเราไม่มี writer-in-residence ได้ยังไง เหมือนกับเราพยายามทำบ้านให้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในคอนเซปต์ของเราให้ได้มากที่สุด 

แล้วหานักเขียนที่มาร่วมโครงการนี้ยังไง

แมวน้ำ : ตอนแรก เราคิดอยู่แล้วว่าเราพอจะรู้จักใครบ้างที่ทำงานในแวดวงนี้ เราก็ไปคุยกับ พี่โย (กิตติพล สรัคคานนท์) เพราะเราไปร้านหนังสือ Books & Belongings ของพี่โยบ่อยๆ ก็เลยได้คุยกับเขาบ่อย เราก็ติดต่อไปหาเขาว่าสนใจที่จะทำโครงการนี้ด้วยกันไหม 

บาส : มันบังเอิญมาก เพราะจริงๆ ผมกับพี่โยเนี่ย ไม่ควรจะได้มาข้องแวะกันเลยในการทำงาน แต่ผมบังเอิญเจอพี่โย เพราะว่าพี่โยเป็นลูกค้าประจำบาร์นี้ (Mutual Bar สุขุมวิท 24) มาตั้งแต่ตอนเปิดใหม่ๆ เขาก็มานั่งดื่มที่มุมบาร์แล้วอ่านหนังสือคนเดียว ผมก็คิดว่าพี่คนนี้ช่างน่าค้นหา ทำไมพี่เขาดูหว่องขนาดนี้ (หัวเราะ) ก็เลยเข้าไปคุยกับเขา ได้รู้ว่าเขาเป็นนักเขียนและทำหนังสือ ก็ได้รู้จักและสนิทสนมกันมาได้ 4-5 ปีแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะได้มาทำงานด้วยกัน

แมวน้ำ : เราเองก็ไม่ได้คิดว่าพี่บาสจะมารู้จักพี่โย แต่มารู้ทีหลังว่าพี่บาสก็รู้จักเหมือนกัน ก็เหมาะเจาะพอดี เลยชวนพี่โยมาร่วมโครงการ ตอนแรกคือชวนเขามาเป็นบรรณาธิการให้ พอทำไปทำมาก็เริ่มไหลไปเรื่อย งานออกแบบกราฟิกเขาก็ดี ก็เลยทำปกหนังสือของโครงการ โลโก้ของบ้านหลังนี้พี่โยก็ออกแบบให้

บาส : พี่โยออกแบบโลโก้บ้านให้ผมตั้งแต่บ้านพักหลังเดิมที่หัวหินแล้ว เขาทำให้น่ารักมาก ออกแบบมาดีเกินค่าตัวมาก พอทำบ้านหลังนี้ก็เลยชวนเขามาทำโลโก้ให้ด้วย

ใครเป็นคนคัดสรรนักเขียนเข้ามาร่วมโครงการนี้

แมวน้ำ : คือจะบอกว่าเราทำคนเดียวก็ไม่ได้ ก็ให้พี่โยช่วยดูด้วย แล้วนักเขียนคนแรกที่คิดเข้ามาในหัว ที่ยังไงเราก็อยากจะได้ คือพี่แหม่ม (วีรพร นิติประภา) เพราะว่าเรารู้สึกว่างานของเขาเข้ากับบ้านนี้มากเลย มันจะมีความเหงา ความเศร้าอะไรบางอย่าง มีรสชาติอะไรบางอย่างในการเขียนของเขา ที่เรารู้สึกว่ายังไงก็ต้องมีพี่แหม่ม เลยทักไปชวนพี่แหม่มมาร่วมโครงการ หลังจากนั้นก็เริ่มถามพี่แหม่มว่ารู้จักใครบ้าง มีใครน่าสนใจในสายตาของเขา คือไม่ใช่แค่เราสนใจใครแล้วเขาจะเหมาะสมกับโครงการนี้ แต่คือการที่เราต้องสำรวจว่านักเขียนคนนี้เหมาะสมหรือเปล่าในสายตาของนักอ่านคนอื่นด้วย 

