Reading on the Way

หยิบหนังสือขึ้นรถไฟ ว่าด้วยกิจกรรมการอ่านระหว่างทางและยุคของกิจการสิ่งพิมพ์

เวลานั่งรถไปทำงาน คุณยังหยิบหนังสือติดมือไปนั่งอ่านระหว่างทางอยู่ไหม ย้อนไปในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นยุคแรกของการนั่งรถไฟ ตอนนั้นคนเมืองเริ่มนั่งรถไฟไอน้ำเพื่อไปทำงานกันเหมือนเราในทุกวันนี้ การเกิดขึ้นของการนั่งรถไฟทุกๆ วันนับเป็นพื้นที่และการใช้เวลาใหม่ของผู้คน ทำให้เกิดกิจกรรมสำคัญนั่นคือการหยิบหนังสือขึ้นอ่านระหว่างทาง การอ่านระหว่างทางนี้ส่งผลกระทบต่อวงการสิ่งพิมพ์และหน้าตาหนังสือจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงนี้กรุงเทพฯ กำลังตื่นเต้นกับรถไฟฟ้าสายใหม่ ประกอบกับช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาคือวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของเซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ผู้เขียนเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เจ้าพ่องานเขียนแนวสืบสวนระดับขึ้นหิ้ง ทั้งรถไฟและงานแนวสืบสวนอันที่จริงเป็นของคู่กัน รถไฟเป็นประดิษฐกรรมที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อสังคม และผลด้านหนึ่งที่น่าประหลาดใจคือผลกระทบต่อวงการสิ่งพิมพ์ ความนิยมของงานสืบสวนสอบสวนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นหนึ่งในหนังสือราคาถูกที่คนทั่วไปจะซื้อที่สถานีเพื่ออ่านระหว่างทาง และบ้างก็โยนทิ้งไปเมื่อถึงปลายทาง

งานเขียนประเภทงานสืบสวนสอบสวนเป็นอีกหนึ่งประเภทวรรณกรรมที่เคยเป็นงานของมวลชน เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่แรกเริ่มเลยไม่ได้รับการยอมรับในฐานะวรรณกรรม เป็นเรื่องใหม่ที่แปลกประหลาด แน่นอนว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เองเป็นตัวอย่างหนึ่ง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรกคือ A Study in Scarlet มีนิตยสารรับซื้อไปก็จริง แต่สุดท้ายสำนักพิมพ์ในขณะนั้นไม่นับว่าเป็นงานสลักสำคัญและเลือกที่จะนำไปอยู่ในฉบับแจกฟรีวันคริสต์มาส งานแนวสืบสวนกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารราคาถูกที่เรียกว่า shilling shocker ส่วนหนึ่งของวงการหนังสือราคาถูกหรือ Pulp Fiction หนังสืออ่านง่ายอ่านสนุกและไม่ได้มีราคาอะไร

ทว่าการเกิดขึ้นของกิจกรรมการอ่านระหว่างทางนั้น สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการก่อตัวขึ้นของกิจการรวมถึงประเภทวรรณกรรมที่ตอบสนองกับมวลชนมากขึ้น การผลิตหนังสือในสมัยนั้นเน้นไปที่การอ่านระหว่างทางและกลุ่มผู้อ่านใหม่ๆ ที่ต้องนั่งรถไฟไปทำงานและหาเรื่องที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านจบได้ในชั่วระยะเดินทางนั้นๆ

เราจึงขอชวนผู้อ่านนั่งรถไฟฟ้าย้อนกลับไปสมัยปลายยุควิคตอเรียน ชวนดูภาพของผู้คนที่นั่งอยู่บนรถไฟและหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านระหว่างรอ ในความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมของชีวิตประจำวัน การนั่งเฉยๆ กลับทำให้เกิดรูปแบบหนังสือไปจนถึงประเภทวรรณกรรมใหม่ๆ กระทั่งนำไปสู่รูปแบบการเขียนที่รองรับการอ่านในระหว่างทางอันน่าเบื่อหน่าย

