Ready - Set - GOAL
ความเชื่อและกลยุทธ์ที่ทำให้ REV RUNNR ก้าวสู่มัลติแบรนด์อันดับต้นๆ ที่รันธุรกิจวิ่งในไทย
ชื่อของ REV RUNNR ได้รับความสนใจมากขึ้นตามกระแสนิยมการวิ่งในไทยที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ในมุมของนักวิ่งความน่าสนใจของมัลติแบรนด์แห่งนี้คือเป็นร้านที่มีอุปกรณ์การวิ่งที่ครบครันทั้งสำหรับนักวิ่งมือใหม่และนักวิ่งสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ มีแบรนด์ที่อยู่ทั้งในและนอกกระแสให้เลือกมากมาย ร้าน REV RUNNR จึงดึงดูดใจให้เหล่านักวิ่งเข้าไปเดินเล่นกันอยู่เสมอ
ส่วนในมุมธุรกิจความน่าสนใจของ REV RUNNR คือการเป็นสเปเชียลตี้สโตร์ที่มีการเติบโตเรื่อยมา ระยะเวลา 5 ปีสามารถแตกกิ่งก้านออกมาเป็น 35 สาขา ทำให้แบรนด์รองเท้าวิ่งที่มีความเฉพาะทางอย่าง HOKA, Saucony หรือ On Running เป็นที่รู้จักมากขึ้นในไทย ทั้งยังทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่มีช็อปของ HOKA อีกด้วย
เป็นการบุกเบิกทางเลือกใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน
จนเมื่อได้พูดคุยกับ พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ผู้บริหารและเจ้าของ REV RUNNR จึงได้รู้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาทำสิ่งใหม่ๆ และพวกเขาไม่ใช่หน้าใหม่ในสนามธุรกิจนี้ เพราะหากนับจากประสบการณ์ REV RUNNR ทำธุรกิจอุปกรณ์กีฬามานานกว่า 22 ปีแล้ว
เขาเป็นคนแรกในไทยที่ทำ Nike คอนเซปต์สโตร์ซึ่งเป็นร้าน Nike แบบสแตนด์อะโลนแห่งแรกในไทยที่อยู่นอกห้าง, เป็นผู้นำเข้ารองเท้า Crocs เข้ามาในไทยตั้งแต่ยุคสมัยที่หลายคนมองว่ารองเท้ามีรูยี่ห้อนี้รูปร่างแปลกประหลาด, เป็นคนนำแบรนด์ Champion กลับมาทำตลาดในไทยอีกครั้งหลังจากที่เคยห่างหายไป 16 ปี
และเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่ช่วยรันให้ธุรกิจวิ่งในไทยเติบโตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
Checkpoint 1 : จุดสตาร์ท
ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวนักกีฬา มีพ่อเป็นนักบาสทีมชาติ ส่วนแม่แม้ไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพแต่ก็เล่นเทนนิสอย่างจริงจังทุกวัน สิ่งนี้หล่อหลอมให้พรศักดิ์ชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก ทว่าเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขากลับเลือกเรียนในสายโทรคมนาคมตามคำขอของที่บ้านเพื่อจะได้กลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวที่ทำเกี่ยวกับโครงข่ายซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทโทรคมนาคมอีกที
“ตอนเรียนผมทำตามที่บ้านขอแล้ว ตอนทำงานผมเลยขอเลือกทางของตัวเอง” เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักศึกษาซึ่งจบด้านโทรคมนาคม หันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์กีฬา
