Imperfect Activist
ili บริษัทออกแบบคอนเทนต์ที่หวังสร้างสัมพันธ์ผ่านทัวร์ย่านและร้านค้าด้วยการคิดเล็กคิดน้อย
เราคือสตูดิโอออกแบบคอนเทนต์ขนาดเล็กที่ถนัดและตั้งอกตั้งใจในการออกแบบเรื่องเล่า เราอยากสร้างความรู้สึก ‘พึงพอใจ’ ผ่านตัวหนังสือ กราฟิก ภาพถ่าย ภาพประกอบ ภาพเคลื่อนไหว ประสบการณ์
นี่คือคำแนะนำตัวอย่างเป็นมิตรในเว็บไซต์ ili (ไอ-แอล-ไอ) บริษัทออกแบบคอนเทนต์ซึ่งมีที่มาของชื่อบริษัทคืออยากให้มีทั้งเส้นและจุดในตัวอักษร เพื่อสื่อถึงการเล่าเรื่องด้วยเนื้อหาและดีไซน์
ความเข้าอกเข้าใจและสร้างความรู้สึกพึงพอใจเป็นจุดเด่นของ ili ที่สื่อสารจักรวาลเรื่องน่าใส่ใจในชีวิตประจำวันทั้งอาหาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ย่าน ฯลฯ ผ่านมุมมองที่หวังให้ผู้คนอยากใช้ชีวิตที่ดีกับตัวเองขึ้นอีกนิด ใจดีกับโลกมากขึ้น ใส่ใจกันและกันมากอีกหน่อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงนิสัยที่พิถีพิถันของสามผู้ก่อตั้งหญิง
เต้–จิราภรณ์ วิหวา, บี–สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์ และซาร่า–รุ่งนภา คาน ต่างเคยทำงานในแวดวงนิตยสาร ก่อนจะพลิกบทบาทสลับมาทำบริษัทออกแบบคอนเทนต์ให้ลูกค้า ด้วยความรักในการเป็นนักเล่าเรื่องที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบ จักรวาลแห่งเรื่องราวของ ili จึงไม่ได้ถูกเล่าผ่านคอนเทนต์ออนไลน์เท่านั้น แต่ยังผ่านแพลตฟอร์มเล่าเรื่องอย่างเพจ ‘ILI.U ไอแอลไอยู’ ที่เล่าเรื่องสารพัดตามใจรัก จัดทัวร์ที่ปลอมตัวเป็นสายลับและกิจกรรมปูเสื่อแลกสมบัติ ไปจนถึงการเปิดห้างซัพสินค้าขายสินค้าท้องถิ่นเพราะอยากสนับสนุนเมือง

“ถ้าเราเป็นนักเล่าเรื่อง เวลาเจอเรื่องอะไรก็อยากจะเล่า ไม่มีแพลตฟอร์มให้เล่าก็เล่ากับเพื่อน พอมีแพลตฟอร์มให้เล่าก็ไปเล่าในแพลตฟอร์มนั้น พอมีกำลังก็คิดว่างั้นเราสร้างแพลตฟอร์มเล่าเรื่องเองได้ไหม มันก็เลยค่อยๆ ขยับขยายมา”
นี่คือเหตุผลที่เต้บอกว่า ili ไม่เคยเหนื่อยกับการริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ที่สนุกและแปลกใหม่ บทสัมภาษณ์ในซีรีส์ ‘สตรีwish’ ตอนนี้เลยอยากชวนเต้และบีคุยถึงเบื้องหลังการทำบริษัทที่ทำให้เห็นว่าแค่เริ่มจากความชอบเล็กๆ จากจักรวาลความสนใจก็สามารถสร้างความหวังและเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อยในจักรวาลได้เหมือนกัน

