Master of Peace
MasterPeace ศูนย์บริการสุขภาพจิตที่หวังให้การคุยเรื่องใจเป็น new normal
ในยุคที่โรคซึมเศร้า โรคแพนิก และอีกหลากหลายภาวะทางจิตกลายเป็นท็อปปิกที่คุยกันได้อย่างเปิดเผย สื่อ สำนักพิมพ์ และผู้คนหันมาสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตกันมากขึ้น ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ชื่อว่าจิตวิทยานั้นกลับมีก้อนน้ำแข็งที่ก่อตัวลึกหนา รอให้ลมช่วยกระเทาะ รอให้แสงแดดเจิดจ้าช่วยทำละลาย
ทั้งเรื่องการตีตราคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพใจ เรื่องความรักตัวเองที่พูดน่ะง่าย แต่ให้ทำจริงๆ ก็ถือเป็นงานหิน
MasterPeace คือชื่อของกลุ่มที่ว่า กลุ่มคนที่รวมตัวกันเปิดศูนย์บริการสุขภาพจิตเพื่อหวังให้เรื่องสุขภาพใจใกล้ตัวทุกคนมากกว่าเก่า เพื่อให้ระบบนนิเวศของวงการจิตวิทยาของไทยเป็นมิตรกับทุกคนได้มากขึ้น

ความน่าสนใจคือสมาชิกผู้ก่อตั้ง ทั้ง น้ำผึ้ง–กิตินัดดา อิทธิวิทย์, ฝ้าย–กันตพร สวนศิลป์พงศ์, กัญ–วรกัญ รัตนพันธ์ และบีน–ณภัทร สัตยุตม์ ล้วนเป็นนักจิตวิทยาลูกครึ่ง กล่าวคือแต่ละคนเคยทำงานในหลากหลายสาย ทั้งสื่อมวลชน เจ้าของธุรกิจ เภสัชกร นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ก่อนจะผันตัวมาศึกษาเรื่องใจอย่างลงลึก
ความลูกครึ่งนี้เองที่ทำให้พวกเขาเคยเป็นคนนอกวงการมาก่อนและเห็น pain บางอย่างในแวดวงนี้ที่เชื่อว่าถ้าขยับนิด ปรับหน่อย ก็น่าจะทำให้เรื่องของใจเข้าไปนั่งในใจผู้คนได้กว้างขึ้น ทั้งน่าจะทำให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตและเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันผลักดันมากกว่านี้
เป็นที่มาของ ‘พาใจกลับบ้าน Homecoming’ พื้นที่เชิงบำบัดที่พาเราไปพัก ละทิ้งบางอย่าง และโอบกอดตัวเองมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็น ‘See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ’ นิทรรศการศิลปะแบบ experiential design ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของการถูก ‘ตีตรา’ ทางสุขภาพจิต รวมถึงโปรเจกต์มากมายที่ทำร่วมกับภาครัฐและเอกชน
คีย์สำคัญของ MasterPeace ยังคือการพยายามสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้อย่าง ‘สร้างสรรค์’ อยู่ภายใต้ ‘จรรยาบรรณ’ และมอบ ‘ความหวัง’ ในการมีชีวิตอยู่ให้ผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะเชื่อว่าสุดท้ายปลายทาง การจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่เป็นโรคอะไรนั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่าคนคนนั้นมีหวัง มีทางเลือก หรือทางออกในชีวิตหรือไม่
เช่นเดียวกับที่ฝ้ายบอกว่า “ณ วันที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ โห สีของโลกมันเปลี่ยนไปเลยจริงๆ เราจะรู้สึกว่าชีวิตน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ แล้วเราจะเห็นว่ามันยังมีตัวช่วยอีกเยอะมาก หรือแม้กระทั่งเราก็คือตัวช่วยของเราเองเหมือนกัน”
บ่ายแก่วันหนึ่ง เรานัดสนทนากับฝ้ายและน้ำผึ้งถึงเรื่องราวการเคี่ยวกรำให้ MasterPeace เป็นอีกหนึ่งความหวังในการหาความสงบสุขทางใจของใครอีกหลายคน ขณะเดียวกันก็ยังตอบโจทย์ผู้คนในแวดวงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Mastering the Unspoken Pain
“แทนที่จะปล่อยให้เป็นไข้ เชื้อลงปอด เรามาดูแลกันตั้งแต่เริ่มเป็นหวัดน้อยๆ เพื่อจะได้กลับมาเฮลตี้ได้เร็วขึ้น”