ความเหมาะสมที่ว่านี่คืออะไร

แมวน้ำ : เราว่าเป็นความรู้สึกว่าเขาเข้ากับตัวบ้านไหม และความรู้สึกที่เราคิดได้คือเราอยากได้นักเขียนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่าง พี่เดียร์–อินทรชัย พาณิชกุล เขาก็เขียนหนังสือเรื่องการเดินทางที่แตกต่างไปจากที่หนังสือท่องเที่ยวทั่วไปเคยเป็น หรืออาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เราก็รู้อยู่แล้วเขาเขียนงานค่อนข้างซีเรียส เราอยากดูว่า ถ้าเอาอาจารย์มาพำนักอยู่ในบ้านนี้ เราเดาไม่ออกเลยว่าเขาจะเขียนอะไรออกมา น่าสนุกและท้าทายมากๆ อย่างพี่โย เราก็อยากจะรู้ว่าเขาจะเขียนแบบไหน เขียนอะไร เพราะว่าแต่ละคนที่เลือกมาต่างก็ชัดเจนในเรื่องที่พวกเขาเขียนมากๆ  

พวกคุณให้เวลานักเขียนเหล่านี้มาพำนักในบ้านพักนี้นานแค่ไหน

แมวน้ำ : เราให้เวลาพวกเขาพักและใช้งานพื้นที่ในบ้านนี้ 3 วัน 2 คืน 

ให้มาทีละคน หรือให้มาพร้อมกัน

แมวน้ำ : ให้มาใช้ทีละคน แล้วโจทย์ของตัวงานเขียนเราเปิดมากๆ เหมือนเราใช้บ้านนี้เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ไม่ได้กำหนดว่าจะให้เขียนอะไร แค่ให้ใช้พื้นที่และฉากของบ้านหลังนี้ เล่าเรื่องอะไรก็ได้

ใช้ฉากในบ้านหลังนี้เป็นฉากของเรื่องราวในงานเขียนแต่ละคน?

แมวน้ำ : สมมติว่าถ้าโครงการนี้คือหนัง บ้านนี้ก็คือโลเคชั่น แต่เราก็คุยกันว่า นักเขียนสามารถตีความได้เลยว่า บ้านหลังนี้มีที่มาที่ไปยังไง มีความสัมพันธ์กับตัวละครยังไง มีความสัมพันธ์กับเรื่องเล่าขนาดไหน เช่นบางคนอาจจะเขียนว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านเช่า หรือบางคนอาจจะเขียนว่า บ้านหลังนี้เป็นมรดกตกทอดจากเจ้าคุณปู่ก็ได้ แล้วแต่การตีความ หรืออาจารย์ธเนศอาจจะพูดถึงตัวบ้าน อย่างเช่นการตกแต่ง ที่เขาอาจจะชอบหรือเกลียด หรืออาจจะหยิบยกเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องทุนนิยมที่เขาเขียนอยู่แล้วมาพูดได้ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้เลย อาจารย์ธเนศอาจจะเขียนเรื่องสั้นก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าสนใจมากๆ 

นอกจากนักเขียนนิยายหรือนักเขียนงานวิชาการ เราเห็นว่าในรายชื่อยังมีคนทำหนังอย่าง โรส–พวงสร้อย อักษรสว่าง ด้วย

บาส : จริงๆ โรส เขามีพื้นฐานของความเป็นนักเขียนอยู่แล้ว เพราะก่อนจะมาเป็นผู้กำกับหนัง เขาก็เคยเป็นนักเขียนมาก่อน เคยเขียนหนังสือ และเคยเขียนบทหนังด้วย เรารู้สึกว่าโรสเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ 

แถมเป็นตัวเชื่อมกับคุณที่เป็นคนทำหนังด้วย

บาส : ใช่ๆ เหมือนเขามาเชื่อมสองโลกเข้าไว้ด้วยกัน

แมวน้ำ : อีกคนหนึ่งก็คือ คุณปอ–นัทธมน เปรมสำราญ  เขาเขียนเรื่องสั้น เรื่องแปล และทำละครเวทีด้วย

ได้ยินว่าเขาทำงานศิลปะด้วย?

