Let’s Ryde

หลักการตลาดของ Ryde Culture e-Bike สัญชาติไทยที่ใช้ความสนุกนำและทำด้วยมุมมองสตาร์ทอัพ

เอ่ยถึงจักรยานไฟฟ้าหรือ e-Bike เชื่อว่าภาพของจักรยานทั่วไปคันบางๆ ที่มีเพียงแบตเตอรีช่วยทุ่นแรง คงเป็นภาพที่ทุกคนนึกถึง 

แต่ Ryde Culture ไลฟ์สไตล์ e-Bike สัญชาติไทยไม่ใช่แบบนั้น ไม่ว่าจะรูปทรง สีสัน สมรรถนะ รวมถึงสไตล์ของมันกลับทำให้หลายคนที่ไม่ได้สนใจ e-Bike มากนักรู้สึกใจเต้นแรง 

ด้วยความแตกต่างและความเท่อย่างร้ายกาจของ Ryde Culture นี้เอง ไม่แปลกใจที่แบรนด์ไทยเล็กๆ แบรนด์นี้จะสามารถส่งออกไปได้หลายประเทศ ทั้งยังพา e-Bike ของพวกเขาไปอวดโฉมในงานจักรยานที่ใหญที่สุดอย่าง Euro Bike มาแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นผลงานของกลุ่มเพื่อนที่มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการทำสตาร์ทอัพ คอนเทนต์ และมาร์เก็ตติ้ง ไม่ว่าจะเป็น โจ–พีระ จันจิราวุฒิกุล, คม–คมสิทธิ์ แสงมณี และกาแฟ–ประพนธ์ศักดิ์ กัมพลพันธ์ นอกจากนี้ยังมีนักร้องนักแสดงที่หลายคนรู้จักอย่าง ว่าน–ธนกฤต พานิชวิทย์ ที่เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเบื้องหน้าที่ represent ความเท่และความสนุกของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี  

“เราคุยกันว่ามันต้องสนุก มันต้องเท่ มันต้องมัน” โจเล่าถึงการรวมตัวกันเพื่อทำ Ryde Culture แต่ความสนุกเหล่านั้นก็ต้องผ่านการคิดมาอย่างละเอียดและใส่ใจ อย่างที่คมเล่าว่า 

“เราไม่ได้ก้าวพลาดสักเท่าไหร่ เพราะแต่ละก้าวของเรามันผ่านการคิดมาอย่างดีแล้ว แต่เมื่อถึงคราวที่เราพลาด เราก็ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด” น่าสนใจว่าแต่ละก้าวของพวกเขาผ่านกระบวนการคิดอะไรมาบ้าง 

Let’s Ryde 

Product
รีเสิร์ชอย่างลงลึก

ถ้าจะบอกว่าดินที่ดีคือแต้มต่อให้ต้นไม้ต้นนั้นเจริญงอกงาม ธุรกิจที่ดีก็คงต้องสร้างขึ้นอย่างระมัดระวัง ใส่ใจ และจริงจังกับการรีเสิร์ช ยิ่งกับพาร์ตเนอร์ของ Ryde Culture ที่ต่างมีความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจอยู่แล้ว การรีเสิร์ชถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำแบรนด์ 

“ช่วงก่อนโควิด-19 เราเดินทางไปต่างประเทศกันบ่อยมาก สิ่งที่เห็นคือในยุโรปเขาฮิตจักรยานไฟฟ้าหรือ e-Bike กันมากๆ และ e-Bike ของเขาก็มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่รูปทรงคล้ายจักรยานแม่บ้านที่เราคุ้นเคยเท่านั้น

“นั่นแปลว่าเทรนด์ e-Bike กำลังมาในต่างประเทศ และแน่นอนว่าในเอเชียก็ต้องมีเทรนด์นี้เข้ามาในอนาคต แต่แถบเอเชียยังไม่มีแบรนด์ไลฟ์สไตล์ e-Bike เลย เราเลยคิดกันว่าน่าจะลองทำแบรนด์ดู” โจย้อนเล่า