ย้อนกลับไป คุณเห็นอะไรในแวดวงสุขภาพจิตบ้านเรา ถึงคิดอยากทำ MasterPeace ขึ้นมา
น้ำผึ้ง : เราเห็นว่าคลินิกหรือศูนย์บำบัดมีเยอะเลยนะ คนที่อยากเข้ารับบริการก็เยอะ โรงพยาบาลรัฐเอย คลินิกเอกชนเอย ก็ประชาสัมพันธ์ ทำบทความออกมาเต็มที่ แต่อะไรที่ทำให้ 2 อย่างไม่มาเจอกัน คนอีกส่วนเยอะมากๆ ก็ยังไม่อยากรับบริการเหล่านี้ หรือกลุ่มคนที่อยากเข้าถึงก็เข้าไม่ถึง เราสงสัยว่ามันติดขัดที่อะไร
ค่าบริการสูงไปใช่ไหม สื่อประชาสัมพันธ์มันแห้งแล้งเหรอ หรือว่ามันวิชาการไป แล้วถ้าเราเอา creativity ไปเสริม มันน่าจะเป็นอีกเซอร์วิสที่ทำให้คนรู้จักและเข้าถึงจิตวิทยามากขึ้นไหม
ฝ้าย : ในวงการที่ทำงานกันอยู่ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ส่วนใหญ่ทุกคนทำงานกันตามหลักการและมาตรฐาน แต่พอพวกเรามาจากสายอื่นๆ กันหมด มันอาจจะมีบางมุมที่เราอยากทดลองในท่าทีใหม่ๆ เช่น เราเองมาจากฝั่งสื่อก็จะรู้สึกว่า เนื้อหาอันนี้ดูน่าสนุกจัง เนื้อหาอันนั้นมันเซ็กซี่จัง ถ้าสื่อสารออกมาอีกแบบมันจะดีมากเลยนะ
เหมือนมันเป็นสันดานที่เจออะไรดีๆ ก็อยากบอกต่อ

พอขุดลึกลงไป พวกคุณเจอสาเหตุเหล่านั้นจริงๆ ไหม
น้ำผึ้ง : มันอาจจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงก็ได้ แต่สิ่งที่เราตกตะกอนได้อย่างแรก มันคือเรื่องการสื่อสารที่บางครั้งผู้คนหรือสื่อทำบทความสื่อสารเรื่องจิตวิทยาออกมา เช่น โรคนั้นโรคนี้มีอาการยังไง คุณอาจจะเป็นแล้วนะ อะไรแบบนี้
ถามว่ามันดีไหม มันดีกับคนที่กำลังแสวงหาคำตอบ แต่พอมันไม่ได้บอกทางออกว่าเราต้องทำยังไงต่อ ต้องไปหาจิตแพทย์ไหม มันสร้างความกลัว อาจเหมือน label แปะป้ายคนไปอีกระดับหนึ่ง เราเลยมองว่าการสื่อสารเรื่องพวกนี้มันต้องเป็นการสื่อสารเชิงบวกที่ทำให้คนรู้ว่าสุดท้ายเขายังมีทางเลือกในชีวิตนะ ไม่ได้บอกว่ามันต้องมี how-to แต่มันต้องมี hope บางอย่าง
อย่างที่ 2 เรามองว่าจริงๆ แล้ว ถ้าภาคเอกชนได้รู้ว่าปัญหาเหล่านี้มันใหญ่แค่ไหน เขาสนใจและสามารถเป็นอีก stakeholder หนึ่งของสังคมที่จะมาช่วยขยับผ่านการทำโครงการหรือ CSR เพื่อลดการตีตราและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้ แต่คำถามคือ มันมีใครได้เข้าไปเวิร์กกับเอกชน เปิดข้อมูลให้เขาเห็น pain point แบบที่จิตแพทย์และนักจิตฯ เห็นไหม ซึ่งตอนนี้ก็มีนะ แต่น้อยมากจริงๆ

แล้วคุณมองว่า MasterPeace จะเข้าไปอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่นี้
น้ำผึ้ง : เราไม่ได้อยากจะทำทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พูดตรงๆ เรารู้สึกว่าวงการนี้จะไปได้ เราต้องขยับไปพร้อมกัน อย่างที่จริงรัฐมีโครงการที่ให้คนได้เจอนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดฟรีๆ แต่คนทั่วไปแทบไม่รู้ คำถามคือ MasterPeace ทำยังไงได้บ้าง ให้คนได้รู้ว่ามันมีบริการตรงนี้ ซึ่งต้องไม่เป็นการบอกโท่งๆ แต่เราสอดแทรกให้การประชาสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของงานเรา
ฝ้าย : ตอนแรกเราเลยกระเทาะกันเลยว่านอกจากสกิลบำบัด พวกเรามีสกิลอะไรกันบ้าง ซึ่งงานชิ้นแรกๆ ของ MasterPeace คือการเขียนคอลัมน์ Peace of Mine ลง a day กลายเป็นว่ามีคนตามอ่านเยอะ และได้ฟีดแบ็กเยอะมาก