จากประสบการณ์ที่เคยไปเรียนอยู่ที่อเมริกามา 2 ปี พรศักดิ์ได้เห็นช็อปกีฬาในรูปแบบที่หลากหลายและมีการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่มาร้าน แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทยช็อปกีฬาส่วนใหญ่ในสมัยนั้นยังอยู่แต่ในห้างสรรพสินค้า รองเท้ากีฬาจะถูกหุ้มด้วยพลาสติกแล้ววางบนเชลฟ์ที่แขวนอยู่บนชั้นไม้ข้างกำแพง ส่วนเสื้อก็มีถุงพลาสติกครอบแล้วเอาไปวางแขวนบนราวสเตนเลสอีกที ลูกค้าจะจับจะสัมผัสกับของก็ลำบาก ครั้นจะให้พนักงานช่วยแกะพลาสติกให้ก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สักเท่าไหร่ สิ่งนี้เองจุดประกายให้พรศักดิ์เกิดความคิดที่ว่ามันน่าจะมีวิธีการนำเสนอสินค้าได้ดีกว่านี้ ทำให้เขานึกถึงภาพคอนเซปต์ช็อปที่เคยเห็นจากต่างประเทศ
และนั่นคือที่มาของ Sport Revolution ซึ่งเป็นชื่อแรก ก่อนในเวลาต่อมาจะเปลี่ยนมาเป็น REV RUNNR
จุดเริ่มต้นของ Sport Revolution มาจากการที่พรศักดิ์ได้เป็นตัวแทนในการทำช็อป Nike แบบสแตนด์อะโลนสาขาแรกในไทย และในการทำช็อป Nike นี้ก็มาจากการที่เขาใช้เวลาพูดคุยกับ Nike เป็นเวลานานกว่า 1 ปี
“ตอนนั้นผมเพิ่งอายุแค่ 20 กว่าๆ ไม่ได้มีแบ็กกราวนด์ในการทำธุรกิจเลย แต่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในช็อปกีฬา รู้ประวัติต่างๆ ของแบรนด์กีฬา แล้วคิดว่านี่เป็นโอกาสธุรกิจในไทย ถามว่าทำยังไงให้เขาเชื่อ ก็คือผมตื๊ออย่างเดียวเลยครับ โทรไปเขาไม่รับสายเราก็ไปนั่งรอที่ออฟฟิศ จนได้เจอกับเขา แรกๆ คุยกันก็ไม่เคยเซย์เยส แต่เราก็ไปคุยเรื่อยๆ เล่าไอเดียให้ฟังว่าอยากทำร้านไซส์นี้ รูปแบบประมาณนี้ หกเดือนแรกใช้เวลาไปกับการบอกเขาว่าคนไทยพร้อมแล้วสำหรับการมีคอนเซปต์สโตร์ อีกหกเดือนหลังใช้เวลาไปกับการทำให้เขาเชื่อมั่นว่าแม้เราจะเป็นเด็กแต่ก็พร้อมจะทำธุรกิจนี้จริงๆ
“เริ่มคุยกับ Nike ปี 1999 จนในที่สุดปี 2000 ก็ได้เปิด Nike คอนเซปต์สโตร์ที่แรกในไทย ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิท พื้นที่ร้านราวๆ 500 ตารางเมตรซึ่งถ้าเทียบกับช็อปอื่นๆ ในขณะนั้นเขาจะมีพื้นที่กันราวๆ 100-150 ตารางเมตร”
แม้จะได้รับสิทธิ์ให้ทำคอนเซปต์สโตร์เป็นเจ้าแรกในไทยจาก Nike แล้ว แต่สเตปถัดไปก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับพรศักดิ์ เพราะแม้ชื่อของ Nike จะติดตลาด แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ก่อนหน้าพฤติกรรมของผู้คนส่วนใหญ่ยังมักจะซื้อรองเท้ากีฬาจากในห้างอยู่ดี ถึงจะตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องขายรองเท้าให้ได้วันละ 10 คู่ ทว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลี้ยวรถเข้ามา จอดรถหลังร้าน แล้วเดินเข้าร้านมาอีกที
ทว่าด้วยประสบการณ์ที่สัมผัสกับคอนเซปต์สโตร์ในต่างประเทศมามากรวมกับ gut feeling ส่วนตัวที่มี ก็ทำให้พรศักดิ์สามารถขายของได้เกินกว่าที่ตั้งเป้าเอาไว้
จนเมื่อคอนเซปต์สโตร์สาขาแรกประสบความสำเร็จ Nike จึงวางใจให้ Sport Revolution ช่วยดูแลสาขาอื่นเพิ่ม รวมๆ แล้วกว่า 12 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา
และเมื่อเห็นว่า Sport Revolution ทำคอนเซปต์สโตร์ให้กับ Nike จนประสบความสำเร็จ ก็ดึงดูดให้แบรนด์อื่นทั้ง Adidas, Puma รวมถึง Converse เข้ามาหา ทำให้ Sport Revolution ได้ทำแบรนด์ช็อปให้กับแบรนด์เหล่านี้ และก็สร้างเครดิตให้บริษัทที่เพิ่งสร้างมาได้ไม่นานได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์กีฬาชื่อดังมากขึ้นเรื่อยๆ
Checkpoint 2 : The Revolution