แต่นอกจากเทรนด์ที่ทำให้ใจชื้นว่ายังไงก็ต้องมีฐานลูกค้า เลือดคนรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ในการทำสตาร์ทอัพอยู่แล้วจึงทำให้พวกเขารีเสิร์ชลงลึกไปกว่านั้น เช่นเช็กคีย์เวิร์ดที่กำลังมาแรงใน Google Trend รวมถึงเช็กว่าในประเทศที่นิยม e-Bike นั้นมี e-Bike รูปทรงแบบไหนบ้าง เพื่อที่พวกเขาจะต้องทำออกมาให้แตกต่าง

“เราไม่ได้ใช้ Google Trend เฉพาะก่อนทำแบรนด์เท่านั้น แต่เรายังเช็กเทรนด์อยู่เสมอ อย่างช่วงแรกที่เราเปิดตัวสินค้าออกมา คำว่า e-Bike ก็กลายเป็นคำค้นหาที่สูงที่สุดในประเทศไทย” คมอธิบาย

จากการรีเสิร์ชอย่างลงลึกตรงนั้นเองที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือก Fat Bike เป็นรูปทรงหลักของแบรนด์ นอกจากจะสร้างภาพจำที่แตกต่างให้ลูกค้าทั้งในเอเชียและยุโรปได้แล้ว ยังเหมาะกับสภาพถนนและการจราจรของไทยเป็นพิเศษ เพราะ Fat Bike เป็นจักรยานที่มีหน้ายางที่กว้าง ช่วยยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดี ชนิดที่จะขี่บนหิมะไปจนทะเลทรายก็ยังได้ 

“รูปทรงจักรยานที่ดูแข็งแรงทำให้เวลาลูกค้ามาเห็นตัวจริงที่งานต่างๆ รู้สึกประหลาดใจเพราะมันไม่ได้เป็นภาพจักรยานไฟฟ้าแบบจักรยานแม่บ้านที่เขาคุ้นเคย” คมเล่า

ดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ร้ายกาจ

ความตั้งใจของพาร์ตเนอร์ทุกคนคือ Ryde Culture ไม่ได้จะตีตลาดในไทยเท่านั้น แต่ Ryde Culture ต้องกลายเป็น e-Bike ที่คนทั้งโลกได้ปั่น ดีไซน์ที่พวกเขาออกแบบให้เป็นรูปทรงพื้นฐานของแบรนด์จึงต้องเอาชนะใจผู้คนทั่วทั้งโลกได้ 

จุดเด่นแรก คือขณะที่แบรนด์อื่นๆ จะวางแบตเตอรี e-Bike ไว้ด้านบนหรือด้านข้าง พวกเขาเลือกกลับหัวแบตเตอรีไว้ด้านล่างเพราะต้องการให้ฟอร์มของจักรยานเป็นเส้นตรงที่ให้ความรู้สึกมั่นคงและแตกต่าง

“นอกจากนั้น เราอยากให้มันเรียบง่าย แต่ก็ต้องดูสนุกและดูร้ายกาจ ซึ่งถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ badass ที่มันจะมีความเท่ ความคูล ให้มันเป็นมากกว่าการเป็นจักรยานที่ไว้ใช้สอยแบบแบรนด์อื่นๆ 

“ลูกค้าที่ซื้อของเราจะมองว่ามันคือแก็ดเจ็ตที่เขาไว้สะสม นั่นส่งผลถึงบุคลิกกลุ่มลูกค้าที่บางทีเขาอาจจะไม่ใช่คนที่อยากปั่นจักรยาน แต่มันคือการพรีเซนต์ตัวตนในโซเชียลมีเดีย” คมอธิบาย

นั่นเป็นเหตุผลที่ Ryde Culture ออกรุ่นแรกในชื่อ ‘Ryde Kart’ หรือในภาษาไทยว่า ‘ร้ายกาจ’ ซึ่งนอกจากความร้ายกาจที่ว่าจะสะท้อนผ่านเส้นสาย สีสัน และรูปทรงของ e-Bike แล้ว ความร้ายกาจที่ว่ายังแสดงออกผ่านความสนุกจากการใช้งานด้วย

“เราใช้ดีไซน์นำในการออกแบบ e-Bike ทุกตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์เราจะไม่ดี เพราะสิ่งที่เราตั้งใจคือมันต้องขี่สนุกด้วย เกือบทุกคนที่มาทดลองก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันมันมาก” โจอธิบาย 