รถไฟ กับเวลาและพื้นที่ (การอ่าน) แบบใหม่

รถไฟถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในคอลัมน์ก่อนเราพูดถึงการสร้างทางรถไฟในอเมริกาที่สัมพันธ์กับแรงงานชาวจีนและการเกิดขึ้นของกิจการร้านซักรีด ครั้งนี้เราจะชวนย้อนไปดูช่วงปลายของยุควิคตอเรียนคือช่วงศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาที่เราอาจนึกภาพเป็นสุภาพบุรุษในชุดสวยงามและสตรีในชุดคอร์เซตนี้เองเป็นช่วงเวลาที่โลกก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ เป็นยุคสมัยที่เราเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและโลกแห่งทุนนิยมที่กำลังสยายปีกขึ้น

แล้วรถไฟสำคัญยังไง ด้านหนึ่งรถไฟคือการวางโครงข่ายการเดินทางที่วิ่งเหมือนเส้นเลือดไปทั่วประเทศ รถจักรสีดำที่พ่นไอน้ำเป็นเหมือนชัยชนะของมนุษยชาติ ภาพของประเทศ ของขอบเขตดินแดนชัดเจนขึ้น ความเป็นมหาอำนาจสัมพันธ์กับการขนส่ง การเชื่อมต่อระหว่างเมืองต่อเมือง จากเมืองหลวงสู่พื้นที่อุตสาหกรรม จากเขตพื้นที่การทำประมงจนเหมือนเมืองที่เป็นที่มั่นของเหมืองอันเป็นวัตถุดิบล้ำค่า ระบบรถไฟทำให้เกิดการวางระบบสำคัญร่วมกันคือระบบเวลา นึกภาพว่าเจ้าโครงข่ายของรถไฟทำให้เมืองต่างๆ ที่เคยมีระบบเวลา ตั้งนาฬิกากันแบบลำลอง ต้องมีระบบเวลาเดียวกันเพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รถมากี่โมง ถึงที่ปลายทางกี่โมง ระบบเวลาต้องเป็นชุดเดียวกัน

นอกจากภาพใหญ่ของรถไฟที่เป็นพลังสำคัญของจักวรรดิอังกฤษแล้ว ในยุคนั้นเมืองใหญ่ต่างๆ เริ่มเกิดพื้นที่อุตสาหกรรม เกิดการหลั่งไหลจากชนบทเข้าไปทำงานในเมือง และเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าย่านชานเมือง (suburb) ขึ้น โดยพร้อมกันนั้น ช่วงปลายยุควิคตอเรียน อัตราการรู้หนังสือเริ่มเพิ่มสูงขึ้น หมายความว่า ในชนชั้นแรงงานเองก็เริ่มได้รับการศึกษาในระดับพื้นฐาน ทีนี้ในระหว่างที่คนนั่งรถไฟไปทำงานจากที่พักอาศัย ในช่วงนี้เองที่ตลาดหนังสือเริ่มเติบโตขึ้นพร้อมคนกลุ่มใหม่ คือแรงงานจำนวนมากที่อ่านหนังสือออก และมีเวลานั่งว่างๆ ระหว่างนั่งรถไฟไปและกลับจากที่ทำงาน

คือในช่วงนั้นมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างประกอบกัน กิจกรรมการอ่านหรือการผลิตหนังสือมีอยู่แล้ว แต่หนังสือเคยเป็นของแพง เมื่อถึงยุคที่กระดาษมีราคาถูกลง เทคโนโลยีการพิมพ์มีประสิทธิภาพขึ้น ผลิตหนังสือให้แมสคือทั้งปริมาณเยอะขึ้นได้และผลิตให้ผู้อ่านในระดับมวลชนได้ ในยุคหนึ่งจึงเกิดปรากฏการณ์หนังสือราคาถูกขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดแผงหนังสือที่อยู่ตามสถานีรถไฟ เป็นหนังสือที่ในยุคนั้นอ่านจบแล้วโยนทิ้งเมื่อถึงปลายทาง รวมถึงระบบรถไฟเองที่ทำหน้าที่กระจายหนังสือออกไปทุกหัวระแหงของพื้นที่