น้ำผึ้ง : เราเห็นคอมเมนต์ว่าบางคนติดทั้งทุนทรัพย์ บางคนติดเรื่องเวลา บางคนติดเรื่องการตีตรา เขาจึงไม่สามารถเข้ารับบริการทางจิตวิทยาได้ มันทำให้เราเกิดคำถามตั้งต้นที่ทำให้ MasterPeace เป็น MasterPeace แบบทุกวันนี้ นั่นคืองานฝั่งบำบัด ซ่อมแซมหัวใจคน นั่งคุย counseling ในห้องมันสำคัญนะ เเต่งานฝั่งส่งเสริมป้องกันอย่างการทำบทความหรือพ็อดแคสต์ สร้างสื่อแบ่งปันความรู้เรื่องจิตวิทยา หรือพัฒนาพื้นที่และเครื่องมือดูแลใจเบื้องต้นออกไปก็น่าจะสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าสู่การบำบัดได้
ฝ้าย : เปรียบให้เข้าใจ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไข้ เชื้อลงปอด เรามาดูแลกันตั้งแต่คุณเริ่มเป็นหวัดน้อยๆ เพื่อที่คุณจะได้กลับมาเฮลตี้ได้เร็วขึ้น
น้ำผึ้ง : หรือจริงๆ ยังไม่ต้องรอเป็นหวัดเลยก็ได้ แค่ต้องออกกำลังกายใจให้เป็น

Mastering the Healing Path
“เหมือนเราเป็นเพื่อนเขาที่มีอาชีพเป็นนักจิตฯ เฉยๆ แล้วเพื่อนคนนี้ก็แค่มาแบ่งปันสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ แล้วถ้าเกิดจังหวะชีวิตมีปัญหา อยากให้นึกถึงเพื่อนคนนี้”
อย่างนั้นคุณนิยาม MasterPeace ว่าเป็นอะไร หรือทำงานอะไร
น้ำผึ้ง : เราเป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพจิต ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันด้านสุขภาพใจในทุกรูปแบบ (mental health promotion and prevention)
ฝ้าย : เหมือนเราเป็นสะพานระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ โดยที่สะพานนี้ก็ต้องเป็นสะพานที่น่าเดิน สวยงาม ซึ่งเราจะแบ่งออกเป็น 3 division ซึ่ง division แรกคือ creative mental health communication หรือสร้างสรรค์สื่อเชิงจิตวิทยา division ที่ 2 คืองานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมป้องกันสุขภาพใจในองค์กร และ division สุดท้ายคืองานนวัตกรรมสุขภาพจิต
ใน division แรก เราเป็นคนดูแลเนื่องจากเราเคยทำงานเป็นสื่อมาก่อนเนาะ motto เล่นๆ ของขานี้คือเราอยากเป็น friendly creative psychological mind เริ่มจาก friendly เราอยากคุยกับคนเหมือนเพื่อนคุยกัน, creative หมายถึงว่าเราอยากเอาศิลปะหรือสิ่งต่างๆ มาสื่อสารเรื่องจิตวิทยาในท่าทีใหม่ ส่วน psychological mind คือเราคำนึงถึงเรื่องจิตใจเป็นหลัก

หมายถึง MasterPeace ก็เป็นสื่ออีกเจ้าหนึ่งเหรอ
ฝ้าย : ทั้งเราค่อยๆ ทำเองไปด้วย ทั้งไปคอลแล็บกับสื่ออื่นด้วย เพื่อสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจว่าจักรวาลแห่งสุขภาพจิตมีอะไรมากมายที่เขายังไม่รู้ และถ้าเขาได้รู้แล้วเข้าใจ เขาอาจจะโอบรับคนรอบข้างได้มากขึ้น
แต่นอกจากนั้นก็จะมีช่วยงานแคมเปญโฆษณาและ CSR ของลูกค้าองค์กรด้วย
ล่าสุดจะเป็นงาน Mazda Joy Drives Lives ที่ทางเอเจนซี Inside the Sandbox มาชวนทำด้วยกัน ทาง Mazda เขาอยากเป็นแบรนด์ที่ทำให้คนกลับมาเห็นความสุขในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ผ่านมุมมองจิตวิทยาเชิงบวก
ถ้าเราสวมหมวกนักจิตวิทยา คำถามคือเราจะทำยังไงให้คนเข้าใจเรื่องความสุขแบบที่มันจับต้องได้ เอาไปปรับใช้ได้ ในหมวกเอเจนซีมันก็ยังต้องสร้างสรรค์และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
เหมือนต้องหาจุดตรงกลางระหว่างกัน
ฝ้าย : ใช่ เราก็หาตรงกลางที่ทุกคน win-win คนทั่วไปที่เป็นผู้รับสารได้ประโยชน์ ภาคเอกชนที่อยากพูดเรื่องนี้ก็ได้พูดออกไปโดยไม่เคอะเขินและยังช่วยสังคมได้ ที่สำคัญและเป็นแก่นของงานทุกชิ้น คือเราไม่อยากสื่อภาพนักจิตหรือผู้รู้มาสั่งสอน แต่คือเหมือนเราเป็นเพื่อนเขาที่มีอาชีพนักจิตเฉยๆ แล้วเพื่อนคนนี้ก็แค่มาแบ่งปันสิ่งที่คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับเขา
แล้วถ้าเกิดว่าจังหวะชีวิตมีปัญหา อยากให้นึกถึงเพื่อนคนนี้


“พนักงานไม่ได้มีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว เขายังมีชีวิตที่บ้าน มีชีวิตของเขา องค์กรไหนจะไปได้ไกลก็อยู่ที่จิตใจพนักงานด้วยนะ”
นอกจากการทำสื่อให้คนทั่วไป คุณเห็นอะไรในองค์กรต่างๆ จึงกระเทาะออกมาเป็น division ที่ 2
น้ำผึ้ง : บางองค์กรมีพนักงานสามสี่พันคนบ้าง ห้าพันคนบ้าง บางแห่งมีทั้งส่วนของบริษัทและโรงงาน การที่เขาจะต้องดูแลคนทั้งหมด เรามองว่ามันก็ต้องมีเครื่องมือบางอย่างซึ่งไม่ได้แก้แค่ปัญหาสุขภาพจิตอย่างเดียว แต่ไปส่งเสริมพวก wellbeing ด้วย
หรือแม้กระทั่งว่าบางที่เขามีสวัสดิการดูแลใจดีมากเลย แต่พนักงานไม่ใช้ ปัญหามันเกิดจากอะไร หรือที่ทำงานยังมีความเป็น safe space พอไหม งานพวกเราเข้าไปทำให้ environment มันดีขึ้นมา เพื่อให้ HR ได้ดูแลใจพนักงาน แล้ว HR ก็จะได้ดูแลใจ HR เองด้วย
ดังนั้น division ที่ 2 มันจึงคือการทำงานส่งเสริมป้องกันเชิงรุกในองค์กร ผ่านการเวิร์กช็อป หรือการทำเครื่องมือเล็กๆ ให้องค์กร พัฒนาและวางระบบบางอย่างเอาไว้ซัพพอร์ตทีม HR อีกทีหนึ่ง
ทำไมคุณถึงมองว่าการทำงานกับองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ
น้ำผึ้ง : หลายที่คนลาออกค่อนข้างเยอะหลังโควิด ถ้าเขาลงทุนกับการดูแลจิตใจพนักงาน ปัญหานี้อาจจะลดลงไปได้ เขาไม่ต้องเสียเงินซ้ำๆ ในการ recruit คนใหม่ องค์กรไหนที่รู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนกับการดูแลใจพนักงาน หลายที่เลยที่อัตรา turnover ลดลงไปเลย
เพราะฉะนั้น เรามองว่าใจพนักงานสำคัญมาก พนักงานไม่ได้มีหน้าที่ในการทำงานอย่างเดียว เขายังมีชีวิตที่บ้าน มีชีวิตของเขา ถ้าองค์กรไหนจะไปได้ไกลก็อยู่ที่จิตใจพนักงานด้วยนะ


“มันคือการสร้างทุ่นพักใจที่ถ้าสุดท้ายเขาไม่ไหว
เขาจะไปหาความช่วยเหลือจากที่ไหนได้บ้าง”
แล้วงานนิทรรศการ See, the Unseen หรือ HOMECOMING ที่คุณทำทุกปีนับเป็นงานลักษณะไหน
น้ำผึ้ง : เป็น division ที่ 3 เรียกว่างาน innovation หรืองานนวัตกรรมด้านสุขภาพจิต มันเป็นการนําจิตวิทยาไป blend กับ digital technology งานศิลปะเชิง experiential design หรือ installation art เพื่อสื่อเรื่องสุขภาพจิตออกไปในรูปแบบใหม่ๆ ในพื้นที่ใหม่ๆ
ทำไมงานจิตวิทยาต้องใช้ innovation
น้ำผึ้ง : งานนวัตกรรมมันช่วยทลายข้อจำกัด ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในช่วงที่คนกำลังรอเข้าบริการ บุคลากรไม่พอ เพราะประเทศไทยนักจิตฯ ต่อผู้รับบริการ 1 : 100,000 ปัญหามันค่อนข้างติดที่คอขวด เครื่องมือพวกนี้อย่างน้อยมันเหมือนเป็นเพื่อนที่ทำให้เขามีความหวังกับชีวิตอยู่
แล้วมันไม่ใช่แบบแค่ความหวัง แต่มันไปเติม mental health literacy หรือความรู้ทางจิตวิทยาบางอย่างซึ่งเหมือนเป็นเครื่องมือเสริมภูมิคุ้มกันใจให้เขาอยู่กับปัญหานั้นได้ดีขึ้น ในจังหวะที่ดูเหมือนไม่มีอะไรให้ฉันเลือกแล้ว งานเหล่านี้ที่เราพยายามทำมันทำให้เขาเห็นว่าเขายังมีสิทธิ์เลือกนะว่าจะรับมือเบื้องต้นยังไง ฉันจะทำอันนี้ ไม่ทำอันนั้น
ฝ้าย : เราว่าสุดท้ายมันยังกลับมาที่เรื่องเดิมว่าทำไงให้จิตวิทยามันไปได้ไกลขึ้น คำว่าไกลขึ้นในที่นี้ เราว่าถ้ามันมีของเล่นใหม่เราก็ต้องลองเล่น เพราะมันอาจจะเป็นมากกว่าของเล่นก็ได้ถ้าเราดีไซน์บางอย่างลงไป