“เราไม่ได้มองว่าเราจะทำจักรยานแล้วค่อยมาใส่ความเป็น e-Bike ลงไป แต่เราคิดตั้งแต่แรกว่าเราจะทำ e-Bike  วิธีการของเรามันเลยเป็นการมองว่าเราจะทำยังไงให้มันออกมาเป็น e-Bike ที่สวย” คมเสริม

เก็บฟีดแบ็กทุกเม็ด 

“Ryde Culture เป็นแบรนด์ e-Bike ที่เก็บฟีดแบ็กกันจริงจังมาก” คมเล่าพลางหัวเราะ

“เราใส่ใจทุกคอมเมนต์ที่ลูกค้าส่งมา เราคุยกันตลอดว่าเราจะปรับเปลี่ยนอะไร หรือพัฒนาอะไรบ้าง ยิ่งเราส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ยิ่งต้องรีเสิร์ชความต้องการและเก็บฟีดแบ็กของลูกค้าในประเทศนั้นๆ มาพัฒนา

“เช่นที่เยอรมนี เราก็กำลังพัฒนาระบบสายพานมาแทนระบบโซ่ ส่วนที่อิตาลีเราก็เน้นการออกแบบเป็นหลัก หรือถ้าเป็นฝรั่งเศสก็จะเน้นเรื่องราคาที่คุ้มค่า หรืออย่างในประเทศไทย เราอาจจะมีรุ่นพับได้ หรือรุ่นที่เหมาะกับแม่บ้านจริงๆ ด้วย” โจอธิบาย

นอกจากพวกเขาจะใส่ใจฟีดแบ็กมากแล้ว อีกหนึ่งวิธีพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เท่ยิ่งขึ้น และเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มคือการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์ร่วมสมัยต่างๆ อย่างที่เขาเคยคอลแล็บร่วมกับ Carnival

“ความสำเร็จของการคอลแล็บครั้งนั้น ทำให้เรามองเห็นโมเดลในอนาคตว่าเราก็คงจะร่วมงานกับแบรนด์ในลักษณะเดียวกันแบบนี้อีก” คมว่า

Price
ราคากลางเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่ใหญ่ที่สุด

สนนราคาของ Ryde Culture ในไทยนั้นอยู่ที่  60,000-70,000 บาท ถ้าส่งขายที่ต่างประเทศจะอยู่ที่ 80,000-90,000 บาท ช่วงราคานี้ถือเป็นราคาระดับกลางในตลาด e-Bike ระดับโลกซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด 

“สำหรับตลาดต่างประเทศ เมื่อตลาดระดับกลางนั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก การเซตให้เราอยู่ในราคานี้จึงทำให้ภาพของเราเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ และทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย

“แต่ราคานี้ค่อนข้างมีปัญหาในตลาดไทย บอกตามตรงว่าเราไม่ได้จะดื้อตั้งราคาแบบนี้นะ แต่จริงๆ แล้วต้นทุนเราสูงเพราะเรายังมีส่วนประกอบบางชิ้นที่ต้องนำเข้า” คมอธิบายเบื้องหลัง

เป็นที่มาที่ทั้งสองบอกกับเราว่าในอนาคต Ryde Culture อาจผลิตรุ่นที่ราคาต่ำลงมาแต่ยังคงสไตล์ของแบรนด์อยู่เพื่อตอบโจทย์คนไทยที่อยากใช้ e-Bike ที่เท่และร้ายกาจในราคาสบายกระเป๋า

Place
ลงทุนกับอีเวนต์เพื่อ Customer Engagement

ถ้าการคิดค้นสินค้าให้ดีถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี การนำสินค้าไปจัดแสดงในสถานที่ที่ถูกต้องก็ถือเป็นตัวจุดชนวนที่ช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เช่นเดียวกับโมเดลธุรกิจของ Ryde Culture ทั้งคมและโจต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการออกงานถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่เอาชนะใจลูกค้ามาได้นักต่อนัก 