คอนเทนต์ที่มีคุณค่าผ่านสารพัดท่า
ในบทบาทที่สวมหมวกการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เต้เล่าว่าจุดแข็งของ ili ที่ทำให้ลูกค้าวางใจและอยากฝากให้ช่วยเล่าเรื่องให้คือการออกแบบคอนเทนต์ที่สื่อสารคุณค่าของแบรนด์ถึงผู้รับสารได้จริง
“เราช่วยทำให้เรื่องเล่ามีน้ำหนักและมีคุณค่ากับคนรับสาร มันอาจจะเป็นจุดแข็งของเรามั้งที่แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เพิ่มยอดขายให้เขา แต่ลูกค้าก็ยังคงอยู่กับเราเพราะสิ่งนี้มันยังตอบโจทย์เขาอยู่ ทุกปลายปีเราจะชวนคุยกับลูกค้ากันตลอดว่า หรือคุณอยากลองไปทำมาร์เก็ตติ้งที่ดูจริงจังกว่านี้ไหม แต่ทุกครั้งคำตอบที่ได้กลับมาคือ เรื่องนั้นเดี๋ยวเขาไปทำเองได้ แต่เขายังขอฝาก ‘คอนเทนต์ที่สร้างคุณค่า’ ไว้กับเราเพราะเชื่อว่าเราทำสิ่งนี้ได้ดี”
บีเสริมว่าความใส่ใจในกระบวนการก่อนถึงงานเขียนคือสิ่งที่ทำให้ ili แตกต่างจากที่อื่น “หากจะให้เห็นภาพอีกนิดก็อย่างเช่นว่า ถ้าเอเจนซีทั่วไปรับโจทย์จากลูกค้าไปว่าจะทำคอนเทนต์จำนวนเท่านี้ต่อเดือน เราจะไม่ใช่คนที่แค่รับโจทย์มา ทำให้ได้ตามจำนวนแล้วขายของอย่างเดียว แต่เราจะเป็นพวกที่มีกระบวนการคิดก่อนจะถึงการเขียนสุดท้ายเยอะมาก เราทำจำนวนชิ้นน้อยแต่เราตั้งใจคราฟต์มัน”
แต่ไม่ว่าจะเป็นโจทย์เล่าเรื่องสมัยทำงานนิตยสารหรือทำคอนเทนต์ให้ลูกค้า เต้บอกว่าทุกบทบาทไม่ต่างกันและสนุกเหมือนกันหมด

“เราไม่รู้สึกว่าพอเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องแบบหนึ่งมาสู่การเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่งแล้วมันจะต่างกันยังไง เพราะเรายังใช้วิธีการเดิมในการทำงาน แต่พอมีลูกค้ามันก็สนุกขึ้นในแง่ที่ว่าจะต้องมีปลายทางที่ช่วยให้แบรนด์ถึงเป้าหมายด้วย”
หนึ่งในตัวอย่างผลงานที่ทีมภาคภูมิใจคือการออกแบบคอนเทนต์ให้กับศาลานา (SALANA) แบรนด์ข้าวออร์แกนิกที่มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรอินทรีย์ของไทย โดยทีมได้ทำงานร่วมกับแบรนด์นี้มาเป็นเวลาหลายปี ผ่านการเล่าเรื่องในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การลงพื้นที่กับชาวนา ไปจนถึงพัฒนาเนื้อหาที่เน้นขายสินค้าโดยตรง
แม้จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับทิศทางแบรนด์แต่ละปี แต่เต้บอกว่าทีมยังคงให้ความสำคัญกับการส่งต่อข้อมูลที่มีคุณค่าเสมอ
“เราเล่าเรื่องมาทุกท่าแล้ว แต่ไม่ว่าจะลองแบบไหน ความพยายามที่อยากสื่อสารสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับคนมันยังอยู่นะ ไม่ว่าจะเป็นท่าที่ขายของจัดๆ เลย หรือท่าที่อยากสื่อถึงแนวคิดเรื่องออร์แกนิก ทุกอย่างต้องโฟกัสว่าคนอ่านจะได้อะไรจากสิ่งนี้กลับไป ต่อให้เป็นโฆษณาสุดๆ มันก็จะเล่าเรื่องเยอะจนคนทำโฆษณาทั่วไปอาจรู้สึกว่าเล่าเรื่องเยอะจัง ขายของเลยก็ได้ แต่เราก็พยายามที่จะไม่ทำแบบนั้น”

สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในจักรวาล
ท่ามกลางจักรวาลเนื้อหาที่ ili สนใจซึ่งมีทั้งมิติความสัมพันธ์ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่บีกลับบอกว่าทีมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักรณรงค์สุดโต่ง แต่นิยามตัวเองว่าเป็น imperfect activist ผู้ที่ตระหนักถึงปัญหา เริ่มลงมือทำด้วยไอเดียเล็กๆ จากพลังของคนธรรมดาที่ไม่ได้มองหาความสมบูรณ์แบบในทุกย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลง
“ตัวตนของเราจริงๆ เป็นพวกชอบกิน ชอบช้อปปิ้ง ชอบซื้อของจุกจิก หมายถึงเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นแม่บ้านอยู่ในตัว แต่พอเราเล่าเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืน เราก็เจอว่าสิ่งที่เราเป็นมันส่งผลกับสิ่งแวดล้อม โลก และสังคม ยิ่งถ้าเรารู้จักความยั่งยืนมากขึ้น มันไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม มันมีเรื่องผู้คนด้วย
“เราไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นคนที่ conscious จ๋าที่สุด เราเป็นคนที่อยากใส่ใจโลกแต่ไม่ใช่ perfectionist คือไม่ใช่คนที่ทำแล้วดีที่สุด เราเป็น imperfect activist คนหนึ่งที่พยายามจะแอ็กทีฟถึงแม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนัก เชื่อว่าถ้าคนเป็นแบบเราเยอะๆ รู้เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงโลก ก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้”
ความโชคดีของนักเล่าเรื่องคือการได้สัมผัสจักรวาลหลากมิติผ่านเรื่องที่เล่า เช่นเดียวกับ ili ที่หลังจากได้มีโอกาสทำงานให้ Greenery แพลตฟอร์มด้านสิ่งแวดล้อม เล่าเรื่องผ่านสายตาของมือใหม่และสื่อสารกับคนทั่วไปที่ยังใหม่ในการทำความเข้าใจเรื่องรักษ์โลกเหมือนกัน โลกสายกรีนก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในจักรวาลความสนใจของทีมไปโดยอัตโนมัติ


“เราเล่าต่อไม่ได้หรอกถ้าเราไม่เปลี่ยนเองด้วย พอทำ Greenery งานประเภทนี้ก็เข้ามาเยอะขึ้น พอเรารู้เยอะขึ้น มันก็เริ่มยากที่จะหันหลังให้มัน ต่อต้านไม่ได้เราก็เข้าร่วม (หัวเราะ) มันก็ค่อยๆ ซึมๆ กันมา” เต้เล่าถึงประสบการณ์ที่ทำให้ทีมงานซึมซับแนวคิดความยั่งยืนมากขึ้นจากการทำงาน
นอกจากเรื่องความยั่งยืน ความสนใจและงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ อย่างการชอบเดินเล่นตามย่านต่างๆ และแวะช้อปปิ้งตามร้านค้าเก่าก็ค่อยๆ ขยายสู่ความสนใจในการเล่าเรื่องด้านสังคม เมือง ชุมชน และเรื่องราวของผู้คนที่อยู่เบื้องหลังสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น
“เราเป็นมนุษย์ที่สามารถออกไปเดินย่านแล้วก็ อุ๊ย อันนั้นน่ารัก อันนี้ก็น่ารัก แล้วก็เป็นกันทั้งออฟฟิศ พอคนชอบแบบเดียวกันมาอยู่ด้วยกันความสนใจก็เลยโตขึ้น”
รายละเอียดความชอบเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆ ที่เต้บอกว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยขยายผลให้อยากถ่ายทอดเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายและเป็นมิตรกับคนอ่าน จนทำให้เกิดความถนัดในการช่วยลูกค้าเล่าเรื่องยากๆ ให้ย่อยง่ายขึ้นตามไปด้วย
“งานท้าทายที่สุดคืองานที่พยายามเล่าเรื่องยากให้เฟรนด์ลี่ที่สุด เช่น เคยได้โจทย์พูดเรื่องระบบอาหารกับสิ่งแวดล้อมมา แค่คำว่า ‘ระบบอาหาร’ ก็น่ากลัวแล้ว เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้คนเข้าใจง่ายว่ามันส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมยังไง ซึ่งมันก็ออกมาในแง่ของการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านอาหารที่เขาคุ้นตา จัดเซตติ้งถ่ายรูป ออกแบบวิธีเล่าเรื่องเพื่อให้ Flow และคนอ่านจะอ่านตามได้ โดยมีภาพเป็นตัวช่วยให้เขาไม่อ่อนล้าไปเสียก่อนกับการรับรู้เรื่องนี้”