ชนชั้นกับวัฒนธรรมการอ่าน อ่านอะไรบนรถไฟ

ก่อนหนังสือจะมีราคาถูกลง ในยุคก่อนการอ่านเป็นเรื่องของผู้ดีมีเงิน คนจะอ่านหนังสือได้แน่นอนว่าต้องมีการศึกษา มีครูมาสอนส่วนตัวที่บ้าน ต้องมีเวลา และต้องมีรสนิยม ธรรมเนียมการพิมพ์หนังสือในสมัยก่อนค่อนข้างมีลำดับชั้นอย่างชัดเจน ธรรมเนียมการพิมพ์หนังสือหรือนวนิยายในต้นศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษจะเรียกว่า three-decker นวนิยายหนึ่งเล่มเช่นงานของเจน ออสเทน ที่ยาวๆ จะถูกพิมพ์ออกโดยแยกเป็น 3 เล่ม หุ้มปกผ้าเดินด้ายทองสวยงาม ในช่วงนั้นหนังสือแบบนี้นับเป็นของแพงมาก เล่ม 1 จาก 3 เล่มเป็นราคา 10 ชิลลิ่ง ทั้งชุดคือ 30 ชิลลิ่ง ถ้าเทียบเป็นค่าครองชีพ หนังสือชุดหนึ่งเท่ากับค่าแรงของ 1 สัปดาห์ของชนชั้นกลางระดับล่าง

ในยุคนั้นประเด็นเรื่องชนชั้นค่อนข้างแข็งแรงมากกระทั่งในกิจกรรมการเข้าถึงหนังสือ โดยทั่วไปเมื่อหนังสือเล่มหนึ่งออกมาเป็นระบบ 3 เล่มสวยงาม ในตอนนั้นเมื่อออกฉบับแรกแล้วต้องรอซักพัก บ้างก็รอ 2-3 ปีทางสำนักพิมพ์ถึงจะออกแบบเล่มเดี่ยวปกอ่อน ในช่วงกลางศตวรรษเป็นต้นมาที่รายได้ต่อครัวเรือนเริ่มสูงขึ้นและการออกหนังสือแบบปกอ่อนในเวลาไล่เลี่ยกัน การอ่านในฐานะกิจกรรมสันทนาการ การอ่านนวนิยายเป็นสิ่งที่ครัวเรือนชนชั้นเริ่มเข้าถึงได้ แต่ก็ใช้เวลา หมายถึงใช้เวลาจริงๆ คือคนรวยอ่านฉบับวางแผงครั้งแรกก่อน คนที่จนหน่อยก็รอต่อไป

นอกจากตัวหนังสือเองที่มีระดับราคาและราคาค่อยๆ ถูกลงแล้ว ประเด็นพื้นที่การอ่านก็สำคัญด้วย สำหรับชนชั้นแรงงานที่ไม่ใช่คนชั้นกลาง มีข้อจำกัดในการอ่านและการเข้าถึงหนังสือในหลายระดับมาก อย่างแรกคือไม่มีเวลา ชนชั้นแรงงาน (manual labor) ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานในโรงงาน ส่วนชนชั้นแรงงานมีรายได้สูงกว่าและมีเวลาว่าง–เราเรียกว่าเป็นชนชั้นที่มีเวลาว่าง (leisure class) เงื่อนไขสำคัญอีกอย่างคือแม้ว่าชนชั้นแรงงานจะอ่านหนังสือออกบ้างแล้ว แต่ภาวะของการอยู่อาศัยเช่นการใช้แสงเทียนในตอนกลางคืนก็ทำให้การอ่านที่บ้านไม่สะดวกนัก

ความต้องการและเงื่อนไขใหม่นี้เองทำให้วงการสิ่งพิมพ์ปรับตัว มีการออกหนังสือที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้หนังสือมีราคาถูกลง เกิดหนังสือที่เรียกว่า The Yellow Back นวนิยายราคาถูกที่พิมพ์แล้วปกออกสีเหลือง หนึ่งในเจ้าใหญ่ของวงการนวนิยายปกเหลืองคือสำนักพิมพ์ Routledge มีการออกนวนิยายที่เรียกว่า Railway Library ในปี 1848 หนังสือปกเหลืองนับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการพิมพ์ซ้ำจากวรรณกรรมหรือนวนิยายที่เคยเป็นปกผ้าสวยงามกลายเป็นหนังสือราคาถูก พร้อมๆ กัน 

