New Normal- New Formal

เมื่อดินแดนแห่งปลาดิบเริ่มมี ‘ตู้กดซาชิมิอัตโนมัติ’ เพื่อโอบรับความปกติใหม่หลังยุคโควิด-19

คำว่า  ‘new normal’ หรือความปกติใหม่ คงเป็นคำแห่งยุคที่เราได้ยินบ่อยที่สุดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคำนี้บ่งบอกถึงพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกหลังการอุบัติของโควิด-19 ทั้งการออกไปไหนต่อไหนโดยต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย การบีบเจลแอลกอฮอล์ใส่มือหลังสัมผัสสิ่งของ การสวมถุงมือก่อนตักอาหารบนไลน์บุฟเฟต์ ตลอดไปจนถึงการใช้ข้อศอกกดหมายเลขบนแป้นลิฟต์

หลายต่อหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนดูคล้ายกับว่า นี่คือการจัดระเบียบสังคมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่ธรรมชาติ (?) จัดสรรให้กับเหล่ามวลมนุษยชาติ รวมไปทั้งพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของกินก็เช่นกันที่เปลี่ยนแปลงไป

หากเรายังพอจำกันได้ในช่วงปี 2020-2021 เป็นช่วงปีที่เราได้เห็นการระบาดอย่างหนักไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลแต่ละประเทศต่างออกมารณรงค์การใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะและสนับสนุนให้ผู้คนรักษาระยะห่างทางสังคม รวมไปถึงอีกหลายประเทศที่มีการประกาศล็อกดาวน์พื้นที่ จำกัดเวลาการออกจากบ้านของประชาชนเลยทีเดียว

ทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและต่อผู้ประกอบกิจการไปด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อผู้คนออกจากบ้านน้อยลง การกินดื่มสังสรรค์นอกบ้านก็ต้องน้อยลงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคมและการจำกัดจำนวนคนในร้านอาหาร (และผับบาร์)

ผู้คนจึงต้องกินข้าวที่บ้านมากขึ้น เนื่องด้วยทั้งจากการลดการสัมผัส การรักษาระยะห่างและการเวิร์กฟรอมโฮม ธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่มจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะได้รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ

ประเทศญี่ปุ่น–ด้วยรักและปลาดิบ

ญี่ปุ่น–ประเทศแห่งความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่เรามักจะเห็นไอเดียและความกล้าที่จะคิดจนหลายต่อหลายครั้งถึงขั้นทำให้เราต้องร้อง “ว้าว” หรือไม่ก็เอียงคอด้วยความสงสัยว่า “แบบนี้ก็(คิด)ได้ด้วยเหรอ” ญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นประเทศที่ทำให้เราเห็นความละเอียดอ่อนในการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนถึงการโอบรับความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบ จนเป็นที่มาของนวัตกรรมและความคิดใหม่ๆ บนโลกใบนี้

ถ้าเราพูดถึงความเป็น ‘ญี่ปุ่น’ และอาหารญี่ปุ่น ลิสต์รายชื่อของอาหารคงเรียงรายมากมายไม่รู้จบ และหนึ่งในนั้นก็น่าจะมี ‘ซาชิมิ’ ประกอบอยู่ด้วย

‘ซาชิมิ’ หรือที่คนไทยมักเรียกชื่อกันแบบสั้นๆ ว่า ปลาดิบ คืออาหารจานดิบที่ถูกหั่นแล่สไลด์ให้บางแบบพอดีคำ ปกติแล้วเรามักจะคุ้นชินกับ ซาชิมิที่เป็นเนื้อปลา แต่อันที่จริงจะหมายรวมถึงอาหารอย่างอื่นที่รับประทานแบบแล่ดิบๆ ก็ได้ เช่น เนื้อวัว เนื้อม้า เนื้อกวาง แต่เนื้อปลาดิบและซีฟู้ดดิบดูจะเป็นที่นิยมมากกว่าเนื้อดิบชนิดอื่น

ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับสมญานามว่า ‘ดินแดนแห่งปลาดิบ’ นอกจากจะเป็นประเทศที่นิยมบริโภคปลาดิบแล้ว ยังเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนกับเป็นเมืองหลวงแห่งปลาดิบของโลกอีกด้วย เพราะในปี 2010 แค่เฉพาะปลาทูน่าที่ซื้อ-ขายในตลาดปลาซาชิมิ ก็มีจำนวนมหาศาลถึง 300,000-400,000 ตันแล้ว ในขณะที่การซื้อ-ขายปลาทูน่าซาชิมิที่อื่นๆ ทั่วโลกทุกประเทศรวมกันมีปริมาณเพียงแค่ 60,000-100,000 ตันต่อปีเท่านั้น

แต่อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งการกินซาชิมิของคนญี่ปุ่น ตามสถิติจาก MAFF (Minitry of Agriculture, Forestry and Fisheries) ของญี่ปุ่น สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนญี่ปุ่นมีปริมาณลดลงจากที่ปริมาณการบริโภคซีฟู้ดต่อคนต่อปีตกอยู่ที่คนละ 40.2 กิโลกรัม ในปี 2001 พอมาในปี 2019 จำนวนการบริโภคลดลงเหลือแค่ 23.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ MAFF สรุปไว้ต่อการบริโภคที่ลดลงดังกล่าว ทั้งที่ใจจริงแล้วคนญี่ปุ่นยังคงมีความตั้งใจและรักที่จะกินซาชิมิและอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง คือราคาอาหารที่แพงขึ้น และความลำบากในการตระเตรียม

ทีนี้ก็มาถึงฮีโร่ที่จะมาช่วยแก้สถานการณ์นี้

หลบหน่อย พระเอกมา

ฮีโร่ที่มาช่วยทำให้คนญี่ปุ่นเข้าถึงปลาดิบได้มากขึ้นกว่าเดิมอยู่ที่เมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิคาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดยจะมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายปลาดิบสามารถพบเจอกันได้ตรงกลาง ทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งฮีโร่ที่ว่าเราหมายถึงตู้กดซาชิมิ

ในระหว่างที่มีการจำกัดระยะห่างทางสังคมช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้านค้าหลายแห่งไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้ หรือหลายร้านที่เปิดได้ก็ขายไม่ดี เพราะคนไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายน้ำ (ร้านอาหาร) ไปจนถึงต้นน้ำ (ร้านค้าขายวัตถุดิบในการทำอาหาร) รวมไปจนถึงร้านขายปลาที่อยู่ในตลาดโอมิโจ (ตลาดที่ขายของกินของใช้รวมถึงของทะเลสดๆ ขึ้นชื่อของเมืองคานาซาวะ เช่น ปู กุ้ง ปลา) ก็พลอยลำบากเพราะโควิด-19 ไปด้วย

ร้านขายปลา Ohguchi Suisan ที่ตั้งอยู่ในตลาดโอมิโจจึงผุดไอเดียตั้งตู้กดขายซาชิมิขึ้นช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2022 โดยซาชิมิที่ขายในตู้กดอัตโนมัติแห่งนี้มีทั้ง ปลา กุ้ง และปลาหมึกสดๆ จากจังหวัดอิชิคาวะ โดยคุณสามารถเลือกชนิดของซาชิมิ (อาจจะเป็น ปลา กุ้ง หรือปลาหมึก) ให้รวมมาอยู่ในแพ็กเดียวกันได้ รับประกันคุณภาพและความสดของซาชิมิจากที่ตั้งของตู้กดนี้ที่อยู่ใกล้ๆ กับร้านปลาเจ้าใหญ่อย่าง Ohguchi Suisan ของตลาดโอมิโจ

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญ ของการลงทุนคิด และทำตู้กดซาชิมิอัตโนมัตินี้ว่า ในเมื่อเดินต่อไปอีกไม่กี่ก้าวก็ถึงตลาดและร้านขายปลาแล้ว ทำไมเราต้องมาซื้อซาชิมิจากตู้กดอัตโนมัติอีกล่ะ? 

แปลเป็นภาษาง่ายๆ คือ “ตู้กดซาชิมินี้มันจะขายได้หรือ?”