ทัวร์ที่คิดเล็กคิดน้อย
จุดเริ่มต้นในการทำอีเวนต์ของ ili มาจากโอกาสที่เข้ามาโดยไม่คาดคิด ทีมได้รับการชักชวนให้จัดทัวร์ครั้งแรกสำหรับงาน Bangkok Design Week ปีแรกที่เจริญกรุงจากผลงานที่เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับย่านผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์จัดทัวร์มาก่อน แต่เต้ก็มั่นใจว่าสามารถทำได้และคิดกิมมิกอย่างละเอียด
“ทาง TCDC น่าจะเห็นว่าพวกเราเข้าใจเรื่องย่าน ซึ่งก็จริงเพราะบ้านบีอยู่สี่พระยา เราก็มาแถวนี้บ่อยมาก ถ้าไม่ใช่เราทำแล้วจะใครล่ะ (หัวเราะ) ก็เลยออกแบบทัวร์กันขึ้น ตอนนั้นมีความคิดพิลึกอะไรไม่รู้ว่า ถ้าทำแค่ทัวร์ทั่วไป ใครก็จองทัวร์ไปกับคนอื่นก็ได้ งั้นทำอะไรดีที่ทำให้คนอยากสมัครมาทัวร์กับเรา”

สิ่งที่ทำให้ทัวร์ของ ili ไม่เหมือนใครคือแนวคิดสร้างประสบการณ์ใหม่ในกิจกรรม เช่น การให้ทุกคนปลอมตัวเป็นสายลับและเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวลับ พร้อมทั้งออกแบบเส้นทาง คำใบ้ และแฟ้มข้อมูลที่สร้างบรรยากาศคล้ายกับภารกิจพิเศษในรูปแบบเกมแรลลี่ โดยให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมแบบแอ็กทีฟ
เบื้องหลังการคิดกิมมิกเหล่านี้คือเหตุผลที่บีบอกว่ามาจากความถนัดของนักเล่าเรื่อง “ปกติเวลาเดินทัวร์ก็จะมีแค่คนนำทัวร์ถือโทรโข่งใช่ไหม แต่เราเป็นผู้ออกแบบคอนเทนต์ เราก็เลยอยากออกแบบชุดสิ่งพิมพ์ให้เป็นคู่มือในการเดินเที่ยว มีแฟ้ม agent เป็นเอกสารลับ แล้วหลังจากทัวร์นั้นเราก็เหิมเกริมทำทัวร์กันมาเรื่อยๆ ทำกับ Bangkok Design Week บ้าง ทำเองบ้าง”
วิธีคิดของ ili ทำให้แต่ละกิจกรรมเป็นมากกว่าการเดินทัวร์ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงชุมชนกับผู้คน ตั้งแต่เยี่ยมบ้านเพื่อนในย่านไปจนถึงเดินเที่ยวกับคนแปลกหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เต้บอกว่าอยากทำเพราะตัวเองก็อยากไปด้วย