แล้วจิตวิทยาจะรวมกับ innovation ได้ยังไง ให้มันยังสมดุล เข้าถึงได้ และยังปลอดภัยกับคนด้วย
ฝ้าย : แทนที่เขาจะต้องอ่านหนังสือเพื่อหาคำตอบว่าตัวเองเป็นอะไร ต้องทำยังไง แล้วเขาไม่เข้าใจ แล้วเขาก็แค่ปิดมันไป เราว่างาน innovation มันเหมือนเราต้องคิดระบบเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนได้ผ่านกระบวนการเบื้องต้น เช่น ถ้าเขาเข้าไปในงาน แล้วค่อยๆ เดินไปตามเส้นทางที่เราออกแบบ แล้วเขาก็จะได้รู้สึกว่ามันมีตัวช่วยแบบไม่ต้องพยายามกับเรื่องยากๆ อยู่คนเดียว
น้ำผึ้ง : จริงๆ ตอนนี้เรามีส่วนที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อร่วมพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่น และเครื่องมือที่ใช้ Gen AI ช่วยประเมินหรือพูดคุยสำรวจใจเบื้องต้น ส่วนใหญ่จะทำงานกับทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนแบบที่ 2 คือร่วมออกแบบพื้นที่หรือนิทรรศการ อย่าง See, the Unseen หรือ HOMECOMING นั่นแหละ
ขอยกตัวอย่าง HOMECOMING หรือพาใจกลับบ้านซึ่งเราทำร่วมกับทีม Eyedropper Fill เข้าปีที่ 3 แล้วและงานมันพัฒนามาจากปีแรกค่อนข้างเยอะ แต่แก่นของงานยังเหมือนเดิมคือเราอยากให้คนมีพื้นที่ที่ได้มาสำรวจใจ พื้นที่ที่คนได้เข้ามาแล้วได้พัก แต่คำว่าพักของแต่ละคนคืออะไร พักแต่ปัญหายังอยู่แล้วออกไปก็ยังต้องแบกต่อ หรือมันคือพักแล้วได้ทบทวนชีวิตจริงๆ โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
เพราะจริงๆ ทาร์เก็ตของ HOMECOMING มันทำเพื่อคนเมืองเจนฯ Y เพราะตามรีเสิร์ชแล้วคนกลุ่มนี้เป็น sandwich generation เราแบกอะไรเยอะมาก เราไม่ได้เป็นแค่คนวัยทำงาน แต่เรายังเป็นสามีภรรยาที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว เป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่แก่ชรา เป็นพนักงานในองค์กร หรือเป็นเจ้านายที่ต้องดูแลลูกน้อง มันมี invisible burden เยอะมาก
ถามว่าส่วนใหญ่มีเวลาได้มาทบทวนใจตัวเองไหม แทบจะไม่มีนะ เหมือนถ้าหยุดพัก มันจะเป็นความ anxious ที่เขาจะรู้สึกว่ากำลังจะพลาด อีก insight ที่เราได้ คือคนวัยนี้รู้สึกว่าดีไม่พอ แต่พื้นที่ตรงนี้จะชวนทุกคนมาพักและชะลอความคิดแล้วดูว่าแท้จริงแล้วมันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือแท้จริงแล้วทุกคนดีพอ แค่ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมกำลังบีบคั้นเราเท่านั้นเอง
สุดท้ายถ้าเรารู้ว่าเรากำลังอยู่บนเลนของตัวเอง เราวิ่งตาม pace ของตัวเองได้ไหม แล้วถ้ามันได้แต่มันยังเหนื่อย หรือเรายังอยากได้ความช่วยเหลือ เขาจะไปหาได้ที่ไหนบ้าง อย่างงานนี้ ooca ก็เข้ามาช่วยดูเรื่อง counseling service ที่ถ้าเขาอยากเข้าสู่บริการ ก็จะมี free session ให้คนได้เข้าไปลองปรึกษา

สุดท้ายแล้วหัวใจสำคัญคือการส่งต่อ hope
น้ำผึ้ง : เรามองว่างานนวัตกรรมมันไม่ใช่แค่เขามาเล่นเว็บแอพฯ เพื่อหาเพื่อนคุยในวันที่รู้สึกมืดมน หรือมันไม่ใช่แค่นิทรรศการเพื่อคอนเทนต์แล้วจบ แต่มันคือการสร้างความตระหนักรู้และทุ่นพักใจที่ถ้าสุดท้ายถ้าเขาไม่ไหว เขาจะไปหาความช่วยเหลือจากที่ไหน
เช่น คณะจิตวิทยาของจุฬาฯ ก็มี Here 2 Heal แพลตฟอร์ม chat-base ที่คุยกับนักจิตฯ ได้ฟรี หรือถ้าเป็นเด็กและเยาวชน เราก็อาจจะแนะนําไปที่ Wall of Sharing ของ ooca มูลนิธิกำแพงพักใจที่ทำร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ฝ้าย : จริงๆ เพิ่งเห็นฟีดแบ็กงาน See, the Unseen มันมีคำถามที่ถามผู้เข้าร่วมว่ามางานนี้แล้วคุณเกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดความรู้สึกบ้างไหม มีคนหนึ่งเขียนว่า ‘อยากตายน้อยลง’ เรารู้สึกแบบ โอเคแล้วเว้ย โอเคแล้ว