“ไม่ว่าในช่องทางออนไลน์เราจะปล่อยแคมเปญออกไปเยอะแค่ไหน จะโฆษณาหนักแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ customer engagement ที่เปิดให้ลูกค้าได้เห็นและสัมผัสสินค้าจริงๆ เพราะทุกครั้งที่ออกงาน กว่า 80-90% ของลูกค้า จะรู้สึกขนลุกกับสินค้าของเรา จะรู้สึกว่ามันใช่ รู้สึกว่ามันเท่ขนาดนี้เลยเหรอ” คมเล่า

การออกงานครั้งหนึ่งที่ถือเป็นที่จดจำของพาร์ตเนอร์ทุกคนคือการได้พา Ryde Culture ไปออกงานจักรยานที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Euro Bike ในเชิงฮวงจุ้ย ที่ตั้งบูทของ Ryde Culture อาจไม่โดดเด่นนัก แต่ความกล้าทุ่ม กล้าได้ กล้าเสีย กล้าลงทุนกับการทำบูทเพื่อสื่อสารถึงความ badass และความสนุกที่พาร์ตเนอร์ตั้งใจ ทำให้ Ryde Culture ได้รับการยอมรับเกินคาดแม้จะเป็นแบรนด์เล็กๆ จากประเทศเล็กๆ ก็ตาม

“ผมเคยทำธุรกิจมาก่อน เวลาเริ่มทำธุรกิจและมีบัดเจ็ตจำกัด หลายคนจะไปแบบบูทเปล่าๆ แต่พอมาถึงจุดนี้ผมว่าเราต้องลงทุนเรื่องมาร์เก็ตติ้งและแบรนดิ้ง 

“ตอนนั้นเราเลยทำบูทที่สื่อสารถึงคำว่า ‘ไลฟ์สไตล์’ เพื่อสะท้อนให้เห็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ เรายังทำเบียร์ที่ติดชื่อ Ryde Culture ของเราเอง มีพื้นที่นั่งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลายๆ คนบอกเราว่า แบรนด์ยูแม่งโคตรเท่ แบรนด์ยูแม่งโคตรใช่ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว” คมอธิบายภาพบูทวันนั้น

“อีกหนึ่งอินไซต์ที่เราได้รู้คือยิ่งเราติดป้ายว่า Made In Thailand ลูกค้าต่างชาติจะรู้สึกมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะจักรยานที่ส่งขายกว่า 80% ทั่วโลกนั้นผลิตจากประเทศจีน” โจเสริม

ประสบการณ์การออกงานครั้งนั้นทำให้พวกเขา ตั้งเป้าว่าจะขนทัพ e-Bike สุดคูลของตัวเองไปให้ชาวโลกรู้จักตามงานจักรยานต่างๆ นอกจากนั้น อีกประเภทอีเวนต์ที่พวกเขาจะพลาดไม่ได้เลยคืออีเวนต์แนวไลฟ์สไตล์ เช่น คอนเสิร์ต หรืองานสนุกๆ ที่จัดขึ้นตามชายหาด หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ 

ความคูลและความมันของแบรนด์ทำให้ปัจจุบัน Ryde Culture มียอดขายในไทยกว่า 30% และต่างประเทศอีก 70% ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา และที่ผ่านมาพวกเขายังได้ฐานลูกค้าจากประเทศใหม่ๆ อย่างฝรั่งเศสและฟินแลนด์มาด้วย 

ฐานลูกค้าตรงนี้ไม่ได้หมายถึงจำนวนดิสทริบิวเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตเท่านั้น แต่การส่งสินค้าไทยไปวางขายในต่างประเทศยังส่งผลดีกับยอดขายในไทย เพราะหลายครั้งทีเดียวที่การจะเอาชนะใจลูกค้าไทยได้แบรนด์นั้นๆ จะต้องแสดงศักยภาพให้เห็นว่านี่ไม่ใช่แค่แบรนด์ไทยแต่เป็นแบรนด์ที่ต่างประเทศยอมรับ  

Promotion
การตลาดที่สื่อสารแบรนดิ้งได้ชัดเจน

ทั้งคมและโจ้ไม่จำเป็นต้องอธิบายประสบการณ์การทำงานอย่างละเอียดให้ฟัง เราก็สัมผัสได้ว่าพาร์ตเนอร์ทุกคนของ Ryde Culture ต่างมีประสบการณ์การทำงานด้านสตาร์ทอัพและมาร์เก็ตติ้งกันอย่างเข้มข้น ยิ่งเมื่อได้ฟังมุมมองของทั้งคู่ต่อแผนการตลาด ก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไม Ryde Culture ถึงไปได้ไกลขนาดนี้