ระบบแผงหนังสือก็เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน บริษัทสำคัญคือการเปิดอาณาจักรแผงหนังสือของบริษัท W.H. Smith and Sonbecame ผู้วางกิจการแผงหนังสือในสถานีรถไฟ (railway bookstall) ในทศวรรษ 1850 ในช่วงเวลาต่อมาวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสารก็ขานรับกับความเร็วและมวลชน รวมถึงกิจกรรมการอ่านระหว่างเดินทาง ทศวรรษ 1870 เริ่มเกิดหนังสือพิมพ์รายวัน (คือพอมีรถไฟ ข่าวสารจากศูนย์กลางก็เดินทางไวขึ้น คนอ่านเยอะขึ้น) ในสมัยก่อนนิตยสารเช่น The Times ในปี 1803 หรือต้นศตวรรษมีราคา 6 เพนนี มีอัตราการพิมพ์ราว 2,000 ฉบับ ในปี 1880 เกิดนิตยสาร Pall MallGazette ขายในราคาเพนนีเดียว และในปี 1896 ก็เกิดหนังสือพิมพ์ The Daily Mail หนังสือพิมพ์ขนาด 8 หน้า ขายในราคาครึ่งเพนนี ส่วน The Times เองก็มียอดขายเพิ่มขึ้น จาก 2,000 ฉบับ พุ่งทะยานไปถึง 70,000 ฉบับในปี 1866 

สำหรับตลาดผู้อ่านจากชนชั้นแรงงานประเมินคร่าวๆ ในปี 1867 จากประชากรทั้งหมด 20 ล้านคน ในทั้งหมดเป็นชนชั้นแรงงาน 16 ล้านคน ตลาดผู้อ่านใหม่นี้จึงเป็นสุดยอดโอกาส มีข้อสังเกตว่าบางสื่อและการทำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารในยุคนั้นคำนึงถึงการอ่านที่ต้องเข้าใจง่าย อ่านแล้วจับใจความได้เร็วๆ ในช่วงนี้เองที่วงการสิ่งพิมพ์เริ่มเฟื่องฟูขึ้น มีเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพเข้ามาช่วย ทำให้นิตยสารหรือหนังสือที่มีภาพประกอบนำเป็นสื่อสำคัญที่ขายให้กับผู้อ่านที่ไม่ต้องมีทักษะการอ่านหรือมีเวลาอ่านมากขึ้น งานภาพประกอบอื่นๆ เช่นงานภาพโฆษณาก็เฟื่องฟูขึ้นพร้อมๆ กัน 

ตัวอย่างสำคัญคือนิตยสาร Tit-Bits ก่อตั้งในปี 1881 เป็นนิตยสารรวมบทความแบบย่อยง่าย ย่อยมาแล้ว แล้วก็มีเรื่องอ่านแบบหวือหวา มีรวมมุกตลก การอ่านบนรถไฟและกลุ่มผู้อ่านใหม่ทำให้การเขียนบทความและฟอร์แมตของสิ่งพิมพ์สนองกับผู้อ่าน บทความต่างๆ มีขนาดสั้นลง เขียนกระชับเข้าใจง่าย นอกจากบทความแล้วพวกนวนิยายก็มีขนาดสั้นลง เรื่องสั้นเกิดแนวต่างๆ ที่เน้นความสนุกสนาน น่าตื่นตาตื่นใจและความใกล้ตัว

ในแง่ของนิตยสารบันเทิงคดี นิตยสารสำหรับชนชั้นกลางที่ราคากลางๆ นอกจาก The Times ที่มียอดขายพุ่งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นิตยสารอีกหัวที่น่าพูดถึงคือ The Strand Magazine นิตยสารหลักที่แจ้งเกิดให้กับเชอร์ล็อกโฮล์มส์ ของดอยล์ สำหรับ The Strand เป็นอีกนิตยสารที่มีเป้าหมายเป็นผู้อ่านทั่วไป วางขายฉบับแรกในเดือนมกราคม ปี 1891 ในราคา 6 เพนนี ตัวเลขของการพิมพ์สะท้อนการขยายตัวของผู้อ่านได้เป็นอย่างดีคือยอดขายฉบับแรกเปิดขายได้ที่ 300,000 ฉบับ และไม่นานก็พุ่งถึงครึ่งล้านฉบับ ความเท่ของนิตยสาร The Strand คือไปออกที่อเมริกาด้วยโดยออกช้ากว่าหนึ่งเดือน เป็นเล่มเดียวกันเช่นฉบับเดือนมกราคมของอังกฤษ ก็จะเป็นฉบับกุมภาพันธ์ของอเมริกา เนื้อหาหน้าตาเหมือนกัน สำหรับ The Strand ก็จะมีเนื้อหาเพื่อความบันเทิง มีบทความ เรื่องสั้น นวนิยายอ่านสนุกขนาดสั้นๆ มีเกมให้เล่นฆ่าเวลา