“ไม่ใช่ว่าเราอยากให้อะไร
แต่สำคัญคือเขากำลังอยากได้อะไร”
MasterPeace ทำทั้งหมดนี้กันเองเหรอ
น้ำผึ้ง : จริงๆ เราทำงานกันเป็นภาคีร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ นะ เพราะ MasterPeace มองว่าสุขภาพจิตมันไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว มันเป็นเรื่องทุกคน แล้วการที่จะ combat เรื่องนี้ในสังคมให้มันดีขึ้น ให้ stigma ลดลง มันต้องทำงานด้วยหลักคิดเชิงระบบ stakeholder ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกจริงๆ
การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกหมายความว่าอะไร
น้ำผึ้ง : คือจะทำยังไงให้เรายกระดับเรื่องสุขภาพจิตได้ครบทุกมิติ ทั้งเรื่องส่งเสริมป้องกัน บำบัดฟื้นฟู โดยที่ยังอยู่บนความปลอดภัยและความยั่งยืน ซึ่งถ้าเราจะทำให้มันยั่งยืน เราต้องไม่คิดแค่เวิร์กช็อปหรือนิทรรศการแล้วจบ แต่คือทุกฝ่าย ทั้งนักจิตวิทยา ทั้งดีไซเนอร์ เอเจนซี นักการตลาด ช่วยกันคิดเพื่อให้โปรเจกต์หรือสิ่งที่เราต้องการสื่อมันกลมกล่อม แล้วมันยังถูกต้องตามหลักการจิตวิทยา แล้วมันไปได้ไกล ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวจริงๆ
ฝ้าย : จริงๆ พวกเราก็มีความเป็นเอเจนซีที่รับบรีฟลูกค้าประมาณหนึ่ง แต่เราว่ามันเป็นสมการที่ดีตรงที่ พอมันมีความเอเจนซีหรือความต้องคิดถึงคนรับสาร เราต้องคิดจากอินไซต์ก่อน สมมติจะทำโฆษณา เราก็ต้องดูกลุ่มลูกค้า คัดกรองว่าอะไรน่าจะเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ไม่ได้คิดแค่ว่า อ๋อ อยากรู้เรื่องความสุขใช่ไหมคะ เรามี 7 หลักการนะคะ 1 2 3 4
น้ำผึ้ง : ไม่ใช่ว่าเราอยากให้อะไร แต่สำคัญคือเขากำลังอยากได้อะไรในเรื่องของสุขภาพจิต

แต่การจะรู้ความต้องการทางจิตใจของคนไม่ใช่เรี่องง่าย
น้ำผึ้ง : ใช่ มันเลยเป็นจุดตั้งต้นของงาน MasterPeace ทุกชิ้นว่าเราจะเริ่มต้นด้วย data insight เพราะเรามองว่าภายใต้ตัวเลขเหล่านี้ เราอาจจะได้ยินความรู้สึกเขา เห็นสิ่งที่เขาอยากจะบอกหรือเขาต้องการ
อย่างงานเว็บแอพฯ งานหนึ่งที่ร่วมทำกับเอเจนซี Glow Story และภาคเอกชน เราก็เก็บข้อมูลได้ราวแสนคน จากนั้นเราก็มาวิเคราะห์และสรุปกัน ตรงนั้นแหละเราจะรู้เลยว่ามันไปถึงใจเขาไหม สิ่งที่เขาต้องการส่งเสียงเพื่อให้เราได้ยินคืออะไร และเราควรพัฒนางานต่อไปในทิศทางไหน
จากการทำงานที่ผ่านมา คุณคิดว่าความท้าทายของการทำ MasterPeace คืออะไร
น้ำผึ้ง : ทุกอย่างมันละเอียดอ่อนอะ เพราะมันเป็นการทำงานกับมนุษย์ เราเลยต้องดูทุกจุดให้มันเป็นมิตร ปลอดภัย และยังอยู่ในจรรยาบรรณ
ฝ้าย : เราว่าความยากอีกอย่างหนึ่งคือจะหาจุดที่มันพอดีในการสื่อสารเจอได้ยังไง สมมติถ้ามันเป็นแบบกาแฟแก้วหนึ่งอะ ความขมที่เท่าไหร่ที่คนยังรับได้ ขมมากกว่านี้เขาอาจจะปาแก้วทิ้ง แต่ถ้ามันไม่ขมเลยมันไม่เป็นกาแฟว่ะ
คือก่อนหน้านี้คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับเรื่องสุขภาพจิต ช่วงแรกๆ เราอาจจะสื่อสารในทางที่มันละมุนละม่อมได้ แต่ตอนนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นละ และเขามีความอยากจะรู้ อยากจะเข้าใจมากขึ้น เราก็ต้องเข้มข้นขึ้น ไม่อย่างนั้นคนอาจจะรู้สึกว่าพูดเรื่องนี้อีกแล้ว โลกสวยหรือเปล่า