“สำหรับผม การตลาดน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราโฟกัส ความตั้งใจของทุกคนคือเราไม่ได้จะเปิดบริษัทเพื่อขาย e-Bike  แต่เราจะทำแบรนด์ควบคู่ไปด้วย เช่น แบรนด์ของเราหน้าตาเป็นยังไง กลุ่มลูกค้าคือใคร” คมอธิบาย 

คมยังยกตัวอย่างให้เราเข้าใจด้วยว่าพวกเขาตั้งใจตั้งแต่แรกว่าจะวางขายสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศพร้อมๆ กัน แนวทางการถ่ายภาพของแบรนด์จึงชัดเจนว่านายแบบจะต้องเป็นชาวต่างชาติ หรือการถ่ายภาพโปรโมตบางชิ้นก็จะต้องถ่ายที่ต่างประเทศเพื่อให้การสื่อสารในระดับสากลนั้นส่งถึงลูกค้าต่างประเทศได้ 

“วิธีการสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติก็แบบหนึ่ง กับคนไทยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง สำหรับลูกค้าคนไทย ตอนแรกเราพยายามใช้คำพูดมาอธิบายความเท่ของเรา แต่คนยังไม่เห็นภาพว่ามันจะเป็นยังไง เราจึงพยายามสื่อสารผ่านภาพมากขึ้น เลือกนำเสนอซีนต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่าแบรนด์เป็นแบบไหน ของของเราใช้ในโอกาสไหนได้บ้าง 

“นอกจากนั้น ภาพส่วนใหญ่จะถ่ายตามสถานที่กลางแจ้งหมดเลย น้อยมากๆ ที่เราจะนำเสนอภาพถ่ายในร่มซึ่งถ้าเราจะทำมันก็ต้องเป็นภาพที่มีคอนเซปต์ ไม่ใช่ถ่ายเฉยๆ แล้วเอามาลง” คมเล่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการสื่อสารนั้นจะแตกต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้า หากเป็นกลุ่มที่มอง e-Bike ในเชิงการใช้งาน พวกเขาจะต้องนำเสนอสเปกให้ลูกค้าแบบจัดเต็ม แต่หากเป็นกลุ่มที่มอง e-Bike ของ Ryde Culture ในเชิงการนำเสนอตัวตนและไลฟ์สไตล์ การนำเสนอภาพการใช้งานในชีวิตประจำวันถือเป็นหัวใจสำคัญ

สร้าง asset ของแบรนด์ให้พร้อม

การสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีโมเดลธุกิจให้ดิสทริบิวเตอร์พร้อมที่จะเป็นคู่ค้านั้นทำให้พวกเขาส่ง Ryde Culture บินลัดฟ้าไปหลายๆ ประเทศได้ง่ายขึ้น

“เวลาเราคุยกับลูกค้า เราไม่ได้ไปยื่นโบรชัวร์นะ แต่เราทำให้เขาเห็นเลยว่าถ้าเขาเป็นพาร์ตเนอร์กับเรา เขาจะไม่ได้แค่ตัวสินค้าไปวางขาย แต่เขาจะมีแนวทางการตลาด มี asset ของแบรนด์ มีภาพและแนวทางการสื่อสารที่ชัดเจน และเราจะลงโฆษณาในโซเชียลมีเดียของประเทศให้ด้วย พูดง่ายๆ คือเรามีทีมการตลาดไว้ซัพพอร์ตเขา” คมอธิบาย 

ก่อนที่โจจะเสริมว่า “เราต้องใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เพื่อให้เขาสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ใหม่ๆ และรู้สึกเชื่อมั่นใจแบรนด์และทีมของเรา”​

Positioning & People
ตำแหน่งแห่งที่และผู้คนที่จะพา Ryde Culture ไปสู่เป้าหมาย 

“ผมให้อีก 2 P เลย” 

คมตอบเมื่อเราถามถึง P ที่สำคัญของแบรนด์ นอกเหนือจาก 4P พื้นฐานที่คนทำธุรกิจต้องใส่ใจ 