Penny Dreadful, Yellow Back และ Shilling Shocker

นึกภาพบรรยากาศชีวิตและการอ่านในยุคนั้น การอ่านเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทำในช่วงเวลาว่างที่มีไม่มากคือว่างจากการทำงาน เรื่องที่เขียนขึ้นที่คนจะนิยมจะเป็นเรื่องที่อ่านสนุก ตื่นเต้น หรือกระทั่งสัมพันธ์กับบริบทที่ใกล้ตัว ในยุคนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์สิ่งพิมพ์ราคาถูกที่ในระยะต่อมาถูกดูแคลนว่างานเหล่านั้นก็ราคาถูก เอาไว้อ่านเล่นไม่ได้มีคุณประโยชน์อะไรด้วย ซึ่งสำนักพิมพ์เองก็ค่อนข้างปรับตัวและเปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้อ่านโดยมีแนวคิดเรื่องประโยชน์อยู่โดยนัยด้วย

ปรากฏการณ์หนังสือแมสๆ ในยุคแรกคือการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มละเพนนีที่เรียกว่า Penny Dreadful ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเราก็คล้ายกับกระแสการ์ตูนผีเล่มละบาท หนังสือประเภท Penny Dreadful ตัวนิยายเล่มละเพนนีมักจะเป็นเรื่องผี เรื่องสยองขวัญ ฆาตกรรมสมชื่อ Dreadful หนังสือนี้จะออกรายสัปดาห์ คือตามอ่านเป็นตอนๆ เล่มหนึ่งยาว 8-16 มีตัวละครเป็นฆาตกรเช่นสวีนนีย์ ทอดด์ เรื่องผีสางเช่นแวมไพร์ หนังสือผีราคาถูกนี้เกิดขึ้นในปี 1830 และเฟื่องฟูจนถึงทศวรรษ 1870 เป้าหมายสำคัญคือกลุ่มแรงงานผู้ชายที่จะอ่านเรื่องสนุกสนาน สื่อเช่น The Guardian นิยามว่าหนังสือเล่มละเพนนีเป็นเหมือนวิดีโอเกมสำหรับเด็กผู้ชายในยุคนั้น ในช่วงทศวรรษ 1860-1870 มีตัวเลขว่าหนังสือเล่มละเพนนีขายได้หลักล้านฉบับต่อสัปดาห์ มีตัวเลขผู้ผลิตสูงถึงเกือบร้อยราย

ต่อจากยุคเรื่องสยองเล่มละเพนนี ในกลางศตวรรษก็ได้เกิดคู่แข่งของหนังสือสยองเล่มละเพนนีคือเกิดหนังสือกลุ่มปกออกเหลือง ฟังดูไม่ดี แต่จริงๆ คือการที่สำนักพิมพ์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้ปกหนังสือมีความสว่าง มักจะออกเฉดเหลืองตามฉายาหนังสือ (แถมอยู่ไปนานๆ กระดาษก็เหลืองด้วย) กลุ่มหนังสือประเภท yellow-back เป็นนวนิยายที่จบในตัวเอง มีความเป็นเรื่องขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังขายความสดใส (ซึ่งสะท้อนผ่านสีปกด้วย) ยังคงมีความอ่านสนุก อ่านง่าย ไม่ยาวมาก และมีราคาถูก คือราคาประมาณ 1-2 ชิลลิ่ง หนึ่งในจุดเริ่มของเจ้าพ่อวงการหนังสือปัจจุบันคือ Routledge ที่ออกหนังสือชุดห้องสมุดรถไฟ ทาง Routledge ได้นำเอานวนิยาย (ที่เราอาจเรียกว่านิยายน้ำเน่า) เรื่องผจญภัย ไปจนถึงคู่มือการศึกษาและชีวประวัติ อ่านง่ายๆ กลับมาพิมพ์ใหม่ให้มีราคาถูกและเน้นขายให้กับคนที่นั่งรถไฟ เจ้าชุดหนังสือรถไฟของ Routledge เป็นซีรีส์ยาวนานคือออกเรื่อยๆ เรื่อยมาตั้ง 50 ปี โดยรวมแล้วมีทั้งหมด 1,277 เรื่อง