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแบบไหนมันพอดี
น้ำผึ้ง : เราว่ามันกลับมาเรื่องการให้ค่ากับการทำงานข้ามศาสตร์แหละ มันทำให้งานออกมากลมกล่อมมากขึ้นได้ อย่างดีไซเนอร์ก็จะบอกเราได้ว่า ไอ้ตรงนี้มันเข้มไป เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่า คำว่าเข้มไปของเขามันเพราะอะไร เพราะว่าเราอยากจะ deliver ความเป็นจิตวิทยาแบบวิชาการเข้าไปมากหรือเปล่า

Mastering the Hope of Peace
“เราไม่ได้คิดแค่ว่าเราอยากจะส่งมอบคุณค่าอะไรให้ผู้รับบริการ ขณะเดียวกันเรายังส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้วิชาชีพนี้ด้วย”
ยากไหม กับการที่นักจิตวิทยาต้องมาสวมหมวกผู้ประกอบการ
น้ำผึ้ง : มันก็หนักอยู่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าเรามีความเหมือนเป็นเอเจนซี ทีมรีเสิร์ชต้องคิดภาพใหญ่ว่าโปรเจกต์นี้ลูกค้าบรีฟมาอย่างนี้ แต่ถ้าเราอยากให้มันสื่อสารไปถึงผู้คนได้จริงๆ แล้วแบรนด์ก็ยังได้ภาพลักษณ์ที่ดี ช่วยขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจิตไปด้วย พวกเรานักจิตก็ต้องสวมหมวกด้าน strategic & business development นิดหนึ่งว่าเราเห็นปัญหาอะไร เพื่ออธิบายให้แบรนด์เห็นภาพใหญ่ แล้วดูว่าเขาพร้อมจะเห็นแบบเราไหม พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงหรือสนับสนุนเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็คุยเพื่อปรับบรีฟ
โดยรวมเราเลยคิดว่า ทั้งการเป็นนักจิตวิทยา การเป็นผู้ประกอบการ หรือในฐานะมนุษยย์คนหนึ่ง ในโลก ณ ตอนนี้ที่มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ เราต้องมีความล้มแล้วลุกได้ หรือความยืดหยุ่นที่ปรับเปลี่ยนตัวเองไปกับ pace ของโลกได้ มันจะทำให้เราอยู่ได้นิ่งขึ้น ยืนระยะได้มั่นคงขึ้น
ฝ้าย : สำหรับเรา ที่ข้ามจากการเป็นพนักงานเงินเดือนและนักจิตวิทยามาทำธุรกิจ เราว่ามันต้อง develop mindset ใหม่ คือเราต้องหัดเลี้ยงดูนิติบุคคลคนนี้ให้เขาโตได้ หมายความว่าเราต้องยืนหยัดในคุณค่าของสิ่งที่เราทำ แล้วก็ปกป้องคุณค่าบางอย่างในงานไว้ให้ได้ เพื่อที่มันจะได้ยั่งยืนในทางการเลี้ยงชีพของตัวเราเองด้วย ไม่งั้นเราก็จะตายลงไป แล้วสุดท้าย MasterPeace ก็ไปต่อไม่ได้
อะไรคือคุณค่าที่ MasterPeace ยึดถือ
น้ำผึ้ง : พวกเรามีหลักในใจอยู่ 6 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ compassion และ sustainability คือเราไม่ได้คิดแค่ว่าเราอยากจะส่งมอบคุณค่าอะไรให้ผู้รับบริการ ขณะเดียวกันเรายังส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้วิชาชีพนี้ด้วย เราอยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตของนักจิตฯ ที่มาทำงานกับเรา เวลาเราจะมีสักโปรเจกต์ เราต้องบาลานซ์ว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าเองก็ยังได้งานที่มีคุณค่า ที่สำคัญคือนักจิตฯ ที่เราชวนมาทำงานด้วยก็ต้องได้รับค่าตอบแทนที่มันคุ้มค่า เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวด้วย
ในฐานะผู้ประกอบการ เราต้องคิดภาพใหญ่มาก คิดแทนทั้งนักจิตวิทยา คิดแทนกลุ่มเป้าหมาย คิดแทนลูกค้าและสังคมด้วย มันคือคำว่า ‘beyond self’ คือมองให้ไกลกว่าแค่ตัวเรา

“เราอยากให้เรื่อง self-love หรือเรื่องทางใจเข้าไปอยู่ใน being ของเขา
ให้มันอยู่ในเนื้อในตัวเขาผ่านชีวิตประจำวันจริงๆ”
แล้วในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง พวกคุณหวังอยากเห็นภาพแบบไหนในเรื่องสุขภาพจิตของไทย