หลังเป็นดีลเลอร์ให้แบรนด์ต่างๆ มาได้สักระยะ จนเมื่อธุรกิจเดินทางเข้าถึงช่วงปีที่ 5-6 พรศักดิ์เริ่มมีความคิดอยากจะขยับธุรกิจ จากเดิมที่เคยเป็นแค่ดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่าย สู่การเป็นดิสทริบิวเตอร์หรือผู้นำสินค้าเข้ามาเอง เขาเริ่มมองหาแบรนด์สินค้าที่น่าสนใจ
จนปี 2006 ก็กลายมาเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์กอล์ฟแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Srixon ถัดมาในปี 2007 ก็นำ Crocs เข้ามา จากนั้นก็ใช้เวลาไปกับการพัฒนา Nike, Srixon และ Crocs ให้เป็นธุรกิจที่แข็งแรงในไทย
กระทั่งปี 2015 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Sport Revolution เนื่องจากได้สองแบรนด์ใหญ่อย่าง Asics และ Under Amour เข้ามาอยู่ในพอร์ต นั่นทำให้พรศักดิ์ต้องขยายทีมเพื่อรองรับกับขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และกว่าการขยับปรับทีมในครั้งนั้นจะลงตัวก็ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี
เล่ามาถึงตรงนี้ก็เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วที่ Sport Revolution คือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์กีฬาดังๆ ในไทยมากมาย กระทั่งในช่วงปี 2018 ก็ถึงจุด Revolution ครั้งสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ซึ่งอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ข้างหน้า และกลายเป็นที่รู้จักของนักวิ่งไทย
“มองย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ถึงจะมีแบรนด์รองเท้าวิ่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากมาย เอาที่อยู่ในมือเราเองก็มีไม่น้อย แต่สิ่งที่ไม่มีในตอนนั้นคือเชนร้านมัลติแบรนด์ที่รวมทุกแบรนด์วิ่งเอาไว้ด้วยกัน ประกอบกับช่วงนั้นกระแสวิ่งในไทยเริ่มมา แล้วก็มีแบรนด์วิ่งในระดับโลกเกิดใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Hoka, On Running หรือ Newton ผมก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีการรวมแบรนด์อุปกรณ์วิ่งเอาไว้ในที่เดียวกันได้แล้ว
“ก็เลยเกิดเป็น REV RUNNR ขึ้นมา”
แม้จะมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาสิบกว่าปี แต่พรศักดิ์ก็บอกว่าการทำ REV RUNN นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย มีสิ่งใหม่ที่เขาต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จากที่เคยทำร้านเพื่อแบรนด์ใดแบรนด์นึง คราวนี้ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเอาหลายๆ แบรนด์มารวมอยู่ในร้านเดียวกัน
จากที่ช็อปนึงเคยติดต่อแค่แบรนด์เดียว แต่พอเป็นมัลติแบรนด์ก็กลายเป็นว่าในช็อปนึงต้องติดต่อ 20 กว่าแบรนด์ ไหนจะมีปัญหาสินค้าเข้าไม่เหมือนกัน แบรนด์โน้นขายได้เยอะกว่า แบรนด์นี้ไม่มีของมาเติมให้ แต่ด้วยประสบการณ์ของทีมงาน จากร้านแรกซึ่งทำเป็นไพลอตโปรเจกต์อยู่ที่เดอะมอลล์โคราช ไม่นานนักก็ขยับออกมาเป็นร้าน REV RUNNR สาขาแรกอย่างเป็นทางการซึ่งตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า
“ช่วงแรกๆ ที่เปิด REV RUNNR ลูกค้าน้อยมาก เพราะเขายังไม่รู้จักว่า REV RUNNR คือใคร อย่างที่บอก 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด ช่วงแรกที่เปิดตัวเราเลยต้องอัดกิจกรรมเยอะมาก เพื่อทำให้ลูกค้ารู้จัก มีโปรแกรมสำหรับนักวิ่งมือใหม่ไปจนถึงนักวิ่งสายเพอร์ฟอร์แมนซ์ ทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลาจนเข้าสู่ปีที่ 2 ของแบรนด์ REV RUNNR ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ”