เนื่องด้วยเราเปิดด้วยวันเกิดของดอยล์ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เอง นับว่าเป็นหนังสือกลุ่มที่ไม่เชิงว่าราคาถูกขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ของหรูหราระดับขึ้นหิ้ง บางคนนิยามว่าโฮล์มส์เป็นความฮิตส่วนหนึ่งมาจากความหรูหราที่สัมผัสได้ นวนิยายเรื่องยาวของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรกอยู่ในกลุ่มหนังสือประเภท shilling shocker คิดเป็นเงินปัจจุบันคือ 5 เพนนี คือเท่าๆ กับพวกหนังสือปกเหลือง งานเขียนของโฮล์มส์ที่นิตยสาร The Strand รับพิมพ์นั้นก็ชื่นชมว่าเป็นงานเขียนชั้นดี ที่คนทั่วๆ ไปพอจะซื้อได้ในราคานี้ ไม่ได้ต้องราคาถูกถึงขนาดพวก Penny Dreadful 

ทว่าในภาพรวมคนก็ยังมองว่าหนังสือหรือบันเทิงคดีในช่วงนั้นเน้นการเขียนให้หวือหวา พาใจไปจินตนาการ เรื่องสืบสวนก็ว่าด้วยอาชญากรรม ฆาตกรรม พวกงานแนวไซไฟก็ว่าด้วยโลกจินตนาการ พาไปเที่ยวดาวอื่น อีกทีก็เป็นเรื่องผีๆ สางๆ หรือรักๆ ใคร่ๆ งานพวกนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในนิตยสารที่เรียกว่า pulp magazine นิตยสารสีฉูดฉาดที่พิมพ์ด้วยกระดาษจากเยื่อไม้ (wood pulp paper)

อันที่จริง ในระยะต่อมา งานของดอยล์ รวมถึงงานสืบสวนกระทั่งงานไซไฟก็จะมีนักวิชาการด้านวรรณกรรมออกมาปกป้องว่าเป็นงานที่สะท้อนหลายประเด็นร่วมสมัย เช่น The Simple Art of Murder ของเรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) งานแนวสืบสวนหรืองานผีหลอกสัมพันธ์กับบริบทเมือง ความที่เราอยู่กับคนแปลกหน้าเราไม่รู้ว่าข้างบ้านเราจะเป็นฆาตกรไหม หรือพื้นที่เมืองเต็มไปด้วยมุม หลืบหรืออดีตที่ลี้ลับ ประวัติศาสตร์ที่เราไม่รู้จัก หรือข้อสังเกตของวอลเทอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) นักปรัชญาที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่เดินทางด้วยรถไฟมักจะหยิบงานสืบสวนติดมือไปอ่านระหว่างทางในข้อเขียน Detective Novels, On Tour

ในมิติเชิงสังคม ในช่วงหนังสือปกเหลืองราคาประหยัดเองก็ค่อยๆ ถูกแทนที่และมีคู่แข่ง บางส่วนสัมพันธ์กับบริบทและการอ่านหนังสือที่มีรถไฟเป็นส่วนประกอบที่เปลี่ยนไป เช่น การเปิดรถไฟทางไกลที่มีราคาถูกลง ทำให้คนชั้นกลางสามารถเดินทางไกลๆ ได้ หรือประเด็นเรื่องเวลาทำงานที่ลดเวลาทำงานลง เกิดวันหยุดสุดสัปดาห์เองก็ทำให้แรงงานมีเวลามากขึ้น การอ่านเพียงระยะสั้นๆ หรืออ่านแล้วทิ้งก็ค่อยๆ ลดความนิยมลง กระทั่งเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ดีขึ้น หนังสือสวยงามขึ้น ก็ทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ และเกิดกลุ่มผู้บริโภคหนังสือหลายกลุ่มขึ้น