“เราชวนคนไปเข้าบ้านคนนั้นคนนี้ ไปที่ที่เราเองก็อยากไป แต่ปกติไม่มีโอกาสได้ไป คือเวลาไปเที่ยวที่ไหน หรือจะไปกินอะไร ปกติมันก็เข้าได้อยู่แล้วใช่ไหม แต่บ้านคนเป็นสิ่งที่เข้าไม่ได้นี่นา เราก็เลยไปเคาะประตูแต่ละบ้านของคนที่อยู่ย่านนั้นว่าขอเข้าไปนะ ใช้ทัวร์เป็นเครื่องมือในการสานสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ถนัดชวนคุยแต่ถนัดเข้ามาหาด้วยงาน”
บางไอเดียก็มีที่มาจากปัญหาใกล้ตัวที่บีพบเจอในชีวิตประจำวัน “ตอนที่ออฟฟิศเรามาอยู่ที่ประดิพัทธ์-อารีย์กันแล้ว และอยากสร้างความสนิทกับย่านบ้าง เราก็ไปเจอ pain point ของคนยุคนี้ที่หาเพื่อนใหม่ได้ยากยิ่ง เนื่องจากเราใช้ชีวิตอยู่ในโซเชียลอย่างเดียวและคุยแต่กับเพื่อนที่เรารู้จัก ‘ทัวร์สุ่มสี่สุ่มให้’ เลยเป็นการพาคนออกมาเจอกัน สุ่มเพื่อนให้ไปเดินเล่นด้วยกัน”

ฟีดแบ็กที่น่าชื่นใจคือหลังจบกิจกรรมคือหลายคนกลายเป็นเพื่อนเดินเล่นย่านด้วยกันจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเปลี่ยนการเดินสำรวจเมืองให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์และสร้างคอมมิวนิตี้ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
“ทุกคนบอกว่ามันบ้าดี ทำอะไรกัน รู้สึกว่าเป็นฟีดแบ็กในแง่ที่ดีว่า การเจอกันกับมนุษย์มันจำเป็นนะ เพราะที่ผ่านมาด้วยการทำงานของเราที่ทำคอนเทนต์หรือทำแพลตฟอร์มออนไลน์เอง มันไม่ค่อยเจอมนุษย์และคุยกันผ่านการกดไลก์กดแชร์”
เต้ยังบอกว่าทุกอีเวนต์ล้วนผ่านการคิดเล็กคิดน้อยมาแล้ว แม้แต่รายละเอียดบางอย่างที่ดูเหมือน ‘ปล่อยเซอร์’ แต่ความจริงคิดรายละเอียดไว้หมดแล้ว อย่าง ‘BARTER SYSTEM FAIR ตลาดนัด-แลก-พบ’ ที่ชวนนำสมบัติสภาพดีประจำบ้านที่ไม่ได้ใช้มาแลกเป็นสมบัติชิ้นใหม่
เบื้องหลังการจัดงานที่ดูเรียบง่ายคือการออกแบบประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดกระจุกกระจิก ตั้งแต่จะแลกของที่มูลค่าต่างกันยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน ไปจนถึงจะแลกเปลี่ยนบทสนทนาเรื่องเล่าของสิ่งของยังไงให้สนุกและทำให้ผู้ที่มาแลกของต่างซาบซึ้งถึงคุณค่าของสมบัติเก่าแต่ละชิ้น


ซัพพอร์ตย่านเก่าผ่านห้างซัพสินค้า
การเล่าเรื่องของ ili ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในรูปแบบคอนเทนต์และอีเวนต์ อย่างล่าสุดที่เป็นรูปแบบร้านค้าอย่าง ‘Neighbourmart ห้างซัพสินค้าของคนรักกรุงเทพฯ’ ที่เกิดจากการหยอดไอเดียกันไปมาระหว่างนักเล่าเรื่องที่ชอบเดินเล่นในย่านแล้วฝันอยากเป็นแม่ค้ากับ CEA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): Creative Economy Agency) ที่อยากต่อยอดกิจการรุ่นเก๋าอยู่แล้ว
ไอเดียนี้เริ่มจากการสังเกตพฤติกรรมของคนเมืองที่ชอบเดินเล่นและสนใจสินค้าท้องถิ่น แต่ยังขาดพื้นที่ที่รวมสินค้าเหล่านั้นไว้ในที่เดียว จึงเกิดเป็นร้านค้าที่ไม่ได้เป็นเพียงร้านขายของ แต่เป็นแพลตฟอร์มที่เล่าเรื่องราวของเมืองผ่านสินค้า และเปิดตัวครั้งแรกในช่วงงาน Bangkok Design Week ที่ผ่านมา