ระหว่างทางในการเล่าเรื่องเส้นทางการสร้าง REV RUNNR ประเด็นหนึ่งที่พรศักดิ์มักกล่าวถึงเสมอคือ ‘ทีมงาน’
“ผมว่าสิ่งที่ทำให้ REV RUNNR สำเร็จและเดินทางมาได้จนถึงทุกวันนี้ 99% ต้องยกเครดิตให้กับทีมงาน ผมโชคดีที่มีทีมงานที่เก่งมาก จำได้ว่าวันแรกๆ ที่มีแนวคิดอยากทำมัลติสโตร์ด้วยความที่ผมสื่อสารไม่ดี ทีมงานก็เลยถามว่าทำไมเราต้องทำมัลติแบรนด์ด้วยในเมื่อเราเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่แล้ว แต่พอได้อธิบายใหม่ เลยทำให้ทีมงานทุกเห็นภาพเดียวกัน แล้วความเก่งกาจของทีมงานก็ช่วยนำพา REV RUNNR ไปถึงเส้นชัยอย่างที่ตั้งใจไว้ได้”
Checkpoint 3 : รันวงการ
ว่ากันในเชิงธุรกิจ เมื่อการวิ่งเป็นกีฬาที่มีรองเท้าแค่คู่เดียวก็ออกไปวิ่งได้ มียอดค่าใช้จ่ายต่อบิลที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับกอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน หรือกีฬาอย่างอื่นที่ล้วนแต่ต้องใช้อุปกรณ์มากกว่ารองเท้าแค่คู่เดียว แล้วแบบนี้ธุรกิจที่โฟกัสไปแค่ที่การวิ่งมีแท็กติกในการทำธุรกิจยังไง–เราตั้งคำถาม
“ที่บอกว่ามีรองเท้าวิ่งคู่เดียวก็ออกไปวิ่งได้แล้วคือถูกต้องเลย แต่ถ้าอยากวิ่งให้สนุกขึ้นนักวิ่งหลายคนก็จะซื้ออุปกรณ์เสริม เมื่อวิ่งสนุกขึ้นก็ทำให้กลับมาวิ่งบ่อยขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับมาซื้ออุปกรณ์ของเราบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน
“ซึ่งการที่มีรองเท้าแค่คู่เดียวก็ออกไปวิ่งได้นี่แหละ มันเลยทำให้การวิ่งเป็นกีฬาที่มี barrier to entry ที่ต่ำ หรือหมายถึงมีอุปสรรคในการเข้ามาเล่นน้อย เมื่ออุปสรรคน้อย คนเลยออกมาเล่นเป็นจำนวนมาก อย่างในช่วงก่อนโควิดทาง สสส.เคยทำตัวเลขออกมาว่าในไทยมีคนที่วิ่ง 13 ล้านคน ขณะที่กอล์ฟนั้นมีคนเล่นแค่ 600,000 คน
“ทีนี้มันอยู่ที่เราแล้วแหละว่าจะทำยังไงให้นักวิ่ง 13 ล้านคนที่ว่านี้รู้จักเราให้ได้ และทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเราเป็นร้านขายอุปกรณ์วิ่งที่มีคุณภาพ”
Checkpoint 4 : สายตามองระยะไกล
ตลอดการพูดคุยเรื่องการเดินทางของ REV RUNNR สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นจากคู่สนทนาที่นั่งตรงข้าม คือสายตาในการมองสิ่งใหม่ได้อย่างเฉียบขาด
ไล่ตั้งแต่การทำคอนเซปต์สโตร์ของ Nike สาขาแรกในไทย ตัดสินใจทำเชนร้านขายอุปกรณ์วิ่งที่เป็นมัลติแบรนด์อย่าง REV RUNNR เอาแบรนด์รองเท้าวิ่งที่ช่วงแรกยังเป็น niche market อย่าง Hoka, Saucony, On Running เข้ามาขาย หรือการนำ Crocs เข้ามาในไทยตั้งแต่วันที่หลายคนยังมองว่านี่คือรองเท้าหัวโตมีรูที่มีรูปร่างประหลาด
คำถามที่น่าสนใจคือเขามีวิธีมองหาสิ่งใหม่ที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตได้ยังไง
“เวลาเลือกว่าจะเอาอะไรเข้ามา ผมไม่ได้เลือกด้วยเหตุผลที่ว่าแบรนด์ไหนจะทำกำไรให้เราได้มากที่สุด แต่จะดูว่ามันเป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพไหม มีศักยภาพในการเติบโตหรือเปล่า ถ้าพื้นฐานของแบรนด์ดี ก็จะเติบโตและต่อยอดไปยังผู้บริโภคได้ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแต่ช่วงแรกอาจต้องใช้ความพยายามในการผลักดัน เพราะมันเป็นแบรนด์ที่คนไทยยังไม่คุ้นกันมากนัก