ซาชิมิ 3 อย่าง = 500 เยน

คำตอบของคำถามนี้เราขอตอบคุณด้วยราคาของซาชิมิจากตู้กดซาชิมิอัตโนมัตินี้ ราคาของซาชิมิรวม 3 อย่างจะพร้อมเสิร์ฟให้คุณในไม่กี่อึดใจเพียงแค่คุณใส่เงินเข้าไป 500 เยน หรือประมาณ 129 บาท (1 บาท = 3.86 เยน) เท่านั้น

เท่ากับว่าคุณสามารถกินซาชิมิสดใหม่จากตลาดปลาในราคา 500 เยน แถมข้อดีอีกข้อคือ ตู้กดซาชิมินี้ไม่มีเวลาหยุดทำการ มันสามารถทำการเปิดร้านขายซาชิมิได้ตลอด 24 ชั่วโมงตราบเท่าที่ทางร้านค้าเอาปลามาเติมให้ทุกครั้งที่ขายหมด

ชาวญี่ปุ่น (หรือจะพูดให้ถูกคือ ชาวเมืองคานาซาวะ) ให้การตอบรับตู้กดซาชิมินี้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่ต้องมีการเติมของให้กับเจ้าตู้กดซาชิมินี้ทุกวันวันละ 2 ครั้ง คือตอน 9 โมงเช้า กับบ่าย 3 โมง คุณมาซารุ อารากิ (Masaru Araki) ผู้อำนวยการของ Ohguchi Suisan พูดกับ Nikkei Asia ว่า “ตู้กดซาชิมิเราขายหมดเกลี้ยงทุกวันเลยครับ”

เกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับชาวคานาซาวะคือ เมื่อปี 2019-2021 จากการสำรวจรายรับและรายจ่ายของประชากรทั่วทั้งญี่ปุ่นโดย Ministry of Internal Affairs and Communication แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจากเมืองคานาซาวะ เป็นประชาชนที่มีการใช้จ่ายไปกับ ค่าเนื้อปลาและเค้ก มากที่สุดในบรรดาประชากรทั้ง 52 เมืองของญี่ปุ่น

ในเมื่อคนที่เมืองนี้นิยมกินปลาอยู่แล้ว จึงอาจจะนับเป็นแต้มต่อให้กับก้าวแรกของการปรากฏตัวขึ้นของตู้กดซาชิมิ ก็ว่าได้ที่ได้เดบิวต์เปิดตัวครั้งแรกในเมืองที่มีแนวโน้มจะใช้จ่ายกับเนื้อปลาอย่างสะดวกใจ

คุณมาซารุอธิบายต่อว่า ไอเดียแรกของการตั้งตู้กดซาชิมิ คือต้องการขายซาชิมิหลังจากที่ร้านปิดแล้วตอน 5 โมงเย็น โดยกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่พักอยู่ในโรงแรมใกล้ๆ ย่านนั้น หรืออาจจะเป็นพนักงานบริษัทที่เพิ่งทำงานกลับมาถึงบ้านหลังเวลา 5 โมงเย็น แถมการตั้งตู้กดซาชิมิเป็นการทำธุรกิจแบบให้ลูกค้าบริการตนเอง (self-serivce) ถือเป็นการลดต้นทุนการทำธุรกิจไปในตัวอีกด้วย

นอกจากตู้กดซาชิมิแล้ว Ohguchi Suisan ยังมีตู้กดอาหารอัตโนมัติที่ขายอาหารจานปลาในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย เช่น ปลาทอด, ปลาราดซอสมิโซะ, ข้าวหน้าปลาโนโดกุโระ

ในประเทศที่มีตู้กดสินค้าอัตโนมัติต่างๆ มากกว่า 5.5 ล้านเครื่อง หรือเมื่อเทียบตามสัดส่วนประชากรแล้วนับเป็น 1 ตู้กด ต่อประชากร 23 คนในประเทศ จึงน่าจะเรียกได้ว่านี่คือประเทศแห่งตู้กดอัตโนมัติ เราอาจต้องติดตามตอนต่อไปว่า นอกจากตู้กดซาชิมิแล้ว ญี่ปุ่นจะมีตู้กดอะไรออกมาให้เราตื่นตาตื่นใจอีกหรือไม่

ที่มา

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like