น้ำผึ้ง : เราหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันมากกว่านี้ เพราะถ้าจะทำให้เรื่องนี้มัน effective จริงๆ เราต้องอาศัยอีกหลายแรงในการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบบริการสุขภาพจิต มันจะยั่งยืนได้อีกมาก ถ้าเรามองว่าเราเป็นเพื่อนร่วมทางที่กำลังช่วยกันแก้ปัญหาอยู่นะ
ฝ้าย : เราคงอยากให้เรื่องใจมันเป็นเรื่องที่ neutral กับทุกๆ คน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม หรือคุณจะอยู่ในบทบาทไหน อยากให้เรื่องของใจมันคุยกันได้ เซ็กซี่ สนุก ดูเป็นเรื่องของคนฉลาดทางอารมณ์ ไม่ใช่เรื่องน่ากระดากอาย
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราอยากคุยกันเรื่องการ ‘รักตัวเอง’ แล้วคนไม่งง ตอนนี้ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่เข้าใจคือเขาไม่อยากเข้าใจ แต่เราว่ามันโดน shape จากหลายอย่างหรือเจอข้อจำกัดจนทำให้คนรู้สึกว่าใจเป็นเรื่องยาก ใจเป็นเรื่องของคนอ่อนแอ เพราะสำหรับเรา การพูดถึงเรื่องใจอย่างเผชิญหน้าและตรงไปตรงมามันคือความแข็งแรงและแข็งแกร่ง
ไม่ใช่ว่าเรื่องใจเป็นเรื่องของคนโลกสวยอย่างเดียว
ฝ้าย : เราคือคนหนึ่งนะที่ลงไปจนถึงจุดที่มันมืดแล้วกลับขึ้นมาได้ จากที่รู้สึกว่า เออ กูไม่อยากอยู่ไปจนแก่ตายว่ะ ณ วันที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ โห สีของโลกมันเปลี่ยนไปเลยจริงๆ เราจะรู้สึกว่าชีวิตน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ แล้วเราจะเห็นว่ามันยังมีตัวช่วยอีกเยอะมาก หรือแม้กระทั่งเราก็คือตัวช่วยของเราเองเหมือนกัน
น้ำผึ้ง : เราชอบคำเมื่อกี้ เรารู้สึกว่าเราอยากทำให้ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีของตัวเองได้ แล้วเราก็อยากให้เรื่อง self-love หรือเรื่องทางใจเข้าไปอยู่ใน being ของเขา ให้มันอยู่ในเนื้อในตัวเขาผ่านชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ต้องรอเวิร์กช็อป เทศกาล หรือไม่ต้องมี buzz word ออกมาใหม่เขาถึงจะอยากเข้าใจ
จริงอยู่ที่บางคนไปเวิร์กช็อปก่อนแล้วค่อยกลับมาตกตะกอน แต่เราว่าถ้าจะให้ยั่งยืนจริงๆ มันต้องค่อยๆ บ่มเพาะให้อยู่ในเนื้อในตัวเขา เช่น เขาตื่นมาแล้วความคิดแรกที่เข้ามา มันเป็นความคิดที่โอบรับตัวเองมากกว่าการตําหนิตัวเองตั้งแต่ลืมตาตื่น ความรักความใจดีกับตัวเองมันเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในชีวิตแบบนี้เลยนะ
ฟังดูไม่ใช่งานที่ง่ายขนาดน้ัน
น้ำผึ้ง : มันใช้เวลาแหละ มันเหมือนดอกไม้ ถ้าอยากให้ดอกไม้มันงอกงามในใจ มันก็ต้องอาศัยเมล็ดพันธุ์ดี ดินดี ฝน แดดดี แต่ก็กลับมาในประเด็นว่า ถ้ามันมีนวัตกรรมและสื่อจิตวิทยาเชิงรุกแบบสร้างสรรค์ เราเชื่อว่าสุดท้ายปลายทางมันพาให้คนไปในเลเวลนี้ได้
ฝ้าย : อาจจะดูนามธรรม ดูเป็นเรื่องของแค่บางเพศที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ แต่จริงๆ มันคือเรื่องของมวลมนุษยชาติ มันคือเรื่องของทุกคน มันอยู่ในชีวิตประจำวันหมดเลยอะ แค่เรากินข้าวแล้วมีความสุขจังเลย วันนี้ข้าวอร่อย ก็ถือเป็น mindful eating หรือเรื่องเชิงสุขภาพจิตแล้ว แต่บางคนอาจจะไม่ได้ตระหนัก เพราะเขาทรีตคำว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องไกลตัวเขา โจทย์เดียวของเราเลยคือทำยังไงให้มันใกล้ล่ะ ทำยังไงให้มันใกล้
น้ำผึ้ง : นี่คือหน้าที่ของเราไง นี่คืองานของเรา