“หรืออย่าง Crocs ผมก็เริ่มไปศึกษาประวัติความเป็นมาของเขาว่าเป็นยังไง ต้นกำเนิดจริงๆ ของ Crocs คือการเป็น boat shoes หรือรองเท้าสำหรับใส่ในเรือ และได้ไปออกงานโชว์ที่ฟลอริด้า ปรากฏว่าอยู่ดีๆ คนก็เครซี่กันมาก จู่ๆ ก็ฮิตขึ้นมา ผมก็เห็นว่ามันมีศักยภาพแล้วก็ไม่ได้มองว่า Crocs หน้าตาประหลาดนะ คิดว่ามันเป็นอะไรที่ยูนีกมากกว่า ก็เลยนำเข้ามา
“ช่วงแรกๆ ในการทำธุรกิจ ผมอาจจะเลือกด้วยประสบการณ์และ gut feeling ที่มีอยู่ แต่ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ธุรกิจเริ่มขยาย จะเลือกจากความรู้สึกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องใช้ข้อมูลที่ได้มาจากทีมงานมาประกอบการตัดสินใจอย่างมาก แล้วก็คิดร่วมกันกับทีมงานว่าแบรนด์ไหนจะเวิร์กหรือไม่”
Checkpoint 5 : ส่งไม้ต่อ
แม้แบรนด์ต้นทางที่อยู่ในระดับโลกจะมีความแข็งแรง มีคุณภาพของสินค้าที่ดี แต่หากขาดดิสทริบิวเตอร์ที่ดีผู้ซึ่งเป็นเหมือนนักวิ่งที่คอยส่งไม้ต่อจากแบรนด์ไปยังลูกค้า ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้แบรนด์ระดับโลกประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ ได้
และด้วยประสบการณ์ในการเป็นดิสทริบิวเตอร์มาร่วม 10 ปี ทำหน้าที่เป็นนักวิ่งที่ส่งไม้ต่อของหลายต่อหลายแบรนด์ไปยังผู้บริโภคคนไทยแล้วมากมาย เราจึงถามพรศักดิ์ไปว่าการจะเป็นดิสทริบิวเตอร์ที่ดีจนได้รับความไว้วางใจจากทั้งแบรนด์และลูกค้าต้องทำยังไง สิ่งที่เขาตอบกลับมาไม่ได้มีแค่เรื่องของการจัดการคลังสินค้า การบริหารหน้าร้าน แต่ยังหมายรวมไปถึง ‘การไม่มีอีโก้’ ด้วยเช่นกัน
“ผมว่าการเป็นดิสทริบิวเตอร์เราต้องลบคำว่าอีโก้ออกจากตัวเองทั้งหมด เราอย่าเอาตัวเองไปใหญ่กว่าแบรนด์ ที่แบรนด์ประสบความสำเร็จมาได้ก็เพราะเขามี principle ของเขา ตอนอายุ 20 ต้นๆ ผมก็เคยเถียงกับแบรนด์แบบหัวชนฝาเหมือนกันนะ แต่ก็เริ่มเรียนรู้มาเรื่อยๆ เขาให้ไดเรกชั่นมาเราก็ต้องมาดูว่าอะไรทำได้ อะไรที่ดูแล้วเวิร์กก็ทำมากหน่อย แต่อะไรที่เขาให้มาดูแล้วไม่เหมาะกับตลาดในไทยเราก็ต้องทำอยู่ดี เพียงแค่อาจจะต้องทำน้อยหน่อย แค่นั้นเอง
“ผมเคยเห็นคนที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงเหมือนกัน แล้วไปฝืนกับไดเรกชั่นที่แบรนด์ให้มา ซึ่งปรากฏว่าผลที่ออกมามันก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่”
Checkpoint 6 : สนามถัดไป
อยู่ในวงการมาร่วม 22 ปี สร้าง REV RUNNR ให้เป็นที่รู้จักของเหล่านักวิ่งมาเป็นเวลากว่า 5 ปี เส้น
ชัยต่อไปที่พรศักดิ์อยากพา REV RUNNR วิ่งไปให้ถึง คือการขยายธุรกิจให้เชนร้านรองเท้าวิ่งที่เป็นมัลติแบรนด์ของคนไทย สามารถยืนหยัดได้ใน South East Asia เพราะที่ผ่านมาล้วนแต่มีเชนที่เป็นของต่างชาติเท่านั้น
และไม่ใช่แค่ความคิดลอยๆ เพราะหนึ่งวันก่อนหน้าจะมาพบกันเขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากมาเลเซีย เพื่อพูดคุยธุรกิจเป็นเหมือนการซักซ้อมก่อนให้ REV RUNNR ได้ลงสนามจริงนอกประเทศไทยอย่างที่ตั้งใจไว้
จะได้เห็นนักวิ่งชาวไทยอย่าง REV RUNNR ได้ลงแข่งในสนามต่างประเทศเมื่อไหร่
เป็นเรื่องที่น่าตามเชียร์กันต่อไป