แมวน้ำ : ใช่ ทำงานศิลปะจัดวาง นักเขียนที่มาร่วมโครงการนี้มีความหลากหลาย น่าสนุกมาก ความสนุกที่ว่านี้คือความไม่รู้ของคนอ่านอย่างเราว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

บทสรุปของโครงการนี้คืออะไร 

แมวน้ำ : เราจะทำเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น เมื่อนักเขียนเข้ามาร่วมในโครงการ writer-in-residence แล้ว เขาจะมีเวลา 1 เดือนในการเขียนต้นฉบับ หลังจากเข้าพักที่บ้าน เราอยากให้หนังสือตีพิมพ์พร้อมขายช่วงเดือนมีนาคม และงานสัปดาห์หนังสือฯ เราติดต่อสำนักพิมพ์หนึ่งเอาไว้แล้ว เหมือนเราเสนอโครงการให้เขา เขาก็สนใจที่จะทำขึ้นมา

หลังจากโครงการ Secret Window Residency ครั้งนี้จบลงแล้ว วางแผนจะมีโครงการที่สองอีกไหม

บาส : ก็คิดอยู่นะว่าหลังจากนี้ถ้าเราจะทำอะไรกับบ้านนี้ ก็คงเป็นในช่วง low season ที่คนเข้ามาพักน้อย เราก็อยากใช้ประโยชน์จากบ้านให้ได้มากที่สุด ต่อให้ประโยชน์นั้นอาจจะไม่ได้ออกมาในรูปของผลกำไร หรือว่ารายได้ก็ตาม แต่อย่างน้อย ถ้าตัวบ้านพัก หรือพื้นที่สามารถที่จะต่อยอดให้คนทำงานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียน หรือคนทำหนังก็ได้ อาจจะเป็นคนทำงานในแขนงอื่น เป็นจิตรกร ประติมากร อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขามาใช้พื้นที่ตรงนี้แล้วสามารถต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานบางอย่างขึ้นมาได้ ผมก็คิดว่าคุ้มค่าที่จะทำ

แมวน้ำ : สำหรับ Secret Window Residency เรายังไม่ได้มองว่าจะมีโครงการต่อไปในอนาคตอีกไหม คือเราต้องดูผลลัพธ์ของครั้งนี้ก่อน ว่าเป็นยังไง แต่ถ้าถามว่าเราจะทำโครงการอื่นๆ แบบ Secret Window ภายใต้คำว่า writer’s cabin โดยที่ให้ใครสักคนเข้ามาใช้พื้นที่ที่นี่ อาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่สำคัญว่าเขาต้องทำอาชีพอะไร แต่เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานอะไรสักอย่างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

พวกคุณคิดว่าโครงการ Secret Window Residency จะสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรือช่วยในแง่ของธุรกิจของคุณอะไรได้บ้าง

บาส : จะว่าไป โครงการนี้ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ในแง่หนึ่ง อาจจะทำให้ตัวบ้านหรือชื่อ Secret Window เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ส่วนในแง่เชิงธุรกิจ หรือกำไรในการผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผมก็จับเข่าคุยกันกับหุ้นส่วนแล้วว่ามีสิทธิ์ที่จะขาดทุนนะ ต้องทำใจ จะด้วยต้นทุนหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อย ตั้งแต่วันแรกที่เราคิดคอนเซปต์ writer’s cabin ขึ้นมา หรือแพสชั่นในอดีตของผมที่ชอบอ่านหนังสือ อยากเป็นนักเขียน ผมรู้สึกว่าการทำสิ่งนี้ก็ตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นในบางแง่มุมนั่นแหละ มันคือการซื้อโอกาสในการทำสิ่งที่เราเคยอยากทำมาก่อน แค่นี้ก็อาจจะกำไรแล้วมั้งสำหรับผม ซึ่งอาจจะโชคดีตรงที่ได้หุ้นส่วนที่เข้าใจ และพร้อมจะลุยไปด้วยกัน เรารู้สึกว่า อย่างน้อยถ้าเราสามารถทำอะไรบางอย่างที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ มันก็คุ้มค่าแล้ว

Writer

คอลัมนิสต์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ พ่อบ้านลูกสอง ผู้เบื่อหน่ายระบบการศึกษาในสถาบันศิลปะ แต่สนใจการผสมผสานศิลปะหลากสื่อต่างแขนงเข้าด้วยกัน และมุ่งมั่นในการสลายเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างศิลปะ ดีไซน์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมร่วมสมัย และเรื่องราวรอบๆ ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

Illustrator

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like