Decathlon, GMM Music, Pepsi

ทำไมแบรนด์แห่กันเปลี่ยนโลโก้ช่วงนี้กับคำถามที่ต้องตอบก่อนพลิกโฉม 

รู้มั้ยว่า 75% ของผู้คนจดจำแบรนด์ต่างๆ ได้จากโลโก้! แต่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นข่าวการเปลี่ยนโลโก้ของแบรนด์ไทยและต่างประเทศกันอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ Pepsi และ Decathlon ที่เพิ่งประกาศเปลี่ยนโลโก้ไปหมาดๆ รวมถึงฝั่งไทยอย่าง GMM Music ก็เพิ่งประกาศโลโก้ใหม่

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือทำไมแบรนด์เหล่านี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้ที่คนจดจำได้อยู่แล้ว จะดีกว่าไหมถ้าโลโก้เดิมๆ ยังคงไว้เพื่อรักษาฐานลูกค้า Recap ตอนนี้จะพาไปหาคำตอบ

ทำไมหลายแบรนด์ถึงแห่ปรับเปลี่ยนโลโก้ ‘ช่วงนี้’ 

  • Eric Morley ผู้ร่วมก่อตั้ง Blue C ครีเอทีฟเอเจนซีสัญชาติอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแบรนด์และการตลาดดิจิทัลเล่าว่าโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คน ค่านิยมของสังคม หลังวิกฤตโรคระบาดคลายลง สภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศก็ดีขึ้นตามลำดับ หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มกลับมาตั้งตัวได้ในช่วงปีนี้และตั้งเป้าขยายบริษัทไปยังต่างประเทศ นอกจากนั้น เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ AI ยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  • การวิจัยจาก McKinsey รายงานว่า 75% ของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแบรนด์ที่ชอบและถูกใจในช่วงการแพร่ระบาด จึงอาจกล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายแบรนด์ต้องตอบให้ได้ว่าคุณค่าและภาพลักษณ์ของตนเองยังเอาชนะใจผู้บริโภคได้อยู่หรือเปล่า เป็นที่มาของการรีแบรนด์และเปลี่ยนโลโก้ช่วงนี้ เพราะโลโก้ก็เหมือนหน้าตาของแบรนด์ที่บอกตัวตนได้ชัดที่สุด

เปลี่ยนเพื่อ? ทั้งที่โลโก้เดิมก็เป็นที่จดจำอยู่แล้ว

  • เพื่อสะท้อนแนวทาง จุดยืน และเป้าหมายใหม่ๆ อย่าง Decathlon แบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติฝรั่งเศสที่เพิ่งประกาศเปลี่ยนโลโก้ใหม่ไปใช้เจ้า The Orbit ทรงกลมดูโฉบเฉี่ยว ถือเป็นอีกหนึ่งการสื่อสารว่าแบรนด์จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย เว็บไซต์ซื้อง่ายขายคล่องเหมาะกับชีวิตออนไลน์ หน้าร้านก็น่าเดินกว่าเดิม
  • เพื่อปรับภาพลักษณ์ว่าแบรนด์ของเราก็ตามทันเทรนด์ อย่างโลโก้ Pepsi แต่เดิมนั้นมีแนวทางมาตั้งแต่ปี 2008 การปรับโลโก้ครั้งใหม่ถือเป็นการปรับในรอบ 15 ปี (ถ้าไม่นับโลโก้ในปี 2014 ที่เหมือนปี 2008 แต่คลีนกว่าเดิม) Pepsi ตั้งเป้าเปลี่ยนโลโก้เพื่อสร้างภาพของ ‘พลังอันยิ่งใหญ่ ความมั่นใจ และความกล้าหาญ’ โดยเลือกใช้สีฟ้าและสีดำเฉดที่เข้มขึ้นเพื่อสื่อสารถึง ‘ความร่วมสมัย’  
  • เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่าง Sprite ที่ปรับโลโก้ให้ดูเด็ก ทันสมัย และสื่อถึงการเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดผู้บริโภคเจนฯ Z หรืออย่าง LEGO ที่ในปี 1973 ได้ปรับโลโก้ให้ดูสะดุดตาแต่ก็ยังสื่อถึงความสุขของเด็กๆ ก่อนเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ  
  • เพื่อสร้างการจดจำแก่กลุ่มลูกค้าในวงกว้าง เช่น Nike และ Starbucks ที่นำตัวอักษรออกทั้งหมด เพื่อทลายกำแพงทางภาษา เหมาะกับเป้าหมายในการขยายแบรนด์ไปทั่วโลก และในกรณีของ Nike ยังเป็นการตอกย้ำว่า Nike ไม่ใช่แค่รองเท้า แต่เป็นแบรนด์เกี่ยวกับกีฬาที่แสนโฉบเฉี่ยว
  • เพื่อสร้างความแตกต่างจากบริษัทเดิม เมื่อแตกหรือแยกบริษัทใหม่ อย่าง GMM Music ฝั่งไทยเรานั้นเปิดตัวโลโก้ใหม่หลังแยกตัวออกจาก GMM Grammy นั่นเอง 

คำถามที่ต้องตอบให้ได้ก่อนตัดสินใจพลิกโฉม? 

เพราะการเปลี่ยนโลโก้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่หมายถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เปลี่ยนไป คำถามด้านล่างต่อไปนี้จึงเป็นเซตคำถามที่ควรตอบให้ได้ก่อนเปลี่ยนแปลง

  1. เป้าหมายของการเปลี่ยนโลโก้ครั้งนี้คืออะไร เช่น เปลี่ยนเพราะโลโก้เดิมสุดเชย เปลี่ยนเพราะต้องการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง หรือเปลี่ยนเพราะแค่อยากเปลี่ยนตามเทรนด์
  2. กลุ่มลูกค้าของคุณเป็นใคร เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในช่วงอายุของแบรนด์
  3. Brand Position ของคุณอยู่ตรงไหน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนหรือตอกย้ำ Brand Position กันแน่
  4. กลุ่มลูกค้าเคยมีฟีดแบ็กในด้านลบถึงโลโก้เดิมบ้างไหม
  5. โลโก้เดิมยังคงตอบคุณค่าหรือความนิยมของยุคสมัยได้อยู่หรือเปล่า 

ขอให้เจอคำตอบที่ใช่ ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลง!

อ้างอิง

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like