เต้และบีบอกว่ากว่าจะคัดเลือกแบรนด์มาวางขายใน Neighbourmart ทั้งหมดราว 50-60 แบรนด์ และมีสินค้ามากมายถึงเกือบ 300 รุ่น ต้องผ่านการคิดเล็กคิดน้อยมาเยอะ เพราะต้องคิดถึงภาพสุดท้ายว่าเมื่อชวนแบรนด์ต่างๆ มาวางขายแล้วจะสร้างประโยชน์ให้แบรนด์ได้จริงไหม
วิธีการคัดสรรของดีของย่านหลังร้าน Neighbourmart คือเลือกสินค้าหลากหลายในกรุงเทพฯ มากองรวมกัน กางดูว่าแบรนด์ไหนที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และไม่ได้เป็นเพียงของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เป็นสินค้าที่คนท้องถิ่นก็อยากใช้ ซึ่งเมื่อคัดเลือกมาแล้วก็มีทั้งกลุ่มแบรนด์ Legacy เก่าแก่กว่า 30 ปีขึ้นไปที่มีประวัติศาสตร์และความเป็นออริจินัล และกลุ่ม New Kids ซึ่งเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่นำเสนอสินค้าโดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับเมือง
ใครที่แวะมาช้อปปิ้งก็จะพบตั้งแต่ซีอิ๊ว ชา น้ำหวาน เสื่อ ยา เก้าอี้ โปสต์การ์ด ฯลฯ และของดีจากทุกพื้นที่ตั้งแต่ตลาดน้อย บางโพ อ่อนนุช รามอินทรา จอมทอง บางรัก เสาชิงช้า เยาวราช โบ๊เบ๊ ฯลฯ






แม่ค้ามือใหม่อย่างเต้บอกว่า “บางแบรนด์ก็มาเข้าร่วมเพราะเอ็นดูเราแหละ เห็นเราดูตั้งใจ ก็อยากช่วย กับบางแบรนด์ก็อยากได้โอกาสใหม่จริงๆ ว่าถ้าลองมาขายที่ร้านเราแล้วจะได้ลูกค้าแบบไหน ก็รู้สึกว่าต้องแบกรับความคาดหวังของแต่ละแบรนด์มาด้วย แต่เป็นความคาดหวังที่เราก็อยากทำให้สำเร็จนะ เพราะเราอยากบอกรักเมือง เราอยากซัพพอร์ตเมือง และเราก็เชื่ออย่างนั้นกันจริงๆ มันก็เลยเป็นความคาดหวังทื่ทำให้ตั้งอกตั้งใจในทุกรายละเอียดของร้าน
ความสำเร็จแรกในบทบาทแม่ค้าครั้งแรกของชาว ili คือการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายถูก ทั้งคนรุ่นใหม่ที่ตอนแรกไม่คิดว่าจะสนใจช้อปปิ้งกลับกลายเป็นกลุ่มที่สนใจแบรนด์เก่าแก่เยอะกว่าที่คาดโดยเฉพาะยาดมและลูกอมที่มีแพ็กเกจโบราณ กลุ่มคนที่ตาเป็นประกายเมื่อเห็นแบรนด์ท้องถิ่นวางขายและออกเดินทางมาตามหาซื้อสินค้ารุ่นเก๋าในความทรงจำ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มองหาสินค้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ
ความน่าสนุกคือแม้ Neighbourmart จะยังอยู่ในช่วงแผนเริ่มต้นระหว่างเปิดร้านป๊อปอัพที่ TCDC แต่ทีมก็พร้อมวางแผนต่อยอดการเปิดร้านอย่างจริงจังต่อไปในอนาคตแล้ว