P แรกที่ทั้งสองคนมองว่าสำคัญคือ Positioning ของแบรนด์ เพราะตำแหน่งของแบรนด์นั้นส่งผลต่อภาพลักษณ์และแนวทางการตลาด ยิ่งกับ Ryde Culture ที่ราคาขายอยู่ที่ 60,000-70,000 บาทซึ่งแม้จะเป็นราคากลางของต่างประเทศ แต่สำหรับในไทยแล้วนี่คือราคาที่สูงเทียบเท่ากับมอเตอร์ไซค์ 1 คัน หากแบรนด์ไม่มีการตลาดที่ดี ไม่มีการบริการ และไม่มีระบบหลังบ้านที่แข็งแรง แน่นอนว่า Ryde Culture คงไปไม่รอด 

“อีก P หนึ่งคือ People เพราะเรามองว่า Co-founder ต้องมีมายด์เซตเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน และมีแพสชั่นเหมือนๆ กัน เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ที่เรามีผู้ถือหุ้นเป็น Audi และ Ducati Thailand เราต้องผ่านความท้าทายและอุปสรรคเยอะมาก” โจเล่า ก่อนคมจะอธิบายต่อว่า

“วันแรกที่เราจะทำแบรนด์ Co-founder ทุกคนมานั่งคุยกันว่าสินค้ามันจะดีอย่างเดียวไม่ได้ แต่คนทำงานทุกคนต้องรู้สึกสนุก อย่างตอนแรกๆ ว่านยังไม่ได้เป็น Co-founder นะ แต่เขามาฟังแล้วเขาพูดออกมาเลยว่า ‘น่ามันว่ะ เอาด้วย’”  

นอกจากนิสัยใจคอและความเชื่อของพาร์ตเนอร์ที่ต้องสอดคล้องกันแล้ว ทั้งสองคนยังบอกอีกว่าคนในองค์กรยังต้องมีแนวคิดการทำงานแบบสตาร์ทอัพเช่นกัน เช่น การปรับตัวให้เร็ว การรับฟังความเห็นของลูกค้า รวมถึงการยืดหยุ่นในการทำงาน  

คมยังเสริมอีกว่า “อีกหนึ่งสิ่งคือช่วงแรกเราทำงานกันเองทั้งหมดเพื่อประหยัดต้นทุนเพราะพาร์ตเนอร์ทุกคนมีองค์ความรู้ในการทำคอนเทนต์และการตลาดอยู่แล้ว แต่พอถึงจุดที่เราขยายมากขึ้น มีนักลงทุนมาสนับสนุน เราควรจะรู้จักที่จะจ้างบางตำแหน่งที่เราทำเองไม่ได้ให้เขาเข้ามาช่วยเรา”

ตั้งแต่ 4P จนถึง P อีก 2 ข้อที่ทั้งโจและคมเล่ามา สังเกตว่าเบื้องหลังของแต่ละ P นั้นผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียดและมีเหตุผลสนับสนุนเสมอ และนั่นคงทำให้พวกเขาพา Ryde Culture ไปถึงฝันได้ไม่ยาก

“เราอยากทำให้ Ryde Culture เป็นที่รู้จักในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปและเอเชียมากกว่านี้ แต่ละปีเราจะมีเป้าของเราอยู่ว่าเราอยากจะไปกี่ที่ แล้วเราต้องทำยังไงบ้าง วิธีการต่างๆ มันก็คงค่อยๆ ไปตามสเตป” โจเล่า

“เราตั้งชื่อว่า Ryde Culture เพราะคำว่า Ryde มันพ้องเสียงกับคำว่า ‘ร้าย’ และ ‘Ride’ ส่วนคำว่า Culture มันก็เป็นอีกหนึ่งภาพฝันของเราว่าอยากให้มันเกิดคอมมิวนิตี้ของคนรักและขี่ Ryde Culture เช่นมีตลาดหรือกลุ่มเฟซบุ๊กให้คนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน หรืออาจจะปล่อยงานมือสองให้มันเกิด after market หรือในอนาคตก็อยากจะรวมคนขี่ Ryde Culture ไปออกทริปด้วยกัน”​ คมทิ้งท้าย

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

พูดไม่เก่งแต่เล่าด้วยภาพ ig climate_moth

You Might Also Like