คู่แข่งสำคัญของนิยายปกเหลืองของ Routledge คือสำนักพิมพ์ Chatto & Windus เจ้านี้ออกชุดนิยายชื่อ Cheap Editions of Popular Novels คือยังรับเอาบางลักษณะของหนังสือปกเหลืองมา เช่นการเข้าเล่มและการมีภาพปกสวยงามและโฆษณาที่ปกหลัง แต่ทว่าหนังสือชุดใหม่นี้เน้นความคงทนขึ้น มีการเข้าสันด้วยผ้า (cloth spines) ที่ทนทานขึ้น นวนิยายที่เลือกมาพิมพ์ใหม่ก็เป็นชุดที่ยอดนิยมอยู่แล้ว แต่คำโฆษณาใหม่นี้คือหนังสือชุดนี้จะเป็นหนังสือฉบับที่ทนทานขึ้น เป็นเล่มที่เราจะเก็บไว้อ่านในบ้านก็ได้ เอาใส่กระเป๋าพกพาไปอ่านที่อื่นก็ได้ ในความเปลี่ยนแปลงคือคนเรามีเวลาเยอะขึ้น บ้านมีไฟฟ้าแล้ว การจะอ่านหนังสือก็เป็นอิสระขึ้น หนังสือเองก็ถูกขายว่ายาวขึ้น เล่มหนาขึ้น อ่านได้เนื้อได้หนังขึ้น เป็นสมบัติที่อ่านแล้วเก็บ อ่านแล้วพกพาได้ แถมที่สำคัญหนังสือเทคโนโลยีใหม่นี้มีราคาถูกกว่าพวกปกเหลืองคือปกเหลืองราคา 1-2 ชิลลิ่ง แต่นวนิยายปกอ่อนทำราคาที่ 6 เพนนี

อันที่จริงบรรยากาศของการพิมพ์หนังสือในช่วงนั้นค่อนข้างจะมีความซ้อนกันและเปลี่ยนแปลงไปตามนวัตกรรมและกลุ่มเป้าหมาย สำนักพิมพ์หนึ่งอาจจะออกหนังสือเรื่องเดียวกันในทุกระดับราคา จากแบบปกผ้าชุดสามเล่ม (ราคาประมาณ 30 ชิลลิ่ง) แบบเล่มเดี่ยวพิมพ์ใหม่ราคา 3 ชิลลิ่ง แบบปกเหลืองราคา 1-2 ชิลลิ่ง และแบบปกอ่อนราคา 6 เพนนีหรือถูกกว่านั้น ในราวปี 1890 หนังสือปกอ่อนราคา 6 เพนนีค่อนข้างตีตลาดหนังสือปกเหลืองได้หมด แต่จุดที่น่าสนใจคือด้วยเทคโนโลยีและการแข่งขันของระบบตลาด หนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องเดียวกันในที่สุดค่อนข้างเข้าถึงผู้อ่านในทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น และสัมพัทธ์ไปตามความต้องการของการอ่านที่ต่างกัน

ประวัติศาสตร์บริโภคหนังสือข้างต้นเป็นกรอบประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวมถึงตัวรูปเล่มหนังสือที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงราว 100 ปี หนังสือปกอ่อนที่ราคาและคุณค่าปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ความต้องการของผู้อ่านที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคม บางส่วนส่งผลต่อเนื่องเป็นบรรพบุรุษของยุคปัจจุบัน เช่น สำนักพิมพ์เพนกวินที่รวมงานคลาสสิกที่มีทั้งปกอ่อนปกแข็งทั้งเพื่อการอ่านและการสะสมในยุคต่อมา ร้านหนังสือที่ยุคหนึ่งเราพบเห็นตั้งแต่ตามสถานีขนส่ง ป้ายรถเมล์ สนามบิน ไปจนถึงเรื่องราวที่ถูกเล่าในนิยายเช่นเรื่องสืบสวนที่มักมีการเดินทาง การนั่งรถไฟ (เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เองก็มีฉากคิดคดีบนรถไฟระหว่างเดินทางไปที่เกิดเหตุไกลๆ เสมอ) การใช้เวลาบนเครื่องบิน หรือกระทั่งเกิดเหตุในระหว่างทางเลย เช่น ฆาตกรรมบนรถไฟของอกาธา คริสตี้

ในยุคปัจจุบันเอง การอ่านก็อาจเปลี่ยนแปลงไป การเดินทางในชีวิตประจำวันของเรา เราอาจจะอ่านจากหน้าจอ อ่านจากสื่อออนไลน์ ตัวอักษรกลายเป็นคอนเทนต์ การเขียน การคิด หรือกระบวนการสร้างสรรค์เนื้อหาก็ดูจะกำลังปรับตัวเข้าสู่เวลาและพื้นที่ในรูปแบบใหม่อีกครั้ง หรือกระทั่งกระแสการอ่านหนังสือเล่มเองที่อาจจะทั้งยังมีคุณค่าและความหมายเช่นเดิม ไปจนถึงการกลายเป็นการบริโภคทางวัฒนธรรมที่มีความหมายพิเศษเช่นการสะสม ความสวยงาม

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like