อยากอยู่ในเมืองที่เห็นหัวใจกัน
ในเส้นทางการเป็นนักออกแบบคอนเทนต์ในหลากหลายบทบาทตั้งแต่คนทำนิตยสาร คนเขียนหนังสือ นักเขียนฟรีแลนซ์ คนจัดอีเวนต์ จนถึงทำบริษัทของตัวเอง เต้บอกว่าไม่เคยเกิดความรู้สึกเบื่อจนไม่อยากเล่าเรื่องแล้วแม้แต่ครั้งเดียว
ความรักในการเล่าเรื่องที่ซึมซับจนเป็นนิสัยและกลายเป็นงานอดิเรกทำให้เวลาใกล้เบื่อก็กระโดดไปทำสิ่งอื่นที่รู้สึกสนุกและไม่ได้รู้สึกว่ามีช่วงไหนในเส้นทางวิชาชีพที่ทำให้เครียดหรือเบิร์นเอาต์เป็นพิเศษเลย
“เราเป็นคนที่กระโดดออกมาจากความไม่แน่นอนก่อนมันจะเกิดขึ้นตลอดเลย ไม่ได้วางแผนป้องกันหรอก แค่อาจจะโชคดีเช่นว่า พอนิตยสารใกล้จะง่อนแง่น เราก็ดันกระโดดออกมาก่อนเฉยเลย หรือแม้แต่อย่างตอนนี้ ช่วงที่รู้สึกว่าทำคอนเทนต์ออนไลน์เหนื่อยจังเลยหรือเริ่มรู้สึกว่ามันไปยาก เราก็กระโดดออกมาทำอย่างอื่นโดยที่คอนเทนต์ออนไลน์มันก็ยังไปอยู่นะ ก็เลยไม่แน่ใจว่าเราเคยซัฟเฟอร์กับความเดือดร้อนของงานไหม”
บีเสริมว่าการเอาการเล่าเรื่องมาเป็นอาชีพคือสิ่งที่ทำให้หล่อเลี้ยงความมีชีวิตชีวาของตัวเองไว้ได้และทำให้ชีวิตมีสีสัน “เรารู้สึกว่างานคือสิ่งที่ช่วยชีวิตเรามากกว่า เราเลยรู้สึกสนุกกับงาน เวลาชีวิตเจอเรื่องที่เราสับสนหรือเครียด งานไม่ได้พึ่งเราด้วย แต่เรามาพึ่งงาน (หัวเราะ) มันเลยสนุกตลอด แต่ไปเบิร์นเอาต์กับสิ่งอื่นในชีวิตแทน สรุปคือถ้าไม่มีงานเราก็คงเบิร์นเอาต์”
“ก่อนหน้านี้บีลาคลอด ก็อยากให้เพื่อนได้ลาคลอดอย่างสมูท คือหยุดพักไปเลย แต่บีก็กระตือรือร้นอยากทำงาน เราบอกว่าแกลาไปเป็นแม่ก่อนก็ได้ แต่บีก็บอกว่าไม่ได้ เพราะว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจำเป็นต้องมี (หัวเราะ) ซึ่งก็เป็นมุมที่เราไม่เคยคิดไง เพราะชีวิตเรามีงานอย่างเดียว”

เต้เสริมและยังเล่าว่านอกจากงานจะหล่อเลี้ยงจิตใจแล้ว สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในบทบาทผู้ร่วมก่อตั้งหญิงของทั้งคู่ราบรื่นคือการคิดเล็กคิดน้อยเรื่องงาน แต่ไม่คิดเล็กคิดน้อยในความสัมพันธ์เพราะไม่มีเวลาคิด
“งานทุกชิ้นตีกันตลอดนะ (หัวเราะ) ความโชคดีคือเราโฟกัสงานกันมากๆ โชคดีมากที่เราเป็นเพื่อนผู้หญิงที่ไม่มีเรื่องคิดเล็กคิดน้อยกัน สามารถโฟกัสที่งาน ทะเลาะกันในงานเสร็จแล้วก็ไปคุยเรื่องอื่นกันได้ต่อ ทั้งๆ ที่เมื่อกี้เพิ่งทะเลาะกันมาเลยนะ”
เมื่ออยู่ในบริษัท เต้มีบทบาทเป็นผู้คุมทิศทางและผู้นำทางจิตวิญญาณที่อ่านขาดเรื่องคน ส่วนบีจะเป็นสายสร้างความสัมพันธ์ คุมระบบระเบียบและวิธีการเดินทางไปยังเป้าหมาย ทำให้ทำงานส่งเสริมกันแบบเข้าขาได้พอดี
เมื่อถามทั้งคู่ถึงอนาคตว่าหากสามารถขอพรต่อจักรวาลให้สังคมพัฒนามากขึ้น กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความหวังได้ อยากขอพรให้สังคมเป็นแบบไหน และเห็นตัวเองในบทบาทนักเล่าเรื่องที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาพในฝันนั้นเป็นจริงได้ยังไงในจักรวาลแห่งความเป็นจริง
คำตอบที่ได้จากเต้และบีก็สมกับเป็นชาว ili คือ ทำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว
ในมุมของเต้คือการเห็นหัวใจในกันและกัน “เรารู้สึกว่าอยากจะเติมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน หมายถึงว่าทุกวันนี้เต็มไปด้วยข้อมูล แต่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน Neighbourmart อาจจะเป็นตัวอย่างหนึ่งว่าเรากำลังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ สร้างความสัมพันธ์กันระหว่างคนกับเมือง ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตที่ทุกคนในสังคมจะต้องการหรือออกมาเรียกร้องสิ่งนี้
“แต่เราเชื่อว่าถ้ามันมีความกระชุ่มกระชวย ความมีชีวิตชีวาของความสัมพันธ์ เมืองจะน่าอยู่ขึ้น คนจะน่ารักต่อกันมากขึ้น ก็เป็นมุมกระจุกกระจิก แต่เราให้คุณค่ากับสิ่งนี้นะ คือเราอยากให้คนเห็นหัวกันมากขึ้น คือใช้คำนี้อาจจะไม่ค่อยน่ารัก แต่เห็นหัวในที่นี้คือ เห็นหัวใจ มันไม่ใช่เห็นอกเห็นใจ เราว่าสังคมเราเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจแล้ว แต่เราอยากได้ความเข้าอกเข้าใจในมุมของคนนั้นจริงๆ เพิ่ม”
ในมุมของบีก็คล้ายกันคือการสร้างความเท่าเทียมผ่านสายสัมพันธ์ “เมื่อกี้พี่เต้ตอบดีตรงที่ว่าทุกวันนี้มันอยู่เหนือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปแล้ว มันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของทุกคน เพราะเราไม่ได้อยู่ในองค์กรใหญ่ เราเลยไม่ได้รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศถึงขั้นนั้นในสังคมชีวิตเรา แต่เราจะเห็นความไม่เท่าเทียมอื่นๆ เต็มไปหมด ซึ่งคิดว่าการสร้างความสัมพันธ์อย่างที่พี่เต้บอกมันคือการเห็นซึ่งกันและกัน การถูกเล่า การถูกมองเห็นในมุมของแต่ละคน ซึ่งสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราพูด มันจะเชื่อมโยงระหว่างกันได้”

เต้ทิ้งท้ายว่าอนาคตของการทำบริษัท ili ที่ทีมแต่ละคนมีความเป็น imperfect activist ไม่ใช่การตั้งวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ถึงขั้นว่าจะต้องเติบโตไปแบบไหนหรือเปลี่ยนสังคมแบบไหน แต่เป็นการสนุกกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน
“เราพูดเรื่องนี้กันทุกปีเลยว่าเดี๋ยวเราต้องมีวิชชั่น เราต้องมาคุยกันจริงจังนะ (หัวเราะ)
แต่ว่าเราก็ไม่เคยได้คุยเรื่องนี้กันเลย เรามัวแต่โฟกัสว่า แกๆ ติดป้ายนี้ตรงหน้าร้านดีไหม เป็นพวกไม่มองการณ์ไกล แต่การไม่มองการณ์ไกลนี้มันก็พาเรามาในอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน มันก็เลยอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงสามารถที่จะไหลลื่นไปได้ ก็อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ก็ได้มั้ง ไม่ใช่คำตอบที่เท่นะแต่ว่าจริงมากเลย”
ขอขอบคุณรูปภาพกิจกรรมทัวร์และ Neighbourmart จาก ili